http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-02-24

คณะรัฐบุคคล โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร

.

คณะรัฐบุคคล
โดย ดร.วีรพงษ์ รามางกูร
คอลัมน์ คนเดินตรอก
ใน www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1393224114
. . updated: 24 ก.พ. 2557 เวลา 13:37:46 น.

( ภาพของเซีย จากไทยรํฐ ไม่เกี่ยวกับผู้เขียน ไม่มีในเพจประชาชาติ )


เมื่อวันจันทร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ หลังจากวันเลือกตั้งทั่วไปเพียงวันเดียว มีการเปิดตัวคณะรัฐบุคคลโดยตั้งชื่อว่า "Man of The State" เป็นข่าวใหญ่ไปในหนังสือพิมพ์หลักทุกฉบับ โทรทัศน์พื้นฐานทุกช่อง

ที่เป็นที่ฮือฮาก็เพราะบุคคลที่เข้าไปร่วมชุมนุมนั้นล้วนแต่เป็นผู้สูงวัย นัยว่ามีอายุอยู่ระหว่าง 70-90 ปีโดยเฉลี่ย ทุกคน
เคยทำงานในตำแหน่งระดับสูง ทั้งในกองทัพ กระทรวงทบวงกรม มหาวิทยาลัย เป็น ดร. เป็นศาสตราจารย์ทั้งจริงและปลอม เคยรู้จักมักคุ้นกันมาก็หลายคน

ขอชมเชยที่ทุกคนมีจิตใจที่เห็นปัญหาของบ้านเมือง อยากจะมีส่วนคิดอ่านหาทางให้มีการแก้ไข ก่อนที่ประเทศชาติจะล่มสลายในสายตาของพวกท่าน


ความจริงมิได้มีแต่กลุ่มคณะรัฐบุคคล หรือ Man of The State ชุดนี้ชุดเดียวที่มีความกังวล แต่มีกลุ่มอื่น ๆ หลายกลุ่มที่มีความกังวลในลักษณะเดียวกัน เพียงแต่กลุ่มอื่นไม่ได้ตั้งกล้องถ่าย ไม่ได้ตั้งไมโครโฟนอัดเสียง การเผยแพร่ความเห็นนี้จะมีเจตนาอย่างไรไม่ควรจะไปค้นหา ควรจะสนใจเฉพาะสิ่งที่ท่าน "ผู้เฒ่า" เหล่านี้ต้องการจะสื่อสารว่ามีอะไรบ้าง ดีหรือไม่ดี ทำได้หรือไม่ได้อย่างไร

ที่จริงก็คุ้นหน้ากันเป็นส่วนใหญ่ข้อสนทนาที่จับความได้ก็คือ บัดนี้ปัญหาของชาตินั้นรุนแรงหนักหนามาก ต้องหาคนมาแก้ไขเพื่อ การจัดการปฏิรูปประเทศในเวลาประมาณปีครึ่งถึง 2 ปี เพื่อร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ แก้กฎหมายเลือกตั้งเพื่อให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่มีการซื้อสิทธิขายเสียง เพื่อจะได้คนดีเข้ามาบริหารประเทศในระยะยาว

ส่วนในระยะสั้นนี้ก็สรรหา "คนดี" มีฝีมือหา "คนกลาง" ที่ประชาชนยอมรับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีจัดกวาดบ้านเรือน ทำการปฏิรูปเสียให้เสร็จสิ้นก่อนแล้วก็จัดให้มีการเลือกตั้ง เราก็จะได้รัฐบาล "คนดี" มาปกครองบ้านเมือง แต่วงสนทนาก็พบกับปัญหาข้อแรกว่าถ้าจะได้รัฐบาลคนกลางที่เป็นคนดีมาเป็นนายกรัฐมนตรี การมีสภาคนดีมาทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ และทำหน้าที่บัญญัติก็จะต้องได้อำนาจ "รัฐ" มาเสียก่อน ปัญหาก็คือจะได้ "อำนาจรัฐ" มาได้อย่างไร

นักกฎหมายใหญ่และนักรัฐศาสตร์คนหนึ่งเสนอว่า ไม่มีทางอย่างอื่นในการได้ "อำนาจรัฐ" มาเพื่อทำการปฏิรูป นอกจากทำการ "ปฏิวัติ" หรือรัฐประหาร จะใช้เครือข่ายองค์กรอิสระต่าง ๆ เช่น ป.ป.ช. กกต. ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง หรือศาลรัฐธรรมนูญ ก็ทำได้เพียงส่วนหนึ่ง เพราะยังมีรัฐธรรมนูญฉบับ คมช.ขวางอยู่
แต่อย่างไรความเห็นของอดีตข้าราชการพลเรือน และ "นักวิชาการสมัครเล่น"ก็ถูกติติงโดย พล.อ.วิมล วงศ์วานิช จำได้ว่าท่านเป็น จปร.รุ่น 5


ฟังดูแล้วก็เหมือนความคิดคนรุ่นเก่าที่คิดถึงความรุ่งโรจน์ของกลุ่มตัวในสมัย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ กับ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ร่วมกันทำปฏิวัติในปี 2519 และปี 2520 จัดระบบการปกครองโดยเอากองทัพมาคานกับสภาผู้แทนราษฎร โดยมีวุฒิสภาที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งเป็นตัวแทนของกองทัพ มีอำนาจเท่ากับสภาผู้แทนราษฎร โดยให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกรัฐมนตรี แล้วก็เปลี่ยนมาเป็น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงอยู่ได้ถึง 8 ปีครึ่ง บวกกับช่วงที่ พล.อ.เกรียงศักดิ์เป็นนายกรัฐมนตรีก็ 10 ปีกว่า ๆ

ต่อมาเมื่อมีรัฐประหาร รัฐบาล พล.อ.ชาติ ชาย ชุณหะวัณ คณะรัฐประหารก็ไปเชิญ "คนดี" คุณอานันท์ ปันยารชุน คนกลางมาเป็นนายกฯเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ใช้เวลาประมาณ 1 ปี หลังเลือกตั้งสภาผู้แทนฯเสนอชื่อ พล.อ.สุจินดาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ไปไม่รอด เกิดการชุมนุมใหญ่ประท้วงคัดค้าน ในยุคนั้นเป็นม็อบของคนกรุงเทพฯที่อ้างว่าเป็น "ม็อบมือถือ"

เพราะสมัยนั้นคนชั้นกลางและคนรวยเท่านั้นที่มีมือถือ พล.อ.สุจินดาต้องการจัดระบบการปกครองให้เหมือนสมัย พล.อ.เปรมเป็นนายกฯ คือเอากองทัพมาคานกับสภาผู้แทนราษฎร แล้วตั้งพรรคคนกลางมาเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างที่เคยทำมาสมัยพล.อ.เปรม สังคมไทยนั้นเป็นสังคมที่มีพลวัตสูงมากไม่เคยหยุดนิ่ง ไม่เคยมีใครหยุดยั้งได้ ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมาเมื่อพรรคไทยรักไทยโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาในวงการเมืองและชนะการเลือกตั้ง รัฐบาลพรรคไทยรักไทยได้ปลุกสำนึกของคนรากหญ้าทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดให้ตื่นตัวทางการเมืองอย่างมาก โดยการเปลี่ยนจากรัฐที่ทำการปกครองให้เป็นรัฐบริการ ซึ่งไม่เคยมีพรรคใดทำมาก่อน การปลุกกระแสตื่นตัวทางการเมืองของคนระดับรากหญ้าในต่างจังหวัด ในภาคอีสานและภาคเหนือนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และคงจะเป็นของที่ย้อนกลับไปอย่างเดิมไม่ได้อีกแล้ว

การเปลี่ยนแปลงทางความรู้สึกนึกคิดของคนในต่างจังหวัดนั้น ปรากฏว่าคนชั้นกลางและคนชั้นสูงในกรุงเทพฯ และอาจจะรวมถึงคนภาคใต้ด้วยไม่ยอมรับรู้หรือรู้แต่ยอมรับไม่ได้ ยังมีความคิดแบบเดิม ๆ ที่รังเกียจนักการเมือง รับผู้แทนราษฎรไม่ได้เพราะมีแต่ทุจริตคอร์รัปชั่น ไร้การศึกษา



มีรายงานของมูลนิธิเอเชีย ซึ่งได้ทำวิจัยโดยส่งคนไปทำการสำรวจเก็บข้อมูลจากกลุ่มผู้ชุมนุม เป็นข้อมูลที่เก็บจากการไปสัมภาษณ์ระหว่างวันที่ 13-14 มกราคมศกนี้เอง จากผู้เข้าร่วมชุมนุม 350 คน จากเวทีประท้วง 3 แห่ง ซึ่งคุณฐากูร บุนปานนำมารายงานในมติชนรายสัปดาห์ฉบับวันที่ 14-20 กุมภาพันธ์

รายงานการสำรวจนี้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่าง อาทิ ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นคนในกรุงเทพฯถึงกว่าครึ่ง คือร้อยละ 54 ส่วนร้อยละ 46 มาจากต่างจังหวัด สำหรับผู้ที่มาจากต่างจังหวัดนั้นส่วนใหญ่มาจากภาคใต้และภาคกลางประมาณร้อยละ 75  ส่วนคนภาคเหนือและภาคอีสานมีเพียงร้อยละ 25 ซึ่งตรงกับความรู้สึกของพวกเรามาก่อนแล้ว

คนที่มาชุมนุมเป็นผู้หญิง มากกว่าผู้ชายคือร้อยละ 53 ผู้ชายร้อยละ 47 เป็นคนมีอายุตั้งแต่กลางคนขึ้นไปถึงร้อยละ 60 อายุระหว่าง 45-54 มากที่สุดถึงร้อยละ 25 และที่สำคัญผู้ชุมนุมเป็นผู้มีการศึกษาสูงกล่าวคือร้อยละ 54 จบปริญญาตรี ร้อยละ19 จบปริญญาโท กล่าวคือกว่าร้อยละ 73 หรือประมาณ 3 ใน 4 ของผู้มาชุมนุมนั้นมีการศึกษาระดับปริญญาตรี

จากองค์ประกอบของผู้ชุมนุมที่กล่าวมานี้ เห็นได้ชัดว่าผู้ที่มาชุมนุมประท้วงเป็นคนชั้นสูงของสังคมไทยที่มาจากกรุงเทพฯ ภาคกลาง และภาคใต้ เป็นคนที่มีฐานะทางสังคม มีอายุวัยกลางคนขึ้นไป และกว่าครึ่งหนึ่งมีรายได้ค่อนข้างสูงคือเดือนละ 50,000-60,000 บาทขึ้นไป และกว่าครึ่งเคยบริจาคเงินให้กับแกนนำผู้ชุมนุม



เราจึงไม่แปลกใจว่าวาทกรรมที่ปลุกเร้าเข้าถึงใจคนชั้นกลางระดับสูง ทั้งในแง่พื้นที่ ฐานะทางเศรษฐกิจ การศึกษาวิธี คิดและทัศนคติของคนที่เป็นเป้าหมายนั้น ไม่ได้เกรงใจ ไม่ได้สนใจความรู้สึกนึกคิดของคนชั้นล่างระดับรากหญ้าที่อยู่ในต่างจังหวัดเลย
กว่าร้อยละ 55 ให้เหตุผลของการมาชุมนุมก็เพื่อโค่นล้มระบอบทักษิณ ปกป้องสถาบัน ให้มีการปฏิรูปก่อนจะมีการเลือกตั้ง
กว่า 42 เปอร์เซ็นต์ของผู้มาร่วมชุมนุมตอบว่าระบอบทักษิณไม่มีอะไรดีเลย
ร้อยละ 72 เห็นว่าข้อเสียของระบอบทักษิณคือการทุจริต ข้อเสียของประชาธิปัตย์ร้อยละ 55 ตอบว่าทำงานช้า เช้าชามเย็นชามไม่มีผลงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่เราก็เคยได้ยินบ่อย ๆ ในการโจมตีรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ แต่เรื่องทุจริตกับเรื่องความจงรักภักดีเป็นเรื่องที่คนกรุงเทพฯและคนชั้นกลางขึ้นไปให้น้ำหนักมากที่สุด หากผู้ใดถูกโจมตีด้วยข้อหาทั้งสองข้อนี้ก็มักจะอยู่ในฐานะที่ลำบาก

สำหรับความรู้ ความเข้าใจทางการเมืองของคนชั้นสูงในกรุงเทพฯนั้นค่อนข้างแปลก เพราะมีถึงร้อยละ 84 เห็นด้วยกับข้อเสนอในการจัดตั้งสภาประชาชน และมีถึงร้อยละ 81 เห็นว่าการปฏิเสธการลงเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ทำให้ประชาธิปไตยอ่อนแอ
ร้อยละ 72 ไม่ต้องการให้เกิดการปฏิวัติ รัฐประหาร หรือให้ทหารเข้ามาแทรกแซง
และกว่าร้อยละ 62 เห็นว่าไม่ต้องใช้วิธีการรุนแรงเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างที่คณะรัฐบุคคลเสนอ


คนกรุงเทพฯยังสับสนและไม่เข้าใจหลักการของระบอบประชาธิปไตย

ในเรื่องทัศนคติของคนในกรุง เรื่องความเท่าเทียมกันทางการเมืองแล้วก็เห็นได้ชัด คนในกรุงยังยอมรับไม่ได้ ยังสับสน
แต่ไม่กล้าพูดออกมาตรง ๆ เพราะจำนวนคนประมาณเท่า ๆ กันตอบว่าถูกต้องและไม่ขัดกับหลักประชาธิปไตย แม้จะคิดว่าหนึ่งคนหนึ่งเสียงเท่ากันไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ก็ต้องยอมรับ หรือถูกหลักประชาธิปไตยแต่คนนำไปใช้ผิด ๆหรือตีความผิด ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่แปลกมากสำหรับกลุ่มคนที่มีการศึกษาสูงสุดของประเทศไทย



เมื่ออ่านรายงานผลสำรวจผู้ชุมนุมในวันที่ 13-14 มกราคมศกนี้ ซึ่งเป็นวัน "ปิด กรุงเทพฯ" ซึ่งรัฐบาลเป็นฝ่ายประโคมข่าวนี้อย่างมาก คงจะหวังให้คนกรุงเทพฯอึดอัด คัดค้าน แต่ปรากฏว่าคนกรุงเทพฯรับได้ และยอมรับได้กับการดำเนินการปฏิรูป ซึ่งยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่าหัวข้อหรือกรอบของการปฏิรูปคืออะไร

เป็นการย้ำให้เห็นว่าที่คนกรุงเทพฯออกมาร่วมชุมนุมนั้นเพราะไม่ชอบระบอบทักษิณ ซึ่งก็คงจะหมายถึงพรรคเพื่อไทย หรือพรรคอะไรก็แล้วแต่ที่สืบเนื่องมาจากพรรคไทยรักไทย

หลักการประชาธิปไตย ที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ ภราดรภาพ สิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมกัน รวมทั้งหลักนิติรัฐ ไม่มีความสำคัญ ไม่สนใจเหตุผลอะไรทั้งสิ้น ขอแค่นายกฯยิ่งลักษณ์ออกไป แล้วเอานายกฯคนกลางกับสภาประชาชนมาทำการปกครองแทน ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ไม่รู้ ไม่สนใจ


เห็นได้ชัดว่าวิธีคิด ทัศนคติของคน กรุงเทพฯ เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงต่อการพัฒนาการเมืองของไทย ถ้าคนต่างจังหวัดยังไม่ตื่นตัวทางการเมืองก็คงไม่เป็นไร แต่บัดนี้ประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯเริ่มตื่นตัวแล้ว ความขัดแย้งจะดำรงอยู่ไปอีกนาน และคงจะปะทุขึ้นเป็นระยะเมื่อมีเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งระเบิดขึ้น วนเวียนเป็นวัฏจักรเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจ 



.