.
เส้นบรรจบพรมแดน และคำถามถึงความมั่นใจของรัฐบาลไทย กลัวทำไมกับสหประชาชาติ?
โดย สรกล อดุลยานนท์ คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 เวลา 21:00:00 น.
ผมมีเรื่องหนึ่งจะเล่าให้ฟัง
นาย ก.มีเพื่อนบ้านชื่อนาย ข.
ทั้งคู่ทะเลาะกันเรื่องที่ดิน 4.6 ตารางเมตรที่อยู่ระหว่างกลาง
นิดเดียวเมื่อเทียบกับพื้นที่บ้าน 1 ไร่ของนาย ก.และนาย ข.
เถียงกันอยู่นานหลายปีว่าใครเป็นเจ้าของที่ดินแปลงนี้
นาย ก.ก็อ้างว่ามีหลักฐานชัดเจน
ส่วนนาย ข.ก็เถียงว่าหลักฐานของเขาน่าเชื่อถือกว่า
เถียงกันไปเถียงกันมาจนทะเลาะและลงมือลงไม้กัน
สุดท้าย"นาย ข." บอกว่าจะนำเรื่องนี้ไปให้ "ผู้ใหญ่บ้าน" เป็น "คนกลาง" ในการเจรจา และถ้าความขัดแย้งยังไม่ยุติก็จะนำเรื่องฟ้องศาล
แต่นาย ก.ไม่ยอม บอกว่ายังไงก็ต้องคุยกัน 2 คน
ปัญหาของเรา 2 คน จะไปแจ้งความให้คนอื่นมายุ่งได้อย่างไร
น่าแปลกที่ นาย ก.ซึ่งอ้างตลอดว่ามีหลักฐานยืนยันว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของเขา
ชัดเจนที่สุด ถูกต้องที่สุด สู้อย่างไรก็ต้องชนะ
แต่นาย ก.กลับท่องคาถา "ทวิภาคี" ตลอด ไม่ยอมให้ใครมาเป็น "คนกลาง"
ในขณะที่นาย ข.กลับเรียกหา "คนกลาง" และขู่ฟ้องศาลตลอด
ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
มันน่าจะมีแค่ 2 สาเหตุ
สาเหตุแรก คือ นาย ข.ตัวเล็กกว่านาย ก. ขืนเจรจาแบบตัวต่อตัวต่อไป
โอกาสที่จะเจ็บตัวมีมากกว่า
การดึง "คนกลาง" เข้ามา จะช่วยให้เขาลดความเสียเปรียบลง
สาเหตุที่สอง นาย ข.ต้องมั่นใจใน "หลักฐาน" ของเขามากจึงกล้าให้คนอื่นมาร่วมตัดสิน
ซึ่งหาก นาย ก.มั่นใจในหลักฐานของตนเองเหมือนกับที่พูด
เขาก็ต้องไม่กลัวที่จะขึ้นศาล
แต่นาย ก. กลับท่องคาถา "ทวิภาคี" ตลอด
ปฏิเสธเรื่อง "คนกลาง" และการขึ้นศาล
ด้วย "ภาษาท่าทาง" ที่ นาย ก. แสดงออกมา
ใครๆ ก็อ่านออกว่าสิ่งที่พูด กับ "ความจริง" ที่อยู่ในใจ นาย ก.นั้นตรงข้ามกัน
เขาไม่ได้มั่นใจในหลักฐานเหมือนที่เคยให้สัมภาษณ์มา
ครับ ถ้าผมเป็นนาย ก. ที่ไม่มั่นใจในหลักฐานของตัวเอง
กลัวว่าขึ้นศาลเมื่อไร จะแพ้คดี และเสียที่ดิน 4.6 ตารางเมตรไป
ยุทธศาสตร์ที่ควรทำก็คือ อย่าไปเถียงว่าที่ดินแปลงนี้เป็น"ของข้า-ของเอ็ง"
แต่ต้องบอกว่าเป็น "พื้นที่ทับซ้อน"
เปลี่ยนจาก "ของข้า-ของเอ็ง"
มาเป็น "ของเรา"
และใช้ความสัมพันธ์ที่ดี คุยกับนาย ข.ว่าเมื่อต่างคนต่างคิดว่าเป็นของตัวเอง
เถียงไปก็เหนื่อยเปล่าๆ
ที่ดินก็ไม่ได้ทำประโยชน์อะไร
เรามาปลูกต้นไม้เป็นกำแพงสีเขียวกั้นบ้านเรากันดีกว่า
ไม่ต้องสนใจว่าพื้นที่นี้เป็นของใคร แต่แน่ๆ ก็คือเราได้พื้นที่สีเขียวร่วมกัน
คนฉลาดควรจะทำอย่างนี้ไม่ใช่หรือ??
วันก่อนอ่านคอลัมน์ "เทศมองไทย" ใน "มติชนสุดสัปดาห์" เล่มใหม่ ผมชอบทรรศนะของนักการทูตอาวุโสคนหนึ่ง
เขาบอกว่า "เส้นเขตแดน" ไม่ควรจะหมายความว่าเส้น "แบ่ง" เขตแดนระหว่างประเทศหนึ่งกับอีกประเทศหนึ่ง
แต่ควรจะเป็นการ "บรรจบ" กันของเขตแดน
แม้จะเป็นสิ่งเดียวกัน แต่เมื่อใช้ "คำ" ที่แตกต่างกัน "ความรู้สึก" ก็ต่างกันราวฟ้ากับดิน
ถ้าเราคิดแบ่ง ก็ต้องมีคนได้และคนเสีย
มีแต่ "ความทุกข์"
แต่ถ้าเราคิดจะหาเส้นที่บรรจบกัน
เราจะมีแต่ "ความสุข"
ครับ คนไทยโชคดีที่ได้ "อภิสิทธิ์" เป็นนายกฯ
จริงหรือ????
++
โกรธแบบ 2 มาตรฐาน
โดย สรกล อดุลยานนท์ คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12
ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 เวลา 22:00:00 น.
ถ้าไม่เจอแรงกดดันจากพื้นที่จริงๆ 4 ส.ส.ประชาธิปัตย์ จากจังหวัดยะลาและปัตตานี คงไม่ออกมาแถลงข่าวเรื่องเหตุระเบิดรายวันในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ อัดหน่วยงานด้านความมั่นคงอย่างรุนแรง
และตามน้ำด้วยการเสนอให้ปรับเปลี่ยน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก
การเล่นบทแรงครั้งนี้ทั้งที่เป็น ส.ส.พรรคแกนนำรัฐบาล ในแวดวงการเมืองอ่านกันออกว่า 4 ส.ส. ต้องเจอเสียงโวยจากประชาชนในพื้นที่อย่างหนัก
ถ้าไม่ออกมาเล่นบทตัวแทนชาวบ้านบอกเล่าถึงความเดือดร้อน และเรียกร้องหาคนรับผิดชอบ เลือกตั้งครั้งหน้าสอบตกแน่
ชาวบ้านคงใช้ตรรกะง่ายๆ คือเลือกพวกคุณเข้าไปแล้ว ไม่เห็นช่วยอะไรได้เลยทั้งที่หัวหน้าพรรคเป็น "นายกรัฐมนตรี"
แบบนี้เลือกคนอื่นพรรคอื่นดีกว่า
ยิ่งใกล้ยุบสภา ยิ่งเข้าใจได้ว่าทำไม ส.ส.ทั้ง 4 คน จึงออกตัวแรงขนาดนี้
หลายประโยคที่ 4 ส.ส.แถลงออกมา ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องเก่าที่คนอื่นเคยพูดมาแล้ว โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ จำนวนเจ้าหน้าที่ อาวุธยุทโธปกรณ์ ใส่เข้าไปไม่รู้เท่าไร
แต่ผลลัพธ์สุดท้ายกลับไม่ได้ดีขึ้นเลย
"ให้ไปหมดแล้ว เหลือเพียงอย่างเดียว คือการปรับเปลี่ยน"
พูดตามหลักการบริหารแล้ว ส.ส.กลุ่มนี้พูดถูกต้อง ที่สำคัญที่สุด คือ ปรากฏการณ์ครั้งนี้เป็น "คำตอบ" ที่ดีที่สุดว่าเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ดีขึ้นหรือเปล่า
ที่ผ่านมาคนไทยที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้สงสัยมานานแล้วว่าสถานการณ์ตอนนี้ดีขึ้นตามที่รัฐบาลและกอง ทัพบอกกับเราหรือเปล่า
ครับ ถ้า 4 ส.ส.เป็น ส.ส.ฝ่ายค้าน รัฐบาลและกองทัพก็สามารถจะบอกได้ว่าเป็นเรื่องการเมือง
แต่ ส.ส.ทั้ง 4 คน เป็น ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ แกนนำรัฐบาล
เขาไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องมาโจมตีกองทัพเลย เพราะรู้ดีอยู่แล้วว่า "รัฐบาล" ชุดนี้จัดตั้งในค่ายทหาร
การออกมาโวยจึงมีเพียงคำตอบเดียวคือ สถานการณ์ในพื้นที่เลวร้ายกว่าเดิมจริงๆ
และเสียงโวยของชาวบ้านต้องแรงมาก ไม่เช่นนั้นเขาคงไม่ออกโรงแบบนี้
เกมนี้ไม่มีเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้อง
ถ้าจะเกี่ยวข้องก็เพียง ส.ส.กลุ่มนี้พยายามจำกัดวงความรับผิดชอบให้หยุดอยู่แค่ "กองทัพ"
ไม่เลยไปถึง "รัฐบาล" ที่รับผิดชอบเรื่อง "นโยบาย"
เพราะถ้ากล่าวโทษถึงรัฐบาลเมื่อไร คนที่รับผิดชอบก็คือ พรรคประชาธิปัตย์
พรรคที่ ส.ส.ทั้ง 4 คนสังกัดอยู่
อย่าแปลกใจที่ พล.อ.ประยุทธ์จะออกมาโวยว่า "การเมืองคือฝ่ายบริหาร กำหนดนโยบาย ทหารก็นำไปสู่การปฏิบัติ"
แทงคืนเหมือนกัน
ดูเหมือนว่า การออกโรงของ 4 ส.ส.ครั้งนี้ จะทำให้ทหารยังเติร์กไม่พอใจ
เขาให้เหตุผลว่าตำแหน่ง ผบ.ทบ.ถือเป็นสัญลักษณ์ของกองทัพบก
"ใครจะมาดูหมิ่นดูแคลนผู้บังคับบัญชาไม่ได้"
ฟังดูก็เป็นชายชาติทหารดี
เพียงแต่สงสัยว่าตอนที่ "สนธิ ลิ้มทองกุล" ไล่ พล.อ.ประยุทธ์ให้ไปเล่น "ลิเก" บนเวทีพันธมิตร ทำไมทหารยังเติร์กไม่ได้ยิน
จำประโยคนี้ได้ไหมครับ
"นึกไม่ถึงว่าคนอย่าง ผบ.ทบ.จะหลุดคำพูดออกมาว่า อยากรบก็ไปรบเองสิ พูดอย่างนี้มาเป็นทหารทำไม ถ้าเป็นทหารแล้วไม่กล้าปกป้องดินแดนไทยก็ไปเล่นลิเกดีกว่า"
หรือ "อย่ามาพูดว่าทหารก็มีเลือดเนื้อมีพ่อมีแม่ ถ้าอย่างนั้น ทำไมไม่ลาออกจากผู้บัญชาการทหารบก เป็นไปทำไม"
พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้โดนไล่ครั้งแรกครับ
ก่อน 4 ส.ส.ใต้จะไล่ เขาเคยถูก "สนธิ" ไล่มาแล้วครั้งหนึ่ง
แต่ตอนนั้น "ทหารยังเติร์ก" ไม่ได้ยิน หรือได้ยินแล้วไม่โกรธ
หรือไม่กล้าโกรธ
ไม่น่าเชื่อว่าเมืองไทยวันนี้ แม้แต่ "ความโกรธ"
ยังแบ่งเป็น "สองมาตรฐาน" เลย
.
Selected Messages & Good Article for People Ideas and Social Justice .. หวังความต่อเนื่องของพลังประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของปวงชนอันเป็นรากฐานอำนาจอธิปไตย เพื่อกำกับกติกาและอำนาจการเมือง-อำนาจตุลาการ ไม่ว่าต่อคนชั่ว(เพราะใคร?) และคนดี(ของใคร?) ไม่ให้อยู่เหนือนิติรัฐของประชาชน
http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย