http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-02-23

นักเลงและเจ้าพ่อ และ นักเลงใต้ โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

นักเลงและเจ้าพ่อ
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1592 หน้า 28


ขุนแผน และพ่อขุนแผนเป็นนักเลงใช่หรือไม่?

ตอบยากนะครับ เพราะ "นักเลง" ในสมัยที่แต่งขุนช้างขุนแผนมีความหมายไม่เหมือนที่ใช้กันในปัจจุบัน หากใช้ในความหมายปัจจุบัน ผมคิดว่าใช่ เพราะทั้งสองคนต่างใจถึง, มี "อำนาจ" พร้อมทุกอย่างที่นักเลงพึงมี เช่น เก่งในทางรบราฆ่าฟัน, คงกระพันชาตรี, เป็นที่พึ่งของคนหมู่มาก และอิงแอบหรือโยงใย-ห่างๆ หรือใกล้ชิด -กับอำนาจรัฐ

แต่ถ้าใช้ในความหมายโบราณ ขุนแผนและพ่อไม่ใช่นักเลงแน่นอน เพราะในสมัยนั้นนักเลงมีความหมายถึงคนที่มัวเมาในอบายมุข โดยเฉพาะการพนัน เช่นนักเลงบ่อนเบี้ย, นักเลงสุรา เป็นต้น ค่อนไปทาง "นักเลงหัวไม้"

แม้คำว่านักเลงจะมีความหมายใหม่ แต่ความหมายเก่าดังกล่าวก็ยังใช้กันมาจนเมื่อผมเป็นเด็ก เช่นที่เรียกชายเจ้าชู้ว่า "นักเลงผู้หญิง" หรือแม้แต่ "นักเลงหนังสือเก่า" ก็หมายถึงคนที่เก็บสะสมหนังสือเก่าจนเป็นที่รู้จัก (และเกรงขามในวงการสะสมหนังสือเก่า) กันทั่วไป

ความหมายใหม่ของคำว่านักเลงดังที่ผมนิยามไว้ข้างต้นนั้น อาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร อธิบายว่า เป็นความหมายที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อชุมชนชาวนาพากันผลิตเพื่อป้อนตลาดอย่างเข้มข้นขึ้น หลังถูกบังคับให้เปิดประเทศด้วยสนธิสัญญาบาวริง



ภาพของความขัดแย้งระหว่าง "ประมุขศิลป์" (leadership) สองชนิดยังเห็นได้ชัดในสมัย ร.6 นั่นคือพฤติกรรมของ "เสด็จเตี่ย" หรือกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์"

ประมุขศิลป์" ของชนชั้นเจ้าซึ่งเพิ่งสร้างขึ้นใหม่ประมาณสมัย ร.4-5 นี้เอง ย่อมต้องอิงอยู่กับความเป็นผู้ดีมีการศึกษาและ "ศีลธรรม" (ซึ่งก็นิยามกันขึ้นใหม่ในสมัยเดียวกัน) เสด็จเตี่ยนั้น มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะดำรงประมุขศิลป์อย่างชนชั้นเจ้า โดยเฉพาะหากท่านได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสูงทางราชการ แต่จะด้วยเหตุใดก็ตาม ตำแหน่งราชการที่ท่านได้รับมาไม่ถึงกับสูงเด่นเท่าใดนัก

ความนิยมชมชื่นและยกย่องให้เป็น "ผู้นำ" ของท่าน กลับมาจากชื่อเสียงทางด้านอยู่ยงคงกระพัน และเวทมนตร์คาถา นอกจากท่านจะนิยมนุ่งโสร่งถือไม้ตะพดเหมือน "นักเลง" ในสมัยนั้นแล้ว ยังมีชื่อเสียงทางด้านรักษาโรคภัยไข้เจ็บ

วัตรปฏิบัติของ "เสด็จเตี่ย" นั้นเป็นที่ชื่นชม และนับถือศรัทธาในหมู่ประชาชนอย่างมาก แต่ก็คงขวางหูขวางตาเจ้านายไปพร้อมกัน เพราะเจ้าย่อมไม่ทำอย่างนั้น

จนถึงทุกวันนี้ "เสด็จเตี่ย" ก็ยังเป็นที่นับถือบูชาของผู้คนเหมือนเดิม แต่ไม่ใช่ในฐานะเจ้านายผู้เคยว่ากระทรวงนั้นกระทรวงนี้ หรือกองทัพนั้นกองทัพนี้ นั่นเป็นเรื่องของราชการซึ่งมีหน้าที่อัญเชิญผีเจ้าผีนายมาประทับหน้ากระทรวง


อำนาจของนักเลงในความหมายใหม่นี้มาจากไหน?

คําตอบคือ มาจากสองทาง หนึ่งมาทางไสยศาสตร์ นอกจากห้อยเครื่องรางของขลังเต็มคอแล้ว ยังมักมีรอยสักเต็มตัวไปด้วย (จนเมื่อผมเป็นเด็กนั้น ถือกันว่า "ผู้ดี" ย่อมไม่สักเป็นอันขาด) และสอง มาทางประสบการณ์ นักเลงต้องมีประวัติ (จริงบ้างไม่จริงบ้าง) ที่ได้ผ่านการต่อสู้มาโชกโชน และด้วยเหตุดังนั้น จำนวนไม่น้อยจึงมาจากคนในอาชีพทหารตำรวจ (ทั้งที่อยู่และไม่อยู่ในราชการแล้ว) และโจร

อำนาจอีกอย่างที่มักพูดถึงกันมากคืออำนาจทางสังคม ได้แก่การปกป้องดูแลคนในชุมชนหรือเครือญาติ ไม่ให้ใครมาหมิ่นหรือมารังแก ในขณะเดียวกัน ก็จัดการให้อยู่ร่วมกันได้โดยปรกติสุข "นักเลง" ทำอย่างนี้ได้ ก็เพราะเขามีอำนาจสองอย่างดังที่กล่าวแล้ว และอาจใช้ความรุนแรงหรือข่มขู่จะใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องมือในการจัดการ

แต่ผมออกจะสงสัยว่าไม่ใช่เพียงเท่านี้ เท่าที่ผมได้เคยพบ "นักเลง" มาในชีวิต ผมพบว่าเขามีฐานะทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่าชาวบ้าน อย่างน้อยก็พออุปถัมภ์ค้ำจุนชาวบ้านบางรายได้ นอกจากนี้ ยังมีเครือญาติ (ทั้งจริงและเสมือน) ในชุมชนมาก และหลายครั้งมักเป็นญาติทางเมีย

เหมือนพระเอกในเรื่อง "ทุ่งมหาราช" จีบเมียคนแรกว่า เอ็งมาเป็นเมียข้าเถิด เพราะข้านี่แหละจะเป็นผู้นำของคนในชุมชนนี้ ทั้งๆ ที่ตัวเขาเป็นคนนอกเพิ่งโผล่เข้ามาในชุมชนเป็นครั้งแรก

อำนาจอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญมากก็คือ "นักเลง" มักจะสามารถเชื่อมโยงกับอำนาจรัฐได้โดยทางใดทางหนึ่ง เชื่อมอย่างเป็นทางการก็ได้ เช่น ได้รับแต่งตั้งเป็นกำนันผู้ใหญ่บ้าน หรือตัวนักเลงนั้นเป็น "ลูกน้อง" ของข้าราชการผู้ใหญ่อีกทีหนึ่ง

เมื่อผมเป็นเด็กนั้น แถวบ้านผมซึ่งก็อยู่สุขุมวิทนี่เอง มีนักเลงอยู่คนหนึ่ง เมื่อผมพบเขานั้นเขามีอายุมากแล้ว แต่ก็ยังมีบารมีในหมู่ผู้คนแถวนั้นอยู่ (ยกเว้นพวกผู้ดีที่เริ่มมาปลูกบ้านเรือนหนีสงคราม) เรือนของเขาอาจใหญ่กว่าเรือนเพื่อนบ้านเล็กน้อย แต่ก็ดูไม่ได้โดดเด่นใหญ่โตเป็นพิเศษอะไร แต่ลูกสาวของเขาคนหนึ่ง แต่งงานเป็นเมียของนายตำรวจใหญ่คนหนึ่งซึ่งปลูกเรือนอยู่ไม่ไกลจากเรือนของเขา

นี่ก็เชื่อมโยงกับอำนาจรัฐอย่างหนึ่ง



ผมยังอ่านไม่เจองานศึกษาเกี่ยวกับเงื่อนไขทางสังคมของ "นักเลง" แต่คิดว่าเรื่องนี้สำคัญไม่น้อยไปกว่าบุคลิกภาพซึ่งมักพูดถึงกันอยู่เสมอแต่เพียงด้านเดียว

นักรัฐศาสตร์ได้พูดถึงบุคลิกภาพ "นักเลง" กันมานานแล้วว่า เป็นหนึ่งใน "ประมุขศิลป์" แบบไทย ไม่เฉพาะแต่เพียงในระดับชุมชน แต่รวมไปถึงระดับชาติด้วย ผมขอย้ำนะครับว่าไม่ใช่แบบเดียว แบบ "นักเลง" อาจไม่เหมาะสำหรับการนำในสถานการณ์ที่ยังมีเงาของระบียบเหลืออยู่บ้าง

สฤษฎิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งใช้การนำแบบ "นักเลง" อย่างมากนั้น ได้รื้อทำลายระเบียบทางการเมืองทั้งหลายลงโดยสิ้นเชิง เรียกการยึดอำนาจของตัวว่า "ปฏิวัติ" เพื่อให้หมายถึงการรื้อไปถึงระดับรากฐาน แม้จะนำประชาธิปไตยกลับมาสักวันหนึ่งข้างหน้า ก็เป็นประชาธิปไตยแบบพิเศษที่เรียกว่า "แบบไทย"

สถานการณ์ที่จะทำอย่างนั้นไม่เคยเกิดในเมืองไทยอีก ยกเว้นหลัง 6 ตุลาคม 2519 และ ธานินทร์ กรัยวิเชียร ก็ประกาศแผนทางการเมืองของตนอย่างนั้น แต่บุคลิกภาพและสถานะของธานินทร์นั้น ห่างจากความเป็น "นักเลง" ลิบลับ คำประกาศของเขาจึงเป็นเรื่องตลกที่เรียกเสียงฮาได้ทั่วแผ่นดิน

นักรัฐประหารหลังจากนั้นพยายามจะเป็นสฤษฎิ์ เช่น กระชากเสียงเมื่อปราศรัยว่า "พี่น้องประชาชนที่รัก" แต่ตัวจ๋องกรอด จึงฟังดูน่ารื่นเริงมากกว่า และที่สำคัญกว่าคือ สถานการณ์ไม่อำนวยให้รื้อระเบียบการเมืองไปสู่ความไร้ระเบียบอย่างสิ้นเชิงเหมือนสฤษฎิ์



ผมพูดเรื่องนี้เพื่อบอกว่าประมุขศิลป์แบบ "นักเลง" นั้นใช้ได้ดีกับคนไทยในบางสถานการณ์เท่านั้น ไม่ใช่ทุกสถานการณ์ ยิ่งไปกว่านั้น สังคมไทยเองก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ "นักเลง" ไทยก็เปลี่ยนตามไปด้วยนะครับ

ความเปลี่ยนแปลงอย่างแรกที่เห็นได้ชัดคือเพศสภาพ คุณสมบัติของ "นักเลง" นั้นสร้างขึ้นจากความเป็นชายในทัศนะของไทยโดยแท้ แต่เดี๋ยวนี้เรามี "ตั้วเจ๊" คุมแพปลา คุม ส.ส. หรือคุมรถทัวร์ และคุม ส.ส.อยู่หลายคน เท่าที่ผมได้อ่านประวัติของคนเหล่านี้ ก็ไม่เคยไปต่อยตีกับใคร ไม่ได้ชื่อว่าคงกระพันหนังเหนียว แต่ "เลี้ยง" คนไว้มาก ทั้งเลี้ยงโดยตรงและโดยอ้อม

เรียกอีกอย่างหนึ่ง คนเหล่านี้คือ "เจ้าแม่" ซึ่งเป็นคนละเพศกับ "เจ้าพ่อ" แต่ทั้ง "เจ้าแม่" และ "เจ้าพ่อ" นั้น ผมคิดว่าไม่ใช่ "นักเลง" และไม่เชิงว่าจะเป็นทายาทของ "นักเลง" ด้วย หากเป็นสิ่งเกิดใหม่ในสังคมไทยหลังนโยบายพัฒนาของสฤษฎิ์นี่เอง

สิ่งที่เหมือนกับนักเลงก็คือ มีสมรรถนะจะใช้ความรุนแรงได้ จึงสามารถข่มขู่ว่าจะใช้ก็ได้ด้วย มีสมรรถนะที่จะให้ความอุปถัมภ์แก่คนอื่นในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ใช่ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์แท้ๆ คือใช้ความสัมพันธ์นี้เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของตน เช่น ให้กำลังแก่ตนในการผูกขาดในตลาดที่อ้างว่าเสรี และอย่างที่สามคือ มีสมรรถนะจะเชื่อมโยงกับอำนาจรัฐอย่างออกหน้า

ความแตกต่างที่สำคัญระหว่าง "นักเลง" กับเจ้าพ่อก็คือ ความสัมพันธ์ภายในของกลุ่ม จะเป็นเพราะ "นักเลง" อยู่ในกลุ่มที่เล็กกว่าหรืออย่างไรไม่ทราบ แต่ "นักเลง" มีความสัมพันธ์กับพรรคพวกในแนวค่อนข้างราบ ลูกพี่อาจเหนือลูกน้องหน่อยหนึ่ง แต่ไม่ใช่เจ้าใหญ่นายโตที่เข้าถึงได้ยาก ส่วนเจ้าพ่อนั้นเป็นสุดยอดของปีรามิดใหญ่ ที่สัมพันธ์กับคนอื่นจากบนลงล่าง ที่อยู่ฐานปีรามิดนั้นจะเข้าถึงเจ้าพ่อไม่ได้ง่าย

เจ้าพ่อที่พยายามรักษาความสัมพันธ์แบบ "นักเลง" เอาไว้ก็มีเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น "กำนันคนดัง" หรือ "เฮียคนดัง" ซึ่งเปิดให้คนเล็กคนน้อยมาร้องทุกข์ได้ หรือลงไปไต่ถามสารทุกข์สุกดิบของชาวบ้านในอาณาบริเวณบ่อนของตน แต่เมื่อเจ้าพ่อขยายกิจการของตนเข้าไปลงทุนในกิจการที่อยู่ในแสงสว่าง ก็ยากจะรักษาความสัมพันธ์เช่นนี้ไว้ได้ บางครั้งอาจเกิดขัดผลประโยชน์กับเจ้าพ่อเสียเองก็ได้ เช่น หากอยากสร้างคอนโด ก็ต้องไล่ที่ชาวบ้าน

สมรรถนะสองอย่างของเจ้าพ่อที่เหมือน"นักเลง" คือใช้ความรุนแรงได้ และอำนาจจากการอุปถัมภ์ แต่ก็เป็นเครื่องมือที่ใช้ไม่ค่อยได้ เหลืออยู่เพียงอย่างเดียวซึ่งสามารถทำได้เหนือกว่า "นักเลง" เสียอีก นั่นคือ สมรรถนะที่จะเชื่อมต่อกับอำนาจรัฐ จะเป็นรัฐส่วนกลางหรือรัฐท้องถิ่นก็ตาม

สมรรถนะที่จะเชื่อมต่อกับอำนาจรัฐเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเป็นเจ้าพ่อในปัจจุบัน แม้แต่ความรุนแรงก็อาจใช้อำนาจรัฐเป็นเครื่องมือ

หลายครั้งอำนาจอุปถัมภ์ก็เอามาจากทรัพยากรสาธารณะอีกนั่นแหละ



คนดังเมืองสุพรรณเป็นตัวอย่างที่ดี ผมไม่เคยได้ยินใครเรียกเขาว่าเจ้าพ่อ แต่เขามีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับรัฐทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นอย่างมาก นอกจากเป็นประโยชน์ในการประกอบธุรกิจซึ่งล้วนอยู่ในที่สว่างของเขาแล้ว ยังทำให้เขาคือผู้คุมอำนาจรัฐในสุพรรณไปได้เกือบหมด นับตั้งแต่ผู้ว่าลงมาถึงปลัดอำเภอ จะย้ายใครออกไป จะเอาใครมานั่งก็ได้ทั้งนั้น

ในขณะเดียวกัน เขาก็สละทรัพย์ส่วนตัวสร้างสาธารณูปโภคในชื่อของตนเองและครอบครัวไปทั่วเมืองสุพรรณ เป็นอำนาจเชิงอุปถัมภ์ซึ่งแตกต่างจาก "นักเลง" ตรงที่ไม่มีผู้รับที่เป็นบุคคล

ผมคิดว่าคนดังเมืองสุพรรณอยู่ตรงกลางระหว่าง "กำนันคนดัง" กับนักธุรกิจอีกมากในมุมสว่าง แต่มีสายสัมพันธ์กับอำนาจรัฐในรูปต่างๆ มากมาย ผมอาจตั้งคำถามว่าเจ้าของธุรกิจเกษตรขนาดยักษ์ ที่มีธุรกิจข้ามชาติอีกหลายอย่างเป็นเจ้าพ่อหรือไม่ เจ้าของสื่อยักษ์ซึ่งเป็นที่เกรงขามของข้าราชการและนักการเมืองทั้งประเทศเป็นเจ้าพ่อหรือไม่


คนเหล่านี้ล้วนมีอำนาจเพราะเชื่อมโยงกับรัฐทั้งสิ้น

ผมนึกถามตัวเองว่า นักเลงและเจ้าพ่อจะมีอนาคตอย่างไรในเมืองไทย ผมอยากเดาคำตอบว่า นักเลงที่ไม่ได้หมายถึงนักเลงหัวไม้นั้นหมดไปแล้ว เหลืออยู่แต่บุคลิกภาพในอุดมคติที่คนไทยชื่นชอบ ส่วนเจ้าพ่อก็น่าจะหมดไปเหมือนกันในอนาคต โดยแปรตัวเองมาเป็นเสี่ย มีอำนาจก็เพราะเชื่อมโยงกับอำนาจรัฐ ใช้รัฐนั่นแหละตีหัวหมาด่าแม่เจ๊ก และใช้รัฐนั่นแหละโอบอุ้มคนในสังกัดของตน

(ผมได้รับแรงบันดาลใจให้เขียนเรื่องนี้ เมื่อได้อ่าน "Rural male"s leadership, religion and the environment in Thailand"s mid-south, 1920"s-1960"s," ของ อาจารย์เครก เรย์โนลดส์ ซึ่งจะตีพิมพ์ใน Journal of Southeast Asian Studies)



++

นักเลงใต้
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 04 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1590 หน้า 31


ถ้าเราอยู่ในป่าคนเดียว ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีอัตลักษณ์ ความเป็นตัวเราและความเป็นอื่นอาจเบลอเข้าหากันจนกระทั่งเผลอฉี่ลงโป่งสัตว์ กวางตัวเมียอาจมาเลียแล้วเลยท้อง จนได้ลูกสาวมาสักคนจากท้องกวาง อย่างที่ฤษีในราม-เกียรติ์โดนมาแล้วก็ได้

เช่นเดียวกับเมื่อเกิด "ชาติ" ซึ่งเป็นหน่วยทางการเมืองขนาดใหญ่ ที่รวมเอาหน่วยทางการเมืองเล็กๆ ของชุมชนหลากหลายชนิดเข้ามาไว้ด้วยกัน หรือเมื่อผลของโลกาภิวัตน์ผนวกเอาหน่วยเล็กๆ ตั้งแต่ชุมชนไปถึง "ชาติ" เข้าไปอยู่ในหน่วยทางเศรษฐกิจโลก (และการเมือง, วัฒนธรรม) ผลประโยชน์ของหน่วยที่เล็กกว่า ไม่ว่าจะเป็นชาติ, ท้องถิ่น, หรือชุมชน ก็ถูกละเลยและละเมิดมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่สามารถเป็นฤษีในป่าตนเดียวได้อีกต่อไป

หนึ่งในการต่อสู้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของหน่วยที่เล็กกว่าเหล่านี้ไว้ไม่ให้ถูกละเลยและละเมิดก็คือ สร้างอัตลักษณ์ของตนขึ้นให้เด่น, ให้ต่าง, ให้มีคุณค่าต่อสภาวการณ์ใหม่ แต่ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยที่ใหญ่กว่า หากไม่ถูกกลืนหายไปเป็นส่วนที่ไม่ต้องนับของหน่วยใหญ่นั้น

ในบรรดาคนไทยในภาคต่างๆ ของไทยนั้น ผมคิดว่าอัตลักษณ์ที่เด่นดังที่สุดน่าจะเป็นของคนใต้ เพราะสร้างได้เข้มที่สุดหนึ่ง และเพราะกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเด็นที่พรรคการเมืองใช้เป็นเครื่องมือหาเสียงอีกหนึ่ง


ใครๆ ก็เคยได้ยินใช่ไหมครับว่า คนใต้เป็นคน "จริง", พูดตรง แต่จริงใจ, รักพวกรักพ้อง, ใจกว้าง, ใจสู้, หยามไม่ได้, รักศักดิ์ศรี ฯลฯ

ล้วนเป็นคุณสมบัติที่ใครๆ ซึ่งไม่ใช่คนใต้ก็อยากมีทั้งนั้น เพียงแต่จะมีได้ก็เป็นคนๆไป ไม่ใช่มีได้เหมือนกันหมดทั้งภาคเหมือนคนใต้

ผมพูดให้เฉลียวแหละครับว่า จะเป็นไปได้อย่างไรที่คนทั้งภาคจะเป็นอย่างนั้นหมด และในชีวิตจริงใครๆ ก็คงเคยพบคนใต้แหยๆ เป็นอ้ายเสือปืนฝืด ปลิ้นปล้อนไม่น่าคบ ฯลฯ หรือมีคุณสมบัติเหล่านั้นเพียงบางอย่าง

ดังนั้น อัตลักษณ์เหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น และผมออกจะสงสัยว่าเพิ่งสร้างขึ้นในรัฐชาติไทยสมัยใหม่นี้เอง หรือจะให้กระชับกว่านั้นก็คือ เมื่อชาติไทยแทรกเข้าไปยุ่มย่ามในชีวิตคนใต้มากขึ้น คือหลังการพัฒนาของสฤษฎิ์ ธนะรัชต์ ไปแล้วนี่เอง เอกสารสมัย ร.5-6 ซึ่งมักเรียกคนใต้ว่า "ชาวนอก" ไม่เห็นพูดถึงอัตลักษณ์พิเศษอะไรของคนใต้เลย นอกจากวัฒนธรรมประเพณีที่ลอกเลียนภาคกลางโบราณ แต่หยาบกว่า (ตามทัศนคติของชนชั้นสูงสมัยนั้น)

ใครสร้างอัตลักษณ์ของคนภาคใต้ขึ้นมา?

สรุปอย่างสั้นๆ คงต้องตอบว่านักวิชาการภาคใต้ แต่คงไม่ได้สร้างขึ้นจากอากาศธาตุ หากรวมเอาบุคลิกภาพของคนใต้ที่ตนรู้จักคุ้นเคยบวกกับจินตนาการของตนเอง แล้วประดิษฐ์หรือนิยามออกมาเป็นคำพูดในงานวิชาการของตนเอง

ที่นักวิชาการสร้างขึ้นเองแท้ๆ บวกเข้าไปก็คือสิ่งที่เรียกกันว่า "โลกทรรศน์" มีงานวิชาการที่ศึกษาโนรา, หนังตะลุง, วัวชน, ประเพณีพิธีกรรม ฯลฯ ของคนใต้เพื่อค้นหา "โลกทรรศน์" ของคนใต้จำนวนไม่น้อย และ "โลกทรรศน์" ที่ได้ค้นพบก็สอดรับกับอัตลักษณ์ของคนใต้ที่สร้างขึ้นไว้อย่างสนิทแนบแน่น

อันที่จริง ผมไม่ทราบหรอกว่าเขาสร้างโลกทรรศน์ให้สอดรับกับอัตลักษณ์ หรือสร้างอัตลักษณ์ให้สอดรับกับโลกทรรศน์

แต่สองอย่างนี้ในงานวิชาการ ต่างหนุนเสริมกันและกันดี

ในงานศึกษามานุษยวิทยาทางการเมืองของ Marc Askew เรื่อง Performing Political Identity ผู้วิจัยชี้ให้เห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้ใช้อัตลักษณ์ที่นักวิชาการสร้างขึ้นนี้ไปทำให้คนใต้รู้สึกว่า ประชาธิปัตย์เป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ได้อย่างไร

เรื่องนี้น่าสนใจ แต่ผมจะยกให้ผู้อ่านที่สนใจเหมือนกันไปหาอ่านเอาเอง ผมอยากชวนคุยในเรื่องกลับกันว่า ทำไมคนใต้จึง(ร่วม)สร้างและรับเอาอัตลักษณ์ที่นักวิชาการสร้างขึ้นอย่างพร้อมเพรียงเช่นนี้



จะว่าไป ภาคใต้ประสบความเปลี่ยนแปลงมากและก่อนภาคอื่นในการเข้าสู่ความทันสมัย ก่อนที่จะสร้างทางรถไฟสู่ภาคอีสาน ภาคใต้ตอนล่าง (ไม่รวมหัวเมืองมลายู) มีการค้ากับต่างประเทศโดยตรงและติดต่อใกล้ชิดกับกรุงเทพฯ โดยทางเรือมาก่อน การทำเหมืองฉีด (ของจีน) และสวนยางพาราก็เข้ามาก่อน และเริ่มเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนใต้ทางเศรษฐกิจอย่างลึกซึ้ง อาณานิคมของอังกฤษทางตอนใต้ยังมีผลต่อเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของคนใต้อยู่ไม่น้อย

ยิ่งมาในตอนหลังนโยบายพัฒนาภาคใต้เป็นแหล่งรายได้ที่ทำเงินตราต่างประเทศใหญ่ของประเทศไทย จากทั้งดีบุกและยางพารา การผนวกภาคใต้เข้ามาในราชอาณาจักรก็ยิ่งเข้มข้นขึ้น

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือภาคใต้ถูก "กลืน" เข้ามาในราชอาณาจักรสยามก่อนใคร (ยกเว้นภาคกลางตอนล่าง) เกิดความจำเป็นจะต้องนิยามอัตลักษณ์ของตนขึ้นใหม่ ท่ามกลางสภาวการณ์ใหม่ที่กำลังถูกละเลยและละเมิดจากส่วนกลาง

ขอให้สังเกตนะครับว่า อัตลักษณ์ของคนใต้ที่ถูกสร้างขึ้นนี้ ไม่ว่าจะเป็นความจริงใจ, รักพวกพ้อง, พูดจริงทำจริง, ใจสู้, กล้าได้กล้าเสีย, ฯลฯ ก็คือคุณลักษณะของ "นักเลง" นั่นเอง

ความเป็น "นักเลง" คืออะไรเล่าครับ

ความหมายสำคัญที่ผมคิดว่าช่วยสร้างอำนาจต่อรองให้แก่คนใต้ในสภาวการณ์ใหม่ก็คือ มึงอย่ามายุ่งกับกู ยกเว้นแต่ยุ่งตามกติกาที่กูตั้งขึ้น

มึงก็คือ "คนอื่น" ซึ่งผมคิดว่าหมายถึงรัฐส่วนกลาง ไปจนถึงนายทุนที่เป็นคนนอก ศิลปวัฒนธรรมของคนนอก ภาษาและกิริยามารยาทแบบ "นาย" หรือข้าราชการซึ่งเป็นคนนอกเช่นกัน

"นักเลง" คือการสร้างอิสรภาพในการปกครองตนเองเชิงสัญลักษณ์ (symbolic autonomy) ขึ้นนั่นเอง และภาพนี้แหละที่ทำให้คนใต้กลายเป็น "คนดุ" ในสายตาของคนภาคอื่น ผมจำได้ว่าสัก 30 ปีมาแล้ว แทบจะหาเอนจีโอทำงานในภาคใต้ไม่ได้เลย คำอธิบายที่ผมทราบจากเอนจีโอคือ ไม่มีใครอยากไปอยู่ เพราะคิดเอาเองว่าคงเข้าถึงชาวบ้านไม่ได้

แปลออกมาเป็นภาษาวิชาการด้านโลกทรรศน์ของนักวิชาการภาคใต้ก็คือ คนใต้เป็นคนรักอิสระ ไม่ยุ่งกับคนอื่นและไม่ชอบให้ใครมายุ่งกับตน

เมื่อเปรียบเทียบกับอัตลักษณ์ของคนภาคอื่น (ซึ่งผมเชื่อว่าก็สร้างขึ้นใหม่เพื่อเผชิญความเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน) จะเห็นว่าเป็นตรงข้ามเลยทีเดียว

แทนที่คนภาคเหนือและอีสานจะพยายามเน้นความต่างที่ไม่มีวันจะถูกกลืนหายไปใน "ความเป็นไทย" แบบภาคกลาง เขากลับพยายามจะกลืนตัวเองเข้าไปในรัฐมากกว่า เช่นแต่ก่อนนี้ทั้งสองภาคไม่ชอบให้คนอื่นมาเรียกตัวว่า "ลาว" ต่างยืนยันว่าตนเป็น "ไทย" เป็นต้น

แทนที่จะเป็น "นักเลง" คนเหนือและอีสาน (โดยเฉพาะในงานวิชาการ) กลับเป็นคนเรียบร้อย มีความร่วมมือกันเองอย่างสูงในชุมชน เคร่งศาสนา และมีไมตรีกับคนแปลกหน้า

ในขณะที่วีรบุรุษและสตรีของคนใต้ คือคนที่มีความสามารถเด่นดังในภูมิภาค จะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับอยุธยาหรือประเทศไทยหรือไม่ก็ไม่สู้จะสำคัญนัก นับตั้งแต่นางเลือดขาว, หลวงปู่ทวด, ปานบอด, ขุนนรากรอุปถัมภ์, พลต.ท.ขุนพันธ์ราชเดช มาจนถึงจตุคามรามเทพ

(ท้าวเทพสตรีและท้าวศรีสุนทรดูจะเป็นวีรสตรีของราชการไทยมากกว่าของคนใต้)

ในขณะที่วีรบุรุษและสตรีของคนเหนือและอีสาน หลังจากวีรกษัตริย์ในราชวงศ์มังรายและญาคูขี้หอมแล้ว ก็ล้วนเป็นคนที่เด่นดังเพราะสนับสนุนกรุงเทพฯ ทั้งสิ้น นับตั้งแต่ท้าวสุรนารี, เจ้าพ่อพระยาแล, เจ้าดารารัศมี, ศิษย์พระอาจารย์มั่นอีกหลายรูปที่มีส่วนช่วยส่งเสริมการขยายตัวของธรรมยุติกนิกายในอีสาน ฯลฯ

แม้แต่สี่อดีตรัฐมนตรีซึ่งที่จริงแล้วมีคุณูปการต่อประเทศไทยอย่างมาก ก็ไม่ค่อยมีคนยกขึ้นเป็นวีรบุรุษจากภาคอีสานนัก

อัตลักษณ์ของคนเหนือและอีสานถูกสร้างขึ้นเพื่อกลืนตัวเองเข้ามาในรัฐชาติอย่างเสมอภาคกับคนอื่น ไม่ใช่การแยกเป็นอิสระอย่างคนใต้ เพื่อ "เข้าร่วม" ในรัฐชาติไทยอย่างมีเงื่อนไขที่ตนพอใจ ไม่ใช่ถูกกลืนเข้ามาเฉยๆ โดยไร้ข้อต่อรอง



นักวิชาการภาคใต้บรรยายโลกทรรศน์ของคนใต้ว่า ระแวงอำนาจอาญาสิทธิ์ จึงชอบ "กบฏ" ทำจริงไม่ได้ก็ขอทำในทีไว้ก่อน

คนใต้ก็รู้สึกตนเองว่าถูกทอดทิ้งจากส่วนกลางเหมือนกัน แต่การถูกทอดทิ้งไม่ใช่ประเด็นหลักทางการเมืองของคนใต้ ในขณะที่เป็นประเด็นหลักทางการเมืองของคนอีสานมานาน

นักวิชาการภาคใต้บอกอีกว่า โลกทรรศน์ของคนใต้นั้นเน้นความสัมพันธ์ที่เท่าเทียม (จึงระแวงอาญาสิทธิ์) ผมไม่เคยเห็นผลงานวิชาการของภาคเหนือและอีสานที่พูดอย่างนี้ ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ กลับมีการพูดถึงความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ค่อนข้างมาก เชื่อนายมีความจงรักภักดีต่อนาย ในขณะที่นายก็มีความเมตตาอารีต่อลูกน้อง

ผมไม่ได้หมายความว่าในความเป็นจริงแล้ว ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ไม่มีความสำคัญในภาคใต้ แต่การที่นักวิชาการมาสร้างอัตลักษณ์ให้เป็นนักประชาธิปไตย คือยึดมั่นต่อความเสมอภาค ก็มีผลให้พฤติกรรมทางการเมืองของคนใต้แตกต่างออกไปบ้าง (จนเป็นความเชื่อของประชาธิปัตย์โดยทั่วไปว่า คนใต้ "ซื้อไม่ได้" ผมไม่ทราบว่าเขาเชื่อจริงหรือเชื่อหลอก)

คุณแอสคิววิเคราะห์กลไกการเลือกตั้งของสงขลาแล้วบอกว่า "พวก" เป็นเงื่อนไขสำคัญในการโกยคะแนนเลือกตั้ง

ผมอยากให้สังเกตไว้ด้วยว่า "พวก" ในภาษาไทยค่อนข้างจะส่อให้เห็นความสัมพันธ์ที่เท่าเทียม คล้ายกับคำว่า "เพื่อน" แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ผู้ลงคะแนนทุกคนล้วนเป็น "พวก" ของผู้สมัครหรือผู้อุดหนุนผู้สมัคร เพราะในบรรดาคนที่สัมพันธ์กันอย่างเท่าเทียมใน "พวก" เดียวกันนี้ ต่างก็มีลูกน้องเป็นเครือข่ายลงไปข้างล่างจำนวนมาก แต่ละคนก็ใช้ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์นี้ดึงเอาคะแนนจากลูกน้องของตนมาลงให้แก่ผู้สมัครของ "พวก"

ความสัมพันธ์อันหลังระหว่างนายหัวและลูกน้องนี่แหละที่เป็นความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ ซึ่งบางครั้งก็ย่อมมีการใช้เงินบ้างเป็นธรรมดา เพราะการ "ให้" เป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งของความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์แบบไทย คือเน้นความสูงกว่าของผู้ให้ และเน้นการยอมรับต่อผู้ด้อยกว่าไปพร้อมกัน

นักการเมืองที่เที่ยวแจกเงินโดยไม่มี "พวก" จึงเท่ากับสร้างความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกันของตลาด กูอาจเลือกมึงหรือไม่ก็ได้ แต่เงินนั้นกูเอา

ไม่เหมือนกับ "เจ้าพ่อ" ในอีกหลายจังหวัดของภาคอื่น กล่าวคือเจ้าพ่อมีเครือข่าย แต่ทุกคนในเครือข่ายเป็นรองหรือเป็นลูกน้องของเจ้าพ่อหมด ไม่ใช่ "พวก" กลไกการเลือกตั้งกลายเป็นเรื่องว่าเจ้าพ่อจะสนับสนุนใคร จึงจะขยับกลไกหรือเครือข่ายอุปถัมภ์ของเจ้าพ่อทั้งหมด ให้เคลื่อนมาสู่การลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร



ในความเปลี่ยนแปลงสู่ความทันสมัยที่มีรัฐสมัยใหม่ซึ่งค่อนข้างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันนี้ คนแต่ละภาคก็สร้างอัตลักษณ์ของตนขึ้น เพื่อเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงนี้

อัตลักษณ์เป็นเพียงเครื่องมือของการมีความสัมพันธ์กับสังคม ไม่ใช่ลักษณะตายตัวที่ติดอยู่ในดีเอนเอ ดังนั้นจึงไม่ใช่ลักษณะที่หยุดนิ่งโดยไม่แปรเปลี่ยนเลย
ตรงกันข้ามกลับต้องปรับเปลี่ยนให้เป็นเครื่องมือที่ดีในความสัมพันธ์กับสังคมที่เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาเสมอ

และผมคิดว่า อัตลักษณ์ของคนทุกภาคในเวลานี้ก็กำลังเปลี่ยนหรือเปลี่ยนไปแล้วทั้งนั้น มีคนจำนวนมากขึ้นในทุกภาคที่มองตนเองแตกต่างจากที่นักวิชาการบรรยายไว้ในสารานุกรมวัฒนธรรม



.