http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-02-07

กปปส.โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

.
บทความ2 - ปฏิรูปเลือกตั้ง ช้าไปแล้วต๋อย โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

กปปส.โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง
โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์

ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1391675172
. . วันพฤหัสบดีที่ 06 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เวลา 21:31:30 น.

( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 6 กุมภาพันธ์ 2557 )


การชุมนุมต่อต้านขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ให้ลาออกจากการรักษาการของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กับมวลชน ก่อนการเลือกตั้งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เหน็ดเหนื่อยหนักหนาแสนสาหัสสากรรจ์มากเหลือประมาณอยู่แล้ว

ยิ่งการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้และผ่านไปโดยไม่มีเหตุเข่นฆ่ากันตาย ถึงขั้นจลาจล เลือดนองแผ่นดิน ทั่วบ้านทั่วเมืองอย่างที่วาดภาพให้กลัวกัน คาดว่ากลเกมการกดดันรัฐบาลให้ลาออกยิ่งจะยากลำบากหนักขึ้นไปอีก

แม้ผลการเลือกตั้งไม่สะเด็ดน้ำ ยังไม่รู้ผลสุดท้ายก็ตาม แต่ก็ทำให้รัฐบาลยกมาเป็นความชอบธรรมที่จะอยู่รักษาการยาวต่อไปอีกนานจนกว่าผลจะออกมาอย่างเป็นทางการ หรือแม้มีการร้องศาลตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ กลับเป็นผลบวกต่อรัฐบาลรักษาการที่จะรอให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ต่อไป


ทางเลือกของ กปปส.ต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปตามลำดับ ถ้าไม่ยอมยุติหรือพักการชุมนุมชั่วคราว จึงมีทางเลือกเพียงแค่ 2 คือ ยิ่งต้องยกระดับการชุมนุม ดำเนินมาตรการที่หนักหน่วง รุนแรงขึ้น กับหันหน้าเข้าหาแนวทางการเจรจา โดยปรับเปลี่ยนประเด็นหลักการเรียกร้องจากไล่รัฐบาลรักษาการมาเป็นเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งทุกฝ่ายล้วนเห็นพ้องต้องกันว่าสถานการณ์ขณะนี้เป็นโอกาสอันดีที่จะนำประเด็นนี้ขึ้นมาผลักดันให้เป็นความจริง

ผมเชื่อว่าการถอยเพื่อเดินหน้าต่อ ปรับประเด็นหลักของการเคลื่อนไหวมาเข้าสู่เวทีพูดคุยจะเกิดผลด้านบวก ได้รับคำชื่นชมมากกว่าตำหนิ มวลชนได้มีโอกาสพักหลังยืนหยัดอดทนชุมนุมมายืดเยื้อยาวนาน

แม้ยังไม่บรรลุเป้าแรก แต่ที่ผ่านมาก็ได้แสดงให้เห็นถึงเจตจำนงอันแน่วแน่ในการต่อต้านระบอบทักษิณอย่างสุดจิตสุดใจแล้ว การเคลื่อนไหวที่ผ่านมาไม่ถึงกับเสียของอย่างสิ้นเชิง ไม่ได้อะไรเลยเสียทีเดียว การสร้างความตื่นตัวให้กับผู้คนได้จำนวนมาก จนหันมาคิดถึงการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง เป็นความสำเร็จระดับหนึ่งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

การเปิดช่องทางยอมรับให้มีการเจรจาของ กปปส. ไม่จำเป็นต้องผ่านเวทีที่รัฐบาลเป็นเจ้าภาพ แต่ผ่านเวทีเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยองค์กรภาคส่วนต่างๆกว่า 60 องค์กร จึงไม่จำเป็นต้องรอคอยให้มีการฟ้องร้องศาลเพื่อตัดสินว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นโมฆะ

แม้เกิดภาวะเช่นนั้นขึ้นจริง คณะกรรมการการเลือกตั้งก็ต้องจัดเลือกตั้งใหม่ รัฐบาลก็ยังคงรักษาการต่อไปจนผ่านการเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า ความขัดแย้ง แตกแยก ตึงเครียดก็คงดำรงต่อไป โดยที่สาระหลักการปฏิรูปประเทศไม่เกิดขึ้นตามความต้องการของคนส่วนใหญ่

การที่จะขจัดระบอบทักษิณให้สิ้นซาก ตามคำประกาศของ กปปส. จะเป็นจริงก็ต่อเมื่อเอาผู้คนที่ กปปส.เชื่อว่าเป็นบริษัทบริวารไปเข่นฆ่า ตัดหัว ยิงทิ้งเสียให้หมดประเทศ ทำนองเดียวกับพลพตยุคฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เขมร ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ในยุคนี้



ฉะนั้นแทนที่ต่างฝ่ายต่างยื้อต่อไป ว่าใครจะอึดกว่ากันระหว่างรัฐบาลกับ กปปส. สู้เอาเวลาที่มีระหว่างรอคอยการคลี่คลายของสถานการณ์ ให้มวลชนกลับไปทำมาหากิน ลดบรรยากาศการเผชิญหน้าและความตึงเครียดของสังคมลง ปล่อยให้เป็นภาระของกลุ่มองค์กรต่างๆ เข้ามาแบกรับอนาคตของสังคมบ้าง ในการวางกรอบกติกาป้องกันระบบเผด็จการรัฐสภาหวนคืนมาอีก

หาก กปปส.หันมามุ่งประเด็นนี้ เข้าสู่แนวทางเจรจาบนสถานะที่ทัดเทียมกันกับทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ตั้งตัวแทนที่มีศักยภาพร่วมกัน โยนประเด็น รัฐบาลประชาชน สภาประชาชน และหรืออื่นๆ เข้าไปในเวที วางขั้นตอนการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ ให้ทุกฝ่ายร่วมกันคิด ถกเถียงอภิปราย จะได้ผลยิ่งกว่าการข่มขืน บีบบังคับ

และร่วมกันเดินหน้าต่อไป เชื่อว่า กปปส.จะได้ใจ ทั้งฝ่ายไม่เอาทักษิณ และฝ่ายไม่ปล้นสิทธิประชาชนอีกจำนวนมากอย่างแน่นอน
หยุดดื้อรั้น ดันทุรัง เอาแต่ความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ ยอมรับฟังความคิดเห็นของฝ่ายอื่น คนกลางๆ อีกไม่น้อย ขณะเดียวกันเห็นอกเห็นใจมวลชนผู้บริสุทธิ์ที่ตรากตรำมายาวนาน

เมื่อผลการเลือกตั้งครั้งเดิมหรือครั้งใหม่ กี่ครั้งก็ตามออกมาอย่างไร รัฐบาลใหม่ต้องทำตามพันธสัญญาประชาคม ยุบสภาภายในหนึ่งปี แล้วจัดการเลือกตั้งตามกติกาใหม่ ดำเนินการตามแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

หากบิดพลิ้ว ตระบัดสัตย์ ผู้คนจะพากันออกมาขับไล่ คราวนี้ยิ่งทุกสี ทุกชนชั้น ไพร่ ผู้ดี อำมาตย์ เครือข่ายจะหลากหลายมากกว่ามวลมหาประชาชนหลายร้อยเท่าพันทวีอย่างแน่นอน



++

ปฏิรูปเลือกตั้ง ช้าไปแล้วต๋อย 
โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1391077581
. . วันศุกร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2557 เวลา 06:55:01 น.

( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 30 มกราคม 2557 )
( ภาพจากเวบบอร์ด )


ผลการหารือระหว่าง คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและคณะ กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั่วไปวันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ จะออกมาอย่างไร เป็นที่รับรู้กันแล้ว

ฟัง คุณสมชัย ศรีสุทธิยากร 1 ใน 5 เสือ กกต.ให้สัมภาษณ์ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ นักจัดรายการชื่อดังเจ้าของฉายาหมาแก่ เกี่ยวกับเรื่องเดียวกันนี้แล้ว คิดถึงวลีที่ว่า มาสายดีกว่าไม่มา กับ ช้าไปแล้วต๋อย

ไปๆ มาๆ ข้อเสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ออกไป กลายเป็นเสนอให้ยกเลิกการเลือกตั้งวันที่ 2 และการเลือกตั้งล่วงหน้าวันอาทิตย์ที่ 26 มกราคม ที่ผ่านมาทั้งหมด แล้วเริ่มต้นกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปกันใหม่ โดยใช้ระยะเวลาราว 120-150 วัน

ระหว่างนี้ก็ให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์รักษาการไปเรื่อยๆ และมีคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ไม่ใหญ่มาก มาช่วยกันคิดวิธีการทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ ยุติธรรม ลดต้นทุนการใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ไม่ต้องใช้เงินมากอย่างที่ผ่านมา เพื่อให้ได้คนดี มีความรู้ ความสามารถ เข้ามาเป็นผู้แทนราษฎร

คุณสมชัยใช้คำว่า ปฏิรูปเล็กๆ คือปฏิรูปการเลือกตั้ง หรือปฏิรูประบบการเข้าสู่อำนาจของผู้แทนราษฎรหรือตัวแทนประชาชนในชื่ออื่นๆ  (ซึ่งน่าจะทำได้ก่อนการปฏิรูปประเทศทุกระบบ ซึ่งเป็นการปฏิรูปใหญ่ทุกด้าน ต้องใช้เวลานาน เวลาเพียงแค่ปี 2 ปี ไม่สามารถทำให้สำเร็จแน่นอน )

เป็นแนวความคิดที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนำเอาโมเดลของประเทศญี่ปุ่นมาใช้ เป็นต้นว่า จำกัดขนาดป้ายในการหาเสียง จำกัดสถานที่ในการติดป้ายหาเสียง จำกัดวงเงินในการหาเสียง จำกัดรถโฆษณาหาเสียง การนำเสนอนโยบายในการหาเสียงในลักษณะสัญญาว่าจะให้ นโยบายที่ทำให้เกิดปัญหาในระยะยาวต่อประเทศทำไม่ได้ รวมทั้งสร้างกลไกการตรวจสอบการเลือกตั้งจากภาคประชาชนทำงานคู่ขนานไปกับกรรมการการเลือกตั้งเพื่อให้การเลือกตั้งโปร่งใส


ประเด็นข้อเสนอทั้งเลิกการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผ่านมาและกำลังจะมีขึ้นวันที่ 2 กุมภาพันธ์นี้ กับข้อเสนอเชิงระบบ ปฏิรูปเลือกตั้ง ล้วนมีข้อควรพิจารณาทั้งสิ้น

ประการแรก ถ้าเลิกไปเลย ไม่ใช่แค่เลื่อนอย่างท่าทีของ กกต.ที่แสดงออกในตอนแรก เกิดคำถามว่า ทั้งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ทั้งผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ที่ดำเนินการไปแล้ว ทั้งงบประมาณที่ทางการใช้จ่ายไปแล้ว เป็นความเสียหายหรือไม่ ใครจะรับผิดชอบ รับผิดชอบอย่างไร

การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นใหม่หลังจาก 120-150 วัน ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ผ่านกระบวนการที่ถูกต้องมาแล้วแต่ถูกต่อต้าน ขัดขวาง จะยังคงสิทธิที่ได้ไปแล้วอยู่หรือไม่ เช่น เงินค่าสมัครที่จ่ายไป เบอร์ที่จับสลากได้ ซึ่งมีผลต่อการจดจำของผู้ลงคะแนนใช้สิทธิเลือกตั้ง งบประมาณที่ใช้ไปในการหาเสียง เงินค่าดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ฯลฯ ใครจะชดใช้

ประการที่สอง การปฏิรูประบบการเลือกตั้งในประเด็นต่างๆ จะขัดแย้งกับกฎหมายหลักที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนี้หรือไม่ ทั้งรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง ฯลฯ ถ้าขัดแย้งจะต้องแก้ไขกฎหมายแม่เสียก่อน ในขณะที่ยังไม่มีสภาผูัแทนราษฎรเพราะถูกยุบไปแล้วจะทำได้อย่างไร การปฏิรูประบบการเลือกตั้งถึงจะสมบูรณ์ปิดช่องโหว่ต่างๆ ที่มีอยู่ จนมีประสิทธิภาพทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ ยุติธรรมจริง

อย่างไรก็ตาม เป็นความหวังดีที่ทุกฝ่ายน่าจะหาข้อสรุปร่วมกัน

เพียงแต่ว่าห้วงเวลาที่นำเสนอเรื่องนี้ขึ้นมาในสถานการณ์ปัจจุบันที่ฝุ่นตลบ เติมไปด้วยความขัดแย้ง ไม่ยอมถอย เอาความคิด ความต้องการของตัวเองเป็นตัวตั้ง สุดขั้ว สุดโต่งขณะนี้ ข้อเสนอที่ว่านี้ไม่ทันการณ์เสียแล้วหรือไม่



ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล กล่าวเฉพาะแค่พรรคประชาธิปัตย์จะยอมรับหรือไม่ หากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังรักษาการต่อไปอีก 120-150 วัน ในเมื่อยืนอยู่จุดเดียวกันกับ กปปส. รัฐบาลรักษาการหมดความชอบธรรม ต้องออกไปก่อนสถานเดียวเท่านั้น

พิจารณาเพียงจากเงื่อนไขของพรรคประชาธิปัตย์และ กปปส.เท่านี้ ก็เป็นคำตอบที่ชัดอยู่ในตัวแล้วว่า ข้อเสนอของ กกต.เกี่ยวกับการปฏิรูปการเลือกตั้ง แม้รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะยอมรับ ทำตาม แต่ก็เป็นจริงไปได้ยาก

การยืนยันเดินหน้าเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ต่อไป และเลือกใหม่เพิ่มเติมภายหลังสำหรับหน่วยเลือกตั้งที่ถูกขัดขวาง จึงเป็นทางเลือกดีที่สุดในสถานการณ์ขณะนี้

ความรุนแรงที่เกิดขึ้น มิได้เกิดจากฝ่ายจัดการเลือกตั้งไม่รับฟังความเห็นของอีกฝ่าย แต่เกิดจากการต่อต้าน ขัดขวาง กระทำการเลยขอบเขต ละเมิดสิทธิพื้นฐานของคนอื่นที่คิดต่าง ไม่ยอมเข้าสู่เวทีพูดคุยเจรจาทั้งสิ้น แต่ต้องการแช่แข็งประเทศไทยไว้ก่อน นานแค่ไหน ไว้คุยกันทีหลัง



___________________________________
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊กกับมติชนออนไลน์
www.facebook.com/MatichonOnline



.