http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-02-16

ชำแหละ 11 ปมปัญหาปราสาทพระวิหาร

.
"สุรชาติ บำรุงสุข"ชำแหละ 11 ปมปัญหาปราสาทพระวิหาร 5 คำตอบที่เป็นไปได้
ในมติชนออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.
แบ่งปันข่าวนี้บน facebook Share


เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่หอประชุมศรีบุรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการจัดสัมนาวิชาการอุษาคเนย์ ครั้งที่ 8 ประจำปี 2554 หัวข้อ "สยาม-ขะแมร์ คู่รัก คู่ชัง คู่กรรม คู่เวร" โดยในงานสัมมนามีการอภิปรายหัวข้อ "ปราสาทพระวิหาร: แผนที่ พรมแดน สู่ปมมรดกโลก" โดยมีผู้เข้าร่วมอภิปราย ได้แก่ รศ.สุรชาติ บำรุงสุข, อ.มรกต เจวจินดา ไมยเออร์ และ อ.พนัส ทัศนียานนท์


11 ประเด็น และ 5 คำตอบ เรื่องเขาพระวิหาร

รศ.ดร.สุรชาติ กล่าวว่า คิดว่าเราติดกับอยู่กับคำถามว่า "ใครยิงก่อน" ตนมีคำตอบแบบหนึ่งว่า "พอกระสุนนัดแรกดัง คนตายคนแรกคือพลทหารความจริง" เอาเข้าจริงๆแล้วเชื่อว่ามันตอบไม่ได้เพราะมันโยงกับประเด็นอื่นที่เรารู้ หรืออาจไม่รู้ก็แล้วแต่

ถ้าเริ่มต้นดูเหตุการณ์ปราสาทพระวิหารรอบ 2 คิดว่าเริ่มจากการประชุมที่โอ๊คแลนด์ นิวซีแลนด์ ต้นปี 2550-2551 โดยช่วงตั้งแต่ต้นปี 2551 นั้นมีปมประเด็น 11 ประเด็นย่อยๆ ซึ่งพอเกิดข้อโต้แย้งขึ้นนั้น หลายฝ่ายยังไม่มีความชัดเจน

1. เรายอมรับหรือไม่ว่าตอนที่เรามีปัญหากับฝรั่งเศสในยุคล่าอาณานิคม สยามเคยทำสัญญากับฝรั่งเศสทั้งหมด 3 ฉบับ เพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งกับทางฝรั่งเศส คือสนธิสัญญาปีพ.ศ. 2436, 2446 และ 2449 เอกสาร 3 ฉบับนี้จำเป็นที่ต้องยอมรับเพราะเห็นว่าได้ให้สัตยาบันทั้ง 3 ฉบับ แต่ชอบหรือไม่ชอบนั้นพูดยาก เพราะสมัยนั้นเราตัดสินใจที่จะกำหนดเส้นเขตแดนของสยาม ฉะนั้นปัญหาเกิดที่ว่าสัญญาทั้ง 3 ฉบับ ตกลงให้มีการใช้สันปันน้ำเป็นตัวแบ่งเขตแดน แต่ในสัญญาปี 2449 นั้นระบุให้มีการตั้งข้าหลวงผสมให้ไปกำหนดเขต ผลพวงที่ตามมาคือ แผนที่ปักปันเขตแดนปี 2451 เพราะฉะนั้นต้องถามใจดูว่า รับหรือไม่รับกับสนธิสัญญาที่ทำตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

2. เราได้ยินกันมาในระยะสัก 3-4 ปีว่าตกลงการปักปันฝรั่งเศสนั้นเป็นการทำฝ่ายเดียวหรือเป็นการปักปันร่วม ตนคิดว่าคำตอบ หลักฐานยืนยันว่าเป็นการปักปันของคณะกรรมการผสม ประธานของฝ่ายสยามคือ พลเอกหม่อมชาติเดชอุดม ของฝรั่งเศสคือ พันโท แบร์นาร์ ตรงนี้ต้องยอมรับว่า การปักปันทั้งหมดที่เกิดขึ้นตั้งแต่เชียงราย ถึง จังหวัดตราด พื้นที่แนวทางบกนั้นเป็นการปักปันด้วยคณะกรรมการผสม และสยามเป็นส่วนร่วมด้วย

3. เราบอกไม่ยอมรับแผนที่ 908 หรือของปีพ.ศ. 2451 บอกว่าแผนที่นี้เป็นแผนที่ซึ่งโยงกับประเด็นข้อ 2 คือ ฝรั่งเศสทำฝ่ายเดียว แต่จริงๆต้องยอมรับว่า แผนที่เส้นเขตแดนตั้งแต่ เชียงราย จรด ตราด นั้นถูกแบ่งเป็น 11 ระวาง เมื่อฝรั่งเศสจัดพิมพ์แผนที่ที่ปารีสแล้ว รัฐบาลสยามจัดพิมพ์เพิ่มอีก 50 ชุด ใน 50 ชุดนั้น ส่งกลับกรุงเทพฯ 44 ชุด อีก 2 ชุดเก็บที่สถานทูตที่ปารีส 4 ชุดเก็บที่สถานทูตไทยใน 4 ประเทศคือ อังกฤษ เยอรมัน รัสเซีย และสหรัฐฯ เพราะฉะนั้นตรงนี้อาจต้องปรับความเข้าใจว่า แผนที่ที่พูดกันว่าไม่รับนั้น เป็นแผนที่ฉบับนี้นั่นเองคือ แผนที่ 1 ต่อ 2 แสนที่เราได้ยินกันเสมอมา

4. กรณีรับแผนที่ แต่ขอรับบางฉบับหรือบางระวาง ข่าวที่ออกมาเร็วๆนี้จะเห็นผู้นำระดับสูงของไทยออกมาพูดว่า รับเฉพาะบางระวาง ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาที่ยาก เพราะในการสั่งพิมพ์นั้นได้มีเอกสารจากสถานทูตไทยที่ปารีส ลงวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1908 ถึงรัฐบาลสยามที่กรุงเทพฯ แล้วยอมรับว่า เราได้สั่งให้พิมพ์แผนที่เพิ่มเติม เพราะฉะนั้น ปัญหาการรับเรื่องบางระวางนั้นคิดว่าต้องยอม เพราะเรารับแผนที่ทั้งหมด 11 ระวางนั้นแล้ว

5. 2 ปีหลังที่ผ่านมามีประเด็นเรื่องเอกสารลับโผล่มา คำตอบคือ ความตกลงสยาม-ฝรั่งเศสไม่เคยทำเป็นเอกสารลับใดๆทั้งสิ้น และเป็นความตกลงเปิดทั้งหมด เอกสารลับถ้าจะมีเป็นความตกลงระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสในปัญหาสยาม แต่ปัจจุบันเป็นเอกสารเปิดทั้งหมดแล้ว ต้องยอมรับอีกว่า เราไม่ได้ดูหนังสายลับ ขอยืนยันว่าไม่มี แต่ถ้ามีก็ต้องเปิด แต่เท่าที่รู้จนถึงวันนี้ไม่มีแผนที่ลับ หรือสนธิสัญญาลับ เรื่องทั้งหมดนั้นสยามตัดสินใจที่จะมีเส้นพรมแดนสมัยใหม่ ไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีเขตแดนเป็นของตัวเอง และในยุคอาณานิคมเราจะ
อ้างอิงไม่ได้ว่าพื้นที่ของสยามนั้นอยู่ตรงไหน

6. รับหรือไม่รับคำตัดสินศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก คำตัดสินของศาลโลก 9 ต่อ 3 ตัดสินว่า "ปราสาทอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา" ปัญหาคือ เรายอมรับได้เพียงใด หรือ วันนี้ยอมรับว่าเขมรได้แต่ตัวปราสาทเขาพระวิหาร แต่ตัวพื้นที่เขมรนั้นไม่มี ปราสาทเสมือนตั้งอยู่บนสุญญากาศ เพราะพื้นที่ทั้งหมดยังถือเป็นพื้นที่ภายใต้อธิปไตยของไทย อันนี้จะเป็นปัญหาโยงมาสู่ข้อ 7

7. กล่าวคือ กัมพูชาได้ตัวปราสาท แต่ไทยได้พื้นที่ทั้งหมด ถ้าเป็นการตีความแบบนี้ คำตอบจะมีปัญหาทันที มีนักกฎหมายบางคนสร้างทฤษฎีว่า ปราสาทเสมือน "มือถือ" บังเอิญเขมรมาลืมมือถือเอาไว้ในบ้านไทย เขมรเลยเป็นเจ้าของมือถือ แต่มือถือที่วางอยู่บนโต๊ะนั้นเป็นกรรมสิทธิ์ของไทย แต่คนรุ่นหลัง ต้องทำความเข้าใจ โดยเอกสารของกระทรวงการต่างประเทศได้ทำความเห็นหลังจากคำตัดสินของศาลโลกแล้ว ให้ลากเส้นเขตแดนกำกับตัวพื้นที่ของปราสาทพระวิหาร เส้นนี้ถูกกำหนดเป็นเวิ้งของพื้นที่อย่างที่เห็นในปัจจุบัน หรือ เป็นเวิ้งของพื้นที่เหมือนที่รัฐบาลของกัมพูชาขอขึ้นทะเบียนปราสาทเป็นมรดกโลก เพราะฉะนั้น ถ้าเปิดแผนที่โดยเฉพาะที่เป็นแผนที่ทหาร เราจะเรียกเส้นเขตแดนตรงนี้ว่าเส้นตามมติครม.ปี 05 เป็นที่รู้กันว่ารัฐบาลสมัยนั้นได้ลากเส้นกำกับพื้นที่รอบตัวปราสาทเอาไว้แล้ว

ต้องทำความเข้าใจเพราะจะมีคนพูดว่าตกลงด้วยตัวคำตัดสิน เขมรจะได้ตัวปราสาทที่เป็นปราสาทหิน แต่พื้นที่ทั้งหมดยังเป็นของสยาม เหมือนกับมีนายทหารชั้นผู้ใหญ่บางท่านเสนอว่า ถ้าอย่างนั้นให้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ยกตัวปราสาทออกจากพื้นที่ของไทย ซึ่งถ้าคิดอย่างนี้ ท่านมีปัญหาแน่ เพราะทฤษฎีโทรศัพท์มือถือนั้น การเปรียบเทียบสังหาริมทรัพย์ กับ อสังหาริมทรัพย์เปรียบเทียบกันไม่ติด คิดว่าเป็นความไขว้เขว

8. การสงวนสิทธิ์ในแถลงการณ์ของจอมพลสฤษดิ์ รวมถึงคำแถลงการณ์ของรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศขณะนั้น ได้พูดถึงการสงวนสิทธิ์ของรัฐบาลจริง คำตอบคือ มีจริง แต่คำถามก็มีข้อโต้แย้งจากฎหมายระหว่างประเทศว่า คำตัดสินของศาลโลกนั้นถือเป็นสิ้นสุดหรือไม่ โดยหลักการแล้วคำตัดสินเป็นสิ้นสุด ไม่มีการอุทธรณ์ แต่ถ้าจะมีการสงวนสิทธิ์น่าจะมีอายุ ซึ่งมีอายุเพียง 10 ปี นั่นหมายความว่า รัฐบาลต้องมีหลักฐานใหม่ที่ส่งผลให้คำตัดสินเดิมนั้นถูกเปลี่ยนแปลง 10 ปีจากปี 2505-2515 เราไม่เคยใช้การสงวนสิทธิ์ จนถึงทุกวันนี้ถ้าไม่นับเรื่องแผนที่ลับ เข้าใจว่าเราไม่มีหลักฐานใหม่ ยกเว้นแต่คนที่บอกว่าเอกสารลับมีจริงและสามารถแย้งกับคำตัดสินเดิม แต่ถ้าคิดมิตินี้ต้องยอมรับว่าสิทธิ์ได้หมดลงแล้ว

9. อนุสัญญาโตเกียวปีพ.ศ. 2484 ซึ่งสิ้นสุดด้วยสัญญาวอชิงตัน ดินแดนที่เราได้อันเป็นผลพวงของสงความโลกครั้งที่ 2 ทั้งหมด ฝ่ายสัมพันธมิตรตีความว่าเป็นการได้จากฝ่ายอักษะต้องคืน

10. ปัญหา"เอ็มโอยู" จะเลิกหรือไม่เลิก ต้องทำความเข้าใจว่าเอ็มโอยูปี 43 เป็นการสร้างกรอบของการเจรจา ถ้าคิดในมิติของการเจรจาระหว่างประเทศ เอ็มโอยูเป็นการสร้างกรอบว่าหากเกิดข้อพิพาทแล้วจะใช้อะไร ซึ่งก็จะกลับไปที่ข้อหนึ่ง สัญญาและอนุสัญญา 3 ฉบับ บวกกับที่ปักปันหนึ่งฉบับ เพราะฉะนั้นไม่ว่าเลิกหรือไม่เลิกสัญญาเหล่านี้จะไม่ไปไหนเพราะจะเป็นตัวที่บังคับใช้ เนื่องจากเป็นเอกสารที่ได้รับการทำสัตยาบันแล้ว

11. แผนที่ 1 ต่อ 5 หมื่น คือ แผนที่ชุด แอล 7017 ต้องทำความเข้าใจว่า แผนที่กัมพูชาเป็นชุด แอล7016 แผนที่ชุด แอล 7017 นี้ต้องตกลงว่าเป็นแผนที่ยุทธการที่ใช้สำหรับภารกิจทางทหาร แต่แผนที่ชุดนี้เป็นแผนที่ที่ไม่ใช้ในการกำหนดเส้นเขตแดนระหว่างประเทศ เพราะฉะนั้น แผนที่ 1 ต่อ 5 หมื่น เป็นไปได้หรือที่จะเอาขึ้นสู่การตัดสินในศาลระหว่างประเทศในอนาคต คำตอบก็จะกลับไปที่ข้อหนึ่ง คือ แผนที่ 3 ฉบับบวกแผนที่ปักปัน 1 ฉบับ


สุดท้าย คือข้อ 12. ถ้าไม่รับข้อ 1 ถึง 11 แล้วตกลงจะรับอะไร คำถามคือ จะทำอย่างไร

ลองทดลองด้วยคำตอบ 5 ข้อ คือหนึ่ง จูงมือกันไปศาล นำคดีขึ้นสู่ศาลระหว่างประเทศต่อไป แต่ต้องตระหนักว่า เมื่อขึ้นศาลรอบใหม่นี้ เอกสารจะเป็นฉบับเดิมเหมือนที่เคยขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2502 ก็ยาก และอนุสัญญาบวกกับแผนที่ปักปันหนึ่งฉบับก็คงไม่ได้เกิดขึ้นใหม่ในศาลโลกใหม่ในวันนั้น

สอง ถ้าไม่ไปศาล จะเปิดการเจรจาในลักษณะพหุภาคีที่มิได้มีแต่คู่กรณี แต่จะเป็นการเจรจาภายใต้กรอบของอาเซียน หรือยูเอ็น แต่คิดว่าเมื่อดูคำตอบที่ผ่านมา ผู้นำรัฐบาลไทยประกาศชัดว่าไม่เอาอะไรที่เป็นลักษณะพหุภาคี

สามถ้าเป็นทวิภาคี ถามว่าจะเจรจาอย่างไรในสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นอยู่ หรือมีความหวังว่าเจรจาทวิภาคีในปัจจุบันจะเป็นเหมือนเหตุการณ์มกราคม 2484 ในวันที่กองทัพสยามรุกเข้าไปในพื้นที่อินโดจีนและเปิดการเจรจาจนได้อนุสัญญาโตเกียว คำตอบเข้าใจว่า ยาก

สี่ถ้าเราทำอะไรไม่ได้เลย และเกิดความขัดแย้งขนาดใหญ่สิ่งที่จะตามมาคือการแทรกแซงจากภายนอก ถ้าเช่นนั้นหรือจะเอาเป็นพื้นที่ปฏิบัติการรักษาสันติภาพของยูเอ็น เชื่อว่าก็คงไม่เอา

สุดท้าย คือการทำสงคราม แล้วเราจะได้อะไร สงครามจะสามารถปรับเส้นเขตแดนได้หรือไม่ ตอนปรับปีพ.ศ. 2484 และ 2486 ได้พื้นที่กลับมา แต่พอปี 2489 เรากลับต้องคืนทั้งหมด คำถามคือ การปรับเส้นเขตแดนด้วยสงครามในศตวรรษที่ 21 มีความเป็นจริงเพียงใด หรือคำตอบอยู่ที่เราอาจไม่ได้คิดปรับเส้นเขตแดน หรือเราอาจคิดเพียงแค่ว่าสงครามจะเป็นเครื่องมือที่ยูเนสโกไม่สามารถดำเนินการมรดกโลกที่เขาพระวิหารได้



มรดกโลก: จุดเริ่มต้นของการสร้างความร่วมมือข้ามเขตแดนกับเพื่อนบ้าน

อ.มรกต กล่าวว่า ปมไทยกัมพูชา มี 4 ปมคือ พระวิหาร คือ ไทยนั้นดื้อแพ่ง ท้าทายกติการะหว่างประเทศ อาฆาตไม่ปล่อยวาง

สองคือ พื้นที่ทับซ้อน กล่าวคือ ถือแผนที่คนละฉบับ

ปมที่ 3 คือ ปมมรดกโลก การต่อต้านที่ไทยไม่ยอมให้ขึ้นทะเบียนซึ่งก็จะไปโยงกับปมที่ 2 เพราะมรดกโลกไม่ได้เป็นเรื่องความภาคภูมิใจของชาติ แต่กัมพูชาเล่นในเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิภาคหรือพัฒนาภูมิภาค ถึงกระตือรือร้นมาก

เรื่องเอ็มโอยู 43 นั้นให้ประโยชน์กับไทยที่ว่า ยังยึดสนธิสัญญา 2 ฉบับที่ไทยยึดสันปันน้ำให้เป็นส่วนหนึ่งในการเจรจาได้ ฉะนั้นในเอ็มโอยูนี้ให้โอกาสกับไทยในการพูดสิ่งที่เรายึดมาตลอดว่า เขตแดน 4.6 เป็นของไทย

ปมที่ 4 คือ การปะทะระหว่างไทย-กัมพูชา
ขอเรียกร้องให้มีการถอนทหารโดยเร็ว เพราะเป็นเรื่องของชาตินิยมที่ไม่ได้เป็นประโยชน์กับใครนัก การปะทะกันนี้ทำให้ไทยจมปลักในเรื่องชาตินิยมเกินไป ตีความอำนาจอธิปไตยที่เน้นแต่เรื่องดินแดนที่ไม่มีชีวิต อำนาจอธิปไตยนั้นเป็นของปวงชนชาวไทย ฉะนั้นอำนาจอธิปไตยจึงให้ความสำคัญกับการอยู่ในพื้นที่ร่วมกันทางวัฒนธรรมของคน


การปะทะกันที่เขตแดนส่งผลต่อการก้าวเข้าสู่เขตเศรษฐกิจเสรีอาเซียน ไทยเสียโอกาสในการก้าวไป ในประเทศไทยตกลงใจซ่อนปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาต่างๆภายใต้หน้ากากชาตินิยมเพียงอย่างเดียว

สังคมไทยยังมองมรดกโลกติดอยู่กับวิธีคิดเกี่ยวกับรัฐชาติ คือ ต้องเชิดชูมรดกของชาติตัวเองอย่างเดียว แต่จริงๆแล้วมรดกโลกโดยทั่วไปที่เป็นกรณีที่สำเร็จแล้วเขาถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความร่วมมือข้ามเขตแดนกับเพื่อนบ้าน ทั้งในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก อย่างกรณี เนเธอร์แลนด์กับเบลเยียม ที่มีหมู่บ้านมรดกโลกซ้อนกัน เป็นต้น



ถกเส้นเขตแดน

อ.พนัส กล่าวว่า แม้ว่าศาลได้ตัดสินเรื่องตัวปราสาทไปแล้ว แต่ในแง่เรื่องเส้นเขตแดนนั้นอาจเป็นเรื่องที่ไทยยังมีโอกาสเจรจา หรือเอาเรื่องไปที่ศาลโลก

ท่าทีและจุดยืนของรัฐบาลไทยปัจจุบันที่ขอขึ้นทะเบียนร่วมกันนั้น หากกัมพูชายินยอมให้ขึ้นทะเบียนร่วมจะมีผลเป็นการลบล้างข้อสงวนสิทธิของไทย ที่ทำไว้หลังจากศาลโลกมีคำพิพากษาในปีพ.ศ. 2505 หรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ต้องไปคิดกันต่อไป

สุดท้ายแล้วก็คงไปฟ้องศาลโลกให้ตัดสินเรื่องเส้นเขตแดน เพราะที่ศาลตัดสินไปเมื่อคราวที่แล้วนั้นยังไม่เป็นบรรทัดฐาน และมีความเป็นไปได้ที่จะไปต่อสู้ในเรื่องนี้โดยตรงว่าเส้นเขตแดนจะอยู่ที่ไหนกันแน่ และแผนที่ที่มีการทำขึ้นมาใหม่ในภายหลังจะสามารถนำมาใช้ได้หรือไม่ แม้ว่าจะเป็นแผนที่ทหารก็ตาม

.