ผู้เลือกเอง
โดย ทราย เจริญปุระ คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1584 หน้า 79
มาปลายปีแบบนี้ฉันจะโดนสัมภาษณ์ สอบถาม ขอความเห็นในประเด็นของเรื่องราวที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมามากเป็นพิเศษ ทั้งแบบคุยจริงจังและคุยกันเองในวงเหล้า
บ่อยครั้งที่ฉันตอบอะไรไปแล้วก็จะโดนห้ามปรามหรือด่าทอ เบาะๆ ก็โดนมองอย่างแปลกๆ แล้ววงสนทนาก็จะพยายามหาทางเปลี่ยนเรื่องไปอย่างนุ่มนวล
แล้วหลังจากการพูดคุยนั้นๆ ฉันก็จะได้รับการจัดกลุ่มไปอยู่ในหมวด "คนแปลกๆ" ในใจของใครต่อใครเป็นจำนวนมากขึ้นทุกที
มันอะไรกันนักหนา? ฉันเองก็สงสัยว่าเวลาถามคำถามกันมานี่อยากให้ฉันตอบอย่างที่คิดจริงๆ หรือตอบอย่างที่คนตั้งคำถามอยากได้ยินกันแน่?
ถ้าเป็นอย่างหลังก็ช่วยแจ้งฉันมาเลยตั้งแต่เริ่ม เพราะฉันสามารถแต่งคำตอบให้มันไพเราะเพราะพริ้งซาบซึ้งฟูมฟายได้สบาย
แต่มันไม่ใช่ความจริงที่ฉันเข้าใจก็เท่านั้นเอง
โดนกระทำแบบนี้เข้าบ่อยๆ ฉันก็เริ่มคิดถึงแม็กเมอร์ฟี่
คนที่บอกกับใครที่ตราหน้าตัดสินหรือระแวงสงสัยในตัวเขาว่า "บ้าก็บ้าวะ!"
"บ้าก็บ้าวะ" เป็นภาพยนตร์ที่ถูกสร้างขึ้นจากนวนิยายเรื่อง One Flew over the cuckoo"s nest ของ เคน เคซีย์
หนังสือเล่มนี้มีทั้งเรื่องของ คนไม่บ้าแต่ถูกทำให้บ้า มีคนไม่บ้าแต่แกล้งบ้า
รวมไปถึงคนที่ใครๆ ยอมรับว่าดีแต่ที่แท้บ้า แถมทำให้ใครต่อใครบ้าตามไปกันยกใหญ่อีกต่างหาก
แม็กเมอร์ฟี่คือตัวเอกของนวนิยายเรื่องนี้, เขาเป็นผู้ต้องขังที่ถูกส่งตัวไปอยู่ในโรงพยาบาลโรคจิตเพื่อตรวจสภาพจิตใจ ว่า เขานั้นบ้าจริงหรือแกล้งบ้าเพื่อหาทางเอาตัวรอดจากสิ่งที่เขาทำ
น่าแปลก, ที่แม้จะเขียนขึ้นมาหลายสิบปีแล้ว ความแปลก แตกต่าง การถูกจัดอันดับ การโดนตัดสินการมีสถานะในสังคม การถูกพันธนาการด้วยภาพประวัติศาสตร์ และการเดินตามระบบความเชื่อเก่าโดยไม่เคยสงสัยนั้นก็ยังคงเป็นเรื่องที่เกิด ขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลง แถมดูจะหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ เสียด้วยซ้ำ เพราะนอกจากจะไม่สงสัยแล้ว ยังมีการบังคับให้ทุกคนเชื่อตามกันโดยไม่แจงเหตุผลอีกต่างหาก
สถาบันโรงพยาบาลบ้าที่มีหัวหน้าพยาบาล (ซึ่งฉันถือว่าคลั่งอำนาจจนเข้าขั้นบ้ากว่าคนไข้เสียด้วยซ้ำ) เป็นผู้ดูแลควบคุมในเรื่องนั้น จะว่าไปแล้วก็คล้ายกับสังคมในประเทศที่ฉันอยู่ขณะนี้
เมืองที่ผู้คนจับจ้องกัน ถือไม้บรรทัดแห่งศีลธรรมและความอ่อนไหวส่วนตัวเอาไว้ในมือ พร้อมจะควักมันขึ้นมาวัดใครต่อใคร และพร้อมจะใช้ไม้บรรทัดนั้นหวดฟาดใครต่อใครอย่างไม่ไว้หน้าหากคนคนนั้นไม่ ตรงตามมารตรฐานอันดีงามที่เจ้าของไม้บรรทัดตั้งเอาไว้
ทั้งที่บางที, คนถือไม้นั้นก็ไม่รู้หรอกว่า, ระดับความดีงามที่เขายึดถือชื่นชมนั้นมันมาจากไหน แล้วเค้าเห็นด้วยกับมันหรือไม่ แต่พอมีคำว่า "รักกัน" หรือ "ความดี" เข้ามาครอบคลุมสิ่งเหล่านั้น ผู้คนก็พร้อมจะบรรจุมันลงไปในตัวเองอย่างไม่ลังเล
เรียกว่า แค่คิดต่างก็ถูกมองแปลกๆ แล้ว
แน่นอนว่าคงมีคนประเภทที่จงใจจะต่างเพื่อสร้างตัวตน เพื่อสร้างพื้นที่ในสังคม
กับอีกประเภทคือคนปกติแต่ถูกมองว่าแปลก
ฉันเชื่อว่าฉันปกติ, เพราะทุกการกระทำของฉันนั้นมีเหตุผลที่ฉันสามารถอธิบายได้ว่าทำไมฉันจึงทำเช่นนั้น แม้หลายคนอาจรู้สึกว่าเหตุผลของฉันช่างเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นเอาเสียเลย
แล้วเลยมาตราหน้าฉันไปว่าเป็นพวกขวางโลก หรือหนักเข้าก็เป็นคนใช้ไม่ได้ไปนั่น
เออ, ใช้ไม่ได้ก็ไม่ได้สิน่า! เอาเป็นว่าฉันสบายใจกับความเป็นตัวเอง และตอบได้ทุกคำถาม ไม่อึกอักอ้ำอึ้งหรืออ้างบุญธรรมกรรมแต่ง จนลากเข้าแนวศาสนา Fever อย่างที่ใครหลายๆ คนกำลังเป็นกันอยู่หรอก
เป็นบ้าจริงหรือ ป่วยทางจิตจริงหรือเปล่า นั้นไม่มีใครใส่ใจกันอีกแล้ว เราสนใจแค่ว่าจำนวนคนที่บ้าเข้ากับเรา หรือตามขนบนั้นมากพอหรือเปล่า ถ้ามีมากพอ, ก็เท่ากับเขาและเรานั้นปกติดี และมีหน้าที่ต้องนำพาสังคมไปในทางที่ถูกที่ควร กลายเป็นดีไปเสียอีก
"What do you think you are, for Chrissake!! crazy or somethin"? Well you"re not! You"re not! You"re no crazier than the average asshole out walkin" around on the streets and that"s it!"
ท้ายที่สุดแล้วเราก็ยังติดอยู่กับอะไรซักอย่าง
เราข้ามตัวเองไม่พ้น
ข้ามผ่านหัวใจตัวเองไปไม่พ้น
สำหรับคนที่รักและยินดีจะเจริญในทางธรรมด้วยการลดความยินดีทางโลกย์ ฉันก็ขออนุโมทนาด้วย
แต่ฉันไม่ใช่คนที่จะกระจ่างได้ถึงเพียงนั้น
ฉันยังยินดีในการถ่วงตัวเองด้วยสมอแห่งความรักความหลง
ฉันยังยินดีที่จะได้ทำอะไรๆ ตามใจให้คนนิยามฉันไม่ถูก ฉันยินดีที่ได้ข้ามพันธนาการบางข้อของความน่าจะเป็นในตัวตนบางอย่างไป
แต่ฉันยินดีที่สุด ที่จะพันธนาการตัวเองเข้ากับใครหรืออะไรก็ตามที่ฉันเป็นผู้เลือกเอง
"บ้าก็บ้าวะ" เป็นชื่อภาคภาษาไทยของภาพยนตร์เรื่อง One Flew over the cuckoo"s nest (1975) กำกับการแสดงโดย Milos Forman
++
รอยแผลจางที่"ข้อมือซ้าย"
โดย ทราย เจริญปุระ คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1588 หน้า 79
1.
มีเรื่องหลายเรื่องที่จะทำให้เราขำได้ก็ต่อเมื่อมันผ่านไปแล้วเท่านั้นเอง
ทุกวันนี้ข้อมือซ้ายของฉันยังมีรอยแผลเป็นอยู่จางๆ จนแทบมองไม่เห็นถ้าไม่เคยรู้มาก่อนว่ามันมี
แต่ฉันรู้ ฉันทำตัวเอง และที่มันดีที่สุดคือ ฉันยังมีชีวิตมานั่งตลกกับเรื่องในวันนั้น
คุณจะขำก็ได้ ฉันไม่ว่า
ฉันจะเอาสิทธิ์อะไรไปห้ามใครที่นึกขำกับการพยายามฆ่าตัวตายด้วยแหนบได้ล่ะ
ใช่, แหนบ
2.
"ฉันไม่รู้จักคุณ สิ่งเดียวที่ฉันรู้เกี่ยวกับคุณก็คือ คุณกำลังอ่านเรื่องนี้อยู่ ฉันไม่รู้ว่าคุณมีความสุขหรือไม่ และก็ไม่รู้ว่าคุณเด็กหรือแก่ ได้แต่หวังว่าคุณน่าจะยังเด็กและรู้สึกเศร้า แต่ถ้าคุณแก่และมีความสุข ฉันคิดว่าคุณคงยิ้มให้กับตัวเอง เมื่อฟังฉันเล่าเรื่องของตนเอง -เขาหักอกฉัน- คุณคงคิดถึงคนที่ทำให้คุณหัวใจสลายตอนวัยใสและคุณคิดว่า โอ ใช่ ฉันจำได้ดีว่ามันรู้สึกยังไง -แต่คุณไม่รู้หรอก- *
การฆ่าตัวตายมันดูดีมากในนาทีที่มันวาบขึ้นมาในสมองของเรา
คนที่อยู่ในอารมณ์นั้นใครจะฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า มันเป็นวิธีแก้ปัญหา สามารถช่วยเราจบปัญหาได้ แต่พอแก้ได้แล้ว เราจะกลับมาใช้ชีวิตต่อไม่ได้
สรุปง่ายๆ ก็คือ, ใช้วิธีแก้ปัญหาแบบถาวร กับปัญหาแบบชั่วคราว
ก็สำหรับฉัน อกหักนั้นมันหนักหนา
ใครจะไปรู้ว่ามันหายได้จริง ใครจะไปรู้ว่ามันจะดีขึ้นในวันที่เราไม่ได้รอให้มันดีขึ้นอีกแล้ว
ดังนั้น ในช่วงแรกๆ ฉันก็นั่งนับวันเวลารอ รอวันที่มันจะหาย
แล้วมันก็ไม่หายเสียที เป็นอาทิตย์ เป็นเดือน เป็นปี แล้วก็อีกปี
ฉันเลยเริ่มคิดขึ้นมาว่า"แล้วถ้ามันไม่มีวันหายล่ะ ฉันอยู่อย่างนี้ไปตลอดชีวิตไม่ได้หรอกนะ"
แล้วฉันก็เลยลอง
3.
"เป็นอันตกลง" บอกเล่าเรื่องราวในคืนปีใหม่ คืนน่าสะเทือนใจเป็นพิเศษสำหรับผู้ที่อ่อนไหวในปัญหาชีวิต คนเหล่านั้นได้แก่มาร์ติน-
พิธีกรผู้ฉาวโฉ่-, มัวรีน คุณแม่ลูกหนึ่ง, เจส สาว 18 และ เจเจ ร็อกเกอร์ หนุ่ม
ทั้งหมดอยากฆ่าตัวตาย ทั้งหมดบังเอิญอยากจะฆ่าตัวตายในที่เดียวกัน เวลาเดียวกัน
ทั้งหมดจึงบังเอิญมาเจอกัน
"คุณเคยลิ้มรสอาหารทุกคำที่ คุณกินลงไปในท้องแล้วขย้อนขึ้นมามั้ยว่ามันมีรสชาติยังไง คุณเคยรู้สึกถึงรสชาติของไวน์แดงที่พึ่งย้อนขึ้นมาเวลาคุณอ้วกใส่โถส้วมได้ ไหม เคยฝันทุกคืนว่าคุณยังไม่ได้พรากจากกัน เขาพูดกับคุณอย่างนุ่มนวลและสัมผัสคุณแผ่วเบา เคยมั้ย เคยกรีดแขนตัวเองเป็นชื่อย่อของเขาด้วยมีดทำครัวมั้ย หรือเคยยืนอยู่ใกล้ขอบชานชาลารถใต้ดินมากเกินไปมั้ย? ไม่เคยใช่ไหม --งั้นก็หุบปากซะ*"
4.
แน่นอนว่าความคิดนี้มันจู่โจมเข้ามาในหัวฉันแบบปัจจุบันทันด่วน
กินเหล้าอยู่ในห้องมืดๆ คนเดียว กับเสียงเพลงSuicide is painlessดังกระหน่ำซ้ำไปมา
ฉันก็คิดว่ามันไม่เลว
- - - - - - - - - - - - - - - - - - -
โชคดีว่าห้องฉันรก ฉันเลยหาคัตเตอร์ไม่เจอ
โชคดีที่แหนบนั่นสะอาดดีพอควร ฉันเลยไม่เป็นบาดทะยักตายไปเสียก่อน
โชคดีว่าอยู่ๆ ฉันก็ขำกับความเพี้ยนของตัวเอง ในการตั้งใจจะฆ่าตัวตายด้วยแหนบ
ลองนึกถึงการพาดหัวข่าวสิคุณเอ๋ย
ดูไม่จืดเชียวล่ะ
5.
กลับมาที่เรื่องของคนทั้งสี่ที่มาพบกันบนยอดตึก
ถ้าจะให้จัดประเภทกัน, หนังสือเล่มนี้มันก็เป็นนิยายค้นหาความหมายของชีวิตนั่นล่ะ
ความต่างอย่างเดียวที่ทำให้มันไม่ไปรวมกับหนังสือให้กำลังใจโดยทั่วไปก็คือ
มันสนุก
และฉันว่ามันได้ผลกว่าการมาบอกให้มองด้านดีของชีวิตสิ เราต้องก้าวไปข้างหน้านะ หรืออะไรเชยๆ ซ้ำซากพรรค์นั้น
เพราะถ้าคุณยังมีความสร้างสรรค์พอจะคิดหาวิธีฆ่าตัวตายได้แล้วล่ะก็ คุณก็น่าจะยังพอมีความสร้างสรรค์พอที่จะขำและเข้าใจหนังสือเล่มนี้ได้เหมือนกัน
คงหาได้ยากทีเดียว ที่จะมีคนอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วตัดสินใจฆ่าตัวตาย
แต่เจส, ฉันอยากจะบอกอะไรเธอสักอย่าง
ถ้าเธอเด็ก ถ้าเธอเศร้า และอยากฆ่าตัวตายในประเทศที่ฉันอยู่นี้มันก็ไม่ได้ง่ายนักหรอก
เพราะว่าเขาไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ออกนอกบ้านยามวิกาลโดยไม่มีเหตุอันควรต่างหาก
เอ...หรือการฆ่าตัวตายจะเป็นเหตุอันควร --ด้วย
*ข้อความจากในหนังสือ
"เป็นอันตกลง" (A Long Way Down) เขียนโดย นิก ฮอร์นบี้ แปลโดย จักรพันธ์ ขวัญมงคล เรียบเรียงโดย วีระวัฒน์ เตชะกิจจาทร ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 เดือนมกราคม, 2554 โดยสำนักพิมพ์ mars space
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย