http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-02-07

เมื่อเพื่อนบ้านถาม“ทำไมไม่อยากเลือกตั้ง” โดย ธีรภัทร เจริญสุข

.
บทความ2 - ตลกภาษาลาว มุขที่ไม่น่าตลกอีกต่อไป โดย ธีรภัทร เจริญสุข
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

เมื่อเพื่อนบ้านถามไทย “ทำไมไม่อยากเลือกตั้ง”
โดย ธีรภัทร เจริญสุข

ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1391757693
. . วันศุกร์ที่ 07 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เวลา 15:20:25 น. 

( ที่มา: คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง นสพ.มติชนรายวัน )


วันที่ผู้เขียนเขียนต้นฉบับอยู่นี้ คือวันที่ 2 กุมภาพันธ์อันเป็นวันเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทยอีกครั้ง ภายหลังจากการยุบสภาในวันที่ 9 ธันวาคม ซึ่งคนไทยก็ต้องฝ่าฟันอุปสรรคสารพัดจากกลุ่มผู้ไม่ประสงค์ให้เกิดการเลือกตั้งขึ้นในประเทศตามพระราชกฤษฎีกายุบสภาและกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ถูกขัดขวางด้วยวิธีการต่างๆ ตั้งแต่ขัดขวางการลงสมัคร การไปเลือกตั้งล่วงหน้า การขนส่งหีบบัตร แต่ประชาชนผู้ต้องการใช้สิทธิ์และรักษาสิทธิ์ของตัวเองก็ต่อสู้ด้วยวิธีการต่างๆ จนกระทั่งมาถึงวันเลือกตั้งได้ในที่สุด

อาการไม่อยากเลือกตั้ง จนถึงขั้นขัดขวางการเลือกตั้งของคนไทยบางกลุ่มบางพวก จนถึงชนชั้นนำชั้นสูงที่ออกมาเผยความในใจว่าคนไม่เท่ากัน ไม่ควรมีสิทธิเลือกตั้งผ่านสื่ออยู่แทบทุกวัน สร้างความฉงนสงสัยให้ชาวประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับข่าวสารผ่านสถานีโทรทัศน์และสื่อของไทยเป็นที่ยิ่ง

ประเทศเพื่อนบ้านรอบประเทศไทย ต่างก็มีประวัติการต่อสู้ทั้งเพื่อต่อต้านเจ้าอาณานิคม และต่อต้านเผด็จการมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แม้บางประเทศจะปกครองด้วยระบอบสังคมนิยมที่มีพรรครัฐเป็นผู้นำรวมศูนย์เดี่ยว แต่ประชาชนเหล่านั้นก็เข้าใจและต้องการส่วนร่วมทางการเมือง สิทธิเสียงของตนเอง รวมถึงเข้าใจสถานการณ์บ้านเมืองของประเทศไทย ในระดับที่ถ้าอยู่ในเมืองไทยพูดออกมาดังๆ ไม่ได้ก็แล้วกัน


ญาติพี่น้องทางฝั่งลาวบางท่านถึงกับบ่นไม่เข้าใจ ทำนองว่า "ทำไมคนไทยไม่อยากได้เลือกตั้งล่ะ จะให้ใครก็ไม่รู้มาเลือกให้เหรอะ ไม่ได้เลือก ติก็ไม่ได้ ด่าก็ไม่ได้ ทำอะไรไม่เข้าท่าก็ไล่ไม่ได้ เดี๋ยวเขาจะมาอุ้มไปลงแม่น้ำโขง คนลาวนี้อยากเลือกตั้งบ้างจะตายก็เลือกไม่ได้ พวกเขาเลือกมาให้เรากาคัดออก กาไปก็ไม่รู้จะเป็นยังไง เห็นแต่กินภูเขากินป่าหมดเฉยๆ แต่ละคนสร้างบ้านยังกับวัง"

นัยว่า ถ้าได้เลือกตั้งอย่างน้อยก็มีหมดเวลาวาระ เห็นว่าโกงยังด่ายังไล่ได้ แต่ถ้าไม่ได้เลือก เห็นโกงอยู่ตำตา คนร้องเรียนจะตายเอาเสียก่อน


มิตรสหายจากฝั่งเขมรที่เติบโตมากับภาวะไม่มั่นคงหลังยุคเขมรแดงและเขมรสี่ฝ่าย ที่แม้ทุกวันนี้สมเด็จฮุนเซ็นจะครองอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่เมื่อมีการเลือกตั้ง คะแนนของพรรคฮุนเซ็นก็เริ่มลดต่ำลง และแม้มีการจลาจลประท้วงเรียกร้อง ก็ยังสิ้นสุดอยู่ที่การให้เลือกตั้งใหม่ ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมคนไทยไม่อยากให้เลือกตั้งเหลือเกินจนถึงขั้นไปปิดล้อมขัดขวาง


มิพักต้องพูดถึงเมียนมาร์ ที่พัฒนาการประชาธิปไตยเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนน่าประหลาดใจ อาจมีการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้ดอว์อองซานซูจี มีสิทธิ์รับสมัครเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี โดยแก้ไขยกเลิกรัฐธรรมนูญข้อที่ห้ามผู้มีคู่สมรสเป็นบุคคลต่างด้าวลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี อันเป็นบัญญัติที่จงใจกีดกันดอว์ซูจีเพียงผู้เดียวอย่างเห็นได้ชัด


แน่นอนว่าปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องการการแก้ไข แต่การแก้ไขการคอร์รัปชั่นโดยการคอร์รัปชั่นที่ร้ายแรงกว่า คือการคอร์รัปชั่นยึดอำนาจ ยึดสิทธิการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างแท้จริงผ่านการลงคะแนนเสียง ย่อมไม่มีทางได้ผลลัพธ์ที่ออกมาดี
ดังปรากฏว่าประเทศไทยมีการรัฐประหารโดยอ้างการปฏิรูป คณะทหารอ้างปัญหาคอร์รัปชั่นเข้ายึดอำนาจเป็นจำนวนมากเกือบเท่าประเทศกินีบิสเซาและบุรุนดี แต่ประเทศไทยก็มิได้ปราศจากคอร์รัปชั่นแต่อย่างใด หนำซ้ำการรวบอำนาจเข้าไปอยู่ในมือของคนเพียงกลุ่มเดียวยังซ้ำเติมปัญหาคอร์รัปชั่นให้หนักหนาโดยไม่สามารถท้วงติงตรวจสอบได้

การเมืองในระบบเท่านั้นที่ช่วยให้เราฟันฝ่าวิกฤตครั้งนี้ และเพื่อนบ้านของประเทศไทยต่างก็เอาใจช่วยให้เราหาทางออกได้อย่างสันติอยู่ เพราะถ้าหากประเทศไทยหยุดชะงักลง เขาย่อมได้รับผลกระทบตามไปด้วยเช่นกัน 



++

ธีรภัทร เจริญสุข เขียน ตลกภาษาลาว มุขที่ไม่น่าตลกอีกต่อไป
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1391150643 
. . วันศุกร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2557 เวลา 14:43:05 น.

( ที่มา : คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง โดย ธีรภัทร เจริญสุข นสพ.มติชนรายวัน )


เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดเหตุโทรทัศน์ช่อง 7 ของไทย แพร่ภาพความแตกต่างระหว่างภาษาไทยกับภาษาลาว เช่น ถ่ายรูป เป็น แหกตา เครื่องบิน เป็น กำปั่นเหาะ แอร์โฮสเตส เป็น นางบำเรอกำปั่นเหาะ ฯลฯ

ตามที่คนไทยได้ยินได้ฟังบ่อยๆ ในมุขตลกหนังสือขำขัน หรือโจ๊กตลกคาเฟ่ทอล์กโชว์ จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์และก่อความไม่พอใจอย่างมากในกลุ่มชุมชนออนไลน์ของชาวลาวว่า ไม่ถูกต้องกับความเป็นจริง มีนัยดูถูกและต้องการทำให้ภาษาลาวเป็นเรื่องตลก

ขบขัน จนช่อง 7 ต้องทำหนังสือขออภัยต่อเอกอัครราชทูต สปป.ลาวประจำประเทศไทย และออกข่าวใหม่เพื่อแก้ไขความเข้าใจผิด เช่น ถ่ายรูป คือ ถ่ายฮูป เครื่องบิน คือ ยน แอร์โฮสเตส คือ สาวอากาศ


มุขตลกภาษาลาวผิดๆ เพี้ยนๆ ที่แพร่หลายในความเข้าใจของสังคมไทยนั้น หากสืบค้นย้อนหลังกลับไปก็พบว่า มีการเล่าปากต่อปากและลงบันทึกเป็นตัวหนังสือมาได้กว่ายี่สิบปีแล้ว โดยเริ่มต้นน่าจะมาจากคอลัมน์ท่องเที่ยวของนิตยสารบางกอก และคู่สร้างคู่สม ที่ผู้เขียนได้ไปท่องเที่ยวเมืองลาวภายหลังลาวเปิดประเทศรอบแรกในปี 1991 แล้วรับเอามุขตลกของไกด์หรือคนขับรถชาวลาวเอามาเล่าในคอลัมน์ท่องเที่ยวของตัวเอง รวมถึงนักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวลาวแล้วได้รับฟังมุขตลกประเภทดังกล่าวด้วย

หลังจากนั้น มุขตลกภาษาลาวผิดๆ ก็ได้แพร่หลายต่อเองไป ลงในหนังสือตลกขำขัน คณะตลกคาเฟ่เอามาล้อเลียน ไปจนถึงการแผลงชื่อภาพยนตร์ต่างประเทศให้เป็นภาษาลาวแบบดูตลกๆ ประเภท สองสิงห์ ซิงตั่งนั่ง(สองสิงห์ชิงบัลลังก์) ชู้รักเรือล่ม(ไททานิก) แต่ไม่ตรงความเป็นจริง กลายเป็นการส่งเสริมความเข้าใจผิดด้านภาษาระหว่างไทยกับลาวให้มากยิ่งขึ้นไปอีก

ถ้าลองคิดดูใจเขาใจเรา ฝรั่งต่างชาติจำนวนมาก ก็ถูกรถแท็กซี่ ไกด์ หรือแม้กระทั่งเพื่อนคนไทยอำเรื่องภาษาให้ใช้ภาษาไทยผิดๆ เช่นกัน แต่เมื่อเขาเหล่านั้นได้รับรู้คำที่ถูกต้อง ก็ไม่ได้นำไปเผยแพร่ให้กลายเป็นเรื่องตลกแบบผิดๆ ส่วนบางคำที่กลายเป็นเรื่องตลกพ้องเสียง เช่น บุญชิต ฟักมี คำอ่อน พร พริก ที่เหลื่อมพ้องกับคำแสลงคำหยาบในภาษาต่างชาติอยู่แล้ว ก็เป็นเรื่องตลกเฮฮาที่มีพื้นฐานจากความจริงและคนไทยก็ตลกด้วย ไม่ใช่ยกเมฆขึ้นมาลอยๆ เพื่อหวังจะให้ตลก


ไม่ใช่เพียงแค่ภาษาลาวเท่านั้น ยังมีอีกหลายภาษา โดยเฉพาะภาษาในอาเซียนที่อาจมีความพ้องเสียงคล้ายคำทะลึ่งหยาบโลนในภาษาไทย เช่น ภาษาเวียดนามที่มีคนเริ่มเอามาเล่นเป็นมุขตลกทะลึ่งบ้างแล้ว ซึ่งหากจะนำมาเล่นเป็นมุขตลกเฮฮา ก็ควรสอบถามทบทวนความถูกต้องกับเจ้าของภาษาจริง ที่ไม่ใช่เรื่องอำเล่นเสียก่อน มิฉะนั้น หากความเข้าใจผิดเล็กๆ น้อยๆ เพราะมัวแต่คิดไปเองว่า ไม่เป็นไร เรื่องไม่ใหญ่ เมื่อใช้ไปใช้มาจนเกิดความเข้าใจผิดฝังแน่นเป็นความจำรวมหมู่ ผลิตเผยแพร่ออกมาทางสื่อ ก็จะเกิดความเสียหายต่อทั้งความน่าเชื่อถือในสื่อนั้น และกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์ของมิตรประเทศด้วย

โดยเฉพาะทุกวันนี้สังคมออนไลน์มีชุมชนผู้เล่นทุกประเทศ การสื่อสารฉับไว การแสดงความไม่พอใจและการประท้วงโต้ตอบก็เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ยิ่งในประเทศเพื่อนบ้านที่ระบบอินเตอร์เน็ตไร้สายผ่านโทรศัพท์มีกันครบถ้วนหน้าในราคาถูก (และเร็วกว่าประเทศไทย) หากเกิดประเด็นความเข้าใจผิดเชิงดูถูกดูหมิ่นขึ้น ก็อาจลุกลามเป็นไฟลามทุ่ง เหมือนน้ำผึ้งหยดเดียวที่สร้างความเสียหายร้ายแรง ส่งผลต่อผู้ที่ทำการค้า-ธุรกิจได้

ในทางกลับกัน โลกอินเตอร์เน็ตที่ก้าวหน้า ก็ช่วยให้เราสามารถสอบทานข้อมูลได้อย่างทันท่วงที แก้ไขความเข้าใจผิดได้ก่อนที่จะลุกลามเช่นกัน ไฟป่ามักจะเกิดขึ้นจากเชื้อไฟเล็กๆ ฉันใด การระงับความรุนแรงบานปลายก็ต้องเริ่มจากการดับเชื้อไฟเล็กๆ ก่อนฉันนั้น



.