http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-02-20

หนึ่งคำถาม ล้านคำตอบ กรณี ‘นายกฯ คนกลาง’

.
บทความ2 - กฎหมาย-การเมือง โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข
___________________________________________________________________________________

หนึ่งคำถาม ล้านคำตอบ กรณี ‘นายกฯ คนกลาง’
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1392900265
. . วันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เวลา 23:01:34 น.

( ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ประจำ14-20 ก.พ. 2557 ปี34 ฉ.1748 หน้า10 )


เข้าท่วงทำนอง หนึ่งคำถาม ล้านคำตอบ จริงๆ สำหรับประเด็น "นายกรัฐมนตรีคนกลาง" หรือ "นายกฯ คนนอก"

เพราะเมื่อมีคำถามนี้ขึ้นมา
คำตอบ มีหลากหลายจริงๆ

และนับวันจะแหลมคม และบีบคั้นรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยิ่งขึ้น


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเหล่าบุคคลที่มี "เครดิต" อย่าง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล นายวิษณุ เครืองาม นายอานันท์ ปันยารชุน ที่ออกมาประสานเสียง เกี่ยวกับนายกฯ คนนอก


ม.ร.ว.ปรีดิยาธร อ้างเหตุ ว่ารัฐบาลรักษาการมาตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2556

แต่ไม่สามารถปฏิบัติภารกิจที่สำคัญให้ลุล่วงไปได้ 
เช่นไม่สามารถจ่ายเงินในการรับจำนำข้าวให้กับชาวนาได้
เกิดความขัดแย้งในนโยบายรัฐบาล การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ระหว่าง กระทรวงพลังงาน กับ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งที่อยู่ในรัฐบาลเดียวกัน
รัฐบาลไม่จริงใจต่อการปฏิรูปประเทศไทย
การขาดความเชื่อมั่นและศรัทธาในรัฐบาล ทำให้รัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศให้ก้าวหน้าได้
ประชาชนเกิดข้อสงสัยว่าจะฉ้อราษฎร์บังหลวงในทุกๆ โครงการ ทั้งการบริหารจัดการน้ำ หรือโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ มูลค่า 2 ล้านล้านบาท

การเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จ ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้

รัฐบาลจึงควรตัดสินใจลาออกจากการเป็นรัฐบาลรักษาการ

และเห็นว่า รัฐธรรมนูญ "มีช่องทาง" ให้มีการแต่งตั้งคนกลางเข้ามาบริหารบ้านเมืองได้




ด้าน นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี บอกว่ารัฐบาลอาจคิดว่ามีจุดแข็งคือมีอำนาจรัฐอยู่ในมือ
และได้เสียงจากนานาชาติเพราะยืนบนหลักประชาธิปไตย

แต่จะเป็นจุดแข็งได้นานเท่าใด ไม่ทราบ
เพราะรัฐบาลก็เผชิญจุดอ่อน 4-5 จุด

เช่น ปัญหาการชุมนุมจากกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)
ปัญหาจากองค์กรอิสระ
ปัญหาท่าทีฝ่ายทหาร
และปัญหาที่เกิดจากการเป็นรัฐบาลรักษาการที่เหมือนกับการเป็นง่อย ทั้งเรื่องการกู้เงินมาช่วยชาวนา การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ

ฝ่ายคัดค้าน และรัฐบาล ควรต้องพบปะพูดคุยกันด้วยความอดทนอดกลั้นและยอมถอย

วันนี้ปัญหาทั้งหมดติดอยู่ที่กรอบรัฐธรรมนูญ แต่อย่ากอดรัฐธรรมนูญจนเกินไป เพราะรัฐธรรมนูญอาจจะแก้ได้ หรือเลิกได้ รวมทั้งตีความผิดจากที่เคยตีความก็ได้

แม้นายวิษณุ จะไม่พูดถึง นายกฯ คนกลางตรงๆ
แต่การเน้นว่าอย่ากอดรัฐธรรมนูญจนเกินไป ก็ตีความเป็นอื่นใดไม่ได้ นอกจากเป็นอย่างที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร บอก นั่นคือ

รัฐธรรมนูญ "มีช่องทาง" ให้มีการแต่งตั้งคนกลางเข้ามาบริหารบ้านเมืองได้




ส่วน นายอานันท์ ปันยารชุน ชี้ว่า หากปล่อยให้วิกฤตการเมืองเพิ่มขึ้นต่อไปเรื่อยๆ

จากปัญหาการเมือง จะเปลี่ยนเป็นปัญหาเศรษฐกิจแทน

เพราะปัจจุบันการลงทุนจากต่างประเทศไม่มีแล้ว 
ขณะที่การลงทุนในไทยเองก็ชะลอลง

เงินตราต่างประเทศที่จะเข้ามา ทั้งจากการโดยการลงทุน หรือจากการท่องเที่ยว หากปล่อยปัญหาไปอีก 3-4 เดือน รายได้ทุกตัวจะหายทั้งหมด
ประเทศไทยจะหายนะอย่างที่ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร บอก

ถ้า 3 เดือน ยังเถียงกันว่าเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้ง หรืออันนี้เป็นประชาธิปไตย หรือไม่ ออกไม่ได้ ถอยไม่ได้ ไม่มีความหมายแล้ว สิ่งที่คุยกันต่อไป คือ จะอยู่รอดอย่างไร แทน

หากรัฐบาลไม่ทำอะไร แล้วไม่ตั้งใจพักร้อน เศรษฐกิจก็จะดิ่งไปเรื่อยๆ เศรษฐกิจก็จะดิ่งไปถึงจุดหนึ่ง

สุดท้ายมันก็จะหายนะ



มีการมองว่าการเคลื่อนไหวของ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร นายวิษณุ นายอานันท์

ก็คือการเคลื่อนไหวเดียวกับ นายธีรยุทธ บุญมี ที่ออกมาเสนอ "ทฤษฎีมะม่วงหล่น" ประสานการจัดตั้ง "เครือข่าย" รอรับใช้การปฏิรูปประเทศ


เป็นการเคลื่อนไหวเดียวกับ เครือข่ายบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข อันประกอบด้วย 9 คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ม.สงขลานครินทร์ ม.ธรรมศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ม.นเรศวร ม.รังสิต ม.บูรพา คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์

รวมถึงนายกสภาวิชาชีพ 7 วิชาชีพ มีแพทยสภา ทันตแพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม สภาเทคนิคการแพทย์ สภากายภาพบำบัด สัตวแพทยสภา ยังมีกลุ่มประชาคมสาธารณสุข

ที่ออกมาย้ำเป็นครั้งที่ 2 ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออก
และ เรียกร้องขอนายกรัฐมนตรีคนกลาง โดยอ้างว่าเพื่อความสงบสุขของประเทศ

บุคคลเหล่านี้ ล้วนเป็นคนชั้นสูง เป็นอีลิตของสังคม
ความพร้อมเพรียงกันเช่นนี้

ทำให้มองเห็น "อะไร" ที่ซ่อนแฝงอยู่ชัดเจน
โดยเฉพาะ "เครือข่าย" และ "คอนเน็กชั่น" ระดับมหึมาของผู้มีบารมีทางการเมือง

ที่ส่งสัญญาณอันเด่นชัดว่า ไม่เอารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์

และพร้อมจะยืดหยุ่น และเบียดแทรกไปกับช่องว่างของรัฐธรรมนูญ เพื่อมองหา "นายกฯ คนนอก"

โดยมีเหตุผลโน้มน้าวที่ทวีความแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยวันนี้บอกว่า หากไม่เอา ประเทศจะหายนะ




อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าไม่ใช่เพียง น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคนในรัฐบาลเท่านั้น ที่มองว่า นี่เป็นเพียงเหตุผลที่ยกขึ้นมาขู่
เพื่อฉีก "รัฐธรรมนูญ" ทิ้ง ในนามของ "คนดี"


แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อย ที่รู้สึกว่า ข้อเรียกร้องของเหล่าคนชั้นสูง และคนดี เหล่านี้ ดูจะเป็นการเรียกร้อง จากฝ่าย "รัฐบาล" เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น
ขณะที่มีความผ่อนปรนให้กับฝ่าย กปปส. ค่อนข้างมาก

ไม่มีแรงกดดันให้ต้องถอย เหมือนอย่างเรียกร้องกับอีกฝ่าย


ทั้งที่ มีความชอบธรรม ตามกฎหมายและระบอบประชาธิปไตยอยู่เช่นกัน


"สมลักษณ์ จัดกระบวนพล" อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและกรรมการ ป.ป.ช. อาจารย์พิเศษผู้บรรยายวิชาระบบศาลและหลักทั่วไปว่าด้วยการพิจารณาคดี (พระธรรมนูญศาลยุติธรรม) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ตั้งข้อสังเกต อันแหลมคมเช่นกันว่า

การจะตั้งคณะรัฐมนตรีรักษาการจากบุคคลที่ไม่ใช่นักการเมือง และเป็นคนดี เป็นคนกลาง ถึงอย่างไรก็ไม่สามารถทำได้

เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 172 บัญญัติว่า "ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเรียกประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรก ตามมาตรา 127"

ขณะนี้เราไม่มีสภาผู้แทนราษฎร เพราะนายกรัฐมนตรีได้ประกาศยุบสภาแล้ว จึงไม่มีผู้ให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

ทั้งผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี นั้น จะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมาตรา 172 ดังกล่าว ตามมาตรา 171 วรรคสอง

ยิ่งกว่านั้น การตั้งนายกรัฐมนตรีคนกลาง คนดี ยังไม่อาจทำได้ เพราะไม่มีบุคคลที่จะทำหน้าที่รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง เพราะมาตรา 171 วรรคสาม บัญญัติว่า "ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง นายกรัฐมนตรี"

ส่วนที่มีบุคคลบางกลุ่มอ้างว่าเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ก็ให้เป็นหน้าที่ของประธานและรองประธานวุฒิสภารับสนองพระบรมราชโองการในเรื่องนี้ซึ่งทำได้ตามมาตรา 132 นั้น

ได้ตรวจดูมาตรา 132 แล้ว รัฐธรรมนูญบัญญัติให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาได้เฉพาะตามมาตรา 132(1) คือ เรื่องเกี่ยวกับการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และเรื่องให้ความเห็นชอบในการประกาศสงครามเท่านั้น

นอกจากเงื่อนไขเรื่องนี้ไม่สามารถปฏิบัติได้ เพราะนอกจากจะขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศแล้ว ยังไม่สามารถทำได้ในทางปฏิบัติ
เพราะคนดี คนกลาง ในสภาพบ้านเมืองขณะนี้คงไม่มีแล้ว

เพราะคนดี คนกลาง ของฝ่าย กปปส. ก็จะไม่ใช่คนดี คนกลาง ของฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับ กปปส. ข้อขัดแย้งในเรื่องสรรหาคนเพื่อทำหน้าที่คณะรัฐมนตรีรักษาการ จึงคงมีต่อไป



นี่คือความเห็นต่างที่ต้องฟังเช่นกัน
แม้อาจจะถูกมองว่า กอดรัฐธรรมนูญมากเกินไป

แต่กระนั้น ถ้าเราไม่มีหลัก และพร้อมจะมีข้อ "ยกเว้น" กับระบบประชาธิปไตยโดยตลอด ด้วยการอ้างถึง ความเป็นคนดี คนเป็นกลาง 
ประเทศก็จะไม่ก้าวไปไหนเช่นกัน


ทำไมไม่มี ข้อเสนอ หรือการคิดค้น ให้แก้ไขวิกฤตโดยเดินไปตามระบอบ "ประชาธิปไตย" บ้าง

หรือเป็นอย่างที่ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ตั้งข้อสังเกต ว่า
ข้อเสนอ นายกฯ คนกลาง ก็เหมือนเป็นการเปิดช่องทางให้กองทัพออกมาทำรัฐประหาร
เพราะวิธีเดียวที่จะทำให้มีนายกฯ คนกลางได้ คือการทำรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ


อีกทั้งประวัติศาสตร์การเมืองไทย สังคมต่างต่อต้านเรื่องของนายกฯ คนกลางมาโดยตลอด

เมื่อใดที่มีข้อเสนอนี้ เหตุการณ์ต่อไปก็มักจะนำไปสู่ความวุ่นวายและเพิ่มความขัดแย้งมากขึ้น

แม้มี นายกฯ คนกลาง ก็ใช่ว่าเรื่องจะจบง่ายๆ



________________________________________________________________
อ่านบทสัมภาษณ์ เพิ่ม ที่ www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1392949997
"ปริญญา เทวานฤมิตรกุล" แนะทางออกประเทศ เลิกพึ่ง "คนกลาง" 
. . วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เวลา 10:30:15 น.
สัมภาษณ์ โดย ฟ้ารุ่ง ศรีขาว มติชนทีวี   ฯลฯ



+++

กฎหมาย-การเมือง
โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1392899117
. . วันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เวลา 21:03:05 น.

( ที่มา: คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 นสพ.มติชนรายวัน 20 ก.พ.2557 )


นับวันความสูญเสียยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ

ตึกรามหรูหราของกรุงเทพมหานครยังอยู่ครบ
แต่ที่โดนเผามอดไหม้ไปแล้ว คือความรักความสามัคคีของคนในชาติ

ไม่รู้จะสร้างใหม่ จะฟื้นฟูบูรณะให้กลับมาสู่สภาพปกติได้เมื่อไหร่


ข่าวความเสียหายทางเศรษฐกิจ ธุรกิจการค้า มีให้อ่านให้ติดตามทุกวัน

รัฐบาลซื้อข้าวชาวนาเอาไว้ พอยุบสภากลายเป็นรัฐบาลรักษาการ จะกู้เงิน หาแหล่งเงินมาจ่าย กฎหมายสั่งให้ขออนุญาต "กกต." ก่อน
ปรากฏว่าเจอปัญหาสารพัด 
จะใช้เงินของแบงก์ออมสิน ก็โดนประท้วงด้วยการแห่ไปถอนเงิน สองสามวันปาเข้าไป 7 หมื่นล้านแล้ว

เป็นการเมืองที่เล่นกันด้วยความวิบัติสูญเสียของสังคมโดยรวม


ล่าสุด ตำรวจขอคืนพื้นที่ผ่านฟ้า ระเบิด-กระสุนปลิวว่อน ตำรวจตายไป 1 บาดเจ็บจำนวนมาก ผู้ชุมนุมเสียชีวิตไป 4 ราย

ฟังแล้วสลดหดหู่ เพราะดูเหมือนว่ามีคนจ้องใช้ความรุนแรง พยายามให้เกิดความสูญเสียบาดเจ็บ เพื่อชง "เงื่อนไข" บางอย่างอยู่ตลอดเวลา

ความรุนแรงที่ถึงขั้นมีคนเจ็บคนตาย หากเกิดขึ้นด้วยความจงใจ เพื่อผลอะไรก็ตาม เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้อยู่แล้ว

ยังเอาความตาย ความสูญเสียมาใช้ประโยชน์ทางการเมือง กล่าวหากล่าวร้ายกันต่อไปอีก



ต่อสภาพปัญหาอย่างนี้ อาจจะคิดได้ 2 อย่าง 2 แนว เป็นอย่างน้อย

แนวแรก คือ ข้องใจว่า ทำไมยิ่งลักษณ์ไม่ลาออก ม็อบจะได้เลิกชุมนุม เลิกชัตดาวน์ ความสงบจะได้กลับคืนมา
แนวสอง ตั้งคำถามต่อม็อบว่า การเคลื่อนไหวทางการเมือง ต้องใช้วิธีนี้ด้วยหรือ
ทั้งสองวิธีคิด ต่างมีเหตุผลของตัวเอง และได้แยกคนไทยออกจากกัน


แม้จะมี "คนกลาง" ออกมาพยายามเชื่อมโยง 2 แนวคิดนี้เข้าด้วยกัน เพื่อจะได้เป็นทางออกที่พอใจกันทั้งสองฝ่าย

แต่ก็ยังไม่สำเร็จ แถมยัง "วงแตก" อีกด้วย เพราะกำนันสุเทพประกาศลั่นเวทีว่าไม่เอา ไม่เจรจาด้วย



เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็พอจะเข้าใจได้ว่า ยิ่งลักษณ์คงไปจบเห่แถวๆ ป.ป.ช. ตามวิธีคิดแบบที่ 1 โดยแจ้งให้นายกฯมารับทราบข้อกล่าวหา วันที่ 27 ก.พ.นี้แล้ว

จากนั้นนายกฯต้องทำคำชี้แจงใน 15 วัน อาจจะบวกลบไม่กี่วัน จากนั้น ป.ป.ช.พิจารณาสำนวน แล้วลงมติชี้มูลความผิด

ถ้าเห็นว่ามีมูล นายกฯต้องหยุดทำหน้าที่ ทำเรื่องส่งให้วุฒิสภาถอดถอน และให้อัยการสูงสุดฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง

คดีจะเดินไปตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญและกฎหมายแบบเป๊ะๆ

แต่ "การเมือง" หลังจากนั้น จะเดินตามกฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญหรือไม่ ยังไม่มีใครตอบได้



.