http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-02-26

โค่นมูบารัค?, ปฏิวัติอียิปต์ = มวลชนลุกฮือ + รัฐประหารละมุน โดย เกษียร เตชะพีระ

.

โค่นมูบารัค ?
โดย เกษียร เตชะพีระ
ในมติชนออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 เวลา 13:30:00 น.


ไม่ว่าฮอสนี มูบารัค แห่งอียิปต์ จะยังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีที่เขาเป็นมาแล้ว 30 ปี อย่างเป็นทางการอยู่หรือไม่ก็ตาม แต่ในทางเป็นจริงเขาได้สูญเสียอำนาจไปแล้ว มูบารัคได้ถูกโค่นโดยพฤตินัยไปแล้ว ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 28 มกราคม ศกนี้เป็นต้นมา!

เย็นวันนั้น ทั้งที่มูบารัคสั่งห้ามประชาชนออกจากเคหสถานเวลาค่ำคืนทั่วกรุงไคโร ปรากฏว่าพอเสียงเรียกละหมาดตอนเย็นดังก้องออกไป ผู้คนก็พากันออกมานอกบ้านอย่างไม่แยแส ตกค่ำทหารอียิปต์ก็ปล่อยให้สำนักงานใหญ่ของพรรคประชาธิปไตยแห่งชาติ (National Democratic Party - NDP) อันเป็นพรรครัฐบาลของมูบารัคถูกเผา วอดวายหน้าตาเฉย แล้วทหารยังสั่งให้กองกำลังตำรวจที่คอยโจมตีผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลก่อนหน้านี้ถอนกำลังกลับเข้ากรมกองอีกต่างหาก ทำให้ผู้ประท้วงฮึกเหิมได้ใจเข้าร่วมชุมนุมเพิ่มขึ้นไม่ขาดสายเป็นล้านๆ

สัญญาณเหล่านี้ส่อชัดว่ามูบารัคได้สูญเสียอำนาจแท้จริงไปแล้ว กลุ่มอื่นในชนชั้นปกครองอียิปต์ได้แทรกตัว เข้ายึดอำนาจจากเขาไปแล้วในทางปฏิบัติ ถึงเขาจะยังนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีอยู่แต่ก็เหมือนซากมัมมี่ในพีระมิดมากกว่าฟาห์โรบนบัลลังก์

สิ่งที่มูบารัคสั่งแล้วได้ผล-นอกจากขี้มูก-ก็คงเหลือน้อยเต็มที


จะเข้าใจความสลับซับซ้อนของสัมพันธภาพทางอำนาจระหว่างพลังการเมืองหลากกลุ่มในรัฐและสังคมการเมืองอียิปต์ที่โค่นมูบารัคลงได้ ก็ต้องมองทะลุมายาคติเกี่ยวกับการปฏิวัติครั้งนี้แบบคู่ตรงข้าม "พระเอก VS. ผู้ร้าย" 3 แบบที่สื่อมวลชน นักวิเคราะห์และนักวิชาการมักติดยึดถือมั่น ได้แก่: -

1) มายาคติที่เห็นมันเป็นเรื่องของการต่อสู้ระหว่าง "ประชาชน VS. เผด็จการ" ล้วน ๆ: การมองแบบเสรี-นิยมไร้เดียงสาเช่นนี้ทำให้สับสนเกี่ยวกับบทบาทอันแข็งขันของกองทัพและชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ ในการลุกขึ้นสู้

2) มายาคติที่เห็นมันเป็นเรื่องของความขัดแย้งระหว่าง "พวกโลกวิสัย VS. กลุ่มเคร่งอิสลาม" เป็นหลัก: การมองแบบนี้ทำให้เกิดอาการโหยหาเรียกร้องแต่จะให้ "การเมืองนิ่ง" ด้วยความกลัวอิสลามเหมือนสมัยคริสต์ทศวรรษที่ 1980 หลังการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน เห็นว่าต้องปิดกั้นล้อมกรอบพวกนักชุมนุมประท้วงหัวรุนแรง สุดโต่งตามท้องถนนของโลกอาหรับเอาไว้

3) มายาคติที่เห็นมันเป็นเรื่องการปะทะระหว่าง "กลุ่มอำนาจเก่า VS. กบฏหนุ่มสาว" มากกว่าอย่างอื่น: นี่เป็นการวางกรอบทรรศนะโรแมนติคแบบคริสต์ทศวรรษที่ 1960 ทาบทับลงบนการประท้วงอย่างตื้นง่าย โดยมองข้ามพลวัตเชิงโครงสร้างและสถาบันที่ขับดันการลุกขึ้นสู้ครั้งนี้ไปหมด อีกทั้งไม่อาจอธิบายบทบาทสำคัญของคนแก่วัย 70 รุ่นอดีตประธานาธิบดีนัสเซอร์มากหลายในการเคลื่อนไหวต่อสู้ เช่น คุณย่า นาวาล เอล ซาดาวี วัย 80 ปี เฟมินิสต์นักเขียน นักเคลื่อนไหว หมอและนักจิตเวชศาสตร์ชื่อดังผู้เข้าร่วมชุมนุมทุกวัน วันละ 10 ชั่วโมงไม่เคยหยุด
(ดูคำสัมภาษณ์ของเธอได้ที่www.democracynow_org/2011/1/31/women_protest_alongside_men_in_egyptian)


พูดง่ายๆ ก็คือเอาเข้าจริงในโลกใบนี้ จะหาการปฏิวัติ "บริสุทธิ์" ซึ่งมีแต่พระเอกที่เราชอบเข้าร่วมล้วนๆ ได้ยากเต็มที มิไยที่เขมรแดงจะเคยแต่งเพลง "ปฏิวัติบริสุทธิ์ละออละอา....." ขับกล่อมสดุดีการปฏิวัตินองเลือดของตนก็ตาม

ในกรณีอียิปต์ พลังโค่นมูบารัคประกอบด้วยพันธมิตรหลากหลายกลุ่มที่แตกแถวจากโครงสร้างอำนาจเก่าบ้าง เป็นชาวบ้านที่เพิ่งตื่นตัวขึ้นมากะทันหันบ้าง แล้วเข้ามาจัดทัพปรับขบวนกันใหม่ มีทั้งกองกำลังฝ่ายความมั่นคงของรัฐ, นักธุรกิจใหญ่, ผู้นำระดับสากล, ขบวนการมวลชนของคนหนุ่มสาว, กรรมกร, ผู้หญิง, และกลุ่มศาสนา เป็นต้น


เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์ เราอาจเริ่มจากการจำแนกกลุ่มกองกำลังต่างๆ ในกลไกฝ่ายความมั่นคง-ปราบปรามของรัฐอียิปต์ โดยไม่ควรด่วนเหมารวมพวกเขาทั้งหมดว่าล้วนเป็นมือตีนเผด็จการหรือเครื่องมือที่ผู้นำเผด็จอำนาจสั่งได้ดังใจนึก เพราะแต่ละกองกำลัง/สถาบันต่างก็มีประวัติศาสตร์, วัฒนธรรม, ความภักดีทางชนชั้น, และแหล่งรายได้/เกื้อหนุนอิสระเฉพาะของตัว

1) ตำรวจ (al-shurta) ใต้การสั่งการของกระทรวงมหาดไทยอียิปต์ซึ่งใกล้ชิดและขึ้นต่อตัวมูบารัคและทำเนียบประธานาธิบดีในทางการเมืองอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา หน่วยงานระดับสถานีตำรวจ (โรงพัก) กลับค่อนข้างอิสระโดยสัมพัทธ์จากมหาดไทย บางสถานีหันไปค้ายาเสพติดหรือรีดไถส่วยจากร้านค้าย่อยในท้องที่ บ้างก็หันไปสมาทานอุดมการณ์การเมืองหรือศีลธรรมศาสนาแบบสุดโต่งรุนแรง

สรุปรวมความได้ว่า หากพิเคราะห์จากระดับเจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยขึ้นมา ตำรวจนับเป็นกองกำลังที่รัฐบาลพึ่งพาอาศัยทางการเมืองไม่ได้มากนัก ค่อนข้างมีผลประโยชน์เกี่ยวพันอีนุงตุงนัง และหัวเซ็งลี้มากในระดับโรงพัก

ในคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ตำรวจอียิปต์ก็เผชิญปัญหาใหม่คือการเติบใหญ่ของแก๊งข้างถนนหรือที่เรียกในภาษาอาหรับว่า baltagiya แก๊งเหล่านี้สร้างเขตอิทธิพลอิสระปกครองตนเองกลายๆ ขึ้นเหนือสลัมและนิคม "เถื่อน" จำนวนมากในกรุงไคโร ชาวต่างชาติและคนชั้นกลางชาวอียิปต์มักทึกทักว่าแก๊งเหล่านี้เป็นอิสลามิก แต่เอาเข้าจริง ส่วนใหญ่แล้วพวกนี้ไม่ได้ยึดถืออุดมการณ์อะไร

ในคริสต์ทศวรรษที่ 1990 กระทรวงมหาดไทยอียิปต์ตกลงใจหันไปเดินนโยบาย "เมื่อปราบมันไม่ได้ ก็จ้างมันซะเลย" จากนั้นทางมหาดไทยร่วมกับกองกำลังความมั่นคงกลาง (Central Security Services) ของอียิปต์ก็เริ่มใช้สอยจ้างวานแก๊งเหล่านี้ให้ช่วยเล่นงานปรปักษ์ของรัฐแทนตน โดยจ่ายค่าจ้างให้อย่างงามและฝึกให้พวกนี้ไปลงโทษ ป้องปรามผู้ประท้วงเพศหญิงและผู้ต้องขังเพศชายด้วยการทำทารุณทางเพศ (ตั้งแต่ลวนลามไปจนถึงข่มขืน) ในช่วงเดียวกันนี้ ทางมหาดไทยยังเปลี่ยนหน่วยสืบสวนเพื่อความมั่นคงของรัฐ (State Security Investigations - SSI หรือในชื่อภาษาอาหรับว่า mabahith amn al-dawla) ให้กลายเป็นองค์การปีศาจอันน่าสะพรึงกลัว เที่ยวไล่จับคุมขัง ทรมานมวลชนฝ่ายค้านทางการเมืองในประเทศอย่างทารุณโหดร้าย

2) กองกำลังความมั่นคงกลาง (Central Security Services หรือ Amn al-Markazi) ซึ่งเป็นอิสระจาก กระทรวงมหาดไทย พวกนี้คือเจ้าหน้าที่ชุดดำสวมหมวกกันน็อคที่ออกหน้ามาปะทะกับผู้ชุมนุมช่วงแรกและ สื่อมวลชนมักเรียกว่า "ตำรวจ" นั่นเอง

กองกำลังดังกล่าวถือเป็นเสมือนกองทัพส่วนตัวของประธานาธิบดีมูบารัคได้เงินเดือนต่ำและไม่มีอุดมการณ์อะไร มิหนำซ้ำ ณ จังหวะคับขันในอดีต พวกนี้ก็เคยลุกฮือต่อต้านมูบารัคเพื่อเรียกร้องค่าแรงและเงื่อนไขการทำงานที่ดีขึ้นมาแล้ว เอาเข้าจริง ถ้าไม่มีพวกแก๊งข้างถนนจอมโหดคอยช่วยกระทืบชาวบ้านให้ ลำพังกองกำลังชุดดำดังกล่าวก็ไม่ค่อยน่าเกรงขามเท่าไหร่

แววตาเซ็งๆ ของกองกำลังชุดดำยามถูกผู้ประท้วงเข้าประชิดตัวหอมแก้มฟอดพลางปลดอาวุธทิ้ง มีให้พบเห็นได้ทั่วไป การที่เจ้าหน้าที่เหล่านี้พากันเดินลับละลายหายไปในกลุ่มควันแก๊สน้ำตาเฉยๆ ไม่ยอมกลับมาปราบปรามผู้ประท้วงอีกเป็นสัญญาณบอกความเสื่อมสิ้นอำนาจวาสนาของมูบารัคอย่างดีที่สุด

3) ท้ายที่สุดคือ กองทัพแห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับกองกำลังชุดดำหรือตำรวจ และมองตัวเองเป็นรัฐต่างหากออกไป ในแง่หนึ่งเราอาจพูดได้ว่าอียิปต์ยังปกครองในระบอบเผด็จการทหารเพราะมันยังเป็นระบอบเดียวกับที่สมาคมนายทหารเสรีภายใต้การนำของกามาล อับเดล นัสเซอร์ สถาปนาขึ้นในการปฏิวัติปี ค.ศ.1952 ทว่าในทางปฏิบัติ กองทัพได้ถูกเบียดขับออกห่างจากศูนย์อำนาจการเมืองแล้วนับแต่ประธานาธิบดีอันวาร์ ซาดัต ลงนามข้อตกลงแคมป์เดวิดกับอิสราเอลภายใต้การอุปถัมภ์อำนวยการของอเมริกา เมื่อปี ค.ศ.1978

ดังนั้นนับแต่ปี ค.ศ.1977 เป็นต้นมา กองทัพอียิปต์ก็ถูกเก็บเข้ากรุ ไม่ได้รับอนุมัติให้ไปเที่ยวสู้รบปรบมือกับใคร ส่วนท่านนายพลทั้งหลายก็ได้ของสมนาคุณเป็นเงินช่วยเหลือก้อนโตจากอเมริกา

ต่อมากองทัพยังได้สัมปทานกิจการที่ไม่เกี่ยวกับการทหารแต่รายได้ดี เช่น เปิดช็อปปิ้ง มอลล์, สร้างโครงการเมืองจัดสรรอย่างดีมียามเฝ้ากลางทะเลทราย, ดำเนินธุรกิจรีสอร์ทชายหาดริมทะเล เป็นต้น

ผลของการที่มูบารัคกับสหรัฐทุ่มเงินกว้านซื้อทั้งหมดนี้ได้แปรกองทัพอียิปต์ให้กลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์ ธุรกิจชาตินิยมที่จัดตั้งกันอย่างดีเยี่ยม พวกเขาใฝ่หาการลงทุนจากต่างชาติ แต่กระนั้นความภักดีพื้นฐานของพวกเขา ก็ยึดหยั่งอยู่กับอาณาเขตแห่งชาติทั้งในทางเศรษฐกิจและสัญลักษณ์ เงินช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐเอาเข้าจริงก็มิอาจซื้อหาความจงรักภักดีต่ออเมริกาจากกองทัพอียิปต์ หากซื้อได้ก็แต่ความรังเกียจเดียดฉันท์เท่านั้น

หลายปีหลังมานี้ ทหารอียิปต์เริ่มรู้สำนึกถึงหน้าที่ที่พึงมีต่อชาติแรงกล้าขึ้นทุกที อีกทั้งอับอายขายหน้าและขมขื่นใจต่อสภาพที่ความเป็นชายชาตินักรบของตนเสมือนถูกตอนทิ้ง ไม่ได้ยืนหยัดปกป้องประชาชนร่วมชาติอย่างที่พึงกระทำ แนวโน้มชาตินิยมดังกล่าวบันดาลใจให้กองทัพอยากฟื้นฟูเกียรติยศศักดิ์ศรีของตน ขณะเดียวกันก็รู้สึกทุเรศรังเกียจพวกตำรวจคอร์รัปชั่นและแก๊งข้างถนนป่า
เถื่อนมากขึ้นทุกที


ยิ่งกว่านั้น กองทัพอียิปต์ในฐานะนายทุนชาติก็เห็นกลุ่มทุนเสรีนิยมใหม่ที่มีเส้นสายใหญ่โตยึดโยงกับกามาล มูบารัค ลูกชายประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค เป็นศัตรูคู่แข่งของตน ในสภาพที่ฝ่ายหลังตั้งหน้าตั้งตาแต่จะแปรกิจการของรัฐทุกอย่างที่คว้าได้ให้ เป็นของเอกชน และขายสินทรัพย์แห่งชาติให้ทุนจีนเอย ทุนอเมริกันเอย และทุนอ่าวเปอร์เซียไปหมด

อย่างไรก็ตาม กองทัพอียิปต์ก็ไม่ได้เป็นเอกภาพปึกแผ่นเดียวกัน หากมีความแบ่งแยกขัดแย้งภายในระหว่าง หน่วยกำลังต่างๆ อยู่ด้วย-ซึ่งจะขอเล่าต่อในสัปดาห์หน้า


++


ปฏิวัติอียิปต์ = มวลชนลุกฮือ + รัฐประหารละมุน
โดย เกษียร เตชะพีระ
ในมติชนออนไลน์ วันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.


ฮอสนี มูบารัค, บารัค โอบามา และวลาดิมีร์ ปูติน กำลังประชุมกันอยู่ แล้วจู่ๆ พระผู้เป็นเจ้าก็ทรงปรากฏพระองค์ขึ้นและตรัสว่า "ข้ามาบอกพวกเจ้าว่าโลกจะถึงกาลอวสานในสองวันข้างหน้านี้ จงไปบอกประชาชนของพวกเจ้าเสีย" ผู้นำแต่ละคนจึงกลับไปเมืองหลวงของตนและเตรียมปราศรัยทางทีวี

ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โอบามากล่าวว่า "เพื่อน ชาวอเมริกันทั้งหลาย ผมมีข่าวดีและข่าวร้ายจะแจ้งให้ทราบ ข่าวดีคือผมยืนยันได้ว่าพระเจ้ามีจริง ส่วนข่าวร้ายก็คือพระองค์ทรงบอกผมว่าโลกจะดับภายในสองวัน"

ณ กรุงมอสโก ปูตินกล่าวว่า "ประชาชน ชาวรัสเซีย ผมเสียใจที่ต้องแจ้งข่าวร้ายสองเรื่องให้ทราบ ข่าวแรก คือพระเจ้ามีจริง ซึ่งหมายความว่าทุกอย่างที่ประเทศเราเชื่อถือตลอดช่วงเวลาส่วนใหญ่ของศตวรรษที่แล้วล้วนเป็นเท็จ ข่าวที่สองคือโลกจะดับภายในสองวัน"

ณ กรุงไคโร มูบารัคกล่าวว่า "โอ...ชาว อียิปต์ทั้งหลาย ข้าพเจ้ามาพบท่านวันนี้พร้อมข่าวดียิ่งสองประการ ข่าวแรก พระผู้เป็นเจ้าและตัวข้าพเจ้าเพิ่งจะประชุมสุดยอดครั้งสำคัญร่วมกันมา

และข่าวที่สอง พระองค์ทรงบอกว่าข้าพเจ้าจะเป็นประธานาธิบดีของพวกท่านไปชั่วกัลปาวสาน"


ในที่สุด "กัลปาวสาน" ตามโจ๊กแอนตี้-มูบารัคข้างต้นก็มาถึง 18 วันหลังประชาชนอียิปต์เรือนล้านลุกฮือต่อต้านเขาอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศจนล้มตายไป 365 คน และบาดเจ็บอีก 5,500 คน ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคมนี้เป็นต้นมา เมื่อมูบารัคประกาศลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีและสละอำนาจให้แก่สภาสูงของกองทัพ ภายใต้การนำของรัฐมนตรีกลาโหมและผู้บัญชาการสามเหล่าทัพ จอมพลมูฮัมหมัด ฮุสเซ็น ทันทาวี วัย 76 ปี ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์นี้

ทว่า กองทัพอียิปต์ที่ช่วงชิงโอกาสเข้าควบขี่การปฏิวัติของมวลชนและ "ก่อรัฐประหารละมุนโค่นมูบารัคลง" ก็หาได้กลมเกลียวเป็นปึกแผ่นไม่ หากปริแยกแตกร้าวเป็นก๊กเป็นเหล่าตามเส้นสายการเมืองของตน ที่สำคัญได้แก่ : -


1) ในกองทัพอียิปต์ มีอยู่ 2 เหล่าซึ่งใกล้ชิดเป็นที่โปรดปรานของศูนย์อำนาจเก่าเป็นพิเศษ ได้แก่ กองทหารองครักษ์ประธานาธิบดีและกองทัพอากาศ - ในฐานที่มูบารัคมีภูมิหลังเป็นผู้บัญชาการทหารอากาศมาก่อนขึ้นเป็น ประธานาธิบดี สองเหล่านี้จึงยืนหยัดอยู่กับมูบารัคแม้ในยามทหารทั่วไปเอาใจออกห่างแล้วก็ตาม

ดังแสดงออกโดยปรากฏการณ์กลับตาลปัตรกันระหว่างการที่ผู้บัญชาการสามเหล่าทัพ จอมพลมูฮัมหมัด ทันทาวี เดินเข้าไปกลางที่ชุมนุมเพื่อแสดงการสนับสนุนผู้ประท้วงเมื่อวันที่ 30 มกราคมนี้ VS. การที่มูบารัคแต่งตั้งอดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ อาเหม็ด ชาฟิค เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ พลางส่งเครื่องบินไอพ่นหลายลำไปบินต่ำ ขู่ที่ชุมนุม ในทำนองเดียวกัน กองทหารองครักษ์ประธานาธิบดี
นี่แหละที่เข้าปกป้องอาคารวิทยุ/โทรทัศน์ของรัฐบาล และต่อกรกับผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 28 มกราคมนี้

2) หน่วยข่าวกรองทหาร (Intelligence Services หรือ al-mukhabarat) ซึ่งรับผิดชอบปฏิบัติการลับนอกประเทศ, ควบคุมตัวและสอบสวนผู้ต้องสงสัยก่อการร้าย/เป็นภัยความมั่นคง (รวมทั้งทรมานและลักพาตัวชาวต่างชาติตามที่ซีไอเอขอ) เนื่องจากหน่วยข่าวกรองทหารพุ่งเป้าต่อศัตรูภายนอกเป็นหลัก ไม่ได้คุมขังทรมานชาวอียิปต์ฝ่ายค้านในประเทศมากนัก

จึงไม่เป็นที่เคียดแค้นชิงชังของประชาชนเท่าหน่วยสืบสวนเพื่อความมั่นคงของรัฐ สังกัดมหาดไทย (mabahith)


หน่วยข่าวกรองทหารมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ท่ามกลางสถานการณ์พลิกผันทางการเมืองในฐานะ "สะวิงโหวต" - คือเทเสียงไปข้างไหน กองทัพโดยรวมก็เอียงไปข้างนั้นด้วย ท่าทีของหน่วยนี้คือด้านหนึ่งก็เกลียดชัง กามาล มูบารัค (ลูกชายประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค) กับกลุ่มทุนเสรีนิยมใหม่เส้นใหญ่ของเขา แต่อีกด้านหนึ่งก็หมกมุ่นฝังหัวกับเรื่องการเมืองต้องนิ่ง และแอบได้เสียอยู่กินกับซีไอเอและกองทัพอเมริกันมานมนาน

อำนาจของกองทัพและโดยเฉพาะอย่างยิ่งของหน่วยข่าวกรองทหารที่ขึ้นครอบงำวงการเมืองสะท้อนออกในการตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เมื่อวันที่ 28 มกราคม ที่ผ่านมา ดังปรากฏว่ากามาล มูบารัค กับพวกพ้องนักธุรกิจถูกโละทิ้งยกแผง ขณะที่โอมาร์ สุไลมาน อดีตหัวหน้าหน่วยข่าวกรองทหารได้ขึ้นเป็นรองประธานาธิบดี ทำหน้าที่รักษาการแทนประธานาธิบดีมูบารัคในทางปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขภายในกองทัพอียิปต์จะสุกงอมพอก่อให้เกิดการปฏิวัติ/เปลี่ยนระบอบ ผ่านปฏิบัติการ [มวลชนลุกฮือ + รัฐประหารละมุน] ก็ต่อเมื่อฝ่ายแอนตี้มูบารัคในกองทัพสามารถ : -

1) เสริมสร้างฐานะของตนได้มั่นคง และ

2) ให้ความมั่นใจแก่หน่วยข่าวกรองทหารและกองทัพอากาศในการเปิดรับขบวนการมวลชนที่เกิดขึ้นใหม่ และพรรคฝ่ายต่างๆ ที่เกาะกลุ่มล้อมรอบแกนนำฝ่ายค้าน นายโมฮาเหม็ด เอลบาราได นักนิติศาสตร์ นักการทูตและอดีตผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency - IAEA ภายใต้สหประชาชาติ) ผู้ได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี ค.ศ.2005 และเข้าร่วมประท้วงต่อต้านมูบารัคครั้งนี้

ซึ่งอาจถือเป็นความหมาย โดยนัยของสิ่งที่ประธานาธิบดีโอบามาแห่งสหรัฐอเมริกาเรียกว่า "การเปลี่ยนผ่าน อย่างมีระเบียบเรียบร้อย" ที่เขาอยากเห็นในอียิปต์นั่นเอง

ดูเหมือนเงื่อนไขดังกล่าวจะมาลงตัวพร้อมเพรียงเมื่อวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์นี้ และแล้วกองทัพอียิปต์ก็เอื้อมไปจับมือประชาชนแล้วโค่นมูบารัคลง!


แนวโน้มการเมืองอียิปต์หลังโค่นมูบารัคจะเป็นเช่นใด? เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์นี้ สภาสูงของกองทัพ ได้ออกประกาศฉบับที่ 5 สั่งยุบสภาผู้แทนราษฎรและสภาสูงซึ่งเพิ่งได้รับเลือกตั้งเข้ามาอย่างฉ้อฉล อื้อฉาวเมื่อปลายปีก่อน, ระงับใช้รัฐธรรมนูญ, ตั้งคณะกรรมการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญเพื่อผ่านการลงประชามติ, และสัญญาจะจัดเลือกตั้งรัฐสภาและประธานาธิบดีใหม่ใน 6 เดือน, ระหว่างนี้คณะรัฐมนตรีที่มูบารัคตั้งใหม่ล่าสุดจะรักษาการไปพลางก่อน, พร้อมกันนั้น สภาสูงของกองทัพก็ยืนยันพันธกรณีตามสนธิสัญญาและข้อตกลงต่างๆ ที่อียิปต์ได้ทำไว้กับนานาประเทศรวมทั้งอิสราเอล

ข้อน่าสังเกตคือ ประกาศของสภาสูงกองทัพอียิปต์ข้างต้นมีรายละเอียดเนื้อหาพ้องกับข้อเรียกร้องในแถลงการณ์ของแกนนำการชุมนุมต่อต้านมูบารัคที่รวมตัวกันเฉพาะกิจและเรียกตัวเองว่ากลุ่ม "25 มกราคม" หลายประเด็น ดังปรากฏรายละเอียดแถลงการณ์ต่อไปนี้ (ดูต้นฉบับภาษาอาหรับที่www.assawsana_com/portal/newsshow.aspx?id=44605) : -

-ยกเลิกประกาศภาวะฉุกเฉินอันเป็นเหตุให้ระงับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญทันที

-ปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมดทันที

-ระงับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและบทแก้ไขเพิ่มเติมต่างๆ

-ยุบรัฐสภาสหพันธ์และสภาระดับจังหวัดทั้งหลาย

-ก่อตั้งสภาปกครองรวมหมู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน

-จัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกาลประกอบด้วยกลุ่มชาตินิยมอิสระเพื่อดูแลจัดการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม

-จัดตั้งคณะทำงานเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยฉบับใหม่ซึ่งคล้ายคลึงรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยฉบับเก่าก่อน แล้วให้ผ่านการลงประชามติ

-ขจัดข้อจำกัดหวงห้ามทั้งปวงเกี่ยวกับการจัดตั้งพรรคการเมืองอย่างเสรีบนพื้นฐานที่เป็นพรรคพลเรือน, ยึดหลักประชาธิปไตยและสันติภาพ

-ยึดหลักเสรีภาพในการพิมพ์

-ยึดหลักเสรีภาพในการก่อตั้งสหภาพแรงงานและองค์การเอ็นจีโอโดยไม่ต้องขออนุญาตจากรัฐบาล

-ยุบศาลทหารทั้งหมดและยกเลิกคำตัดสินของศาลทหารในคดีที่ผู้ต้องหาเป็นพลเรือน เป็นต้น

เหล่านี้ทำให้ศาสตราจารย์ฮวน โคล สรุปว่าขบวนการมวลชนที่ลุกฮือโค่นมูบารัคครั้งนี้มีแก่นแท้เป็นขบวนการแรงงานที่ยึดถือ "ชาติ" (watan) และข้อเรียกร้องทางการเมืองเชิงโลกวิสัยอื่นๆ เป็นที่ตั้ง, ไม่ใช่ขบวนการเคร่งหลักอิสลามมูลฐานที่ยึดถือ "ชุมชนศาสนา" (ummah) และข้อเรียกร้องตามหลักอิสลามเป็นสรณะดังฝ่ายขวาอเมริกันและอิสราเอลบิดเบือน

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าขบวนการมวลชนอียิปต์จะกำหนดเกมการเมืองหลังโค่นมูบารัคได้ดังใจนึก แนวโน้มน่าวิตกในสายตาผู้ช่วยศาสตราจารย์ซาเมอร์ เชฮาตา คือมันอาจนำมาซึ่งระบอบมูบารัคที่ปราศจากตัวมูบารัคเอง

แม้จะไม่กดขี่ปราบปรามหนักเท่าสองทศวรรษที่ผ่านมา แต่ก็หาใช่ประชาธิปไตยเต็มใบไม่



* * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

มีบทความเกี่ยวกับ การปฏิวัติของชาวอาหรับ

http://botkwamdee.blogspot.com/2011/12/anu-spr.html
http://botkwamdee.blogspot.com/2011/07/blog-post_07.html

http://botkwamdee.blogspot.com/2011/02/blog-post_12.html


.