http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-26

มุกดา: ช่วงนี้...ไม่มีปรองดอง เวลา(กลับ)ของทักษิณไม่ใช่ช่วงนี้

.

ช่วงนี้...ไม่มีปรองดอง เวลา(กลับ)ของทักษิณไม่ใช่ช่วงนี้
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลา กลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1649 หน้า 20


สัปดาห์นี้มิได้ตั้งใจจะเขียนงานชิ้นนี้ เพื่อเทียบความคิดเห็นกับศาสตราจารย์วิธีพิเศษ เพราะพิจารณาดูแล้วน่าจะเป็นคนละคนกับที่เคยรู้จักสมัย 14 ตุลาคม และคงเพิ่งจะกลับมาจากเมืองนอก แต่ตั้งใจจะบอกกับประชาชนถึงสถานการณ์ในช่วงนี้ว่า ปีนี้จะไม่มีรัฐประหารแต่ไม่ได้หมายความว่า การปรองดองจะเกิดขึ้นใน 1-2 ปีนี้ ดูแล้วต้องสู้กันจนพังถึงจะยอมรับ

แม้มีการปะทะกันทางวาจาและการเคลื่อนไหวในกติกา แต่ข้างหลังทั้งสองฝ่ายต่างซุกมีดอาบยาพิษเอาไว้ คำว่าสู้กันจนพังหมายถึง บ้านเมืองพัง บางคนพังทั้งชื่อเสียงและฐานะ บางคนไม่อาจรักษาไว้แม้ชีวิต ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับความยากลำบาก การต่อสู้เพื่ออยู่รอดของคนทั้งชาติในวันนี้ยังมีปัจจัยอื่นอีกหลายอย่างเป็นตัวแปร แต่หัวขบวนทั้งสองฝ่ายยังพัวพันกันอยู่กับการแย่งอำนาจทางการเมือง

ทำไมเชื่อว่าจะไม่มีการปรองดองในช่วงนี้ ทีมวิเคราะห์มีเหตุผล 4 ข้อ


1.
พฤติกรรมกลุ่มอำนาจเก่าตั้งแต่ 5 ปีก่อน จนถึงเกมแก้รัฐธรรมนูญ 2550 ปัจจุบัน เป็นตัวชี้วัดว่าการปรองดองทำไม่ได้

การประชุมรัฐสภาที่ผ่านมติแก้ไขมาตรา 291 เพื่อเตรียมแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ด้วยเสียง 399 ต่อ 199 ชี้ชัดถึงทิศทางการแก้ไข แต่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กลับถอยไปประชุมที่หาดใหญ่และประกาศปฏิญญาหาดใหญ่ 2555 แห่งพรรคประชาธิปัตย์ 8 ข้อ เพื่อต่อต้านฝ่ายตรงข้ามทุกรูปแบบ โดยเอาทุกเรื่องมารวมกันเพื่อประกาศว่าพวกเขาคือคนดี จะต่อต้านฝ่ายตรงข้ามที่อาจทำไม่ดีอย่างไร นี่คือรูปแบบเก่าๆ ของ ปชป.

สรุปว่าวิถีแห่งประชาธิปไตยไม่ได้เป็นทางเลือกของ ปชป.เหมือนเดิม ถ้าเห็นว่า จะพ่ายแพ้ หรือแพ้ไปแล้ว ก็จะทำทุกรูปแบบ ทุกวิธี เพื่อชิงอำนาจรัฐ

เช่น ในปี 2548 ร่วมกับกลุ่มพันธมิตรเคลื่อนไหวโค่นรัฐบาลทักษิณ จนเกิดการรัฐประหาร
และในปี 2549 หลังแพ้การเลือกตั้งหลายครั้งก็ไปแก้ปัญหาด้วยการบอยคอตต์ ไม่ร่วมเลือกตั้ง
ในปี 2550 กลุ่มอำนาจเก่ารวมกำลัง ชิงอำนาจด้วยตุลาการภิวัฒน์และตั้งรัฐบาล ปชป.ในค่ายทหาร
ในปี 2553 รัฐบาลอภิสิทธิ์ตัดสินใจใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมของประชาชนที่เรียกร้องให้ยุบสภาเพื่อยื้อการเป็นรัฐบาลไว้ชั่วคราว จนเกิดเหตุการณ์นองเลือดในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนและบอกแนวโน้มว่า ปชป. จะทำการต่อต้านฝ่ายตรงข้ามทุกรูปแบบ และมุ่งหวังที่จะปูทางไปสู่การชิงอำนาจแบบครั้งที่ผ่านมา การปรองดองไม่อยู่ในแผน

สังเกตได้จากการเคลื่อนไหวของเครือข่ายอำนาจเก่า เช่น การเคลื่อนไหวชุมนุมเพื่อคัดค้านการแก้ รธน.ของกลุ่มพันธมิตรฯ และอีกสารพัดกลุ่ม รวมทั้งการตั้งที่ปรึกษาด้านรัฐธรรมนูญของผู้ตรวจการแผ่นดิน การถ่วงเวลาในกรรมาธิการเพื่อให้การแก้ไขเดินช้ากว่าหอยทาก

แต่ครั้งนี้อาจไม่มีใครกล้ามาเป็นกำลังหนุนแบบแพะรับบาป


2.
การไม่สามารถหาทางออก ในคดีความต่างๆ ตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมาจะทำให้การเจรจาปรองดองจบไม่ได้ เช่น คดีของทักษิณและคนอื่นๆ ที่ผ่าน คตส. ความผิดจากการรัฐประหารของผู้ร่วมกระทำการทั้งทหารและพลเรือน ความผิดจากการยึดทำเนียบฯ ยึดสนามบินหลายแห่ง ความผิดจากการสลายการชุมนุมจนมีประชาชนเสียชีวิต และการเผาอาคารหลายแห่ง

กรณีต่างๆ เหล่านี้ ยังไม่สามารถหาจุดลงตัวได้ แต่คณะรัฐประหารและลูกสมุนนักกฎหมาย ได้วางแผนใส่กฎหมาย ม.309 ใน รธน. 2550 เพื่อเอาไว้เป็นโล่ห์และหอก

รศ.ดร.กำชัย จงจักรพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า หากนำรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มาพิจารณาแล้ว อยากเสนอให้ยกเลิกมาตรา 309 ไปเลย ซึ่งมาตราดังกล่าวระบุว่า บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราวของ คมช.) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้

"เราจะเขียนกฎหมายมาตราหนึ่งบอกว่า การกระทำใดๆ ของคนคนหนึ่ง หรือคณะบุคคลใดบุคคลหนึ่งในอดีตที่ทำไปแล้วในอดีตถือว่าถูก อันนี้ยังพอรับได้ แต่ที่จะทำต่อไปในอนาคตที่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรบ้างก็ให้ถูกอีก อันนี้คงไม่ได้ แล้วมาตรานี้ กกต. ก็เอามาใช้เลย จำได้ไหมเรื่องเอกสารลับที่ คมช. มีเอกสารลับที่แสดงถึงความไม่เป็นกลาง แม้จะเป็นความผิด ก็ยกเว้นตาม 309 ในเรื่องของกฎหมายนิรโทษกรรมโดย concept ของกฎหมายก็ไม่ผิดนะ แต่จะนิรโทษกรรมได้มันต้องมีความผิดเกิดขึ้นมาเรียบร้อยแล้ว แต่นี่มันไม่ใช่นิรโทษกรรม นี่คือการไฟเขียวไว้ก่อนว่าในอนาคตไปทำอะไรก็ไม่ผิด ถ้าพูดให้สุดขั้ว คือให้ไฟเขียวไว้ก่อนว่าคุณไปยิงใครตายก็ได้ ทำอะไรก็ไม่ผิดไง ทั้งก่อนและหลัง"

ไม่รู้ว่าเขียนกฎหมายแบบ มาตรา 309 นี้ได้ไง ไม่ควรเป็นนักกฎหมายเลย
ตอบได้เลยว่าเขาเขียนเอาไว้เชือด ทักษิณ และป้องกันตนเอง เวลาถูกคิดบัญชี ปชป. จึงประกาศในปฏิญญาหาดใหญ่ว่า ห้ามแก้ไข มาตรา 309

ส่วนการนิรโทษกรรมดูเหมือนแกนนำของทุกฝ่าย บอกว่าไม่ยอมรับ คล้ายกับอยากจะให้ทุกคนเข้าคุก ไม่ว่าจะเป็นทักษิณ คนทำรัฐประหารและผู้ร่วมมือ คนยิง คนเผา คนยึดสนามบิน

แต่ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมายังไม่เคยมีผู้ชนะติดคุก
ถึงตรงนี้คงต้องสรุปว่าผลความขัดแย้งจบอย่างไร ทุกคดีจะจบอย่างนั้น (ไม่เกิน 3 แนวทาง) กฎหมายจะไม่มีผลเหนือการเมือง


3.
ผลประโยชน์ของผู้มีตำแหน่งและอำนาจในระดับต่างๆ เป็นตัวขัดขวางการปรองดอง

กฎกติกาตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เป็นสิ่งที่ฝ่ายทำรัฐประหารสร้างขึ้นมาเพื่อใช้สืบทอดอำนาจผ่านองค์กรต่างๆ และได้ตั้งบุคลากรเข้ามาควบคุมไว้แล้วจึงจำเป็นต้องรักษาสถานภาพนี้ไว้ให้นานที่สุด

ปชป. ก็ได้ประโยชน์จากการรัฐประหารเพราะเป็นตัวเชิดที่ออกหน้ามาตั้งแต่ 2548 พร้อมกับกลุ่มพันธมิตรแต่หลังตุลาการภิวัฒน์ได้เป็นรัฐบาลจึงได้ประโยชน์มากกว่ากลุ่มพันธมิตรซึ่งออกแรงหนักมาตลอดเช่นกัน

ในขณะเดียวกันไม่เพียงแค่นักการเมืองที่ได้ประโยชน์ คนกลุ่มอื่นๆ ก็ได้เข้าไปดำรงตำแหน่งเพราะผลของรัฐธรรมนูญและอำนาจลึกลับในระบบอุปถัมภ์ ทั้งในวุฒิสภาและองค์กรอิสระ รัฐวิสาหกิจ ตำแหน่งในมหาวิทยาลัย ตลอดถึงองค์กร NGO จะได้ด้วยการลากตั้ง เวียนกันตั้งหรือ วิธีพิเศษ
ผลตอบแทนที่ได้รับมีทั้งเงินเดือนตั้งแต่หลายหมื่นจนถึงหลายแสน เบี้ยประชุมสวัสดิการพิเศษ ต่ออายุราชการไม่ต้องเกษียณเมื่ออายุ 60 ได้ผลประโยชน์โดยอ้อมทางธุรกิจ
แม้แต่องค์กรสื่อสารมวลชนบางแห่งก็ได้ประโยชน์จากอำนาจเหล่านี้
แต่งบประมาณที่นำมาจ่ายให้ทั้งหมด ก็ล้วนมาจากภาษีประชาชนทั้งสิ้น ถ้ามองให้ลึกลงไป การต่อสู้เพื่อรักษาอำนาจอันนี้ไว้ ก็คือการต่อสู้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของแค่ละคนนั่นเอง

เวลาทำให้คนเปลี่ยนเพียงสังขาร แต่ผลประโยชน์ทำให้ความคิดและจุดยืนเปลี่ยน โดยไม่ต้องใช้เวลานาน จากซ้ายก็กลายเป็นขวาได้ นี่เป็นกฎธรรมชาติ


4.
ผลประโยชน์ของชนชั้น เป็นความขัดแย้งพื้นฐาน ถ้าไม่ปรับตัวและยอมรับ จะเป็นอุปสรรค

บทเรียนแรก...การกระจายอำนาจและงบประมาณลงสู่ท้องถิ่น แม้การกระจายอำนาจการปกครองจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่นจะเป็นนโยบายมานานแล้วแต่ที่ชาวบ้านได้สัมผัสและเห็นชัดก็เมื่อมีการเลือกตั้ง อบต. หรือเทศบาลเมื่อหลายปีก่อนและองค์กรท้องถิ่นมาดูแลพวกเขามากขึ้น

แม้จะดูวุ่นวายร้ายกาจในบางแห่งแต่ก็เป็นเรื่องปกติของการเริ่มต้น สมัยก่อนในประเทศอเมริกา การปกครองท้องถิ่นยังต้องใช้ปืนยิงกัน ยังลงโทษด้วยการแขวนคอและก็สามารถพัฒนามาจนเข้มแข็งได้ถึงทุกวันนี้ ดังนั้น ทั้งสังคมของเราจะต้องเรียนรู้เรื่องอำนาจและปกป้องผลประโยชน์ด้วยตนเอง

ปัจจุบันอุดมการณ์ประชาธิปไตยเข้าถึงชาวบ้านได้อย่างแพร่หลายทั้งกว้างทั้งลึก โดยมีทักษิณ พรรคเพื่อไทย และคนเสื้อแดงเป็นหัวหอกกระจายความคิดของกลุ่มอำนาจใหม่

เพราะชาวบ้านรู้ว่าประชาธิปไตยไม่ใช่อนุสาวรีย์ แต่มันกินได้ ใช้ได้ รักษาโรคได้ เริ่มตั้งแต่ 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งทำให้การเสียที่นาเพื่อรักษาพ่อ-แม่ไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว
คนจนบางส่วนได้รู้จักการกู้เงินดอกเบี้ยถูกเป็นครั้งแรก ตลอดหลายชั่วโคตรไม่เคยสัมผัสเงินหมื่น
นี่เป็นครั้งแรกในชีวิต เอาเป็นว่าสารพัดประชานิยมทำให้ชาวบ้านลืมตาอ้าปากและเป็นหนี้ได้ในเวลาเดียวกัน แต่ชาวบ้านยินดีและต้อนรับโอกาสแบบนี้แม้จะเจ็บปวดบ้าง ถือว่าชีวิตยังมีโอกาส ดีกว่าต้องจมอยู่กับวิถีชีวิตแบบเก่าที่ไม่มีความหวังเอาเสียเลย

ชาวบ้านรักษาผลประโยชน์ของตนเองอย่างเต็มที่ พวกเขามีทักษิณ พรรคเพื่อไทย และคนเสื้อแดงเป็นหัวหอก กลุ่มเหล่านี้อาจเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มอำนาจใหม่ ข้อได้เปรียบของพวกเขาคือกระจายอำนาจและเงินภาษีผลลงไปถึงประชาชนชั้นกลางและชั้นล่าง จะเรียกว่าประชานิยมหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ก็เป็นที่ถูกใจของประชาชน
ดังนั้น นโยบายหลายอย่างจึงดำรงต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยทักษิณจนถึงสมัยอภิสิทธิ์ ไม่มีใครกล้ายกเลิก

ในขณะที่กลุ่มอนุรักษ์และกลุ่มอำนาจเก่าก็รักษาผลประโยชน์ของตัวเองเช่นกัน แต่ความได้เปรียบที่เคยมีมา 50 ปี 100 ปี กำลังถูกย่อยสลาย โดยระบบสื่อสาร โดยกฎเกณฑ์ใหม่ๆ โดยการศึกษา ทำให้คนรู้เท่าทันและไม่ยอมเสียเปรียบ ผลประโยชน์จึงต้องถูกกระจายลงให้กับคนชั้นกลางและชั้นล่าง

ฝ่ายหนึ่งต่อสู้เพื่อรักษาผลประโยชน์เดิม
อีกฝ่ายหนึ่งต่อสู้เพื่อให้มีประโยชน์เพิ่มขึ้น เพราะที่ผ่านมามีผลประโยชน์น้อยมาก เมื่อยิ่งสู้และยิ่งได้เพิ่ม พวกเขาก็จะสู้ต่อไป

ความขัดแย้งนี้จะคงอยู่ต่อไปไม่ว่าจะมีทักษิณ หรือไม่ก็ตาม



จะจบอย่างไร?
ทักษิณกลับมาจะจบหรือไม่?

การกลับมาของทักษิณ เป็นข่าวสารในหมอกควันเท่านั้น เครื่องบินไอพ่นจะลงได้ รันเวย์จะต้องเรียบและยาวพอ
เครื่องบินไอพ่นของทักษิณบินไปมาได้ทั่วโลกแต่ลงที่ประเทศไทยไม่ได้เพราะบนรันเวย์มีทั้งท่อนซุงและก้อนหินจำนวนมากมาขวางไว้ คงต้องใช้เวลาอีกนาน กว่าจะเคลื่อนย้ายสิ่งกีดขวางเหล่านั้นออกจากรันเวย์ได้หมด
ข่าวเรื่องเครื่องบินจะมาลงปลายปีหรือเร็วๆ นี้จึงเป็นข่าวสารในหมอกควันเท่านั้น คนขับเครื่องบินก็ไม่มีวันรู้ล่วงหน้า เขาจะรู้กำหนดการลงก็ต่อเมื่อรันเวย์โล่งแล้วเท่านั้น

ทักษิณเป็นองค์ประกอบหนึ่งของกระบวนการการเปลี่ยนแปลงที่มีความสำคัญมาก แม้เวลานานขึ้น องค์กรและมวลชนพัฒนามากขึ้น ภาระของทักษิณก็จะเบาลง
แต่การกลับมาของเขาจะเป็นจุดเปลี่ยนของสถานการณ์ ไม่ใช่บทจบ

ทีมวิเคราะห์เห็นว่า หลังจากฝ่ายอำนาจใหม่ซึ่งสนับสนุนทักษิณเคลื่อนกำลังมวลชนออกมาต่อสู้กลางถนน เดินเกมการเมืองจนชนะเลือกตั้ง พิสูจน์ให้เห็นถึงพลังของคนเสื้อแดง ทั้งบนถนนในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 และในสนามเลือกตั้ง เมื่อเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2554 พลังนั้นชี้ว่าการรัฐประหารหรือตุลาการภิวัฒน์จะไม่สามารถทำได้ง่ายๆ อีก เพราะถ้าเกิดขึ้นอีกครั้งก็คือการประกาศสงคราม ซึ่งไม่มีใครกลัวใคร

เมื่อวานนี้ กลุ่มอำนาจเก่ายังไม่อาจชนะอำนาจใหม่ได้ วันนี้ อำนาจก้ำกึ่งกัน และเมื่อดูจากปัจจัยที่แปรปรวนในอนาคต กลุ่มอำนาจเก่ายิ่งไม่มีโอกาสชนะ เพียงแต่ในวันนี้กลุ่มอำนาจเก่าขอพยายามอีกครั้ง

แต่มีคนเตือนว่า อย่าแน่ใจว่าบางคนหรือบางกลุ่มมีอำนาจปืนอยู่ในมือคนเดียว และ วันนี้แม้หย่อนบัตรเลือกตั้งที่ค่ายทหารยังไม่แน่ว่าใครชนะ

ความขัดแย้งแบบที่เกิดในบ้านเราวันนี้ให้ถือเป็นเรื่องปกติ ปรองดองได้ก็ปรองดอง ดองไม่ได้ก็ตากแห้ง ให้ไปจบที่ข้อตกลงใหม่แบบที่จำเป็นต้องยอมรับทั้งสองฝ่าย ไม่มีใครได้ทั้งหมด ไม่มีใครเสียทั้งหมด มันจะคาราคาซังไปอย่างนี้พักใหญ่ และจะเกิดการเปลี่ยนแปลง เมื่ออำนาจที่สมดุล เกิดความแตกต่างชัดเจน ซึ่งจะมีเหตุการณ์การเมืองบางเรื่องจุดประกายให้ทุกฝ่ายต้องตัดสินใจ

ซึ่งไม่รู้ว่าจะเป็นตอนจบภาคแรก หรือเริ่มภาคสอง



.