http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-21

การป้องกันเมือง : จากภัยธรรมชาติถึงภัยก่อการร้าย โดย สุรชาติ บำรุงสุข

.

การป้องกันเมือง : จากภัยธรรมชาติถึงภัยก่อการร้าย
โดย สุรชาติ บำรุงสุข คอลัมน์ ยุทธบทความ
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1648 หน้า 38


"ความมั่นคงคือความปลอดภัยทางกายภาพ จากการถูกผู้อื่นคุกคามด้วยเครื่องมือทางทหาร
แม้แนวคิดนี้จะดูเก่า แต่แนวคิดอื่นๆ ด้านความมั่นคงที่ใช้ในปัจจุบันก็ถือว่า
ความปลอดภัยทางกายภาพยังคงเป็นประเด็นสำคัญ"
Patrick M. Morgan
International Security (2006)


ภารกิจสำคัญของนักความมั่นคงก็คือ การประเมินเป้าหมายการโจมตีของข้าศึกว่า จะเกิดขึ้นที่ไหน อย่างไร และเมื่อใด ซึ่งว่าที่จริงแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะตอบคำถามดังกล่าวให้ได้อย่างถูกต้อง

ดังนั้น สิ่งที่นักความมั่นคงพอจะกระทำได้ในการประเมินเป้าหมายการโจมตีของฝ่ายตรงข้ามก็คือ การกำหนดกรอบของเป้าหมายในลักษณะที่เป็นมหภาค ซึ่งเป็นเป้าหมายที่คาดว่ามีแรงจูงใจให้ข้าศึกกระทำการโจมตีได้ง่าย

และโดยทั่วไปแล้วสิ่งเหล่านี้มักจะมีลักษณะเป็น "เป้าหมายอ่อน" อันหมายถึง เป้าหมายที่ไม่มีความแข็งแรงในการป้องกันการโจมตี หรือเป้าหมายที่การระวังป้องกันตนเองกระทำได้ยาก

ในสถานการณ์ความมั่นคงร่วมสมัย เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า ความเป็นเมืองสมัยใหม่นั้นเป็นเป้าหมายอ่อนในตัวเองเป็นอย่างยิ่ง ฉะนั้น เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในการป้องกันเมือง จึงมีการสร้างแนวคิดใหม่รองรับระบบต่างๆ ที่อาจเป็นเป้าหมายของการโจมตีเมือง

และในอีกด้านหนึ่งไม่ใช่เพียงการป้องกันเมืองจากการก่อการร้ายเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงการคุ้มครองเมืองจากภัยธรรมชาติอีกด้วย

ซึ่งระบบต่างๆ เรียกโดยรวมว่า "โครงสร้างพื้นฐานแห่งชาติที่มีความสำคัญ" หรือ "National Critical Infrastructure" (NCI)



โครงสร้างพื้นฐานแห่งชาติที่มีความสำคัญหมายถึงภาคส่วนที่สำคัญของสังคมสมัยใหม่ ซึ่งส่วนต่างๆ เหล่านี้เป็นกลไกในรูปแบบหลากหลายที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ และทั้งยังมีความสำคัญต่อสังคมและระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และภาคส่วนของสังคมเหล่านี้มักจะต้องพึ่งพาระบบควบคุมที่ใช้ซอฟต์แวร์เป็นพื้นฐาน ในการทำให้กิจกรรมในชีวิตประจำวันสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องและไม่ติดขัด จนกลายเป็นความเสียหายทั้งในด้านความมั่นคง หรือความเสียหายในทางเศรษฐกิจ และตลอดรวมถึงความเสียหายในทางสังคมด้วย

ฉะนั้น หากกล่าวในอีกด้านหนึ่ง โครงสร้างพื้นฐานแห่งชาติที่มีความสำคัญก็คือ การกำหนดว่ากิจกรรมใดที่มีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของสังคมและระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมีความหมายถึงกิจกรรมดังต่อไปนี้

1) การผลิตและแจกจ่ายกระแสไฟฟ้า

2) ระบบโทรคมนาคม

3) ระบบการผลิตน้ำประปา

4) ระบบงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและแจกจ่ายอาหาร

5) ระบบงานด้านพลังงาน

6) ระบบสาธารณสุข

7) ระบบขนส่ง ซึ่งรวมทั้งการขนส่งพลังงาน รถไฟและการท่าอากาศยาน

8) การให้บริการด้านการเงิน

9) การให้บริการด้านความปลอดภัยสาธารณะ ได้แก่ งานด้านตำรวจและทหาร


รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ได้ให้นิยามโครงสร้างพื้นฐานแห่งชาติที่มีความสำคัญดังปรากฏอยู่ในเอกสารของกระทรวงความมั่นคงภายใน (Department of Homeland Security) เรื่อง "National Strategy for Homeland Security" ซึ่งออกเผยแพร่ในเดือนกรกฎาคม 2002 ว่าหมายถึง ระบบและทรัพย์สิน ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปที่เป็นกายภาพหรืออยู่ในลักษณะที่เป็น virtual และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสหรัฐอเมริกา

เพราะหากสิ่งเหล่านี้ถูกลดทอนขีดความสามารถหรือถูกทำลายลง ก็จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อความมั่นคงแห่งชาติ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และความปลอดภัยของสาธารณะ

ซึ่งในการนี้กระทรวงความมั่นคงภายในของสหรัฐ ได้จำแนกกิจกรรมและความรับผิดชอบของกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวไว้ 13 ประการคือ

1) กิจกรรมด้านการเกษตร (กระทรวงเกษตร)

2) กิจกรรมด้านอาหาร (กระทรวงเกษตร, กระทรวงสาธารณสุข)

3) กิจกรรมด้านบริหารน้ำ (สำนักงานพิทักษ์ทรัพยากร)

4) กิจกรรมด้านสาธารณสุข (กระทรวงสาธารณสุข)

5) กิจกรรมด้านบริหารฉุกเฉิน (กระทรวงความมั่นคงภายใน)

6) กิจกรรมของรัฐบาล (กระทรวงความมั่นคงภายใน)

7) กิจกรรมด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (กระทรวงกลาโหม)

8) กิจกรรมด้านสารสนเทศและโทรคมนาคม (กระทรวงความมั่นคงภายใน)

9) กิจกรรมด้านพลังงาน (กระทรวงพลังงาน)

10) กิจกรรมด้านการขนส่ง (กระทรวงความมั่นคงภายใน)

11) กิจกรรมด้านการธนาคารและการเงิน (กระทรวงการคลัง)

12) กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเคมีและวัตถุมีพิษ (กระทรวงความมั่นคงภายใน)

13) กิจกรรมด้านการขนส่งทางน้ำ และการไปรษณีย์ (กระทรวงความมั่นคงภายใน)

อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อมากระทรวงความมั่นคงภายในได้มีการขยายคำจำกัดความของกิจกรรมที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานแห่งชาติที่มีความสำคัญ โดยให้ครอบคลุมกิจกรรมต่างๆ รวม 17 ประเภท ดังต่อไปนี้คือ

1) กิจกรรมของรัฐบาล

2) กิจกรรมด้านการทหาร/การป้องกันประเทศ

3) กิจกรรมด้านสาธารณสุข

4) กิจกรรมด้านสวัสดิการสังคม

5) กิจกรรมทางด้านการแจกจ่ายข่าวสาร

6) กิจกรรมด้านการธนาคารและการเงิน

7) กิจกรรมด้านการศึกษา

8) กิจกรรมด้านอุตสาหกรรม

9) กิจกรรมด้านพลังงาน (รวมถึงเรื่องของพลังงานนิวเคลียร์ด้วย)

10) กิจกรรมด้านน้ำมัน

11) กิจกรรมด้านการเกษตร

12) กิจกรรมด้านการผลิตอาหาร

13) กิจกรรมด้านการขนส่ง

14) กิจกรรมในการผลิตน้ำประปา

15) ระบบโทรคมนาคมและการสื่อสาร

16) งานด้านการป้องกันพลเรือน

17) การให้บริการสาธารณะ


รัฐบาลอังกฤษเองก็ได้มีการใช้คำว่า "โครงสร้างพื้นฐานแห่งชาติที่มีความสำคัญ" เช่นเดียวกับรัฐบาลอเมริกัน โดยได้นิยามว่าหมายถึง ทรัพย์สิน การให้บริการ และระบบที่สนับสนุนต่อเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ดังนั้น หากเกิดอะไรขึ้นกับสิ่งเหล่านี้อาจจะก่อให้เกิดผล 4 ประการคือ ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก มีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ มีผลร้ายในทางสังคมอย่างมาก โดยเฉพาะในระดับของชุมชน และมีผลกระทบต่อสถานะและความมั่นคงของรัฐบาล

รัฐบาลอังกฤษได้กำหนดกิจกรรมต่างๆ 10 ประเภทดังต่อไปนี้ ว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญ ได้แก่

1) กิจกรรมด้านการติดต่อสื่อสาร

2) กิจกรรมด้านการให้บริการฉุกเฉิน

3) กิจกรรมด้านพลังงาน

4) กิจกรรมด้านการเงิน

5) กิจกรรมด้านอาหาร

6) กิจกรรมของรัฐบาลและการให้บริการสาธารณะ

7) กิจกรรมด้านสาธารณสุข

8) กิจกรรมด้านความปลอดภัยสาธารณะ

9) กิจกรรมด้านการขนส่ง

10) กิจกรรมด้านน้ำ

ในการนี้ทั้งรัฐบาลสหรัฐและอังกฤษมีความเห็นร่วมกันว่า กิจกรรมทั้งหลายเหล่านี้ต้องพึ่งพิงอย่างมากกับระบบคอมพิวเตอร์และระบบสารสนเทศสมัยใหม่

ดังนั้น หน่วยงานความมั่นคงของประเทศจะต้องเห็นความสำคัญของการจัดทำระบบป้องกันการโจมตีเครือข่ายสารสนเทศ เพราะเครือข่ายเช่นนี้มีความเปราะบางในตัวเองอยู่มาก ทั้งในเรื่องของความล้มเหลวที่อาจจะเกิดจากปัญหาทางเทคนิคและปัญหาเทคโนโลยี หรืออาจจะเกิดจากการกระทำที่ผิดพลาดของมนุษย์เอง ซึ่งการกระทำเช่นนี้อาจจะอยู่ในลักษณะของความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ได้

และหากเกิดปัญหากับเครือข่ายเช่นนี้แล้ว ก็จะส่งผลอย่างมากกับความเป็นไปของเศรษฐกิจและสังคม เพราะในโลกร่วมสมัยนั้น เครือข่ายสารสนเทศสมัยใหม่เปรียบเสมือน "ระบบประสาท" ของกิจกรรมต่างๆ ในสังคม

ดังนั้น จึงไม่แปลกอะไรนักที่จะกล่าวว่า การป้องกันระบบสารสนเทศในโลกร่วมสมัยเป็นประเด็นปัญหาความมั่นคงที่สำคัญยิ่งสำหรับรัฐบาลของประเทศต่างๆ ทั่วโลก หรืออีกนัยหนึ่งก็คือมีความจำเป็นในการสร้างแนวคิดเรื่อง "ความมั่นคงด้านสารสนเทศ" เพื่อเป็นหลักประกันของการไหลของข่าวสารในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงเรื่องของการก่อการร้ายเท่านั้น หากแต่ยังอาจเกิดจากปัญหาภัยธรรมชาติอีกด้วย



สิ่งที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น ชี้ให้เห็นถึงการปรับแนวคิดในการเตรียมรับมือกับปัญหาของภัยคุกคามในโลกร่วมสมัย ซึ่งโดยทั่วไปมักจะมองในบริบทของความรุนแรงจากการก่อการร้าย แต่ก็ละเลยไม่ได้ถึงปัญหาที่เกิดจากการคุกคามของธรรมชาติต่อระบบของเมือง หรือ "โครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญ"

ดังนั้น นักความมั่นคงไม่ควรมองหาเป้าหมายแบบจุลภาค หรือการพิจารณาเป้าหมายแคบๆ เฉพาะส่วน

หากแต่การออกแบบระบบป้องกันแบบมหภาคเช่นนี้ถือเป็นภารกิจที่สำคัญของรัฐบาลทั่วโลก

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การป้องกันโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญจากภัยที่เกิดจากการกระทำทั้งของมนุษย์และของธรรมชาติ จะเป็นหลักประกันของความปลอดภัยสาธารณะ การประกันเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ และความต่อเนื่องในการดำเนินชีวิตของประชาชนในสังคมนั่นเอง!



.