.
ปฏิวัติอียิปต์...เริ่มแบบ 14 ตุลา ปัญหาไทย-กัมพูชา...หมากบนกระดาน
โดย มุกดา สุวรรณชาติ ( จากคอลัมน์ หลักศิลากลางน้ำเขียว )
ในมติชน ออนไลน์ วันอาทิตย์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 เวลา 08:29:35 น.
แบ่งปันข่าวนี้บน facebook Share
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอียิปต์เมื่อหลายวันก่อน พวกฝรั่งใช้คำว่า Revolution พวกเขาหมายถึงการเปลี่ยนแปลงซึ่งมีลักษณะเป็นการปฏิวัติของประชาชน
แต่นี่เป็นเพียงการเริ่มต้น ประชาชนจะเป็นผู้ได้รับชัยชนะในตอนสุดท้ายหรือไม่ ยังไม่มีใครรู้
แม้ประธานาธิบดีมูบารัคจะลาออก แต่องค์กรจัดตั้งของฝ่ายประชาชนที่จะขึ้นมารับการเปลี่ยนถ่ายอำนาจยังไม่มีเลย การฝากอำนาจไว้กับสภา ซึ่งตั้งขึ้นมาจากกลุ่มอำนาจเก่า เป็นเรื่องที่ไว้วางใจไม่ได้
โอกาสของการเปลี่ยนถ่ายอำนาจ น่าจะอยู่ในภาวะการประนีประนอม ภายใต้การจัดการของอเมริกาเพราะผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของอียิปต์ คือน้ำมันและคลองสุเอซ
ยิ่งใหญ่จนไม่สามารถปล่อยทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ
สำหรับมหาอำนาจ จุดที่เป็นยุทธศาสตร์ของโลกล้วนต้องอยู่ภายใต้การควบคุม การขึ้นและลงจากของอำนาจของมูบารัค จึงต้องถูกจัดการให้เรียบร้อย
ถ้าให้วิเคราะห์การเมืองของอียิปต์จากสถานการณ์ล่าสุด หลายคนคงมีประสบการณ์จากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันอย่างมาก ผู้กุมอำนาจเผด็จการสูญเสียอำนาจและต้องลาออกไป แต่โครงสร้างของอำนาจเผด็จการและกลุ่มคนที่อยากได้อำนาจที่มีตำแหน่งรองลงมายังอยู่เหมือนเดิม
ประชาชนไม่มีองค์กรจัดตั้งที่จะเข้ามารองรับอำนาจ ไม่มีกองกำลังที่จะต่อรอง อำนาจจึงไม่มีวันหล่นลงมาถึงประชาชนได้
ประชาชนจะเป็นเพียงตัวประกอบที่ถูกผลักดันเข้าไปในระบบประชาธิปไตยใหม่อย่างมากที่สุดก็คงจะทำได้เพียงหย่อนบัตรเลือกตั้ง
ช่วงที่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา ไทยเหมือนกับอียิปต์ ตรงที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ของภูมิภาค เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่อเมริกาทิ้งไม่ได้
ช่วงเวลานั้นสงครามเวียดนามกำลังตึงเครียด การสู้รบกระจายไปทั่วทั้ง 3 ประเทศอินโดจีน สมรภูมินี้เป็นเหมือนการทำสงครามของตัวแทนค่ายคอมมิวนิสต์ซึ่งมีรัสเซียและจีนเป็นพี่ใหญ่ ต้องต่อสู้กับจักรวรรดินิยมอเมริกาซึ่งมีแนวโน้มว่าจะพ่ายแพ้
ไทยเป็นฐานที่มั่นและฐานทัพทางสงคราม เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่อเมริกาทิ้งไม่ได้ วันนั้นอเมริกาทำทุกอย่างเพื่อควบคุมประเทศไทยให้อยู่ในมือ
เหตุการณ์รัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 จึงเกิดขึ้น
วันนี้อียิปต์ไม่เพียงมีคลองสุเอซที่เชื่อมมหาสมุทร แต่ความขัดแย้งในตะวันออกกลางซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันขนาดใหญ่ กำลังแปรไปสู่ความไม่แน่นอน
จากอียิปต์ข้ามคลองสุเอซไปไม่กี่ไมล์ ก็คือตะวันออกกลางทั้งหมด ถ้าใช้เครื่องบินรบสมัยใหม่ก็สามารถควบคุมได้หมดแล้ว
จุดนี้จึงเป็นจุดที่คุมมหาสมุทร คุมทะเล คุมภูมิภาค คุมน้ำมัน จุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญเช่นนี้ จะคลายมือออกได้อย่างไร
ดังนั้น หลังการปฏิวัติเดือนกุมภา2011ในอียิปต์ ประชาชนชาวอียิปต์เกือบ 80 ล้านคนคงไม่อาจทำอะไรตามใจตนเอง
จากวันนี้พวกเขาจะต้องถูกชักนำให้เลือกรัฐบาลสายกลางที่ไม่ปฏิเสธชาติตะวันตก
และอีกไม่เกิน 3 เดือน การเดินหมากการเมืองในอียิปต์จะต้องเข้มข้นขึ้น เมื่อยกที่ 1 ของประชาชนหยุดลง ในยกที่ 2 จะได้เห็นบทบาทของพวกหัวรุนแรงนิยมศาสนาปะทะกับกลุ่มขวาจัดที่ตะวันตกหนุนหลัง
การเคลื่อนไหวของกลุ่มรักประชาธิปไตยและพวกนิยมสายกลางจะมีโอกาสเข้าถึงอำนาจรัฐได้ จะต้องได้รับการยอมรับจากกลุ่มทหารอียิปต์ ซึ่งมีอำนาจมากที่สุดในขณะนี้
บทบาทของทหารอียิปต์ที่ผ่านมา เพียงแค่พวกเขาไม่ "กระชับพื้นที่" ตามแรงผลักดันของมูบารัค สถานการณ์นองเลือดร้ายแรงก็ไม่เกิดขึ้น แต่มีการเปลี่ยนแปลงซึ่งเกิดผลดีต่อฝ่ายประชาชน โดยมูบารัคต้องลาออก
แต่ในยกต่อไป ทหารอียิปต์จะวางตัวอย่างไร ไม่มีใครรู้
วันนี้ Revolution ในอียิปต์ ผ่านไปเพียงช่วงแรกเป็นการเริ่มต้นแบบ 14 ตุลาคม 2516 ต้องเอาใจช่วยให้ความฝันของคนอียิปต์เป็นจริงต่อไป แต่ประเมินจากโครงสร้างอำนาจเดิม คาดได้ว่า ประชาธิปไตยที่จะได้มาคงไม่ง่ายและไม่สวยหรูอย่างที่คิด การต่อสู้จะต้องมีอีกหลายยกแน่นอน
ดูเหมือนอนาคตของชาวอียิปต์จะขึ้นอยู่กับ ความคิดของประธานาธิบดีอเมริกา กลุ่มทหารในอียิปต์ การเคลื่อนไหวของกลุ่มหัวรุนแรง และการกล้าต่อสู้ของกลุ่มรักประชาธิปไตย ซึ่งจะต้องใช้เวลาหลายปี
ได้แต่หวังว่าบทจบจะไม่เป็นเช่น 6 ตุลา 2519 ของประเทศไทย
ปัญหาความขัดแย้งไทย-กัมพูชา เรื่องนี้ทำท่าจะไม่จบลงง่ายๆ แต่ก็ไม่ขยายเป็นสงครามใหญ่โต กลายเป็นกระดานโชว์ฝีมือการเดินหมากการเมืองของผู้นำทั้งสองฝ่าย
วันนี้คนไทยเห็นท่าทางผู้นำกัมพูชา อาจคิดไปว่าคนกัมพูชาไม่กลัวสงคราม ที่จริงแล้วคนกัมพูชากลัวสงครามที่สุด ภาพที่เราเห็นในสื่อต่างๆ เป็นการแสดงบทบาทของนายกฯ ฮุนเซน ซึ่งทำหน้าที่ได้เหนือกว่ารัฐมนตรีต่างประเทศ เพราะนายกฯ ฮุนเซนในอดีตเคยเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศมาแล้วถึง 6 ปี ในช่วงที่มีความขัดแย้งภายในประเทศค่อนข้างสูง และต้องพึ่งพาองค์กรระหว่างประเทศ ความรู้ ความชำนาญ การเมืองระหว่างประเทศของนายกฯ ฮุนเซนจึงอยู่ในขั้นปรมาจารย์
แต่นายกฯ ฮุนเซนก็เหมือนกับชาวกัมพูชาคนอื่น พวกเขารู้ถึงภัยร้ายของสงครามดี เพราะตลอดชั่วชีวิตของเขาอยู่กับสงคราม ข่าวล่าสุดจากเพื่อนในกัมพูชาแจ้งว่า ตัวนายกฯ กับประชาชนทั้งประเทศ ยังต้องทำบุญเพื่อหวังให้ผลบุญช่วยมิให้เกิดสงครามอยู่ทุกปี
อย่าเปรียบเทียบความรู้สึกของคนไทยกับคนกัมพูชาในเรื่องของสงคราม คนไทยอาจจะรู้สึกเหมือนดูหนัง แต่คนกัมพูชาทั้งเกลียดและกลัว สงครามสร้างความหวาดผวาจนถึงทุกวันนี้
คนกัมพูชาอายุ 30 ปีขึ้นไป เคยพบกับความยากลำบากในสงครามแต่ถ้าอายุ 40-70 ปี จะเคยร่วมอยู่ในสงครามหลายครั้ง แทบทุกครอบครัวเคยเสียญาติพี่น้อง พบความทุกข์ยากอย่างแสนสาหัส คนไทยอย่างมากก็เห็นทหารอเมริกันและเครื่องบินขึ้นลง นำระเบิดไปทิ้ง แต่พวกเขาต้องทนรับแรงระเบิดเป็นแสนๆ ลูก อยู่ในวังวนการสู้รบติดต่อกันหลายปี
บางคนเคยอยู่ในสภาพนี้ถึง 20-25 ปี และหลายคนต้องมีชีวิตอยู่ในสภาพของผู้ลี้ภัย ครอบครัวต้องพลัดพราก หลายคนต้องทุกข์ยากภายใต้การปกครองของเขมรแดง
วันนี้ชีวิตพอจะดีขึ้นมาบ้าง แต่เมื่อได้ยินเสียงปืนใหญ่ พวกเขาก็ได้นึกถึงคำทำนายที่มีมาเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว...
...นับตั้งแต่สงครามเวียดนามลามเข้าสู่กัมพูชาในปี 1969 อเมริกาได้ทิ้งระเบิดในกัมพูชาโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาคองเกรส ฝูงบิน B-52 บินขึ้นจากฐานทัพในประเทศไทยไปทิ้งระเบิด ทำให้ประชาชนกัมพูชาต้องเลือกว่าจะอพยพเข้าพนมเปญหรือเข้าร่วมกับเขมรแดง และอเมริกาก็ได้สนับสนุนนายพลลอนนอนทำการรัฐประหารเจ้าสีหนุในเดือนมีนา 1970 ขณะที่เสด็จเยือนปักกิ่ง
เพื่อนที่อยู่ในกัมพูชาเล่าให้ฟังว่า ช่วงเวลานั้น เขายังเป็นแค่เด็กประถม ได้รับจดหมายซึ่งเป็นคำทำนาย มีลักษณะเป็นจดหมายลูกโซ่ กล่าวกันว่าเป็นพุทธทำนายค้นพบโดยฤาษีองค์หนึ่ง คำทำนายได้กล่าวถึงสงครามใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในกัมพูชา 3 ครั้ง
คำทำนายสงครามครั้งแรกคือ
"เลือดนองท่วมท้องช้าง บ้านเมืองร้างไร้ผู้คน ท้องถนนจะว่างเปล่า"
ในครั้งนั้นเขาไม่เชื่อและได้เถียงกับเพื่อนๆ ว่าเป็นไปไม่ได้ แต่ต่อมา สงครามก็ได้ขยายขอบเขตเข้ามาถึงเมืองหลวงพนมเปญ 17 เมษายน 1975 เขมรแดงยึดพนมเปญได้ จากนั้นไม่นานประชาชนในพนมเปญก็ถูกกวาดต้อนให้ไปอยู่ในชนบท เขาได้เห็นบ้านเมืองไร้ผู้คนและท้องถนนว่างเปล่าจริงๆ
คำทำนายที่สอง
"ไฟสงครามลามมาจากตะวันออก อัศวินม้าขาวจากตะวันตกจะเข้ามาช่วย"
แม้สงครามเวียดนามจะยุติลงแล้วแต่ความขัดแย้งระหว่างเขมรแดงกับเวียดนามขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ในเดือนธันวาปี 1978 กองทัพเวียดนามก็บุกเข้ากัมพูชา ยึดพนมเปญได้ ขับไล่เขมรแดงออกไป แต่การสู้รบก็ไม่ยุติง่ายๆ ไทย, อเมริกา และจีนสนับสนุนรัฐบาลเขมรสามฝ่ายซึ่งมีเขมรแดงร่วมอยู่ด้วย โดยอาศัยชายแดนไทยและรัฐบาลไทยเป็นฐานการสู้รบ คราวนี้การสู้รบติดต่อยาวนานถึง 10 ปี
มีสงครามมาจากตะวันออกจริงๆ เพราะเวียดนามอยู่ทางตะวันออกของกัมพูชา เดือนกันยาปี 1989 เวียดนามถอนทหารออกจากกัมพูชา และให้ UNTAC เข้าไปดูแลแก้ไขความขัดแย้ง ขบวนรถสีขาวตัวอักษรสีฟ้าของสหประชาชาติพร้อมเจ้าหน้าที่ฝรั่งหลายชาติวิ่งเป็นขบวนยาวเหยียดเข้าไปในกัมพูชา
อัศวินม้าขาวจากตะวันตกมาช่วยแล้วจริงๆ
UNTAC จัดให้มีการเลือกตั้งปี 1993 จากนั้นอิทธิพลของเขมรแดงก็อ่อนลง การเมืองในเขมรพัฒนาในรูปแบบที่แปลกๆ เช่น มีนายกฯ พร้อมกันสองคนคือ ฮุนเซน และ เจ้านโรดม รณฤทธิ์ ต่อมาภายหลัง ฮุนเซนได้ขยายอิทธิพลจนมีอำนาจเบ็ดเสร็จ กลายเป็นนายกฯ ตั้งแต่ปี 1998 จนถึงปัจจุบัน
คำทำนายสงครามครั้งที่ 3 "สงครามจะลุกลามเหมือนเปลวไฟที่ร้อนแรง แต่มาเพียงวูบเดียว แล้วก็ดับลง แต่จะสร้างความเสียหายใหญ่หลวง กรุงเทพฯ จะล่ม พนมเปญสลาย พระตะบองพังทลาย จะสบายที่เสียมเรียบ"
จะเห็นว่าคำทำนายนี้เกี่ยวกับเมืองไทยด้วย คนกัมพูชาที่เชื่อคำทำนายก็ยังนิยมไปลงทุนที่เสียมเรียบ ความเชื่อที่ฝังลึก ทำให้ชาวกัมพูชายังสะดุ้งผวา เมื่อได้ยินเสียงปืนใหญ่ดังขึ้นจากทั้งสองฝ่าย
ทุกวันนี้ยังไม่มีใครรู้ว่า สงครามครั้งที่ 3 คืออะไร ทำไมถึงร้ายแรงขนาดนั้น แต่ที่เสียมเรียบซึ่งคิดว่าจะปลอดภัยนั้นมีปราสาทนครวัด และนครธมตั้งอยู่
เพื่อนจากกัมพูชาจบคำบอกเล่าเรื่องคำทำนาย พร้อมกับชี้แจงว่า ในประเทศของเขาไม่มีเสรีภาพบนหน้าหนังสือพิมพ์เหมือนเมืองไทย ไม่มีหนังสือพิมพ์ที่ด่านายกฯได้ แต่ด่าไทยได้ ด่าเวียดนามได้ ด่ารัฐบาลไม่ได้ และ 80 เปอร์เซ็นต์ของหนังสือพิมพ์วันนี้ ด่าไทย
คนกัมพูชารู้สึกเสมอว่า ความทุกข์ที่ได้รับอยู่ทุกวันนี้มาจากคนอื่น มาจาก อเมริกา เวียดนาม และไทย
วันนี้ฮุนเซนกำลังเดินหมากเชิงรุก ส่วนอภิสิทธิ์กำลังเดินหมากแบบตั้งรับ การเมืองระหว่างประเทศจะต้องจบลงแบบชั่วคราวเร็วๆ นี้
สำหรับตัวละครสำคัญในความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา ผู้เขียนมองข้ามรัฐมนตรีต่างประเทศทั้งสองฝ่ายไปนานแล้ว ยิ่งเห็นกษิต ภิรมย์ โยงความขัดแย้งไปถึง จีน อินเดีย และฝรั่งเศส แบบคนไม่เคยอยู่กระทรวงต่างประเทศ ยิ่งให้รู้สึกสงสารประเทศไทย
ปัญหาอยู่ที่ว่าอภิสิทธิ์จะตามฮุนเซนทันหรือไม่ เพราะชั่วโมงบินฮุนเซนเหนือกว่าเยอะ
อภิสิทธิ์ถูกประคบประหงมโอบอุ้มมาแต่เด็ก เกิดเมืองนอก เรียนเมืองนอก แม้แต่ตอนลงสมัคร ส.ส. ก็อยู่ในเขตที่มีกำลังการจัดตั้งและแกนนำที่เข้มแข็งที่สุดของปชป. ในกรุงเทพฯ บวกกับภาพพจน์ที่ดีและชื่อเสียงที่ดี ถนนการเมืองจึงดูราบเรียบเหมือนขึ้นบันไดเลื่อน
ตอนได้เป็นนายกฯ ก็มีคนจากหลายฝ่ายเข้ามาโอบอุ้ม สมฉายาเทพประทาน จนได้เป็นนายกฯสมใจ
แต่ประสบการณ์ในชีวิตมีน้อยมากจนน่าเห็นใจ อย่าว่าแต่ปัญหาใหญ่เลย แม้เพียงจัดการให้ชาวบ้านมีบัตรประชาชนใช้ยังไม่มีปัญญาทำได้
เมื่อเทียบกับฮุนเซนซึ่งมาจากครอบครัวยากจน อยู่ท่ามกลางสงครามมาตั้งแต่เด็ก ตอนเรียนชั้นประถมก็ต้องอาศัยวัด เข้าร่วมขบวนปฏิวัติตั้งแต่อายุ 18 ขัดแย้งกับเขมรแดงจนต้องหนีไปอยู่กับเวียดนาม จากนั้นจึงนำกองทัพกลับเข้ามายึดพนมเปญ
ในเดือนมกราคม 1979 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศครั้งแรก อายุ 27 ปี และได้เป็นนายกฯ ครั้งแรกอายุ 33 ปี
ฮุนเซนจบปริญญาตรีรัฐศาสตร์เมื่อไหร่ก็ไม่มีใครจำได้ แต่ได้รับมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ถึง 10 ใบ เป็น Ph.D ที่ได้จากอเมริกา 2 ใบ ยุโรป 1 ใบ เกาหลี 2 ใบ เวียดนาม 2 ใบ และอีกสองใบมาจากรามคำแหงและบ้านสมเด็จ อีกใบหนึ่งได้จากมหาวิทยาลัยภายในประเทศ
ความสามารถจริงเหนือกว่าปริญญาที่ได้มาเยอะ
ถ้าดูจากประสบการณ์ของฮุนเซน เขาอยู่ในท่ามกลางความขัดแย้งที่ถึงเลือดถึงชีวิตมายาวนาน ต้องใช้ทั้งเล่ห์เหลี่ยมและการตัดสินใจที่ดีเยี่ยมเพื่อเอาชีวิตรอด เอาชนะสงครามและการต่อสู้ทางการทหาร
ต้องใช้ทั้งความรู้ และชั้นเชิงทางการเมืองระหว่างประเทศในขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศและช่วงที่เป็นนายกรัฐมนตรีใหม่ๆ เพื่อให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล
ในความเห็นของผู้เขียน ฮุนเซนเป็นยอดนักเดินหมาก ผู้คน องค์กร กองกำลัง และ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศอะไร ล้วนแต่เป็นหมากที่ฮุนเซนใช้เดินได้ทั้งสิ้น อดีตนายกฯ ทักษิณก็เป็นหมากตัวหนึ่ง กองทัพเวียดนาม ก็เป็นหมากที่เขาเคยอาศัยเดิน กษัตริย์สีหนุเขาก็ใช้มาแล้ว องค์กรต่างประเทศก็ใช้มาแล้ว
ดังนั้น วันนี้ทั้งอภิสิทธิ์ , กษิต, วีระ สมความคิด, พันธมิตรเสื้อเหลือง แม้แต่กองทัพไทยก็ถูกใช้เป็นหมาก จะอยากเดินหรือไม่อยากเดิน แต่เกมที่ฮุนเซนวางไว้ทำให้จำเป็นต้องเดิน ทำไมเขาจะไม่รู้ว่ากระสุนแต่ละนัดที่ยิงออกไปจะได้รับการโต้ตอบอย่างไร
เขาไม่มีวันก่อสงครามจริงๆ ขึ้นมา เขาเพียงแต่แสดงให้บางคนเห็นว่า "โง่แล้วอย่าขยัน"
สำหรับฮุนเซน ความขัดแย้งครั้งนี้เป็นหมากกระดานหนึ่ง เมื่อเขาเดินจบ จะได้รางวัลสองชิ้น
ชิ้นแรกคือความมั่นคงทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น
รางวัลชิ้นที่สองคือการได้รับความชอบธรรมและความเห็นใจจากนานาประเทศในปัญหาพื้นที่ทับซ้อน ไทย-กัมพูชา
ส่วนความสะใจที่ได้เป็นของแถมคือการแสดงความไร้ประสิทธิภาพของรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของไทย ความขัดแย้งระหว่างพันธมิตรกับรัฐบาลไทย
คนพวกนี้เป็นเพียงแค่เด็กอ่อนหัด คงต้องปล่อยให้ทะเลาะกันจนเลิกไปเอง
แต่ถ้าโง่แล้วยังซ่าไม่เลิกก็ต้องปล่อยไปตามกรรม
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย