http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-26

ฝ่ายค้านลาออกจาก กมธ.ปรองดอง / ฯ ยุทธศาสตร์ ประเทศไทย ปรองดอง..

.
โพสต์เพิ่ม - 'กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล'เสนอปรองดอง นับหนึ่งที่กระบวนการยุติธรรม
โพสต์เพิ่ม - 2 สภาลงมติเห็นชอบให้นำผลวิจัยปรองดองมาพิจารณา

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ฝ่ายค้านประกาศลาออกจากกรรมาธิการปรองดอง
จาก www.prachatai.com/journal/2012/03/39818 . . Mon, 2012-03-26 17:41


ส.ส.ประชาธิปัตย์ 9 คนลาออกจาก กมธ.ปรองดอง "จุรินทร์" ฉะมีการยืมมือรัฐสภา-สถาบันพระปกเกล้าเพื่อนิรโทษกรรม เรียกร้อง "สถาบันพระปกเกล้า" ถอนรายงาน ด้าน "บิ๊กจิ๋ว" ร่อนจดหมายโต้ "มาร์ค" ยันนิรโทษกรรมเป็นทางออกของชาติ เหมือน 66/23 สร้างประชาธิปไตย


ฝ่ายค้านขอลาออกจาก กมธ.ปรองดอง

สำนักข่าวไทยรายงานว่า วันนี้ (26 มี.ค.) เวลา 11.30 น.ที่รัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎรในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 9 คน ได้ขอแสดงความจำนงลาออกจากตำแหน่ง

หลังยื่นหนังสือให้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลิน ประธานกรรมาธิการฯ ทบทวนรายงานผลการวิจัยแนวทางสร้างความปรองดองของสถาบันพระปกเกล้า แต่ พล.อ.สนธิ ไม่รับฟัง และเร่งรัดเสนอเรื่องดังกล่าวต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ให้บรรจุในวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อขอความเห็น และลงมติในรายงานงานของกรรมาธิการฯ ทั้งที่มีการขยายเวลาการพิจารณาของ กรรมาธิการฯ ไปอีก 30 วัน

ฝ่ายค้านเห็นว่า ควรทบทวนรายงานผลการวิจัย เพื่อให้รายงานครบถ้วน ไม่ให้มีการหยิบบางประเด็น มาเป็นประโยชน์ของฝ่ายใด ไม่ให้นำข้อมูลมาใช้เปรียบเทียบในทางที่ผิด อีกทั้ง เรียกร้องให้สถาบันพระปกเกล้าถอนรายงานออก เพื่อป้องกันถูกใช้เป็นเครื่องมือนำไปสู่การนิรโทษกรรม ทำให้ประเทศขัดแย้งครั้งใหม่ และขอคัดค้านที่นายสมศักดิ์ บรรจุเรื่องนี้เร่งด่วน เพราะจะยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น และเห็นว่าเป็นการมัดมือชก หรือยืมมือรัฐสภา ยืมมือกรรมาธิการและสถาบันพระปกเกล้า เพื่อลงมติเพื่อนำไปสู่เป้าหมายนิรโทษกรรม” นายจุรินทร์กล่าว

สำหรับกมธ.สัดส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ มีจำนวนทั้งหมด 9 คนประกอบด้วย 1.นายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2.นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3.นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 4.นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง 5.นายเจะอามิง โตะตาหยง ส.ส.นราธิวาส 6.นายนคร มาฉิม ส.ส.พิษณุโลก 7.นายศุภชัย ศรีหล้า ส.ส.อุบลราชธานี 8.นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 9.น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม.



"บิ๊กจิ๋ว" ร่อนจดหมายโต้ "มาร์ค" ยันนิรโทษกรรมเป็นทางออกของชาติ

ขณะเดียวกัน มติชนออนไลน์ รายงานว่าวันนี้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ทำหนังสือออกมาตอบโต้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในประเด็นการนิรโทษกรรมจะล้มล้างอำนาจตุลาการ ทำลายระบบยุติธรรมและการยกเลิกผลคดีที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยได้นำจดหมายมาให้เจ้าหน้าที่สภานำมาแจกแก่สื่อมวลชน

สำหรับเนื้อหาการตอบโต้นั้นในหนังสือระบุว่า พล.อ.ชวลิตเห็นว่าการออก พ.ร.บ. นิรโทษกรรมจะช่วยให้ระบบยุติธรรมของไทยดีขึ้น เพราะจะไม่นำเอาปัญหาการเมืองที่เกิดจากระบอบการรัฐสภาและเผด็จการรัฐประหารมาแก้ไขระบบยุติธรรมของศาล นอกจากจะแก้ไขปัญหาไม่ได้กลับทำให้ปัญหาบานปลายมากขึ้น

พร้อมยืนยันการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะทำให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ โดยเชื่อว่าการใช้นโยบาย 66/23 สร้างประชาธิปไตยในอดีต จะเป็นทางออกสูงสุดของชาติ โดยนิรโทษกรรมอย่างไม่มีเงื่อนไข ช่วยให้เกิดความปรองดองและความสามัคคีในชาติได้อย่างแท้จริง

ส่วนการยกเลิกคดีที่ดำเนินโดย คตส.นั้น เห็นว่าทุกอย่างจะต้องกลับไปสู่สภาพเดิม เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการเมือง เมื่อ คตส.มีที่มาไม่ถูกต้อง จึงถือว่าผิดตั้งแต่ต้น ดังนั้น เมื่อระบอบทำให้เกิดปัญหา จึงต้องยุติทุกอย่างที่ดำเนินการโดย คตส.



++

แนวโน้ม ทิศทาง ยุทธศาสตร์ ประเทศไทย ปรองดอง สมานฉันท์
ในมติชน ออนไลน์ วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 14:00:44 น.


ขณะที่มีความเชื่อตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตเมื่อปี 2532 และการพังทลายของกำแพงเบอร์ลินติดตามมา สะท้อนทิศทางและแนวโน้มโลกว่า ดำเนินไปในทิศทางและแนวโน้ม "ประชาธิปไตย" อย่างเด่นชัดยิ่ง

ถามว่า ทิศทางและแนวโน้มของประเทศไทย นอกเหนือจากความเรียกร้องต้องการในทิศทางและแนวโน้ม "ประชาธิปไตย" แล้ว จะยังมีทิศทางและแนวโน้มของอะไรอีกที่กำลังแผ่ขยายมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ
ตอบได้เลยว่าคือ ทิศทางและแนวโน้มแห่ง "ปรองดอง สมานฉันท์"

คล้ายกับว่าข้อขัดแย้งอันปรากฏขึ้น ดำรงอยู่ ดำเนินไป ภายในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร จะเป็นอุปสรรค สกัดขัดขวางมิให้โอกาสที่จะเกิดการปรองดองแห่งชาติได้อย่างราบรื่น
อาจเป็นเช่นนั้นในขั้นหรือระดับอันแน่นอนหนึ่ง

เช่นเดียวกับการถามตรงไปยังเบื้องหลังการยึดอำนาจโดยวิธีรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 จาก พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ อาจทำให้จังหวะก้าวสะดุดหยุดลงบ้างและเพิ่มประเด็นอันเป็นข้อถกเถียงขึ้นมา
กระนั้น หากกล่าวโดยยุทธศาสตร์ การปรองดอง สมานฉันท์ ยังเป็นเป้าหมายที่เด่นชัดยิ่ง
ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ยุทธศาสตร์ล้วนตรงกัน
นั่นคือ ต้องการเห็นการปรองดอง สมานฉันท์


ความแตกต่างอันสะท้อนผ่านความหงุดหงิดของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ความแตกต่างอันสะท้อนผ่านวาทกรรมของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
เป็นปัญหาในทาง "ยุทธวิธี" มิได้เป็นปัญหาในทาง "ยุทธศาสตร์"

เป็นปัญหาในเรื่องวิธีการ เป็นปัญหาในเรื่องกระบวนการ ซึ่งแต่ละฝ่ายมีความแตกต่างไปตามภูมิหลังของแต่ละคน แต่ละฝ่าย
เพราะว่า พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ก็มีเจตจำนงที่จะสร้างความปรองดอง สมานฉันท์

การเสนอคำถามของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ก็เสมอเป็นเพียงต้องการความกระจ่างจาก พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และแสดงความไม่เห็นด้วยกับวิธีการ กับกระบวนการอันกรรมาธิการที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อยู่ในสถานะแห่งประธานเท่านั้น


แต่เมื่อผ่านการพิจารณาอย่างละเอียดรอบด้าน ทุกอย่างก็จะดำเนินไปอย่างที่หัวหน้าคณะวิจัย จากสถาบันพระปกเกล้า นายวุฒิสาร ตันไชย สรุป นั่นก็คือคำถามของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ไม่มีผลอะไรต่องานวิจัยของนักวิชาการ 20 คน จากสถาบันพระปกเกล้า

อาจกระทบต่อบรรยากาศการปรองดองบ้าง แต่ในที่สุดทุกอย่างก็ต้องเดินหน้า

การเดินหน้าในที่นี้มีความหมายเดียวเท่านั้น คือ การบรรลุยุทธศาสตร์ที่จะต้องปรองดองสมานฉันท์ ในสังคมประเทศไทยให้จงได้

เหตุปัจจัยอะไรทำให้มีความเชื่อมั่นเช่นนี้
เหตุปัจจัยที่สำคัญเป็นอย่างมากดำเนินไปตามบทสรุปอันรวบรัดยิ่งของ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำของ นปช.
"เวลานี้ทุกคนเล็กหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นเหลืองหรือแดง ที่ใหญ่ที่สุดคือประเทศไทย ต้องมองให้ชัดว่าประเทศนี้มีปัญหาอยู่หรือไม่"

ปมเงื่อนที่ยังแตกต่างและค้างคาอยู่ตรงที่แต่ละฝ่ายมองปัญหาของประเทศไทยแตกต่างกัน

ปมเงื่อนอยู่ที่ว่า แต่ละฝ่าย แต่ละคน เมื่อมีบทสรุปต่อปัญหาของประเทศไทยแตกต่างกัน แต่ละฝ่าย แต่ละคน ต่างต้องการที่จะดัดแปลงประเทศไทย ต้องการที่เปลี่ยนแปลงประเทศไทย ไปตามบทสรุปของตน

ตรงนี้แหละคือมูลเชื้ออันนำไปสู่การขัดแย้ง ปะทะ ต่อสู้


ความพยายามของคณะนักวิจัย สถาบันพระปกเกล้า ความพยายามของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ คือ แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง

หากลดจุดต่างให้เล็กลง นั่นเท่ากับมีจุดร่วมเดียวกันมากยิ่งขึ้น

มีความจำเป็นที่จะต้องย้อนกลับไปศึกษาและทำความเข้าใจและลดทอนลักษณะ ขิงก็รา ข่าก็แรง ลง

การจะทำเช่นนั้นได้หมายความว่าทุกคนต้องร้องเพลงเดียวกัน มีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือเพลงแห่งประเทศไทย เป้าหมายอันเป็นประเทศไทย

หากปรองดองได้สำเร็จก็เท่ากับเปิดโอกาสให้ประเทศไทยได้พบความสงบสุขและพัฒนา



+++

'กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล'เสนอปรองดอง นับหนึ่งที่กระบวนการยุติธรรม
จาก www.prachatai.com/journal/2012/03/39814 . . Mon, 2012-03-26 08:26


แถวหน้า: เสาวรส โพธิ์งาม (เสื้อเขียว), สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ (เสื้อขาว), สุดา รังกุพันธ์ (เสื้อแดง), ภรรยาอากง (เสื้อขาว), ภรรยาสุรชัย (เสื้อแดง)


25 มี.ค.55 กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลจัดกิจกรรมเสวนาบาทวิถี "ปรองดองบนความอยุติธรรม...ทำเพื่อใคร?" หน้าศาลอาญารัชดา โดยมี ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อ.สุดา รังกุพันธ์ ทนายประเวศ ประภานุกูล ทนายเสาวรส โพธิ์งาม รวมทั้งญาติผู้ต้องขัง เช่น ภรรยาอากง ภรรยานายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ ร่วมแสดงความเห็นต่อกระบวนการปรองดองของรัฐบาล รัฐสภา และรายงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้า


ประเวศ ประภานุกูล ทนายความของดารณี ชาญเชิงศิลปกุล นักโทษคดี 112 กล่าวว่า ข้อเสนอเรื่องการนิรโทษกรรมของสถาบันพระปกเกล้าบางข้อเป็นการนิรโทษกรรมให้กับคนที่ยิงประชาชนเมื่อ 2 ปี ก่อนด้วย ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับการนิรโทษกรรมหลัง 6 ตุลาคม 2519 และ พฤษภาคม 2535 การนิรโทษกรรมหลัง 6 ตุลาคม19 เป็นการตัดตอนไม่ให้มีการสืบสวนไปถึงคนสั่งฆ่า ปัจจุบันนี้ก็เช่นเดียวกัน ดังนั้น การปรองดองจึงเป็นคำพูดสวยหรู เป็นการริเริ่มของฝ่ายอำมาตย์ เพื่อให้เรายอมรับว่าตายฟรี ว่าเผาบ้านเผาเมือง ว่าไม่เอาผิดผู้สั่งฆ่า ให้เรายอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข ซึ่งตนเองไม่เห็นด้วย การปรองดองต้องเกิดขึ้นเมื่อความจริงปรากฏแล้ว คนสั่งยิงต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก่อน


เสาวรส โพธิ์งาม ทนายความและอาสาสมัครศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบกรณีสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53 (ศปช.) ซึ่งลงพื้นที่เก็บข้อมูลผู้ถูกจับกุม/ดำเนินคดี ให้ความเห็นต่อการปรองดองว่า ต้องมีความจริงว่า ใครเป็นผู้สังหารประชาชน ต้องปล่อยนักโทษการเมือง โดยยกเลิกความผิดที่รัฐกล่าวหา เนื่องจากคดีอาญาเหล่านี้เกิดจากแรงจูงใจทางการเมือง เกิดจากอำนาจรัฐในเวลานั้นยัดข้อหา และข่มขู่คุกคามให้รับสารภาพ จากนั้น ศาลก็หยิบยกคำสารภาพในชั้นสอบสวนไปพิจารณาพิพากษาคดี
การที่นายอภิสิทธิ์เสนอ(ในเวทีที่จัดโดยกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางปรองดองแห่งชาติ) ให้นำข้อเท็จจริงในชั้นศาลมาเป็นข้อเท็จจริงของสังคม แสดงว่านายอภิสิทธิ์ไม่รู้เลยว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมากระบวนการยุติธรรมมีปัญหา และเป็นต้นเหตุของความขัดแย้งในปัจจุบัน ดังนั้น การปรองดองจะไม่เกิดขึ้น ถ้าไม่มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และไม่จริงใจพูดเรื่องนักโทษการเมือง


อ.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงอำนาจตุลาการว่า มีปัญหาในเชิงรัฐธรรมนูญมาตลอดตั้งแต่ พ.ศ.2490 เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติให้ยึดโยงกับประชาชน แต่ถือตนเองตัดสินในพระปรมาภิไธย และผูกขาดการตีความความยุติธรรม โดยไม่มีอำนาจอื่นตรวจสอบ กระบวนการยุติธรรมไทยจึงมีกรอบคิดแบบอำนาจนิยม และไม่มีกรอบคิดเรื่องประชาธิปไตยมาตลอด การรัฐประหาร 19 กันยา ทำให้ทุกอย่างเปิดเผย ทำให้เราเห็นว่าศาลมีความบิดเบี้ยว และเข้ามาแทรกแซงการเมืองมากเกินไป
ธีรยุทธ บุญมี อธิบายว่าการปกครองโดยกฎหมายเกิดขึ้นก่อนประชาธิปไตย ถ้าประชาธิปไตยบิดเบี้ยว ตุลาภิวัฒน์ก็มีความชอบธรรมที่จะเข้าไปจัดการ เป็นการอธิบายที่ผิดพลาด เพราะระบบกฎหมายไม่มีความถูกต้องในตนเอง กรอบคิดเรื่องกฎหมายมี 2 ลักษณะ คือ กฎหมายแบบอำนาจนิยม กรอบคิดแบบนี้ถือว่ารัฏฐาธิปัตย์ออกกฎหมายมา ประชาชนต้องปฏิบัติตาม กับอีกลักษณะหนึ่ง คือ กฎหมายเป็นสัญญาประชาคม เป็นกติกาที่ประชาชนมากำหนดร่วมกัน ดังนั้น กฎหมายที่ชอบธรรมต้องมาจากการร่างของรัฐสภา ถ้าคิดตามกรอบนี้ มีกฎหมายไทยไม่น้อยกว่าครึ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่ผู้พิพากษาไทยไม่เคยตั้งคำถาม โดยเฉพาะ ม.112 ซึ่งแก้ไขล่าสุดโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเมื่อปี 19

อ.สุธาชัย กล่าวสรุปว่า การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้เกิดความปรองดองจึงเป็นเรื่องใหญ่ แต่รัฐบาลนี้ก็คงทำอะไรไม่ได้ เพราะเกรงใจอำมาตย์ ศาล และกองทัพ


อ.สุดา รังกุพันธ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ผู้ดำเนินรายการกล่าวเน้นว่า หากรัฐบาลต้องการให้เกิดความปรองดอง ต้องปล่อยนักโทษการเมืองทุกคน ทั้งที่ถูกจับหรือหลบหนีอยู่ รวมทั้งนักโทษคดี 112 ด้วย ต้องทำให้พวกเขาพ้นผิด กลับสู่สภาพเดิมก่อนรัฐประหาร 19 กันยา

หลังจบเสวนา ผู้เข้าร่วมเวทีกว่า 50 คน ร่วมกันกล่าวคำปฏิญญา “สังคมไทยจะปรองดองต้องเอาคนผิดติดคุก ผู้บริสุทธิ์ต้องถูกปล่อยตัว

ทั้งนี้ กลุ่มปฏิญญาหน้าศาลจะจัดกิจกรรมเสวนาบาทวิถี หน้าศาลอาญารัชดา ทุกวันอาทิตย์ เพื่อรณรงค์ให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และปล่อยตัวนักโทษการเมือง



+++

2 สภาลงมติเห็นชอบให้นำผลวิจัยปรองดองมาพิจารณา
จาก www.prachatai.com/journal/2012/03/39839 . . Tue, 2012-03-27 23:48


สภาลงมติเห็นชอบ 348 ต่อ 162 ให้นำผลวิจัยรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติมาพิจารณา ด้าน "พล.อ.สนธิ" ถูก ส.ส.ปชป.ด่า "ทรราชย์"


เปิดสภาถกเดือดญัตติปรองดอง

สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานวันนี้ (27 มี.ค.) ว่า ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาซึ่งเริ่มเวลา 10.00 น. มีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม

โดยในวันนี้มีญัตติขอให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และคณะเป็นผู้เสนอ โดยการประชุมจะมีการเปิดให้สมาชิกอภิปรายก่อนขอมติ ตามมาตรา 127 ซึ่งต้องได้คะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่ทั้ง 2 สภา เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎรต่อไปได้ แต่หากที่ประชุมร่วมกันรัฐสภาไม่เห็นชอบก็ไม่สามารถพิจารณาญัตติได้ในสมัยประชุมนี้ ซึ่งจะต้องรอให้เปิดประชุมสมัยสามัญทั่วไปถึงจะเสนอญัตติดังกล่าวให้สภาพิจารณาได้

ในเวลาประมาณ 16.45 น. นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่านพรรคเพื่อไทย ได้เสนอให้เลื่อนวาระดังกล่าว ขึ้นมาพิจารณาก่อนญัตติขอให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีมติให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลินและคณะ เป็นผู้เสนอขึ้นมาพิจารณาก่อน ทำให้ ส.ส.ฝ่ายค้านประท้วง


"พล.อ.สนธิ" หวังสร้างสังคมแห่งความรัก ด้าน ส.ส.ฝ่ายค้านตะโกนด่าทรราชย์

โดยการประชุมดังกล่าว เว็บไซต์ข่าวสด รายงานว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ฐานะประธาน กมธ.ปรองดอง ชี้แจงระหว่างการประชุมร่วมรัฐสภา โดยกล่าวถึงกรณี ส.ส.ประชาธิปัตย์ลาออกจากกรรมาธิการปรองดองว่า ทุกครั้งที่มีการอภิปรายพาดพิงตนทั้งในและนอกสภา ตนไม่เคยตอบรับหรือแก้ตัว เพราะความจริงคือความจริง ตลอดเวลาตนจะไม่เคยพูดอะไรในห้องประชุมแห่งนี้ที่ถือเป็นสถานที่ที่มีเกียรติ ทุกครั้งที่มีการอภิปรายจะเห็นว่าตนไม่ได้ต่อล้อต่อเถียงแก้ตัวใดๆ ตนได้อาสาเข้ามาเป็นประธาน กมธ.ปรองดองด้วยตัวของตัวเอง ตนมีที่มาจากดินทำทุกอย่างในชีวิตด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อบ้านเมือง เมื่อสักครู่หลายคนได้เดินมาที่หน้าตนและระบุว่าที่ผ่านมาได้ชื่นชมแต่วันนี้หมดแล้วสิ่งที่ได้ชื่นชมวันนั้นนี่คือความจริงที่ปรากฏทุกคนจะได้รู้จักตนว่าในแก่นแท้มีหลายอย่างที่ยังไม่รับทราบ

"ผมเห็นบ้านเมืองมีความแตกแยกครั้งแล้วครั้งเล่าวันที่ 20 ก.ย. 2549 จะฆ่ากันอยู่ ผมวางคออยู่บนเขียง ถามว่าใครรับผิดชอบ ผู้ใหญ่ทางฝ่ายค้านก็รู้เรื่องนี้ดีว่าผมอาสาทำ ความขัดแย้งต่อเนื่องมาถึงวันนี้ต้องถามว่าผู้นำเราแต่ละคนมีความตั้งใจจะสร้างสังคมเป็นสังคมของความรักหรือไม่จนถึงวันนี้มีนายกฯ ผ่านมา 5 คนสถานการณ์ก็ยังเป็นแบบเดิม ผมเสียใจที่พี่น้องประชาชนไทยเห็นผมและเพื่อนๆ ทุกคนที่นี่กำลังทำอะไรกันอยู่ ความขัดแย้งมันไม่ได้มีข้างนอกเลย มันอยู่ในนี้และขยายไปข้างนอก" พล.อ.สนธิกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานในที่ประชุมสังพักการประชุม บรรยายกาศในห้องประชุมก็วุ่นวายเล็กน้อย โดย ส.ส.ในซีกพรรคประชาธิปัตย์ต่างจับกลุ่ม หารือ โดยมุ่งไปที่ประเด็นกรณีประธานทำหน้าที่ไม่เป็นกลางในการประชุม พร้อมตะโกนกล่าวหาว่า ประธาน ทำหน้าที่ไม่ได้ ไม่สามารถควบคุมการประชุม ขณะเดียวกันก็มี ส.ส.ในซีก ปชป.บางคนตระโกนด่า พล.อ.สนธิ ว่า “ทรราชย์” บางคนก็เรียก “พลทหาร”

ทั้งนี้จากนั้นสมาชิกสองฝ่ายต่างชี้แจงรายงานของคณะกรรมาธิการว่ารับรองถูกต้องหรือไม่ โดย ส.ส.พรรคเพื่อไทยยืนยันว่าเป็นรายงานที่รับรองถูกต้อง แต่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยังคงค้านว่าเป็นรายงานที่ไม่ได้รับรอง จนเวลา 21.20 น. นายสมศักดิ์สั่งให้ลงมติว่าจะเลื่อนญัตติของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่เสนอให้เลื่อนการพิจารณารายงานของ กมธ.ปรองดองออกไปก่อนหรือไม่ โดยที่ประชุมเห็นด้วยกับข้อเสนอนายอภิสิทธิ์ 173 เสียง ไม่เห็นด้วย 346 เสียง งดออกเสียง 6 และลงมติในญัตติของ น.พ.ชลน่าน ที่เสนอว่าให้เลื่อนรายงานของกมธ.ปรองดอง มาพิจารณาก่อนด้วยคะแนน เห็นด้วย 348 ไม่เห็นด้วย 162 งดออกเสียง 112



.