http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-11-19

ปัญหาของขวาไทยในปัจจุบัน โดย เกษียร เตชะพีระ

.
อีกบทความ - พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในสังคมสาธารณ์ โดย เกษียร เตชะพีระ

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ปัญหาของขวาไทยในปัจจุบัน
โดย เกษียร เตชะพีระ บล็อกของ kasian
ใน http://blogazine.in.th/blogs/kasian/post/3785 . . 19 พฤศจิกายน, 2012 - 19:54


อนุสนธิจากกระทู้และความเห็นของคุณ Pipob Udomittipong ผมนำคำตอบมาปรับแต่งเพื่อเสนอความเห็นบางอย่างเกี่ยวกับพลังการเมืองฝ่ายขวาไทยในปัจจุบัน.....


๑) เสธ.อ้าย(พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์)และพรรคพวกที่ล้อมรอบเขาไม่คิดตั้งพรรค ลงเลือกตั้งครับ ตัวเสธ.อ้ายมีบทบาทแค่หัวโขน ความคิดการเมืองก็ระดับของความเป็นไทยแบบราชาชาตินิยมและประชาธิปไตยแบบ ไทย ๆ สิ่งที่เรียกว่าองค์การพิทักษ์สยาม เป็น "ร่ม" ของเครือข่ายกลุ่มการเมืองอนุรักษ์นิยม กษัตริย์นิยม หลากหลายกลุ่มที่หาที่ตั้งอำนาจในระบบเลือกตั้งไม่พบ

๒) จุดแข็งของพวกเขาไม่ใช่แนวนโยบายการเมืองที่เป็นระบบ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่คิดไปไหน คิดจะอยู่กับที่ ดังนั้นการสร้างวิชั่นโมเดลที่เป็นระบบ ไม่ใช่ภาระหน้าที่หลัก จุดแข็งของพวกเขาคือฐานวัฒนธรรมการเมืองเดิมต่างหาก ซึ่งเขาตักตวงมาใช้จนชักฝืดและร่อยหรอลงเรื่อย ๆ

๓) ปัญหาหลักของพวกเขา ที่ควรจะสู้ด้วย จึงไม่ใช่แนวนโยบาย เท่ากับวิถีทางต่อสู้เพื่อไปสู่เป้าหมายการเมือง นี่คือจุดบอดที่ทำให้พวกเขาเสื่อมถอย ถ้าไม่หันมาปรับตัวเดินในแนวทางเลือกตั้งและระบอบรัฐสภา

ส่วนเรื่อง "ล้อเลียน" ก็เป็นเครื่องจิ้มของเกมการเมืองวัฒนธรรมแบบไทยเสมอมา ผมเห็นด้วยและเคยเสนอว่าวิธีสู้กับฝ่ายขวาจัดต่อต้านประชาธิปไตย ไม่ใช่ปราบปรามกดขี่ให้พวกเขาเป็นวีรชน แต่ล้อเลียนให้พวกเขาเป็นตัวตลกในประเด็นวิธีการขวางโลกของเขามากกว่า ซึ่งท่าทีของพวกเขาก็ออกมาเป๊ะ ๆ อย่างไม่นัดหมาย คือเสนอ "แช่แข็ง" ประเทศ ยังกับหาวัตถุดิบมาป้อนให้ล้อเลยทีเดียว

การสู้เชิงแนวนโยบายที่ serious ผมคิดว่าต้องสู้กับพวก TDRI และ กยน./กยอ. ต่างหาก พวกนั้นแหละครับที่เราน่าจะชวนทะเลาะด้วยเรื่องรัฐสวัสดิการ และความเท่าเทียมในสังคม มากกว่าฝ่ายขวาจัดซึ่งมักจะออกอาการ The Poverty of Policy อยู่เสมอ ขอให้นึกถึงสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์เป็นตัวอย่าง เรื่องเด่นไม่ใช่นโยบายเศรษฐกิจสังคมซึ่งเป็นในเชิงประคับประคองรับ แต่เป็นนโยบายขยายอำนาจและงบประมาณกองทัพและกระชับอำนาจโครงสร้างราชการ



จะเห็นได้ว่าข้อเสนอทางการเมืองของเสธ.อ้าย & Co. สูตรเดียวกับพันธมิตรฯและกลุ่มหมอตุลย์สืบเนื่องกันมา คือเรื่องจุดอ่อนของระบบเลือกตั้ง นักการเมืองและคอร์รัปชั่น ถ้าเราไปชวนเขาดีเบตเรื่องรัฐสวัสดิการอะไร คงยากอยู่ ผมกลับคิดว่าชวนเขาดีเบตเรื่องทำไมพวกท่านไม่สู้ในหนทางระบอบรัฐสภาประชาธิปไตยแบบไม่ต้องใช้อำนาจพิเศษของทหารและอ้างสถาบันกษัตริย์ล่ะ? ผมคิดว่าเรื่องเดียวที่พอฟังขึ้นคือข้อวิจารณ์หวั่นเกรงทุนนิยม(สามานย์)ของพวกเขา แต่ก็แค่วิจารณ์นะครับ ไม่ได้เสนออะไรว่าจะต่อต้านอย่างไร ดูเหมือนจะเชื่อว่ายึดอำนาจรัฐด้วยการรัฐประหารแล้วใช้อำนาจรัฐไปสู้ทุนอีกที ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่ได้เรื่องอย่างสมัยสุรยุทธ์อย่างที่บอกแล้ว (ข้อเสนอของผมคือ จะสู้ทุน ต้องขยายสิทธิประชาธิปไตย ให้ประชาธิปไตยใหญ่กว่าทุน อาศัยประชาธิปไตยไปสู้ทุน)

ทุกสังคมมีพลังฝ่ายขวา ผมอยากให้เขาอยู่และรวมกลุ่มต่อสู้รณรงค์ในระบอบรัฐสภาครับ ถึงตอนนั้นเป็นไปได้ว่าเขาจะมีข้อเสนอเชิงนโยบายที่เข้มแข็งกว่านี้ แต่ตอนนี้เขากลายเป็น outlet สำหรับสารพัดความอึดอัดไม่พอใจรัฐบาล แต่ไม่รู้จะสู้ในระบบอย่างไร เช่น ไม่เห็นด้วยกับจำนำข้าว ก็ไปอิงใช้ช่องทางเวทีพวกเขา, ไม่เห็นด้วยกับนโยบายหวยออนไลน์หรือร่างกฎหมายให้กำนันผู้ใหญ่บ้านต้องมีวาระลงเลือกตั้ง ก็ไปร่วมกับพวกเขา คือจะรัฐประหารเพื่อเป็นเครื่องมือทางนโยบายแบบนี้ก็คงยุ่งตายห่าแหละครับ สำหรับเสถียรภาพของชีวิตผู้คนในสังคม


ผมคิดว่ากระบวนการนโยบายสาธารณะของเรามีปัญหา คือ somehow มันหลุดจากระบบราชการ/เทคโนแครตแต่ก่อน แล้วมาหล่นตุ้บในหน้าตักนักการเมืองจากการเลือกตั้ง แล้วพวกเขา(รัฐบาล/รัฐสภาเสียงข้างมาก) ก็ใช้อำนาจเลือกตั้งผูกขาดมันพอควร ทำให้กระบวนการนโยบายเป็นแบบอำนาจนิยม ไม่เปิดกว้างออกให้แก่สังคมที่ประกอบไปด้วยกลุ่มฝ่ายต่าง ๆ อันหลากหลายแล้ว อันนี้ยุ่งมาก ทำให้กลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ กลายเป็นแนวร่วม/ยืมมือฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยขวาจัด by default และไปวิ่งใช้ช่องทางอื่นซึ่งสับสนอลหม่านไปหมด คือดึงสถาบันการเมืองและรัฐธรรมนูญที่ไม่เกี่ยวกับนโยบายโดยตรง มาเป็นเครื่องมือเวทีต่อสู้เชิงนโยบาย เช่น ยื่นฟ้องเรื่องจำนำข้าวกับศาลปกครอง, ยื่นฟ้องเรื่อง 3G กับศาลรัฐธรรมนูญ ฯลฯ อันนี้ไม่เหมาะ เพราะมันทำให้ระบบป่วน แทนที่ศาลจะทำงานตุลาการ ศาลต่าง ๆ ดันกลายเป็นสถาบันวีโต้นโยบายฝ่ายบริหารไปเสียฉิบ

ผมคิดว่าในระยะยาวแล้วต้องปรับใหม่หาทางเปิดกว้างกระบวนการนโยบายให้หลากหลายกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น จะใช้อำนาจเลือกตั้งเสียงข้างมากเขี่ยกลุ่มอื่นออกหมด มันไม่ดี ยุ่ง, ศาลจะได้ไปทำเรื่อง "สิทธิ" ซึ่งร้อนแรงและสำคัญ แทนที่ดันมากลายเป็นศาลสถิตนโยบายของกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ ครับ


Kasian Tejapira(18/11/55)



+++

พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ในสังคมสาธารณ์
โดย เกษียร เตชะพีระ บล็อกของ kasian
ใน http://blogazine.in.th/blogs/kasian/post/3759 . . 12 พฤศจิกายน, 2012 - 23:58


อาจารย์ Sawatree Suksri ตั้งคำถามบ่น ๆ เบื่อ ๆ ไว้ในสเตตัสว่า:
    "ทำไมประเทศนี้ต้องคอยสร้าง "พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์" ชนิดที่วิจารณ์ไม่ได้ ล้อเล่นไม่ได้ มีอารมณ์ขันด้วยไม่ได้ ให้.....เต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด ?"


ผมทดลองตอบว่า:

มันเป็นแบบวิธีเก่าจากอดีตที่ถูกหยิบข้ามภพมาเป็นเครื่องมือจัดการกับสภาพความแตกต่างหลากหลายและขัดแย้งกันของชีวิตสังคมสมัยใหม่และสะท้อนการเปลี่ยนผ่านที่ไม่เสร็จสมบูรณ์จากราชอาณาจักรแต่เดิมมาสู่รัฐชาติสมัยใหม่ของมวลชน

แต่การสวมครอบองค์รวมเอกภาพจากอดีตในจินตนาการ ลงบนพื้นที่สังคมเศรษฐกิจวัฒนธรรมสมัยใหม่ซึ่งมีการแตกแยกเป็นเสี่ยง ความแปลกหน้าไม่รู้จัก แปลกแยกต่างตรรกะดำเนินชีวิตเป็นสรณะและปกติธรรมดานั้น มันไม่ฟิต ไม่ลงตัว
ผลก็คือเกิดการไม่ยอมรับ อิดเอื้อน ที่บางแบบวิถีชีวิต บางวัฒนธรรม บางสถานะสังคมและชนชั้นเศรษฐกิจได้รับการยกให้สูงขึ้นและกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือส่วนอื่น

ดังนั้น ส่วนอื่นที่เหลือต่างก็พยายามยกตัวขึ้นสู่สถานะศักดิ์สิทธิ์เดียวกันนั้นบ้างด้วยแบบวิธีต่าง ๆ กัน เช่น ยืมพลังถ่ายทอดพลัง, ตั้งตนเป็นเทพเจ้าเข้าทรง ฯลฯ

ผลก็คือในสังคมสาธารณ์ที่ความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ถูกบ่อนทำลายลงจากความรู้สมัยใหม่ทางวิทยาศาสตร์ทุกวี่วัน พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์กลับเพิ่มพูนขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ
และในทางกลับกัน พื้นที่เหล่านั้นก็กลับสาธารณ์หรือเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ลงทุกทีเหมือนกัน

นี่นับเป็นภาวะที่ยากจะประคับประคองให้ยั่งยืนต่อไปได้โดยไม่กร่อนกลวงเหลือแต่รูปแบบเปล่า ๆ ไม่มีฉันทมติจริงรองรับข้างใน มีแต่ต้องใช้อำนาจบังคับค้ำจุนไว้มากขึ้นทุกที


Kasian Tejapira(10/11/55)



.