http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-12-04

ฟุคุชิมาสะเทือนโลก (35) (36) ปรากฏการณ์“ร่วม”สมัย, บทเรียนญี่ปุ่น - เกาหลีใต้ โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน

.

ฟุคุชิมาสะเทือนโลก (35) ปรากฏการณ์ “ร่วม” สมัย
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com  คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1684 หน้า 39


การรวมตัวของชาวญี่ปุ่น 13,119 คนเพื่อยื่นฟ้องร้องต่ออัยการเขตฟุคุชิมา เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว ให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นและผู้บริหารบริษัทโตเกียว อิเล็กทริกส์ เพาเวอร์ หรือเทปโก้ เจ้าของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา ในข้อหาละเลยการใช้มาตรการปลอดภัยที่เหมาะสม ทั้งที่รู้แล้วว่าการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่จะทำให้เกิดสึนามิและทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
สื่อของญี่ปุ่นบอกว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมญี่ปุ่นเพราะผู้ร่วมฟ้องในคดีนี้มีจำนวนมาก

ในคำฟ้องระบุด้วยว่า บรรดามืออาชีพด้านนิวเคลียร์ประมาทเลินเล่อส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บและละเมิดกฎหมายสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่น เพราะอุบัติเหตุจากโรงไฟฟ้าฟุคุชิมาได้ปล่อยกัมมันตรังสีที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ 
ผู้ฟ้องร้องมีทั้งผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงทั้งญาติผู้เสียชีวิตระหว่างการอพยพจากเขตที่กัมมันตรังสีรั่วไหล และผู้ได้รับที่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่ทางการญี่ปุ่นกำหนดให้เป็นเขตอันตราย 
ผู้บริหารโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหามาแล้วในคดีที่ชาวฟุคุชิมา 1,234 คนยื่นฟ้องเมื่อเดือนมิถุนายน


อีกปรากฏการณ์หนึ่งของสังคมญี่ปุ่น หลังจากโรงไฟฟ้าฟุคุชิมาระเบิดปล่อยกัมมันตรังสีแพร่กระจายออกสู่สภาพแวดล้อมภายนอก นั่นคือการแบ่งปันความรู้สึกร่วมกันของกลุ่มเด็กนักเรียนชั้นมัธยม 

"ซายาโกะ โอกาตะ" และ "ซากิ เนซุ" นักเรียนชั้นมัธยมปีที่สอง ได้รับเชิญเข้าร่วมแสดงในหนังสารคดีเรื่อง "โฮสะเซ็น โฮะ อาบิตะ เอ็กซ์ เนน โงะ" เป็นหนังชี้ให้เห็นผลจากการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ที่หมู่เกาะบิกินี ในมหาสมุทรแปซิฟิก เมื่อปี 2497 กว่า 20 ลูก คิดเป็นปริมาณระเบิดทีเอ็นที 20 ล้านตันทำให้ชาวประมงได้รับความเดือดร้อน ชาวเกาะต้องอพยพออกไปอยู่ในพื้นที่อื่น และกลายเป็นเขตต้องห้ามเป็นเวลาหลายสิบปีเนื่องจากกัมมันตรังสีปนเปื้อน 
หนังสารคดีเรื่องดังกล่าวกำกับฯ โดย ฮิเดอากิ อิโตะ และ อะคิระ ฮายาซากา เป็นผู้เขียนบท

เมื่อเดือนที่แล้วนักเรียนทั้งสองคนเพิ่งได้ดูหนังที่แสดงร่วมกัน บอกความรู้สึกกับนักข่าวว่า รู้สึกหวาดหวั่นกับอนาคตข้างหน้า เพราะอาจจะป่วยเพราะได้รับกัมมันตรังสีก็ได้ 
"โอกะตะ" อยู่ใกล้ๆ กับโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา ไดอิจิ หลังเกิดอุบัติร้ายแรง บ้านของเธอปนเปื้อนด้วยกัมมันตรังสี ต้องอพยพออกไปอยู่ที่อื่น 
ส่วนเนซุ อพยพไปอยู่อีกเมือง แต่พ่อต้องไปทำงานที่อื่น แยกกับครอบครัว

"ครอบครัวของเรารวมถึงรุ่นปู่ย่าอาจจะถูกตำหนิที่ปล่อยให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาตั้งอยู่ที่นี่ แต่ทั้งหมดต้องรับผิดชอบและต้องร่วมคิดถึงปัญหาที่เกิดขึ้น"
เนซุให้ความเห็น



ในวันเด็กทั้งโอกาตะและเนซุ เป็นเพื่อนร่วมโรงเรียนเดียวกัน แต่วันนี้แยกย้ายไปอยู่ในโรงเรียนมัธยมคนละแห่ง ทั้งคู่ก็ยังร่วมกิจกรรมกับกลุ่ม "อ่านบทกวี" กลุ่มเดียวกัน 
การทำกิจกรรมอ่านบทกวีทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความเห็นกับกลุ่มกิจกรรมของโรงเรียนมัธยมฮาตะ ในเขตโกชิ 
กลุ่มโกชิตั้งมานาน 30 ปีแล้ว เคยศึกษาผลกระทบของชาวประมงในพื้นที่หลังการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ของสหรัฐ
การศึกษาผลกระทบใช้เวลาหลายปี นักเรียนชั้นมัธยมแห่งนี้แลกเปลี่ยนข้อมูลกับชาวประมง 200 คนทั้งในอดีตและที่ยังทำประมงอยู่ 
เมื่อโอกาตะ แลกความคิดเห็นกับกลุ่มโกชิ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการจัดตั้งกลุ่มเพื่อศึกษาผลกระทบจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมาและเป็นที่มาของไอเดียให้เพื่อนๆ นักเรียนในฟุคุชิมาได้ดูหนังที่ทั้งสองคนร่วมแสดง 
"เหยื่อโรงไฟฟ้าฟุคุชิมากับชาวประมงโกชิประสบปัญหาร่วมกัน เป็นปัญหาที่มาจากกัมมันตรังสี"
การก่อตั้งกลุ่มการคิดกิจกรรมร่วมกันของ "โอกาตะและเนซุ" ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากครูและกลุ่มโกชิ



++

ฟุคุชิมาสะเทือนโลก (36) บทเรียนญี่ปุ่น-เกาหลีใต้
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน butrton@yahoo.com  คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1685 หน้า 40


สํานักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) จัดประชุมระดับรัฐมนตรีเพื่อหารือเรื่อง "ความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์" ในระหว่างวันที่ 15-17 ธันวาคมนี้ที่เมืองฟุคุชิมา ประเทศญี่ปุ่น
ไอเออีเอ (International Atomic Energy Agency) ให้เหตุผลสำคัญในการจัดประชุมครั้งนี้ ต้องการสนับสนุนสร้างความแข็งแกร่งในความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์และแลกเปลี่ยนความรู้ในระดับผู้บริหารระหว่างประเทศ ทั้งระดับรัฐมนตรี ผู้เชี่ยวชาญ 
แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ในการประชุมคราวนี้ หยิบยกประเด็นเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา ไดอิจิ มาเป็นบทเรียนในการหารือกัน 
ทั้งในเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัย การเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน การเผยแพร่ข้อมูล ความโปร่งใสในการประเมินผล การปกป้องประชาชนเมื่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงมีการแพร่กระจายกัมมันตรังสี รวมถึงการดูแลบำบัดป้องกันสิ่งแวดล้อมหลังกัมมันตรังสีแพร่กระจายออกมาแล้ว

ไอเออีเอคาดหวังว่า การประชุมดังกล่าวจะนำไปสู่แผนปฏิบัติการในอนาคตที่มีประสิทธิผล
การประชุมครั้งนี้ในบางช่วงจะถ่ายทอดสดผ่านเว็บคาสต์ใครสนใจติดตามดูกันได้ครับ



หันไปดูความเคลื่อนไหวที่เกาหลีใต้กันบ้าง 
ที่นั่นก็มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเกาหลีใต้รื้อฟื้นความเชื่อมั่นด้านพลังงานนิวเคลียร์โดยเฉพาะเรื่องของความโปร่งใสและการปรับปรุงกฎระเบียบ หลังมีการสั่งปิดเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 
เสียงเรียกร้องดังกล่าวมาจากสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศหรือไออีเอ (International Energy Agency) ซึ่งเฝ้าจับตาสถานการณ์นิวเคลียร์ในประเทศต่างๆ ภายหลังเกิดอุบัติเหตุกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมา ไดอิจิ ของญี่ปุ่น
ไอเออีเอบอกว่า กรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุคุชิมานั้นทำให้ทั่วโลกพากันตรวจสอบการใช้พลังงานนิวเคลียร์อย่างเข้มงวด และเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีความต้องการใช้พลังงานสูงมาก แต่ขาดแคลนแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ  

เกาหลีใต้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสี่ของเอเชีย แหล่งพลังงานไม่มีต้องนำเข้าน้ำมันและก๊าซในปริมาณมากถึง 82 เปอร์เซ็นต์ ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 23 แห่งผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนเพียง 1 ใน 3 ของพลังงานทั้งหมด 
เชื้อเพลิงที่นำเข้ามานั้นส่วนใหญ่นำมาใช้ในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเช่น รถยนต์ เหล็กกล้า เรือ และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ 
ตามแผนพัฒนาพลังงาน ภายในปี 2567 เกาหลีใต้ต้องสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มอีก 11 แห่ง

รัฐบาลเกาหลีใต้เผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไม่มีความโปร่งใส มาตรฐานความปลอดภัยบกพร่องหลังโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดรอยร้าวในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ต้องสั่งปิดซ่อมและปิดเตาปฏิกรณ์โรงไฟฟ้าอื่นๆ รวม 6 เตาเพราะมีปัญหา  
แถมยังมีข่าวว่า เมื่อสอบสวนหาสาเหตุรอยร้าวกลับพบการปลอมแปลงเอกสารการตรวจสอบระบบความปลอดภัยทำให้ชาวเกาหลีใต้เกิดความสงสัย



ความจริงแล้ว ชาวเกาหลีใต้ส่วนใหญ่สนับสนุนการใช้พลังงานนิวเคลียร์ 
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เมืองอุลจิน มีเตาปฏิกรณ์ 6 เตา เศรษฐกิจที่นั่นเติบโตเร็ว ชาวเมืองซึ่งมี 5 หมื่นคน รายได้สูงมาก เป็นที่อิจฉาของชาวเมืองซัมซอกเป็นอย่างมาก 
รัฐบาลวางแผนจะก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 1,500 เมกะวัตต์มูลค่า 22,060 ล้านเหรียญสหรัฐที่เมืองซัมซอก ปรากฏว่ามีผู้คนสนับสนุนแผนมากกว่ากลุ่มคนคัดค้าน

ชาวเมืองซัมซอกบอกนักข่าวว่า อยากให้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพราะถ้าเปรียบเทียบกับชาวเมืองอุลจิน ชีวิตความเป็นอยู่ต่างกัน ชาวอุลจินมีทุกอย่างแม้กระทั่งร้านค้าแบรนด์เนมอย่างร้านรองเท้ายี่ห้อดัง "Kumkang" ก็ยังมี แต่ซัมซอกไม่มี 
แต่ทางฝ่ายค้านบอกว่าหลังเกิดเหตุโรงไฟฟ้าฟุคุชิมาและเกิดปัญหากับเตาปฏิกรณ์ในเกาหลีใต้เอง ทำให้ความเชื่อมั่นลดลงมาก
ในเดือนมีนาคม สัดส่วนของชาวเกาหลีใต้มีความเชื่อมั่นว่านิวเคลียร์ปลอดภัย ลดลงเหลือเพียง 34 เปอร์เซ็นต์ เปรียบเทียบกับเดือนมีนาคมปีที่แล้วก่อนเกิดเหตุโรงไฟฟ้าฟุคุชิมา ความเชื่อมั่นมีถึง 53.3 เปอร์เซ็นต์



รัฐบาลเกาหลีใต้พยายามแก้เกมโดยให้หน่วยงานด้านส่งเสริมพลังงานนิวเคลียร์จัดทำผลสำรวจความเห็นของประชาชน ปรากฏว่าโพลสนับสนุนรัฐบาลและต้องการให้รัฐบาลสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่ 
ฝ่ายค้านออกมาตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าผลโพลสนับสนุนนิวเคลียร์ รัฐบาลก็ควรเปิดเผยผลสอบสวนสาเหตุเตาปฏิกรณ์มีรอยร้าวว่ามาจากสาเหตุอะไรกันแน่ 
บริษัทเกาหลีใต้มีแผนผลิตเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ไปขายทั่วโลก ตั้งเป้าในปี 2573 จะส่งออกให้ได้ 80 เตามูลค่า 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ 
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ตกลงเซ็นสัญญาซื้อเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของเกาหลีใต้มูลค่า 20,000 ล้านเหรียญไปแล้ว

บทเรียนของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ กำลังจะเป็นพิมพ์เขียวบอกอนาคต "นิวเคลียร์" ของโลก 



.