http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-09

ลัทธิพ้นมนุษย์: การปฏิวัติจากเบื้องบน/ ชุมชนธรรมชาติ: การปฏิวัติจากเบื้องล่าง โดย อนุช อาภาภิรม

.

ลัทธิพ้นมนุษย์ : การปฏิวัติจากเบื้องบน
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 09 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1647 หน้า 38


ลัทธิพ้นมนุษย์ เป็นความเชื่อและการปฏิบัติในการพัฒนามนุษย์พันธุ์ใหม่ ที่มีความแข็งแรงสุขภาพดี สติปัญญาสูง ใช้ความคิดอ่าน ไม่ตกอยู่ใต้อำนาจของอารมณ์ความรู้สึก มีความสามารถในการทำงานสูงมาก ทุกอย่างเป็นสิ่งง่าย ชีวิตเต็มไปด้วยความสะดวก ทันใจ ปลอดภัย ไม่ต้องทุกข์กายทุกข์ใจเหมือนมนุษย์ในปัจจุบันที่อ่อนแอทั้งร่างกาย สติปัญญา และจิตใจ

คำว่า "ลัทธิพ้นมนุษย์" แปลจากศัพท์ 2 คำคือ Posthumanism และ Transhumanism (คำนี้ย่อจากคำว่า transitional human)

ทั้ง 2 คำนี้มีความหมายต่างกันเล็กน้อย โดยคำว่า Posthumanism เน้นในทางปรัชญา จริยธรรม และวัฒนธรรม

ส่วนคำว่า Transhumanism นั้น เน้นในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการสร้างมนุษย์พันธุ์ใหม่ขึ้น โดยที่เทคโนโลยีในการสร้างมนุษย์พันธุ์ใหม่ ได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสาร และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ไปจนถึงนาโนเทคโนโลยี

เทคโนโลยีเหล่านี้มีความก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว จนแนวคิดเรื่องการพ้นมนุษย์ ที่เดิมปรากฏอยู่แต่ในนวนิยายวิทยาศาสตร์ ก็มีเค้าลางที่จะเกิดเป็นจริงขึ้นมาได้

แต่ลำพังวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนั้นไม่เพียงพอ จำต้องอาศัยเรื่องทางวัฒนธรรมและจริยธรรมมาประกอบ ชี้ให้เห็นความจำเป็นในการสร้างผู้พ้นมนุษย์ขึ้น มีการรองรับทางศีลธรรมและจริยธรรมอย่างไร และสังคมพ้นมนุษย์จะเป็นอย่างไร มีความน่าอยู่กว่าสังคมมนุษย์ในปัจจุบันอย่างไร

แนวคิดพ้นมนุษย์นี้กล่าวไปแล้วมีความเชื่อมั่นในชนชั้นหัวกะทิหรือชนชั้นนำ (Elites) ที่เป็นผู้สร้างศีลธรรมความเป็นนาย นำพาผู้มีศีลธรรมแบบทาสก้าวไปสู่สังคมที่พึงประสงค์ได้ จึงจัดอยู่ในกลุ่มการปฏิวัติจากเบื้องบน เป็นการปฏิวัติเปลี่ยนอารยธรรมอุตสาหกรรมในปัจจุบัน เป็นอารยธรรมอุตสาหกรรมไฮเทคที่สูงขึ้นกว่าปัจจุบันอย่างเทียบกันไม่ได้

ลัทธิพ้นมนุษย์มีรายละเอียดหลายมิติ ในที่นี้จะกล่าวในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีการปฏิบัติที่เป็นจริง และก้าวหน้าไปรวดเร็ว


คำประกาศนักลัทธิพ้นมนุษย์

เพื่อให้เข้าใจความคิดสำคัญของลัทธิพ้นมนุษย์ ควรเริ่มที่คำประกาศลัทธิพ้นมนุษย์ (The Transhumanist Declaration เผยแพร่ปี 2009) มีความสำคัญ 7 ประการว่า

1. ในอนาคตมนุษยชาติจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากด้วยเทคโนโลยี เราเล็งเห็นความเป็นไปได้ในการออกแบบเงื่อนไขของความเป็นมนุษย์ใหม่ รวมทั้งตัวแปรเกี่ยวกับความชราอันเหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อให้พ้นจากความจำกัดทางปัญญาของมนุษย์และปัญญาประดิษฐ์ จิตวิทยาที่ถูกตีกรอบ ความทุกข์ยาก และการถูกจำกัดอยู่ในดาวเคราะห์โลก

2. ควรจัดให้มีการวิจัยอย่างเป็นระบบเพื่อความเข้าใจถึงการพัฒนาที่กำลังเกิดขึ้นและผลระยะยาวของมัน

3. นักลัทธิพ้นมนุษย์คิดว่าโดยการเปิดกว้างและยอมรับเทคโนโลยีใหม่ เราจะมีโอกาสดีขึ้นในการใช้ประโยชน์จากมันเพื่อความก้าวหน้าของเรา ไม่ใช่การห้ามและระงับ

4. นักลัทธิพ้นมนุษย์เห็นว่าเป็นสิทธิทางศีลธรรมสำหรับบุคคลที่ต้องการใช้เทคโนโลยีเพื่อขยายความสามารถทางร่างกายและจิตใจของตน และเพื่อความสามารถในการควบคุมชีวิตของตนเอง (รวมทั้งการสืบพันธุ์) เราต้องการความเติบโตเหนือขีดจำกัดทางชีววิทยาในปัจจุบันของเรา

5. ในการวางแผนเพื่ออนาคต จำต้องคำนึงถึงโอกาสของความก้าวหน้าอย่างใหญ่หลวงในความสามารถทางเทคโนโลยี เป็นเรื่องโศกสลดหากผลประโยชน์ที่พึงได้นี้ ต้องสูญเสียไปเนื่องจากความกลัวเทคโนโลยี และการตั้งข้อห้ามที่ไม่จำเป็น ในอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นเรื่องโศกสลดที่ชีวิตอันมีสติปัญญาจะต้องสูญพันธุ์ไป เนื่องจากความหายนะหรือสงครามอันเกิดจากเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า

6. เราต้องการสร้างสมัชชาที่ผู้คนสามารถถกเถียงกันได้อย่างมีเหตุผล ว่าจำเป็นต้องทำอะไรบ้าง และการสร้างระเบียบสังคมเพื่อการรับผิดชอบต่อการตัดสินใจในการปฏิบัตินี้

7. ลัทธิพ้นมนุษย์สนับสนุนสวัสดิภาพของสิ่งที่มีความรู้สึกทุกอย่าง (ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ มนุษย์ หรือมนุษย์ที่พ้นมนุษย์ หรือสัตว์อื่นที่ไม่ใช่มนุษย์) และรวมเอาหลักการสำคัญของมนุษย์นิยมสมัยใหม่ไว้ด้วย ลัทธิพ้นมนุษย์ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใด นักการเมืองใด หรือแนวนโยบายใดเป็นการเฉพาะ

คำประกาศนี้ได้ใช้ถ้อยคำอย่างระมัดระวังรัดกุม เพื่อลดภาพเชิงลบของลัทธินี้

ขอยกตัวอย่าง 2 ประเด็นได้แก่ ในข้อที่ 5 ระบุว่าเทคโนโลยีที่มนุษย์พัฒนาต่อไปนี้อาจนำอันตรายถึงขั้นทำให้มนุษย์สูญพันธุ์ได้ (Existential Risks)

และในข้อที่ 7 ที่กล่าวว่า ลัทธิพ้นมนุษย์สนับสนุนสวัสดิภาพของทุกความรู้สึก โดยที่ลัทธินี้ถูกโจมตีหนักหน่วงว่าจะส่งเสริมการคัดเลือกพันธุ์ และความรู้สึกเหนือกว่าทางชนชาติ เกิดวิชาสุชาติพันธุ์ (Eugenics) ดังที่ได้ปฏิบัติแล้วในสมัยรัฐนาซี


ความเป็นมาของแนวคิดลัทธิพ้นมนุษย์

แนวคิดลัทธิพ้นมนุษย์เกิดขึ้นมานานแล้ว กล่าวได้ว่าเกิดขึ้นพร้อมกับตัวมนุษย์ อาจตีความในคติพุทธว่าเป็นความอยากหรือตัณหาอย่างหนึ่ง เรียกว่าวิภวตัณหา ความอยากในภพที่ต่าง ภพที่วิเศษยอดเยี่ยม ในทางทฤษฎีวิวัฒนาการมีการผ่าเหล่าของยีน (Gene) เป็นต้น

ในสมัยก่อนที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยียังอยู่ในขั้นต่ำ การจะพ้นมนุษย์มักใช้วิธีทางศาสนา เช่น ผ่านการเคารพบูชาพระผู้เป็นเจ้า การบำเพ็ญภาวนา หรือการปฏิบัติตามคลองธรรม เป็นต้น กล่าวกันว่า การปฏิบัติเช่นนี้อย่างเคร่งครัดจะทำให้สามารถพ้นมนุษย์ กระทั่งเกิดการหลุดพ้นได้จริง

มนุษย์ที่ไม่พอใจในชาติภพของตน และต้องการยกระดับชาติภพของตนให้สูงขึ้น ก็เนื่องจากได้ตระหนักในจุดอ่อนและความจำกัดของมนุษย์หลายประการด้วยกัน กล่าวคือ

ข้อแรก ก็คือการที่ต้องตาย ซึ่งเป็นความทุกข์แสนสาหัสทำให้มนุษย์รู้สึกว่าไร้ค่าและความหมาย ต้องพลัดพรากทุกสิ่งทุกอย่างอันเป็นที่รักที่พอใจ มนุษย์ต้องการความเป็นอมตะ และพยายามทำให้เป็นจริงอย่างน้อยในความเพ้อฝัน

ข้อที่สองได้แก่ การต้องเจ็บไข้ได้ป่วย ทำให้เกิดการทุกข์ทรมาน อายุสั้น แต่ละคนก็ต้องการการมีสุขภาพดีและได้เป็นพรยอดนิยมข้อหนึ่ง ในปัจจุบันการมีสุขภาพดีได้กลายเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีทั้งระบบการแพทย์ การสาธารณสุข อาหารเสริม การทำฟิตเนส ฯลฯ ซึ่งต้องใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงขึ้นเรื่อยๆ

ข้อที่สาม ต้องทำงานหนักมากกว่าจะได้ของกินของใช้ขึ้นมาหรือได้อย่างจำกัด มนุษย์ต้องการชีวิตที่ไม่ต้องทำงานหนัก แต่มีกินมีใช้อย่างอุดมสมบูรณ์ คือให้ทั้งเฮงและร่ำรวย มองในแง่การผลิตแล้ว หมายถึงการมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดมีความคิดสร้างสรรค์ การพัฒนาพลังการผลิตหรือผลิตภาพได้อย่างไม่รู้จบ

ข้อที่สี่ มนุษย์จำต้องอยู่ในธรรมชาติที่ไม่เข้าใครออกใคร ต้องอยู่กับสัตว์ที่มีเขี้ยวมีพิษมีอันตรายถึงชีวิต และยังต้องแก่งแย่งกันเองในการทำมาหากิน มนุษย์ต้องการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มั่นคงปลอดภัย อยู่ในเหย้าในเรือน ในสังคมที่สงบสันติ เมืองนับว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์สำคัญที่ช่วยให้มนุษย์อยู่ในสิ่งแวดล้อมในฝันนี้ได้

ข้อสุดท้าย มนุษย์ต้องการมีร่างกายที่สวยงาม มีเสน่ห์ต่อผู้คนทั่วไปและเพศตรงข้าม ซึ่งในปัจจุบันอุตสาหกรรมความงาม แฟชั่น และศัลยกรรมตกแต่งก็ได้ขยายตัวขึ้น

เมื่อมีการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ 15 และการปฏิวัติอุตสาหกรรมในปลายศตวรรษที่ 18 ทำให้มนุษย์สามารถก้าวพ้นจากชาติภพเดิมที่อยู่ในยุคเกษตรกรรม เข้ามาสู่ยุคอุตสาหกรรม และเกิดความเห็นพ้องในคนหมู่มาก-ว่าเทคโนโลยีจะช่วยแก้ปัญหาและความจำกัดของมนุษย์

กล่าวได้ว่ามีความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอยู่ 2 กลุ่มที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดแนวคิดพ้นมนุษย์สมัยใหม่ขึ้น

กลุ่มแรกได้แก่ทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน (1859) และความรู้เรื่องยีน (Gene) ที่พัฒนาขึ้นภายหลังไม่นาน

ความรู้นี้ชี้ว่า มนุษย์น่าจะมีเส้นทางวิวัฒนาการต่อไปอีก ไม่ใช่หยุดอยู่เพียงนี้

และคำอธิบายว่าด้วยเรื่อง "การอยู่รอดของผู้ที่เหมาะสมที่สุด" ทำให้เกิดคิดปฏิบัติขึ้นว่าถ้าทำให้มนุษย์ฉลาดขึ้นหรือมีเทคโนโลยีสูงขึ้นก็จะมีโอกาสอยู่รอดไปอีก กระทั่งสามารถกำหนดเส้นทางวิวัฒนาการของตนเองได้

จากการพัฒนาทางการผลิต การใช้เครื่องจักรกล การนำเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ให้พลังงานสูง สร้างความมั่นใจให้แก่มนุษย์ในการกำหนดชีวิตของตนเอง นักปรัชญาชาวเยอรมัน ฟรีดรีช นิทเชอ (1844-1900) สอนเรื่องพ้นมนุษย์ (Overman/Superman)

"ฉันสอนเจ้าเกี่ยวกับลัทธิพ้นมนุษย์ มนุษย์เป็นสิ่งที่จะต้องพิชิต เจ้าได้ทำอะไรเพื่อพิชิตมนุษย์บ้าง ทุกชีวิตจะสร้างบางสิ่งที่เกินเลยชีวิตของตน เจ้าต้องการที่อยู่ในกระแสต่ำของคลื่นใหญ่นี้ กระทั่งกลับเป็นสัตว์ป่าโดยไม่คิดที่จะพิชิตมนุษย์กระนั้นหรือ"

ตั้งแต่ทศวรรษ 1920 มีการเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการคัดเลือกพันธุ์ใหม่ที่ฉลาดและแข็งแรงขึ้น ซึ่งทั้งหมดจบลงอย่างอัปยศพร้อมกับลัทธินาซี หลังจากนั้น แนวคิดพ้นมนุษย์ถูกนำเสนอในนวนิยายวิทยาศาสตร์เป็นส่วนมาก

เทคโนโลยีอีกกลุ่ม ได้แก่ เทคโนโลยีข่าวสารและการสื่อสาร คอมพิวเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ นาโนเทคโนโลยี เทคโนโลยีชีวภาพ และการอัพโหลด ที่ได้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และเข้ามาอยู่ในการดำเนินชีวิตของผู้คน ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ได้ช่วยฟื้นฐานะของลัทธิพ้นมนุษย์ว่าสามารถที่จะแก้ไขจุดอ่อนและความจำกัดของมนุษย์ดังกล่าวได้

จนกระทั่งในปี 1998 ได้มีการจัดตั้งสมาคมชาวลัทธิพ้นมนุษย์โลกขึ้น (The World Transhumanist Association โดยมี นิก บอสตรอม เป็นกำลังสำคัญ (ดูบทความของของ Nick Bostrom ชื่อ A history of Transhumanist Thought ใน nickbostrom.com, 2005)



ภาวะเอกฐานทางเทคโนโลยี

ลัทธิพ้นมนุษย์มีกิจกรรมและแนวคิดในหลายด้าน สะท้อนถึงความสมบูรณ์ของลัทธินี้ ที่สำคัญคือมีการเคลื่อนไหวที่เป็นจริงที่ขับเคลื่อนโดยบรรษัทใหญ่ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาความตาย ความเจ็บไข้ การทำให้ฉลาดขึ้น แข็งแรงขึ้น สวยงามขึ้น ซึ่งทั้งหมดได้เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

ในท่ามกลางการพัฒนาแนวคิดและการปฏิบัตินี้ ได้มีนักวิทยาศาสตร์และนักเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงคือ เวอร์เนอร์ เวนจ์ ได้เสนอความคิดเรื่องภาวะเอกฐานทางเทคโนโลยี (Technological Singularity ปี 1993) ว่าในอีกไม่นานมนุษย์จะสามารถประดิษฐ์เครื่องจักรที่ฉลาดเหนือมนุษย์ขึ้นได้

และยุคแห่งมนุษย์ก็จะสิ้นสุดลง


บางคำวิจารณ์

ฟรานซิส ฟูกุยาม่า ผู้ประพันธ์หนังสือชื่อ ที่สุดแห่งประวัติศาสตร์ เขาได้เขียนหนังสือชื่ออนาคตพ้นมนุษย์ของเรา (Our Posthuman Future เผยแพร่ปี 2002) แสดงความกังวลว่า การปฏิวัติทางเทคโนโลยีชีวภาพจะส่งผลกระทบทางการเมือง นั่นคือแทนที่เทคโนโลยีนี้จะเกิดประโยชน์แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง กลับจะตกอยู่ที่ชนชั้นนำ ทำให้เกิดสงครามทางชนชั้นรุนแรงได้

โดยที่คนรวยจะสามารถเข้าถึงยาและเทคนิคที่ทำให้พวกเขาและลูกหลานของเขาฉลาดกว่า แข็งแรงกว่า มีอายุยืนยาวกว่า ในอีกด้านหนึ่งความรู้ทางประสาทวิทยาและการรับรู้ยังทำให้สามารถควบคุมอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนหมู่มากได้อีก เป็นอันตรายดังที่ได้ชี้ไว้ใน นวนิยาย 1984 ของ จอร์จ ออร์เวลล์ และ "โลกใหม่ที่กล้าหาญ" ของ ออลเดียซ ฮักซเลย์

ลัทธิพ้นมนุษย์กำลังเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของบรรษัททั่วโลก ถ้าหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงใหญ่หลวงจนบรรษัททั้งหลายพากันล้มไป สังคมพ้นมนุษย์ก็น่าจะปรากฏเป็นจริงจนได้

ส่วนที่ว่าจะน่าอยู่หรือไม่ ก็ต้องให้คนรุ่นนั้นเป็นผู้ตัดสินเอง



++

ชุมชนธรรมชาติ : การปฏิวัติจากเบื้องล่าง
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 02 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1646 หน้า 38


อารยธรรมอุตสาหกรรมที่อยู่ในขั้นโลกาภิวัตน์กำลังซวนเซ เนื่องจากสะดุดขาตนเองบ่อย เกิดวิกฤติเศรษฐกิจถี่และรุนแรงขึ้น วิกฤตินี้ยังสัมพันธ์กับวิกฤติอื่นทั้งทางสิ่งแวดล้อมและการเมือง วิกฤติเศรษฐกิจใหญ่ปี 2008 และความยาวนานในการฟื้นตัว

สะท้อนว่าแนวทางมาตรการแก้ไขไม่บังเกิดผลตามคาด เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างสังคมหลังอารยธรรมอุตสาหกรรมกันอย่างกว้างขวางทั้งจากเบื้องล่างและเบื้องบน

มีการกล่าวถึงสังคมหลังอุตสาหกรรมตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เมื่อโลกก้าวสู่ยุคข่าวสาร เกิดการมองด้านดีว่า ต่อไปนี้อุตสาหกรรมแบบโรงงานจะเปิดทางให้แก่ อุตสาหกรรมทางบริการและการเงิน ที่ใช้ความรู้สูง หรืออุตสาหกรรมโรงงานก็ใช้เครื่องจักรแบบอัตโนมัติมากขึ้น บางทีเรียกว่า สังคม/เศรษฐกิจฐานความรู้

แต่การมองแง่ดีนั้นดูจะมีอายุสั้น ที่เรียกว่าเศรษฐกิจฐานความรู้ก็เผชิญกับวิกฤติซ้ำซ้อน และดูจะหนักหน่วงมากกว่าเดิมด้วย เช่น วิกฤติ ดอต.คอม และวิกฤติซับไพรม์หรือสินเชื่อต่ำเกณฑ์ ก็สืบเนื่องจากการใช้การคำนวณขั้นสูงสร้างเครื่องมือทางการเงินที่เรียกว่าอนุพันธ์ขึ้น

ในการสร้างสังคมใหม่โดยการปฏิวัติจากเบื้องล่างนั้นมีการเสนอกันหลากหลาย ในที่นี้จะกล่าวถึงแนวทางหนึ่งที่เรียกว่าชุมชนธรรมชาติ ในประเทศไทยเองก็มีการกล่าวถึง "คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน" หรือ "ชุมชนาธิปไตย" แต่ในทางเป็นจริงกลับเกิดหมู่บ้านเสื้อแดงขึ้นทั่วไป

ผู้เสนอแนวคิดชุมชนธรรมชาติที่จะกล่าวถึงในที่นี้ ผู้แสดงสำคัญ ได้แก่ เดอร์ริก เจนเสน


การปฏิวัติจากเบื้องล่าง
เพื่อแทนที่สังคมอุตสาหกรรมในอดีต

การวิพากษ์ของมาร์กซ์และเองเกลส์ สหายร่วมรบในการสร้างทฤษฎีปฏิวัติสังคมนิยม นับได้ว่าเป็นแบบฉบับที่ยังคงมีอิทธิพลในระดับหนึ่งจนถึงทุกวันนี้ มาร์กซ์ได้อธิบายว่าการที่สังคมทุนนิยมจะถูกแทนที่ด้วยสังคมสังคมนิยมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น โดยบรรยายว่า...

...อุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่บุกเบิกขึ้นในยุคทุนนิยมจะแผ่ซ่านไปตั้งรกรากในทุกแห่งหน เพื่อดูดกินทรัพยากรความมั่งคั่งจากทุกที่ในโลก และดำเนินการขูดรีดการทำงานส่วนเกิน (Surplus Labour) จากคนงาน จนกระทั่งโลกแตกออกเป็น 2 ขั้วได้แก่ ขั้วหนึ่ง มหาเศรษฐีนายทุนเพียงหยิบมือเดียว อีกขั้วหนึ่ง ได้แก่ มวลชนอันไพศาลที่อดอยากยากจน เมื่อถึงเวลานั้นมวลชนคนงานก็จะลุกขึ้นก่อการปฏิวัติ ครั้นแล้ว "ระฆังมรณะของทรัพย์สินเอกชนของนายทุนก็กังวาoขึ้น ผู้ริบทรัพย์จะเป็นผู้ถูกริบทรัพย์" เหตุการณ์นี้บางทีเรียกว่าการริบทรัพย์ผู้ที่ริบทรัพย์ (Expropriation of Expropriator)...

อย่างไรก็ตาม มาร์กซ์ไม่ได้เห็นว่าหลังยุคทุนนิยม สังคมจะเข้าสู่ยุคหิน หากแต่ยิ่งพัฒนาพลังการผลิตสูงขึ้นไปอีก เมื่อการทำงานที่เป็นแบบสังคม สอดคล้องกับระบบถือครองกรรมสิทธิ์ที่เป็นแบบสังคมเช่นกัน สังคมที่เกิดใหม่เป็นการสมาคมอย่างเสรีของผู้ใช้แรงงานที่เสรี ทุกคนเพื่อแต่ละบุคคล และแต่ละบุคคลเพื่อทุกคน

เจนเสนได้รับรู้การปฏิวัติแบบนี้ แต่ดูเหมือนว่าเขามีแนวคิดต่างหากออกไป



ชุมชนธรรมชาติเป็นอย่างไร

ผู้เสนอแนวคิดชุมชนธรรมชาติ (Natural Community) ได้แก่ เดอร์ริก เจนเซน (Derrick Jensen เกิด 1960) นักเขียนและนักเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมชาวอเมริกัน เขียนหนังสือมาราว 15 เล่มและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ งานสำคัญ ได้แก่ "จบการเล่น" (Endgame เผยแพร่ปี 2006) เป็นหนังสือชุดรวม 2 เล่ม

ที่มาของความคิดของเขาอาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

ก) วิชาการสาขาต่างๆ ทั้งทางประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมือง และโดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม

ข) ประสบการณ์ชีวิตของเขาจากครอบครัวที่มีความรุนแรง การฝึกฝนในการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์

ค) ประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมของเขา ซึ่งเขาสรุปว่าได้ผลอย่างจำกัดยิ่ง เพราะว่านักสิ่งแวดล้อมทำตัวเหมือนหมอนาซี ที่ดูแลคนป่วยในค่ายกักกันเชลย ที่จะพยายามรักษาชีวิตคนไข้ไว้สุดความสามารถ ตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้ โดยไม่ตั้งข้อสงสัยว่าการมีค่ายกักกันนั้นชอบด้วยศีลธรรมเพียงใด

แนวคิดชุมชนธรรมชาติเน้นการเป็นอยู่แบบเรียบง่าย ยุติการเป็นอุตสาหกรรม การแบ่งงานกันทำ การมีผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ส่งเสริมการเป็นพันธมิตรของชนพื้นเมือง เพราะว่าชนพื้นเมืองมีวิถีดำเนินชีวิตที่ยั่งยืน ขณะที่ตะวันตกนักล่าอาณานิคมยังชีพจากแผ่นดินที่ขโมยมา

แนวคิดนี้สรุปในถ้อยคำว่า "เราทุกคนเป็นสมาชิกของชุมชนธรรมชาติที่สัมพันธ์ขึ้นต่อกัน ซึ่งรวมทั้งแม่น้ำ ผู้เยาว์วัยและหินผา ความสัมพันธ์นี้กำหนดตัวเรา รักษาเรา สร้างเรา และทำให้เรามีความสุขสำราญ และเมื่อเราถูกแยกให้อยู่โดดเดี่ยวและแยกออกจากกัน ความไม่สบายก็จะขึ้นสู่ระดับความโศกสลด"

เจนเสนย้ำว่าชุมชนธรรมชาติไม่ใช่เป็นเรื่องของระบบนิเวศที่กล่าวกัน เพราะว่าระบบนิเวศเป็นศัพท์ของเครื่องจักร ที่เน้นการนับเป็นจำนวน การทำซ้ำได้ และการมองในมิติของความต้องการ ขาดเลือดเนื้อและชีวิตและความสัมพันธ์ในด้านความทุกข์ความสุข ซึ่งหมายถึงต้องสนองกลับคืนสู่ธรรมชาติด้วย


ข้อเสนอสมมุติฐาน 20 ประการ

งานเขียนของเจนเสนนั้นจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับมนุษย์และไม่ใช่มนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ ดำเนินชีวิตไปด้วยความทุกข์ความสุขในสภาพแวดล้อมธรรมชาติ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจความคิดพื้นฐานเพื่อการถกเถียงและขยายความรู้และการปฏิบัติออกไป ในหนังสือชื่อ "จบการเล่น" เขาจึงได้เสนอสมมุติฐานไว้ 20 ประการ ที่กลั่นจากความรู้ ประสบการณ์และการต่อสู้ของเขา ในที่นี้จะกล่าวถึงบางข้อโดยปรับให้เข้าใจง่ายและความพอเหมาะดังนี้ (ฉบับเต็มอ่านได้จากหนังสือของเขา และในเว็บไซต์ endgamethebook.org) ข้อสมมุติฐาน ได้แก่

ข้อที่ 1 อารยธรรมทั้งหลาย โดยเฉพาะอารยธรรมอุตสาหกรรม ไม่สามารถดำรงอยู่อย่างยั่งยืนได้

ข้อที่ 2 ชุมชนเดิมทั้งหลายจะรักษาทรัพยากรและผืนดินไว้จนสุดชีวิต ผู้ที่ต้องการทรัพยากรนั้นจำต้องทำลายชุมชนเดิมทุกวิถีทาง (นี่คือสงคราม และการสร้างอาณาจักร)

ข้อที่ 3 วิถีชีวิตของอารยธรรมอุตสาหกรรมจะล่มสลายลงอย่างรวดเร็ว โดยปราศจากการต่อต้านและความรุนแรง (ทั้งนี้ เมื่อศูนย์กลางอำนาจล่มสลาย)

ข้อที่ 4 ความรุนแรงที่ชนชั้นบนกระทำต่อชนชั้นล่างซึ่งเกิดขึ้นโดยตลอดถือเป็นสิ่งชอบด้วยเหตุผล ส่วนความรุนแรงที่ชนชั้นล่างกระทำต่อชนชั้นบนซึ่งนานๆ เกิดครั้งหนึ่ง ถือเป็นสิ่งที่คิดไม่ถึง เป็นเรื่องน่าตกใจ สยดสยอง และต้องยกย่องบูชาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ

ข้อที่ 5 ทรัพย์สินของชนชั้นสูงมีมูลค่ามากกว่าชีวิตของชนชั้นล่าง เป็นสิ่งปกติว่าชนชั้นสูงเมื่อแสวงหาความมั่งคั่งและเงินทองจะทำลายชีวิตของชนชั้นล่าง นี่เรียกว่าการผลิต ถ้าหากชนชั้นล่างทำลายทรัพย์สินของชนชั้นบน ชนชั้นบนสามารถฆ่าหรือทำลายชีวิตชนชั้นล่างได้ นี่เรียกว่าความยุติธรรม

ข้อที่ 6 อารยธรรมนี้มีแต่เดินหน้าไปสู่การทำลายล้างโลกทั้งโลก ไม่สามารถปฏิรูปให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืนได้

ข้อที่ 8 โลกธรรมชาติสำคัญกว่าระบบเศรษฐกิจ ระบบเศรษฐกิจสังคมใดที่ไม่เอื้อต่อชุมชนตามธรรมชาติ ย่อมเป็นอารยธรรมที่ไม่ยั่งยืน ไร้ศีลธรรมและโง่เขลา

ข้อที่ 9 ประชากรโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างมาก ทั้งโดยแบบรุนแรง เช่นสงครามนิวเคลียร์และการล่มสลายของระบบนิเวศโลก และที่รุนแรงน้อยกว่า ซึ่งผู้คนสามารถเลือกทางหลังได้ โดยการยึดถือครอบครัวและชุมชน

ข้อที่ 10 ในอารยธรรมนี้คนร่ำรวยมีเงินตราและอำนาจมากซึ่งเป็นสิ่งมายา ประชาชนผู้ยากจนก็ยอมรับมายานี้

ข้อที่ 13 เมื่อประชาชนพ้นจากมายาของเงินตราและการปกครองโดยอำนาจแล้ว ก็จะตื่นตัว ก็จะรู้ว่าควรต่อต้านสิ่งเหล่านี้หรือไม่ เวลาใดและอย่างใด

ข้อที่ 16 โลกทางวัตถุเป็นพื้นฐาน เนื่องจากมันเป็นจริงแท้และเป็นบ้านของเรา ต้องคิดพึ่งตนเอง ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์

และข้อที่ 20 ในอารยธรรมนี้ การตัดสินใจทั้งหลายขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่การอยู่ดีของชุมชน นั่นคือการตัดสินใจทางสังคมเหล่านี้ขึ้นอยู่กับว่ามันจะสามารถเพิ่มพูนเงินทอง อำนาจและการควบคุมโลก แก่ผู้ตัดสินใจและผู้อยู่เบื้องหลังเพียงใด

กล่าวโดยรวมก็คืออารยธรรมคือความรุนแรงและไม่ยั่งยืน มนุษย์จำต้องยุติอารยธรรมอุตสาหกรรมเสีย



คำประกาศใหม่

เพื่อสรุปแนวคิดของเจนเสน และแสดงว่าทัศนะของเขาประสานเข้ากับการเคลื่อนไหวของชาวรากหญ้าอย่างไร จะขอนำข้อเขียนของเขาชื่อ "คำประกาศใหม่" (A New Declaration เผยแพร่ใน The Occupied Wall Street Journal, 010212) มีใจความสำคัญว่า โลกที่เป็นจริงทางกายภาพเป็นแหล่งของชีวิตเรากับทั้งชีวิตผู้อื่น ความอ่อนแอของพิภพย่อมส่งผลต่อทุกชีวิตในโลก สุขภาพของโลกจึงสำคัญกว่าระบบเศรษฐกิจสังคมใด ดังนั้นคุณค่าของระบบสังคมใดที่เป็นอันตรายต่อความสามารถในการรองรับชีวิตของโลกย่อมไม่สัมพันธ์กับความเป็นจริงทางกายภาพ

วิถีชีวิตใดที่ตั้งอยู่บนฐานการใช้ทรัพยากรที่หมดไปย่อมไม่ยั่งยืน และวิถีชีวิตใดที่ใช้ทรัพยากรที่ฟื้นใหม่ได้มากเกินไป เช่น ทำให้ปลาแซลมอนคืนสู่แม่น้ำน้อยลงทุกปีก็ไม่ยั่งยืนเช่นกัน ความยั่งยืนย่อมไม่เป็นอันตรายต่อชุมชน ทุ่งหญ้าพื้นเมือง ป่าพื้นเมือง และฝูงปลาพื้นเมือง

โลกที่เป็นจริงพึ่งพากันและกัน ดังนั้น สายน้ำหนึ่งที่ตกอยู่ในอันตรายก็ย่อมส่งผลกระทบต่อมนุษย์และสัตว์อื่นที่อาศัยบนสายน้ำนั้น

ย่อมไม่มีการปล่อยให้ผู้ใดไม่ว่าจะร่ำรวยหรือมีอำนาจเพียงใดในการสร้างพิษร้ายขึ้นโดยไม่มียาแก้

ย่อมไม่มีการปล่อยให้ผู้ใดไม่ว่าจะร่ำรวยหรือมีอำนาจเพียงใดมาทำลายพื้นที่ซึ่งมนุษย์และชีวิตอื่นอาศัยอยู่

ในโลกที่จำกัด เราไม่สามารถสร้างเศรษฐกิจที่วางรากฐานหรือความต้องการการเติบโตตลอดกาล

วิถีชีวิตปัจจุบันไม่ยั่งยืนและจะล่มสลาย ปัญหาเหลือแต่เพียงว่าจะเหลืออะไรในโลกหลังการล่มสลายนี้ มนุษย์และชีวิตอื่นจะต้องเตรียมรับมือกับการล่มสลายเท่าที่จะเป็นไปได้

สุขภาพของเศรษฐกิจท้องถิ่นสำคัญกว่าสุขภาพเศรษฐกิจของโลก

ไม่ควรปล่อยให้เศรษฐกิจโลกทำลายเศรษฐกิจท้องถิ่นและที่ดินอันเป็นพื้นฐาน

บรรษัทไม่ใช่สิ่งมีชีวิต และดังนั้นจึงไม่ใช่คน

บรรษัทไม่ได้เป็นอยู่จริง มันเกิดจากนิยามทางกฎหมาย การกำหนดให้บรรษัทมีความรับผิดชอบอย่างจำกัดเป็นการแยกมนุษย์ออกจากความรับผิดชอบในการกระทำของเขา ดังนั้น จึงต้องยกเลิกการรับผิดชอบอย่างจำกัดของบรรษัท

สุขภาพของมนุษย์และชีวิตอื่นในชุมชนสำคัญกว่ากำไรของบรรษัท

มนุษย์มีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการต่อสู้กับระบบและระบอบปกครองที่เป็นอันตรายต่อตนเอง

เมื่อเราได้เล็งเห็นการทำลายล้างของระบบทุนนิยมและอารยธรรมอุตสาหกรรม ซึ่งทั้งคู่ตั้งอยู่บนฐานของการเปลี่ยนโลกที่มีชีวิตเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไร้ชีวิต เราไม่มีทางเลือกอื่น นั่นคือหากไม่ปรารถนาที่จะลงนามประหารตัวและลูกหลานของเราเอง ก็จะต้องออกมาต่อสู้จนสุดกำลังในทุกวิถีทางที่จะล้มล้างระบบทั้งคู่นี้เสีย

ถ้าหากขบวนการที่เจนเสนสนับสนุนและร่วมขับเคลื่อนสามารถปฏิบัติการได้สำเร็จ ก็อาจแสดงว่าระบบทุนเป็นระบบที่สามารถสนองวัตถุมากที่สุดให้แก่คนหมู่มากที่สุดเท่าที่มีมา เพียงแต่ว่ามันไม่ยั่งยืน



.