http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-02-08

ควบคุมราคาและการผูกขาด และ ชุมชนนอกความฝัน โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.
ควบคุมราคาและการผูกขาด
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 07 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 เวลา 20:00:00 น.
แบ่งปันข่าวนี้บน facebook Share


โดยปราศจากความรู้ทางเศรษฐศาสตร์อย่างสิ้นเชิง ผมสงสัยมานานแล้วว่า การควบคุมราคาสินค้า โดยเฉพาะอาหาร มีประโยชน์จริงหรือไม่ ทำไปเพื่ออะไรและเพื่อใคร

ประเทศไทยค่อนข้างถนัดในการควบคุมราคาสินค้า แต่เป้าหมายในการควบคุมไม่ใช่เพื่อผดุงมิให้ค่าครองชีพสูงเกินไป อย่างน้อยก็ไม่ใช่โดยตรง เช่นในช่วงหนึ่ง เราต้องการชักจูงให้คนมีทุนหรือเข้าถึงทุนได้บางกลุ่ม ริเริ่มการผลิตด้านอุตสาหกรรม โดยมีปัจจัยเสี่ยงให้น้อยที่สุด จึงใช้อำนาจรัฐกดราคาแรงงานไว้ให้ต่ำ แต่เพื่อให้แรงงานซึ่งได้ค่าจ้างต่ำนี้อยู่ได้ ก็ต้องกดราคาอาหารลงด้วยการควบคุมราคา หรือวิธีอื่นๆ เช่น เก็บภาษีพรีเมียมข้าวส่งออก การควบคุมราคาอาหารจึงมิได้ทำเพื่อลดค่าครองชีพ แต่เพื่อทำให้อุตสาหกรรมเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และขยายตัวได้

บางครั้งเราต้องการให้มีการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมบางอย่างที่ตลาดภายในต้องการ จึงอนุญาตให้เกิดการผูกขาดคืออนุญาตให้ผลิตได้เพียงเจ้าเดียวหรือสองเจ้า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแข่งขัน ทั้งจากผู้ผลิตอื่นหรือจากการนำเข้า จึงต้องควบคุมราคาสินค้าตัวนั้น แต่ก็เป็นราคาที่ผู้ผลิตต้องได้กำไร แต่ผู้นำเข้าไม่สามารถสู้ได้ เพราะมีกำแพงภาษีกันไว้ การควบคุมราคาสินค้าประเภทนี้จึงไม่มีผู้บริโภคอยู่ในความคิดแต่อย่างใด

โดยสรุปแล้ว การควบคุมราคาสินค้าในประเทศไทย เกิดขึ้นจากความพยายามบิดเบือนตลาด คือป้องกันมิให้เกิดการแข่งขันกันจริง ที่ห้ามหมูข้ามเขตในสมัยก่อน ก็เพราะต้องการทำให้ตลาดหมู ไม่มีการแข่งขันจริงนั่นเอง เมื่อไรที่ไม่เปิดให้มีการแข่งขัน ก็ต้องมีบางรายได้โอกาส และบางรายเสียโอกาสเป็นธรรมดา นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจในประเทศไทยต้องจ่ายค่าต๋งทางการเมืองเสมอมา ไม่ว่าจะจ่ายให้นักการเมืองหรือนักรัฐประหาร และนี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คอร์รัปชั่นเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการรัฐกิจของไทยอย่างแยกไม่ออก

เราใช้นโยบายควบคุมราคากันมานาน จนคนไทยเคยชินเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของลมหายใจ ของแพงเมื่อไร ก็เรียกร้องให้รัฐบาลควบคุมราคาเข้มงวด ราคาไข่ซึ่งเป็นโปรตีนถูกสุดจึงกลายเป็นดัชนีชี้วัดธรรมาภิบาลของรัฐบาลไทยไปโดยปริยาย

ผมสนใจการควบคุมราคาสินค้าอาหาร เพราะในอนาคตอันใกล้นี้ ใครๆ ก็คาดเดากันว่าอาหารทั้งโลกจะมีราคาสูงขึ้น เพราะพื้นที่เกษตรของโลกลดลง และเพราะความผันผวนของภูมิอากาศ ในระยะยาวก็คำนวณกันได้ว่า เราไม่มีทางจะผลิตอาหารพอเลี้ยงพลโลกที่เพิ่มขึ้นได้ ยกเว้นแต่ใช้เทคโนโลยีใหม่ (เช่น ทำนาในทะเล) หรือเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาของโลก ซึ่งมีความเป็นไปได้ไม่สู้จะมากนัก

ราคาอาหารกระทบคนทุกคน จึงมีจำนวนมากกลายเป็นปัญหาทางการเมืองที่น่ากลัวแก่รัฐบาล (เราเคยมีรัฐประหารสมัยหลังสงครามที่อ้างว่ารัฐบาลพลเรือนไม่สามารถควบคุมค่าครองชีพได้) แต่เอาเข้าจริง รัฐบาลก็สามารถควบคุมราคาอาหารได้ไม่สู้จะสำเร็จมากนัก โดยเฉพาะในสมัยปัจจุบัน เพราะปัจจัยการผลิตมีความซับซ้อนมากขึ้น กดราคาอาหารก็กระทบไปถึงผู้ผลิตวัตถุดิบส่วนอื่น อีกทั้งในสภาพของโลกาภิวัตน์ซึ่งทำให้โลกทั้งใบกลายเป็นตลาดเดียว วัตถุดิบที่จะใช้ในการผลิตอาหาร หรือแม้แต่ตัวอาหารเอง จึงอาจไหลออกไปสู่ตลาดที่ไม่ถูกควบคุมราคาได้เสมอ ควบคุมราคาจึงอาจเป็นผลให้เกิดการขาดแคลน หรือกึ่งขาดแคลนได้ง่าย (เช่น กักตุนสินค้าไว้จนกว่าจะยอมให้ขึ้นราคา)


ผมคิดว่าถึงเวลาที่สังคมไทยควรหันมาใส่ใจเรื่องของการแข่งขันที่เป็นธรรมและเท่าเทียมให้มากขึ้น แทนที่จะเรียกร้องแต่การควบคุมราคาโดยรัฐ โดยเฉพาะในภาคการเกษตรซึ่งเป็นฐานของการผลิตอาหาร

ในภาคการเกษตรของไทย มีการผูกขาดโดยนิตินัยและพฤตินัยอยู่มากทีเดียว ซึ่งล้วนทำให้ราคาอาหารในตลาดสูงขึ้น หากเราหันมาใส่ใจตรงนี้ให้มาก โอกาสที่จะทำให้ราคาอาหารมีความเป็นธรรมทั้งแก่ผู้ผลิตและผู้บริโภค ก็จะมีความเป็นไปได้มากกว่ามาใส่ใจกันแต่ควบคุมราคาในตลาดอาหาร ซึ่งที่จริงก็เป็นปลายทางแล้ว

ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลงซึ่งกลายเป็นปัจจัยการผลิตที่ขาดไม่ได้ของเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ ไม่ได้ถูกนำเข้าโดยเสรี แต่รัฐจะอนุญาตให้บริษัทใหญ่จำนวนหนึ่งสามารถนำเข้าได้ โดยอ้างว่าเพื่อควบคุมด้านคุณภาพและราคา แต่เอาเข้าจริงก็ควบคุมไม่ได้ จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงที่ตกถึงมือเกษตรกรรายย่อย มักมีราคาสูงกว่าท้องตลาด เพราะถูกโกงตาชั่งบ้าง, ถูกปลอมปนบ้าง, ถูกให้ "กู้" เป็นเงินยืมซึ่งต้องมี "ดอก" เป็นธรรมดาบ้าง ฯลฯ เพราะพ่อค้าปุ๋ยและยาไม่ได้อยู่ในความควบคุมของบริษัทนำเข้า

ราคาของปุ๋ยจึงไม่มีการแข่งขันกันจริงมาแต่ต้นทางแล้ว บริษัทนำเข้าก็วนไปวนมาอยู่ไม่กี่บริษัท หากไม่ถือหุ้นไขว้กันไปมาแล้ว ก็มักจะ "ฮั้ว" กันเอง (อันเป็นธรรมชาติของการประกอบธุรกิจผูกขาดทั้งหลาย) ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงสารเคมีที่หลายประเทศห้ามใช้ในการเกษตรซึ่งมีนับเป็นหลายร้อย หลายพันชนิด แต่ไม่ห้ามในประเทศไทย มาตรการของรัฐจึงไม่ทำให้ได้ปุ๋ยและยาที่มีคุณภาพดี ทั้งราคาก็ถูกบิดเบือนมาแต่ต้น

เช่นเดียวกับการเลี้ยงสัตว์เช่นหมูหรือไก่ รัฐควบคุมให้มีไม่กี่บริษัทที่สามารถนำเข้าลูกไก่พันธุ์จากต่างประเทศได้ ผู้ผลิตลูกหมูพันธุ์ก็มีอยู่ไม่กี่เจ้าเช่นกัน ส่วนอาหารสัตว์เล่า แม้รัฐไม่ได้บังคับ แต่ในทางพฤตินัยแล้ว ก็เป็นการผูกขาดอีกลักษณะหนึ่งนั่นเอง เกษตรกรต้องพึ่งบริษัทอยู่ไม่กี่เจ้า ซึ่งแข่งขันกันอย่างไม่เป็นธรรมนัก เช่นซื้อลูกไก่ก็ต้องพ่วงอาหารไปด้วย

การเกษตรแบบพันธสัญญาในเมืองไทย ก็คือการปล่อยให้ทุนสามารถผูกขาดทุกขั้นตอนของการผลิตและตลาด เพราะรัฐไม่ใส่ใจที่จะพัฒนากฎหมายและการบังคับใช้ เพื่อปกป้องเกษตรกรไม่ให้ถูกเอาเปรียบ นายทุนผลักภาระความเสี่ยงในตลาดทั้งหมดให้เกษตรกรพันธสัญญารับไปเอง หากปลาในตลาดราคาตก ก็ไม่ยอมรับซื้อจากเกษตรกร ซึ่งต้องลงทุนด้านอาหารปลาเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนกว่าบริษัทจะรับซื้อเมื่อราคาปลาในตลาดดีขึ้นแล้ว บางครั้งก็กลายเป็นปลาตัวโตเกินไปขายไม่ได้ราคา ก็อาจไม่รับซื้อเสียอีก

ผลผลิตที่ได้จากภาคเกษตรก็ถูกผูกขาดโดยพฤตินัยเช่นกัน ข้าวต้องขายให้แก่เจ้าหนี้ ไข่ต้องขายให้แก่เอเยนต์ของผู้ส่งออกหรือผู้ส่งออกโดยตรง ตลาดภายในที่รวมศูนย์มากๆทำให้เหลือผู้กระจายสินค้าการเกษตรอยู่ไม่มากนัก และคือผู้กำหนดราคารับซื้อจากเกษตรกรในแต่ละท้องถิ่น

ฉะนั้น แทนที่จะมาควบคุมราคาอาหารที่ปลายทาง เรากลับไปจัดการกับการผลิตที่ต้นทางกัน จะไม่มีประสิทธิภาพในการทำให้ราคาอาหารมีความเป็นธรรมมากกว่าหรอกหรือ


และ ผมคิดว่าสิ่งสำคัญที่จะต้องทำก็คือ ทำให้เกษตรกรรายย่อยมี "ทางเลือก" มากขึ้น นับตั้งแต่จะใช้หรือไม่ใช้ปุ๋ยเคมี หากจะใช้ก็มีทางเลือกว่าจะใช้ยี่ห้อใด ในราคาเท่าไร รวมถึงใช้อย่างไร จะขายสินค้าก็มีให้เลือกขายได้หลายเจ้า แม้แต่กู้เงินก็มีแหล่งทุนให้กู้ได้หลายลักษณะ ในอัตราดอกเบี้ยที่ต้องแข่งขันกันเอง

จะทำให้เกิดสภาวะนี้ได้ ก็ต้องให้ความสำคัญแก่ผู้ประกอบการรายย่อย อย่าปล่อยให้เกิดการผูกขาดทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติแก่บริษัทยักษ์ทั้งหลาย ผมเชื่อว่าตลาดใดๆ จะเสรีอยู่ได้ก็ต่อเมื่อผู้ประกอบการรายย่อยมีโอกาสไม่น้อยไปกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ ทั้งนี้ นับตั้งแต่อาหารถุงข้างถนนไปถึงการทำโรงแรมหรือโรงงานทอผ้า เพราะผู้ประกอบการรายย่อยคือผู้ควบคุมราคาที่มีประสิทธิภาพที่สุด นอกจากนี้ผู้ประกอบการรายย่อยก็ "ฮั้ว" กันได้ยากกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่

การรวมกลุ่มเพื่อต่อรองทางเศรษฐกิจ ก็เป็นผู้ประกอบการรายย่อยอย่างหนึ่ง (ผมหลีกเลี่ยงจะใช้คำว่าสหกรณ์ เพราะรัฐได้บอนไซการรวมกลุ่มเพื่อต่อรองทางเศรษฐกิจของชาวบ้านทุกชนิดให้ไม่มีทางงอกงามด้วยคำนี้เสียแล้ว) มีเงื่อนไขหลายอย่างในประเทศไทยที่ทำให้เกิดการรวมกลุ่มเช่นนี้น้อย รัฐควรขจัดเงื่อนไขเหล่านั้น แล้วสร้างเงื่อนไขที่เอื้อให้เกิดขึ้นให้มาก

โดยสรุปคือเปิดให้ตลาดของการผลิตอาหารได้ทำงานอย่างเสรี ย่อมมีผลดีต่อส่วนรวมมากกว่าการควบคุมราคาที่ปลายทาง

ผมทราบดีว่า ตลาดและกลไกตลาดไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง ตรงกันข้ามด้วยซ้ำที่ต้องป้องกันมิให้หลายสิ่งหลายอย่างเข้าสู่ตลาด อย่างน้อยก็ไม่เข้าไปเป็นสินค้าเต็มตัว นับตั้งแต่ความรัก ไปจนถึงทรัพยากรที่เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต เช่นที่ดิน, น้ำ, อากาศ, การรักษาพยาบาล, การศึกษา และศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น

แต่เรากลับปล่อยให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นสินค้าในตลาด เช่น ที่ดินซึ่งเกษตรกรจำนวนมากต้องเช่าเขาทำ เพียงแค่ทำให้ผู้ต้องการจับหางไถ มีที่ดินของตนเองทุกคน ราคาอาหารก็จะถูกลงและผู้คนต่างสามารถเข้าถึงอาหารได้มากขึ้นอย่างแทบไม่น่าเชื่อแล้ว



++

ชุมชนนอกความฝัน
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 07 มกราคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1586 หน้า 21


ความ เข้มแข็งของชุมชนนั้นมาจากความสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ภายใน แตกต่างจาก "ไทยเข้มแข็ง" เพราะความเข้มแข็งกลับมาจากการจัดสรรงบประมาณ

ที่พูดกันถึงความเข้มแข็งของชุมชน มักหมายถึงความสามารถในการรักษาความเป็นปึกแผ่นไว้ได้ในระยะเวลานานๆ แม้ชุมชนต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เช่น หากมีโรคระบาด, ทุพภิกขภัย, ความเปลี่ยนแปลงด้านภูมิประเทศ (เช่นทางน้ำเปลี่ยนทางเดิน), ถูกรัฐหรือโจรรีดไถมากเกินไป หรือเปลี่ยนจากเศรษฐกิจยังชีพมาเป็นเศรษฐกิจตลาด ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ อาจตอบสนองได้ด้วยการอพยพย้ายถิ่น ทั้งชุมชน หรือสมาชิกบางคน โดยชุมชนไม่แตกสลาย หากสามารถร่วมกันก่นสร้างชุมชนขึ้นได้ใหม่

แต่ความเป็นปึกแผ่นนี้เกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ ก็เพราะมีปัจจัยเกื้อหนุนหลายประการ นับตั้งแต่ทุกครอบครัวมีอาชีพหลักอย่างเดียวกัน หากเป็นในหมู่บ้านก็คือเกษตรกรรม ต้องอาศัยปัจจัยการผลิตร่วมกันหลายต่อหลายอย่าง วิถีวัฒนธรรมจึงประสานเชื่อมโยงผู้คนให้สามารถร่วมแรงร่วมใจกันในวิถีการ ผลิตเช่นนั้นได้ตลอด โดยผ่านกฎระเบียบตามประเพณีบ้าง พิธีกรรมบ้าง และความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ (ทั้งจริงและเสมือน) บ้าง

แม้แต่ชุมชนในเขตเมือง ซึ่งไม่ได้มีอาชีพเกษตรกรรมแล้ว ก็มีเหตุปัจจัยหลายประการ ที่ทำให้ต้องร่วมมือกันในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการรักษาประโยชน์ร่วมกันของชุมชน

แม้แต่ในชุมชนอาจประกอบด้วยคนหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ก็มีประเพณีพิธีกรรมที่ประสานคนให้อยู่ร่วมกันได้


ชุมชน ย่อมมีความเหลื่อมล้ำกันเป็นธรรมดา แต่ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนต่างสถานะก็ยังดำรงอยู่ได้ จะเรียกความสัมพันธ์ชนิดนี้ว่าความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์หรืออะไรก็ตามที แต่สาระสำคัญซึ่งไม่ควรละเลยในความสัมพันธ์ภายในของชุมชน คือความสามารถในการต่อรองที่ใกล้เคียงกันพอสมควร

ในปัจจุบัน เมื่อพูดถึงความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ มักนึกถึงคู่ความสัมพันธ์ที่มีสถานะต่างกันเสียจนไม่อาจต่อรองกันได้เลย ความสัมพันธ์เช่นนี้ในสมัยโบราณเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนกับอำนาจภายนอก ที่สำคัญที่สุดคือรัฐ ซึ่งถึงที่สุดแล้ว อาจเอาคนไปตัดหัวเจ็ดชั่วโคตรได้

ในกรณีเช่นนี้ อำนาจต่อรองของคนในชุมชนย่อมมีเบาบางเป็นธรรมดา แต่รัฐสมัยก่อนมีอำนาจในทางปฏิบัติไม่มากนัก บุคคลอาจหลบหนีอำนาจรัฐไปนอนกอดเมียเล่นในป่าอย่างขุนแผน รัฐก็ทำอะไรไม่ได้ เพียงแต่บุคคลนั้นต้องสูญเสียชุมชนของตนไปด้วยเท่านั้น และรัฐอาจแก้แค้นบุคคลนั้นโดยทำร้ายเครือญาติที่เหลืออยู่ หรือแม้กระทั่งทำร้ายชุมชนที่ไม่อาจหลบหนีรัฐเข้าป่าก็ได้

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ของคนในชุมชนหมู่บ้าน อำนาจต่อรองของผู้อยู่ใต้อุปถัมภ์มีสูงมาก หากเอาแบบจำลองของความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในรัฐ หรือระหว่างรัฐกับชุมชนไปใช้ในหมู่บ้าน จะไม่เข้าใจชุมชนในความหมายที่กำลังกล่าวถึงนี้เลย

(และมักทำให้ต้องไปพูดเรื่องศีลธรรมความดีความงาม แทนที่จะพูดถึงอำนาจต่อรอง)


ผมคิดว่า เมื่อพูดถึงความเข้มแข็งของชุมชน เราต้องไม่ลืมคุณลักษณะสองสามประการของความเข้มแข็งนั้น หนึ่ง คือความสามารถในการมีความสัมพันธ์ทางตรง ผมไม่ได้หมายถึงความสัมพันธ์ที่จะต้องถึงตัวกันไปทุกกรณี แต่ผมรวมถึงความสัมพันธ์ผ่านพิธีกรรมก็ได้ (เช่น นับถือแหล่งศักดิ์สิทธิ์เดียวกัน, ร่วมงานฉลองประจำปีเป็นประเพณี, อ้างระบบเครือญาติเดียวกันได้ ฯลฯ)

ความสัมพันธ์ทางตรงทำให้ริเริ่มและดำเนินกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง

อาจเป็นไปได้นะครับว่า ความสัมพันธ์ทางตรงอาจไม่ใช่เงื่อนไขที่ขาดไม่ได้เสียเลย แต่ไม่ว่าจะแทนที่ด้วยอะไร ความสัมพันธ์ภายในที่เกิดขึ้นใหม่ ต้องมีลักษณะที่ทำให้ชุมชนมีพลังพอจะปฏิบัติการอย่างต่อเนื่องถาวรได้เป็นเวลานานๆ ในประเด็นที่มีความหลากหลายด้วย ไม่ใช่ต่อต้านเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงเรื่องเดียว ต่อต้านสำเร็จแล้วต่างคนต่างแยกย้ายตัวใครตัวมัน

คุณลักษณะอย่างที่สอง ก็คือ อำนาจต่อรองที่ใกล้เคียงกัน แม้ไม่จำเป็นจะต้องจบลงด้วยการยกมือลงมติคนละหนึ่งเสียงเท่ากันเสมอไป แต่อาจมีกลไกในทางวัฒนธรรมที่ละเอียดอ่อนกว่านั้นในการต่อรองได้

ถ้าพูดภาษาปัจจุบัน นี่คือความสัมพันธ์เชิงประชาธิปไตยนั้นเอง เพราะชุมชนที่เข้มแข็งย่อมไม่ใช่ "ประชุมชน" ที่สยบยอมต่ออำนาจของใครอย่างไม่เงยหน้าอ้าปาก และนี่เป็นเงื่อนไขสำคัญที่นักชุมชนนิยมมักไม่ค่อยพูดถึง

คุณลักษณะอย่างที่สาม คือฉันทามติบางอย่างที่ผู้คนในชุมชนต้องมีร่วมกัน เช่น อย่างน้อยก็เห็นพ้องต้องกันว่าการดำรงอยู่ของชุมชนมีความสำคัญต้องรักษาไว้ ชุมชนที่ไม่มีฉันทามติเอาเลย ก็ไม่อาจปฏิบัติการทางสังคมอย่างใดได้

ในทางตรงกันข้าม ชุมชนมีเพียงฉันทามติ ไม่มีเงื่อนไขอื่นอีกเลย ก็ทำได้เพียงการส่งเสียงในสื่อร่วมกัน อันเป็นแรงกดดันในสังคมสมัยใหม่แน่ แต่ทำอะไรมากกว่านี้ไม่สู้จะได้มากนัก

นอกจากนี้ หากฝ่ายอำนาจจัดการกับสื่อได้ (ใช้อำนาจปิดเว็บไซต์, ซื้อสื่อ, ปะเหลาะสื่อ ฯลฯ) เสียงนั้นก็เงียบหายไป


อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วนะครับว่า ชุมชนอย่างที่ผมกล่าวข้างต้นนั้นอันตรธานไปในประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่เสียแล้ว และเหตุผลสำคัญก็เพราะเงื่อนไขหรือคุณลักษณะที่จำเป็นในการเป็นชุมชนไม่มีอีกแล้วในสังคมสมัยใหม่ของไทย ทั้งนี้ รวมถึงหมู่บ้านในชนบทก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปด้วย

เราเป็นสังคมที่แทบจะไม่มีชุมชนเหลืออยู่เลย (ชุมชนที่สามารถปฏิบัติการทางสังคมได้อย่างต่อเนื่องน่ะครับ) บางคนบอกว่าในสังคมสมัยใหม่ที่ไหนๆ ก็ไม่มีชุมชนแบบที่พูดถึงเหลืออยู่ทั้งนั้นแหละ ก็อาจจะจริงนะครับ แต่ผมคิดว่าในสังคมสมัยใหม่หลายแห่งมีชุมชนแบบใหม่เกิดขึ้น แม้ไม่เหมือนชุมชนแบบเก่า แต่ก็อาจปฏิบัติการทางสังคมได้อย่างต่อเนื่อง เช่น สหภาพแรงงาน, สมาคมวิชาการ, ละแวกบ้าน, ชมรมงานอดิเรก, ฯลฯ เป็นต้น

ชุมชนแบบใหม่เหล่านี้ก็เกิดในสังคมไทยเหมือนกัน แต่มีน้อยและค่อนข้างอ่อนแอ เพราะต่อรองอะไรกับใครไม่ค่อยได้ เพราะปัจจัยที่จะเอื้อให้เกิดชุมชนแบบใหม่ขึ้นในสังคมไทยปัจจุบันมีน้อย มีแต่อุปสรรคมากมาย แม้ผมเห็นด้วยว่าชุมชนเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้สังคมมีพลังในการแก้ปัญหาของตนเอง และถ่วงดุลอำนาจรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เราต้องคิดถึงชุมชนแบบใหม่ในสังคมสมัยใหม่ ไม่ควรไปยึดติดกับชุมชนแบบเก่าที่ไม่มีวันฟื้นกลับมาได้อีกแล้ว

บางคนพูดถึงชุมชนออนไลน์ ผมก็ยอมรับว่ามีอยู่จริง รวมทั้งอาจปฏิบัติการทางสังคมได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถร่วมมือกันเป็นการถาวรได้ เพราะเกาะอยู่กับฉันทามติเพียงเรื่องเดียว

เช่น ไม่ควรตัดต้นไม้ใหญ่ แต่พอต้นไม้ถูกตัดหรือไม่ถูกตัด ก็หมดฉันทามติที่จะร่วมมือกันในเรื่องอื่นต่อไปได้


ผมคิดถึงชุมชนที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คนมากกว่านั้นครับ ปัญหาที่ถกเถียงกันก็คือ ในสังคมสมัยใหม่ที่ผู้คนมีสำนึกเชิงปัจเจกสูง จะเกิดชุมชนอย่างนั้นขึ้นได้อย่างไร

อันที่จริง เมื่อเราพูดถึงวิถีชีวิตคนในชุมชนก็ตาม สำนึกปัจเจกของคนสมัยใหม่ก็ตาม ผมคิดว่าเราต้องไม่ดึงความหมายไปจนสุดโต่ง กล่าวคือ คนในชุมชนแบบโบราณก็ใช่ว่าจะไม่มีสำนึกเชิงปัจเจกเสียเลย และในทางตรงกันข้าม คนในโลกสมัยใหม่ ก็ใช่ว่าจะเป็นปัจเจกสุดโต่งเสียจนไม่สำนึกว่าตัวเองก็เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งอื่นที่ใหญ่กว่าปัจเจก

แม้กระนั้น คำท้วงว่าคนปัจจุบันมีสำนึกปัจเจกสูงนี้ก็มีความสำคัญ เพราะเราคงมีสำนึกด้านนี้สูงกว่าบรรพบุรุษของเราแน่ และด้วยเหตุดังนั้น หากชุมชนแบบใหม่จะขยายตัวขึ้นในสังคมไทยได้ ก็ต้องยอมรับเสียก่อนว่า เราต้องการศีลธรรมของปัจเจกมากกว่าที่เรามีอยู่

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ฮีตสิบสองคองสิบสี่ของชุมชนปัจจุบัน ต้องวางอยู่บนฐานของกฎหมายซึ่งไว้วางใจได้แก่ทุกคน เพราะไม่เลือกปฏิบัติและปฏิบัติต่อทุกคนเสมอเหมือนกันหมด

ยิ่งกว่านี้ "ฮีต" หรือกฎหมายเหล่านี้ยังบัญญัติขึ้นโดยความเห็นชอบของสมาชิกทุกคน ไม่ใช่คำสั่งจากเบื้องบนหรือจากประเพณีซึ่งไม่มีใครควบคุมได้

แค่นี้เรื่องเดียวก็แย่แล้วครับ เพราะสังคมไทยปัจจุบันกลับเป็นสังคมที่มีคนวางใจกฎหมายน้อยลง (ในขณะที่คนโบราณวางใจต่อฮีตคองอย่างมาก) ทั้งตัวเนื้อหาก็เป็นคำสั่ง เสียมากกว่ามาจากกระบวนการต่อรองของทุกฝ่าย ทั้งการปฏิบัติก็กลับเป็นสองมาตรฐานให้เห็นอยู่ตำตาเสมอ

การบริหารจัดการทรัพยากรสาธารณะทั้งหมดไม่ได้อยู่ในมือประชาชน รัฐรวบอำนาจไปจัดการเองหมด ชุมชนที่จะสามารถปฏิบัติการทางสังคมอย่างต่อเนื่องได้ ต้องมีทรัพยากรในการจัดการดูแลเอง

ทรัพยากรที่กระทบต่อชีวิตของคนสมัยใหม่มีมาก นับตั้งแต่โรงเรียน, ทางเท้า, ถนนหนทาง, การใช้พื้นที่, ห้องสมุดหรือศูนย์การเรียนรู้ ฯลฯ ไม่เหลืออะไรให้ชุมชนได้จัดการดูแลเลย นอกจากหมากลางถนน จึงยากที่"ประชุมชน"ในพื้นที่ต่างๆ จะพัฒนาขึ้นมาเป็นชุมชนได้

หากชุมชนได้จัดการทรัพยากรสาธารณะกันเอง จะเกิดอำนาจต่อรองภายในขึ้นระหว่างคนต่างสถานะขึ้นได้ เพราะคนจนก็มีสิทธิที่จะเสนอความเห็นในการจัดการเท่ากับคนรวย

รัฐในสมัยปัจจุบันมีอำนาจมากพอที่จะแทรกเข้าไปในชีวิตของผู้คนตั้งแต่เช้า จรดค่ำ ผิดจากชุมชนสมัยก่อนที่มีอำนาจต่อรองแม้แต่กับรัฐได้สูง ผิดนักก็ย้ายบ้านหนีเข้าป่าไปเลยซึ่งรัฐมักตามไม่ได้ ตราบเท่าที่รัฐยังหวงอำนาจไว้อย่างเหนียวแน่น โดยไม่คืนอำนาจให้ชุมชนได้จัดการชีวิตของตนเองแล้ว อำนาจรัฐซึ่งเป็นอำนาจจากภายนอกเพียงอย่างเดียว ก็ทำให้ไม่มีทางจะเกิดชุมชนสมัยใหม่ขึ้นได้

นอกจากรัฐแล้ว ทุนก็ยังเป็นอำนาจจากภายนอกอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเข้ามากำกับควบคุมผู้คน โดยที่ไม่ได้มีกฎเกณฑ์กติกาทางกฎหมาย หรือแนวทางปฏิบัติใดๆ ที่จะถ่วงดุลอำนาจของทุนเอาเลย

ทุนกุมทั้งปัจจัยการผลิตและตลาดเอาไว้ค่อนข้างเด็ดขาด ไม่มีพื้นที่ใดๆ เหลืออยู่ให้ชาวบ้านได้ต่อรองเพื่อเอาตัวรอด คนไทยยิ่งต้องมีสำนึกเชิงปัจเจกสูงขึ้นไปอีก เพื่อเอาตัวรอดไว้ก่อน


ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ "ประชุมชน"ของไทยปัจจุบันไม่มีสื่อของตนเอง (หลังจากไม่มีตลาดนัด, ไม่มีศาลาการเปรียญ, และไม่มีบ่อน้ำไว้ให้กระจายข่าวและนินทากัน) ส่วนใหญ่ของวิทยุชุมชนถูกทำให้เป็นแหล่งโฆษณาของพ่อค้าไปหมด

สื่อนอกจากให้ความรู้ต่อประเด็นสำคัญๆ ของชุมชน เพื่อทำให้ทุกคนมีความรู้ในเรื่องนั้นๆ ใกล้เคียงกันแล้ว ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการที่ชุมชนสามารถติดต่อสื่อสารกับสังคมในวงกว้าง อันเป็นการเพิ่มอำนาจต่อรองของชุมชนในการเผชิญกับอำนาจจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือทุน

ดังที่กล่าวแล้วว่า ผมเชื่อว่าชุมชนมีความสำคัญ แต่การปลุกสำนึกให้ผู้คนหันมาสร้างและทำให้ชุมชนเข้มแข็งอย่างเดียวไม่พอ จำเป็นต้องขจัดอุปสรรคของการเกิดชุมชนสมัยใหม่ และสร้างปัจจัยที่จะเอื้อให้เกิดชุมชนขึ้นไปพร้อมกันด้วย

เพราะจิตสำนึกที่ลอยอยู่โดยไม่สัมผัสกับสภาพทางวัตถุที่เป็นจริงเลย ย่อมเป็นเพียงความเพ้อฝันเท่านั้น



.