http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2557-02-14

ปลุกความชังในตัวคน จนละเมิดระบบ โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน

.
บทความ2 - ความรักกับประชาธิปไตยครือกัน โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์
_____________________________________________________________________________________________

ปลุกความชังในตัวคน จนละเมิดระบบ
โดย สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน 
คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่12
ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1392372720
. . วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เวลา 22:09:51 น.

( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2557 หน้า 2 ) 
( ภาพจากเวบบอร์ด -ไม่เกี่ยวข้องกับผู้เขียน,มติชน )


มีผู้รอบรู้ทางการเมืองหลายราย ได้แสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะ ในประเด็นการเมืองไทยว่า  เหตุใดจึงวนไปเวียนมา ไม่พัฒนาก้าวหน้าไปไหนเสียที ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า

เพราะคนไทยบางส่วน ยังยึดติดกับตัวบุคคล
มากกว่าจะยึดถือในระบบ


ขณะที่คนไทยจำนวนมาก ได้ร่วมกันต่อสู้เพื่อให้ประเทศชาติเราพัฒนาไปสู่ระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

เสียเลือดเสียเนื้อมาก็มาก เพื่อให้หลุดพ้นจากการเมืองที่อำนาจอยู่ในมือชนชั้นสูง พ้นจากยุคที่อำนาจอยู่ในมือกลุ่มขุนศึก

จนได้ประชาธิปไตยที่มีระบบการเลือกตั้ง แล้วก้าวหน้าต่อไปอีก จนได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง หรือจาก ส.ส.


แต่พัฒนาการของการเมืองไทย จะสะดุดเป็นระยะๆ หากเกิดกระแสเกลียดชังในตัวตนของผู้นำการเมืองในยุคนั้นๆ แล้วไปเชื่อในผู้นำการประท้วง โดยหลงใหลในความดีบางด้านของผู้นำม็อบ

จะมีผู้คนถาโถมเข้าร่วมสนับสนุนการต่อสู้ โดยไม่มองว่า แล้วสิ่งที่ผู้นำการประท้วงที่เชื่อถือกันอยู่นั้น เขาได้เสนอการแก้ปัญหาโดยยึดระบบหรือไม่



มีการยกตัวอย่างเหตุการณ์จริงที่เคยเกิดขึ้นแล้ว กรณีพฤษภาคม 2535 ประชาชนออกมาขับไล่นายกฯจากทหาร แต่มีอารมณ์เกลียดชังที่ตัวคนในปมประเด็น "เสียสัตย์" มากกว่า

อีกทั้งเข้าร่วมประท้วงเพราะเชื่อมั่นในผู้นำม็อบ ที่เป็นคนถือศีลกินผัก

หลังจากถูกปราบจนล้มตายไปมากมาย สุดท้ายนายกฯทหารยอมลาออก ขณะนั้นสภายังอยู่ จึงดำเนินการตามขั้นตอนด้วยการเลือกผู้นำพรรคการเมืองที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคต่างๆ ให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีสืบแทน

แต่เพราะกระแสการเกลียดชังในตัวบุคคล และเชื่อมั่นในตัวบุคคล

เมื่อมีการพลิกโผ เปลี่ยนตัวนายกฯเป็นคนกลางที่เรียกกันว่าเป็นผู้ดีมีความโปร่งใส ปรากฏว่าสังคมไทยยอมรับในคนคนนี้ มากกว่าจะให้นายกฯมาตามระบบคือมาจาก ส.ส.



จากนั้นคนยึดระบบก็ต้องมาต่อสู้กันอีก จนได้รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่กำหนดชัดว่านายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง

แต่แล้วกระแสสร้างความเกลียดชังในตัวผู้นำการเมืองก็ถูกปลุกขึ้นมาอีก จนนำมาสู่การใช้อำนาจนอกระบบ ก่อรัฐประหารในปี 2549

อันเป็นการรัฐประหารที่สังคมไทยมีข้อสรุปในเวลาต่อมาว่า เป็นจุดสร้างความขัดแย้งแตกแยกครั้งใหญ่

แทนที่จะยึดกันตามระบบ ปล่อยให้มีการเลือกตั้งอีกสักครั้งสองครั้ง ทักษิณย่อมค่อยๆ เสื่อม คะแนนนิยมจากประชาชนจะเริ่มลดลง

กลับใจเร็ว ใจร้อน และไม่ยึดตามระบบ นั่นคือประท้วงเพื่อให้เกิดการรัฐประหาร สุดท้ายจึงเกิดวิกฤตใหม่ที่ร้ายแรงกว่า



เมื่อมองดูวิกฤตการเมืองไทยในปลายปี 2556 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2557 นี้

ถามตัวเองดูว่า เข้าร่วมการต่อสู้เพราะเกลียดชังในตัวนายกฯตามกระแสที่เขาโหมกันจนเชื่อด้วยอคติหรือไม่
เกลียดชังในผู้นำการเมือง แล้วหลงใหลในผู้นำการประท้วง
เข้าทำนองยึดในบุคคลจนไม่สนระบบหรือไม่


ถึงขั้นเกลียดชังในบุคคลและในบางตระกูล จนพร้อมจะให้การเมืองไทยหยุดประชาธิปไตยเอาไว้ก่อน

จะเอานายกฯคนกลาง ที่เป็นคนดี โดยละเมิดระบบการเลือกตั้ง ซึ่งวันนี้คนกว่า 20 ล้านร่วมกันยืนยันในระบบนี้เอาไว้แล้ว


ถ้าคราวนี้ยังไม่ยึดระบบกันอีก มีแต่จะฉุดรั้งบ้านเมืองให้ถอยหลังและก่อวิกฤตใหม่ที่รุนแรงกว่าอย่างแน่นอน



++

ความรักกับประชาธิปไตยครือกัน
โดย เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

ใน www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1392375687
. . วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 เวลา 22:15:38 น.

( ที่มา: นสพ.มติชนรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2557 หน้า 6 ) 


วันที่ 14 กุมภาพันธ์ ใครๆ ก็รู้ว่าเป็น "วันแห่งความรัก" โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว

แต่มีคนไทยจำนวนหนึ่งเคยมีความพยายามปรับเปลี่ยนให้เป็นวันแห่งความรักที่นอกเหนือไปจากความรักของหนุ่มสาว วันแห่งความรักบิดามารดา รักพี่น้อง ที่สุดคือรักครอบครัว

วันนี้สินค้าขายดีมาหลายปีแล้ว คือดอกกุหลาบสีแดง และช็อกโกแลต
ขายดีขนาดว่าดอกกุหลาบดอกโตราคาดอกละหลายร้อยบาท มีการปลูกขายกันในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้ออกดอกในช่วงวันวาเลนไทน์ แล้วจัดส่งไปขายในหลายจังหวัดทั่วประเทศ
ขณะที่จะขายกันในราคาดอกละหลายร้อยถึงพันบาทก็มีคนซื้อ โดยเฉพาะผู้มีสตางค์อาจซื้อเป็นช่อใหญ่ราคานับหมื่นบาทก็มี เพราะเรื่องของความรักวัดกันไม่ได้

ช่างเถอะ เมื่อยอมรับแล้วว่าเป็น "วันแห่งความรัก" ก็ต้องมี "อะไร" มาแทนความรักกันในวันนี้ ทั้งในเรื่องของดอกกุหลาบ เรื่องของช็อกโกแลต และการออกไปกินข้าวราคาแพงตามโรงแรมหรู


เรื่องหนึ่งซึ่งต้องการกล่าวถึงวันนี้ คือเรื่องที่เน้นย้ำกันจังว่า ประชาธิปไตยควรจะมีผู้ออกไปเลือกตั้งจำนวนเท่านั้นเท่านี้ โดยเฉพาะจำนวนเกินกว่าร้อยละ 50 ของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง

ด้วยเหตุผลหนึ่งน่าจะเป็นว่า เพราะเราต้องการให้คนไทยเรียนรู้เรื่องการเมืองด้วยวิธีการเรียนลัด จึงกำหนดให้การเลือกตั้งซึ่งเป็นประการหนึ่งที่แสดงถึงความเป็นประชาธิปไตยกลายเป็นหน้าที่
เพื่อแสดงให้เห็นว่า เมื่อประชาธิปไตยคือสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จึงควรควบคู่ไปกับการมีหน้าที่เช่นเดียวกับหน้าที่อื่น เช่น ประชาชนมีหน้าที่ต้องเสียภาษี ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเสียภาษีแล้วผู้นั้นมีความเป็นประชาธิปไตย หรือผู้ไม่เสียภาษีคือผู้ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย


การเลือกตั้งเป็นวิธีการหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ทั้งเป็นวิธีการที่แสดงให้เห็นว่าการจะเลือกตัวแทนของประชาชนนั้นต้องแสดงออกมาว่าจะเลือกใคร ด้วยการใช้วิธีเลือกโดยตรงและลับ

ไม่ให้ใครมาเลือกแทน หรือเลือกโดยเปิดเผย

แม้ในบางประเทศที่เวลาไม่พร้อมกัน เช่น ในสหรัฐอเมริกา ฟากตะวันออกมีเวลาต่างกับฟากตะวันตกถึง 6 ชั่วโมง ขณะที่ฟากตะวันออกปิดหีบเลือกตั้งและทราบผลคะแนนไปแล้ว ฟากตะวันตกเพิ่งเปิดหีบลงคะแนนเสียง แต่สหรัฐอเมริกามิได้คำนึงว่า เมื่อฟากตะวันตกรับรู้แล้วว่าประชาชนฟากตะวันออกลงคะแนนเสียงให้ใคร ประชาชนฟากตะวันตกก็ลงคะแนนผู้สมัครที่เขาต้องการเลือก

สุดท้ายเมื่อคะแนนออกมาเป็นของผู้สมัครรายใด โดยเฉพาะตัวประธานาธิบดี ผู้นั้นได้คะแนนมากกว่าก็ชนะ เท่านั้นเอง


ส่วนจำนวนผู้ลงคะแนนเสียงในแต่ละครั้ง หรือแต่ละสมัยย่อมขึ้นกับการแข่งขันในสมัยนั้น ว่าผู้สมัครมีการแข่งขันกันสูงหรือไม่ หรือผู้สมัครคนหนึ่งมีความนิยมสูงกว่าอีกคนหนึ่ง

จำนวนผู้ออกเสียงเลือกตั้งในครั้งนั้นอาจมีต่ำกว่าร้อยละ 50 ก็เป็นได้



ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของการออกเสียงเลือกตั้งอย่างเดียว แต่เป็นเพราะจิตสำนึกของผู้นั้นมากกว่า

ดังเช่นในกรุงเทพมหานคร ครั้งหนึ่งหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ใหม่ๆ มีการรัฐประหารเกิดขึ้น คนกรุงเทพฯเบื่อหน่ายการเลือกตั้ง และน่าจะผิดหวังพรรคประชาธิปัตย์ จึงออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเพียงร้อยละ 22 หรือกว่านั้นเล็กน้อย

พรรคที่ได้รับการเลือกตั้งคือพรรคประชากรไทย มีผู้ลงคะแนนเสียงให้เพียงร้อยละ 17 เท่านั้น และพรรคประชาธิปัตย์ได้รับการเลือกตั้งเพียงคนเดียว คือ พันเอกถนัด คอมันตร์ ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค



เช่นเดียวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร เพราะมีเหตุวุ่นวาย ใครจะมีอารมณ์ออกมาเลือกตั้ง จำนวนผู้ออกมาเลือกตั้งจึงมีร้อยละนิดเดียว
ทำไมไม่ไปดูที่จังหวัดซึ่งมีผู้ไปออกเสียงร้อยละเกินกว่าครึ่งบ้างเล่าครับ ว่าเป็นเพราะอะไร



.