http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-12-02

สรกล: ม็อบล้านปี, สุวพงศ์: สวนทาง

.
โพสต์เพิ่ม - บทบาท การนำ อ้าย-บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ HEGEMONY  

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ม็อบล้านปี
โดย สรกล อดุลยานนท์  คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์  วันเสาร์ที่ 01 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 21:00:44 น.
(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 1 ธ.ค.55 )


และแล้ว "ม็อบเสธ.อ้าย" ก็จุดไม่ติด จำนวนคนที่คุยว่าจะมาเป็นล้านคน
ถึงเวลาจริงๆ เหลือแค่ 20,000-30,000 คน 
และถ้าดูจากหน้าจอทีวี ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ 
จนมีคนแซวว่าที่ "เสธ.อ้าย" บอกว่าจะมาเป็น "ล้าน"
จริงๆ แล้วอาจไม่ได้หมายถึงรวมกัน "1 ล้านคน"
แต่เขาหมายความว่ารวมกันแล้ว "1 ล้านปี"

เพราะอายุเฉลี่ยของม็อบน่าจะประมาณ 50 ปี 
20,000 คนก็ 1 ล้านปีพอดี

ถึงแม้ "ม็อบเสธ.อ้าย" จะจุดไม่ติด แต่ปรากฏการณ์ครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าความขัดแย้งในสังคมยังคงเต็มไปด้วยความเกลียดชังเหมือนเดิม
คนที่มาชุมนุมกันคือคนที่ "เกลียดทักษิณ" เข้ากระดูกดำ 
เพราะแม้แกนนำอย่าง "เสธ.อ้าย" จะประกาศแนวทางการเคลื่อนไหวระดับ "แช่แข็งประเทศไทย" 
ประกาศไม่ยอมรับการเลือกตั้ง
ไม่ชอบระบอบประชาธิปไตยมาตั้งแต่เด็ก ฯลฯ 

แต่คนกลุ่มนี้ก็ยังเข้าร่วมการชุมนุม 

ดังนั้น ถ้าเปลี่ยน "หัวขบวน" ให้มีแนวคิดประชาธิปไตยมากขึ้นและมี "เงื่อนไข" การชุมนุมที่สอดคล้องกับสถานการณ์มากกว่านี้
"แนวร่วม" ก็อาจจะขยายมากขึ้น
และ "ม็อบ" อาจไม่ใช่ "ล้านปี" เหมือน "ม็อบเสธ.อ้าย"

นี่คือ เรื่องที่รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" และพรรคเพื่อไทยต้องประเมินให้ดี 
เพราะถ้าหลงลำพองต่อชัยชนะที่มีต่อ "ม็อบเสธ.อ้าย" และการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่เพิ่งผ่านไป 
ปล่อยให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างน่าเกลียด 
ใช้อำนาจเกินความพอดี ฯลฯ 
กระแสจะตีกลับทันที



บทเรียนจากยุครัฐบาล "ทักษิณ" เป็นบทเรียนที่ดีเยี่ยมสำหรับ "ยิ่งลักษณ์" 
"ผลงาน" อาจใช้ในการหาเสียงได้ 
แต่ไม่ช่วยทำให้ไม่เกิด "ม็อบ"
เพราะ "ม็อบ" นั้นเกิดจาก "ความรู้สึก"

ลำพังแค่ความรู้สึก "ไม่พอใจ" ไม่แรงเท่ากับความรู้สึก "หมั่นไส้" 
ซึ่ง "ม็อบพันธมิตร" ครั้งก่อน ว่ากันว่า "ความหมั่นไส้" มีพลังในการเรียกแขกมากกว่า "ความไม่พอใจ" 
ทั้งนี้เป็นเพราะบุคลิกส่วนตัวของ "ทักษิณ" ที่มีทั้งคนรักและคนหมั่นไส้ 
ซึ่งโชคดีที่ "ยิ่งลักษณ์" ไม่มีบุคลิกเรียกแขกแบบนี้

แต่รัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาล...มี 



อย่างไรก็ตาม ถือเป็นเรื่องโชคดีของรัฐบาลชุดนี้ 
เพราะ "เสธ.อ้าย" ที่เคยประกาศถอนตัวจากการเป็น "แกนนำ" 
...เปลี่ยนใจ

"เสธ.อ้าย" จะกลับมาเป็น "แกนนำ" อีกครั้ง
นี่คือ "ข่าวดี" ที่สุดของรัฐบาล




++

สวนทาง
โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร  คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์  วันอาทิตย์ที่ 02 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 11:20:03 น.
(ที่มา คอลัมน์สถานีคิดเลขที่ 12 นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 2 ธ.ค.55 )


หลังปลอบประโลมกันและกัน 
ทำนองถึง "แพ้" แต่ "ชนะ" (ในวันข้างหน้า) อะไรทำนองนั้น 
พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ผู้ซึ่งประกาศ "เสธ.อ้ายตายแล้ว" ก็ฮึดอีกเฮือกปีนออกจาก "หลุม" 
นำทีม องค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน และ ป.ป.ช. 
ให้สอบสวนว่า การออก พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงฯ เพื่อควบคุมม็อบ อพส. ของรัฐบาล ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ 
และขัดมติศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่าการชุมนุมของ อพส.ทำได้ หรือไม่


ก่อนหน้านั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาแถลงเป็นทางการว่าห่วงใยทัศนคติของรัฐบาลในการปฏิบัติต่อประชาชนที่เห็นแตกต่างจากรัฐบาล   
เพราะมีการขัดขวางการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ 
เป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐานของประชาชน 
นอกจากนี้ ยังจับกุม คุกคาม สื่อมวลชน ด้วย 
พร้อมยกย่อง พล.อ.บุญเลิศ ว่า 
"ชื่นชม พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ที่ประเมินว่าจะมีอันตรายกับชีวิตของผู้ชุมนุม จึงตัดสินใจยุติการชุมนุม"



ขณะที่ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ทำหนังสือถึง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 
ให้สอบสวนและชี้แจงกรณีตำรวจทำร้ายและกักขังหน่วงเหนี่ยวสื่อมวลชนในวันที่ 24 พฤศจิกายน ระหว่างที่ตำรวจปะทะกับผู้ชุมนุม อพส. 
มีช่างภาพสื่อมวลชนถูกตำรวจใช้กำลังประทุษร้าย และจับกุม คุมขัง 
เป็นช่างภาพหนังสือพิมพ์เอเอสทีวี ผู้จัดการ หนึ่ง, ช่างภาพสำนักข่าวทีนิวส์ หนึ่ง เเละช่างภาพสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส อีกหนึ่ง 
ทั้ง 2 สมาคมสื่อ ระบุว่า
"การกระทำของตำรวจ เป็นการขัดขวางและคุมคามการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน ที่มีหน้าที่ต้องนำข่าวสารข้อเท็จจริงมานำเสนอต่อประชาชนตามสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ตามที่มาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญ"

และยังยื่นหนังสือต่อ นายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้ บริโภค วุฒิสภา เพื่อให้ตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย 
เป็นการ "เอางานเอาการ" ของ 2 สมาคมที่คงทำให้มวลสมาชิกพึงใจ

แต่อยากให้ เอาการ เอางาน กว่านี้ได้ไหม 
ด้วยการเชิญสื่อมวลชน โดยเฉพาะ 3 สื่อที่ได้ผลกระทบ มาจับเข่าสรุปบทเรียน การทำหน้าที่เพื่อ "นำข่าวสารข้อเท็จจริงมานำเสนอต่อประชาชน" ว่าเป็นเช่นใด
จริงหรือไม่ ที่ "บางสื่อ" ทำหน้าที่ "หนักหนา" 
ทั้ง ถ่ายทอดสด
ทั้งรายงานข่าวแบบยืนเคียงข้างม็อบแบบสุดอกสุดใจ 
ทั้ง "บริหารจัดการม็อบ" ไม่ต่างกับ "แกนนำ"
หาคำตอบให้ชัดๆ คู่ขนานไปกับการเรียกร้องให้คนอื่น "คุ้มครอง" การทำงานของตนเอง


จะได้คานกับความรู้สึกอื่นที่ต่างออกไป
เช่น พล.ต.อ.อดุลย์ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย ยืนยันว่าตำรวจทำหน้าที่ได้ดีแล้ว  
ยึดหลักกฎหมาย 
ยึดหลักประชาชน  
และอดทนอดกลั้น 
ทำให้ควบคุมสถานการณ์ที่สะพานมัฆวานฯ และแยกมิสกวันได้ 
"เป็นการปฏิบัติตามหลักสากลจริงๆ และเป็นบทเรียนที่ตำรวจภาคภูมิใจ" นั่นคือคำยืนยันของผู้นำตำรวจ



สอดคล้องกับ เอแบคโพลล์ ที่สำรวจความเห็นประชาชน ใน 17 จังหวัด 2,154 ตัวอย่าง 
ต่อข้อถามถึงความพึงพอใจต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ 
ปรากฏว่า ฐานคะแนนเต็ม 10 คะแนน ได้คะแนนเฉลี่ย 8.02 คะแนน 
โดยร้อยละ 82.7 พอใจค่อนข้างมากถึงมาก 
ในขณะที่ร้อยละ 17.3 พอใจค่อนข้างน้อยถึงน้อย

ชัดว่า กองกำลัง "สลายม็อบ" ของตำรวจ เป็นที่พึงใจของชาวบ้าน
ขณะที่ อพส., ประชาธิปัตย์, 2 องค์กรสื่อ รู้สึกสวนทาง



+++

บทบาท การนำ อ้าย-บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ HEGEMONY
ในมติชน ออนไลน์  วันเสาร์ที่ 01 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 13:00:04 น.


สถานะของ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ก็ทำนองเดียวกับสถานะของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ก็ทำนองเดียวกับสถานะของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 
คือหมดสภาพ 
คำว่าหมดสภาพในที่นี้เป็นบทสรุปในเชิงยุทธศาสตร์ อาจจะไม่ส่งผลสะเทือนในลักษณะฉับพลันทันใด
แต่ก็ยากที่จะฟื้นคืนได้ในเร็ววัน
คำว่าหมดสภาพในที่นี้มิได้หมายถึงตัวตน มิได้หมายถึงตำแหน่ง หากแต่กินความถึงสภาพในฐานะนำ 
เป็นการนำทางการเมือง 

คนคนหนึ่งซึ่งเคยมีสถานะเป็นผู้นำ เมื่อเผชิญปัญหาอันส่งผลให้หมดสภาพ ความหมายโดยพื้นฐานเท่ากับเป็นการสูญเสีย 
นั่นก็คือ สูญเสียการนำ
หากยึดตามหนังสือ ศัพท์รัฐศาสตร์ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ.2536 พลิกไปยังหน้า 210 ตรงคำว่า การครองความเป็นใหญ่ และหน้า 214 ตรงคำว่าการใช้อำนาจครอบงำ 
ก็จะพบคำว่า HEGEMONY


หากมองในทางยุทธศาสตร์ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร สูญเสียการครองความเป็นใหญ่ สูญเสียการใช้อำนาจครอบงำเมื่อใด 
ตอบว่า 1 เมื่อประสบกับปัญหาอุทกภัยปลายปี 2554 
ตอบว่า 1 เมื่อประสบกับปัญหาไม่สามารถสร้างสนามฟุตบอลที่หนองจอกได้ทันและเป็นที่ยอมรับของฟีฟ่า 
นั่นเท่ากับ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้สูญเสียการนำไปแล้วโดยพื้นฐาน
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร อาจยังดำรงอยู่ในสถานะผู้ว่าฯ กทม. ในทางนิตินัย แต่ในทางการเมืองสังคมได้ค่อยๆ ปฏิเสธบทบาทไปแล้วเป็นลำดับ

ถามว่าแล้ว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เล่าได้สูญเสียสถานะนำไปตั้งแต่เมื่อใด 
ตอบว่า 1 สูญเสียไปตั้งแต่สถาน การณ์สลายการชุมนุมในเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 แล้ว
เห็นได้จากความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 

ขณะเดียวกัน คำตอบ 1 สัมผัสได้อย่างเป็นจริงนับแต่ผลการสอบของกระทรวงกลาโหม ระบุว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใช้เอกสารอันเป็นเท็จในการเข้ารับ ราชการทหารในสังกัดโรงเรียนนายร้อย จปร. 
ทันทีที่มีคำสั่งปลด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็สูญโญ



กล่าวสำหรับ พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ สังคมสามารถรับรู้และตัดสินได้รวดเร็วยิ่งกว่ากรณีของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร หลายเท่า 
พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ อาจแลดูองอาจเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ณ สนามม้า นางเลิ้ง 
แต่พลันที่มีการเสนอแนวทาง แช่เข็ง ปิดประเทศเป็นเวลา 5 ปีก็ได้สร้างความหวาดผวาเป็นอย่างสูงในทางการเมือง 
หวาดผวาเพราะเป็นข้อเสนอประเภทไดโนซอรัส 
และยิ่งมีการเผยแพร่แนวทางแช่แข็ง ปิดประเทศ ออกไปกว้างขวางมากเพียงใด ยิ่งทำให้การชุมนุมใหญ่ ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน เป็นความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ มากเพียงนั้น

การจัดกองกำลังตำรวจ 112 กองร้อยดำเนินไปในลักษณะตั้งรับม็อบที่คุยโว ว่าอย่างต่ำต้อง 1 แสน อย่างสูงต้อง 1 ล้าน 
ผลก็คือ มีมวลชนมาไม่ถึง 20,000 คน 
ผลก็คือ แทนที่การชุมนุมจะไหลจากลานพระบรมรูปทรงม้า ผ่านสะพานมัฆวานรังสรรค์ไปยังสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และไปเต็มท้องสนามหลวง ด้วยระยะเวลา 2 วันกับ 1 คืน กลับกลายเป็นเวลา 17.30 น. ก็ประกาศยุติการชุมนุม
อันเท่ากับตอกฝาโลงให้กับ พล.อ. บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์


ยากเป็นอย่างยิ่งที่เมื่อสูญเสียการนำไปแล้วจะสามารถพลิกฟื้นหวนกลับมาชูธงนำได้อย่างองอาจ

ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ไม่ว่าจะเป็น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพราะสภาพที่เคยครองอำนาจได้จบสิ้น สภาพที่ครองการนำได้ยุติ

ที่เหลือให้เห็นก็เป็นแต่เพียง "ซาก" 



.