http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-12-31

“ใบตองแห้ง” วิจารณ์“เพื่อไทย” ชม“ประชาธิปัตย์” ต้อนรับปีใหม่ 2556

.

“ใบตองแห้ง” วิจารณ์ “เพื่อไทย” ชม “ประชาธิปัตย์” ต้อนรับปีใหม่ 2556
สัมภาษณ์โดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555 เวลา 11:49:00 น.
( ดูต้นฉบับและรับชมข่าว VDO-ส่วนหนึ่ง ที่ www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1356784897 )


ในโอกาสส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ รอยต่อแห่งปีที่การแบ่งสีเลือกข้างยังดำรงอยู่ทุกแห่งหน ไม่เว้นแม่แต่วงการสื่อมวลชน "มติชนออนไลน์" สัมภาษณ์ "อธึกกิต แสวงสุข" เจ้าของนามปากกา "ใบตองแห้ง" คอลัมนิสต์ฝีปากกล้า ผู้มีจุดยืนในแนวทางเดียวกับ "คนเสื้อแดง" แม้ว่าเจ้าตัวจะยอมรับหรือไม่ก็ตาม บทสนทนาชิ้นนี้ จงใจให้ "ใบตองแห้ง" วิจารณ์ "พรรคเพื่อไทย" และขบวน "คนเสื้อแดง" ขณะเดียวกันให้มอง "พรรคประชาธิปัตย์" และ "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ในแง่บวก อย่างไรก็ดี เขาแถมท้ายด้วยการวิจารณ์ "ตัวเอง" ในฐานะ "สื่อมวลชน"


@ ในฐานะ มีจุดยืนเป็นคนเสื้อแดง อยากให้ลองวิจารณ์คนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทย

เวลาคนบอกว่าเป็นแดง เราก็ไม่ค่อยยอมรับหรอกนะ แต่เราถูกผลักให้มาเป็น (หัวเราะ) ถ้าเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตย หลักนิติรัฐ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2555 อันนี้ โอเค เราเป็นเสื้อแดง แต่เราก็ยังมีความแตกต่าง ยังไงเราก็ไม่ได้เห็นด้วยกับ นปช. หรือ พรรคเพื่อไทย ทั้งหมด

ปัญหาของพรรคเพื่อไทย ก็คือนักการเมือง ทุจริตคอรัปชั่น การหาผลประโยชน์ มีผลประโยชน์ทับซ้อน นอกจากนั้น การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเอง ในรอบปีที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยก็เป๋ไปเป๋มา ไม่ได้มีธาตุแท้ ที่จะสู้เพื่อประชาธิปไตยเท่าไหร่นัก  โอเค มีนักต่อสู้ในพรรคจำนวนหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด บางทีก็แพ้เสียงข้างมากที่เอาตัวรอด แม้บางครั้งฝ่ายประชาธิปไตยในพรรค เสนอเรื่องดีๆ ได้ แต่ฝ่ายที่ต้องการครองอำนาจ ก็กุมอำนาจเหนือกว่า

ตลอดปี 55  หรือตั้งแต่ ตั้งรัฐบาลมา ฝ่ายที่คิดเรื่องครองอำนาจและผลประโยชน์มากกว่าประชาธิปไตย ยังเป็นฝ่ายคุมอำนาจนำเหนือกว่า เพียงแต่ว่ามีเงื่อนไขอันเดียว คือ คุณทักษิณ (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี)  ติดชนัก ด้วยตัวรัฐธรรมนูญ ความไม่เป็นประชาธิปไตย ผลพวงของรัฐประหาร ก็เลยบีบให้คุณทักษิณกับพรรคเพื่อไทยต้องสู้ ในเงื่อนไขนี้ เขาต้องสู้ไปสู่ประชาธิปไตย จึงเป็นจุดที่เขาต้องสู้อยู่ตลอด แต่ถ้าพูดถึงว่า “เพื่อไทย” เป็นพรรคการเมือง  ที่มาจากการเลือกตั้งธรรมดา ไม่มีเงื่อนไขเรื่องรัฐธรรมนูญ รัฐประหาร  ไม่มีเงื่อนไขตุลาการภิวัฒน์ ที่จ้องล้มรัฐบาล พรรคเพื่อไทย ก็ไม่มีอะไรที่เราจะต้องสนับสนุนนัก 


@ มองว่า เพื่อไทย ไม่ต่างจากพรรคอื่น

ไม่ต่างจากพรรคอื่น มาตรฐานบางอย่างพรรคเพื่อไทย แย่กว่าพรรคประชาธิปัตย์ด้วยซ้ำไป  เช่น เรื่องตัวบุคคล คือเราจะเห็นว่า รัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยเอง จำนวนหนึ่งก็คือรัฐมนตรี ที่มาตามโควต้าของกลุ่มก๊วนการเมือง กลุ่มทุน กลุ่ม ส.ส. ซึ่งแทบไม่ได้เปลี่ยนเลย คนที่มีบทบาทก้าวหน้าในพรรคเองก็ถูกมองข้ามไปเยอะ  ทั้งที่ เราก็ท้วงตั้งแต่ตอนต้นรัฐบาลแล้วว่า ครั้งนี้ ไม่ได้ชนะเพราะเงิน หรือเพราะกลุ่ม ส.ส. นะ แต่เป็นการชนะ เพราะ มวลชน  ซึ่งมีบทบาทค่อนข้างสูงในชัยชนะปี 54 ฉะนั้น การตอบแทนตัวมวลชนยังไม่เพียงพอเท่าไหร่ การที่จะทำงานจริงจัง อุทิศตัวเพื่อประชาธิปไตย ก็ยังไม่เพียงพอ

แต่แน่นอน มันเป็นสภาวะจำเป็นที่ว่า คนที่รักประชาธิปไตย ก็ยังสนับสนุนพรรคเพื่อไทย ในระยะเฉพาะหน้านำไปสู่ประชาธิปไตย เพราะไม่มีทางเลือกอื่น และพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคเดียวที่จำเป็นต้องสู้ และถูกบีบให้ต้องสู้ด้วย ตอนแรกคนก็กลัวกันว่า อาจจะมีการประนีประนอมฮั้วกัน แต่ถึงตอนนี้ ก็พิสูจน์แล้วว่า ยังต้องสู้กันอยู่ แล้วอีกฝ่ายหนึ่ง ที่มีอำนาจนอกระบบก็พยายามจะล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทยอยู่ มันเป็นการต่อสู้ที่ยืดเยื้อมา และยังไม่เปลี่ยน

ปัญหาคือ เราอยู่ในจุดที่ค่อนข้างยากลำบากพอสมควร เวลาเราพูดถึงพรรคเพื่อไทย ก็มีปัญหาว่า การแยกแยะระหว่างการปกป้องประชาธิปไตยกับการปกป้องรัฐบาล ความจริงเราควรจะแยกแยะระหว่างกันว่าการปกป้องประชาธิปไตย จริงๆ มันไม่ใช่การปกป้องรัฐบาลนะ แต่บางที เส้นแบ่งตรงนี้ มันก็...  เราเองก็ลำบากใจบางทีเราก็ตัดสินใจไม่ได้ บางทีมันคลุมเครือ บางทีมันขีดเส้นยาก เช่น ถามว่าเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยมีทุจริตไหม ผมคิดว่ามี  แต่เราก็ไม่เห็นด้วย หากเป็นเรื่องแล้วถึงขั้นถอดถอนยุบพรรค เป็นสิ่งที่เราไม่เห็นด้วย  แต่ถ้าเป็นการลงโทษตัวบุคคล เราไม่ว่ากัน เหตุที่ไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรค เพราะเป็นการทำลายเสียงประชาชน นี่เป็นสิ่งก้ำกึ่งกันอยู่ตลอด

แล้วเวลาถกเถียงเรื่องพวกนี้ ฝ่ายประชาธิปัตย์และพันธมิตรฯ  จะยกมาให้น้ำหนัก ไม่ใช่การตรวจสอบทุจริตธรรมดา แต่เป็นการมุ่งล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อนำไปสู่ระบอบที่มีอำนาจแทรกแซง นำกลับไปสู่ประชาธิปไตยแบบอำมาตย์ เต็มที่ หรือ กลับไปกึ่งรัฐประหาร พอมีความพยายามล้มรัฐบาลแบบนี้ เราก็จำเป็นต้องปกป้องรัฐบาล แล้วถามว่า เราจะเอาเรื่องที่ไม่ดีไม่งามของรัฐบาลไปไว้ตรงไหน นี่เป็นปัญหามาก


@ ในฐานะสื่อมวลชน จะเอาปัญหานี้ไว้ตรงไหน

ในฐานะสื่อ และในฐานะคนที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยทั้งหลาย ซึ่งถูกผนวกมาเป็นคนเสื้อแดง ก็มีปัญหาว่าเราจะทำอย่างไร แต่แน่นอนเรื่องบางเรื่อง เราก็ไม่ควรปกป้อง

ผมว่าปี 2556 เราควรต้องทำให้ชัด แยกว่าการปกป้องรัฐบาลกับการปกป้องประชาธิปไตย ต้องแยกกันอย่างไร แต่ว่าสถานการณ์มันทำให้ แยกกันไม่ค่อยออก เหมือนกับว่า ฝ่ายตรงข้ามก็จ้องเอาเรื่องนี้ขึ้นมาล้มประชาธิปไตย ไม่ใช่แค่ล้มรัฐบาล

ผมไม่ได้เกี่ยงว่าการล้มรัฐบาล ล้มได้ แต่การล้มรัฐบาลของเขา มันคือความหมายของการล้มประชาธิปไตย ไปเกือบทั้งหมด มันจึงเป็นปัญหาว่าทำอย่างไรเราจะแยกแยะเรื่องพวกนี้ โดยเฉพาะ เมื่ออีกฝ่ายหนึ่ง ก็ไม่แยกแยะเรื่องพวกนี้เหมือนกัน
มันเป็นปัญหากับสื่อเกือบทั้งหมดในฝ่ายที่สนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตย แล้วก็เป็นกับนักต่อสู้ นักเคลื่อนไหวต่างๆ โอเค นักวิชาการเขาก็จะพูดได้ในแต่ละเรื่อง สามารถฉีกตัวออกไป เช่น นิติราษฎร์ ก็พูดเรื่องกฎหมาย ซึ่งถ้ารัฐบาลออกกฎหมายที่ไม่ชอบ เขาก็ต้องพูดเหมือนกัน ก็เป็นเรื่องๆ ไป


@ ถ้ามองพรรคประชาธิปัตยในแง่ดี ด้วยจุดยืนของ “ใบตองแห้ง”

ถ้าจะให้มองประชาธิปัตย์ในแง่ดี ผมว่าคงไม่ขึ้น (หัวเราะ) พรรคประชาธิปัตย์ มีตัวบุคคลดีๆ พอสมควร แม้แต่ คุณอภิสิทธิ์ (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี)  ผมเสียดายคุณอภิสิทธิ์มาก ถ้าไม่เกิดวิกฤตทางการเมือง ถ้าคุณอภิสิทธิ์ ไม่ประกาศสนับสนุน ม.7 (นายกฯพระราชทาน) เมื่อปี 49 แล้วบอยคอตการเลือกตั้ง นำมาสู่การรัฐประหาร แล้วมารับเป็นนายกฯ ในขณะที่พรรคพลังประชาชน ถูกยุบพรรค สมมุติไม่เกิดเรื่องเหล่านี้ขึ้นมา แล้วตอนนั้น คุณทักษิณ เป็นนายกฯ แล้วถูกกระแสสังคมบีบ เลือกตั้งแล้วอาจจะชนะ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะชนะถล่มทลายเหมือนในอดีต แล้วฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะพัฒนาตัวเองเป็นพรรคใหญ่ที่สู้กับพรรคไทยรักไทยได้ ถ้ามันเดินไปตามวิถีนั้นเนี่ย คุณอภิสิทธิ์ ก็จะเป็นผู้นำที่ดี ซึ่งน่าเสียดายมาก เราไม่ได้เห็นภาพนั้น มันเกิดขึ้น

ผมมองประชาธิปัตย์ในแง่ดี ไม่ขึ้นเลย เพราะผมไม่ชอบวัฒนธรรมแบบประชาธิปัตย์ ซึ่งเล่นการเมืองแบบที่เห็นอยู่ เพื่อเอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น ซึ่งเป็นวลี ประนามประชาธิปัตย์ ติดตัวอยู่ตลอด

เวลาปิดเทปคุยกับคนประชาธิปัตย์ ก็คุยกันดี ตอนสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย เขาก็บอกว่า รัฐบาลไทยรักไทยทำถูกต้องหลายอย่าง ประชาชนจึงนิยม เราก็มีข้อบกพร่อง แต่พอเปิดเทปสัมภาษณ์ เขากลับไปเป็น ประชาธิปัตย์ คือด่ารัฐบาลไทยรักไทยอย่างเดียว แล้วก็บอกว่า ตัวเองถูกทุกอย่าง ถามว่าทำไมเขาไม่ประสานให้ทั้ง 2 อย่างไปด้วยกันได้ ทำไมต้องเป็นสายล่อฟ้าอยู่ตลอด ความจริงเขามีคนที่ยอมรับความจริงอยู่เยอะเลย แต่วัฒนธรรมการเล่นการเมืองของเขา เป็นปัญหา และเขาจะเดินอย่างไรต่อไปในสถานการณ์นี้ จะมายืนคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ตลอดหรือ หรือจะรณรงค์ประชาชนภาคใต้ ไม่ให้ไปลงประชามติ เพื่อไม่ให้ประชามติผ่าน คุณเป็นพรรคการเมือง ทำอย่างนั้นได้หรือ ต้องมีความละอายอดสูไหม
ถ้าประชาธิปัตย์เล่นการเมืองแบบแฟร์ๆ ยอมรับข้อบกพร่องตัวเอง ยอมรับข้อดีของคนอื่น แล้วก็สรุปแล้วจริงๆ เขามีข้อดีกว่าพรรคอื่นด้วยซ้ำไปในหลายๆ เรื่อง  เช่น เรื่องตัวบุคคล การคิดนโยบายเชิงสร้างสรรค์ การดำเนินนโยบายหลายๆ อย่างของประชาธิปัตย์  เป็นสิ่งที่ดีนะ แต่ปัญหาคือ ตั้งแต่ปี 49 เป็นต้นมา  พอคิดว่าตัวเองไม่ชนะเลือกตั้ง  ไม่มีความอดทนพอ คุณไปผูกกับรัฐประหาร คุณไปผูกกับอำมาตย์ หวังพึ่ง อำนาจตุลาการ หวังพึ่งรัฐประหาร มันทำลายตัวเองหมด

ประชาธิปัตย์ มีตัวบุคคล มีคนสนันสนุน สามารถระดมความสามารถของตัวเองมาใช้ได้เยอะ แต่คิดว่าตัวเองแพ้เลือกตั้งตลอด คิดได้ยังไงว่าตัวเองจะแพ้เลือกตั้งตลอดไม่คิดที่จะเอาชนะใจคนเลย ใช่ไหมครับ

ประชาธิปัตย์ อยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อที่ผมคิดว่า เขาควรจะต้องปรับ ถ้าเดินอยู่ในแนวทางนี้ต่อไป เขาก็มีอยู่แค่นี้ หมายความว่า ถ้าแนวทางนี้ต่อไป เขาไม่สามารถ ที่จะชนะใจคนภาคอีสานภาคเหนือ ไม่สามารถที่จะชนะใจ คนเสื้อแดง ที่ต่อให้คนเสื้อแดง ไม่เอาคุณทักษิณ ก็ไม่เอาประชาธิปัตย์ อยู่ดี ถ้าคุณยังเล่นการเมืองแบบนี้ ถามว่าทำไมไม่คิดเรื่องการเอาชนะใจคนบ้างละ แล้วก็หันมาเล่นการเมืองแบบแฟร์ๆ ยอมรับความผิดพลาด แต่ถึงขั้นนี้ มันอาจจะต้องเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค และกรรมการส่วนหนึ่ง แล้วหาคนใหม่ที่เขาสามารถกลับมาพร้อมรับฟังประชาชน รับฟังคนที่เห็นต่าง พร้อมสามัคคีกับคนที่รักประชาธิปไตย เดินไปกับประชาธิปไตยจริงๆ เขามีโอกาสที่จะชนะในอนาคต แต่อดทนหน่อย อาจจะ 3 ปี 7 ปี ก็ยังพอมีโอกาส ไม่ใช่ไม่มี แต่อยู่อย่างนี้ ก็จะทำให้ประชาธิปัตย์ หดเล็กลงไปเรื่อยๆ หดเล็กลงไปเรื่อยๆ ยังมองไม่เห็นทางชนะ ตราบใดที่เขายังเล่นบทต่อต้านประชาธิปไตยแล้วก็ประนามมวลชนเสื้อแดง ซึ่งก็รวมถึงคนเหนือ คนอีสานทั้งหมด เล่นการเมืองแบบนี้ ตั้งป้อมเป็นศัตรูกันแบบนี้ เขาจะไปชนะใจคนเหนือ คนอีสานได้ยังไง ก็ไม่มีทางชนะ


@ จุดแข็งของ ประชาธิปัตย์  ที่ดีกว่าพรรคอื่น มีอะไรบ้าง

ระบบพรรคประชาธิปัตย์ เอื้อให้คนสามารถเข้าไปโดยไม่ต้องเป็นกลุ่มก๊วนมากนัก ไม่ต้องเป็นกลุ่มทุนแบบ มี ส.ส. ในมือ 10 คนจะได้เป็นรัฐมนตรี ยังไม่ชัดเจนขนาดนั้น แต่มีระบบพรรค ที่สร้างรากฐานตัวเอง เช่น ในภาคใต้ มีระบบอาวุโส มีความสามารถ มีใครเป็นดาราก็จะมี

แต่ไม่ได้บอกว่า พรรคเพื่อไทย จะเป็นแบบที่เป็นอยู่ตลอดไป ขึ้นอยู่กับ พรรคเพื่อไทย ปรับตัวไหม ถ้าพรรคเพื่อไทยปรับตัว ก็ต้องรับระบบมวลชน เช่น ที่มวลชนเสื้อแดง เรียกร้องให้มี ไพรมารี่โหวต พรรคเพื่อไทย ต้องปรับตัว ให้มีพลัง มวลชนมาร่วมกับพรรค ถ้าไม่เอามวลชนมาเป็นฐานของพรรค มีส่วนคัดเลือกผู้สมัคร คัดเลือกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย ก็อยู่ได้ไม่นาน แต่ รรคจะอยู่เป็นระยะเฉพาะหน้า เป็นเครื่องมือ ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเท่านั้น


@ นอกจากมองพรรคการเมืองแล้ว มองขบวนการมวลชน ของ 2 ปีก เหลือง –แดง  อย่างไร

ส่วนตัว ผมกับแกนนำ นปช. แทบจะไม่มีความสัมพันส่วนตัวอะไรกันเลย อาจจะยกเว้น พี่จรัล ดิษฐาอภิชัย ซึ่งแกก็ห่าง แต่ฝั่งพันธมิตร ที่จริง ผมมีความสัมพันธ์ ส่วนตัว ค่อนข้างดี แต่ความคิดต่างกันมาก

อย่าง พี่พิภพ ธงชัย สุริยะใส กตะศิลา มีความสัมพันธ์ส่วนตัวกัน ที่จริงคิดคล้ายกันมากกว่า มีความคิดเชิงสังคม ต่อสู้เพื่อ ประชาชน ส่วนตัวผมมีด้านที่ร่วมกับพวกเขามากกว่า แกนนำ นปช. เพราะ ผมไม่ได้คบตู่ เต้น (จตุพร พรหมพันธุ์, ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ) เพราะ ความคิดเชิงสังคมประชาธิปไตย ลึกๆ ยังน้อยกว่าแกนนำ พันธมิตรฯ  จากการนั่งคุยวิธีคิด

เพราะสายพันธมิตรฯ  มาจากภาคประชาสังคม ซึ่งคิดเรื่องความเหลื่อมล้ำ คิดเรื่องความเป็นธรรม คนยากจน ชีวิตประชาชน ถูกเอารัด เอาเปรียบ ความคิดด้านนี้มีมากกว่า แน่นอน พี่จรัล ซึ่งเป็นเสื้อแดงก็มี เหมือนกัน นี่ก็คือ ธาตุเดียวกัน(กับแกนนำพันธมิตรฯ) แต่เลือกวิธีการเดินทางการเมืองคนละด้าน

ปัญหาคือ พันธมิตรฯไปคิดเรื่องการเอาชนะ ไปคิดเรื่องล้มระบอบทักษิณอย่างเดียว กระทั่งยอมเสียจุดยืนประชาธิปไตยไป ก็เลยเตลิดเปิดเปิง ผมว่าเขากลับไม่ได้ ผมก็รับไม่ได้ที่เขาบอกว่าให้ประชาชน ปฏิวัติร่วมกับทหาร สนับสนุนม็อบแช่แข็ง คือมันยิ่งถลำ

ผมเจ็บปวด  หลายๆ คนที่ผมรัก อย่างผมเห็น อาจารย์แก้วสรร อติโพธิ์  ขึ้นเวที เสธ.อ้าย (องค์การพิทักษ์สยาม) ผมรู้สึกเซ็ง ผมรักอาจารย์แก้วสรร พอสมควร เรื่องความคิด เรื่องอะไรต่างๆ   แกมีด้านที่ดีเยอะ หลายเรื่องแกมีความจริงใจ แต่ไม่รู้ทำไม ต้องเอาตัวไปทุ่มขนาดนั้น


@ เวที เสธ.อ้าย ผิดตรงไหน ทำไม อาจารย์แก้วสรร จึงไม่ควรขึ้นปราศรัย

เขาเรียกหาการรัฐประหารโดยตรง ถึงแม้จะอ้างว่า ใช้การปกครองโดยคณะบุคคลอะไรก็ตามแต่ ผมว่าถลำไปอย่างนั้นมันมากไป ทั้งที่ความจริง แกมีด้านที่ดีเยอะ แต่ว่าพวกนี้ ถือเอาการต่อสู้ กำจัดคุณทักษิณ เป็นเรื่องหลักไปแล้ว จนกระทั่งมองข้าม ทำไมไม่กลับมาสู่หลักเกณฑ์ประชาธิปไตย เหมือนเราถกเรื่อง รัฐธรรมนูญ 2550 ร่างมาเพื่อทักษิณ กำจัดทักษิณ จำเป็นต้องทำขนาดนั้นเลยเหรอ กฎหมายสูงสุด ของคนทั้งประเทศ ของคน 70 ล้านคน จะมาทำเพื่อคนคนเดียวทำไม แล้วตอนนี้ ที่บอกว่า แก้เพื่อคนคนเดียว ก็ถูกนะ เพราะรัฐธรรมนูญ ร่างเพื่อคนคนเดียว ก็ต้องแก้เพื่อคนคนเดียว ให้มันพ้น จากรัฐธรรมนูญที่เล่นงานคนคนเดียว แต่ กลับไปสู่หลักการ แล้วสู้เพื่อหลักการ

ผมเข้าใจว่า พันธมิตรฯกลัว ถ้าไม่มีกลไก ตุลาการภิวัฒน์ การรัฐประหาร  ที่ติดชนักคุณทักษิณ ไว้แล้ว พรรคเพื่อไทยจะครองอำนาจเต็มตัว แล้วไม่มีใครเบรคได้อีก ซึ่งผมไม่เชื่อเรื่องพวกนี้   ผมคิดว่าไม่มีใครอยู่ค้ำฟ้ายิ่งใหญ่ขนาดนั้น ยังไง ก็ต้องมีพลังที่ขึ้นมาทวง มาตรวจสอบ ถ้าคิดงั้น ก็ต้องแก้กลไกรัฐธรรมนูญ ซึ่งผมคิดว่ารัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย ก็จะไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยหรอก เพราะเขาจะไม่คิดเรื่องการตรวจสอบมากนัก  แต่ถ้าเราคิดเชิงประชาธิปไตย ก็ต้องคิดเรื่องการตรวจสอบ แต่ทำอย่างไร ไม่ให้การตรวจสอบ ไปผูกกับตุลาการ อำมาตย์ อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่การตรวจสอบ ควรไปผูกประชาชนมากขึ้น การกระจายอำนาจเพิ่งเริ่มเมื่อปี 40  ต้องเอาหลักการมาถ่วงไม่ใช่คิดง่ายๆ เอาศาล เอาตุลาการเข้ามา คอยยุบพรรค จะเป็นสงครามไม่สิ้นสุด

การไล่ทักษิณ ในปี 49 ถูกต้อง แต่เลยเถิดไปถึงการรัฐประหาร เกิดสงครามสี ถ้าพันธมิตรฯ  คิดว่าจะเดินทางนี้ต่อไป ซึ่งก็คงเดินต่อไป  จะหมดความหมายลงไปทุกวัน กลายเป็นสุดขั้วสุดโต่ง อาจจะเหลือกอดกันอยู่ประมาณ 2-3 หมื่นคน หรือหากนับทั่วประเทศ อาจหลายแสน แต่ไม่ชนะใจคนส่วนใหญ่ จะฆ่าตัวตายทางการเมืองไปเรื่อยๆ และพรรคเพื่อไทย จะตีตะล่อมชนะใจคนส่วนใหญ่


@ มองขบวนการเสื้อแดง อย่างไร

ขบวนการเสื้อแดงยังไม่เป็นขบวนการ มีทั้ง  นปช. ลักษณะขึ้นกับพรรคเพื่อไทย และ เสื้อแดงลักษณะที่เป็นอิสระมากมาย ผมคิดว่า เขาทำเป็นองค์กรไม่ได้ นี่เป็นความหลากหลายกระบวนการประชาธิปไตย เสื้อแดงเกิดขึ้นมาเอง จากวิทยุชุมชน จากสื่อและความไม่พอใจฝ่ายตรงข้าม และบอกไม่ได้ว่าเสื้อแดงเหมือนกันหมด หรือดีทั้งหมด เพราะก็มีการโกงกัน ต้มกันพากันไปกัมพูชา ไปลอยแพ อมเงิน ก็มี มีความหลากหลายมาก คนที่ต่อสู้ก็มี

ตัวแกนนำก็ผูกติดกับพรรคจนไม่มีความเป็น ตัวของตัวเอง ทีนี้ มีปัญหาว่า ความกระจัดกระจาย จะไปกันยังไง ต่อ ผมยังมองว่า ไม่จำเป็นต้องรวมศูนย์อะไร ก็ให้กระจัดกระจายแบบนี้ การจะให้มวลชน ไปไพรมารีโหวตยังไกลไป แต่ถ้าวิจารณ์ เฉพาะ แกนนำ นปช. หลายเรื่องเขาควรจะเป็นตัวของตัวเอง มีทิศทางตัวเอง

ส่วนที่ผูกติดกับพรรค ก็เพราะ มีทรัพยากร จัดตั้งองค์กรง่าย แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้อง นึกถึงการให้มวลชน มีอำนาจต่อรองกับพรรคมากขึ้น ซึ่งยังเป็นไปได้ยาก แต่ผมคิดว่า มันก็จะพัฒนาไป เช่น ถ้าพรรคจัดเวที มีเครื่องเสียงพร้อม มวลชนก็ไปฟัง แต่ขณะเดียวกัน มวลชนก็ฟังคุณสมบัติ บุญงามอนงค์ พูด ฟังนิติราษฎร์พูด คือเขาไม่ได้ผูกติดกับใคร เขาจะฟังหมด ซึ่งเป็นอย่างนี้ดีสุดแล้ว ไม่จำเป็นต้องเป็นขบวนการต้องบลอคกันแบบ เป่านกหวีด(หัวเราะ) ประชาธิปไตย คือการสร้างคนที่มีความเห็นหลากหลาย ไม่ใช่สร้างประชาชนที่เดินตามท่านผู้นำ


@มองว่า สื่อมวลชน มีอะไรยังขาด อะไรยังเกิน

สื่อตอนนี้ ต้องแบ่ง 2 ค่าย คือค่ายที่ออกแนวโน้มไปทางสนับสนุน พันธมิตรฯ  ยัง ผูกติดรัฐประหาร ตุลาการภิวัฒน์อยู่ กับค่ายที่หันมาสนับสนุนประชาธิปไตย สนับสนุน พรรคเพื่อไทย ซึ่งฝ่ายหลังนี่ก็ถูกวิจารณ์เยอะ เช่น ทัวร์แดงเดือดซึ่งก็ไม่เหมาะสม เป็นการคิดไม่ถี่ถ้วนไม่ระมัดระวังตัว สะท้อนว่าสื่อฝ่ายแดงต้องแยกการปกป้องรัฐบาล กับการปกป้องประชาธิปไตย อะไรที่รัฐบาลทำผิดเราก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์บ้าง แต่แน่นอน มีความลำบากใจ ตรงที่ ถ้าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมาก ก็กลัวจะเข้าทางฝ่ายตรงข้าม แล้วเขาฉวยไปเป็นช่องล้มประชาธิปไตย นี่คือความลำบากใจ ที่เวลาทำหน้าที่ต้องพยายามแยกแยะตรงนี้ให้ได้ ปีหน้าต้องแยกแยะมากขึ้น อย่างผมอยู่วอยซ์ ก็มีความลำบากใจ แต่เวลาเขียนอะไรเฉพาะตัวก็แยกแยะให้ชัด ส่วนการทำงานวอยซ์ ก็เปิดกว้าง ไม่ต้องสนับสนุนรัฐบาล แต่บางทีลำบากใจ ตรงที่เราอิน บางทีผูกพัน ถ้าปกป้องประชาธิปไตย ต้องปกป้องรัฐบาล กับเรื่องที่ไม่ใหญ่กลับถูกโจมตี แต่บางทีเรื่องใหญ่จริงๆ เราก็สะอึก เช่น งบน้ำท่วม จำนำข้าว ซึ่งเราเชื่อว่า มีการทุจริต ก็ต้องพูดบ้างเหมือนกัน เพียงแต่วิธีพูด จะพูดยังไงให้มวลชนซึ่งส่วนใหญ่เสื้อแดง เข้าใจว่า ต้องมองด้านนี้ของรัฐบาลบ้าง อย่าไปเชียร์รัฐบาลไม่ลืมหูลืมตา ต้องพยายามพูดเรื่องนี้ ให้มวลชนที่อ่านสิ่งที่เราเขียน ต้องมอง 2 ด้าน  มีด้านที่นักการเมืองไม่สนใจเสียงมวลชน เป็นกลุ่มก๊วนเกาะเก้าอี้ ไม่เห็นทำงานประชาธิปไตย บางทีกลายเป็นพวกขี้กลัว ไม่กล้าตัดสินใจ เช่น ตอนรับร่างวาระ 3 พรรคเพื่อไทยถอยกรูดทั้งที่ มวลชนดันหลังให้สู้ นักวิชาการดันหลังให้สู้ แถมอยู่ดีไม่ว่าดี ไปเอา พ.ร.บ.ปรองดอง มาจากไหน ยัดเข้าไป ทำให้เสียกระบวนกันหมดนี่พรรคเพื่อไทยทำเป๋เอง ทำเสียเอง

พรรคเพื่อไทย พอถึงจุดที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อประชาธิปไตย จะเป๋อยู่เรื่อย เพราะฉะนั้น เราก็ต้องวิพากษ์วิจารณ์พรรคเพื่อไทยด้วยว่า บางสิ่งบางอย่าง มันไม่ถูกต้อง เช่นจำนำข้าว เป็นเรื่องสู้เชิงนโยบาย แต่สิ่งที่เป๋ คือ แม่งมีบริษัทผีอะไรไม่รู้ โผล่มารับซื้อข้าว สาวไปสาวมาพัวพันคนนั้นคนนี้ นี่เป็นเรื่องทำลายนโยบายและการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยด้วย ทีนี้ปัญหาของสื่อเราต้องพูดเรื่องพวกนี้พอสมควร ซึ่งเป็นประเด็นต้องตีให้แตก

ผมจะไม่พูดสื่อเหลืองที่สุดๆ เพราะเขาคงไม่กลับแล้ว ปลุกความรุนแรง น่าเกลียดน่าชัง เช่นเขียนการ์ตูนว่า มวลชนเสื้อแดงเป็นควาย เขาควรตรวจสอบจรรยาบรรณกันเอง ว่าอะไร คือสิ่งต่อสู้เรื่องหลักการ แล้วมาพูดว่า หลักการคืออะไร ไม่ใช่ปลุกการเกลียดชังอย่างเดียว สื่อแดง ก็มีการปลุกความเกลียดชัง เช่น วิทยุชุมชน แต่ไม่ใช่สื่อกระแสหลัก ส่วนสื่อกระแสหลัก ทางฝ่ายเสื้อเหลือง  ซึ่งอยู่ในสังกัดองค์กร สมาคม ทำไมไม่ตรวจสอบ วิจารณ์เรื่องพวกนี้บ้าง แต่ผมเข้าใจว่า สื่อเหลืองสุดโต่งจริงๆ มันเหลือน้อย  แต่พวกที่มีมากกว่าคือ สื่อทัศนะที่ตั้งตัวเองเป็นตะเกียงชี้นำประชาชน คิดว่าจะต้องนำไปสู่ทิศทางที่ตัวเองเชื่อถือ เท่าที่คุยกับหลายราย ยังคิดเรื่องเกมอำนาจ คือสื่อเอาตัวเอง ไปเล่นเกม มองเรื่องเกมมากกว่าเรื่องหลักการ คุยกับน้องบางคน เขาบอกว่า ที่พี่พูดหลักการมันถูกหมดแหละ แต่เราต้องคิดเรื่องเกมด้วยว่า ในการเอาชนะการต่อสู้กัน จะเป็นอย่างไรต่อไป อนาคตของประเทศจะเป็นอย่างไรต่อไป พูดง่ายๆ ถ้าเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์แบบ พรรคเพื่อไทย จะมีอำนาจแบบล้นเหลือ คิดแบบพันธมิตรฯ พอคิดอย่างนี้แล้ว ก็เลยต้องเบรคแล้ว ให้กลไกตุลาการภิวัฒน์ คานอำนาจกับพรรคเพื่อไทย  คือเขาไม่เชื่อเรื่องหลักการ ถ้ากระจายอำนาจ ทำให้ประชาชนตื่นตัวจะตรวจสอบรัฐบาลเอง เขาไม่เชื่อ แต่เขาคิดว่า ต้องพึ่งอำนาจอีกฝ่ายจึงจะถ่วงดุลพรรคเพื่อไทยได้ คือความคิดแบบนี้ ทำให้สื่อ มองการทำหน้าที่ของตัวเอง เป็นส่วนหนึ่งของเกมอำนาจ และพยายามผลักดันให้เป็นไปตามตัวเองต้องการ คือ ยอมให้เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ไม่ได้ ทัศนะแบบนี้ มันสะท้อนออกค่อนข้างเยอะ

เวลาที่เราดูนักหนังสือพิมพ์ที่ไม่ได้บอกว่าเหลืองจัด  แต่ที่เหลือ ก็ยังมีทัศนะอย่างนี้อยู่เยอะ คือ คิดว่าต้องมีบทบาทชี้นำประชาชน ให้ขวางการเป็นประชาธิปไตยเอาไว้ เพื่อไม่ให้เพื่อไทยครองอำนาจเต็มที่ ทัศนะแบบนี้แฝงในสื่อเยอะ โดยเฉพาะผู้มีบทบาทนำๆ ในวงการ บางครั้งยอมรับหลักการแต่เขามองเรื่องเฉพาะหน้า เรื่องสถานการณ์เรื่องเกม


@ที่ควรจะเป็น ต้องเป็นอย่างไร

บางครั้งการมองเป็นเกม การเล่นเกมทำได้บางระดับที่ไม่ลบหลักการ แต่ไม่ใช่ ตะแบงจนทำลายหลักการ เช่น เวลาเราพูด รัฐธรรมนูญ  ยกตัวอย่าง ม. 237 เรื่องการยุบพรรค หลัก ผิดคนเดียวประหาร 7 ชั่วโคตร มันไม่ใช่หลักนิติรัฐ แต่สื่อในช่วงก่อน แถว่าเหมาะที่สุดกับสังคมและการเมืองไทย ซึ่งเป็นการทำตัวเองให้เสีย ทั้งที่สื่อต้องตระหนักเรื่องหลักการประชาธิปไตยสิทธิเสรีภาพเป็นสำคัญ

กติกาประชาธิปไตย ยังมีอะไรอีกตั้งเยอะที่จะมาตรวจสอบนักการเมือง  ไม่ใช่มาพึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญ ให้ยุบพรรค หรือ พึ่งป.ป.ช. ถอดถอน ทั้งที่ ป.ป.ช. 9 คน ตั้งมาจากการรัฐประหาร ทำไมเราไม่นำเสนออะไรที่เก้าหน้าศึกษา วิธีการตรวจสอบ ให้นำไปสู่ ประชาธิปไตยมากขึ้น เช่น การปฏิรูปตำรวจ ผมไม่ค้าน ตำรวจไม่ต้องขึ้นตรงรัฐบาล แต่กระจายไปท้องถิ่นจังหวัด ให้คานอำนาจเพื่อเราจะก้าวไปข้างหน้า

ถ้าเราจะเป็นสื่อ ที่เป็นตะเกียงจริง ไม่ต้องไปผูกกับอำนาจเก่า ที่มันล้าหลัง แล้วคิดว่าอันนั้น จะเป็นตัวถ่วงพรรคเพื่อไทย เพราะมันถ่วงประชาธิปไตยไปด้วย



* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ใบตองแห้งวิจารณ์พท.-ชม ปชป.ปีใหม่56 
www.youtube.com/watch?v=8bSaueZ5N-4





.