.
เบื้องหลัง"วิจัย" บทบาท"พระสงฆ์" กับการเลือกฝ่าย"แดง-เหลือง-กลาง"
โดย สุรพศ ทวีศักดิ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ออนไลน์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1592 หน้า 25
หลังจากผลวิจัยชื่อ "ความคิดทางจริยธรรมกับการเลือกฝ่ายทางการเมืองในสังคมไทยปัจจุบัน" (ศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนทุนวิจัย) ถูกเผยแพร่ทางสื่อมวลชน ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ได้ให้สัมภาษณ์ว่า "ตามมติและประกาศมหาเถรสมาคม (มส.) มีคำสั่งห้ามพระสงฆ์ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเด็ดขาด และต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง ส่วนเรื่องแสดงความคิดเห็นนั้น สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นกลางและมีเหตุผลในการแสดงความเห็น..." (มติชน, 2 ก.พ.54, หน้า 15)
อันที่จริง คำว่า "วางตัวเป็นกลางทางการเมือง" นั้น จำเป็นต้องพิจารณาอย่างจำแนกแยกแยะ จากการศึกษาค้นคว้าในงานวิจัยดังกล่าว
ผู้วิจัยพบว่า "ความเป็นกลางทางการเมือง" ไม่ใช่หลักการตายตัวที่พระสงฆ์จำเป็นต้องยึดถือปฏิบัติในการแแบ่งฝ่ายทางการเมือง" ไม่ใช่หลักการตายตัวที่พระสงฆ์จำเป็นต้องยึดถือปฏิบัติในการแบ่งฝ่ายทางการเมืองในทุกกรณีเสมอไป
เช่น ถ้าเป็น "การเมืองของนักการเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง" หรือการเมืองในความหมายของการลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองต่างๆ พระสงฆ์ไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง ควรวางตัวเป็นกลาง
แต่ถ้าเป็น "การเมืองของประชาชน" หรือการเมืองในความหมายของการปกป้องความเป็นธรรม หลักการประชาธิปไตย ชีวิตประชาชน การเรียกร้องสันติวิธี สันติภาพทางสังคม และ/หรือสันติภาพของโลก ตามหลักการทางพระธรรมวินัยแล้ว พระสงฆ์ควรเข้าไปเกี่ยวข้อง
และแม้จำเป็นต้องเลือกฝ่ายก็ควรเลือก หากสามารถอธิบายได้ว่า การเลือกฝ่ายเช่นนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
ความเป็นกลางทางการเมือง ไม่ใช่ "การวางเฉย" แต่หมายถึงการแสดงบทบาทเป็นกลางในการวิพากษ์วิจารณ์ชี้ถูกชี้ผิดทุกฝ่ายอย่างเที่ยงธรรมและเท่าเทียม โดยยึดหลักการประชาธิปไตย ข้อเท็จจริง และหลักสันติวิธีเป็นเกณฑ์ในการแสดงบทบาทดังกล่าว
ทว่า ความขัดแย้งทางการเมืองในบ้านเรากว่า 5 ปีมานี้ เป็นการเมืองที่ซ้อนๆ กันอยู่ ระหว่าง "การเมืองของนักการเมือง หรือกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง" กับ "การเมืองของประชาชน"
แต่จากภาวะที่ซ้อนๆ กันอยู่นั้น หากยึดหลักประชาธิปไตย หรือการยืนยันเสรีภาพในการปกครองตนเองของประชาชนเป็นเกณฑ์ เราก็พอจะจำแนกได้ว่า ฝ่ายไหนที่ยืนยันหรือปฏิเสธเสรีภาพในการปกครองตนเองของประชาชนที่ชัดเจนกว่า
(แม้ว่าทุกฝ่ายต่างก็มีผลประโยชน์เฉพาะตัวแฝงอยู่ก็ตาม)
จากสภาพความเป็นจริงทางการเมืองดังกล่าวนี้ ปรากฏว่า ท่าทีของพระสงฆ์มีทั้งวางเฉย เลือกฝ่าย และเป็นกลาง ผลสำรวจความคิดเห็น (โดยวิธีใช้แบบสอบถาม, การสัมภาษณ์เชิงลึก และการจัดเสวนาแบบเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย) ของพระสงฆ์จำนวน 512 รูป ประกอบด้วยพระราชาคณะ พระสังฆาธิการ พระลูกวัด ผู้บริหารคณาจารย์ และพระนิสิตของมหาวิทยาลัยสงฆ์ จากทุกภูมิภาคของประเทศ สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ
กลุ่มแรก คือ พระสงฆ์ส่วนใหญ่ที่ยืนยันว่า ท่านไม่ได้เลือกฝ่ายเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง โดยพระสงฆ์ในภาคใต้ไม่เลือกฝ่ายทางการเมืองมากที่สุด (68.0%) รองลงมาเป็นภาคกลาง (60.3%) ภาคเหนือ (60.3%) และไม่เลือกฝ่ายน้อยที่สุดคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (40.0%) แต่ว่า ในจำนวนนี้มีทั้งที่บอกว่าเฉยๆ บ้าง ไม่สนใจการเมืองบ้าง ขอเป็นกลางบ้าง พระสงฆ์ไม่ควรยุ่งการเมืองบ้าง ยังตัดสินใจไม่ได้บ้าง ฯลฯ
กลุ่มที่สอง คือกลุ่มพระสงฆ์ที่ยืนยันชัดเจนว่าเลือกฝ่ายเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ซึ่งมีทั้งที่ออกมาชุมนุม ไม่ออกมาชุมนุม และเป็นพระที่มีชื่อเสียงที่แสดงความคิดเห้นทางการเมืองเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณะ
ในกลุ่มพระสงฆ์ที่เลือกฝ่ายทางการเมืองนี้ พระสงฆ์ที่เลือกฝ่ายเสื้อแดงมีจำนวนมากกว่า โดยพระสงฆ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเลือกฝ่ายเสื้อแดงมากที่สุด (57.3%) รองลงมาเป็นภาคเหนือ (47.0%) ภาคกลาง (33.0%) และภาคใต้ (4.7%) ส่วนพระสงฆ์ที่เลือกฝ่ายเสื้อเหลือง พระสงฆ์ภาคใต้เลือกฝ่ายเสื้อเหลืองมากที่สุด (27.3%) รองลงมาเป็นภาคกลาง (6.7%) ภาคเหนือ (3.7%) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (2.7%)
กลุ่มที่สาม คือพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงในบ้านเราหลายรูปที่ถูกมองว่าเลือกสีนั้นสีนี้ แต่เมื่อผู้วิจัยไปสัมภาษณ์แล้ว ท่านยืนยันด้วยตัวท่านเองว่าเป็นกลาง ได้แก่
1. พระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงที่ถูกสื่อและสังคมมองว่า เลือกฝ่ายเสื้อเหลือง หรือเป็น "พระเสื้อเหลือง" คือ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว. วชิรเมธี) ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตยาลัย และพระกิตติศักดิ์ กิตฺติโสภโณ ประธานมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
2. พระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงที่ถูกสื่อและสังคมมองว่า "เลือกฝ่ายแดง" หรือเป็น "พระเสื้อแดง" คือ พระราชธรรมนิเทศ (พยอม กัลยาโณ) เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว นนทบุรี และ พระมหา ดร.สมชาย ฐานวุฑฺโฒ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย (เนื่องจากวัดธรรมกายถูกมองว่าเลือกฝ่ายเสื้อแดง ท่านหลังนี้ ผู้วิจัยสัมภาษณ์ท่านในฐานะผู้แทนวัดธรรมกาย)
3. พระไพศาล วิสาโล ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย พระคุณเจ้าท่านนี้มีบทบาทเป็นที่รู้จักในฐานะพระสงฆ์นักสันติวิธี นักกิจกรรมสังคมและมีบทบาทในด้านความเป็นกลางอย่างที่เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณะมากที่สุด
ประเด็นสำคัญที่ผู้วิจัยต้องการทราบคือ พระสงฆ์ที่เลือกฝ่ายทางการเมือง และที่เลือกเป็นกลางทางการเมือง ท่านมี "เหตุผลทางการเมือง" และ "เหตุผลทางจริยธรรม" อย่างไร
ผลสำรวจสรุปได้ว่า เหตุผลทางการเมืองในการเลือกฝ่ายของพระสงฆ์ส่วนใหญ่ไม่ใช่เหตุผลเรื่องตัวบุคคล หรือเหตุผลเรื่องสู้-ไม่สู้เพื่ออำนาจทางการเมืองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หากแต่เป็นเหตุผลเรื่อง "ความถูกต้องทางการเมือง" นั่นคือ ต้องการประชาธิปไตย ต่อต้านรัฐประหาร และต่อต้านรัฐบาลคอร์รัปชั่น
กล่าวคือ พระสงฆ์ที่ออกมาชุมนุมกับคนเสื้อแดงส่วนใหญ่ต้องการประชาธิปไตย (49.3%)
และเพื่อต่อต้านรัฐประหาร (34.4%)
มีเพียงส่วนน้อย (5.7%) ที่เรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาเป็นนายกฯ อีก
ส่วนพระสงฆ์ภาคอีสาน (77.7%) ภาคกลาง (68.3%) และภาคเหนือ (65.7%) ก็ยืนยันเหตุผลทางการเมืองเพื่อต้องการประชาธิปไตย และต่อต้านรัฐประหาร
ยกเว้นภาคใต้ที่พระสงฆ์ส่วนใหญ่ (54.7%) อ้างเหตุผลเรื่องต้องการประชาธิปไตย ต่อต้านคอร์รัปชั่น และไม่ต้องการ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาเป็นนายกฯ ในสัดส่วนที่สูงกว่าการต่อต้านรัฐประหาร คือมีพระสงฆ์ที่อ้างเหตุผลต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ 18% ขณะที่อ้างเหตุผลต่อต้านรัฐประหาร 15%
ส่วนเหตุผลทางจริยธรรม พระสงฆ์ส่วนใหญ่ต้องการให้สังคมมีความยุติธรรม ไม่ต้องการสองมาตรฐาน ต้องการเห็นการเมืองมีจริยธรรม/ธรรมาธิปไตย และต้องการให้ยุติความขัดแย้งด้วยสันติวิธีตามลำดับ คือเหตุผลทางจริยธรรมของพระสงฆ์ที่ร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง (70.0%) และพระสงฆ์ส่วนใหญ่ในภาคกลาง (64.0%) ภาคเหนือ (73.0%) และภาคอีสาน (77.7%) คือ เหตุผลเรื่องต้องการความยุติธรรม และไม่ต้องการสองมาตรฐาน แต่พระสงฆ์ภาคใต้ส่วนใหญ่ (60.0%) ต้องการเห็นการเมืองมีจริยธรรม/ธรรมาธิปไตย และต้องการให้ยุติความขัดแย้งด้วยสันติวิธี
สำหรับพระสงฆ์ที่ยืนยันว่าเป็นกลาง เช่น พระราชธรรมนิเทศ (พยอม กัลยาโณ) พระไพศาล วิสาโล พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว. วชิรเมธี) พระกิตฺติโสภโณ เป็นต้น ต่างปฏิเสธรัฐประหาร ต้องการให้สังคมเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยด้วยแนวทางสันติวิธี
ฉะนั้น ผลสำรวจ แสดงให้เห็นว่า พระสงฆ์ส่วนใหญ่คือพระสงฆ์ที่เลือกฝ่ายเสื้อแดง กับพระสงฆ์ที่เลือกเป็นกลางทางการเมืองต่างยืนยันตรงกันว่า "ไม่เอารัฐประหาร"
มีเพียงท่านสมณะ โพธิรักษ์ (ผู้วิจัยสัมภาษณ์ท่านในฐานะตัวแทนสมณะสันติอโศก) ซึ่งสนับสนุนเสื้อเหลืองเท่านั้นที่ยืนยันว่า "รัฐประหารโดยคนไม่มีกิเลสหรือมีกิเลสน้อยเพื่อขจัดรัฐบาลคอร์รัปชั่น แล้วมาจัดการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์ของประชาชน เป็นรัฐประหารที่ชอบธรรม"
จึงกล่าวโดยภาพรวมได้ว่า เหตุผลในการเลือกฝ่ายหรือเลือกเป็นกลางทางการเมืองของพระสงฆ์เป็นเหตุผลที่อ้างอิง "การเมืองของประชาชน" เป็นหลัก แต่ในภาวะความซับซ้อนทางการเมืองที่เป็นอยู่จริง ไม่ว่าจะเลือกฝ่ายหรือเลือกเป็นกลาง ต่างก็ต้องเผชิญกับปัญหา "กลืนไม่เข้า คายไม่ออกทางศีลธรรม" (moral dilemma)
กล่าวคือ เลือกเป็นกลางก็เป็นกลางไม่ได้จริง เนื่องจากจารีตทางสังคมและกฎหมายไม่อนุญาตให้ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบ "อำนาจนอกระบบ" ได้อย่างเท่าเทียมกับที่ได้ทำกับอีกฝ่าย
เลือกเสื้อแดงก็เผชิญกับคำถามว่า พระสงฆ์ควรสนับสนุนบุคคลที่ถูกกล่าวหาเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นหรือไม่
เลือกเสื้อเหลืองก็เผชิญกับคำถามเรื่องสนับสนุนอำมาตย์และรัฐประหาร
ถ้าวางเฉยก็ถูกตั้งคำถามถึงความรับผิดชอบต่อศีลธรรมเชิงสังคม เช่น การปกป้องหลักการประชาธิปไตย และชีวิตของประชาชนจากการใช้อำนาจรัฐที่เกินกว่าเหตุ เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตาม จากการสัมภาษณ์นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนามองว่า พระสงฆ์ที่เป็นกลางก็มีข้อเด่นเรื่องการยืนยันแนวทางสันติวิธี แต่จะดียิ่งขึ้นหากท่านแน่วแน่ในการยืนยันหลักการประชาธิปไตย ใส่ใจ "ความเป็นจริง" ของประชาชนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และใส่ใจปัญหาสองมาตรฐานต่างๆ ที่ยังดำรงอยู่ภายใต้โครงสร้างอำนาจที่อยุติธรรมมากขึ้น
ส่วนพระสงฆ์ที่เลือกฝ่ายเสื้อแดง หากสามารถอธิบายได้ว่าท่านไม่สนับสนุนวิธีการรุนแรง ต้องการปกป้องสิทธิของประชาชนที่ถูกปล้นไปต่อต้านรัฐประหาร ต่อต้านอำมาตย์ ต้องการให้สังคมเป็นประชาธิปไตย และมีความเป็นธรรม เหตุผลของท่านก็ควรแก่การรับฟัง
และพระสงฆ์ที่เลือกฝ่ายเสื้อเหลือง หากท่านยืนยันได้ว่า ไม่ได้สนับสนุนรัฐประหารที่ปล้นสิทธิประชาชนหรือทำลายประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำบางกลุ่ม ท่านก็อาจมีความชอบธรรมที่จะเลือกเช่นนั้น
สำหรับสถาบันสงฆ์ในฐานะที่เป็นสถาบันหลักทางสังคม มีข้อเสนอแนะจากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนาว่า ควรแสดงบทบาทรับผิดชอบต่อศีลธรรมทางสังคมให้ชัดเจน เช่น แสดงออกในนามคณะสงฆ์เพื่อเรียกร้องสันติวิธี ปกป้องชีวิตประชาชน หรือยืนยันความเป็นธรรม และความสมานฉันท์ทางสังคม เป็นต้น
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย