http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-17

"พื้นที่" ที่ถูกปิดของหอศิลป์ กทม./ A SEPARATION โดย คนมองหนัง, นพมาส

.
แพร่ข่าว - ข่าวสั้น TPNews " 18 มี.ค. พบเวทีราษฎร-แม่น้องเกด-จัดรำลึกวีรชนฯ แยกราชประสงค์ เริ่ม 18 น. "

- กิจกรรม "แขวนเสรีภาพ" 18 มีนาคม 2555 (อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา)






* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

"พื้นที่" ที่ถูกปิดของหอศิลป์ กทม.
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก "กระแส"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1648 หน้า 85


ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา "หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร" หรือ "หอศิลป์ กทม." บริเวณสี่แยกปทุมวัน มีบทบาทสำคัญอยู่มิใช่น้อย ในการเปิด "พื้นที่เล็กๆ" ให้แก่ "งานศิลปะ" ซึ่งพยายามส่องสะท้อนหรือนำเสนอภาพแทนอัน "อัปลักษณ์-บิดเบี้ยว-มหัศจรรย์" ของสังคมการเมืองไทยร่วมสมัย

ที่สม่ำเสมอมากที่สุด เห็นจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับงานเทศกาลภาพยนตร์สั้นของมูลนิธิหนังไทย ซึ่งถ่ายทอดผลงานภาพเคลื่อนไหว (บางส่วน) ที่บอกเล่าเรื่องราวว่าด้วยการเมืองไทยอย่างมีพลวัต

ตั้งแต่ยุค "หนังโปรเหลือง ปะทะ หนังต้านรัฐประหาร" "หนังรำคาญทั้งเหลืองและแดง" "หนังเชียร์แดง" หรือ "หนังที่เลือกยืนข้างคนเสื้อแดงผู้ถูกกระทำ" ฯลฯ


โดยส่วนตัว ด้วยฐานะที่เคยทำงานอะไรบางอย่างซึ่งถูกนำไปจัดแสดงในหอศิลป์ (แบบฟลุกๆ) ผมจึงมีประสบการณ์ในการใช้พื้นที่หอศิลป์ กทม. เป็นเครื่องมือ "ยั่วล้อ" หรือ "เล่นหัว" กับ "ข้อห้าม" บางประการของสังคมไทยอยู่ 2-3 ครั้ง

ในฐานะคนเสพงานศิลปะ ช่วงเวลาน่าประทับใจที่สุดที่ผมมีต่อหอศิลป์ กทม. ก็คือ การอ่านบทกวีชื่อ "หญ้าแพรกอมตะ" และ "สถาปนาสถาบันประชาชน" โดย ไม้หนึ่ง ก.กุนที

ซึ่งเกิดขึ้นในงาน "การเมืองในมิติกวีนิพนธ์" จัดโดยกลุ่ม "Thai Poet Society" เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2552 ณ ห้อง Auditorium ของหอศิลป์แห่งนี้

บทกวีทั้งสองชิ้นมีเนื้อหา "รุนแรง" "แหลมคม" "ล่อแหลม" และ "แปลกแยก" จากความคุ้นชินของสังคมไทยมากๆ ในช่วงเวลาดังกล่าว

แต่การอ่านบทกวีของไม้หนึ่งในวันนั้น ก็เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ทาง "การเมืองวัฒนธรรม" ที่สามารถนำมาใช้อธิบายอารมณ์ความรู้สึกโกรธแค้นเดือดดาลของคนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อย ภายหลังเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 ได้เป็นอย่างดี



เดิมทีในวันที่ 18 มีนาคมนี้ "คณะนักเขียนแสงสำนึก" ซึ่งบางส่วนก็เป็นสมาชิกของกลุ่ม "Thai Poet Society" ที่เคยจัดงาน "การเมืองในมติกวีนิพนธ์" เมื่อสามปีก่อน มีกำหนดจัดงานศิลปะ-เสวนาวิชาการชื่อ "แขวนเสรีภาพ" ขึ้นที่หอศิลป์ กทม. แห่งเดิม

งานของพวกเขาประกอบด้วยกิจกรรมมากมาย อาทิ การฉายหนังสั้น, การเปิดตัวแคมเปญ "แขวนเสรีภาพ" และ สนทนาประเด็น "มิตรภาพในท่ามกลางความขัดแย้ง" กับ วรพจน์ พันธุ์พงศ์

รวมทั้งกิจกรรมที่เป็นไฮไลต์อย่าง ปาฐกถาหัวข้อ "ว่าด้วยอำนาจพุทธ ผี เทวดา แต่โบราณ" โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

การบรรยายวิชาการโดย ปราบดา หยุ่น ("สิทธิ เสรีภาพ และ สามัญสำนึกในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ"), ปิยบุตร แสงกนกกุล ("หลักความรับผิด และจิตวิญญาณแห่งกฎหมายในระบอบประชาธิปไตย") และ ยุกติ มุกดาวิจิตร ("สิทธิ เสรีภาพ บนความสับสนปนเป ก่อน-เป็น-หลัง สมัยใหม่")

และวิวาทะกับ ครก.112 ผ่านการอภิปรายหัวข้อ "หลักเอกสิทธิ์ของรัฏฐาธิปัตย์" โดย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล

น่ายินดีที่หอศิลป์ กทม. จะมีโอกาสได้เปิดพื้นที่ของตนเอง ให้แก่เสรีภาพในการแสดงความเห็นอีกครั้งหนึ่ง


แต่แล้ว "ปิยบุตร แสงกนกกุล" นักวิชาการคณะนิติราษฎร์ และหนึ่งในผู้ร่วมอภิปรายของงาน "แขวนเสรีภาพ" กลับแจ้งผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 13 มีนาคม ว่า หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครไม่อนุญาตให้จัดงานดังกล่าวเสียแล้ว

แม้ทางคณะผู้จัดงานคงจะสามารถหาสถานที่มารองรับกิจกรรมของพวกตนได้ในท้ายที่สุด

อย่างไรก็ตาม ยังเป็นเรื่องน่าเสียดายมากๆ อยู่ดี ที่หอศิลป์ กทม. ตัดสินใจปิด "พื้นที่เล็กๆ" ของตัวเอง ไม่ให้มีกิจกรรมการอภิปรายถกเถียงในประเด็นสำคัญ

ทั้งๆ ที่สังคมไทยกำลังต้องการภาวะเปิดกว้างสำหรับความคิดเห็นอันแตกต่างหลากหลาย

ช่วงเวลาที่ผมประทับใจหอศิลป์แห่งนี้มากที่สุด เกิดขึ้นในบรรยากาศการอ่านบทกวีการเมือง ซึ่งท้าทายเพดานความรับรู้ของสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง

ดังนั้น จึงขอปิดท้ายบทความชิ้นนี้ด้วยกลอนของ "เกษียร เตชะพีระ" ที่เขียนขึ้นภายหลังมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จัดงาน "แขวนเสรีภาพ" ที่หอศิลป์ กทม. ว่า

"หากหอศิลป์สิ้นสมองจะมองต่าง
ถึงร้อยพันข้ออ้างก็เหลวไหล
ล้อมรั้วรอบขอบชิดปิดหัวใจ
จะเหลือศิลป์ที่ไหนในหอคอย"



++

A SEPARATION "หนังยอดเยี่ยมจากอิหร่าน"
โดย นพมาส แววหงส์ คอลัมน์ ภาพยนตร์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1648 หน้า 87


กำกับการแสดง Asghar Farhadi
นำแสดง Peyman Moadi
Leila Hatami
Sareh Bayat
Shahab Hosseini
Sarina Farhadi


A Separation ได้รับยกย่องระดับอินเตอร์จากหลายสถาบัน รวมทั้งเพิ่งได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมภาษาต่างประเทศที่ประกาศผลไปเมื่อสัปดาห์เศษๆ ที่ผ่านมาด้วย แถมยังเป็นหนึ่งในห้าที่เข้าชิงในสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิม ซึ่งเขียนโดยตัวผู้กำกับฯ เอง คือ อัสการ์ ฟาร์ฮาดี

ซึ่งแม้จะมีชื่อเสียงในระดับอินเตอร์อยู่บ้างแล้ว แต่ก็ต้องถือว่าไม่ธรรมดาเลยสำหรับผู้เขียนบทหนังจากประเทศที่ไม่เป็นมิตรกับสหรัฐอเมริกาเสียด้วยซ้ำที่จะเข้าไปถึงรอบสุดท้ายของบทภาพยนตร์ได้

ถ้านั่นยังไม่เป็นแรงจูงใจพอให้ไปชม (ขณะนี้มีฉายอยู่แห่งเดียวที่โรงหนังเฮาส์ อาร์ซีเอ) หรือหามาชมในเร็ววัน เพราะหลายคนมักเหมาเอาว่าหนังรางวัลเป็นหนังอาร์ตสุดขั้วหรือเนื้อหาหนักเกินกว่าที่คนทั่วไปจะดูรู้เรื่อง...

ถ้าคุณกำลังคิดอย่างนั้นอยู่ละก็ ขอบอกว่าหนังเรื่องนี้เล่าเรื่องราวที่ชวนติดตามอย่างที่คนดูแทบจะแขม่วท้องด้วยใจระทึก ใจจดใจจ่อว่า อะไรจะเกิดขึ้นต่อไปจนแทบไม่อยากกะพริบตาทีเดียว

รับรองว่าไม่มีใครที่ดูแล้วจะรู้สึกไม่แคร์กับตัวละครและเรื่องราวตรงหน้าที่ถักทออย่างเข้มข้นเร้าอารมณ์เหลือเกิน


A Separation เล่าเรื่องราวชีวิตคนธรรมดาในอิหร่านสมัยปัจจุบัน นาเดอร์ (เพย์มัน โมอาดี) และซิมิน (เลลา ฮาตามี) เป็นสามีภรรยาหนุ่มสาวชนชั้นกลางที่กำลังจะแยกทางกัน ทั้งสองไปยื่นเรื่องขอหย่าที่ศาล ด้วยเหตุผลว่าความคิดเห็นไม่ตรงกันในเรื่องสำคัญที่จะตัดสินอนาคตของครอบครัว

นั่นคือ ซิมินต้องการจะสร้างโอกาสทางการศึกษาและอนาคตที่ดีกว่าให้แก่ลูกสาวคนเดียววัยสิบเอ็ดปีชื่อ เทอร์เมห์ (ซารินา ฟาร์ฮาดี) โดยอพยพครอบครัวไปอยู่ต่างประเทศ (หนังไม่ได้บอกว่าประเทศไหน แต่น่าจะเป็นประเทศในโลกตะวันตก)

ขณะที่นาเดอร์ยังไม่พร้อมสำหรับเรื่องนี้ เนื่องจากยังมีพ่อที่เป็นโรคอัลไซเมอร์ให้ต้องดูแล

ในตอนต้นเรื่อง ซิมินอ้างว่า "ถึงยังไง พ่อคุณก็ไม่รู้จักคุณอยู่แล้วละ" นาเดอร์ก็สวนกลับว่า "แต่ผมรู้จักพ่อนี่"

เป็นเรื่องเจ็บปวดมากสำหรับคนที่มีญาติสนิทเป็นอัลไซเมอร์ ซึ่งไม่ใช่แค่มีอาการแค่หลงๆ ลืมๆ แต่สมองเสื่อมถึงขั้นจำลูกหลานหรือคู่แต่งงานของตัวเองยังไม่ได้

ขอนอกเรื่องสักหน่อย ยังจำเรื่องน่าซาบซึ้งในอีเมลฉบับหนึ่งซึ่งส่งต่อกันมาหลายทอด เป็นเรื่องเล่าของพยาบาลคนหนึ่ง เขียนด้วยถ้อยคำภาษาที่งดงามมาก ขอเล่าอย่างรวบรัดตัดความว่า สายวันหนึ่งพยาบาลคนนี้ทำแผลให้ชายสูงอายุคนหนึ่งที่มีท่าทางกระวนกระวาย เลยชวนคุยว่าจะรีบไปไหนหรือ เขาตอบว่าไปกินข้าวกลางวันกับภรรยาที่เนิร์สซิงโฮม เธอถามว่า "ภรรยาคุณคงห่วงละสิคะ ถ้าคุณไปกินข้าวด้วยไม่ทัน" เขาตอบว่า "ไม่ห่วงหรอก เธอไม่รู้จักผมแล้วละ" เธอเลยถามกลับว่า "อ้าว แล้วทำไมคุณต้องกระวนกระวายรีบไปนักล่ะ ถึงยังไงเธอก็ไม่รู้จักคุณอยู่ดี" เขาตอบว่า "แต่ผมรู้จักเธอนี่" อ่านเรื่องนี้แล้วน้ำตาทะลักเลยเชียวละ

กลับมาถึงหนังใหม่

เมื่อตกลงกันไม่ได้ ซิมินก็กลับไปอยู่บ้านพ่อแม่ ส่วนลูกสาวยังรั้งรออยู่กับพ่อและปู่ และนาเดอร์จำเป็นต้องจ้างคนมาดูแลพ่อระหว่างที่เขาออกไปทำงานและลูกสาวออกไปเรียนหนังสือ

ซิมินแนะนำราเซียห์ (ซาเรห์ บายัต) โดยได้รับคำแนะนำตัวจากคนรู้จักให้มาทำงานเป็นแม่บ้านให้นาเดอร์ ราเซียห์มีลูกสาวเล็กๆ ตามมาด้วย และยังอุ้มท้องลูกไว้อีกคน เธอจำเป็นต้องหางานทำเพื่อหาเงินมาช่วยครอบครัว เนื่องจากสามีตกงานและมีเจ้าหนี้รุมตามทวงหนี้อยู่

ราเซียห์เป็นหญิงมุสลิมที่เคร่งศาสนามาก ดังนั้น วันแรกที่มาทำงาน เธอก็ต้องเจอข้อห้ามที่เป็นบัญญัติทางศาสนา เธอต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าให้ชายชราที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

ความจำเป็นด้านการเงินทำให้เธอยังต้องมาทำงานที่บ้านนาเดอร์อีกหลายวันต่อมา โดยที่สามีเธอไม่ได้รับรู้เลย

วันหนึ่ง นาเดอร์กลับบ้านมาพบว่าพ่อเขาพลัดตกจากเตียง และมือถูกผูกติดอยู่กับหัวเตียง โดยที่ราเซียห์ไม่อยู่ด้วย และเมื่อราเซียห์กลับมาโดยไม่ได้อธิบายว่าออกไปไหนมา นาเดอร์โกรธมากจนไล่เธอออกทันที และปฏิเสธจะจ่ายค่าจ้างให้เธอ เพราะพบว่าเงินในห้องหายไปจำนวนหนึ่ง

ราเซียห์ปฏิเสธว่าไม่ได้เอาเงินไป และเรียกร้องค่าจ้างจนทะเลาะกันใหญ่ นาเดอร์ผลักเธอออกจากประตูบ้านตกบันได ราเซียห์แท้งลูก และนาเดอร์ถูกกล่าวหาว่าฆ่าเด็กในท้องของเธอ

ตัวละครทุกตัวในเรื่องบ้างก็ไม่ได้พูดความจริง บ้างก็เก็บงำบางอย่างไว้ ไม่ยอมพูดออกมาจนหมดเปลือก ทว่า ไม่มีใครเป็นคนเลวร้ายโดยสันดาน ต่างก็มีเหตุผลของตัวเอง ไม่มีใครผิดร้อยเปอร์เซ็นต์ และไม่มีใครถูกร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนกัน

ปัญหาที่ตัวละครต้องเผชิญเป็นเรื่องของศีลธรรม ความถูกต้องและความรับผิดชอบ จึงต้องพึ่งตุลาการเพื่อตัดสินปัญหาทางกฎหมายให้



บทหนังที่เข้มข้นนี้ทำให้เราแคร์ต่อตัวละครหลักๆ เกือบทุกตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทอร์เมห์ ลูกสาววัยสิบเอ็ดปี ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างความขัดแย้งของพ่อกับแม่ และต้องเผชิญหน้ากับการตัดสินเลือกว่าจะเลือกอยู่กับใคร

หนังไม่ได้คลี่คลายเรื่องให้เรารู้ว่าเทอร์เมห์เลือกข้างไหน เมื่อถูกตุลาการถามว่าจะเลือกอยู่กับพ่อหรือแม่ เธอได้แต่ตอบว่าเธอตัดสินใจได้แล้ว และขอให้พ่อกับแม่ออกไปรออยู่ข้างนอกระหว่างที่เธอบอกการตัดสินใจให้ตุลาการทราบ

เป็นตอนจบที่ตราตรึงมาก หนังไม่ได้เฉลยให้จะแจ้ง คนดูต้องย้อนกลับไปทบทวนดูว่ามีอะไรเป็นเงื่อนงำบอกให้รู้ถึงการตัดสินใจของเทอร์เมห์บ้าง

ภายในช่วงเวลาไม่กี่วันที่พ่อกับแม่แยกจากกัน เทอร์เมห์เติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าใจชีวิตและต้องรับผิดชอบต่ออนาคตของตัวเองเต็มตัว

อย่าพลาดนะคะ หนังดีๆ อย่างนี้ไม่ได้มีให้ดูอยู่ทุกวัน



+++

กิจกรรม "แขวนเสรีภาพ" 18 มีนาคม 2555 (อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา)
ใน www.prachatai.com/post/2012/03/31 . . Sat, 03/17/2012 - 19:00


คณะนักเขียนแสงสำนึก
ขอเชิญนักอ่าน และประชาชนผู้สนใจร่วม
"แขวนเสรีภาพ"
ร่วมกิจกรรมเรียกคืนเสรีภาพด้วยตัวคุณเอง
ชมภาพยนตร์สั้น และการอ่านบทกวี
รับฟังปาฐกถาโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ
เสวนาวิชาการโดย
ปราบดา หยุ่น, ยุกติ มุกดาวิจิตร และปิยบุตร แสงกนกกุล

พลาดไม่ได้ ดีเบตสำคัญ
อภิปราย โดย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ดำเนินรายการโดย วาด รวี

แขวนเสรีภาพ
การแสดงออกทางศิลปะและวิชาการเพื่อเสรีภาพครั้งที่ 1
คณะนักเขียนแสงสำนึก
วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม 2555
ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา
สี่แยกคอกวัว


วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม 2555 ช่วงเช้า "แขวนเสรีภาพ"

10.00 น. ลงทะเบียน
10.30 - 11.00 ปาฐกถาโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ หัวข้อ "ว่าด้วยอำนาจพุทธ ผี เทวดา แต่โบราณ"
11.00 - 11.30 ชมภาพยนตร์สั้น สองบวกสองเป็นห้า และสารคดี สัญญาของผู้มาก่อนกาล
11.30 - 12.00 เปิดตัวแคมเปญ "แขวนเสรีภาพ"
12.00 - 13.00 ปราบดา หยุ่น กล่าวนำ "สิทธิ เสรีภาพ และ สามัญสำนึกในระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ
"มิตรภาพในท่ามกลางความขัดแย้ง สนทนากับนักเขียนหนุ่ม วรพจน์ พันธุ์พงศ์
13.00 - 13.15 อ่านบทกวี


วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม 2555 ช่วงบ่าย “สิทธิ เสรีภาพ VS Sovereign Immunity”

13.15 - 15.00 การบรรยายวิชาการโดย
ปิยบุตร แสงกนกกุล บรรยาย "หลักความรับผิด และจิตวิญญาณแห่งกฎหมายในระบอบประชาธิปไตย"
ยุกติ มุกดาวิจิตร บรรยาย "สิทธิ เสรีภาพ บนความสับสนปนเป ก่อน-เป็น-หลัง สมัยใหม่"
15.15 - 17.30 อภิปรายหัวข้อ หลักเอกสิทธิ์ของรัฏฐาธิปัตย์ ในบริบทสังคมการเมืองไทย
โดย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
วาด รวี ดำเนินรายการ
18.00 ปิดงาน



.