http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-31

THIS MUST BE THE PLACE, Definitely Neighbors โดย นพมาส, มาดามหลูหลี

.
บทความปีที่แล้ว 2554 ครบรอบปี - "คนที่ตายมีใบหน้า คนที่ถูกฆ่ามีชีวิต" โดย คนมองหนัง

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

THIS MUST BE THE PLACE "ตลกร้าย"
โดย นพมาส แววหงส์ คอลัมน์ ภาพยนตร์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1650 หน้า 87


กำกับการแสดง Paolo Sorrentino
นำแสดง Sean Penn
Frances McDormand
Judd Hirsch


ในอดีต ไชแยน (ฌอน เพนน์) เคยเป็นดารานักร้องในยุคทศวรรษ 1980 ประมาณเดียวกับ มิก แจ็กเกอร์ หรือ เดวิด โบวี ละกระมัง เขายังคงรักษาภาพลักษณ์ภายนอกของร็อกสตาร์ โดยแต่งตัว แต่งหน้าเต็มยศ เหมือนจะต้องขึ้นเวทีออกคอนเสิร์ตอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
ปัจจุบันเขาอายุห้าสิบ ชื่อเสียงโด่งดังนั้นเคลื่อนคล้อยไปอยู่เบื้องหลังหมดแล้ว แต่อานิสงส์จากความดังในอดีตกาลก็ยังคงส่งผลมาถึงปัจจุบัน เขาไม่ต้องทำมาหากินอะไร ก็มีอันจะกินอย่างสบาย อาศัยอยู่ในคฤหาสน์ใหญ่ที่เจ้าของบ้านละเลยจนทรุดโทรมไปตามกาลเวลา
บริเวณที่เคยเป็นสระว่ายน้ำแต่ก่อนเก่าบัดนี้แห้งผากไม่มีใครเติมน้ำสักหยด ไชแยนใช้เป็นคอร์ตแรกเก็ตบอล ที่เขาใช้ออกกำลังกายเล่นกับเจน (ฟรานซิส แม็กดอร์มันด์) ภรรยาผู้แสนดีและเข้าอกเข้าใจสามี

ไชแยนเป็นร็อกสตาร์ที่แต่งตัวในแบบที่เรียกว่า "กอธ" (goth) ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมย่อย (sub-culture) แบบหนึ่งที่นิยมอยู่ในทศวรรษ 1980
เราๆ ท่านๆ คงเคยเห็นแฟชั่นแบบกอธ หรือกอธิก ที่ได้อิทธิพลมาจากวรรณกรรมกอธิกของศตวรรษที่ 19 และหนังสยองขวัญประเภทผีดิบดูดเลือด

เรื่องราวที่เป็นที่รู้จักกันดีก็มีอย่างเช่น The Headless Horseman หรือ Sleepy Hollow หรือแม้กระทั่งวรรณกรรมแวมไพร์ทั้งหลายที่เกิดตามมาอย่าง Twilight ที่นิยมกันถล่มทลายเป็นปรากฏการณ์

ถ้าพูดถึงหนัง ก็จะเป็นหนังจำพวกที่ ทิม เบอร์ตัน ชอบกำกับให้ จอห์นนี เดปป์ เล่น อย่าง Edward the Scissorhands และถ้าใครยังจำได้ถึงหนังชุดทางทีวี ก็อย่างเช่น The Addams Family และ The Munsters ซึ่งทั้งสองชุดเป็นหนังที่ตลกจี้เส้น เป็นต้น

การแต่งเนื้อแต่งตัวตามแบบกอธที่ว่านี้ คือผมดำปี๋ เขียนขอบตาดำเข้ม ทาเล็บสีดำ เสื้อผ้าชุดดำ ซึ่งเป็นลักษณะน่ากลัวชวนสยองขนหัวลุกเหมือนผีดิบอะไรทำนองนั้น
พระเอกของเราคือไชแยน ก็แต่งตัวแต่งหน้าอย่างนั้นแหละค่ะ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการบ่งบอกว่าอยากแต่งตัวเป็นผู้หญิงแต่อย่างใด เคยเห็นผู้หญิงแต่งแบบกอธที่ทาปากดำปี๋ แต่ไชแยนทาปากด้วยลิปสติกแดงแจ๋ทุกวัน

ซึ่งเป็นเหตุให้มีอยู่ฉากหนึ่งที่น่าขันคือ ฉากในลิฟต์ซึ่งมีผู้หญิงสองคนกำลังคุยกันเรื่องการแต่งหน้า และแลกเปลี่ยนทัศนะกันว่าจะทาปากอย่างไรให้ลิปสติกติดแน่นทนทาน ไชแยนซึ่งแอบฟังอยู่ โผล่หน้าออกมาร่วมเสวนาด้วย โดยให้ความเห็นว่าเขาพบว่าการลงรองพื้นและตบแป้งบนริมฝีปากก่อนจะทาลิปสติก จะทำให้สีติดทนอยู่ได้ทั้งวัน



ไชแยนซึ่งมีแต่อดีตอันรุ่งเรือง แต่ไม่มีอนาคตจะให้มองไปข้างหน้า ได้แต่ใช้ชีวิตอันสุขสบายอยู่ในความเบื่อหน่าย และเกียจคร้าน กับภรรยาที่แสนดี และเพื่อนฝูงไม่กี่คน
ทว่าชีวิตของเขากำลังจะเปลี่ยนไป เมื่อได้ข่าวว่าพ่อของเขากำลังจะตาย พ่อที่เขาไม่เคยได้พบหน้าหรือพูดคุยกันมาร่วมสามสิบปี
เขาเก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋า กล่าวลาภรรยา และออกเดินทางจากบ้านในเมืองดับลิน ไอร์แลนด์ ไปยังนิวยอร์ก แต่ก็ไม่ทันการเสียแล้ว

ไหนๆ ก็เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงอเมริกาแล้ว ไชแยนจึงยังไม่อยากเสียเที่ยวเดินทางกลับไอร์แลนด์หลังจากพ่อตาย เขาคิดถึงการแก้แค้นให้แก่ความอัปยศยิ่งใหญ่ที่พ่อไม่เคยลืมเลยตลอดชีวิต ซึ่งเกิดจากการอยู่ในค่ายกักกันของนาซี
ลักษณะของหนังจึงเป็นหนังที่เรียกว่า road movie เป็นการเดินทางของตัวเอก ซึ่งในกรณีนี้มีจุดประสงค์คือการตามหาตัวบุคคลคนหนึ่งที่เคยใช้ชื่อว่า เอโลอา มุลเลอร์ อดีตนาซีชาวเยอรมัน ที่มาใช้ชีวิตในอเมริกาและหลบซ่อนจากการถูกจับกุมไปขึ้นศาลในฐานะอาชญากรสงคราม

การพลิกแผ่นดินตามหาตัวอดีตนาซีคนนี้พาเขาตระเวนไปหลายแห่งในอเมริกา และได้พบกับ โมดิไค มิดเลอร์ (จัดด์ เฮิร์ตส์) ซึ่งเป็นนักล่าตัวนาซีมืออาชีพอีกคน


เอาละค่ะ เล่าได้แค่นี้แหละ ตามธรรมเนียมอันดีงามของการเขียนวิจารณ์ก็จะไม่สามารถบอกจนหมดเปลือกว่าไชแยนหาตัวมุลเลอร์เจอหรือไม่เจอ และการแก้แค้นของเขาสำเร็จหรือไม่อย่างไร บอกได้เพียงว่าการเดินทางครั้งนี้ของเขาจะเปลี่ยนชีวิตของเขาไปหมดเลย

ผู้กำกับฯ อิตาเลียนคนนี้ใช้นักแสดงฝีมือเยี่ยมสองคนคือ ฌอน เพนน์ (Milk, Dead Man Walking, Mystic River) กับ ฟรานซิส แมคดอร์มันด์ (Fargo) ที่เป็นสุดยอดฝีมือในวงการแสดง

บทของไชแยนนี่ถ้าไม่ใช่ ฌอน เพนน์ ก็คงต้องเป็น จอห์นนี เดปป์ ละมัง และเป็นบทที่นักแสดงที่จริงจังกับการแสดงทั้งหลายต้องอยากเล่น เพราะเปิดโอกาสให้สำรวจแง่มุมแปลกๆ ของมนุษย์และสร้างสรรค์ตัวละครที่น่าจดจำได้

หนังถ่ายถาพได้สวยงามดี แต่เดินเรื่องช้าๆ ซึ่งหลายคนอาจรู้สึกว่ายืดยาด ฌอน เพนน์ เปล่งวาจาออกมาแต่ละคำๆ เหมือนกับไม่อยากให้พิกุลร่วงจากปาก

บอกเสียหน่อยก็ดีว่า โทนของหนังจะดูเป็นหนังอาร์ตซึ่งคนทั่วไปอาจจะรู้สึกเหมือนไม่ได้ดังใจ เพราะคนสมัยนี้มักใจร้อนอยากรู้เรื่องให้จบๆ ไปในเวลาอันรวดเร็ว
เป็นหนังที่อาจไม่ได้เห็นฉายในโรงหนังปกติ แต่ก็ได้รางวัลจากเทศกาลต่างๆ มาแล้วพอควร

ใครใคร่ดูก็เชิญดูได้ค่ะ ยังฉายอยู่ในโรงบางโรงขณะนี้



++

Definitely Neighbors : คนข้างบ้าน
โดย มาดามหลูหลี : hluhlee@gmail.com คอลัมน์ เงาเกาหลี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1650 หน้า 86


ในซีรี่ส์เกาหลีหลายเรื่อง เมื่อคู่สามีภรรยาที่ต้องหย่าร้างกันด้วยสาเหตุต่างๆ
และหนึ่งในสาเหตุสำคัญคือการสูญเสียลูกซึ่งเป็นโซ่ทองคล้องใจ เมื่อโซ่ทองมีอันขาดผึงลงชีวิตคู่ที่พยายามประคับประคองกันมาก็ไปกันไม่ได้ไปไม่รอด เช่น เรื่อง Alone in Love
และเรื่องนี้ Definitely Neighbors จากคนข้างตัวกลายเป็นคนข้างบ้านไปได้

คิมซังแจ (ซงฮยุนจู จาก Frist Wives" Club ปี 2007) สามียูนจียอง (ยูโฮจัง) ทั้งคู่มีลูกสาวคิมอึนซอ (อันอึนจัง) และลูกชาย เพราะพ่อแม่ทะเลาะกันทำให้ลูกชายออกจากบ้านและเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต นอกจากความเสียใจแล้วพ่อแม่ทั้งสองยังละอายใจ และมองหน้ากันไม่ติด การหย่าร้างจึงเป็นทางออกที่ดีของคู่สามีภรรยา
แต่ไม่ใช่คำตอบที่ใช่ของอึนซอลูกสาวที่เหลืออยู่

คนที่เรียกตัวเองว่าผู้ใหญ่และคิดว่าการกระทำของตัวเองเป็นผู้ใหญ่ จึงไม่คิดถึงหัวอกหัวใจของอึนซอเด็กหญิงตัวเล็กๆ ซึ่งเป็นลูกรักอีกคนหนึ่ง บางครั้งผู้ใหญ่จึงเป็นเพียงเด็กตัวโตเท่านั้น

ผู้หญิงเกาหลีกับผู้หญิงญี่ปุ่นมีวัฒนธรรมที่คล้ายกัน คือเมื่อแต่งงานก็ต้องทำหน้าที่แม่บ้านอย่างเดียวคือดูแลลูกและสามี ไม่ต้องทำงานประจำ
ซึ่งถ้าสาวๆ ของทั้งสองชาตินี้ทำงานออฟฟิศไปด้วยแม้ว่าแต่งงานแล้ว ประเทศเกาหลีกับญี่ปุ่นจะเจริญเพียงใดและน่าเกรงขามสักแค่ไหน? ด้วยพลังยิ่งใหญ่ของผู้หญิง

ยูนจียองจึงต้องหางานทำเพื่อเลี้ยงดูอึนซอกับตัวเอง และเช่าบ้านอยู่กันเอง แต่ชีวิตมักมีเรื่องตลกที่หัวเราะไม่ออกได้เสมอ เพราะบ้านใหม่ของยูนจียองดันมาอยู่ใกล้กับบ้านใหม่ของคิมฮยุนจูอดีตสามีของเธอ
ที่จะหนีหน้าให้ไกลกลับต้องมาอยู่ใกล้กันให้เห็นหน้าเหม็นๆ กวนจิตกวนใจได้บ่อยๆ


งานที่ยูนจียองได้เป็นงานผู้ช่วยเชฟจางกันฮี (ชินซังรอค) ในร้านอาหารหรูแห่งหนึ่ง เพราะจางกันฮีเชฟใหญ่เจ้าอารมณ์จึงหาผู้ช่วยได้ยากหรือไม่ก็อยู่ได้ไม่นาน ด้วยอดทนกับความเจ้าอารมณ์ของเชฟไม่ไหว

จางกันฮี นายแพทย์หนุ่มผู้ทิ้งเข็มฉีดยามาจับกระทะตะหลิว มาเป็นเชฟทำอาหารวิชาชีฟที่เขาหลงรัก แบบขัดใจคุณแม่ เขาคิดว่าการทำอาหารอร่อยให้คนรับประทานแล้วมีความสุขก็ไม่ต่างอะไรกับการรักษาชีวิต

หากเชฟจางเจ้าอารมณ์เหมือนเรื่อง Pasta ที่เชฟใหญ่เจ้าอารมณ์จนลูกน้องลาออกกันเกือบหมด อาจเป็นไปได้ว่าเชฟเหมือนวาทยกรใหญ่ เป็นศิลปินจึงเจ้าอารมณ์ จนลูกน้องกระเจิดกระเจิง ซึ่งในความเป็นจริงมนุษย์อย่างเราๆ อยากได้การสื่อสารที่จริงใจตรงไปตรงมาด้วยคำพูดสุภาพรื่นหูและให้เกียรติกัน

เพราะเธอเป็นแม่ ยูนจียองจึงต้องอดทนกับความจู้จี้จุกจิกจอมละเอียดของจางกันฮี งานผู้ช่วยในครัวจึงทำซ้ำหลายครั้ง ผักที่หั่นแล้วหั่นใหม่, เส้นสปาเก็ตตี้ต้มเสร็จแล้วต้มใหม่อีก กับงานอื่นๆ ที่ต้องทำใหม่ทำซ้ำจนกว่าเชฟใหญ่จะพอใจ กว่าจะได้มาตรฐานของเชฟ

ชีวิตที่เป็นแม่บ้านดูแลลูกและสามีมาตลอดของยูนจียอง พอได้ทำงานเป็นผู้ช่วยเชฟ เธอทำงานอย่างตั้งใจ และมีพัฒนาการขึ้นเป็นลำดับ ถึงขั้นเป็นสไตลิสต์ตกแต่งจานอาหารเพื่อถ่ายลงนิตยสารได้ สร้างความปลาบปลื้มใจให้ยูนจียองอย่างมาก ด้วยเธอไม่คิดว่าเธอจะมีความสามารถถึงขนาดนี้ เธอคิดว่าคงเป็นได้แค่แม่อึนซอ



ส่วนคิมซังแจสามีจียอง เริ่มสานสัมพันธ์ใหม่กับคังมีจิน (คิมซังรยุน จากอิมซังอ๊ก) คุณแม่ลูกหนึ่ง และคิมซังแจเอ็นดูเด็กชายซองจูนซู (ชาแจดอง) เพราะคล้ายลูกชายที่เสียชีวิตไป กับชมชอบความอ่อนโยนประนีประนอมของคังมีจิน

และคู่สามีภรรยาที่หย่าร้างกันกลับต้องมาเช่าบ้านซื้อบ้านอยู่ในละแวกเดียวกัน ถ้าไม่ใช่เพราะลูกสาวที่ทำให้ทั้งคู่ยังต้องมีเรื่องให้เกี่ยวข้องกันแล้ว ทั้งคู่คงแทบไม่อยากเจอะเจอกัน

แถมยังมีพ่อหม้ายคิมวูจิน (ฮงโยซอบ ดาราใหญ่เคยรับบทพระราชาจาก Princess Ja Myung Go) อาของคิมซังแจ ที่มาเช่าบ้านอยู่ใกล้กัน และเริ่มมีใจรักชอบแชยองชิล (คิมมีซุก แม่เลี้ยงใจร้ายใน Shining Inheritance) สาวใหญ่สาวโสดที่เพิ่งรีไทร์จากงานประจำ

ดูน่าจะเป็นคู่ที่เหมาะสมลงตัว แต่ก็ยังมีอุปสรรค เพราะการหย่าร้างของคิมวูจินและอดีตภรรยาเอกสารยังไม่เรียบร้อย เนื่องจากกฎหมายการหย่าร้างของเกาหลีค่อนข้างเข้มงวด เพื่อให้คู่สมรสไม่อาจหย่ากันได้ง่ายๆ

เป็นการป้องกันครอบครัวแตกร้าวอีกชั้นหนึ่ง



ด้วยความยาวของละครที่มีจำนวนตอนถึง 65 ตอน เรื่องราวจึงมีผู้คนและตัวละครมากมายที่เกี่ยวข้องกัน มีความสัมพันธ์ผูกโยงกันเป็นเครือข่าย ซึ่งล้วนแต่เป็นดารามือเก่ามือเก๋าทั้งสิ้น

ยูนอินซู (ปักกึนฮยุน ดาราอาวุโส) พ่อของยูจียองที่แต่งงานใหม่กับอีซังอ๊ก (จังแจซูน) แม่ของยูนฮายอง (ฮันแชอาห์) ไปจับคู่กับแชกีฮุน (ชอยวอนยอง) น้องชายแชยองชิล ครอบครัวทั้งสาม คือตระกูลคิม, ตระกูลยูน, และตระกูลแช จึงได้มาเกี่ยวดองกันทั้งละครยังเล่าเรื่องราวชีวิตของยูนอินซู คนทำงานออฟฟิศเมื่อต้องเกษียนจะต้องดำเนินชีวิตอย่างไรหลังเกษียณ และอีซังอ๊กภรรยาผู้เป็นแม่บ้าน ซึ่งการเกษียณของสามีก็มีปัญหากับการจัดการชีวิตของเธอและสามีให้ลงตัว ช่วงกลางวันที่ต่างคนต่างอยู่ เมื่อต้องมาขลุกอยู่ด้วยกันตลอดเวลา จึงสร้างความอึดอัดให้คุณแม่บ้านไม่ใช่น้อย

ซึ่งคล้ายๆ กับแชยองชิล สาวใหญ่ที่ทำงานออฟฟิศมาตลอด เมื่อขอเกษียณตัวเองก่อน จะจัดการชีวิตตัวเองอย่างไร จะอยู่ตัวคนเดียวได้อย่างไรถ้าน้องชายต้องแต่งงานมีครอบครัวไป

ต้องชื่นชม โจนัมกุก ผู้กำกับการแสดงและผู้เขียนบท ที่สามารถผูกเรื่องเล่าเรื่องได้อย่างน่าติดตามดูไม่เบื่อ เหมือนเฝ้าดูเรื่องราวชีวิตของคนที่เรารู้จักมักคุ้นเป็นเพื่อนบ้านที่หวังดี อยากให้เขาและเธอเหล่านั้นมีชีวิตที่ลงตัวมีความสุข



Defintely Neighbors เป็นซีรี่ส์ที่มีเรตติ้งดีเรื่องหนึ่ง ละครดีๆ ที่เราติดตามดูทุกๆ สัปดาห์ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวัน

ทั้งยังเป็นสิ่งที่เฝ้ารอดูคอยลุ้นไปกับตัวละครด้วย อย่างคุณๆ แม่บ้านอาจุมม่าทั้งหลาย

แม่ที่อยู่บ้านทำงานบ้านที่น่าเบื่อทั้งวัน ได้มีความบันเทิงให้ผ่อนคลาย

ถามแม่ว่าอยากดูตอนต่อไปแบบตอนต่อตอนแผ่นต่อแผ่นมั้ย จะเอามาให้ดู

แม่บอกว่า

"อย่ามายุ่งกะกรู เดี๋ยวดูจบหมดแล้วกรูก็ไม่มีอะไรดูซิ!"



++++

บทความปีที่แล้ว 2554 ครบรอบปี

"คนที่ตายมีใบหน้า คนที่ถูกฆ่ามีชีวิต"
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก "กระแส"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1600 หน้า 85 หน้า 85


เหตุการณ์ปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ คนเสื้อแดง และ "กลุ่มชายชุดดำ" ไม่ทราบฝ่าย/สังกัด เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ผ่านพ้นมาได้เป็นเวลา 1 ปีเต็ม
เวลาผันผ่านไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับกระบวนการแสวงหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ
ซึ่งยังคงเต็มไปด้วย "ความหวังอันว่างเปล่า"

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่การแสวงหาผู้กระทำผิดมารับโทษดำเนินไปอย่างยากเย็น กระบวนการทบทวนความทรงจำของผู้สูญเสียกลับดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
เมื่อเหตุการณ์ "10 เมษายน 2553" ได้สร้างความสูญเสียให้แก่ทั้งผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงและเจ้าหน้าที่รัฐ
ความทรงจำของผู้สูญเสียสองฝ่ายจึงดำเนินหรือถูกนำมา "จัดวาง" เคียงคู่กันไป


ดังนั้น เมื่อเวลา 1 ปีผ่านไป เราจึงยังมีโอกาสได้รับรู้ความรู้สึกของ คุณนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยา พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม นายทหารผู้เสียชีวิตบริเวณโรงเรียนสตรีวิทยา (ผู้สนใจโปรดอ่านบทสัมภาษณ์ "ครบ 1 ปี 10 เม.ย. "เลือด" เปิดใจภรรยา "พล.อ.ร่มเกล้า" "ไม่ปรองดองคนผิด-รอความยุติธรรม"" โดย นัฐวัฒน์ ดวงแก้ว ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 8 เมษายน 2554 หรือที่ http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1302240062&grpid=no&catid=02)

แต่ขณะเดียวกัน เสียงของผู้สูญเสียฝ่ายเสื้อแดง ก็เป็นเสียงอันก้องดังที่เรามิอาจแสร้งทำเป็นไม่ได้ยินหรือไม่ยอมรับรู้ถึงการดำรงอยู่

และเสียงสามัญชนผู้สูญเสียเหล่านั้นก็ถูกนำเสนอออกมาอย่างเป็นระบบผ่านหนังสือชื่อ "วีรชน 10 เมษา : คนที่ตายมีใบหน้า คนที่ถูกฆ่ามีชีวิต" ผลงานการเขียนของ "กรกช เพียงใจ" เรียบเรียงข้อมูลโดย "กองบรรณาธิการประชาไท" มี "ไอดา อรุณวงศ์" และ "วริศา กิตติคุณเสรี" เป็นบรรณาธิการ และดำเนินการผลิตโดย "สำนักพิมพ์อ่าน"

นอกจาก "ลำดับเหตุการณ์สำคัญ" ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม - 10 เมษายน 2553 ที่ถูกจัดทำอย่างละเอียดโดย กองบรรณาธิการประชาไท แล้ว

เนื้อหาส่วนสำคัญที่โดดเด่นที่สุดในหนังสือเล่มนี้ ก็คือ การพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับพลเรือนทั้งไทยและเทศที่เสียชีวิตรวมทั้งสิ้นจำนวน 21 ศพ ในเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 ผ่านข้อมูลประวัติโดยย่อของผู้เสียชีวิตแต่ละราย เรื่องราวภูมิหลังของพวกเขา ตลอดจนบาดแผลความทรงจำอันถูกทิ้งค้าง ซึ่งถูกเปิดเผยออกมาจากปากคำของคนใกล้ชิดที่ยังมีชีวิตอยู่ข้างหลัง

อาทิ

เรื่องราวของ "ยุทธนา ทองเจริญพูลพร" (เตย) เด็กหนุ่มวัย 23 ปี จากจังหวัดราชบุรี ว่าที่บัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์ สาขาไฟฟ้า และกำลังจะแต่งงาน ทว่า การเสียชีวิตของเขา ก็ทำให้ความหวังความฝันทั้งมวลต้องมลายหายไป

"หลังการจากไปของเตย บรรดาพี่ป้าน้าอาที่เลี้ยงเขามาต่างพากันโศกเศร้า พวกเขารักเตยเหมือนลูก เพราะอุปถัมภ์เตยมาแต่เล็ก เนื่องจากเตยเป็นลูกชายคนเดียวที่อยู่กับพ่อพิการ ไม่เคยพบหน้าแม่

"ถึงตอนนี้บ้านของเตยที่ราชบุรีถูกปิดร้าง พ่อของเตยจากไปก่อนหน้าเขา 6 เดือน บัดนี้ลูกชายคนเดียวก็มาเสียชีวิตตามไป ใหม่ (ว่าที่ภรรยาของเตย - ผู้เขียนบทความ) ตัดสินใจย้ายออกจากบ้านหลังนั้นกลับไปอยู่บ้านแม่ เพราะไม่สามารถทนบรรยากาศเวิ้งว้างว่างเปล่าได้ คงเหลือเพียงความทรงจำว่าครั้งหนึ่งบ้านหลังนี้เคยมีรอยยิ้ม ความหวัง ความฝันของคนคู่หนึ่ง" (หน้า 43)


ความสูญเสียที่เกิดกับยุทธนาก็อาจคล้ายคลึงกับ "อำพน ตติยรัตน์" เด็กหนุ่มวัย 26 ปี ซึ่งกำลังศึกษาปริญญาตรีเทอมสุดท้าย ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม อำพนอาจยังไม่มีแผนการการสร้างครอบครัวของตนเอง แต่ความตายของเขาก็ส่งผลกระทบยิ่งใหญ่ต่อพ่อแม่และน้องที่บ้าน

ดังที่พ่อของอำพนได้ระบายความแค้นด้วยการจินตนาการถึงวิธีการแบบตาต่อตาฟันต่อฟันที่ตนเองมิอาจลงมือกระทำได้ในโลกแห่งความจริงเอาไว้ว่า "ตอนนี้จิตใจก็ยังไม่ดี ยังทำใจไม่ได้ ถ้าผมสามสิบกว่าผมคงเอาแบบทางใต้ ทำกับลูกผม ผมก็ต้องเอาคืน เล่นเอาปืนกลไล่ยิงพวกผมแบบนี้ ถ้าเป็นไปได้อยากจะเอาลูกระเบิดวางไว้เลยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่พานรัฐธรรมนูญ แล้วปืนเอาวางไว้เลยรอบๆ นั่น แต่นี่ผมแก่แล้ว ผมก็ไม่รู้จะทำยังไง (เสียงเครือ) เราเป็นรากหญ้า สู้อะไรเขาไม่ได้ ก็ได้แต่สาปแช่ง ให้เขาได้รับเวรรับกรรมของเขา" (หน้า 82)

ขณะที่แม่ก็เล่าเรื่องราวของน้องชายคนสุดท้องวัย 19 ปีของอำพนว่า "ลูกชายคนเล็กนี่คลั่งเลยนะ วันที่เขา (เจ้าหน้าที่รัฐ - ผู้เขียนบทความ) จะเริ่มสลายที่นี่ (19 พ.ค. 53) เขากั้นที่นี่หมดเลย ปิดไฟ ปิดอะไร แล้วลูกชายมันเครียดมากเลย ก็เลยไปกินเบียร์ กินก็ไม่เมา ร้องไห้ใหญ่เลย มามองรูปพี่แล้วก็บอก "เฮ้ย พี่อู๊ด (ชื่อเล่นของอำพน - ผู้เขียนบทความ) ทำไมต้องตาย ใครทำให้พี่อู๊ดตาย" พูดเสร็จก็บอกจะไปฆ่าทหาร "มันมาฆ่าพี่กู" ฉันต้องจับไว้ บอกไม่เอานะลูกนะ ดึงไว้ยังไงก็ไม่ฟัง พ่อต้องเอาเชือกมามัดประตูไว้" (หน้า 82)



ความสูญเสียยังเกิดกับ "เกรียงไกร คำน้อย" คนขับรถตุ๊กตุ๊กวัย 24 ปี จากอำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเมื่อเดือนเมษายน 2552 เขายังเป็นทหารเกณฑ์ในสังกัดกองทัพเรือ แต่เพียงอีก 1 ปีถัดมา เขาก็กลายเป็นผู้ชุมนุมที่ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุม

"ก่อนหน้าบ่ายวันที่ 10 ที่เขาไปดูเหตุการณ์เผชิญหน้ากันระหว่างผู้ชุมนุมและทหารที่สะพานมัฆวานฯ กับเพื่อนอีก 3 คน น้าของเขาที่เป็นจ่าทหารอยู่กาญจนบุรีโทร.มาเตือนกับน้าอีกคนหนึ่งว่า อย่าให้ลูกหลานออกไปเพราะ "เขาเอาจริงแล้ว" แต่คำเตือนก็ไม่อาจทัดทานคนหนุ่มได้ ขณะที่หน่วยงานของผู้เป็นน้าก็ถูกเรียกมายังกรุงเทพฯ แต่ยังไม่ทันได้ออกปฏิบัติการ

"หลังจากเขาเสียชีวิต แม่ของเขาหัวใจสลาย ด้วยความโกรธแค้น เธอโทร.ไปต่อว่าน้องชายที่เป็นทหารผู้นั้นว่าทำไมต้องยิงหลาน มันคงเป็นคำถามที่หมายความถึงทหารโดยทั่วไป แต่พุ่งตรงไปยังเป้าหมายที่ล็อกตัวได้ ปลายสายได้แต่ตอบว่า เขาไม่ได้ตั้งใจลงมายิงหลาน แต่ต้องทำตามหน้าที่" (หน้า 112)


มิใช่มีแค่การเสียชีวิตของคนหนุ่มเท่านั้น แต่ความตายของ "วสันต์ ภู่ทอง" วัย 39 ปี ก็ได้ส่งผลให้สมาชิกในครอบครัวลุกขึ้นสู้ด้วยการเข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงที่สี่แยกราชประสงค์หลังวันที่ 10 เมษายน 2553 ด้วยอารมณ์ความรู้สึกที่ "น้ำทิพย์ พ่วงท้วม" น้องสาวคนเล็กของวสันต์กล่าวเอาไว้ว่า

"มันไม่ได้เกี่ยวกับทักษิณเลย แค่ถามว่าขอประชาธิปไตย ขอเลือกตั้งเองได้ไหม ง่ายๆ ภาษาชาวบ้านคือ ฉันขอเลือกเอง แค่นี้เอง ฟังง่ายๆ ไม่ได้เหรอ" (หน้า 67) และ "คือคนที่เราเลือกของเรา เขายึดของเราไป ยึดประชาธิปไตยของเราไป แต่เราไม่มีสิทธิทำอะไรเลย" (หน้า 69)


และสำหรับผู้เสียชีวิตที่มีสถานะเป็นพ่อคน ความทรงจำอันเจ็บปวดก็ต้องถูกฝังตรึงอยู่ในความคิดของลูกน้อยอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ดังกรณีของ "ไพรศล ทิพย์ลม" ชาวขอนแก่นวัย 38 ปี ที่เข้ามาทำงานเป็นชิปปิ้งของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

"สังวานย์ สุทธิเสน" ภรรยาชาวลาวของไพรศล เล่าให้ฟังถึงปฏิกิริยาของลูกน้อยในวันที่ผู้เป็นพ่อเสียชีวิตเอาไว้ว่า

"วันที่พ่อเสีย เขาเห็นพ่อ เขาบอกทหารยิงพ่อ ทหารฆ่าพ่อน้อง ทหารใจร้าย เดี๋ยวนี้ลูกเจอทหารไม่ได้ เขาจะพูดว่าทหารคนนี้ฆ่าพ่อน้อง ไม่ว่าทหารคนไหน เขาจะพูดแบบนี้" (หน้า 151)



เหล่านี้ คือตัวอย่างส่วนเสี้ยวหนึ่งเท่านั้นของหนังสือ "วีรชน 10 เมษา : คนที่ตายมีใบหน้า คนที่ถูกฆ่ามีชีวิต" ที่บอกเล่าเรื่องราวความสูญเสียของสามัญชนใน "เหตุการณ์ 10 เมษา" ซึ่งทางกองบรรณาธิการประชาไทเห็นว่า

"...เป็นจุดเริ่มต้นของความสูญเสียครั้งใหญ่ และวาทกรรม "ผู้ก่อการร้าย" ก็ถือกำเนิดขึ้นจากเหตุการณ์นี้ และยิ่งเข้มข้นขึ้นในช่วงก่อนและหลังการสลายการชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์ที่ตามมาในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ผลจากปฏิบัติการทางทหารได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

"นับเป็นความสูญเสียทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดในช่วงประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่" (หน้า(11))



.