http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2554-02-14

สิ้นยุคทองทหาร! กองทัพกับการต่างประเทศไทย โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

สิ้นยุคทองทหาร! กองทัพกับการต่างประเทศไทย
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1588 หน้า 37


"พระเจ้าอยู่กับฝ่ายที่แข็งแรงกว่า"
Tacitus
นักประวัติศาสตร์ชาวโรม


หากเปรียบเทียบบทบาทของกองทัพในกิจการด้านการต่างประเทศของไทยระหว่างอดีต (ที่ไม่ไกลมากนัก) กับปัจจุบันแล้ว จะเห็นได้ชัดเจนว่า ผู้นำกองทัพแทบไม่มีบทบาทในแบบเดิมเลย

ไม่ว่าจะเป็นภาพที่แสดงออกถึงความใกล้ชิดของ "ความสัมพันธ์ส่วนตัว" การเดินทางเยี่ยมเยือนฉันเพื่อนทหาร (ที่ไม่ใช่การเยือนเพียงเพราะ "รับตำแหน่งใหม่")

หรือไม่เคยปรากฏภาพของ "ความสนิทสนม" ของความสัมพันธ์ทางทหารให้เราเห็นเท่าใดนัก

ถ้าเราไม่ชอบที่จะเห็นบทบาทของกองทัพในงานด้านต่างประเทศแล้ว ภาพที่เรากำลังเห็นในปัจจุบันอาจจะให้คำตอบอย่างชัดเจนและถูกใจว่า บทบาทเช่นนี้ของกองทัพกำลังหายไป และกำลังถูกแทนที่ด้วยบทบาทของนักการเมืองในระดับชาติแทน

ดังจะเห็นได้ว่า เราไม่เห็นทหารแบบ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร หรือ พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ ในกองทัพ

และเช่นเดียวกันก็ไม่มีภาพของนายทหารในลักษณะเช่นนี้ปรากฏในเวทีสาธารณะจนอาจกลายเป็นการคุกคามต่อบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศ


ถ้าย้อนอดีต จะเห็นว่า ผู้นำทหารของไทยมีความใกล้ชิด (สนิทสนม) กับผู้นำทหารในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาก แม้ในยุคสงครามเย็น พวกเขาเหล่านี้จะกลายเป็นศัตรูสำคัญระหว่างกัน ต้องต่อสู้กันในหลายสนามรบ แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป จะเห็นภาพลักษณ์ใหม่ของความสัมพันธ์แบบทหารต่อทหาร จนกลายเป็นข้อสังเกตว่าในความสัมพันธ์เช่นนี้ มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอะไรซ่อนเร้นอยู่หรือไม่

ภาพลักษณ์ใหม่อาจจะเริ่มต้นหลังจากการสงบศึกที่บ้านร่มเกล้า กองทัพไทยกับกองทัพลาวรบกันอย่างหนัก แต่หลังจากนั้น พวกเขากลับไปมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดต่อกัน และความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกองทัพได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองกระชับแน่นยิ่งขึ้น

หรือกล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์ทางผู้นำกองทัพของประเทศทั้งสองได้กลายเป็นแกนกลางที่สำคัญต่อความสัมพันธ์ไทย-ลาวในยุคหลังสงครามร่มเกล้า

ในส่วนกรณีของพม่าก็ไม่แตกต่างกัน แม้กองทัพไทยและพม่าจะไม่เคยต้องเข้าสู่สนามรบเช่นในกรณีของลาว แต่ความสัมพันธ์ในช่วงที่ผ่านๆ มาอาจจะดูเย็นชา หรือดูเฉยๆ เพราะไม่มีความสัมพันธ์อะไรต่อกันมากนัก

หากแต่หลังจากการรัฐประหารในพม่าแล้ว ผู้นำทหารเข้ามามีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้นำทหารไทย จนกลายเป็นข้อสังเกตว่า ผู้นำทหารของไทยได้รับผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจตอบแทนจากการนี้หรือไม่

แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในความสัมพันธ์เช่นนี้ ความสัมพันธ์ทหารต่อทหารมีบทบาทอย่างสำคัญในการต่างประเทศของไทยต่อพม่า เพราะกลายเป็นส่วนงานที่สามารถเข้าถึงรัฐบาลทหารพม่าได้โดยตรง

ในขณะที่ส่วนงานหลักของรัฐบาลคือกระทรวงการต่างประเทศ หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานทูตไทยนั้น กลับมีบทบาทได้ไม่มากนัก

ภาพของความสัมพันธ์เช่นนี้ยังสะท้อนให้เห็นได้จากการที่เมื่อมีเหตุการณ์ อะไรเกิดขึ้น ผู้นำทหารสามารถ "ยกหู" คุยกันได้โดยตรง หรือเมื่อมีกรณีการจับกุมคนไทยเกิดขึ้น ผู้นำทหารกลายเป็น "ข้อต่อ" ของการเจรจา แม้จะไม่สามารถเอาคนไทยกลับมาได้ทั้งหมดทุกครั้ง แต่อย่างน้อยก็พอจะผ่อนหนักให้เป็นเบาได้บ้าง

ในยุคเช่นนี้จึงไม่แปลกที่บทบาทของ พล.อ.เชษฐา หรือ พล.อ.ชวลิต จะปรากฏบนหน้าสื่อเสมอ จนนักการเมืองบางส่วนอาจจะเกิดความหวาดระแวง และกังวลว่าบทบาทของความสัมพันธ์ทหารต่อทหารนั้นจะบดบังบทบาทของรัฐบาลพลเรือนในการติดต่อกับรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน เพราะหลายต่อหลายครั้งการติดต่อเกิดขึ้นได้โดยอาศัยช่องทางของผู้นำทหาร

ดังนั้น การประชุมอาร์บีซี (RBC) จึงมีส่วนอย่างสำคัญในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นตามแนวชายแดน และการประชุมในระดับนี้ ผู้นำทหาร (แม่ทัพภาค) เป็นประธานการประชุม ไม่ใช่ผู้นำพลเรือน


ในกรณีของกัมพูชา ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน แม้ในยุคสงครามกลางเมืองในกัมพูชา กองทัพไทยเข้าไปมีบทบาทอย่างสำคัญด้วยการร่วมมือกับกลุ่มเขมรแดง (ภายใต้ความสนับสนุนของจีน) ในการทำสงครามต่อต้านเวียดนาม

แต่หลังจากการปรับตัวของนโยบายต่างประเทศไทยในยุครัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่มุ่งไปสู่การ "ทำสนามรบให้เป็นสนามการค้า" แล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกรุงเทพฯ และพนมเปญก็ปรับตัวไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้นอย่างมาก อย่างน้อยก็ทำให้สถานการณ์ความตึงเครียดที่ดำรงอยู่มาตลอดยุคสงครามต่อต้านเวียดนามในกัมพูชาคลี่คลายไป

ในความสัมพันธ์ที่คลี่คลายเช่นนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกองทัพได้เข้ามาเป็นส่วนเชื่อมต่อ แต่นักวิเคราะห์บางส่วนอาจจะมองว่าภาพที่เกิดขึ้นเป็นการแข่งขันระหว่างผู้นำรัฐบาลกับผู้นำทหารในการชิงการนำในนโยบายต่างประเทศ

แม้จะไม่ได้มีคำตอบที่ตรงไปตรงมาว่าใครชนะในการแข่งขันเช่นนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่วนสำคัญของความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาในยุคนั้นถูกเชื่อมต่อด้วยบทบาทของผู้นำทหาร

ปรากฏการณ์ของการติดต่อกรุงเทพฯ-ย่างกุ้ง หรือกรุงเทพฯ-พนมเปญ โดยผู้นำกองทัพไทยทำให้พวกเขาถูกจับตามองอย่างมากว่า กองทัพไทยกลายเป็นตัวแสดงที่สำคัญในกระบวนการทำนโยบายต่างประเทศ และเป็นไปไม่ได้เลยที่จะศึกษานโยบายต่างประเทศของไทยต่อประเทศเพื่อนบ้านในช่วงระยะเวลาดังกล่าว โดยไม่ศึกษาบทบาทของผู้นำทหาร

แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ก่อให้เกิดความกังวลแก่ผู้นำพลเรือนของไทยว่านโยบายต่างประเทศต่อเพื่อนบ้านอาจจะถูกกำหนดโดยทหาร และรัฐบาลพลเรือนอาจควบคุมไม่ได้ จนกลายเป็นการสูญเสียการนำ


บทบาทของทหารในนโยบายต่างประเทศไทยดูจะค่อยๆ จางไปเมื่อรัฐบาลประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย ขึ้นสู่อำนาจ รัฐบาลมีท่าทีที่ชัดเจนที่ต้องการเห็นกระทรวงการต่างประเทศเป็นตัวแสดงหลักในความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน โดยไม่ต้องการให้ผู้นำทหารเข้ามามีบทบาทจนกลายเป็น "ภัยคุกคาม"ในการชิงการนำเช่นในอดีต

จนอาจเปรียบเทียบได้ว่า รัฐบาลกรุงเทพฯ ต้องการเปิด "หน้าต่างบานเดียว" ผ่านกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น โดยไม่ต้องการให้มี "หน้าต่างอีกบาน" จากกองทัพเปิดออกไป

การปรับเปลี่ยนท่าทีของรัฐบาลพลเรือนเช่นนี้ก็อาจสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในกองทัพ เพราะผู้นำกองทัพบกในขณะนั้นคือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็ไม่ใช่นายทหารที่เติบโตมาจากการมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้นำทหารของประเทศเพื่อนบ้าน และเขาเองก็ขึ้นสู่ตำแหน่งหมายเลข 1 ในกองทัพบกในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ ซึ่งก็จะต้องดำเนินบทบาทของกองทัพไปในทิศทางที่รัฐบาลต้องการ

และแม้จะมีนายทหารไทยที่มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้นำของประเทศเพื่อนบ้าน แต่พวกเขาก็เหมือนถูก"เก็บเข้ากรุ" เพราะผู้นำกองทัพไม่ได้ต้องการเห็นบทบาทดังกล่าวจากทางฝ่ายทหาร

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่นายทหารในสายของ พล.อ.ชวลิต หรือของ พล.อ.เชษฐา จะอยู่เงียบๆ และไม่สามารถผลักดันกิจกรรมของความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำทหารไทยกับผู้นำทหารของประเทศเพื่อนบ้าน


ภาพของความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนปรากฏให้เห็นมากขึ้นเมื่อรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก้าวสู่อำนาจในเดือนกุมภาพันธ์ 2544 และเกิดวิกฤตการณ์ตามแนวชายแดนไทย-พม่าในพื้นที่ของบ้านปางหนุน บ้านกุเต็งนาโย่ง และต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2545 ก็เกิดขึ้นอีกแถบบ้านเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งวิกฤตชายแดนทั้งสองครั้งเกือบมากที่สุดในการนำพาประเทศไทยเข้าสู่สงคราม กับพม่า (หมายถึงสงครามจริงๆ ที่ไม่ใช้เพียงการทะเลาะในบริเวณแนวชายแดน)

ผู้นำทหารไทยจากที่เคยมีความใกล้ชิดกับรัฐบาลเพื่อนบ้าน กลับกลายเป็นผู้ที่เตรียมรบกับประเทศเพื่อนบ้าน และภายในกองทัพเองก็เห็นได้ชัดเจนเช่นกันว่า นายทหารที่เคยมีบทบาทกับประเทศเพื่อนบ้านเก็บตัวอยู่เพียงในมุมเล็กๆ ของกองทัพ ไม่สามารถแสดงบทบาทเช่นในยุคที่ผู้นำกองทัพบกมีความสนิทสนมดังเช่นในอดีต

หลังจากยุครัฐบาลทักษิณ (หรือหลังรัฐประหาร 2549) บทบาทดังกล่าวของทหารแทบจะหายไปโดยสิ้นเชิง แม้จะมีการก่อตั้ง "กรมกิจการชายแดน" ขึ้นในกองบัญชาการทหารสูงสุด (กองบัญชาการกองทัพไทย) แต่ก็ไม่ใช่องค์กรที่จะเข้าไปทำหน้าที่สืบสานความสัมพันธ์ไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพราะทิศทางใหญ่ของรัฐบาลกรุงเทพไม่ได้จำเป็นต้องพึ่งพาความใกล้ชิดของผู้นำทหารอีกแต่อย่างใด

แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก็ไม่ง่ายนักที่ผู้ นำทหารจะเข้าไปมีบทบาทอะไรได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่กรณีปัญหาปราสาทพระวิหารที่เกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวใหญ่ของกลุ่มการเมืองปีกขวาจัดด้วยการสนับสนุนของชนชั้นนำในสังคมไทยในปี 2551

ทำให้ปัญหาความสัมพันธ์ไทยกับเพื่อนบ้านกลายเป็นวิกฤตของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไปโดยปริยาย จนไม่มีช่องทางให้ผู้นำทหารเข้าไปแสดงบทบาทได้เท่าใดนัก แต่ขณะเดียวกันก็ไม่มีนายทหารที่จะสามารถทำหน้าที่เช่นนี้ได้ด้วย


ปัญหาความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาที่ตกต่ำลงอย่างมากนั้น กลายเป็นปัญหาการเมืองในระดับสูง เมื่อรัฐบาลประชาธิปัตย์ได้จัดตั้งรัฐบาลพร้อมกับการมีรัฐมนตรีต่างประเทศ ที่มาจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มปีกขวาจัดที่มีท่าทีในเชิงลบกับผู้นำเพื่อนบ้านอย่างมาก ซึ่งความเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทยเช่นนี้ ย่อมทำให้ผู้นำในประเทศเพื่อนบ้านเองก็เกิดความหวาดระแวงว่า การขยายตัวของกระแสขวาในการเมืองไทยจะนำไปสู่สงครามและความขัดแย้งกับเพื่อนบ้านในทางหนึ่งทางใดได้ตลอดเวลา

และยิ่งพวกเขาได้อาศัยการปลุกระดมด้วยกระแสชาตินิยมสุดขั้วแล้ว ความกังวลต่อปัญหาสงครามชายแดนจึงเป็นประเด็นสำคัญในหมู่ประเทศเพื่อนบ้านของไทย โดยเฉพาะพวกเขากังวลว่า รัฐบาลไทยหรือกลุ่มขวาจัดไทยจะใช้ความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นเครื่องมือของการสร้างความสามัคคีภายในชาติ และอาศัยปัญหาข้อพิพาทตามแนวชายแดนเป็น"เหยื่อ"ของการสร้างกระแส

ดังนั้น เมื่อเกิดกรณีการข้ามแดนผิดกฎหมายของ 7 คนไทยในเหตุการณ์ปัจจุบัน จึงไม่แปลกอะไรที่เราแทบไม่เห็นบทบาทของผู้นำทหารในฐานะของการเป็น "ผู้เจรจาหลังฉาก" และ ว่าที่จริงปรากฏการณ์เช่นนี้เป็นเพียงการตอกย้ำภาพเดิมที่ปัญหาสืบเนื่องมาจากการที่บทบาทดังกล่าวค่อยๆ หายไปตั้งแต่รัฐบาลชวนแล้ว


ฉะนั้นคงไม่ผิดอะไรนักที่จะกล่าวสรุปว่า ยุคทองของผู้นำทหารในกิจการต่างประเทศของไทยได้ผ่านไปแล้ว และอาจจะต้องยอมรับต่อไปอีกด้วยว่า ปัญหาเพื่อนบ้านในสถานการณ์ปัจจุบันไม่ใช่เรื่องของระดับผู้นำทหารที่จะเข้าไปแก้ไขได้โดยง่าย หากแต่ทุกอย่างถูกทำให้เป็นปัญหาระดับชาติ

ดังนั้น การแก้ไขจึงต้องมาจากฝ่ายการเมืองที่กอปรด้วยทักษะและความสามารถ ไม่ใช่แค่การพูดเก่งเท่านั้น !

.