http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-02-10

ประชาชนจะปฏิรูปเอง, +วันตัดสินสิทธิประชาชน โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ

.

ประชาชนจะปฏิรูปเอง
โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ
คอลัมน์ ที่เห็นและเป็นไป
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1391961087
. . วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เวลา 08:45:12 น.

( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 9 กุมภาพันธ์ 2557 )


ความพยายามที่จะล้มรัฐบาลด้วยประเด็นล้มล้างระบอบทักษิณที่ร้อนแรงและขับเคลื่อนมวลชนได้จำนวนมากเริ่มกลายเป็นความรู้สึกชาชิน

ความน่าตื่นเต้นที่ประชาชนส่วนหนึ่งแห่กันบริจาคเงินให้"สุเทพ เทือกสุบรรณ" นำมาใช้จ่ายจัดม็อบไล่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลายเป็นภาพที่ชาชิน ไม่ค่อยให้ความรู้สึกอะไรมากแล้ว

ม็อบ "ชัตดาวน์กรุงเทพฯ" ที่ก่อความตกอกตกใจก่อนหน้านั้น ถึงวันนี้ประชาชนส่วนใหญ่สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับความวุ่นวายนั้นได้ โดยความรู้สึกเดือดร้อนจางหายไปมาก


ทั้งจากความเคยชิน และจากแกนนำม็อบที่พูดรู้เรื่องมากขึ้น ยอมถอยไปอยู่ในจุดที่สมควรจะอยู่



ความรุนแรงที่หวาดผวาว่าจะหนักหนาสาหัสในวันเลือกตั้ง แม้มีความสูญเสียอย่างน่าเศร้า แต่ไม่มากเหมือนที่กังวลกัน

ขณะที่ปฏิกิริยาสะท้อนกลับส่งผลให้เห็นชัดมากขึ้น
ไม่ใช่ท่าทีของ"มวลชนเสื้อแดง" ที่สงบนิ่งด้วยไม่ต้องการให้เกิดการปะทะ แต่เตรียมพร้อม


แต่เป็นปฏิกิริยาสะท้อนกลับของคนทั่วไป


เพราะการเคลื่อนไหวของ "ม็อบประชาธิปัตย์" มีอาการหมิ่นหยามสิทธิที่เท่าเทียมของประชาชน

ก่อกระแสการต่อสู้เพื่อ "สิทธิของตัวเองอย่างกว้างขวาง" ทั้งจากนักวิชาการ ฝ่ายประชาธิปไตย และประชาชนทั่วไป

"ความรักในสิทธิของตัวเอง" ได้ก่อรูปเป็น "สำนึกใหม่ของประชาชน" เป็น "ค่านิยม" ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางหนักแน่น

กระแสเช่นนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาประชาธิปไตยไทย


ประกอบกับการที่"พรรคประชาธิปัตย์" แสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าต้องการนำการเมืองการปกครองไทยไปสังเวยให้อำนาจนอกระบบ ทำให้ต่างชาติไม่ว่าจะเป็นทางการในนามประเทศ หรือสถาบัน และสื่อมวลชนนานาชาติ ต่างรุมกันเข้ามาตั้งคำถามกับพรรคประชาธิปัตย์อย่างรุนแรงชนิดไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

แม้ว่าท่าทีขององค์กรอิสระทั้งหลายยังแสดงออกอย่างแข็งขันว่าพร้อมจะเป็นเครื่องมือเป็นอาวุธจัดการกับฝ่ายประชาธิปไตยเพื่อสถาปนาอำนาจนอกระบบขึ้นมาครองประเทศอีกครั้ง


ทว่า ทุกคนต่างรู้ดีว่า แม้จะประสบความสำเร็จ แต่มันจะเป็นแค่เรื่องชั่วคราว

เป็นชั่วคราวที่เสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรง และที่สุดย่อมคาดเดาได้ว่าที่จะล่มสลายคืออะไรบ้าง




ดังนั้น สิ่งที่ทุกฝ่ายเรียกร้องคือ "ปฏิรูปการเมือง" จึงกำลังเกิดขึ้น โดยไม่ต้องอาศัยใครมาบัญชาการ มีชี้นำ

เป็นการปฏิรูปการเมืองที่จะต้องเกิดขึ้นแน่นอนจากสำนึกใหม่ของประชาชนที่เกิดขึ้นแล้วอย่างที่ว่า

สำนึก"รักสิทธิของตัวเอง" ที่นับวันมีแต่จะเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ นี้จะผลักดันให้เกิดการปฏิรูปในทุกด้านอย่างไม่มีใครพาหลีกเลี่ยงได้

จะเป็น "ปฏิรูปการเมือง" ที่เกิดจากประชาชนเรียกร้องความเท่าเทียม ด้วยความรู้สึกถึง "สิทธิของตัวเอง จะต้องไม่ด้อยกว่าคนอื่น"


ด้วยสำนึกเช่นนี้ จะทำให้ไม่ยอมให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบ
ช่องว่างทางโอกาสระหว่างคนจะถูกถมด้วยการเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียม
เป็นการปฏิรูปอย่างแท้จริง


นับจากนี้การตัดสินใจเลือกตั้งของคนไทยจะไม่เหมือนวันก่อน

สำนึกที่ว่า"ประชาธิปไตย" คือโอกาสที่ดีที่สุดของ "ความเท่าเทียมเกิดขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็วในขณะนี้"

เป็นสำนึกที่เกิดจากการถูกหมิ่นแคลน และเกิดกระบวนการให้ความรู้กระตุ้นมาอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา



ผู้ที่ประกาศความต้องการปฏิรูปการเมืองนั้นไม่ต้องไปลงมืออะไรอีกแล้ว เพียงรักษากลไกของประชาธิปไตยไว้

ภาระการปฏิรูป ประชาชนรับที่จะไปดำเนินการกันเองแล้ว


ด้วยความหนักแน่น มั่นคง ยืนหยัด ระดับที่ "ใครมาขวางปฏิรูปโดยประชาชน หรือแย่งชิงการปฏิรูปไปงุบงิบกันทำ"

ประชาชนจะไม่มีวันยอมอีกต่อไป




++

วันตัดสินสิทธิประชาชน
โดย สุชาติ ศรีสุวรรณ
คอลัมน์ ที่เห็นและเป็นไป
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1391394164
. . วันจันทร์ที่ 03 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เวลา 09:19:45 น.

( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน 2 กุมภาพันธ์ 2557 )


ยิ่งนับวันยิ่งชัดเจนและเป็นที่รับรู้กันในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ว่าความยุ่งเหยิงทางการเมืองที่จ่อจะเกิดความวุ่นวายในระดับที่กังวลไปถึงสงครามกลางเมืองขณะนี้ ถึงที่สุดแล้วเป็นการปะทะกันระหว่างสองเส้นทางสู่อำนาจ

เส้นทางแรกความเชื่อมั่นที่ว่าอำนาจควรจะบังคับใช้จากศูนย์กลาง ซึ่งอำนาจนี้เปิดฉากใหม่ด้วยรัฐประหารปี 2549 จากนั้นจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 วางกลไกเกิดที่มาขององค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้งหลายยึดโยงกับอำนาจที่บัญชาการจากส่วนกลางได้ และวางกับดักให้นักการเมืองต้องอยู่ในกรอบที่กระดิกอะไรไม่ได้มากนัก

อาจจะเลยไปถึงการวางเครือข่ายเข้าไปในองค์กร หรือสถาบันต่างๆ ที่มีบทบาทในการชี้นำกระแสทางสังคม

จนถึงซึมเข้าไปในปฏิบัติการของพรรคการเมืองบางพรรค และการเคลื่อนไหวของประชาชนบางกลุ่ม โดยมีเครื่องมือเครื่องไม้ที่มีประสิทธิภาพพร้อมจะต่อสู้


อีกเส้นทางหนึ่ง เป็นพรรคการเมืองที่อิงอยู่กับอำนาจของประชาชน ต้องอาศัยฉันทานุมัติจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนเท่านั้น หากจะมีโอกาสเข้าสู่อำนาจ


ความรุนแรงที่เกิดขึ้นแล้วและส่อแววว่าจะหนักหนาสาหัสมากขึ้นในขณะนี้ เกิดจากทั้งสองอำนาจเกิดมามีบทบาทพร้อมๆ กัน

กลไกของอำนาจนอกระบบยังแข็งแกร่งที่จะรับบัญชาการจากอำนาจศูนย์กลาง

ขณะเดียวกันอำนาจของประชาชนได้เลือกพรรคการเมืองเข้ามาทำหน้าที่รัฐบาลบริหารประเทศ

จึงเกิดสภาพอำนาจซ้อนอำนาจที่ต่างต้องการรุกเข้าไปในอำนาจของอีกฝ่าย


กลไกของอำนาจจากศูนย์กลางใช้อำนาจตามกฎหมายรุกเข้าไปตรวจสอบ จนถึงขั้นสกัดขัดขวางรัฐบาลที่ได้อำนาจจากประชาชน

ขณะที่อำนาจที่ได้จากประชาชนพยายามแก้ไขกฎหมายลดอำนาจจากศูนย์กลาง เพื่อเปิดรูจมูกให้พอหายใจในการที่จะสร้างผลงานเพื่อเอาอกเอาใจประชาชนที่เลือกเข้ามาให้ทำหน้าที่

เมื่อถึงจุดหนึ่งที่รัฐบาลซึ่งมาจากประชาชนส่วนใหญ่ ผลิตโครงการเพื่อกระจายความเจริญออกจากศูนย์กลาง กระจายรายได้ออกสู่คนในชนบทเพื่อลดการผูกขาด

สถานการณ์ตึงเครียดจึงเกิดขึ้น เพราะหากยืนอยู่ในกรอบกติกาที่การเลือกตั้งเป็นช่องทางเข้าสู่อำนาจ จะกระทบต่อเส้นทางของกลุ่มที่อำนาจจากศูนย์กลางเป็นอย่างยิ่ง

อาจจะถึงระดับที่ว่า โอกาสที่จะรักษาอำนาจจากศูนย์กลางไว้เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป


แต่เมื่อกลไกที่วางไว้ยังทรงพลานุภาพ จึงมีการใช้กลไกนั้นเข้ามาสกัดเพื่อยับยั้งความพ่ายแพ้ถาวรในอนาคตอย่างสุดฤทธิ์

หลายเรื่องก่อความรู้สึกชัดเจนว่าที่ทำกันอยู่เป็นการละเมิดหลักการการอยู่ร่วมกัน

เอาภารกิจตั้งแล้วตะแบงตีความกฎหมายให้เป็นไปตามภารกิจของตัว โดยที่ไม่สนใจว่าประชาชนทั่วไปจะรู้สึกอย่างไร

ทำลายกติกาการอยู่ร่วมกันทุกอย่างเพื่อยืนยันความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจจากศูนย์กลางที่ปฏิเสธไม่ได้

ไม่สนใจแม้แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศชาติโดยรวมในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจที่เสื่อมทรุดอย่างรวดเร็ว และสังคมที่ขยายความแตกแยกรุนแรง จนหวั่นถึงการเป็นรัฐที่ล้มเหลว

กลไกเหล่านี้ประสาน ผนึกกำลังกันอย่างเชื่อมั่น และโจมตีคู่ต่อสู้อย่างไม่ปรานีปราศรัย ด้วยความมั่นใจในพลานุภาพของอำนาจเช่นนั้น
เหมือนว่าชัยชนะจะรออยู่เบื้องหน้าพวกเขาเหล่านั้น



ปราการด่านสุดท้ายของฝ่ายที่ยึดโยงอำนาจจากฉันทานุมัติของประชาชนส่วนใหญ่ ที่รักในสิทธิในการเป็นเจ้าของประเทศอย่างเท่าเทียมกันคือ วันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์นี้

วันเลือกตั้งจะเป็นวันที่ให้คำตอบว่า อำนาจประชาชนนั้นแม้จะมีอยู่จริง

แต่มีพลานุภาพ มีศักยภาพ มีประสิทธิภาพ พอที่จะรักษาสิทธิความเป็นเจ้าของประเทศอย่างเท่าเทียมกันนั้น ไว้ได้หรือไม่

หรือพ่ายแพ้ยับเยิน จนต้องสยบยอมอย่างสิ้นท่าต่ออำนาจจากศูนย์กลางที่ปฏิเสธสิทธิความเป็นเจ้าของประเทศที่เท่าเทียม


___________________________________
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊กกับมติชนออนไลน์
www.facebook.com/MatichonOnline



.