http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-02-12

ประชาธิปไตยภิวัตน์ จากตูนิเซีย สู่อียิปต์และ... โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.
ประชาธิปไตยภิวัตน์ จากตูนิเซีย สู่อียิปต์และ...
โดย สุรชาติ บำรุงสุข
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1591 หน้า 36


"เราไม่เคยคาดหวังว่า การเปลี่ยนจากเผด็จการไปสู่เสรีภาพ เกิดขึ้นได้บนเตียงอันอ่อนนุ่ม"
โทมัส เจฟเฟอร์สัน
ประธานาธิบดีคนที่ 3 ของสหรัฐอเมริกา
(ค.ศ. 1743 - 1826)

หลังจากการสิ้นสุดของยุคสงครามเย็น เห็นได้ชัดเจนดังข้อสังเกตของ แซมมวล ฮันติงตัน นักวิชาการชาวอเมริกันที่กล่าวถึงปรากฏการณ์ "กระแสประชาธิปไตย" (Democratic Wave) ที่ขยายตัวออกไปสู่พื้นที่ต่างๆ ของโลก ว่าที่จริงก็อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรกับปรากฏการณ์เช่นนั้น เพราะการยุติของสงครามเย็นในเวทีโลกจากการประกาศรวมชาติของเยอรมนีในเดือนพฤศจิกายน 2532 (1989) ก็คือสัญญาณที่บ่งบอกถึงการสิ้นสุดของภัยคุกคามของลัทธิสังคมนิยม ซึ่งการสิ้นสุดเช่นนี้มีนัยโดยตรงถึงการสิ้นสุดของพลังทางอุดมการณ์การเมืองทั้งในระดับโลกและในระดับประเทศ

การหมดพลังขับเคลื่อนทางอุดมการณ์ของลัทธิสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ ย่อมทำให้อุดมการณ์ของโลกตะวันตกในเรื่องของเสรีนิยมทั้งในเรื่องทางการ เมือง (ประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง) และทางเศรษฐกิจ (กลไกตลาดและเศรษฐกิจทุนนิยม) กลายเป็นทิศทางหลักของโลก ดังนั้น กระแสโลกาภิวัตน์ที่พัดอยู่ในเวทีโลกหลังยุคสงครามเย็น จึงเป็นกระแสประชาธิปไตยและเศรษฐกิจเสรีควบคู่กันไป จนนักวิชาการอย่างฮันติงตันตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศที่การเมืองจะเสรีได้นั้น เศรษฐกิจของประเทศจะต้องเสรีเป็นพื้นฐานก่อน หรือหากกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ประเทศจะเป็นประชาธิปไตยก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจของประเทศดังกล่าวเป็นทุนนิยม

ดังนั้น ไม่ว่าเราจะชอบกับเงื่อนไขเช่นนี้หรือไม่ก็ตาม แต่ข้อกำหนดเช่นนี้ดูจะเป็นเรื่องพื้นฐาน ในอีกด้านหนึ่ง การที่ระบบเศรษฐกิจเป็นทุนนิยมก็มิได้หมายความโดยตรงว่าระบบการเมืองของ ประเทศจะเป็นประชาธิปไตยได้โดยอัตโนมัติ เพราะการมีเศรษฐกิจเสรีมิได้เป็นข้อกำหนดเสมอไปว่าการเมืองจะต้องเสรีตามไปด้วย แต่ถ้าต้องการให้การเมืองเสรีก็จะต้องทำให้เศรษฐกิจเสรีก่อนเสมอ

เงื่อนไขของความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจกับการเมืองเช่นนี้เป็นประเด็นน่าสนใจ เพราะหลังจากการพังทลายของระบบสังคมนิยม-คอมมิวนิสต์แล้ว กลไกเศรษฐกิจที่ใช้การรวมศูนย์หรือการควบคุมจากส่วนกลาง กลายเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ ดังจะเห็นได้จากเศรษฐกิจของสหภาพโซเวียต ยุโรปตะวันออก หรือจีนเองก็ตาม ที่มีความล้าหลังอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจทุนนิยมของตะวันตก ฉะนั้น การพัดพาของกระแสโลกาภิวัตน์จึงทำให้ทุนนิยมกลายเป็นระบบเศรษฐกิจของโลก ซึ่งก็จะเห็นได้ชัดเจนว่าเศรษฐกิจของทุกประเทศทั่วโลกเป็นทุนนิยมกันหมด แม้จะมีความแตกต่างในรายละเอียดตามลักษณะเฉพาะของเงื่อนไขแต่ละประเทศก็ตาม

แต่การก้าวสู่ระบบทุนนิยมเช่นนี้ ก็มิได้เป็นหลักประกันว่าประเทศเหล่านั้นจะกลายเป็นประชาธิปไตยไปได้โดยอัตโนมัติ ดังจะเห็นได้ว่า ปรากฏการณ์หลักในปัจจุบันก็คือ หลายประเทศมีระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม แต่กลับมีระบบการเมืองการปกครองเป็นอำนาจนิยม หรือประเทศเหล่านี้มีระบบการปกครองแบบพรรคเดียวที่มีการควบคุมทางการเมืองอย่างเข้มงวด

ว่าที่จริง ลักษณะเช่นนี้เห็นได้ในหลายประเทศ แต่ก็ต้องยอมรับว่าในเวทีสากลแล้ว มีแต่เพียงประชาธิปไตยเท่านั้นที่เป็นกระแสหลัก และไม่ว่านักอนุรักษ์นิยมสุดขั้วคนใดจะโกรธและเกลียดการเมืองแบบการเลือกตั้งเท่าใดก็ตาม แต่การเลือกตั้งก็ถูกกำหนดให้เป็น "ตัวชี้วัดพื้นฐาน" ของความเป็นประชาธิปไตย เพราะไม่มีระบบประชาธิปไตยสมัยใหม่ใดเกิดขึ้นได้โดยไม่มีการเลือกตั้ง การกล่าวว่าการเลือกตั้งไม่ใช่สาระของประชาธิปไตย จึงเป็นเพียงคำกล่าวที่หาสาระไม่ได้ หรือกลายเป็นวาทกรรมของการโฆษณาชวนเชื่อของพวกอนุรักษ์นิยมสุดขั้วเท่านั้นเอง

การเคลื่อนตัวของกระแสนี้ทำให้หลายประเทศต้องยอมให้เกิดกระบวนการสร้างประชาธิปไตย(democratization) ดังจะเห็นได้จากตัวแบบในรัสเซีย ยุโรปตะวันออก แอฟริกา (เช่น กรณีของแอฟริกาใต้) หรือในเอเชียเองก็ตาม

ดังนั้น คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า กระแสโลกาภิวัตน์ได้พัดพาเอาประชาธิปไตยและการเลือกตั้งไปทั่วโลก หรืออาจจะเรียกว่ากระแส "ประชาธิปไตยภิวัตน์" แม้แต่พม่าซึ่งเคยพยายามสร้างทำนบขวางกั้นกระแสจากโลกภายนอกด้วยการปิดประเทศ ก็ต้องพบกับแรงกดดันอย่างมาก ผู้นำทหารพม่าในยุคปัจจุบันจึงต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ ไม่สบายเหมือนกับตอนปิดประเทศในยุคต้นของนายพลเนวิน


สำหรับในปี 2554 กระแสประชาธิปไตยเริ่มต้นขึ้นแล้วด้วยการโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการตูนิเซีย เมื่อวันที่ 15 มกราคม ที่ผ่านมา รัฐบาลของ นายพลซิเน เอล - อบิดีน เบน อาลี ซึ่งครองอำนาจมาอย่างยาวนานด้วยการปกครองแบบอำนาจนิยมถึง 23 ปีก็เป็นอันสิ้นสุดลง เขาและครอบครัวต้องลี้ภัยไปอยู่ในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งดูจากรายงานและภาพข่าวที่ปรากฏในสื่อแล้ว อาจจะต้องถือว่าการเปลี่ยนแปลงในตูนิเซียเป็น "การปฏิวัติประชาธิปไตย" (แม้ว่าคำนี้เดิมจะเป็นภาษาของพวกปีกซ้ายก็ตาม แต่ก็น่าจะเป็นคำที่สื่อสารให้เห็นภาพลักษณ์ทางการเมืองของเหตุการณ์ดังกล่าวได้ดีที่สุด) และทั้งยังต้องยอมรับในอีกด้านหนึ่งด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็น "ประชาธิปไตยภิวัตน์" ที่เป็นผลพวงจากโลกาภิวัตน์

เรื่องราวเช่นนี้ ด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเมืองในอนาคต ที่การมีส่วนร่วมของประชาชนจะถูกเปิดกว้างมากขึ้น นักอนุรักษ์นิยมบางคนอาจจะมองว่า การเปิดกว้างเช่นนี้จะทำให้เกิด "การเมืองมวลชน" (mass politics) จนอาจนำไปสู่ความยุ่งยากหรืออาจกลายเป็นความไร้เสถียรภาพทางการเมืองได้ไม่ยากนัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ในโลกปัจจุบัน เราไม่อาจปฏิเสธการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในวงกว้างได้อีกต่อไป เพราะในอีกส่วนหนึ่งของโลกาภิวัตน์ก็คือการนำเสนอถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในภาคต่างๆ ของการบริหารรัฐ ดังเช่น เรื่องของการกระจายอำนาจ การปกครองท้องถิ่น เป็นต้น หรือแม้แต่เรื่องของการปฏิรูปภาคความมั่นคงเองก็เช่นกัน

เรื่องราวเช่นนี้บ่งบอกว่า การขยายตัวในการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นอีกตัวชี้วัดหนึ่งที่มาคู่ขนานกับกระแสประชาธิปไตยในเวทีโลก


ดังนั้น เมื่อกระแสประชาธิปไตยในปีนี้เริ่มขึ้นที่ตูนิเซีย ก็มีคำถามตามมาทันทีว่า หลังจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังกล่าวแล้ว "หมากโดมิโน" ที่จะล้มเป็นตัวต่อจากตูนิเซียคือเผด็จการของประเทศใด และไม่ทันที่คำถามจะถูกตอบ เราก็เริ่มเห็นการก่อตัวของกระแส "ปฏิวัติประชาธิปไตย" ในอียิปต์ (ท่านที่ดูข่าวต่างประเทศจะเห็นถึงภาพต่างๆ ของการต่อสู้ของประชาชนกับกองกำลังของฝ่ายรัฐบาล)

หากจะเปรียบเทียบแล้ว อียิปต์ก็มีอะไรหลายอย่างคล้ายกับเงื่อนไขของตูนิเซียอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นความขัดสนทางเศรษฐกิจ การผูกขาดอำนาจของผู้ปกครอง การคอร์รัปชั่น และที่สำคัญก็คือประชาชนไม่สามารถแสดงออกทางการเมืองได้เท่าใดนัก พวกเขาถูกควบคุมทางการเมืองไว้อย่างเข้มงวด ในขณะเดียวกัน ประธานาธิบดี ฮอสนี มูบารัค ซึ่งมีอายุถึง 82 ปี และปกครองประเทศมาแล้วราว 3 ทศวรรษ ก็ยังแสดงออกถึงความต้องการที่จะอยู่ในการเมืองแบบอำนาจนิยมต่อไป

แม้คนอียิปต์อาจจะมีความรู้สึกอยากเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่แตกต่างกับคนตูนิเซีย แต่ความรู้สึกเช่นนี้ถูกเก็บกดไว้ได้มากกว่า เช่น ไม่ค่อยมีการประท้วงขนาดใหญ่ในอียิปต์ อาจจะเป็นเพราะการควบคุมอย่างเข้มงวด การประท้วงโดยทั่วไปในอียิปต์มีผู้ร่วมไม่กี่ร้อยคนก็ถือว่าใหญ่แล้ว นอกจากนี้ โดยทั่วไปคนอียิปต์ก็อ่านออกเขียนได้หรือได้รับการศึกษาน้อยกว่าคนตูนิเซีย และที่สำคัญ มีคนใช้อินเตอร์เน็ตน้อยกว่าในตูนิเซีย...พวกเขาส่วนใหญ่มีชีวิตอยู่เพื่อต่อสู้ให้รอดไปวันๆ กับสภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศ

แต่เมื่อการประท้วงเกิดขึ้นและขยายตัวมากขึ้นในอียิปต์ และทำท่าว่าจะเป็น "ตัวแบบตูนิเซีย" อีกประเทศหนึ่งได้ไม่ยากนัก พร้อมกันนั้น รัฐบาลก็ออกมาตั้งตำแหน่งรองประธานาธิบดี ซึ่งไม่เคยมีการแต่งตั้งตำแหน่งนี้มาเป็นระยะยาวนานแล้ว ก็ดูจะเป็นสัญญาณถึงความเปลี่ยนแปลงจริงๆ ที่เริ่มขึ้นแล้วเช่นกัน (ระหว่างเขียนต้นฉบับนี้ รัฐบาลอียิปต์ก็ยังดำรงอยู่ แม้จะมีผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามมากกว่า 100 คนแล้ว-2 ก.พ. 2554)

ส่วนในแอลจีเรียดูจะแตกต่างออกไป มีการประท้วงและความไม่สงบเกิดขึ้นมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาราคาอาหารที่สูงขึ้น ทำให้เกิดการรวมตัวของประชาชนขึ้นเอง (ไม่ใช่จัดตั้ง) แต่ก็มักเป็นในระดับท้องถิ่น และจบลงด้วยการจลาจลขนาดย่อย ซึ่งก็ยังอยู่ในภาวะที่รัฐบาลควบคุมได้ และในอีกด้านหนึ่งอาจจะเป็นเพราะแอลจีเรียมีความมั่งคั่งจากน้ำมันและก๊าซ ธรรมชาติ จึงทำให้รัฐบาลมีเครื่องมือของการผ่อนคลายปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้บ้าง

ลิเบียเป็นอีกประเทศที่ถูกจับตามองหลังตูนิเซีย พันเอกกัดดาฟีครองอำนาจนานถึง 41 ปี (เป็นผู้นำที่อยู่ในอำนาจได้นานที่สุดในแอฟริกาและตะวันออกกลาง) ก็ดูจะกังวลใจพอสมควรกับ "โดมิโนจากตูนิเซีย" เพราะปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า การปกครองของลิเบียเป็นระบบอำนาจนิยม แต่ลิเบียมีประชากรไม่มากนักและมีความมั่งคั่งจากน้ำมัน จึงทำให้ผู้นำลิเบียมีเครื่องมือในการลดแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่จะกระทบต่อการเมืองลงได้บ้าง

จอร์แดนอาจจะไม่น่ากังวลเท่าใดนัก แม้ว่าจะมีการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีจอร์แดนลาออก อันเป็นผลจากราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก พร้อมๆ กับสภาวะการว่างงานของคนในประเทศ แม้รัฐบาลจะออกมากดให้ราคาอาหารและน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง แต่ประชาชนก็เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจและความยากจนให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความยากจนที่มาจากภาวะเงินเฟ้อของประเทศ

หลายๆฝ่ายดูจะเชื่อว่า จอร์แดนยังห่างไกลจาก "ตัวแบบตูนิเซีย" แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลจากการปฏิวัติประชาธิปไตยในตูนิเซีย ทำให้ผู้คนบางส่วนในสังคมจอร์แดนมีความรู้สึกมากขึ้นกับปัญหาประชาธิปไตยในบ้านของตน

โมร็อกโกคล้ายกับตูนิเซียเพราะมีปัญหาเศรษฐกิจอย่างมาก และมีการคอร์รัปชั่นในหมู่ผู้ปกครองอย่างรุนแรง ผลอีกส่วนหนึ่งยังเกิดจากการเปิดเผยข้อมูลของวิกิลีกส์ถึงการคอร์รัปชั่นของกลุ่มผู้ปกครอง และผู้ใกล้ชิดตลอดรวมถึงบรรดาผู้แวดล้อมทั้งหลาย ซึ่งข้อมูลที่เปิดเผยออกมานั้นยังได้เปรียบเทียบการคอร์รัปชั่นของผู้ปกครองในโมร็อกโกว่า ไม่แตกต่างกับกรณีของประธานาธิบดีเบน อาลีในตูนิเซีย


ระบอบการปกครองแบบอำนาจนิยมในอียิปต์ แอลจีเรีย หรือโมร็อกโก ล้วนแต่มีการควบคุมการแสดงออกทางการเมืองอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะเสรีภาพของสื่อ จึงทำให้ดูเหมือนรัฐบาลควบคุมการประท้วงได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การประท้วงเพื่อต้องการการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้นดูจะเข้าไปอยู่ในใจของผู้คนในประเทศเหล่านี้มากขึ้น และไม่ว่าการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศเหล่านี้จะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เห็นได้ชัดถึงกระแสประชาธิปไตยภิวัตน์ที่ยังคงพัดแรงในขอบเขตทั่วโลกสำหรับในปี 2554

แต่ดูเหมือนรัฐบาลกรุงเทพฯ เชื่อว่าพวกเขามี "ทำนบพิเศษ" ไว้กีดกั้นกระแสประชาธิปไตยภิวัตน์ และไม่ต้องกังวลว่า "โดมิโนจากตูนิเซีย" จะล้มลงจนถึงไทย !
.