http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-02-02

มาม่ากับเสื้อแดง และ ละครน้ำเน่ากับคนชั้นกลางเอเชีย

.

มาม่ากับเสื้อแดง
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนออนไลน์ วันจันทร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.
แบ่งปันข่าวนี้บน facebook Share


ผมพลอยตื่นเต้นกับปฏิบัติการบอยคอตมาม่าของเสื้อแดง มีการตั้งเป้าของผู้เข้าร่วมที่สูงถึง 20 ล้านคน ใช้ระยะเวลาเพียงหนึ่งเดือน

ที่ตื่นเต้นก็เพราะอยากจะรู้ผลว่าสามารถทำได้จริงตามเป้าหรือไม่ เพียงใด แต่แม้ติดตามฟังข่าวอย่างใกล้ชิด ก็ยังไม่รู้ผลอยู่ดีจนถึงบัดนี้ แน่นอนว่าบริษัทย่อมไม่แถลง เพราะมีแต่เสียทั้งขึ้นทั้งล่อง เช่นหากแถลงว่าไม่เกิดผลกระเทือนแก่บริษัท ก็เท่ากับท้าทายคนเสื้อแดงให้ยิ่งรณรงค์หนักมือขึ้น แถลงว่าเป็นผลกระเทือนอย่างรุนแรง ก็ยิ่งช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์ของตนเสื่อมความนิยมในตลาดลงไปอีก

และก็อย่างเคย คือไม่มีสื่อใดตามเจาะเรื่องนี้อย่างจริงจัง แม้แต่สื่อของเสื้อแดงเองก็ตามข่าวในเชิงรณรงค์มากกว่าพยายามประเมินว่าได้ผลมากน้อยเพียงไร ทั้งๆ ที่เรื่องนี้มีนัยยะสำคัญมากกว่าการต่อสู้ทางการเมืองเฉพาะหน้า

ในประเทศไทย (เหมือนกับอีกหลายประเทศทั่วโลก) ทุนได้เติบใหญ่จนกลายเป็นพลังมหึมาที่สามารถเข้าไปกำหนดวิถีชีวิตของคนอย่างเบ็ดเสร็จ โดยอาศัยสิ่งที่เรียกกันว่า "กลไกตลาด" นับวันพลังอื่นๆ ก็ไม่สามารถถ่วงดุลทุนด้วยการกำกับตลาดให้มีระเบียบกฎเกณฑ์ที่เอื้อต่อความเป็นธรรมและความสงบสุขของผู้คนได้

พลังอื่นๆ ที่สำคัญคือรัฐ แต่ในประเทศไทย รัฐจำนนต่อทุนอย่างค่อนข้างราบคาบ ชนชั้นนำทางการเมืองของไทยมีความสัมพันธ์กับทุนอย่างแนบแน่น ไม่แต่เพียงรับการสนับสนุนทางการเงินจากทุนเท่านั้น บางส่วนก็ผันตนเองเป็นทุนไปเต็มตัว จนกระทั่งไม่สามารถแยกรัฐกับทุนออกจากกันได้

ฉะนั้น แทนที่รัฐไทยจะเป็นอีกพลังหนึ่งที่คอยสร้างและรักษาระเบียบกฎเกณฑ์ของตลาด รัฐกลับใช้สิ่งที่เรียกว่า "กลไกตลาด" เข้าไปจัดการทรัพยากรทุกชนิด จนทำให้คนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงทรัพยากร แม้แต่ทรัพยากรพื้นฐานในการดำรงชีวิตซึ่งไม่ควรถือเป็นสินค้า รัฐจึงกลายเป็นเครื่องมือของทุน ไม่ใช่พลังอิสระอีกอันหนึ่งที่จะคอยถ่วงดุลอานุภาพของทุน

เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะรัฐไทยไม่ใช่รัฐประชาชาติที่แท้จริง กล่าวคือคนส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการรัฐ มีคนส่วนน้อยเพียงหยิบมือเดียวที่ยึดรัฐไปเป็นสมบัติส่วนตัว และในบรรดาคนส่วนน้อยนั้น ล้วนอยู่ภายใต้การครอบงำของทุน

อย่างไรก็ตาม "ภาคประชาชน" ของไทยก็ค่อยๆ เติบโตขึ้น และมีบทบาทมากขึ้นในการเข้าไปควบคุมรัฐและทุนตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงไฟฟ้า, การวางท่อก๊าซ, การทำเหมืองโพแทส, การทำโรงถลุงเหล็ก, การปล่อยมลพิษอย่างร้ายกาจของโรงงาน ฯลฯ ที่ประสบความสำเร็จจนทำให้รัฐและทุนต้องระงับหรือปรับเปลี่ยนโครงการก็มี ที่พ่ายแพ้เพราะทุนอาศัยอำนาจรัฐใช้ความรุนแรงในการปราบปรามประชาชนก็มี ความเคลื่อนไหวเหล่านี้กำลังขยายตัวมากระทบต่อนโยบายระดับมหภาคมากขึ้น เช่น สิทธิบนที่ดินของทุนและรัฐจะถูกจำกัดมากขึ้นในกรณีการเคลื่อนไหวของชาวสลัมและคนไร้ที่ดินในชนบท, นโยบายพลังงานโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับพลังงานนิวเคลียร์

แต่ในขณะเดียวกัน น่าสังเกตด้วยว่า ความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ผ่านมา เป็นการเผชิญหน้ากับรัฐและทุนโดยตรง จำกัดประเด็นและจำกัดพื้นที่ ทำให้รัฐและทุนสามารถยักย้ายถ่ายเทหลบหลีกการกำกับควบคุมได้ง่าย เช่น ประท้วงโรงไฟฟ้าอย่างได้ผลในพื้นที่หนึ่ง ก็ย้ายโรงไฟฟ้าไปสร้างอีกที่หนึ่ง ต่อต้านการทำลายแม่น้ำด้วยเขื่อน ก็อ้างว่าสร้างฝาย ภาคประชาชนใช้ "ตลาด" เป็นเวทีการต่อสู้น้อยมาก จากเมื่อครั้งต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นตั้งแต่ก่อน 14 ตุลา ดูเหมือนยังไม่มีการต่อสู้เพื่อกำกับรัฐและทุนในลักษณะเช่นนั้นอีกเลย จนถึงกรณีมาม่าครั้งนี้

แม้ว่า "ตลาด" ไม่ใช่เวทีการต่อสู้เพียงอย่างเดียว แต่ก่อนจะไปถึงขั้นที่ภาคประชาชนจะมีพรรคการเมืองซึ่งใส่ใจรับมติของตนไปเป็นนโยบาย จนนำไปสู่กฎหมายและการบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ "ตลาด" เป็นเวทีที่ดูจะได้ผลในการกำกับควบคุมทุนที่มีประสิทธิภาพที่สุด

ในขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับด้วยว่า สัดส่วนที่ใหญ่มากของทุนในประเทศไทย คือทุนที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก นั่นก็คือไม่อาจใช้ "ตลาด" ภายในเป็นเวทีต่อสู้ที่มีประสิทธิภาพของภาคประชาชนในทุกกรณีไป แม้กระนั้นก็ยังใช้ได้ผลในอีกหลายกรณีดังเช่นกรณีมาม่า และแม้ "ตลาด" ภายในอาจไม่ใช่เป้าหมายโดยตรงของการผลิต แต่เมื่อมีฐานในประเทศไทย การรักษาภาพพจน์ที่ดีในประเทศก็มีความสำคัญเหมือนกัน

นอกจากนี้ หากการรณรงค์ในตลาดมีความเข้มแข็ง ก็อาจเชื่อมโยงกับความเคลื่อนไหวระดับโลกได้ ซึ่งจะทำให้ยิ่งมีพลังในการกำกับควบคุมทุนได้มากขึ้น

ดังนั้น การกำกับควบคุมทุนของภาคประชาชนโดยผ่าน "ตลาด" จึงมีความสำคัญ เพราะเมื่อรัฐไม่สามารถหรือไม่อยากกำกับควบคุมทุน ภาคประชาชนจึงต้องเข้ามาทำหน้าที่นี้แทน และอย่างมีประสิทธิภาพกว่าด้วย

แม้สร้างความหวั่นไหวให้แก่ทุนในระยะแรกที่เริ่มการรณรงค์ แต่ผมไม่ทราบว่าการรณรงค์ของเสื้อแดงในครั้งนี้ประสบความสำเร็จแค่ไหน อีกทั้งพลังที่แท้จริงของการบอยคอตไม่ได้มาจากการจัดองค์กรเพื่อการนี้โดยตรง แต่อาศัยเครือข่ายและประเด็นทางการเมืองของเสื้อแดงเป็นเครื่องมือมากกว่า ดังนั้นไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว จึงดูไม่ส่อว่าจะเป็นกระบวนการที่อาจดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน และจริงจังในอนาคต

อย่างไรก็ตาม หากคิดว่านี่เป็นการฝึกระยะแรก ซึ่งต้องเปิดกว้างสองอย่าง หนึ่งคือต้องเปิดการเรียนรู้ และสองคือเปิดตัวเองแก่คนที่มีความคิดเห็นอันแตกต่างหลากหลายในสังคม เพียงแต่มีความพยายามร่วมกันที่จะกำกับควบคุมทุน มิให้ทำร้ายผู้คนจนเกินไป ก็จะสร้างพลังของภาคประชาชนที่ยิ่งใหญ่เพื่อการนี้ขึ้นมาได้

ขบวนการของภาคประชาชนสามารถใช้พลังของตนในการกำกับควบคุมทุนผ่านตลาดได้อีกหลายอย่าง อันล้วนเป็นเรื่องที่รัฐไทยละเลยตลอดมา

เรื่องของมาบตาพุดคงง่ายขึ้น หากมีขบวนการประชาชนที่มีเครือข่ายใหญ่ขนาดเสื้อแดง ออกมารณรงค์ให้ประชาชนร่วมมือกันลงพรหมทัณฑ์แก่บริษัทที่ก่อมลภาวะ แน่นอนว่าหากสามารถเชื่อมโยงกับกลุ่มพลังอื่นๆ เช่น สหภาพแรงงานของบริษัทเหล่านั้น ก็จะยิ่งทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว

โรงงานที่ไร้ความปลอดภัยและเสียสุขภาพแก่แรงงาน, บริษัทที่เอาเปรียบแรงงานด้วยวิธีต่างๆ ฯลฯ ควรถูกนำมาเปิดเผย และถูกขบวนการภาคประชาชนกดดัน นับตั้งแต่บอยคอตสินค้า ไปจนถึงการไม่ร่วมมือ เช่นสหภาพการขนส่งปฏิเสธที่จะขนสินค้าของบริษัทดังกล่าว

บริษัทที่ขาดความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ควรได้รับการกดดันทำนองเดียวกัน

คิดไปเถิดครับ ขบวนการที่มีประสิทธิภาพของภาคประชาชนสามารถเข้าไปกำกับควบคุมทุนได้อีกมาก

แต่จะทำอย่างนั้นได้ดี จำเป็นต้องมีพื้นฐานความรู้ข้อมูลที่สมบูรณ์สักหน่อย จำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังอย่างเป็นระบบพอสมควร งานเช่นนี้หากขบวนการของประชาชนทำได้เองก็ดี และหากวงวิชาการจะเข้ามาช่วยก็จะยิ่งดีขึ้นไปอีก

สื่อควรมีหน้า "ผู้บริโภค" ซึ่งจะติดตามเฝ้าระวัง ไม่ใช่เฉพาะในแง่ของคุณภาพสินค้าเพียงอย่างเดียว เพราะผู้บริโภคในยุคใหม่ต้องมีความรับผิดชอบทางสังคมด้วย จึงมีประเด็นที่ผู้บริโภคควรต้องตระหนักรู้อีกหลายอย่าง เช่นสินค้าตัวเดียวกันแต่ต่างยี่ห้อนั้น ใช้วัตถุดิบภายในมากน้อยต่างกันเท่าไร ผลิตด้วยวัสดุหมุนเวียนมากน้อยต่างกันอย่างไร ใช้พลังงานในการผลิตต่างกันมากน้อยเพียงไร ปฏิบัติต่อคนงานของตนดีมากดีน้อยต่างกันอย่างไร ฯลฯ (อย่างเดียวกับที่สื่อมักรายงานเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออก ซึ่งเป็นเพียงมิติเดียวของการประกอบการเท่านั้น)

(แต่แน่นอนว่า สื่อจะต้องไม่ขาสั่นกับการสูญเสียโฆษณาของบริษัทห้างร้านจนเกินไป)

มีคนพูดมานานแล้วว่า การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ไม่เคยมีในเมืองไทยมาก่อน แต่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ อาจจะโดยไม่ได้เจตนา การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขา ในบางครั้งก็เป็นการริเริ่มสิ่งสำคัญๆ ให้แก่สังคมไทย ซึ่งหากมองเห็นคุณประโยชน์ ทั้งคนเสื้อแดงหรือไม่ใช่ก็อาจเข้ามาช่วยพัฒนาให้ก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ประเทศไทยจะอยู่รอดต่อไปได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่ปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าความเหลื่อมล้ำก็คือ เราต้องกำกับควบคุมทุนและตลาดให้เอื้อต่อการดำรงชีวิตของคนทุกกลุ่ม ทุนและตลาดไม่ควรมีอำนาจอันไร้ขีดจำกัดเสียเลย เรายังไม่อาจหวังพึ่งรัฐให้เป็นผู้กำกับควบคุมได้ในระยะนี้ ประชาชนจึงต้องรับเป็นภาระในการสร้างอำนาจของตนเอง เพื่อกำกับควบคุมทุนและตลาดให้ได้



++

ละครน้ำเน่ากับคนชั้นกลางเอเชีย
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1588 หน้า 30


ผู้ทำละครทีวีไทยซึ่งมักถูกตั้งสมญาว่า "น้ำเน่า" กำลังปลาบปลื้ม เพราะเวลานี้ละครทีวีไทยไปฮิตสุดๆ อยู่ในเมืองจีน เคียงคู่กันไปกับละครเกาหลี และฮ่องกง ซึ่งเป็นผลผลิตจากสามประเทศซึ่งคนจีนกำลังนิยมถึงขั้นคลั่งไคล้

ตามข่าวกล่าวว่า แฟนๆ ชาวจีนซึ่งไม่มีโอกาสได้เห็นดาราไทยตัวจริง ถึงกับลงทุนเดินทางมาเมืองไทยเลยทีเดียว ตลอดจนมีแฟนคลับของดาราไทยในเมืองจีนด้วย

คนทำทีวีพูดถึงการทำเงินตราต่างประเทศ นักเศรษฐศาสตร์พูดถึง "เศรษฐกิจสร้างสรรค์" ซึ่งไม่เพียงแต่ทำเงินตราต่างประเทศเฉพาะหน้า แต่เป็นการปูฐานทางวัฒนธรรมให้แก่การส่งออกสินค้าอื่นๆ ด้วย

ควรจะลิงโลดกันถึงแค่นั้นหรือไม่อย่างไรยกไว้ก่อน ผมไม่มีทั้งความรู้และข้อมูลจะส่งเสริมหรือท้วงติง

ที่จริงแล้ว นักดูทีวีไทยไม่น่าจะรู้สึกแปลกประหลาดใจอะไรนัก ที่คนจีนหันมานิยมละครทีวีไทย ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา คนไทยเองก็นิยมละคร (หรือหนัง) ทีวีต่างชาติกันมาอย่างไม่ขาดสาย ระยะแรกๆ ที่เครื่องรับทีวียังมีค่อนข้างจำกัด ก็ดูกันแต่หนังทีวีอเมริกัน เพราะช่วงนั้นอเมริกันผูกขาดสินค้าเชิงวัฒนธรรมไว้มาก ต่อมาก็นิยมหนังทีวีญี่ปุ่น แล้วก็ฮ่องกง แล้วก็เกาหลีในปัจจุบัน

แน่นอนว่าละครทีวีไทยก็ยังได้รับความนิยมอยู่เหมือนเดิม ควบคู่กันไปกับละครหรือหนังทีวีต่างชาติ

ฉะนั้น ความนิยมต่อหนัง-ละครทีวีต่างชาติ จึงเกิดขึ้นและอาจผันแปรไปเรื่อยๆ เป็นธรรมดา แต่ไม่ว่าจะผันแปรอย่างไร ก็คงต้องมีอะไรบางอย่างที่ตอบสนองชีวิตของผู้ชม จึงทำให้เข้าใจ, ซาบซึ้ง, และนิยมได้

และส่วนนี้แหละครับที่ผมอยากพูดถึง

ผมมีสมมติฐานเบื้องต้นว่า กลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อหนัง-ละครทีวีในประเทศกำลังพัฒนาเช่นไทย, จีน, เกาหลี, ฮ่องกง, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, อินเดีย ฯลฯ เหล่านี้ คือคนชั้นกลาง

จำนวนของคนชั้นกลางที่ดูอาจมีไม่มากไปกว่าคนระดับต่ำกว่านั้น แต่คนชั้นกลางกลับมีอิทธิพลในการกำหนดการทำละครทีวีมากกว่า ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลอย่างน้อยสองประการ หนึ่งก็คือ วัฒนธรรมของคนชั้นกลางครอบงำสังคมประเภทนี้สูงมาก และสอง เขาคือคนที่มีกำลังซื้อสูงสุด จึงกำหนดสปอนเซอร์ของเอเยนซี่โฆษณาไปโดยปริยาย

หนัง-ละครทีวีเหล่านี้ ไม่ว่าจะผลิตโดยประเทศใด มีอะไรบางอย่างร่วมกันที่ทำให้คนชั้นกลางในประเทศกำลังพัฒนาพากันติดอกติดใจ ลักษณะร่วมเหล่านี้มีอะไรบ้าง ผมพยายามนึกเท่าที่ได้เคยดูหนัง-ละครทีวีของประเทศต่างๆ เหล่านี้มา

ผมพบว่ามีดังต่อไปนี้


ประการแรก ต้องเข้าใจด้วยว่า คนชั้นกลางในสังคมของประเทศกำลังพัฒนาของเอเชีย ยังไม่ได้หลุดออกไปจากพันธะทางสังคมแบบเก่า ดังเช่นคนชั้นกลางในสังคมของประเทศที่พัฒนาแล้ว พวกเขายังไม่ได้เป็นปัจเจกเต็มที่ ยังมีความผูกพัน (ทั้งที่ตัวชอบและไม่ชอบ) อยู่กับครอบครัว, สถานภาพทางสังคม, โคตร-แซ่, ฯลฯ อยู่ในระดับหนึ่ง

นิยายของหนัง-ละครเหล่านี้ จำนวนไม่น้อย วนเวียนอยู่กับปัญหาที่ต้องเลือก (แล้วเลือกไม่ได้ หรือเลือกได้ยาก) ระหว่างการสนองความต้องการส่วนตน และพันธะที่มีต่อกลุ่มตามจารีตที่ตนสังกัดอยู่

หนัง-ละครทีวีไทยนั้นเห็นได้ชัด แต่ก็ไม่ได้น้อยลงในหนัง-ละครทีวีของฮ่องกง, ไต้หวัน หรือเกาหลี เพียงแต่ "กลุ่ม" ตามจารีตอาจแตกต่างออกไป เช่น กลายเป็นแก๊งมาเฟียในหนังฮ่องกง, บริษัทอันเป็นมรดกของก๋งในหนังไต้หวัน, คุณแม่ใจดำของหนังเกาหลี ฯลฯ เท่านั้น

เปรียบเทียบกับปัญหาซึ่งนิยายในหนังอเมริกันชอบยกขึ้นมาเป็นแก่นเรื่อง จะเป็นปัญหาของปัจเจกมากกว่า เช่น พระเอกซึ่งรักนางเอกหูหนวก จะสามารถรับเธอในฐานะมนุษย์เต็มคน จนขอแต่งงานด้วยได้หรือไม่ อุปสรรคอื่นๆ ไม่มี ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่, อาชีพการงาน, หรือวงสังคมที่ตัวคบหาสมาคมอยู่

หนังอเมริกันซึ่งเคยผูกขาดตลาดไทยบนทีวีมาก่อนนั้น แทบจะหายหน้าหายตาไปเลย ก็เพราะเรื่องของอเมริกันนั้นไม่ตอบสนองหรือเข้าไม่ถึงชีวิตของคนชั้นกลางนักดูทีวีบ้านเรา

แต่ก็น่าสังเกตด้วยนะครับว่า หนังอเมริกันที่นานๆ จะมาฮิตบนทีวีบ้านเราทีนั้น มักเป็นเรื่องที่ปัญหาของนิยายเกี่ยวพันกับพันธะที่บุคคลมีต่อ "กลุ่ม" ดังเช่นเรื่อง Dallas และ Dynasty ซึ่งเป็นเรื่องของตระกูลเจ้าพ่อน้ำมันมหึมาในเท็กซัส และความสัมพันธ์ระหว่างคนในตระกูลหรือระหว่างตระกูล


ประการที่สอง เรื่องของช่วงชั้นทางสังคมมีความสำคัญในปัญหาของนิยายจำนวนมากนะครับ แม้ว่าช่วงชั้นในสังคมเอเชียของประเทศกำลังพัฒนาเหล่านี้คงเปลี่ยนไปมากแล้ว เช่นเงินและอำนาจอาจมีความสำคัญกว่าโคตรตระกูล แต่ความสัมพันธ์ของคนต่างช่วงชั้นก็ยังเป็นปัญหาที่ผู้ชมซาบซึ้งกินใจได้ เพราะเป็นสิ่งที่ประสบอยู่จริงในชีวิต จำนวนมากของเรื่องช่วงชั้น เป็นเรื่องรวย-จน

ประชาชนในประเทศ "คอมมิวนิสต์แบบจีน" กำลังเผชิญกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่หนักขึ้นทุกวัน จึงไม่น่าแปลกใจที่จะติดอกติดใจละครไทยซึ่งถนัดในการยกเรื่องช่วงชั้นมาเป็นปัญหาหลักของนิยายเสมอ

ปัญหาเรื่องช่วงชั้นก็ปรากฏไม่น้อยในหนังเกาหลีและฮ่องกง


ประการต่อมา แกนเรื่องอีกอย่างที่พบได้บ่อยๆ ในละคร-หนังทีวีของประเทศกำลังพัฒนาของเอเชีย ก็คือการออกนอกลู่นอกทางของตัวละครซึ่งเป็นคนชั้นกลาง มัวเมากับการพนัน เหล้า ผู้หญิง หรืออำนาจ จนไม่อาจจะรักษาบัญญัติทางจริยธรรมที่เป็นสมบัติร่วมกันของคนชั้นกลางได้ อาจโกงบริษัทของตระกูลในหนังฮ่องกง เตะต่อยพ่อแม่ในหนัง-ละครทีวีไทย หักหลังกลุ่มร่วมสาบานที่จะชิงราชบัลลังก์จากทรราชย์ในหนังเกาหลี ฯลฯ

เรื่องจริยธรรมของคนชั้นกลางนี้น่าสนใจนะครับ แน่นอน ส่วนหนึ่งย่อมมีฐานมาจากลัทธิศาสนาต่างๆ ที่คนชั้นกลางนับถือ แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นของใหม่ที่เพิ่งนิยมบัญญัติขึ้นใหม่ เมื่อวิถีชีวิตของคนชั้นกลางได้เปลี่ยนไปแล้ว เช่น ความตรงต่อเวลา, ความขยันหมั่นเพียรที่อาศัยการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นบรรทัดฐาน, อะไรคือขโมยอะไรไม่ใช่ขโมย, ฯลฯ จริยธรรมใหม่และจริยธรรมเก่าอาจขัดแย้งกันขึ้นในหนัง-ละครทีวีได้เสมอ เช่น เก็บซาลาเปาเหลือขายไปให้ลูกที่กำลังอดได้กิน ที่จริงแล้ว ไม่เกี่ยวกับความซื่อสัตย์ แต่เกี่ยวกับความภักดีมากกว่า นั่นคือ คนเราควรภักดีต่อใครมากกว่ากัน ระหว่างครอบครัวและบริษัท

นอกจากความผันแปรด้านจริยธรรมแล้ว ต้องเข้าใจด้วยว่าคนชั้นกลางของเอเชียกำลังปฏิบัติจริยธรรมในเงื่อนไขที่เปลี่ยนไปแล้ว กล่าวคือ พลังของ "กลุ่ม" ในการกำกับฯ พฤติกรรมกำลังลดลง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว, โคตรแซ่, ธรรมเนียมเก่า, ฯลฯ เช่น ลูกชายที่ถูกส่งไปเรียนหนังสือในเมืองใหญ่ อาจเสียคนได้จากภาวะอิสระที่ไม่เคยมีมาก่อน

นี่จึงเป็นปัญหาร่วมกันของคนชั้นกลางเอเชีย ผู้ร้ายในหนัง-ละครทีวีหลายเรื่องคือนักเรียนนอกที่เย่อหยิ่งจองหอง ไม่มีความซื่อตรงกับใคร แม้แต่กับนางเอก


ประการต่อมา เรื่องของคนจนที่ขยันขันแข็งอดทนและซื่อสัตย์ (และหล่อหรือสวยด้วย) ไต่เต้าขึ้นเป็นเศรษฐี ก็มักมีในหนัง-ละครทีวีเสมอ เพราะในความเป็นจริงแล้ว ส่วนใหญ่ของคนชั้นกลางเอเชีย คือนักไต่เต้า แม้ไม่ถึงกับจนรากเลือดอย่างในละคร แต่ก็ไต่เต้ามาจากร้านขายเทป กลายเป็นเจ้าพ่อค่ายเพลง จากเสมียนโรงไม้กลายเป็นนายธนาคารใหญ่ ฯลฯ ชีวิตของพระเอกที่ไต่เต้าขึ้นมายืนเด่นในสังคมด้วย "คุณธรรม" ส่วนตนบางอย่าง จึงทำความสบายใจให้แก่ผู้ชมจำนวนมาก เพราะทำให้ลืมการเอารัดเอาเปรียบหรือแม้แต่คดโกงของเตี่ยหรือก๋งได้สนิทดี

นอกจากนี้ เรื่องของการไต่เต้าของคนจนยังเป็นการยืนยันคุณค่าทางสังคมและการเมือง ที่คนชั้นกลางยึดถือด้วย นั่นคือสังคมต้องมีระบบเปิดพอที่จะทำให้ใครๆ ที่มีคุณธรรมของคนชั้นกลางก็มีสิทธิฉวยโอกาสได้เท่าเทียมกัน

แต่เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับประชาธิปไตย เพราะสิทธิในการฉวยโอกาสนั้นไม่รวมถึงการมีทุนหรือการเข้าถึงทรัพยากรที่เท่าเทียมกันด้วย


ประการต่อมา ผมรู้สึกว่าหนัง-ละครเอเชียเหล่านี้ สะท้อนการดำรงอยู่ของกลุ่มคณาธิปไตย ที่ไม่เคลื่อนคลายกลุ่มหนึ่งในสังคม กลุ่มคณาธิปไตยเหล่านี้ไม่ได้เป็นตัวละครหลักในเรื่องนะครับ แต่อาจถูกอ้างถึง หรือเป็นตัวแก้ปัญหาในบั้นปลาย เช่น ตำรวจ, ศาล, พรรค, กองทัพ ฯลฯ

ส่วนใหญ่ของประเทศผู้ผลิตหนัง-ละครทีวี (จีน, ไทย, เกาหลี, ฮ่องกง) ห้ามมิให้แสดงความบกพร่องของกลุ่มคณาธิปไตยและกลไกที่อยู่ในกำกับฯ ของเขาด้วยซ้ำ

ผมไม่รู้จะอธิบายเรื่องนี้อย่างไร นอกจากชวนให้คิดถึงหนังของจางอี้โหมว (สมัยก่อน) ที่ตั้งปัญหากับกลุ่มคณาธิปไตยหรืออย่างน้อยกลไกของมันอยู่เสมอ ท้องเรื่องอย่างนี้ย่อมไม่ปรากฏในหนัง-ละครทีวีเอเชียอย่างแน่นอน

เพราะคนชั้นกลางเอเชียได้รับการเอาใจจากกลุ่มคณาธิปไตยอย่างสูงในเชิงนโยบาย จึงดูทีวีด้วยความสบายใจกว่าต้องมาคิดเสียดายเงินค่า "หมาแดก" ซึ่งได้จ่ายไปแก่สมาชิกของกลุ่มคณาธิปไตย


ประการสุดท้ายก็คือ คนชั้นกลางเอเชียเติบโตขึ้นมาโดยขาดการอบรมให้เข้าถึงศิลปะตามจารีตของสังคมตนเอง หนัง-ละครทีวีซึ่งเป็นที่นิยมกันนั้น แทบไม่มีอะไรเกี่ยวเนื่องไปถึงศิลปวัฒนธรรมเหล่านั้นเลย หากจะมีการอ้างถึงก็ผิวเผินและออกจะตื้นเขิน เช่น ถ้านางเอกเป็นนางละครหรืองิ้วเก่า บทก็จะไม่ได้พูดถึงการฟ้อนรำหรือการขับร้องในรายละเอียดพอที่จะทำให้รู้ว่า นางเอกเป็นนายของศิลปะนั้นๆ จริง มีแต่บทที่พูดดื้อๆ เลยว่า เธอเก่งชิบเป๋ง

คนชั้นกลางนักดูทีวีของเอเชีย ไม่เคยนึกถึงตัวเองว่าเป็นผู้ผดุงศิลปะวัฒนธรรมเก่าไว้ในสังคม จริงอยู่คนเหล่านี้ยืนยันอัตลักษณ์ของตนเองว่าแตกต่างจากตะวันตก เพราะอัตลักษณ์เป็นเครื่องมือต่อรองในธุรกิจโลกาภิวัตน์ได้ดี แต่นั่นไม่ใช่ความชื่นชมดื่มด่ำกับศิลปะวัฒนธรรมเชิงประเพณีที่จะใช้เป็นฐานในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้ เกียรติประวัติอยู่ที่เคยเป็นโขนธรรมศาสตร์ ไม่ใช่เป็น "โขน"

ผมอยากให้สังเกตด้วยนะครับว่า หนัง-ละครทีวีต่างประเทศสามอันดับซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ชมชาวจีนคือฮ่องกง, เกาหลี และไทย ไม่ใช่ญี่ปุ่น, ไม่ใช่อเมริกัน, ไม่ใช่ยุโรป ทั้งสามประเทศ (หรือหากรวมจีนด้วยก็เป็นสี่) นี้มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน และผลิตคนชั้นกลาง "ประเภท" ใกล้เคียงกันด้วย

ดังนั้น จึงพูดภาษาเดียวกันครับ


.