http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-02-27

แกนนอนในโลกอาหรับ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.
แกนนอนในโลกอาหรับ
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1593 หน้า 30


การลุกฮือขึ้นขับไล่เผด็จการในโลกอาหรับเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นไฟลามทุ่ง... อย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

เมื่อตอนที่เกิดการเดินขบวนกันยกใหญ่ในตูนิเซีย และเริ่มลามเข้ามาในอียิปต์ สื่อกระแสหลักในสหรัฐคาดว่า คงมีอะไรกระเพื่อมบ้าง แต่จะไม่มีผลถึงกับล้มล้างมูบารัคไปได้

ที่ตลกยิ่งไปกว่านั้นก็คือ อยาโตเลาะห์ อาลี คาเมนี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านได้กล่าวในเทศนาวันศุกร์หลังการลุกฮือของประชาชนในอียิปต์ว่า ความเคลื่อนไหวของชาวอียิปต์ในครั้งนี้คือสำนึกของอิสลาม อย่างเดียวกับที่เกิดในอิหร่านล้มระบอบชาห์มาก่อน

แต่ต่อมาไม่นาน คนอิหร่านเองก็ลุกฮือขึ้นมาต่อต้านระบอบเผด็จการทางศาสนาที่เข้มงวดของอิหร่านเองเหมือนกัน

ผมใช้คำว่า "ตลก" อาจไม่ยุติธรรมต่อผู้นำอิหร่านนัก เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ก็ไม่มีใครรู้ว่าการเคลื่อนไหวใหญ่ของชาวอาหรับในหลายประเทศขณะนี้จะนำไปสู่ระบอบอะไร ทุกคนจึงอาจ "อ่าน" ผิดได้เท่าๆ กัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอำนาจต่างๆ ทั้งที่อยู่ในแต่ละประเทศของโลกอาหรับ และที่อยู่นอกโลกอาหรับเช่นสหรัฐ จะเข้าไปแทรกแซงกำกับให้ความเปลี่ยนแปลงตรงนี้เป็นไปในทิศทางใด

แน่นอนว่าอำนาจเหล่านี้คงงัดข้อกันเองอีนุงตุงนัง จนในที่สุดระบอบที่ออกมาอาจไม่ตรงกับที่อำนาจเหล่านั้นต้องการแท้ๆ สักแห่งเดียว

แต่อย่าได้คิดเป็นอันขาดว่า ความเคลื่อนไหวของประชาชน (ซึ่งก็เป็นอำนาจชนิดหนึ่ง) จะเป็นผู้กำหนดชะตากรรมของประเทศแต่ผู้เดียว เรื่องนี้คนไทยน่าจะรู้ดี เพราะไม่ว่า 14 ตุลา, พฤษภามหาโหด (ทั้งสองครั้ง), หรือแม้แต่ 2475 ก็ไม่ได้ทำให้เกิดผล 100% อย่างที่ประชาชนผู้เคลื่อนไหวคาดหวัง



อันที่จริงแล้ว จะพูดว่าไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดการลุกฮือของประชาชนในโลกอาหรับเสียเลย ก็ไม่จริงนัก เพราะชาวอาหรับจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะที่อยู่นอกประเทศได้พูดถึงเรื่องนี้มานานแล้ว เพียงแต่ไม่ค่อยมีใครเชื่อเท่านั้น

ระบอบที่ดำรงอยู่ในตะวันออกกลางนั้น เป็นระบอบที่ไม่อาจดำรงอยู่ได้อย่างชัดเจน (และยิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อระบอบเหล่านั้นถูกล้มไปแล้ว... เพราะความฉลาดรอบรู้มักมาทีหลังเสมอแหละครับ)

ประชากรอาหรับนั้นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ฉะนั้น สังคมอาหรับจึงเป็นสังคมของคนหนุ่มสาว อายุเฉลี่ยของประชากรในประเทศอาหรับนั้นคือ 22 ปีเท่านั้น ต่ำกว่าอายุเฉลี่ยของประชากรโลกซึ่งอยู่ที่ 28 ปี

จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม คนเหล่านี้ได้เรียนหนังสือมากกว่าคนรุ่นพ่อแม่ของตัวด้วย สถิติการอ่านออกเขียนได้ของคนหนุ่มสาวอียิปต์ซึ่งเคยอยู่ที่ 63% เพิ่มขึ้นเป็น 85% ใน พ.ศ.2548 แล้วก็หางานทำไม่ได้เสียอีก

ตัวเลขคนตกงานในประเทศอาหรับนั้นน่าตกใจ 1 ใน 8 ของคนตูนิเซียไม่มีงานทำ ในบาห์เรนเป็น 1 ใน 7 ในเยเมนคือ 1 ใน 3 ทั้งหมดนี้เป็นตัวเลขของ "ทางการ" ซึ่งน่าเชื่อแค่ไหนคนไทยก็รู้ดีอยู่แล้ว

จึงไม่แปลกอะไรที่ประเทศเหล่านี้มีคนจนจำนวนมากอย่างน่าตกใจพอๆ กัน อัตราเฉลี่ยของคนที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนในกลุ่มประเทศอาหรับคือ 40% (ประเทศไทยอยู่ที่ 6-7%) อียิปต์มีมากกว่านั้น และเยเมนมีถึง 60%

แต่คนจนเข้ามามีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวมากน้อยเพียงไร ผมไม่ทราบ สำนักข่าวบางแห่งรายงานว่ากลุ่มผู้เคลื่อนไหวในอียิปต์ไม่ใช่คนจน แต่เป็นลูกหลานคนชั้นกลางที่มีการศึกษา


ผมไม่ค่อยแปลกใจนัก เพราะที่จนกรอบจริงๆ นั้นมักไม่สามารถเข้ามาร่วมในการเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ แม้แต่คนเสื้อแดงซึ่งมักประกาศตนเองเป็นคน "จน" เอาเข้าจริงก็ไม่ใช่คนใน 7% ที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน หากเป็นคนชั้นกลางระดับล่างซึ่งมีรายได้เฉลี่ยเกือบ 10,000 บาทต่อเดือน (จากข้อค้นพบของ อาจารย์อภิชาต สถิตนิรามัย กับกลุ่มคนเสื้อแดงในสองสามจังหวัด)

แต่การที่มีคนจนมากน่าจะเป็นเหตุให้องค์กรมุสลิมที่ต่อต้านรัฐบาลได้รับความนิยม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มฮามาสหรือกลุ่มภราดรภาพมุสลิม กลุ่มเหล่านี้จะ "หัวรุนแรง" หรือไม่ผมไม่ทราบ แต่กลุ่มเหล่านี้ได้ทำกิจกรรมทางสังคมแทนรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ (กว่ารัฐ) ไม่ว่าจะเป็นด้านให้การรักษาพยาบาลแก่คนยากไร้ (มีโรงพยาบาลของตนเอง) ให้การศึกษา (มีโรงเรียนและทุนการศึกษาของตนเอง) ตลอดจนให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ (เช่น มีการจัดตั้งสหกรณ์ของตนเอง) ฯลฯ

กลุ่มต่อต้านรัฐในเมืองไทยมีบทบาทในแง่สังคมไม่สู้จะมากนัก ผมอยากเดาว่าส่วนหนึ่งก็เพราะจำนวนคนจนในเมืองไทยลดลงไปมากแล้ว แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญกว่าก็คือ คนที่ถูกรัฐทอดทิ้ง คือคนที่ไม่ได้จนกรอบ หากได้เข้าสู่ตลาดอย่างค่อนข้างเต็มตัว (นับแต่ขายแรงงานขึ้นไปถึงรับซ่อมมอเตอร์ไซค์และค้าขายรายย่อย) เขาจึงต้องการนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อผลประโยชน์ของเขามากขึ้น มากกว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และด้วยเหตุดังนั้น การเคลื่อนไหวของพวกเขาจึงเป็นไปในทางการเมืองมากกว่าทางสังคม

การเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อช่วยตัวเองก็มีเหมือนกันนะครับ แต่เป็นการเคลื่อนไหวขององค์กรภาคประชาชน เช่น กลุ่มสัจจะออมทรัพย์, หรือการรวมเงินเพื่อช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาลแก่กันและกันเป็นต้น ซึ่งทำมาก่อนหน้านโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคเสียอีก

กลุ่มเหล่านี้ไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง จึงได้รับความไว้วางใจจากรัฐมากกว่า และบางกลุ่มก็ได้รับการอุดหนุนจากรัฐด้วย



ปัจจัยสำคัญอีกอย่าง ที่มีคนพูดถึงกันมากในความเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดขึ้นในโลกอาหรับครั้งนี้ก็คือ เครือข่ายทางสังคม หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือความสัมพันธ์ทางสังคมที่ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นฐาน

เขาบอกว่า แต่ก่อนนี้กว่าที่ผู้ต่อต้านรัฐจะรวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ต้องใช้เวลามาก และรัฐก็มักจะเด็ดยอดอ่อนเสียก่อนที่ขบวนการนั้นจะเติบโต แต่ในสมัยปัจจุบัน ยังไม่ทันที่สันติบาลจะอ่านข้อความในอินเตอร์เน็ตได้หมดเลย ประชาชนก็มาชุมนุมกันเต็มสี่แยกไปเสียแล้ว

ข้อนี้ก็เห็นได้ชัดในเมืองไทยเหมือนกัน โดยเฉพาะหลังการปราบเสื้อแดงอย่างป่าเถื่อนในพฤษภามหาโหดของ พ.ศ.2553 เพราะเครือข่ายทางสังคมช่วยให้เกิดการชุมนุมของประชาชนชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวนมากตลอดมา ทั้งๆ ที่สื่ออื่นๆ ของเสื้อแดงถูกกำกับควบคุมจนใช้เพื่อการนี้ไม่ค่อยได้ผล

แต่ผมคิดว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่อาศัยเครือข่ายทางสังคมเป็นฐานนี้ น่าจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย เพราะการเคลื่อนไหวอย่างนี้ยากที่จะมีแกนนำ มีได้แต่แกนนอน

คิดง่ายๆ (ซึ่งอาจจะง่ายเกินไป) อย่างนี้นะครับ สารที่เรารับผ่านเครือข่ายทางสังคมนั้น ขาดพลังปลุกเร้าที่เท่ากับการรับสารในการร่วมชุมนุม ส่วนใหญ่ของสารผ่านมาทางตัวหนังสือ ซึ่งไม่ว่าจะเขียนอย่างไร ก็ให้พลังปลุกเร้าได้ไม่เท่าเสียงพูดหลังไมค์ จริงอยู่เครือข่ายทางสังคมอาจมีคลิปวิดีโอแทนการเขียนก็ได้ แต่เราชมคลิปนั้นคนเดียวหน้าจอคอมพิวเตอร์ ไม่มีอารมณ์ของ "ม็อบ" มาเสริม เราจึงซึมซับสารนั้นอย่างช้าๆ มีสติที่จะคิดไตร่ตรองกับสารนั้นได้มากกว่า

ยิ่งกว่านี้ ยังอาจมีความเห็นอื่นที่คัดค้านสารนั้นแทรกเข้ามาในเครือข่ายเสียอีก แม้แต่ความเห็นที่สนับสนุนก็ยังอาจมีมุมมองที่ให้น้ำหนักแก่บางประเด็นที่แตกต่างจากสารของผู้ปลุกเร้าได้

ฉะนั้น จึงยากที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมจะเข้าร่วมเพื่อมาสนับสนุนแกนนำคนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทุกคนมาร่วมกันด้วยเหตุผลที่เหลื่อมกันไปในประเด็นต่างๆ

กลายเป็นปราการที่ไม่อาจถูกตะล่อมเข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้สนิทนัก เครือข่ายทางสังคมจึงเหมาะสำหรับแกนนอน คือสร้างความสัมพันธ์ในแนวนอน เชื่อมโยงกลุ่มต่างๆ ซึ่งไม่เหมือนกันทีเดียวนักให้เข้ามาร่วมในกิจกรรมอันเดียวกัน แต่ด้วยจุดมุ่งหมายและเหตุผลที่ต่างกัน

การเคลื่อนไหวของชาวอาหรับในอียิปต์และตูนิเซียครั้งนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่า แต่ละกลุ่มคิดฝันถึงอนาคตของบ้านเมืองไม่ตรงกันนัก ในอียิปต์บางกลุ่มยังไม่ยอมเลิกประท้วงเมื่อมูบารัคลาออกไปแล้ว



การเคลื่อนไหวแบบแกนนอนนั้นมีพลังอย่างไม่ต้องสงสัย แม้แต่ก่อนหน้าที่จะเกิดในโลกอาหรับ ก็ได้เกิดและประสบความสำเร็จในเรื่องต่างๆ มาไม่น้อย โดยเฉพาะในละตินอเมริกา แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือ แล้วยังไงต่อไปล่ะครับ

มูบารัคนั้น นอกจากกดขี่ข่มเหงประชาชนแล้ว เขายังทำให้อียิปต์เป็น "เสาหลักแห่งเสถียรภาพ" ในตะวันออกกลางตามทัศนะของอเมริกันอีกด้วย อียิปต์ทำให้นโยบายของสหรัฐและอิสราเอลเป็นไปได้ ไม่มีมูบารัคแล้ว อียิปต์ยังเป็นเช่นนั้นอีกหรือไม่ สหรัฐคงอยากให้เป็น เพราะสหรัฐต้องการมูบารัคที่ไม่ได้ชื่อมูบารัค (และอิสราเอลก็คงต้องการอย่างเดียวกัน)

เมื่อล้มมูบารัคได้แล้ว แล้วยังไงล่ะครับ รัฐบาลใหม่ของอียิปต์จะดำเนินนโยบายต่างประเทศรองรับสหรัฐต่อไป หรือควรเลิกเสียที ขบวนการประชาชนเลือกได้แค่ไหน

ดังนั้น นักเคลื่อนไหวบางคนจึงมีความเห็นว่า แกนนอนนั้นดี แต่ไม่พอ ต้องมีองค์กรที่เป็นของประชาชนนำในบั้นปลายด้วย เพื่อนำชัยชนะของประชาชนไปสู่ชัยชนะที่ถาวร

นอกจากนี้ แกนนอนเองก็อาจหมดพลังลงได้ เพราะรัฐบาลในโลกอาหรับหลายแห่งก็รีบปรับตัวทันที เช่น กษัตริย์จอร์แดนรีบยุบสภา เพื่อจัดให้มีรัฐบาลใหม่ (กษัตริย์ทรงแต่งตั้งทั้งสภาและรัฐบาลตามแนวทาง "คืนพระราชอำนาจ" ของจอร์แดน) ส่วนประธานาธิบดีเยเมนก็ประกาศจะไม่ลงเลือกตั้งครั้งหน้า (แต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีของเยเมนก็ไม่เคยเป็นไปอย่างเสรีจริงอยู่แล้ว)

เมื่อไม่มีแกนนำ ประชาชนจะรู้เท่าทันการแสดงจำอวดเหล่านี้ได้มากพอที่จะกดดันต่อไปหรือไม่

แต่ในทางตรงกันข้าม แกนนำที่สามารถล้มเผด็จการหนึ่งได้สำเร็จ ก็มักนำไปสู่เผด็จการอีกรูปแบบหนึ่ง อย่างที่เกิดในโซเวียต, จีน, คิวบา ฯลฯ

แล้วแกนนำดีหรือแกนนอนดี ผมตอบไม่ได้หรอกครับ

.