http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-02-24

เปิดข้อมูลเจ้าที่ดิน ตัวเร่งกระแสปฏิรูป? โดย ประสงค์ วิสุทธิ์

.
เปิดข้อมูลเจ้าที่ดิน ตัวเร่งกระแสปฏิรูป?
โดย ประสงค์ วิสุทธิ์ prasong_lert@yahoo.com
ในมติชนออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 เวลา 23:02:55 น.
แบ่งปันข่าวนี้บน facebook Share



ครม.เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 มีมติรับทราบข้อเสนอปฏิรูปการจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรของคณะกรรมการปฏิรูปที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีบอกว่า ได้มอบหมายให้นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีหารือกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องและสรุปเป็นมาตรการเชิงนโยบายเสนอต่อ ครม.ภายใน 2 สัปดาห์ โดยจะจัดทำมาเป็นตารางว่า มาตรการที่คณะกรรมการปฏิรูปเสนอตรงกับมาตรการที่รัฐบาลจะทำหรือไม่ซึ่งภายในรัฐบาลนี้จะได้ข้อยุติเชิงนโยบาย

การที่ครม.รับข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปไว้พิจารณาเบื้องต้นถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่การที่ ครม.มีมติดังกล่าว ยังไม่มีหลักประกันว่า รัฐบาล (รวมถึงพรรคการเมืองอื่นที่มีโอกาสเข้ามาบริหารประเทศ) จะมีการนำมาตรการของคณะกรรมการปฏิรูปไปแปรนโยบายให้สามารถปฏิบัติได้เชิงรูปธรรม เนื่องจากปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรเรื้อรังมายาวนาน มีความซับซ้อน เกี่ยวพันกับผู้คน กลุ่มผลประโยชน์ และผู้มีอิทธิพลมากมาย

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงต้องการผู้นำทางการเมืองที่เข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง มีความกล้าหาญและมีเจตจำนงอันแน่วแน่ที่จะผลักดันกระบวนการต่างๆ ให้เดินหน้าไปได้ ซึ่งแน่นอนว่าต้องเผชิญแรงต่อต้านจากกลุ่มผู้สูญเสียผลประโยชน์ที่ล้วนแต่มีอิทธิพลในทางการเมืองและทางเศรษฐกิจอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้


เนื่องจากที่ผ่านมาโครงสร้างการจัดการที่ดินของประเทศปล่อยให้รัฐและทุนเข้าถือครองที่ดินอย่างไม่จำกัดจนเกิดการกระจุกตัว ขณะที่เกษตรกรสูญเสียที่ดินจนไร้ที่ทำกินหรือมีที่ดินไม่พอทำกิน

ข้อมูลของศูนย์อำนวยการต่อสู้เอาชนะความยากจนแห่งชาติ (ศตจ.)ในปี 2547 รายงานว่า มีผู้ไม่มีที่ดินทำกิน จำนวน 889,022 ราย มีที่ดินทำกินแต่ไม่เพียงพอ จำนวน 517,263 ราย มีที่ดินแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ 811,279 ราย


ที่ดินจำนวนมากกระจุกตัวอยู่ในมือคนกลุ่มน้อย และถูกปล่อยทิ้งร้างไม่ใช้ประโยชน์ จึงกระทบต่อเศรษฐกิจฐานราก เกิดปัญหาสังคมทั้งในชนบทและในเมือง รวมทั้งส่งผลให้เกิดความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมของประเทศ

เชื่อว่า ปัจจุบันเวลาผ่านมานานกว่า 6 ปี ตัวเลขเกษตรกรไร้ที่ดินทำกินน่าจะพุ่งสูงกว่าเดิม ขณะที่การกระจุกตัวของการถือครองที่ดินของคนรวยก็น่าจะมีมากขึ้นเช่นกัน


เมื่อพูดถึงปัญหาที่ดิน คนทั่วไปมักนึกถึงที่ดินในภาคเกษตร แต่ความจริงแล้วในภาคเมือง ที่ดินซึ่งเป็นความมั่นคงในการดำรงชีวิต เป็นภาระหนักมากสำหรับชนชั้นกลางที่ต้องใช้เวลาค่อนหรือทั้งชีวิตในการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินเพียงไม่กี่ตารางวาซึ่งนับวันปัญหานี้จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และสอดสัมพันธ์กับการไร้ที่ดินทำกินในภาคเกษตรเพราะเมื่อไร้ที่ดินทำกินในภาคเกษตร ผู้คนก็จำเป็นต้องอพยพเข้าสู่เมืองทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้นปัญหาที่ดิน จึงส่งผลกระทบทั่วทั้งสังคม ไม่ใช่ปัญหาที่จำกัดวงเฉพาะในภาคชนบทเท่านั้น


เมื่อพิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปฯแล้วพบว่าเป็นรูปธรรมอย่างมาก เป็นการเสนอแก้ไขที่ดินทั้งระบบทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว

ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น การให้โอกาสและให้สิทธิคนจนที่ต้องคดีการบุกรุกที่ดินให้เข้าถึงและให้ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม

การแแก้ไขปัญหาระยาวเช่น การจำกัดการถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรต่อครัวเรือน การจัดระบบข้อมูลการถือครองที่ดินให้เป็นข้อมูลสาธารณะ (สามารถเปิดเเผย)ได้ เพื่อใช้ในการจัดการที่ดินให้เป็นธรรม การจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินทำหน้าที่ซื้อที่ดินไปจัดสรรให้เกษตรกรที่ขาดแคลน การเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า ถ้าเกินเพดานที่กำหนดให้เก็บอัตราสูง (อาจนำเงินส่วนนี้ไปเป็นทุนธนาคารที่ดิน) กำหนดเขตการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตรอย่างชัดเจน


ในข้อเสนอเหล่านี้ มีอยู่เรื่องหนึ่งสามารถทำได้อย่างรวดเร็วคือ การทำให้ข้อมูลการถือครองที่ดินเป็นข้อมูลสาธารณะโดยการแก้ไข พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 เพิ่มบทบัญญัติในมาตรา 9 กำหนดให้ข้อมูลการถือครองที่ดินในหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมที่ดิน สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ต้องจัดให้ประชาชนตรวจดู รวมทั้งค้นหาได้ทางเว็บไซต์

การที่เอาข้อมูลการถือครองที่ดินของบรรดามหาเศรษฐีหรือนิติบุคคลต่างๆ มาเปิดเผยต่อสาธารณะ น่าจะทำให้เกิดแรงกดดันทางสังคมต่อบุคคลหรือบริษัทเหล่านั้นด้วย และอาจเป็นแรงผลักดันทางหนึ่งให้กระบวนการการปฏิรูปที่ดินเคลื่อนที่ไปได้


ถ้านายกรัฐมนตรีมีเจตจำนงแน่วแน่ในเรื่องนี้น่าจะทำเรื่องนี้ก่อน เป็นการวางมัดจำให้เห็นว่า มีความจริงใจในการปฏิรูปที่ดินจริง มิใช่ดีแต่ลมปากเหมือนนักการเมืองหลายยุคหลายสมัยที่ผ่านมา.

.