.
ทางเท้าที่ดานัง
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนออนไลน์ วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.
แบ่งปันข่าวนี้บน facebook Share
งานเลิกตอนเย็นในดานังคงไม่ต่างจากช่วงเวลาอย่างนี้ในเมืองใหญ่อื่นๆ ทั่วโลก นั่นคือมีคนเดินขวักไขว่กันเต็มทางเท้าไปหมด ในขณะที่มีรถขวักไขว่ ส่งเสียงแตรกันแทบจะทุกอึดใจบนถนน
นอกจากมีคนเดินขวักไขว่บนทางเท้าแล้ว ร้านรวงก็เริ่มรุกคืบพื้นที่ทางเท้า เช่นแม่ค้าขายผลไม้เริ่มวางเข่งขยับรุกทางเท้าเข้ามา ร้านขายเฝอวางโต๊ะเก้าอี้เล็กๆ กระจายออกมาจากตัวร้าน ถึงร้านกาแฟหรูๆ ริมถนนไม่ได้รุกทางเท้าเลย แต่เมื่อตั้งโต๊ะไว้นอกชานจนชิดทางเท้า การสัญจรของพนักงานในช่วงเย็นก็ต้องใช้ทางเท้าอยู่ดี คนที่เดินขวักไขว่บางกลุ่มหยุดซื้อและต่อราคาสินค้าขวางทางจราจรของคนที่ เดินขวักไขว่ หนุ่มสาวเดินหยอกล้อชี้ชวนดูโน่นดูนี่อย่างไม่รีบเร่ง เด็กวิ่งไล่กันและหลบหลีกไปมาระหว่างช่องของคนเดินถนนอย่างสนุกสนาน
แม้กระนั้น ชีวิตและกิจกรรมอันหลากหลายก็สามารถดำเนินไปได้บนทางเท้าที่ดานัง เพราะดานังมีทางเท้าขนาดใหญ่มาก เมื่อเทียบกับกรุงเทพฯ
ชีวิตของคนเมืองส่วนใหญ่อยู่บนทางเท้า พบและรักกันบนทางเท้า ได้ใกล้ชิดกันโดย "ลำพัง" ก็บนทางเท้า คนอีกมากที่ไม่สามารถเข้าไปสู่แหล่งซื้อขายที่เรียกว่า "ตลาด" (market place) ก็ใช้ทางเท้าสำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของตนเพื่อเลี้ยงชีวิต ทางเท้าจึงเป็นทรัพยากรสาธารณะที่เอื้อต่อคนจนๆได้มาก และหากไม่นับการล้วงกระเป๋าแล้ว ส่วนใหญ่ของกิจกรรมเหล่านั้นก็มักจะอำนวยความสะดวก หรือแม้แต่ทำให้ชีวิตในเมืองเป็นไปได้แก่คนอื่นที่มีฐานะทางเศรษฐกิจเหนือขึ้นไป เด็กเล็กได้วิ่งไล่จับกันก็บนทางเท้า
ทางเท้าจึงเป็นที่โล่งซึ่งมีอยู่น้อยในเมืองสำหรับกิจกรรมในชีวิตหลากหลายประเภทแก่ทุกคนและบนทางเท้านี่แหละที่เราได้พบคนต่างเพศ, ต่างฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม, ต่างปูมหลัง, ต่างความคิด ฯลฯ มากมายจนนับไม่ถ้วน มีเหมือนกันอยู่อย่างเดียวคือความเป็นชาวเมืองดานังร่วมกัน
ทางเท้าจึงเป็นพื้นที่เดียวที่ทำให้ชาวเมืองสำนึกถึงคนอื่น ซึ่งใช้ทรัพยากรร่วมกันในชุมชนที่ค่อนข้างแออัดอันเรียกว่าเมือง ซ้ำเป็นการใช้ทรัพยากรชนิดเดียวกันในลักษณะที่แตกต่างกันด้วย จะอยู่เป็นสุขกันต่อไปได้ก็ต้องเรียนรู้การประนีประนอมในวิถีทางการใช้ทรัพยากรที่ต่างกัน ด้วยเหตุดังนั้น ในเมืองที่ไม่ให้ความสำคัญแก่ทางเท้า ชาวเมืองนั้นจึงแปลกหน้ากัน ช่วงชิงทรัพยากรสาธารณะของเมือง เช่นทางเท้าเพื่อประโยชน์ตนถ่ายเดียว เพราะไม่เคยมีสำนึกว่ามี "คนอื่น" ในชีวิต
ในเมืองเช่นนั้น ทางเท้ากลับกลายเป็นพื้นที่สำหรับการสังหารหมู่อย่างบ้าคลั่ง แต่ชาวเมืองกลับพากันฟูมฟายกับการสูญเสียอาคารมากกว่าชีวิตของผู้คน
แต่มิติทางกายภาพเป็นเพียงผลบั้นปลายที่ทำให้ทางเท้ามีขนาดใหญ่ ทางเท้าจะใหญ่ได้ก็เพราะมีปัจจัยอื่นๆ นอกเหนือจากมิติทางกายภาพเกื้อหนุนให้เกิดขึ้นด้วย
ส่วนใหญ่ของรถบนถนนที่ดานังคือจักรยานยนต์ อันเป็นพาหนะที่เหมาะแก่กำลังทางเศรษฐกิจของผู้คน ทั้งมิได้หมายความถึงเงินในกระเป๋าเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงการประกอบการขนาดเล็กที่จักรยานยนต์สามารถใช้ประโยชน์ได้ดีในการขนส่ง ฉะนั้น จักรยานยนต์ที่ขนสินค้าจนเพียบแปล้จำนวนมากในดานัง จึงสะท้อนให้เห็นว่า เมื่อเปิดประเทศแล้ว โอกาสทางเศรษฐกิจได้กระจายถึงคนเล็กคนน้อยกว้างขวางเพียงไร
นอกจากนี้ รัฐยังเก็บภาษีรถยนต์ในราคาแพง ขณะที่แทบไม่เก็บภาษีจากจักรยานยนต์ขนาดเล็กเลย ส่วนใหญ่ของพาหนะบนถนนที่ดานังจึงเป็นจักรยานยนต์ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีรถยนต์เสียเลย ก็นับว่าหนาแน่นไม่น้อยทีเดียวเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม กฎจราจรที่ดานังเอื้อต่อพาหนะของคนเล็กๆอยู่มาก นับตั้งแต่การกำหนดความเร็วไว้ไม่ให้สูงเกินไป (ถึงอย่างไรก็วิ่งเร็วได้ยากอยู่แล้ว เพราะถนนส่วนหนึ่งค่อนข้างแคบ และจำนวนของจักรยานและจักรยานยนต์ที่มาก) อัตราความเร็วที่ไม่สูงทำให้ทุกฝ่ายหลบหลีกกันได้อย่างปลอดภัย คนขับรถที่ดานังบอกว่า ขับรถที่นั่น ไม่ต้องระวังด้านข้างหรือหลัง ให้ดูข้างหน้าอย่างเดียว อย่าได้ไปชนใครเข้าเป็นอันขาด ส่วนด้านข้างและหลังนั้น คนอื่นที่ต้องระวังด้านหน้าเหมือนกันจะเป็นผู้ระวังเอง
แล้วรถหนาแน่นคลาคล่ำที่ดานังก็เคลื่อนไปได้อย่างรวดเร็วกว่าในกรุงเทพฯเป็นอันมาก โดยแทบจะมองไม่เห็นตำรวจจราจรสักกี่คน แม้ว่าจะใช้เสียงแตรกันจนดังสนั่นไปหมดก็ตาม (หากล้วนเป็นเสียงแตรที่เตือนคนข้างหน้า ไม่ใช่เสียงลำเลิกบรรพบุรุษกัน)
ไม่มีเมืองใหญ่ไหนในโลกที่ไม่มีปัญหาจราจร แต่แนวทางแก้ปัญหาจราจรของเมืองต่างๆ วางอยู่บนพื้นฐานอะไรต่างหาก ที่ทำให้การจราจรเป็นปัญหาแก่ผู้คนมากขึ้นหรือน้อยลง
แนวทางของดานังตั้งอยู่บนพื้นฐานว่า คนเล็กๆ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของเมืองต้องมาก่อน จักรยานและจักรยานยนต์มาก่อน มีอิสระเสรีที่จะวิ่งบนท้องถนนได้ทุกเลน โดยไม่ถูกกันให้ไปแอบชิดอยู่ที่เลนใดเลนหนึ่ง เป็นหน้าที่ของรถยนต์ที่จะต้องคอยระวังเอาเอง
และไม่มีวันที่จะขยายถนนโดยตัดทางเท้าให้เล็ก เพราะทางเท้าคือชีวิตของชาวเมือง ทั้งกิจกรรมทางสังคม และเศรษฐกิจล้วนเกิดอยู่บนทางเท้า ทั้งยังเป็นช่องทางสำหรับการเดินทางที่สำคัญอีกด้วย จึงต้องสงวนทางเท้าไว้สำหรับผู้คน ไม่ใช่ที่จอดรถยนต์หรือจักรยานยนต์ ทางเท้าของดานังปราศจากมาเฟียในเครื่องแบบ (ซึ่งบางครั้งเป็นเครื่องมือของนายทุน) ยึดเอาทางเท้าไปขายต่อ
ฐานคิดที่ว่า คนเล็กๆ ต้องมีศักดิ์ศรีเท่ากับคนใหญ่ๆ มองเห็นได้จากกฎที่ว่า พ่อแม่ไม่สามารถขี่รถเก๋งไปส่งลูกหน้าโรงเรียนได้ แต่กฎหมายบังคับว่าจะต้องส่งลูกลงเดินให้ห่างจากโรงเรียน 1 กม.เสมอ เพื่อนและครูไม่ได้เห็นเบนซ์ของพ่อตำตาจนระย่อทุกวัน
นอกจากนี้ ตลอดเวลาประมาณ 2 วันที่ผู้เขียนอยู่ในดานัง ไม่เคยเห็นขบวนของผู้ใหญ่คนใด ที่มีรถตำรวจคอยอารักขาหนาแน่นบนท้องถนนสักขบวนเดียว จะมีก็แต่ขบวนแห่ของผู้ที่นับถือคาทอลิกในวันสุกดิบก่อนคริสต์มาส
ทั้งนี้มิได้หมายความว่าดานังไม่มีปัญหาจราจร เช่นดานังซึ่งกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะการไหลเข้าของทุนต่างชาติ มีการขนส่งสาธารณะน้อยมากอย่างเหลือเชื่อ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับกรุงเทพฯ ดานังคงมีพัฒนาการที่แตกต่างออกไปอย่างแน่นอน ในขณะที่กรุงเทพฯพยายามขยายถนนให้ใหญ่ เพื่อทำให้คนใหญ่ๆ สามารถเดินทางได้สะดวกมากขึ้นด้วยรถยนต์ แต่คนเล็กๆ ที่ต้องเดินถนนบนทางเท้า แทบจะเคลื่อนตัวเองในชั่วโมงเร่งด่วนแทบไม่ได้เพราะความแออัด เนื่องจากทางเท้าถูกทำให้แคบลงตลอดมา กิจกรรมบนทางเท้าถูกจำกัดและควบคุมเพื่อให้คนใหญ่ๆ เดินได้สะดวก
ทางเท้าของกรุงเทพฯ มีไว้สำหรับเท้า ไม่ได้มีไว้สำหรับชีวิต เราจึงห่างเหินกันและแปลกหน้ากันตลอดมา เราริบทางเท้าอันเป็นทรัพยากรสาธารณะจากคนเล็กๆ เพื่อให้คนใหญ่ๆ ได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรนั้นฝ่ายเดียว ทางเท้าที่เล็กและแคบทำให้เราถูกสอนให้รังเกียจหาบเร่แผงลอย โดยอ้างเมืองของโลกตะวันตกเป็นแบบอย่าง แต่เราไม่เคยมองเห็นว่าบนทางเท้าของเมืองในโลกตะวันตก มีกิจกรรมของคนเล็กๆ อีกมากมาย ทั้งเพื่อหาสตางค์และไม่ได้หาสตางค์ นับตั้งแต่วาดรูปบนทางเท้าด้วยชอล์กสี ดนตรีขอเงินหรือเล่นให้ฟังฟรี คนไร้บ้าน "ขอยืม" สตางค์เหรียญสักอัน ป้ายโฆษณาของทุน เด็กขายบุหรี่และหมากฝรั่ง หญิงชายยืนจูบกันนานจนน่าเบื่อ ฯลฯ
เพราะคนเล็กคนน้อยไม่ได้รับความเคารพในสิทธิและศักดิ์ศรี ทางเท้าของกรุงเทพฯ จึงมีได้แค่ "ประชาวิวัฒน์" (หรือประชาวิวัตน์ก็ไม่ทราบ) ในเทศกาลหาเสียงเท่านั้น
++
เวียดนามขยัน
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1589 หน้า 28
คนไทยที่ร่วมขบวนไปเวียดนามกับผมต่างรำพึงร่วมกันว่าคนเวียดนามเป็นคนขยัน
ผมไม่ทราบว่าเขาวัดจากอะไร เพราะจากประสบการณ์ร่วมกันของเรา ก็ไม่เห็นว่าจะต่างจากคนไทยในเมืองใหญ่ๆ ตรงไหน เช่น พนักงานในร้านอาหารชั้นดี ขยับตัวทันทีที่เราทำท่าให้เห็นว่าเราต้องการบริการของเขา หรือกัปตันที่เดินถามความต้องการตามโต๊ะ และอื่นๆ
ก็เราเข้ามาในเวียดนามเพื่อเที่ยวเตร่เพียงไม่กี่วัน จะวัดความขยันของคนเวียดนามจากอะไรเล่าครับ
อย่างไรก็ตาม คติว่าเวียดนามขยันนั้น เป็นท้องเรื่องที่คนหลายชาติหลายภาษาพูดกันผ่านสื่อ บ้างก็ว่าขยันที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
บ้างก็ว่าเป็นคนกลุ่มเดียวที่คนจีนกลัวในเรื่องความขยัน (แต่ที่จริงเมื่อจีนเปิดประเทศให้เห็นกันถนัดขึ้น คนจีนในเมืองจีนไม่ยักกะได้ชื่อว่าขยัน อย่างที่คนไทยมองคนจีนในเมืองไทย)
ฉะนั้น เรื่องความขยันของคนเวียดนามจึงเป็น "ตำนาน" ของยุคสมัย โดยไม่รู้ว่าวัดจากอะไร
ผมพยายามเข้าไปตรวจสอบดู "ผลิตภาพด้านแรงงาน" ของเวียดนามเปรียบเทียบกับประเทศไทย แต่เพราะไม่มีใครทำไว้หรือเพราะผมค้นไม่เป็นก็ไม่ทราบ จึงไม่ได้ผล ได้แต่ตัวเลขอะไรบางอย่างที่เฉียดๆ เช่น ในช่วงประมาณ 1980-1995 แรงงานไทยติดหนึ่งในกลุ่ม 2-3 ประเทศของเอเชียที่ผลิตภาพแรงงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ในตารางสถิตินี้ไม่มีตัวเลขจากเวียดนาม จึงเปรียบเทียบอะไรกันไม่ได้
แต่สถิติที่ตั้งอยู่บนวิธีสำรวจอีกอย่างหนึ่งพบว่า ระหว่าง 1996-2010 ผลิตภาพด้านแรงงานของเวียดนามก็เพิ่มสูงขึ้นเหมือนกัน แต่ก็ไม่ถึงกับสูงเด่นเท่ากับอีกหลายประเทศที่นำมาเปรียบเทียบ น่าเสียดายที่สถิติอันหลังนี้ไม่มีประเทศไทย
ผมทราบครับว่า ผลิตภาพของแรงงานไม่ได้มาจากความขยันอย่างเดียว ความรู้, การจัดการ,ฯลฯ ก็มีส่วนทำให้ผลิตภาพเพิ่มขึ้นได้ แต่ขยันเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ด้วย
สรุปก็คือ โดยสถิติเท่าที่ผมค้นได้ ไม่ได้พิสูจน์ว่าคนเวียดนามขยันไปกว่าคนไทยตรงไหน
ยิ่งไปกว่าไม่รู้ว่าวัดจากอะไรแล้ว ยังไม่รู้ว่าใช้ไม้บรรทัดชนิดไหนวัดเสียด้วย ผมเองก็รู้สึกตัวว่าเป็นคนขยันกินขยันนอนตลอดมา พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือความขยันนั้นไม่ได้ลอยอยู่เหนือวิถีการผลิต ภายใต้วิถีการผลิตอย่างหนึ่ง ความขยันก็มีลักษณะหนึ่ง ภายใต้วิถีการผลิตอีกอย่างหนึ่ง ความขยันแบบนั้นก็อาจกลายเป็นความขี้เกียจไปได้
พูดกันอย่างหยาบๆ ทั้งเวียดนามและไทยได้เปลี่ยนวิถีการผลิตจากเกษตรกรรมยังชีพ (มากบ้างน้อยบ้าง) ไปสู่วิถีการผลิตเชิงอุตสาหกรรม คนในสองวิถีการผลิตนี้ใครขยันกว่ากันผมไม่ทราบ แต่เถียงกันได้ไม่มีวันจบ
ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าในปัจจุบัน เรานิยามความขยันกันด้วยพฤติกรรมที่สอดคล้องกับวิถีการผลิตเชิงอุตสาหกรรม มีข้อตกลงว่าจะต้องทำงานพร้อมกัน ระหว่างเวลางานก็อย่าเฉื่อย เพราะงานของเราไปกระทบกับงานของคนอื่นในสายพานการผลิต แปรเปลี่ยนความภักดีของบุคคลจากครอบครัวไปสู่หน่วยผลิต (ตั้งแต่นารวมไปถึงบริษัท, ชาติ และทุน) ใครทำได้ตามนี้ก็ถือว่าขยัน
ในวิถีการผลิตเกษตรกรรมยังชีพ คนก็ต้องทำงานหนักในบางฤดูอย่างแทบไม่น่าเชื่อเหมือนกัน เช่น ในหน้านานั้น ชาวนาไม่มีวันหยุดเลย ต้องทำงานทั้งเจ็ดวันโดยไม่ได้หยุด แต่เป็นงานที่ทุกครอบครัวกำหนดจังหวะเอาเอง พ้นหน้านาไปแล้วยังมีงานซ่อมสร้างเครื่องมือการเกษตร หาอาหารจากธรรมชาติมาเลี้ยงครอบครัวเสริมจากข้าว นั่งลุ้นว่าฝนปีหน้าจะมาตามฤดูกาล (เหมือนซีอีโอนั่งลุ้นราคาหุ้นของบริษัทซึ่งก็ถือเป็น "งาน" อย่างหนึ่งเหมือนกัน) แถมยังมีงานเชิงสังคมอีกหลายอย่างที่ต้องร่วมจัดร่วมเล่น เพื่อผดุงความสัมพันธ์เชิงสังคมเอาไว้ให้เอื้อต่อการผลิต ฯลฯ
ขยันตัวเป็นเกลียวในวิถีการผลิตแบบนั้น แต่ขี้เกียจตัวเป็นขนในวิถีการผลิตเชิงอุตสาหกรรม
ขยันขี้เกียจของเวียดนามและไทยจึงอยู่ที่ว่า เราจะแปรความขยันในวิถีการผลิตเกษตรกรรมยังชีพ มาสู่ความขยันในวิถีการผลิตเชิงอุตสาหกรรมอย่างไร ไม่ใช่เรื่องคนเวียดนามขยันโดยธรรมชาติ และคนไทยขี้เกียจโดยธรรมชาติ
และในข้อนี้ ผมยอมรับว่าเวียดนามมีภาษีกว่าไทยนิดหน่อย แต่เป็นเพราะเหตุผลทางประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เพราะเขาเป็นเวียดนามเขาจึงต้องขยัน
ภูมิประเทศของเวียดนามมีที่ราบน้อย (จนเมื่อเวียดนามยึดเอาตอนใต้ซึ่งเป็นปากแม่น้ำโขงจากจามและเขมรไปแล้ว) ในขณะที่มีประชากรหนาแน่นโดยเฉพาะในลุ่มน้ำแดงและเวียดนามกลาง
ดังนั้นเวียดนามจึงเป็นหนึ่งในน้อยประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ทำเกษตรกรรม อย่างประณีตมาแต่โบราณ ยิ่งไปกว่านี้ ข้าวยังมีตลาดภายในที่กว้างขวางกว่าไทย เพราะบางส่วนต้องซื้อข้าวเขากินเพราะผลิตได้ไม่พอ
จนถึงทุกวันนี้ เวียดนามมีระบบชลประทานราษฎร์ที่สลับซับซ้อน เพื่อทำให้พื้นที่ลาดเขาสามารถทำนาได้ และใช้พื้นที่ชายฝั่งเพื่อทำนาได้หลายครั้งต่อปี โชคดีที่เวียดนามไม่ได้มีกรมชลประทานแบบไทย จึงพยายามสร้างระบบชลประทานที่ต่อยอดของชาวบ้าน ไม่ได้ไปรื้อทำลายเพื่อสร้างระบบใหม่ครอบลงไปอย่างที่ทำในประเทศไทย
ผมไปชมอุโมงค์ใต้ดินใกล้เมืองเว้ ที่ชาวเวียดนามขุดไว้ยาวเป็นกิโล เพื่อทำสงครามกับอเมริกันแล้ว ผมนึกในใจว่าความสามารถในการขุดนี้นอกจากมาจากความอดทนและการจัดการที่ดี แล้ว น่าจะเป็นการถ่ายทอดการขุดเหมืองขุดฝายที่ชาวนาเวียดนามได้ทำมาอย่างสลับซับซ้อนแต่โบราณ
ด้วยสัดส่วนที่มาก (กว่าไทย) ในการผลิตป้อนตลาดก็มีความสำคัญ เพราะทำให้การผลิตเข้มข้นขึ้น มีการแบ่งงานกันทำและมีความชำนาญเฉพาะด้านเกิดขึ้นในชุมชนต่างๆ สังคมมีลักษณะใกล้ไปทางสังคมอุตสาหกรรม แม้ว่าการผลิตเชิงอุตสาหกรรมแท้ๆ ยังมาไม่ถึง
ยิ่งกว่านี้ในระหว่างสงครามกู้ชาติและรวมชาติซึ่งใช้เวลาถึง 30 ปี การผลิตด้านเกษตรกรรมโดยเฉพาะในเวียดนามเหนือยิ่งเข้มข้น เพราะต้องเสียแรงงานไปในการทำสงครามเสียเป็นอันมาก ส่วนที่เหลือจะต้องผลิตเลี้ยงกองทัพซึ่งมีขนาดใหญ่
ผมอ่านหนังสือประวัติสงครามของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามแล้ว พบว่ามีการผลิตอาหารของชาวบ้านเพื่อป้อนกองทัพมากมายทีเดียว แม้แต่ชาวเขาก็ยังสู้ผลิตข้าวเพื่อส่งไปเป็นเสบียง ในขณะที่ตนเองยอมกินเผือกกินมันแทน
พื้นฐานที่มีมาในประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ อาจทำให้คนเวียดนามสามารถแปรความขยันในสังคมก่อนอุตสาหกรรม มาเป็นความขยันในวิถีการผลิตเชิงอุตสาหกรรมได้ในเวลาอันรวดเร็ว ในขณะที่ไทยอาจต้องใช้เวลานานกว่า เช่น เวียดนามอาจใช้เวลาเพียง 10 ปี แต่ไทยต้องใช้ถึง 20 ปี เป็นต้น
แต่ไทยได้เริ่มพัฒนาเข้าสู่การผลิตเชิงอุตสาหกรรมมาก่อนเวียดนามนาน (20-30 ปี) ผมเข้าใจว่าคนไทยในปัจจุบันก็ "ขยัน" (ในเชิงอุตสาหกรรม) ไม่น้อยหน้าใครนัก
โดยเฉพาะหากเราดูในภาคหัตถอุตสาหกรรม แรงงานไทยตามโรงงานทำงานโดยเฉลี่ยประมาณ 12 ชั่วโมงต่อวัน (เพื่อให้ครอบครัวอยู่รอดด้วยค่าแรงที่ไม่พอยังชีพ) แรงงานนอกระบบนับตั้งแต่คนใช้ตามบ้านเรือนไปจนถึงคนที่รับงานจากโรงงานมาทำที่บ้าน ก็ทำงานต่อวันไม่น้อยไปกว่าแรงงานในระบบ
เกษตรกรบางแห่งทำนาปีละ 3 ครั้ง หรือ 5 ครั้งใน 2 ปี ก็ต้องทำงานอย่างหัวไม่วางหางไม่เว้นเหมือนกัน เด็กไทยโง่ลงทุกวันเพราะเอาแต่เรียนหนังสือทั้งในเวลาปรกติและเรียนพิเศษ เพื่อแย่งที่นั่งกันในมหาวิทยาลัย แท็กซี่ขับรถแต่ละวันด้วยเวลานานเกินกว่าระดับ "ปลอดภัย" เพื่อให้พอจ่ายค่าเช่าและเลี้ยงลูกเมีย แม้แต่นักดนตรียังต้องวิ่งรอกเล่นดนตรีตามแหล่งบันเทิงหลายแห่งจนดึกดื่น ค่อนคืน
ข้าราชการเท่านั้นที่ขี้เกียจ แต่ก็เป็นเพราะเขาต้องทำงานในระบบบริหารที่ล้าสมัย เช่น ระเบียบราชการแคร์แต่จะให้ข้าราชการมานั่งโต๊ะตามเวลา มากกว่าวัดกันที่ผลงาน ภายใต้สภาวะการทำงานที่ไม่ท้าทายเช่นนี้ ข้าราชการจึงพากันนั่งเลี้ยงขนตามตัว แทนการทำงาน
(ผมเคยคุยกับคนเวียดนาม ดูเหมือนเขาก็มีเรื่องบ่นเกี่ยวกับข้าราชการของเขาไม่แพ้กัน)
ผมจึงคิดว่าคนไทยปัจจุบันนั้นขยันชิบเป๋ง ปัญหามาอยู่ที่ว่าเราไม่สนใจจะเบนความขยันของคนไทยไปสู่หนทางสร้างสรรค์ได้ต่างหาก
อันที่จริงก่อนที่ฝรั่ง, ญี่ปุ่น, เกาหลีจะแสดงความชื่นชมความขยันของเวียดนามนั้น คนไทยก็เคย "บ่น" เรื่องความขยันของเวียดนามมาก่อน โดยเฉพาะในหมู่ชาวอิสาน ซึ่งเป็นท้องถิ่นที่ชาวเวียดนามอพยพหลั่งไหลเข้ามาจำนวนมาก
คนอีสานบอกว่า พวก "แกว" ขยันทำมาหากินอย่างที่ไม่มีทางสู้ได้ ทำงานหนักอย่างเหลือเชื่อไม่กี่ปีก็ตั้งตัวได้ กลับมีเงินทองให้เขากู้ หรือให้เครดิตลูกค้าซึ่งยิ่งทำให้รวยมากขึ้น
ไม่ต่างอะไรจากที่คนภาคกลางเคย "บ่น" ความขยันของ "เจ๊ก" มาก่อน
อย่างไรก็ตาม เรื่องของผู้อพยพทั้งจีนและเวียดนามนี้ ผมคิดว่าสิ่งที่เราลืมไม่ได้ก็คือ ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้เข้ามาเมืองไทยเพื่อเข้าสู่เกษตรกรรมยังชีพ แต่เข้ามาสู่ "ตลาด" โดยตรง จะขายแรงงานหรือผลิตเพื่อตลาดหรือเป็นคนกลางเพื่อการแลกเปลี่ยนในตลาดก็ตาม เงื่อนไขทั้งทางกฎหมายและการอพยพบังคับให้เขาต้อง "ขยัน" คุณสมบัติที่จะเอาตัวรอดได้ภายใต้สถานการณ์นั้น ก็คือต้องรู้จักอดออมเพื่อสั่งสมทุน และ "ขยัน" ตามวิถีทางการผลิตเชิงอุตสาหกรรม
จึงไม่แปลกที่ทั้งคนภาคกลางและภาคอิสาน ซึ่งล้วนอยู่ในสังคมเกษตรยังชีพที่กำลังแปรเปลี่ยนไปสู่สังคมอุตสาหกรรม ย่อมมองเห็นว่า "แกว" และ "เจ๊ก" ขยันกว่าตัว
ตลอดบทความนี้ ท่านผู้อ่านคงได้เห็นแล้วว่า "ขยัน" นั้นมีความหมายคลุมเครือ ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้ไม้บรรทัดประเภทใดวัด ในโลกปัจจุบันไม้บรรทัดที่ผมเรียกว่าวิถีการผลิตเชิงอุตสาหกรรมกำลังเปลี่ยน งานผลิตประเภทสายพานกำลังหมดไป หรืออาจใช้หุ่นยนตร์แทน ชิ้นส่วนอาจถูกแยกผลิต การเอาชิ้นส่วนต่างๆ มารวมกันเป็นผลิตภัณฑ์เกิดขึ้นด้วยกระบวนการอีกอย่างหนี่ง ที่ไม่ต้องเรียงแถวผลิต
ฉะนั้น ความ "ขยัน" จึงยิ่งคลุมเครือลงไปอีก ไม่รู้จะวัดกันอย่างไรนอกจากผลของงาน แต่ผลของงานก็วัดยากมากจึงมักจะวัดเอาง่ายๆ ด้วยผลของผลงานอีกที ว่าแล้วทำเงินได้มากน้อยเพียงไร
เงินกำลังเข้ามาแทนที่ความขยัน และอย่างที่รู้กันอยู่แล้วว่าเงินอาจไม่ได้มาจากความขยันก็ได้ เศรษฐีสมัยใหม่ไม่ได้รับการยกย่องว่าขยัน แต่ยกย่องว่ามีสมองปราดเปรื่องที่จะมองเห็นช่องทำเงินซึ่งคนอื่นไม่เห็น แล้วก็เข้าไปทำเงินตรงนั้นได้มหาศาล โดยแทบไม่ได้กระดิกตัวทำอะไรเลย ซึ่งแต่ก่อนเรียกว่าขี้เกียจ
เมื่อเอาเงินเป็นเป้าหมายของงาน ความขยันก็ยิ่งไร้ความหมายลง เพราะเมื่อมีเงินแล้วก็ดูเหมือนจะขี้เกียจได้เต็มที่ ฉะนั้นความขยันจึงเป็นแค่เครื่องมือของความขี้เกียจเท่านั้น
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย