http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-14

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การต่อสู้เพิ่งจะเริ่มต้น!

.
บทความของปีที่แล้ว 2554 - คนเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทย โดย รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์: ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การต่อสู้เพิ่งจะเริ่มต้น!
ใน http://prachatai.com/journal/2012/03/39497 . . Sat, 2012-03-03 17:58


ในที่สุดร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ทั้งสามฉบับก็ผ่านการเห็นชอบในวาระแรกจากที่ประชุมรัฐสภาด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2555 จุดประสงค์ของการแก้ไขนี้ก็คือ ให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

แต่ยังมีข้อถกเถียงอยู่ว่า การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะเป็นการ “แก้ไข” หรือเปลี่ยนแปลงไปจากรัฐธรรมนูญ 2550 ในประเด็นใดบ้าง แม้รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยได้ยืนยันหลายครั้งแล้วว่า จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในหมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ ถึงกระนั้น ก็ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่อาจถกเถียงได้ เช่น หมวด 10 ว่าด้วยศาล และหมวด 11 ว่าด้วย องค์กรตามรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญคือ กติกากลางของสังคมที่ระบุการจัดสรรปันส่วนอำนาจระหว่างกลุ่มอำนาจต่าง ๆ ในสังคมและวิธีการจัดการความขัดแย้งอย่างสันติ หากการจัดสรรปันส่วนนั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลงด้วยเหตุต่าง ๆ ฉะนั้น รัฐธรรมนูญจึงมิใช่เอกสารทางกฎหมายที่ลอยอยู่ในสุญญากาศ หากแต่ถูกกำหนดจากดุลกำลังทางการเมืองที่ครอบงำอยู่ในขณะนั้น

การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีเนื้อหาที่ “เป็นประชาธิปไตย” ยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มากน้อยเพียงใดจึงย่อมถูกกำหนดจากดุลกำลังในการเมืองไทยที่เป็นอยู่ขณะนี้


รัฐธรรมนูญ 2550 มีกำเนิดมาจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในเงื่อนไขที่ฝ่ายเผด็จการกุมอำนาจได้อย่างเด็ดขาด และไม่ต้องการซ้ำรอยกับรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เปิดช่องให้พลังที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งก็คือ พรรคการเมืองและนักการเมืองมีบทบาทเป็นอิสระนอกเหนือการควบคุมของพวกเขา รัฐธรรมนูญ 2550 จึงมีลักษณะเผด็จการแฝงเร้นที่เลวร้ายที่สุดฉบับหนึ่งเท่าที่เคยมีมาคือ โครงสร้างที่ให้พวกเผด็จการแฝงเร้นใช้อำนาจตุลาการ ผ่านสมาชิกวุฒิสภาประเภทสรรหา องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรศาล มาควบคุมและกำหนดความเป็นความตายของนักการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง

แต่เมื่อฝ่ายประชาชนและพรรคฝ่ายประชาธิปไตยดำเนินการต่อสู้ขับเคี่ยวกับเผด็จการ ได้เติบใหญ่เข้มแข็งขึ้น ผ่านการสังหารหมู่เมื่อเดือนมีนาคม-เมษายน 2553 และชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ดุลกำลังทางการเมืองก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ฝ่ายเผด็จการแฝงเร้นประสบความพ่ายแพ้ทางยุทธศาสาตร์ที่สำคัญ และจำต้องยอมประนีประนอมชั่วคราวเพื่อรอคอยโอกาส

นี่เป็นสภาวะของการพักรบชั่วคราวที่ฝ่ายประชาธิปไตยยังไม่ได้ชัยชนะโดยเด็ดขาด ขณะที่ฝ่ายเผด็จการแฝงเร้นก็ยังคงกุมอำนาจรัฐที่แท้จริงไว้อย่างมั่นคง ฉะนั้น แม้ประชาชนจะตั้งความหวังไว้สูงเพียงใด รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็จะยังไม่อาจเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงได้ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะเป็นเพียง “ฉบับระยะผ่าน” เท่านั้นจนกว่า ดุลกำลังในอำนาจรัฐที่แท้จริงจะเปลี่ยนแปลงในขั้นรากฐาน

ถึงกระนั้น ฝ่ายประชาธิปไตยอาจคาดหวังประโยชน์จากการเคลื่อนไหวร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ในสองระดับ


ในระดับแรก ฝ่ายประชาชนอาจใช้โอกาสนี้ดำเนินการรุกทางความคิด เสนอประเด็นปฏิรูปรัฐธรรมนูญที่แหลมคม โดยมุ่งเน้นไปที่เครือข่ายอำมาตยาธิปไตยคือ กองทัพ สมาชิกวุฒิสภาสรรหา องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรศาล

รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยนั้นมีข้อจำกัดในการแสดงท่าทีต่อประเด็นรูปธรรมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในหมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ แต่ประชาชนย่อมสามารถแสดงความคิดเห็นและโต้แย้งได้ภายในกรอบของกฎหมายที่มีอยู่ทั้งในเวทีสาธารณะและเวทีสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยเรียนรู้จากประสบการณ์ของคณะนิติราษฎร์ในกรณีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ซึ่งแสดงให้เห็นแล้วว่า การต่อสู้ทางความคิดประชาธิปไตยนั้นสามารถก่อผลสะเทือนได้อย่างกว้างขวาง และเป็นแนวรบที่ฝ่ายประชาชนมีความเหนือกว่าอย่างชัดเจน

ประเด็นการต่อสู้ทางความคิดที่สำคัญในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้คือ การวิพากษ์เครือข่ายอำมาตยาธิปไตย อันได้แก่ กองทัพ สมาชิกวุฒิสภาแต่งตั้ง องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และศาล ซึ่งเผด็จการใช้ควบคุมและบ่อนทำลายพลังที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน นี่เป็นการรุกที่สำคัญ เพื่อบั่นทอนการครอบงำทางอุดมการณ์ของพวกเผด็จการแฝงเร้นในระยะยาว

ฝ่ายประชาธิปไตยเองก็มีอาวุธทางความคิดเหล่านี้อยู่ในมือแล้วระดับหนึ่ง จากผลงานของนักวิชาการทางกฎหมายที่เรียกว่า “คณะนิติราษฎร์” ซึ่งเสนอออกมาอย่างเป็นระบบในเรื่อง “การล้างผลพวงของรัฐประหาร” ครอบคลุมทั้งการลบล้างผลทางกฎหมายของรัฐประหาร 19 กันยายน และการเสนอหลักการของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในกรอบของรัฐธรรมนูญสามฉบับของคณะราษฎร ฝ่ายประชาธิปไตยจึงมีความพร้อมระดับหนึ่งที่จะดำเนินการต่อสู้ทางความคิดภายใต้การเคลื่อนไหวร่างรัฐธรรมนูญ


ส่วนประโยชน์ระดับสองที่ฝ่ายประชาธิปไตยอาจคาดหวังจากการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ก็คือ การลดทอนอำนาจของเผด็จการที่อยู่เหนือพลังจากการเลือกตั้งลงไประดับหนึ่ง และเป็นเป้าหมายที่อาจบรรลุได้ภายใต้ดุลกำลังสองฝ่ายปัจจุบัน นี่ยังเป็นเป้าหมายเฉพาะหน้าของรัฐบาล พรรคเพื่อไทย และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งก็คือ การรื้อฟื้นดุลอำนาจในรัฐธรรมนูญ 2540 โดยให้สมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ปฏิรูปศาลและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และศาลปกครอง เป็นต้น มิให้อำนาจตุลาการครอบงำเหนืออำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติอีกต่อไป เพื่อลดโอกาสที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะต้องซ้ำรอยชะตากรรมของรัฐบาลพรรคพลังประชาชน

กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงเป็นโอกาสสำคัญยิ่งสำหรับฝ่ายประชาชนที่จะศึกษา อภิปราย ยกระดับความรับรู้ และต่อสู้ทางความคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐธรรมนูญกับประชาธิปไตย ช่วงชิงให้ได้รัฐธรรมนูญที่ลดทอนอำนาจบทบาทของเครือข่ายอำมาตยาธิปไตยที่เป็นมือเท้าของเผด็จการลงระดับหนึ่ง ตระเตรียมพร้อมรับกับศึกใหญ่ เพื่อบรรลุประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยอยู่ในมือของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง



+++

บทความของปีที่แล้ว 2554

พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์:คนเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทย
จากเวบบอร์ด บ้านราษฎร์ โพสต์โดย suri http://board.banrasdr.com/showthread.php?tid=33717 . . 08-20-2011, 12:46 AM


คนเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทย
โดย รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์
19 สิงหาคม 2554


1. เผด็จการมุ่งตอกลิ่มคนเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทย

การที่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี และสามารถจัดตั้งคณะรัฐบาลผสมได้สำเร็จ ถือเป็นชัยชนะทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่งของฝ่ายประชาธิปไตย และเป็นการถดถอยที่เกินความคาดหมายของฝ่ายเผด็จการ

ชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้นอกจากอาศัยพลังการนำที่ขาดเสียมิได้ของทักษิณ ชินวัตรและยิ่งลักษณ์ ชินวัตรแล้ว ที่สำคัญยังเป็นผลจากการทำงานอย่างหนักของคนเสื้อแดงหลายล้านคนทั่วประเทศที่เคลื่อนไหวรณรงค์สนับสนุนพรรคเพื่อไทยอย่างทุ่มเทชีวิต

ฝ่ายเผด็จการตระหนักแล้วว่า แนวร่วมคนเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทยคือปัจจัยชี้ขาดที่ทำให้พรรคเพื่อไทยฆ่าไม่ตาย ทำลายไม่หมด ตราบใดที่แนวร่วมนี้ยังคงอยู่และเข้มแข็ง ฝ่ายเผด็จการจะไม่มีวันได้ชัยชนะในเวทีการเลือกตั้งภายใต้เสื้อคลุมรัฐสภา

ฉะนั้น ยุทธศาสตร์ประการหนึ่งของฝ่ายเผด็จการในการทำลายขบวนประชาธิปไตยคือ ต้องทำลายแนวร่วมคนเสื้อแดง-พรรคเพื่อไทย


ในระหว่างการคัดสรรบุคคลเข้าสู่ฝ่ายบริหาร ได้มีความสับสนถึงบทบาทของขบวนคนเสื้อแดง แกนนำนปช. กับพรรคเพื่อไทย
เกิดการถกเถียงและความเข้าใจผิดในหมู่คนเสื้อแดงและแกนนำนปช.บางคนที่มีต่อพรรคเพื่อไทย เปิดช่องให้ฝ่ายเผด็จการใช้สื่อมวลชนในมือและสายลับบนสื่อออนไลน์ ปล่อยข่าวลือ สร้างข่าวเท็จ ยุแหย่ตอกลิ่มเพื่อให้เกิดความแตกแยกระหว่างคนเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทย

ในการนี้ คนเสื้อแดงต้องหนักแน่น มีสติ ยึดภาพรวมทั้งหมดของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นที่ตั้ง มองทะลุภาพลวงตาของการเลือกตั้งและเสื้อคลุมรัฐสภา ให้เห็นถึงเนื้อในที่ยังเป็นระบอบเผด็จการปัจจุบัน มุ่งหน้าไปให้ถึงเป้าหมายประชาธิปไตยที่แท้จริงในขั้นสุดท้าย จะต้องไม่ตกเป็นเหยื่อการยุแหย่และสงครามจิตวิทยาของฝ่ายเผด็จการอย่างเด็ดขาด

คนเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทยนั้นต้องการซึ่งกันและกัน ขาดจากกันมิได้ในการต่อสู้เพื่อไปบรรลุประชาธิปไตย พรรคเพื่อไทยที่ปราศจากคนเสื้อแดงจะแพ้เลือกตั้ง จะถูกกระบวนการตุลาการและอำนาจทหารทำลายได้โดยง่าย

ส่วนคนเสื้อแดงที่ปราศจากพรรคเพื่อไทยจะอ่อนแอ ไม่มีที่ยืนในการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น ไม่มีกำลังที่จะต่อกรกับเผด็จการในแนวรบรัฐสภาและสนามเลือกตั้ง ไม่มีอาวุธในมือใด ๆ ที่จะสกัดอำนาจในระบบของฝ่ายเผด็จการ

ความแตกแยกระหว่างคนเสื้อแดงกับพรรคเพื่อไทยคือความพ่ายแพ้ของขบวนประชาธิปไตย


2. พรรคเพื่อไทย

พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคการเมืองภายใต้กฎหมายและรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เป็นระบอบเผด็จการแฝงเร้นของพวกจารีตนิยม พรรคเพื่อไทยจึงถูกจำกัดขอบเขตและมัดมือมัดเท้าทั้งในด้านกิจกรรม การเคลื่อนไหวและตัวบุคคลด้วยโซ่ตรวนทางกฎหมายของพวกเผด็จการ

ถึงกระนั้น สนามรบการเลือกตั้งก็เป็นการต่อสู้ที่สำคัญเชิงยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายประชาธิปไตยมีจุดแข็งและมีโอกาสชนะได้มากที่สุด

อีกทั้งเป็นสนามรบที่ฝ่ายเผด็จการจะต้องเผชิญอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ไม่ช้าก็เร็ว เว้นแต่จะหันไปก่อรัฐประหารและปกครองด้วยเผด็จการที่เปิดเผยยาวนาน

ในแนวรบการเลือกตั้ง หน้าที่ของพรรคเพื่อไทยคือ ต้องชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงมากที่สุด จึงจะสามารถจัดตั้งคณะรัฐบาลได้
ในการนี้ พรรคเพื่อไทยต้องโน้มน้าวจูงใจคนจำนวนมากที่สุดให้หันมาลงคะแนนเสียง ในสภาวะปัจจุบัน คนเสื้อแดงยังไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศ ลำพังแต่คะแนนเสียงของคนเสื้อแดงนั้นไม่พอที่จะทำให้พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งได้ ยังต้องอาศัยคะแนนเสียงของประชาชนจำนวนมากที่มิใช่คนเสื้อแดงแต่มีจิตใจที่เป็นธรรม หรือประชาชนทั่วไปที่เบื่อหน่ายความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และคาดหวังการแก้ปัญหาของประเทศจากพรรคเพื่อไทย

ฉะนั้น ในการหาเสียงเลือกตั้ง การออกแบบนโยบาย ไปจนถึงการจัดตั้งคณะรัฐบาลและการคัดสรรรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยจึงต้องคำนึงถึงคะแนนเสียงทั้งหมด มิใช่คะแนนเสียงของคนเสื้อแดงเท่านั้น และรัฐบาลที่จัดตั้งโดยพรรคเพื่อไทยต้องเป็น “รัฐบาลของคนไทยทุกหมู่เหล่า” ที่มุ่งบริหารงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนทั้งประเทศ

ภารกิจของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจึงเป็นการเดินนโยบายสองขาคือ

ด้านหนึ่ง ก็บริหารประเทศ แก้ปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของประชาชนอย่างรีบด่วนและได้ผล เพื่อรักษาความเชื่อมั่นและเพิ่มความนิยมในหมู่ประชาชนส่วนข้างมาก ยึดกุมชัยชนะในสนามรบการเลือกตั้งไว้ให้มั่นเพื่อสู้กับฝ่ายเผด็จการในระยะยาวต่อไป

ในอีกด้านหนึ่ง ก็ต้องดำเนินการต่อสู้ทางประชาธิปไตย เสริมความเข้มแข็งให้กับขบวนคนเสื้อแดง เพื่อเป็นอาวุธในการรับมือและตอบโต้การรุกทำลายของฝ่ายเผด็จการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


ในการนี้ รัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องดำเนินมาตรการรูปธรรมหลายประการ ได้แก่ การปลดปล่อยคนเสื้อแดงหลายร้อยคนที่ถูกคุมขังอยู่ทั่วประเทศ การชดเชยและเยียวยาแก่ประชาชนที่เสียชีวิตและบาดเจ็บในเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 ดำเนินการสอบสวนเปิดเผยความจริงทั้งหมดที่เกี่ยวกับการสังหารหมู่ประชาชนในครั้งนั้น
นำเอาผู้สั่งการฆ่าประชาชนมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม และที่สำคัญคือ เริ่มต้นขั้นตอนการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ เพื่อขจัดเผด็จการ สร้างประชาธิปไตยที่ “อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

แต่ในการปฏิรูปรัฐธรรมนูญนั้น รัฐบาลพรรคเพื่อไทยมิอาจกระทำได้แต่ลำพัง แม้จะชนะเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ แต่คะแนนเสียงในรัฐสภายังก้ำกึ่ง และรัฐบาลก็มีอำนาจแท้จริงที่จำกัด ต้องบริหารงานอยู่ในกรงเล็บของตุลาการและกองทัพที่ฝ่ายเผด็จการอาจใช้เพื่อโค่นล้มรัฐบาลในโอกาสที่เหมาะสม
ขบวนคนเสื้อแดงต้องเรียกร้อง กดดัน และประสานหนุนช่วยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยให้ไปดำเนินการต่อสู้ทางประชาธิปไตยอย่างมีจังหวะก้าวและเด็ดเดี่ยว


3. คนเสื้อแดง แกนนำ นปช.

ในการคัดสรรตัวบุคคลมาเป็นรัฐมนตรีนั้น ไม่มีแกนนำนปช.ได้เข้าสู่ฝ่ายบริหารเลย ทำให้คนเสื้อแดงและแกนนำนปช.บางคนแสดงความไม่พอใจ ด้วยอ้างเหตุว่า การกีดกันคนเสื้อแดงจากฝ่ายบริหารแสดงว่า พรรคเพื่อไทย “ประนีประนอมและมีข้อตกลงลับกับเผด็จการ” หรือ “พรรคเพื่อไทยเห็นคนเสื้อแดงมีภาพพจน์เผาบ้านเผาเมือง จึงต้องกันออกไป” เป็นต้น
แต่ทั้งหมดนี้ ก็เป็นผลจากการเข้าใจผิดของคนเสื้อแดงและแกนนำนปช.บางคนในสาระสำคัญของการเลือกตั้งครั้งนี้
ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยจะกันแกนนำนปช.ออกไปจากฝ่ายบริหารด้วยเหตุผลใดก็ตาม

แต่เมื่อมองจากผลลัพธ์ทางยุทธศาสตร์ของภาพรวมทั้งหมดแล้ว ต้องถือว่า เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง

ประการแรก จุดประสงค์ของการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสส.โดยแกนนำนปช.คือ ต้องการ “สิทธิ์คุ้มครองทางสภา” เพื่อรักษาสถานะการนำขบวนคนเสื้อแดงไว้ได้แม้ในยามคับขัน ดังเช่นที่ จตุพร พรหมพันธุ์ ได้แสดงให้เห็นมาแล้ว แต่การได้เป็น สส.แล้วเข้าไปสู่ตำแหน่งทางบริหารอีกนั้นเป็นการขัดต่อจุดประสงค์นี้โดยตรง เพราะแกนนำนปช.ที่มีตำแหน่งบริหารจะไม่อาจเป็นแกนนำนปช.ได้อีกต่อไป

ประการที่สอง การนำเอาแกนนำนปช.เข้าสู่ฝ่ายบริหารในขณะนี้เป็นการเปิดศึกข้อขัดแย้งที่เผชิญหน้าเร็วเกินไปและโดยไม่จำเป็น คือได้ใจคนเสื้อแดงบางกลุ่มที่ไม่มองภาพใหญ่ แต่เผชิญแรงต่อต้านทั้งจากสื่อมวลชน ชนชั้นกลางในเมืองและฝ่ายเผด็จการทันที

คณะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องการเวลาในการสร้างความเชื่อมั่นในหมู่ประชาชนและสร้างความมั่นคงเข้มแข็งให้กับตนเอง รวมทั้งต้องการเวลาให้คนเสื้อแดงได้ปรับขบวน เพื่อรับมือกับการรุกกลับของฝ่ายเผด็จการ

ประการที่สาม แนวรบนอกสภากับแนวรบในสภานั้น แยกจากกันแต่ก็เดินควบคู่ไปด้วยกัน ขบวนคนเสื้อแดงเป็นกองทัพนอกสภาที่เข้มแข็งและกว้างใหญ่ไพศาล เป็น “ผนังทองแดงกำแพงเหล็ก” ของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรและของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย สองแนวรบ สองกองทัพ มีหน้าที่ต่างกัน แต่ประสานกันไปสู่จุดหมายปลายทางเดียวกันคือ ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง

สำหรับคนเสื้อแดงแล้ว จุดมุ่งหมายของการได้ชัยชนะในการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จไม่ใช่เพื่อให้แกนนำคนเสื้อแดงบางคนได้เป็นรัฐมนตรี แต่เพื่อให้ได้รัฐบาลที่เป็นมิตรกับฝ่ายประชาธิปไตย เปิดช่องให้คนเสื้อแดงได้ปรับขบวน พัฒนาตนเอง ยกระดับความคิดและการจัดตั้ง เสริมความเข้มแข็งและมีความพร้อมยิ่งขึ้น เพื่อเผชิญกับการรุกกลับของฝ่ายเผด็จการที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้

แม้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะมีอำนาจบริหารจำกัด แต่ก็เป็นเงื่อนไขเพียงพอที่ฝ่ายประชาธิปไตยจะได้อาศัยเป็นประโยชน์ ยิ่งฝ่ายประชาธิปไตยขยายตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้น รวมตัวจัดตั้งเป็นระบบมากยิ่งขึ้น ชัยชนะขั้นสุดท้ายของประชาธิปไตยก็ยิ่งใกล้เข้ามา


สิ่งที่ขบวนประชาธิปไตยต้องเร่งกระทำโดยเร็วคือ ขยายจำนวนคนที่ “รู้ความจริง” ให้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ขยายการจัดตั้งในระดับรากฐานให้กว้างขวาง เช่น “หมู่บ้านเสื้อแดง” ในภาคอีสาน และ “บ้านธงแดง” ในภาคเหนือ บนพื้นฐานของภาษาวัฒนธรรมและวิถีชีวิตท้องถิ่นพื้นบ้าน ประสานกับกระบวนประชาธิปไตยระดับรากหญ้า ตลอดจนการรวมกลุ่มเสื้อแดงในภาคกลางและเมืองใหญ่ตามสภาพสังคมวัฒนธรรมแต่ละท้องที่

เร่งขยายผลสะเทือนของประชาธิปไตยไปในหมู่ทหาร ตำรวจและข้าราชการให้มากที่สุด ขยายเครือข่ายสังคมออนไลน์เชื่อมกับเครือข่ายบนดินให้ทั่วถึง จัดตั้งวิทยุชุมชนให้เพิ่มขึ้นครบทุกอำเภอและตำบลทั่วประเทศ จัดตั้งสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเพิ่มขึ้นอีกในประเทศเพื่อนบ้าน ให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค ภาษา และวัฒนธรรมทั่วประเทศ

ทั้งหมดนี้คือการเตรียมพร้อมกองทัพนอกสภา เพื่อรับมือกับการรุกกลับของฝ่ายเผด็จการจารีตนิยมที่จะกระทำต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์อย่างแน่นอน

บัดนี้ ฝ่ายเผด็จการได้ใช้สรรพาวุธที่มีอยู่จนหมดแล้ว พวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะต้องซ้ำรอยเดิมคือ การใช้อันธพาลการเมืองบนท้องถนน ใช้พรรคประชาธิปัตย์ก่อการภายในสภา ทำให้รัฐบาลไม่อาจบริหารงานได้ แล้วใช้ตุลาการในมือมาทำลายรัฐบาลยิ่งลักษณ์

และในที่สุด ถ้าล้มเหลว หนทางสุดท้ายก็คือ รัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีกครั้ง


ทั้งหมดนี้คือการเตรียมพร้อมกองทัพนอกสภา เพื่อรับมือกับการรุกกลับของฝ่ายเผด็จการจารีตนิยมที่จะกระทำต่อรัฐบาลยิ่งลักษณ์อย่างแน่นอน



.