http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-02-14

ขอบคุณอีกครั้งหนึ่ง โดย คำ ผกา

.

คำ ผกา : ขอบคุณอีกครั้งหนึ่ง
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1392306491
. . วันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เวลา 23:11:05 น.

(ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ วันที่ 7-13 ก.พ. 2557 ปี34 ฉ.1747 น.88-89 )


ตลอดอาทิตย์ที่ผ่านมาผู้มีจิตใจฝักใฝ่ในลัทธิประชาธิปไตยทุกคนคงลุ้นกันตัวโก่งว่าเราจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์หรือไม่

เพราะเค้าลางน่าเป็นห่วงมาตั้งแต่เรามีคณะกรรมการจัดการเลือกตั้งที่มีเจตจำนงต้องการเลื่อนการเลือกตั้งอย่างชัดเจน

ไม่เพียงเท่านั้นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังแนะนำให้รัฐบาลรักษาการไปหารือเรื่องเลื่อนการเลือกตั้ง

ทว่า หลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านของการเมืองไทยช่วงนี้น่าจะต้องถูกบันทึกเอาไว้ในฐานะหมุดหมายของความเข้มแข็งและการหยั่งรากที่ลึกลงไปอีกขั้นหนึ่งของประชาธิปไตยในเมืองไทย


อาจจะเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลพลเรือนเลือกจะปกป้องประชาธิปไตยด้วยการยืนยันไม่เลื่อนการเลือกตั้งแทนการลุกลี้ลุกลนทำตาม "คำชี้แนะ" ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

เป็นครั้งแรกที่พลังแห่งการ "จุดเทียนสันติภาพ" จุดติด กระจายออกไปอย่างรวดเร็วทั่วประเทศ แม้จะถูกขัดขวาง ถูกเดียดฉันท์ ถูกกีดกัน

แต่ยิ่งใกล้วันเลือกตั้ง กิจกรรมจุดเทียนยิ่งถูกจัดอย่างถี่ยิบ และเกิดจากพลังของประชาชนธรรมดาๆ เกิดจากกลุ่มนักศึกษาที่กิจกรรมนี้อาจเป็นการแสดงออกถึงจุดยืนทางการเมืองครั้งแรกในชีวิตของพวกเขา ไม่ได้เกิดจากแกนนำ หรือบุคคลที่มีชื่อเสียง

เป็นครั้งแรกที่ประชาชนต้องสำแดงความกล้าหาญปกป้องหน่วยการเลือกตั้ง พกไฟฉายไปเลือกตั้ง ปีนรั้วไปเลือกตั้ง อวยพรให้ปลอดภัยในวันเลือกตั้ง ฝ่าวงล้อมของผู้ประท้วงที่ตะโกนด่าทอ ฉุดกระชากลากถู สะบัดธงชาติไปคลุมหัวของคนที่จะไปเลือกตั้ง

เป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่ กกต. โดยเฉพาะใน กทม. ไม่มีความพยายามอย่างสิ้นเชิงที่จะจัดการเลือกตั้ง บ้างไม่มา บ้างปิดคูหาไปเฉยๆ มีแม้กระทั่งการเอาหีบ เอาบัตรเลือกตั้งไปทิ้งทำลาย



แต่ถึงอย่างนั้นความยากลำบากและบรรดาอุปสรรคเหล่านี้เกิดขึ้นเฉพาะในกรุงเทพฯ และอีกบางจังหวัดเท่านั้น

การที่ในที่สุดเราสามารถจัดการเลือกตั้งสำเร็จเรียบร้อยไปเกือบร้อยละเก้าสิบ คือตัวเลขที่ยืนยันเจตจำนงของ "ประชาชน" ตัวจริงเจ้าของประเทศ ที่เฝ้าอดทนของการกรีดร้องกระทืบเท้าเต้นเร่าเอาแต่ใจของกลุ่มเด็กไม่รู้จักโตแต่ถูกตามใจจนเสียคน

ถึงวันนี้ ไม่มีใครตามใจ มีแต่คนชี้นิ้วไปหาแล้วบอกว่า "พอกันที โตได้แล้ว เลิกกรีดร้อง ครวญคราง บังคับให้โลกทั้งใบหมุนไปในทิศทางที่ตนอยากให้หมุน เพราะคุณไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกนี้"


ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการหยั่งรากผลิใบของประชาธิปไตยในเมืองไทยคราวนี้ และขอยกให้เป็นคุณูปการของม็อบ กปปส. ก็คือ การเปลี่ยนคุณค่าและความหมายของธงชาติไทย

เพลงชาติ ธงชาตินั้นเป็นประดิษฐกรรมที่ตอบสนองต่อสำนึกใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนกับมนุษย์ในยุคก่อนการถือกำเนิดของชาติ

ความผูกพันภักดีของมนุษย์ก่อนรัฐชาติถือกำเนิดขึ้น อาจผูกพันกับมูลนายของตน เจ้าที่ดินของตน ครอบครัวของตน

ชาวบ้านบางระจันที่ไปรบ ไม่ได้ไปรบเพราะรักชาติ แต่ไปรบเพราะเป็นไพร่ที่ถูกสักเลกถูกเกณฑ์ไปรบ หากหนีได้ก็มักจะหนี หรือการไปอยู่ภายใต้มูลนายก็อาจอยู่เพื่อแลกกับความคุ้มครองบางอย่าง ไม่ได้อยู่ด้วยความภักดีต่อหน่วยการเมืองที่เรารู้จักกันในนามของ "ชาติ"

อาชีพทหารรับจ้างก็เป็นอาชีพที่เฟื่องฟูมากก่อนรัฐชาติถือกำเนิดขึ้นมา ทหารเหล่านี้ถูกฝึกมาเพื่อรบ และรบที่ไหนก็ได้ เพื่อใครก็ได้ที่มีเงินจ้างเขาไปรบให้ โดยไม่ได้สนใจเรื่อง เชื้อชาติ สัญชาติใดๆ

เช่น ในสมัยอยุธยาเราใช้ทหารรับจ้างชาวโปรตุเกส ซึ่งหากใช้กรอบคิดของมนุษย์สังกัดรัฐชาติสมัยนี้ไปมอง อาจงุนงงว่า เราจะเชื่อได้อย่างไรว่าทหารโปรตุเกสจะรบเพื่อปกป้องอยุธยาจริงๆ เพราะเราเชื่อว่าทหารที่ไปรบนั้นไปเพราะรักชาติ ไปเพราะอยากปกป้องชาติบ้านเมืองจากอริราชศัตรู

แต่ในสมัยก่อนรัฐชาตินั้น ไม่มีใคร "รักชาติ" เพราะไม่มี "ชาติ" จะให้รัก คนที่ไป "รบ" นั้นไปตาม "หน้าที่" ไม่ได้ไปเพราะความ "รัก"


(ดังนั้น เวลาเราดูหนัง ละคร อิงประวัติศาสตร์ที่อ้างอิงความรักชาติจนจุกอกของคนสมัยอยุธยาหรือก่อนหน้านั้นมันจึงชวนให้รู้สึกอีหลักอีเหลื่อ และอยากจะตะโกนบอกคนเขียนบทว่า "สมัยนั้นยังไม่มีใครรักชาติจ้า เพราะ "ชาติ" ยังไม่เกิด")



รัฐก่อนเป็นรัฐชาตินั้นมีหลายแบบตั้งแต่เป็นอาณาจักร เป็นราชอาณาจักร เป็นศาสนจักร (เช่น จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์) รัฐแบบมณฑลอย่างในอุษาคเนย์ที่ศูนย์กลางของรัฐคือเขาพระสุเมรุ ใครอยากเคลมว่าใหญ่สุดในจักรวาลก็สร้างเขาพระสุเมรุในแผ่นดินตนเอง วางผังเมืองตามคติจักรวาลวิทยาที่มีทั้งเขาพระสุเมรุ ทะเลสีทันดร ตำแหน่ง อาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว ตามที่ปรากฏใน ไตรภูมิกถา กษัตริย์คืออวตารของพระอินทร์ มเหสีคือนางแก้วคู่บุญ ฯลฯ

แผนที่ของบ้านเมืองก่อนรัฐชาติถือกำเนิดขึ้นจึงไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ "ความเป็นจริงทางภูมิศาสตร์" เพราะเขาให้ความสำคัญกับ "ภูมิศาสตร์ของอำนาจ (และการรับรู้ต่ออำนาจนั้น)" มากกว่า ภูมิศาสตร์กายภาพ

หากจะพูดให้ถึงที่สุดนอกจาก "คน" ในยุคก่อนรัฐชาติจะไม่ "รัก" หรือ "ภักดี" กับผู้ปกครองที่เป็นตัวแทนอำนาจรัฐ

"คน" ที่อาจเรียกว่าเป็น ชาวนาบ้าง เป็นไพร่บ้าง เป็นข้าทาสติดที่ดิน หรือเป็น "ลูกนา" ของบรรดาเจ้าที่ดิน บ้างเหล่านี้ยังเห็นว่าอำนาจรัฐหรืออำนาจของผู้ปกครองนั้นคือสิ่งคุกคาม เป็นอันตรายต่อชีวิตและสันติสุขของพวกเขาด้วยซ้ำไป

เช่น นายบุญมากอายุสิบแปดเพิ่งได้เมียและเมียกำลังตั้งท้องมีชีวิตทำนาหาปลาเก็บของป่าประทังชีวิตอยู่ดีๆ วันหนึ่งอาจถูกเกณฑ์ไปเป็นไพร่ราบทหารเลวในศึกสงครามแล้วก็ล้มหายตายจากไปไม่ได้กลับมาอีกเลย

"คน" ในยุคก่อนกำเนิดของรัฐชาติจึงพยายามทุกวิถีทางที่จะ "หนี" ไปอยู่ในดินแดนที่อำนาจรัฐเอื้อมไม่ถึงเสมอ

เว้นแต่ "คนบางจำพวก" ที่สามารถเข้าไปมีผลประโยชน์ทางใดทางหนึ่งกับอำนาจรัฐนั้นได้

หรือการหนีจากอำนาจรัฐที่ดุร้ายไปพึ่งใบบุญของอำนาจรัฐที่มีความปรานีมากกว่าก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำ

และในบางกรณีก็เป็นถูกย้าย "สังกัด" โดยไม่เต็มใจเช่น เดิมเป็น "ข้า" ของอำนาจรัฐหนึ่งแต่เนื่องจากรัฐนั้นแพ้สงครามจึงถูกกวาดต้อนมาเป็น "ข้า" ของอำนาจรัฐฝ่ายที่มีชัย

การสร้างบ้านแปลงเมืองของสยามนั้น "คน" จำนวนมากที่กลายมาเป็น "คนไทย" อย่างที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ก็มีบรรพบุรุษเป็นเชลยสงครามที่ถูกกวาดต้อนมา



เมื่อเป็นเช่นนี้จึงชัดเจนว่าก่อนมี "ชาติ" นั้น "คน" ไม่ได้รู้สึกรัก ผูกพันกับถิ่นฐานบ้านเกิดเมืองนอนอะไรเลย แถมยังคิดจะหนีไปให้ไกลๆ อยู่ตลอดเวลาด้วย แรงจูงใจที่จะทำให้คนไม่อยากหนี อยากลงหลักปักฐานอยู่ในบ้านใดเมืองหนึ่งไม่ใช่เรื่องความรักที่มีต่อแผ่นดินหรือผู้ปกครองแต่เป็นเพราะเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ ดินดี น้ำดี ค้าขายได้ดี ไม่มีโรคระบาด

และคงต้องหมายเหตุต่อไปอีกว่า เหตุที่ทำให้คนผละจากเมืองใดเมืองหนึ่งไปอย่างไม่ยี่หระก็เพราะหนีโรคระบาด ไข้ห่า อหิวาตกโรค สงคราม-ดังนั้น มันจึงไม่มีหรอก ไอ้คอนเซ็ปต์ที่ว่า ทดแทนบุญคุณแผ่นดิน รักแผ่นดินแม่ ตอบแทนบรรพบุรุษ เพราะห่าลงที "คน" ก็เผาเรือนหนียกครัวกันหมดแล้ว

จนเมื่อ "รัฐชาติ" ถือกำเนิด คอนเซ็ปต์ว่าด้วยความรักชาติจึงเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน



เหตุใดจึงเกิดรัฐชาติ อธิบายอย่างง่ายและหยาบก็อาจแบ่งเหตุแห่งการเกิดขึ้นของรัฐชาติได้ดังนี้

- "คน" ต้องการเป็นอิสระจากการปกครองโดย "ศาสนจักร"

- "คน" ต้องการเป็นอิสระจากการปกครองของระบบ "ศักดินาและสมบูรณาญาสิทธิราชย์"

- "คน" ต้องการเป็นอิสระจากการปกครองของ "เจ้าอาณานิคม"

เมื่อต้องการเป็นอิสระจากการ ศาสนจักร, ศักดินา และ เจ้าอาณานิคม "คน" จึงนิยามความสัมพันธ์ทางอำนาจในหน่วยการเมืองใหม่ที่เกิดขึ้นว่า ต่อไปนี้ "บ้านเมือง" มิได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่งหรือตระกูลใดตระกูลหนึ่งแต่เป็นของ "สามัญชน" ทุกคนเท่าๆ กัน-ในช่วงแรกยังไม่รวมผู้หญิงและทาส-และการนับว่าสามัญชนใดสังกัด "บ้านเมือง" เดียวกัน เป็นคน "ชาติ" เดียวกัน ในแต่ละ "ชาติ" ที่ถือกำเนิดขึ้นก็มีหลักเกณฑ์ต่างๆ กันไป เพราะชาติบางชาติ สำนึกของชาติเกิดขึ้นโดยยังไม่มี "ประเทศ"

บางชาติก็ถือกำเนิดพร้อมๆ กับการมี "ประเทศ" ที่เกิดจากการทำแผนที่สมัยใหม่ จึงนับเอาคนที่มีถิ่นฐานในขอบเขตประเทศนั้นว่าคือคนชาติเดียวกัน

บางชาติกำเนิดขึ้นหลังการประกาศเอกราชแล้วต้องมาต่อรอง ตกลง ต่อสู้ แบ่งประเทศกันภายหลังอีก เช่น กรณีของอินเดียกับปากีสถาน ฯลฯ


กระบวนการอันซับซ้อนและมีพัฒนาการมาถึงสองร้อยปีในการถือกำเนิดของรัฐชาติจึงส่งผลให้เกิดประเทศชาติหลากหลายรูปแบบอย่างที่เรารู้จักกันทุกวันนี้ และในสองร้อยกว่าปีที่รัฐชาติถือกำเนิดขึ้นก็ก่อให้เกิดทั้งสงครามศาสนา สงครามกลางเมือง สงครามแบ่งแยกประเทศ สงครามชนกลุ่มน้อยในดินแดนต่างๆ ฯลฯ

แต่ที่แน่ๆ สิ่งที่ "ชาติ" ต้องการและต้องสร้างขึ้นในหมู่พลเมืองใน "ชาติ" คือ ความสามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชาติ และการสร้างอัตลักษณ์ของชาติ อีกทั้งคุณค่าที่ยึดถือร่วมกัน

เช่น ในหลายๆ ประเทศใช้การปกครองระบอบประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน เป็นคุณค่าร่วมของชาติ ใครที่ไม่ยึดถือในคุณค่านี้ถือเป็นศัตรูของชาติ (เช่น เป็น terrorist เป็นผู้ก่อการร้าย)-แน่นอนว่า คุณค่าประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ในช่วงแรกๆ ที่ชาติถือกำเนิดขึ้น อาจจะไม่รวมผู้หญิง เกย์ คนผิวสี

เครื่องมือที่จะใช้สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้ "คน" อันแตกต่างหลากหลายสามารถหลอมรวมตัวเองให้เชื่อว่าเราต่างเป็น "คน" ที่ เกิด อยู่ และจะตายบนผืนแผ่นดินที่เรียกว่าประเทศชาติ มีพี่น้องร่วมชาติ มีเพื่อนร่วมชาติ มีบรรพบุรุษที่ต่อสู้ปกปักรักษา สร้างชาติมาให้ลูกหลานอย่างพวกเราได้อยู่อาศัย

"ชาติ" จึงต้องการทั้งการแต่งประวัติศาสตร์ใหม่ การสร้างพิพิธภัณฑ์ การเขียนบทละครปลุกใจให้คนรักชาติ การสร้างศัตรูร่วม การสร้างความเป็นอื่นเพื่อขับเน้นความเป็นเราให้แจ่มชัด ในบางกรณีอาจเลยเถิดไปจนถึงการทำสงครามกับเพื่อนบ้านเพื่อตอกย้ำความเป็นหนึ่งเดียวของชาติที่อาจจะกำลังคลอนแคลน




เขียนมายืดยาว (แต่ค่อนข้างหยาบ) เกี่ยวกับชาติ เพื่อจะบอกว่า ธงชาติ และเพลงชาติก็เป็นหนึ่งในประดิษฐกรรมของรัฐชาติสมัยใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อสองร้อยปีที่แล้วในโลกนี้ 
ส่วนชาติไทยก็เพิ่งมีอายุ 80 ปี หากจะอิงความหมายว่าชาติของรัฐชาติสมัยใหม่นั้นต้องหมายถึง "ประชาชน" มิใช่สถาบันอื่น

"ชาติ" ที่บรรลุวุฒิภาวะแล้ว ล้วนเคยผ่านประสบการณ์ "คลั่งชาติ" จนหายนะกันไปมาก
มีหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เยอรมนี ก็ได้สรุปบทเรียนว่า หากชาติลงหลักปักฐานมั่นคงพร้อมๆ กับแนวคิดประชาธิปไตย เราไม่จำเป็นต้องไปให้ความสำคัญกับเพลงชาติ ธงชาติ เอกลักษณ์ของชาติ อีกต่อไปแล้ว เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นประดิษฐกรรมสำหรับประเทศชาติที่ยังไม่บรรลุวุฒิภาวะ ยังขาดความมั่นคงทางใจ ยังมีปมด้อย ยังไม่รู้ว่า "ชาติ" ของตัวเองอยู่ที่ไหนกันแน่บนโลกใบนี้ จึงพยายามสร้างความภูมิใจที่เกินจริง เวอร์วังอลังการมาปลุกเร้าความฮึกเหิมของคนในชาติ

ประเทศที่บรรลุแล้วซึ่งวุฒิภาวะจึงไม่มีปมด้อยในอัตลักษณ์ของตน ไม่ต้องร้องเพลงชาติเช้า เย็น เห็นธงชาติเป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่ไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์สำคัญอะไร ยกเว้นตอนแข่งฟุตบอลโลกอาจเรียกน้ำตาได้นิดหน่อย


ความที่ประเทศไทยยังเด็ก มีปมด้อยมากและยังไม่บรรลุวุฒิภาวะทางอารมณ์ ยังมีความคลั่งชาติ หลงชาติ หลงตัวเอง มีภาพการรับรู้เกี่ยวกับตัวเองแบบดีเกินจริง ทำให้เรายังเคารพบูชาธงชาติกันเป็นบ้าเป็นหลังเหมือนเด็กที่ไม่รู้จักโต

เห็นฝรั่งเอาธงชาติไทยไปตัดเสื้อหรือทำเครื่องประดับก็อาจจะโกรธเกรี้ยว ฟูมฟายว่าเค้าดูถูกตน (อันเป็นกลุ่มอาการของคนที่ไม่มีใครสนใจ แต่ชอบคิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล)

นักวิชาการสายเสรีนิยมพยายามอย่างมากที่จะให้คนไทยเลิกงมงายกับสัญลักษณ์อย่างธงหรืออะไรต่อมิอะไร แต่หันมาสนใจกับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชาติอันจะเป็นศักดิ์ศรีที่แท้จริงของชาติ

ทว่า ไม่สำเร็จ



แต่วันนี้ กปปส. ทำสำเร็จอย่างดงามด้วยการทำสัญลักษณ์ธงชาติให้กลายเป็นสินค้า เป็นส่วนหนึ่งของแฟชั่น เป็นส่วนหนึ่งของ popular culture อันดาษดื่น บ้างกองแขวนอยู่ข้างถนน บ้างเป็นตุ้มหู เป็นเสื้อ เป็นกระโปรง เป็นแฮร์พีซขนาดใหญ่บึ้มชนิดต้องไปงานแฟนซีเท่านั้น หรือดูเป็นการ์ตูนอันไกลจากความขรึมขลังศักดิ์สิทธิ์

หนักกว่านั้น กปปส. ยังทำให้คนไทยจำนวนมากรู้สึก "หวาดกลัว" ต่อสัญลักษณ์ธงชาติ รู้สึกแม้กระทั่งว่ามันคือเครื่องหมายแห่งการคุกคาม คือความรุนแรง คือสัญลักษณ์ที่คุกคามความเป็นประชาธิปไตย

ต้องขอบคุณ กปปส. ที่ได้ช่วยทำลายมายาคติของธงชาติไทยอันครอบงำเรา "คนไทย" มากว่า 80 ปี


..............



_______________________________________________
ร่วมคลิกไลค์แฟนเพจมติชนสุดสัปดาห์ผ่านทางเฟซบุ๊กได้ที่
www.facebook.com/matichonweekly


.