http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-12-15

นักธุรกิจหัวเมืองกับวัฒนธรรมไทย โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

นักธุรกิจหัวเมืองกับวัฒนธรรมไทย
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ในมติชนสุดสัปดาห์ วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 33 ฉบับที่ 1687 หน้า 30


อาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ อาจารย์คริส เบเคอร์ กล่าวว่าพรรคชาติไทยมีหลักการสำคัญสี่อย่างคือ
1. การเมืองเป็นส่วนขยายของการทำธุรกิจปรกติธรรมดานี่เอง
2. ขยายบทบาทและอำนาจของรัฐสภา ซึ่งเท่ากับลดบทบาทของราชการลง
3. ทัศนคติต่อความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองในทางอนุรักษนิยม คือพิทักษ์ส่งเสริมชาติ ศาสน์ กษัตริย์ นั่นเอง
และ 4. ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในต่างจังหวัด แม้การส่งเสริมนี้กระทบผลประโยชน์ของธุรกิจในมหานคร ก็ต้องทำ

(ใน "Power in Transition: Thailand in the 1990"s ใน Kevin Hewison, (ed.), Political Change in Thailand )


พรรคชาติไทยนั้นเป็นตัวแทนที่ดีของบทบาททางการเมืองของกลุ่มนักธุรกิจต่างจังหวัด แม้พรรคนี้ถูกสั่งยุบไปแล้ว แต่นักธุรกิจต่างจังหวัดก็ยังมีบทบาททางการเมืองที่เด่นที่สุดในรัฐสภา ภายใต้พรรคชื่ออื่นๆ (ไม่เว้นแม้แต่พรรคประชาธิปัตย์)
ธุรกิจต่างจังหวัดแตกต่างจากธุรกิจมหานครตรงที่โดยปรกติแล้ว ไม่ค่อยมีการแข่งขัน เพราะวางอยู่บนฐานของการผูกขาดสูง หากเกิดการแข่งขันเมื่อไร ก็มักจะนองเลือด และนั่นคือที่มาของสมญา "เจ้าพ่อ" ที่ให้แก่ผู้นำธุรกิจที่มีเครือข่ายกว้างขวาง และครอบงำธุรกิจอีกหลายประเภทในจังหวัดหนึ่งๆ หรือในกลุ่มจังหวัดหนึ่งๆ 
อำนาจของ "เจ้าพ่อ" นั้นคล้ายๆ กับรัฐ กล่าวคือผูกขาดการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ของตน แม้ว่ามีองค์กรรัฐอยู่ในพื้นที่ แต่ "เจ้าพ่อ" ก็มักมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บังคับบัญชาระดับสูงขององค์กรเหล่านั้น (ผ่านเงินหรือการ "ให้เกียรติ") ด้วยเหตุดังนั้น "เจ้าพ่อ" จึงมีกลไกรัฐอยู่ในมือด้วย แม้ว่า "เจ้าพ่อ" ไม่ได้เก็บภาษีประชาชน (อย่างน้อยก็ไม่ได้เก็บโดยตรง) แต่เจ้าพ่อมีรายได้มหึมาจากการผูกขาดทางธุรกิจ และ/หรือการทำธุรกิจที่ปริ่มและนอกกฎหมาย
ความนับหน้าถือตาอย่างกว้างขวางในพื้นที่ (ด้วยความเกรงกลัวหรือด้วยความรักน้ำใจก็ตาม) บวกกับความมั่งคั่งและอิทธิพล ทำให้ "เจ้าพ่อ" เป็นผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ในพื้นที่ ดังนั้น เมื่อ "เจ้าพ่อ" มองเห็นว่าการเมืองเป็นส่วนขยายของการทำธุรกิจ "เจ้าพ่อ" จึงอาศัยระบบเลือกตั้งเป็นบันไดก้าวเข้าไปมีอิทธิพลในพรรคการเมืองและสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งในท้องถิ่นและระดับชาติ ฐานอำนาจในสภาส่งให้ "เจ้าพ่อ" หรือลูกหลานว่านเครือของ "เจ้าพ่อ" เข้าไปเป็นรัฐมนตรี, เลขาฯ หน้าห้อง และที่ปรึกษา

สรุปก็คือ "เจ้าพ่อ" ย่อมมีเกือบทุกอย่าง นับตั้งแต่มั่งคั่งด้วยทรัพย์สินเงินตรา, ความนับหน้าถือตาในพื้นที่, อำนาจทางการเมืองในท้องถิ่นและระดับชาติ พูดอีกอย่างหนึ่งคือมี "อำนาจ" (ในทุกความหมาย) เกือบทุกด้านที่มนุษย์คนหนึ่งจะพึงมี


แต่อำนาจอย่างหนึ่งที่ "เจ้าพ่อ" ขาดไป คืออำนาจทางวัฒนธรรม กล่าวอีกนัยยะหนึ่งก็คือ ไม่มีใครรู้สึกว่าวิถีชีวิตของ "เจ้าพ่อ" เป็นแบบอย่างให้แก่วิถีชีวิตของตน "เจ้าพ่อ" ไม่มีแบบบ้านของตนเอง แต่อยู่บ้านทรงกรีก, โรมัน, สเปน, โคโลเนียล, เรือนขุนช้าง ฯลฯ รูปทรงเฉิ่มๆ เหมือนคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ไม่มี "เจ้าพ่อ" คนไหนมีสวนในบ้านที่นิตยสารขายฝันเอาไปลง เพราะสวนของ "เจ้าพ่อ" เป็นสวนเชยๆ ที่เต็มไปด้วยผู้หญิงโรมันชูโคมไฟ แต่ขาดความร่มครึ้มของธรรมชาติที่ผ่อนคลาย ฯลฯ
นั่นไม่ได้หมายความว่า "เจ้าพ่อ" ไม่มีเกียรติยศนะครับ เป็นถึงรัฐมนตรี, เลขาฯ, ประธาน ฯลฯ ต้องมีเกียรติยศที่ผู้คนให้ความเคารพเป็นธรรมดา แต่นั่นเป็นเกียรติยศที่เป็นทางการ ไม่ใช่เกียรติยศที่สังคมมอบให้โดยสมัครใจ ผมคิดว่าเจ้าพ่อก็รู้

เพราะปราศจากอำนาจทางวัฒนธรรมอย่างสิ้นเชิง ผมคิดว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ "เจ้าพ่อ" ยึดทัศนคติทางการเมืองและสังคมแบบอนุรักษนิยม แน่นอนไม่ใช่สาเหตุเดียว ผลประโยชน์นานาชนิดของ "เจ้าพ่อ" เกิดและดำรงอยู่ในโครงสร้างทางการเมืองและสังคมแบบเดิม จะให้ "เจ้าพ่อ" ไม่อนุรักษ์ไว้ได้อย่างไร ที่อยากให้สภาที่มาจากการเลือกตั้งมีบทบาทมากขึ้น ก็เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของตนเอง ไม่ใช่เพราะมีความคิดก้าวหน้า อยากเห็นอำนาจของประชาชนขยายตัวมากขึ้นแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุผลในเชิงจิตวิทยาที่รู้ตัวดีว่าตนเองเชยในสายตาของคนชั้นสูง จึงพร้อมจะ "พึ่งพา" ทางวัฒนธรรม มากกว่าคิดสร้างวัฒนธรรมของตนเองขึ้น นักธุรกิจต่างจังหวัดไม่ได้เติบโตขึ้นตามครรลองของ "กระฎุมพี" ในทางวัฒนธรรมแล้ว อยากกลืนตัวเองเข้าไปกับ "กระฎุมพี" ในเมือง ซึ่งถือวัฒนธรรมร่วมกับศักดินามากกว่า
ดังนั้น หนึ่งในอุดมการณ์ของ "เจ้าพ่อ" คือ "ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป" เพราะนั่นคือที่มาของมาตรฐานทางวัฒนธรรมที่ยากจะปฏิเสธได้ แม้กระนั้น "เจ้าพ่อ" ก็หาได้มีอำนาจทางวัฒนธรรมเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เพราะ "เจ้าพ่อ" ไม่ใช่คนที่พูดราชาศัพท์ได้คล่อง, ไม่ใช่นักดูโขน, ไม่ได้ชอบฟังเพลงประเภทใดที่น่าหวั่นเกรงไปกว่าเพลงลูกทุ่ง และไม่อาจอ้างได้ว่าใกล้ชิดกับราชสำนัก เช่นผมนึกอย่างไรก็นึกไม่ออกว่า มี "เจ้าพ่อ" หรือเมียคนใดเคยได้รับตราจุลจอมเกล้าบ้าง

ร้ายไปกว่าไม่มีเกียรติยศทางสังคมของตนเองแล้ว "เจ้าพ่อ" เข้าไปเกี่ยวข้องกับสถาบันหรือองค์กรใด ก็มักทำให้เกียรติยศของสถาบันและองค์กรนั้นเสื่อมลงไปด้วย นับตั้งแต่สภาตำบล, สภาจังหวัด และสภาแห่งชาติ หรือทางฝ่ายบริหารนับตั้งแต่รัฐมนตรีไปจนถึงกรรมการรัฐวิสาหกิจและอื่นๆ



ที่จริง วงการเมืองของไทยเสื่อมเกียรติลงในสายตาคนชั้นกลางในเมือง ก็นับตั้งแต่มี "เจ้าพ่อ" เข้าไปเกี่ยวข้องมากๆ นี่แหละครับ จนเป็นเหตุให้ใช้อ้างในการรัฐประหาร หรือปลุกระดมให้เป็นประชาธิปไตยโดยไม่มีเลือกตั้ง
ผมคิดว่า หากเอาอำนาจทางวัฒนธรรมของ "เจ้าพ่อ" ไปเปรียบกับกลุ่มเคลื่อนไหวในชนบทอีกกลุ่มหนึ่ง คือเอ็นจีโอ ก็จะเห็นความแตกต่างระหว่าง "ทางเลือก" ทางวัฒนธรรมได้ชัดเจนดี

เอ็นจีโอนั้นไม่มีเกียรติยศที่เป็นทางการเลย ซ้ำเกียรติยศทางสังคมซึ่งพอมีอยู่บ้างก็แคบมาก กล่าวคือไม่เป็นที่รับรองหรือแม้แต่รู้เห็นของคนส่วนใหญ่ (หลายคนยังงงๆ ว่าเอ็นจีโอต่างจากจีเอมโออย่างไร) แต่เอ็นจีโอมีวัฒนธรรมการทำงาน, การแต่งกาย, การคบหาสมาคม, การใช้พาหนะ, หรือแม้แต่ภาษาพูด ฯลฯ ที่เป็นของตนเอง ไม่ได้หยิบยืมจากใคร ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านที่ตัวทำงานด้วย หรือคนชั้นกลางในเมืองซึ่งเป็นรากเหง้าของตนเอง 
ยิ่งกว่านั้น เพราะงานที่ตนทำเกี่ยวข้องอยู่กับชาวบ้าน เอ็นจีโอยังได้สร้าง (idealize) วัฒนธรรมชาวบ้านเชิงอุดมคติขึ้น (อันเป็นวัฒนธรรมที่ชาวบ้านอาจไม่รู้จัก) และกลายเป็นผู้รู้, ผู้อธิบาย, ผู้ปกป้องวัฒนธรรมชาวบ้านเชิงอุดมคติ ไม่ต่างอะไรจาก "นักปราชญ์" ในเมืองสร้างวัฒนธรรมหลวงเชิงอุดมคติขึ้น
วัฒนธรรมชาวบ้านเชิงอุดมคตินี้แหละ ที่เอ็นจีโอ (และชาวบ้านบางกลุ่ม) ใช้เป็นกำแพงป้องกันการบุกทะลวงของรัฐและทุนเข้าสู่ชุมชนของตน รวมทั้งเป็นเครื่องมือต่อรองนโยบายสาธารณะด้วย ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง เพราะรัฐเองก็เริ่มใช้ศัพท์สำนวนเอ็นจีโอ และมองเห็น "สิทธิ" ของชาวบ้านเชิงอุดมคติมากขึ้น (แต่อาจมองไม่เห็นสิทธิของชาวบ้านธรรมดา)

( ผมอยากเตือนนอกเรื่องไว้ด้วยว่า วัฒนธรรมชาวบ้านเชิงอุดมคตินี้เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐน้อยกว่าต่อทุน ที่ต้องต่อสู้กับรัฐก็เพราะรัฐไปเป็นเครื่องมือให้ทุนในโครงการต่างๆ ดังนั้น เมื่อบางส่วนของอำนาจรัฐเปิดศึกกับ "ทุนสามานย์" เอ็นจีโอจำนวนมากจึงเข้าร่วมด้วยอย่างพร้อมเพรียง )


เมื่อเปรียบเทียบกับ "เจ้าพ่อ" เอ็นจีโอไม่มีอำนาจอะไรในมืออยู่เลย เข้าไม่ถึงรัฐ แม้เข้าถึงเงินในกระเป๋าคนอื่น แต่ไม่สู้จะมีเงินในกระเป๋าของตนเองมากนัก แม้แต่ยักยอกไว้บ้างก็ยังไม่มากอยู่ดี เมื่อเทียบกับ "เจ้าพ่อ" แต่เอ็นจีโอมีอำนาจทางวัฒนธรรมซึ่ง "เจ้าพ่อ" ไม่อาจเทียบเทียมได้เลย เอ็นจีโอบอกใครก็ได้ว่าผมเป็นเอ็นจีโอ แต่ "เจ้าพ่อ" กลับต้องคอยปฏิเสธว่าผมไม่ใช่เจ้าพ่อ
และหนึ่งในอำนาจทุนที่เอ็นจีโอเข้ามาต่อต้าน คือทุนที่ "เจ้าพ่อ" มีเอี่ยวด้วย จะโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม ทั้งเป็นการต่อสู้ที่ "เจ้าพ่อ" ไม่คุ้นเคยด้วย คือเปิดสงครามวาทะกันในทางสาธารณะ จะติดสินบนก็ไม่ได้ จะยิงทิ้งพอได้บ้างแต่ความเสี่ยงสูงเพราะเรื่องมันดังเสียแล้ว อำนาจของเอ็นจีโอที่จะต่อกรกับอำนาจรัฐ+เถื่อนได้เช่นนี้ คืออำนาจทางวัฒนธรรมซึ่ง "เจ้าพ่อ" ไม่มีอยู่เลย
"เจ้าพ่อ" จึงเหม็นขี้หน้าเอ็นจีโอ และเอ็นจีโอก็ไม่ชอบหน้า "เจ้าพ่อ" (ซึ่งมีอิทธิพลอยู่สูงในทุกพรรคการเมือง)




ตราบเท่าที่ "เจ้าพ่อ" ยังไม่มีอำนาจทางวัฒนธรรม การต่อรองอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของเจ้าพ่อ ก็ยังต้องอาศัยจำนวนอยู่นั่นเอง (จำนวน ส.ส. ในสภา, จำนวนของรถสิบล้อที่จ้างมาปิดถนน, จำนวนของเงินที่จะยัดปลัดกระทรวงและอธิบดี, จำนวนของครั้งที่ได้รับเลือกตั้งเข้าสภา, จำนวนของหัวคะแนนที่ไว้ใจได้ ฯลฯ) แม้ความพยายามที่จะปลอมตัวเป็นกระฎุมพีในเมือง เช่น ส่งลูกไปชุบตัวเมืองนอก, สร้างบ้านหรู, ขี่เบนซ์, ห้อยสายสะพาย, เป็นนายกสมาคมกีฬา, ถวายเงินโดยเสด็จ ฯลฯ ก็หาได้เพิ่มอำนาจทางวัฒนธรรมของตนแต่อย่างไร

ผมต้องสารภาพว่า ผมมองไม่เห็นทางออกของ "เจ้าพ่อ" เหมือนกันว่า จะสะสมทุนทางวัฒนธรรมของตนได้อย่างไร หนทางที่เป็นไปได้ แต่ทำจริงไม่ได้นั้นพอจะมีอยู่ เช่น 
ขยับธุรกิจของตนเข้ามาสู่แสงสว่างทั้งหมด ซึ่งเป็นไปได้ในแง่ของทุนทางเศรษฐกิจที่สั่งสมไว้ในปัจจุบัน แต่เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ เพราะ "เจ้าพ่อ" ต้องเป็น "มืออาชีพ" พอที่จะขยับธุรกิจของตนไปขายสินค้าหรือบริการคุณภาพ เช่น แทนที่จะขนส่งพืชผลการเกษตรด้วยสิบหกล้อ ซึ่งต้องคอยจ่ายส่วยแก่ตำรวจทางหลวง ก็ปรับรถของตนไปขายบริการโลจิสติกส์คุณภาพแทน อันเป็นธุรกิจที่ต้องร่วมทุนหรือมีสาขาในต่างประเทศ อย่างน้อยก็ในอาเซียนด้วยกัน ถึงจะจ้าง "มืออาชีพ" มาทำแทนได้ แต่ความเสี่ยงสูง เพราะอาจลงเอยที่เจ๊งก็ได้ สู้กินของตายต่อไปตามเดิมไม่ได้ 
หรือหันไปแข่งกับเอ็นจีโอในการเป็นแชมเปี้ยนของวัฒนธรรมชาวบ้านเชิงอุดมคติ กำลังทรัพย์ที่ "เจ้าพ่อ" มีอยู่นั้น ทำได้แน่ แต่จะทำไปทำไม เพราะขัดผลประโยชน์ทางธุรกิจของตนเอง ซ้ำในวัฒนธรรมชาวบ้านเชิงอุดมคติยังกระจายอำนาจต่อรองไปยังคนเล็กคนน้อยอย่างเท่าเทียมกัน ขืนทำได้จริง ก็จะขัดผลประโยชน์ทางการเมืองของตนด้วย

(อันที่จริง "เจ้าพ่อ" คือลูกชาวบ้าน และ "เจ้าพ่อ" ก็เป็นแชมเปี้ยนของวัฒนธรรมชาวบ้านในบางแง่ แต่เป็นวัฒนธรรมชาวบ้านที่ยังไม่ถูกทำให้เป็นอุดมคติ เช่น เจ้าพ่อส่งเสริมการตีไก่, ผดุงความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์, หรือมีท่าทีของ "นักเลง" เป็นต้น แต่วัฒนธรรมชาวบ้านในแง่นี้ถูกมองในแง่ลบไปเสียแล้ว ทั้งในวัฒนธรรมกระฎุมพี+ศักดินา และในวัฒนธรรมชาวบ้านเชิงอุดมคติ)


หรือหันมาเป็นผู้อุปถัมภ์รายใหญ่สุดของวัฒนธรรมราชสำนักในพื้นที่อิทธิพลของตนเอง อาจได้เป็นนายกสภาของวิทยาลัยนาฏศิลป์ในจังหวัด แต่อำนาจทางวัฒนธรรมที่ได้มาโดยผ่านวัฒนธรรมราชสำนักนั้นมีคู่แข่งแยะ ซ้ำวัฒนธรรมราชสำนักก็ไม่มีบทบาทในพื้นที่ชายขอบมานานแล้ว ถึงจะมีอำนาจทางวัฒนธรรมขึ้นมา ก็ไร้ความหมายในพื้นที่อิทธิพลของตนเอง ต้องมาแข่งในกรุงเทพฯ ซึ่งมีคนประเภทนี้อยู่มากแล้ว

ดังนั้น "เจ้าพ่อ" ก็จะต้องคอยปฏิเสธว่าตนไม่ใช่ "เจ้าพ่อ" ต่อไป



.