http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-24

.."ประเพณีสรงน้ำพระธาตุหริภุญไชย" ไม่ใช่วันวิสาขบูชา? โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.

ก่อนกาลล้านนา "ประเพณีสรงน้ำพระธาตุหริภุญไชย" ไม่ใช่วันวิสาขบูชา?
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1649 หน้า 76


ทําไมถึงมาถามกันแบบนี้เล่า?
ก็รู้ๆ กันอยู่มิใช่หรือว่างานสรงน้ำพระธาตุหริภุญไชย ถือเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ และมีขึ้นในวิสาขบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6
แต่สำหรับชาวเหนือนั้น นับเดือนล่วงหน้าไปก่อนสองเดือน จึงตกเอาเดือน 8 ซ้ำยังนิยมเรียกกันว่า "วันแปดเป็ง" (เป็งก็คือวันเพ็ญ)

ให้เผอิญว่านักจารึกวิทยา ผู้เชี่ยวชาญเรื่องวรรณกรรมล้านนาท่านหนึ่ง คือ "อ.ชัปนะ ปิ่นเงิน" ได้ไปค้นพบข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการสรงน้ำพระธาตุจาก "โคลงนิราศหริภุญไชย" พลันโยนคำถามสู่หมู่นักวิชาการท้องถิ่นล้านนาว่า

แน่ใจหรือว่าประเพณีสรงน้ำพระธาตุหริภุญไชยเมื่อ 500 ปีก่อนมีขึ้นในวันวิสาขบูชา?


โคลงนิราศหริภุญไชย
โคลงนิราศเก่าแก่ที่สุดในสยาม

โคลงนิราศหริภุญไชย รจนาโดยกวีในราชสำนักล้านนาผู้หนึ่งเมื่อปี พ.ศ.2060 หมายความว่าอีก 5 ปีข้างหน้างานวรรณกรรมโบแดงชิ้นนี้ก็จะมีอายุครบ 500 ปีพอดี

กล่าวกันว่าผู้แต่งเป็นกวีนิรนาม แต่มีข้อสังเกตว่า มักมีการขนานสรรพนามหนึ่งว่า "ทิพ" "พระทิพ" หรือ "ศรีทิพ" อยู่เนืองๆ โดยที่อ่านแล้วยังสับสนอยู่ว่า ทิพคือชื่อของตัวกวีเอง หรือว่าเป็นนามของหญิงสาวที่เอ่ยถึงกันแน่

เนื้อความในโคลงนิราศหริภุญไชย เล่าถึงการเดินทางของกวีด้วยกองเกวียนจากเชียงใหม่ไปนมัสการพระธาตุหริภุญไชยที่นครลําพูนในเทศกาลไหว้พระธาตุ ซึ่งประเด็นนี้น่าสนใจยิ่งนัก เพราะไม่ตรงกับวันวิสาขบูชา

กวีเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึง นางอันเป็นที่รัก เหตุที่ต้องจากไป พรรณนาฉากชมนกชมไม้ เน้นต้นทองกวาว และต้นตะเคียนทองชูช่อสีส้มแสดปลิวไสว ตลอดสองข้างทางจากเชียงใหม่จนถึงลําพูน
โดยปกติทองกวาวนี้จะบานสะพรั่งช่วงปลายฤดูหนาวต่อหน้าแล้งคือระหว่างธันวาคม-กลางมีนาคม ส่วนตะเคียนทองก็ออกดอกเฉพาะในช่วงคิมหันตฤดูราวเดือนมีนาคม-เมษายน
กวีผ่านสถานที่สําคัญหลายแห่งของเชียงใหม่แล้วพักนอน 1 คืน รุ่งเช้าออกเดินทางต่อถึงลําพูน เพื่อไหว้พระธาตุหริภุญไชย ตกกลางคืนเที่ยวชมดูฟ้อนรํา ดนตรี มหรสพในงานบุญ จากนั้นไปไหว้พระยืน แล้วกลับมายังวัดพระธาตุหริภุญไชยอีกครั้ง

ครั้งหลังนี้กวีได้พบ "พระราชโอรส" ของกษัตริย์ที่เสด็จมาบูชาสรงน้ำพระบรมธาตุหริภุญไชยด้วย พระราชโอรสองค์นั้นมิได้ระบุนาม แต่พอจะเดาได้ว่าหมายถึง พระเมืองเกษเกล้า ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเมืองแก้ว

จุดเด่นของโคลงนิราศหริภุญไชย ในสายตาของนักวรรณกรรม ก็คือการเป็นโคลงนิราศที่เก่าแก่ที่สุดบนแผ่นดินสยาม
และน่าจะส่งอิทธิพลหรือสร้างแรงบันดาลใจให้แก่โคลงกำสรวลสมุทรสมัยอยุธยาตอนต้นอีกด้วย



ปริศนาวันเพ็ญเดือนผลคุน?

ประเพณีสรงน้าพระธาตุหริภุญไชย กับพระธาตุดอยสุเทพ ปัจจุบันกำหนดให้มีขึ้นในวันแปดเป็ง หรือวันวิสาขบูชา อันเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของพระพุทธเจ้า ชาวล้านนาจากทั่วทุกสารทิศนิยมเดินทางแสวงบุญด้วยการไปไหว้พระธาตุทั้งสององค์นี้

กวีได้พรรณนาถึงวันที่ออกเดินทางจากเมืองเชียงใหม่สู่ลำพูน ไว้ว่า

บุณณมีมาสเมื้อ ผลคุณ
ขงเขตรในนพบุร ยกย้าย
เดินถวิลแห่งหริภุญ ชัยเชษฐ์ ชิดแฮ
นบธาตุพระเจ้าผ้าย แผ่นค้อมคุงชเล (ฉบับหอสมุดแห่งชาติ)

หรืออีกสำนวนหนึ่ง

ปุณณมีวรมาสมื้อ ผลคุน ออกเอ่
ขงเขตนพบุญ โยดย้าย
เดินถวิลแห่งหริภุญ เชยยะเชษฐ์ ชิดเอ่
นบพระธาตุเจ้าผ้าย แผ่นค้อมคลุงทเล (ฉบับลําพูน)

เนื้อความบรรยายถึงวันออกเดินทางว่า เป็นวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เหนือ
ปุณฺณมี แปลว่า ดิถีเพ็ญหรือวันพระจันทร์เต็มดวง
มาส แปลว่า เดือน

ผลคุน หรือ ผาลคุน ภาษาบาลีหมายถึงเดือน 4 ภาคกลาง หรือเดือน 6 เหนือ ตกในราวเดือนมีนาคม
โดยอาจารย์ชัปนะ ทำตารางเทียบเดือนไว้ดังนี้


การที่กวีเดินทางไปสรงน้ำพระธาตุหริภุญไชยในเดือนผลคุน ซึ่งไม่ตรงกับประเพณีไหว้พระธาตุในปัจจุบัน คือวันวิสาขบูชา แต่กลับเป็นการกระทำก่อนล่วงหน้าถึงสองเดือนนั้น ถือเป็นเรื่องที่น่าขบคิดไม่น้อย

หากวันเวลาที่กวีกล่าวถึงในเดือนผลคุน (มีนาคม) ช่วงที่ดอกทองกวาวและตะเคียนทองบานพราวไสวพร้อมกันนั้นตรงกับวันมาฆบูชา ก็น่าแปลกทีเดียว ในเมื่อหนึ่งเดือนก่อนหน้านั้น (กุมภาพันธ์) ก็มีชื่อเดือนที่เรียกว่า มาฆมาสอยู่แล้ว

เป็นที่รู้กันดีว่าวันมาฆบูชาตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 (เดือน 5 เหนือ) ไม่ใช่เดือน 6 เหนือ

ยกเว้นกรณีเดียวที่วันมาฆบูชาจะเลื่อนออกไป 1 เดือนตรงกับเดือนผลคุน นั่นคือหากปีนั้นเป็นปีอธิกมาส หรือเรียกแบบชาวบ้านว่าปีที่มีเดือนแปดสองหน


หรืออาจเป็นไปได้ว่าปี 2060 ช่วงที่กวีรจนาโคลงนิราศหริภุญไชยนั้นตรงกับปีอธิกมาสพอดี ทำให้วันมาฆบูชาเลื่อนไปอยู่เดือนมีนาคม

แม้กระนั้น การสรงน้ำพระธาตุหริภุญไชยในวันมาฆบูชา ก็ยังเป็นที่คลางแคลงใจชาวล้านนาอยู่ดี
ว่าทำไมเจ้านายฝ่ายเหนือเมื่อกาลก่อนจึงเลือกเดินทางไปสรงน้ำพระธาตุในวันมาฆบูชา
แล้วใครมากำหนดเปลี่ยนใหม่ให้เป็นวันวิสาขบูชาด้วยเหตุผลใด ตั้งแต่เมื่อไหร่

เราไม่ควรมองข้ามว่า ยังมีพระธาตุเจดีย์ในล้านนา โดยเฉพาะในเขต "ล้านนาตะวันออก" อีกหลายองค์ที่กำหนดวันสรงน้ำตรงตามกับที่โคลงนิราศหริภุญไชยระบุไว้ คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เหนือ (ผลคุน) ปฏิบัติสืบต่อกันมาเช่นนี้ โดยที่ไม่เกี่ยวข้องอันใดกับปีอธิกมาส ทั้งๆ ที่ไม่ตรงกับวันมาฆบูชาหรือวิสาขบูชา

นั่นคือ พระมหาชินธาตุธาตุดอยตุง ที่เชียงราย พระธาตุช่อแฮ ที่แพร่ และพระธาตุแช่แห้ง ที่น่าน

หรือว่าแท้จริงแล้ว ประเพณีการสรงน้ำพระธาตุในอดีตทุกแห่งเคยกำหนดไว้ในเดือนผลคุน เนื่องจากเป็นฤดูกาลแห่งการผลัดเปลี่ยนจากความหนาวแล้งมาสู่กระไอร้อน ทรมานที่สุดในรอบปี สมควรกระทำการสรงน้ำให้พระบรมสารีริกธาตุได้ชุ่มเย็น?

ทว่าปัจจุบัน ได้มีการปรับเปลี่ยนไปตามกระแสโลก ชาวล้านนาตะวันตก (เชียงใหม่ ลำพูน) อาจเห็นว่าวันวิสาขบูชาคือวันสำคัญที่สุดในรอบปี จึงสมควรสรงน้ำพระธาตุในวันนั้นเพื่อรำลึกถึงพระพุทธองค์

ในขณะที่ชาวล้านนาตะวันออก (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) ยังคงรักษาวันเวลาดั้งเดิมไว้ได้

เรื่องนี้เห็นทีไม่จบกันง่ายๆ ยังต้องศึกษาค้นคว้ากันอีกยาว!



.