http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-02-25

แกะรอย ม.127-172 รัฐบาลหมดอายุ-หรืออยู่ต่อ..

.

แกะรอย ม.127-172 รัฐบาลหมดอายุ-หรืออยู่ต่อ เมื่อกฎหมายมาถึงทางตัน 
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1393338350
. . วันอังคารที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เวลา 21:31:20 น.

( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 25 ก.พ.2557 )


หมายเหตุ : ความเห็นของนักวิชาการ และอดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 127 ที่กำหนดให้ ภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้เเทนราษฎร ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้มาประชุมนัดแรก และ 30 วันที่นับจากวันเลือกตั้ง จะตรงกับวันที่ 4 มีนาคมนี้ ในขณะที่การเลือกตั้งยังไม่เป็นที่เรียบร้อย


นางสดศรี สัตยธรรม
อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)


ถ้าหลัง 30 วัน ไม่มีการเปิดประชุมรัฐสภาก็จะเข้าสู่รัฐธรรมนูญ มาตรา 172 ที่ระบุให้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ดังนั้น จึงเป็นประเด็นปัญหาอย่างยิ่งว่าคณะรัฐมนตรีรักษาการชุดนี้หากรักษาการครบ 60 วัน จะสิ้นสุดลงนับแต่วันเลือกตั้งหรือไม่ หากมีการเลือกตั้งต่อไปใน 28 เขตเลือกตั้ง และการจัดเลือกตั้งทดแทนอีก 12,000 หน่วย จะส่งผลทำให้การเลือกตั้งไม่สมบูรณ์หรือไม่ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการเลือกตั้งยังไม่สมบูรณ์ไม่ครบทั่วประเทศ ก็น่าจะตีความได้ว่าวันเลือกตั้งอาจไม่ใช่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ก็ได้ เมื่อการเลือกตั้งไม่สมบูรณ์ การจะตีความตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 อาจมีปัญหาได้ ดังนั้นก่อนที่จะครบ 30 วัน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงอย่างว่าที่ ส.ส.ควรพิจารณาว่าต้องดำเนินการอย่างไร ไม่ควรปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปเช่นนี้

สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นหากต้องมีผู้รับผิดชอบคงหนีไม่พ้น กกต. เพราะ กกต.คือผู้ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ขณะที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคการเมืองต่างๆ เปรียบเสมือนผู้เล่น กระบวนการเลือกตั้งทั้งหมดเป็นหน้าที่ของ กกต.ที่จะต้องใช้ดุลพินิจว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่หากไม่ชัดเจนในข้อกฎหมาย กกต.ก็สามารถดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 245 ที่ระบุให้ผู้ตรวจการแผ่นดินขอหารือไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนอีกช่องทางหนึ่งคือศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง มีอำนาจในการพิจารณาคดีเลือกตั้ง เพราะรัฐธรรมนูญเปิดช่องว่างมาก ก็ไม่เข้าใจว่าเหตุใดถึงไม่ใช้ช่องทางนี้ เพราะน่าจะเป็นช่องทางที่น่าจะชี้ชัดที่สุด อีกทั้งขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทางการเมืองต่างก็จับตาการทำหน้าที่ของศาล เพราะไม่ว่าศาลจะตัดสินออกมาในแนวทางใดก็จะมีผลต่อความเป็นไปในทุกด้าน

การตีความตามรัฐธรรมนูญมาตรา 127 กับ มาตรา 172 ยังไม่มีความชัดเจน กกต.ก็ควรป้องกันตัวเองด้วยการรักษารีบเร่งให้ศาลตีความมาตราทั้งสองโดยเร็ว เชื่อว่าจะปลอดภัยกว่าหากปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไป เมื่อศาลตัดสินใจอย่างไรก็ทำไปตามนั้นไม่ต้องมานั่งเถียงกัน


นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์
นักวิชาการอิสระ


กฎหมายที่ระบุว่าต้องเปิดประชุมสภาใน 30 วัน ต้องตีความประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 93 วรรค 6 ที่กำหนดว่า ในกรณีที่มีเหตุการณ์ใดๆ ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใดมี ส.ส.ไม่ถึง 500 คน แต่มีจำนวนไม่น้อยกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด ให้ถือว่าสมาชิกจำนวนนั้นประกอบเป็นสภาผู้แทนราษฎร แต่ปัญหาที่มีจำนวน ส.ส.ไม่ครบนั้นจึงต้องทำให้ครบ ถ้าได้ครบแล้วก็ต้องเปิดสภาภายใน 30 วัน นับตั้งแต่การเลือกตั้ง ดังนั้นระยะเวลา ในการตีความการเปิดประชุมสภา ต้องตีความให้ครบถ้วนทุกมาตรา ซึ่งหมายความว่าถ้ามีจำนวน ส.ส.ไม่ถึง 100 หรือ 95 เปอร์เซ็นต์ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีอำนาจเต็มตามรัฐธรรมนูญ ต้องดำเนินการจัดการเลือกตั้งให้ครบ

สถานการณ์ขณะนี้ยิ่งบีบคั้นให้ กกต.ต้องเร่งจัดการเลือกตั้ง เพื่อหา ส.ส.ให้ได้ ภายในกรอบ 180 วัน และสังคมควรหันมาดูว่าอุปสรรคในการจัดการการเลือกตั้งอยู่ที่ไหน ในการประชุมร่วมกับ กกต.ที่เมืองทอง ที่ผมได้ทีโอกาสเข้าร่วมประชุมด้วยนั้น เห็นตรงกันว่าปัญหาและอุปสรรคในการจัดการเลือกตั้ง มาจากแกนนำ กปปส.ใน กทม. ที่พยายามส่งสัญญาณไปในแต่ละเขตเลือกตั้งให้มีผู้ชุมไปคัดค้าน การแก้ปัญหาก็คือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ต้องแสดงจุดยืน ในการประท้วงอย่างสันติจริงๆ ไม่ขัดขวาง แม้ว่าจะบอกว่าเป็นการคัดค้านก็ตาม แต่ปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งเช่นนี้ปัญหาทั้งหมดจึงอยู่ที่ กปปส. ดังนั้นกกต.ต้องทำหน้าที่ ตามมาตรา 93 วรรค 6 และฟ้องศาลรัฐธรรมนูญให้สั่งห้าม ไม่ให้ผู้ชุมนุมมาขัดขวางการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม กกต.ระบุว่าการเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้นั้นมีปัญหา แต่ กกต.กลับไม่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความเรื่องดังกล่าว ซึ่งในการหารือร่วม กกต.เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมก็ได้นำเสนอเรื่องนี้ เพื่อเป็นทางออกให้กับ กกต. ซึ่ง กกต.ก็รับฟัง แต่ไม่พูดว่าจะดำเนินการหรือไม่อย่างไร ก็เสียใจที่ กกต.ไม่ทำตามข้อเสนอ

กกต.มองแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ใช้วิธีการตีความว่าจะต้องจัดการเลือกตั้งให้ครบทุกหน่วย ซึ่งก็ขอเสนอว่าให้ กกต.ดูข้อกฎหมายกว้างๆ อย่างมาตรา 93 วรรค 6 ได้บอกไปแล้ว อยากถามว่าถ้ามีการเลือกตั้งได้หมด แล้วเหลือเพียง 0.001 เปอร์เซ็นต์ ที่ยังทำการเลือกตั้งไม่ได้ ประเทศชาติต้องรอตรงนี้หรือไม่ การที่ประเทศเราไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งนั้นอันตรายหรือไม่ เพราะรัฐบาลรักษาการไม่มีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศก็จะส่งผลกระทบกับประเทศเป็นอย่างมาก


นายเอกชัย ไชยนุวัติ
รองคณะบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม


รัฐบาลไม่ต้องทำอะไร เพราะหน้าที่การจัดการเลือกตั้งเพื่อให้ได้ ส.ส.ครบ 500 คน เป็นหน้าที่ของ กกต. ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ในมาตรา 235 ที่ระบุว่า กกต.เป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดการเลือกตั้ง และสรรหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งการออกเสียงประชามติให้เป็นปอย่างสุจริต เที่ยงธรรม และรัฐธรรมนูญมาตรา 236 ที่ให้อำนาจ กกต.ออกประกาศหรือวางระเบียบกำหนดการทั้งหลาย อันจำเป็นแก่การปฏิบัติตามมาตรา 235 ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่มีอำนาจหน้าที่ไปสั่งการอะไรได้ แต่ กกต.ต้องเป็นฝ่ายแก้ปัญหาในการจัดการเลือกตั้งให้ได้ตามรัฐธรรมนูญ

- บทบาทหน้าที่ของ กกต.มองว่าการจัดการเลือกตั้งยังเป็นปัญหาอยู่ในหลายเขต

ทุกคนกังวลกับปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งนั้น แม้ว่านายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง จะพยายามอาศัยอำนาจ กกต.ในการพยายามหาทางแก้ปัญหาโดยมีการประชุมหารือสัปดาห์ละครั้งก็ตาม อีกทั้งยังมีการเสนอให้มีการสมัครผ่านทางระบบไปรษณีย์ในพื้นที่ที่ไม่มีผู้สมัคร จะเห็นว่า กกต.มีอำนาจล้นฟ้าในการแก้ปัญหาการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ

- ทางออกที่รัฐบาลกับ กกต.ต้องแก้ปัญหาการเลือกตั้งคืออะไร เพราะในที่สุดอาจนำไปสู่สุญญากาศทางการเมือง

กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งให้สมบูรณ์ตามหน้าที่ ให้อำนาจประชาชนมาเลือกตั้ง จัดตั้งรัฐบาลที่มีอำนาจเต็ม แล้วมาสู้กันระบบรัฐสภา จะขับไล่นายกรัฐมนตรีก็มาไล่ในสภา วิธีการนี้ไม่ทำให้เกิดความรุนแรง ไม่มีใครตาย ไม่มีใครติดคุกด้วย แต่ข้อเรียกร้องที่ให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากรักษาการนั้น นายกฯไม่สามารถปลดแอกข้อเรียกร้องดังกล่าวได้ เพราะรัฐธรรมนูญห้ามไว้ ดังนั้น เมื่อยุบสภาแล้ว ก็ถือว่ารัฐบาลได้คืนอำนาจให้ประชาชน และ กกต.ก็ต้องจัดการเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชนมาใช้อำนาจในการเลือกตั้งเพื่อให้ได้รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ

- หากในวันที่ 4 มีนาคม ยังเปิดสภาไม่ได้จะถือว่ารัฐบาลพ้นสภาพรักษาการ และเกิดสุญญากาศทางการเมืองหรือไม่

สุญญากาศทางการเมืองยังไม่เกิดขึ้น และ กกต.ต้องจัดการเลือกตั้ง เพราะรัฐบาลไม่มีอำนาจ ถ้า กกต.ยังจัดการเลือกตั้งไม่ได้ รัฐบาลก็ต้องทำหน้าที่รักษาการต่อไปตามรัฐธรรมนูญ



.