http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-29

ดับไฟใต้ ฉบับ สมช., +ศึกษาไฟใต้-ดับไฟอีสาน โดย วงค์ ตาวัน

.

ดับไฟใต้ ฉบับ สมช.
โดย วงค์ ตาวัน คอลัมน์ ชกคาดเชือก
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1649 หน้า 98


ขณะที่อดีตนายกฯ ทักษิณ ยอมสารภาพว่า ได้ใช้นโยบายผิดพลาดในภาคใต้จึงนำมาสู่ความรุนแรง เพราะไปใช้กำปั้นเหล็กแทนที่จะใช้ถุงมือกำมะหยี่ จากนั้นเราเริ่มเห็นท่าทีของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย พยายามจะปรับเปลี่ยนนโยบายดับไฟใต้
คล้ายจะหันมาใช้ถุงมือกำมะหยี่
**โดยในระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง ได้พูดถึงเขตปกครองพิเศษ**
แม้ว่าผลการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทยจะชนะท่วมท้น ได้จัดตั้งรัฐบาล แต่ก็ไม่สามารถชนะเลือกตั้งในเขต 3 จังหวัดใต้ได้

นั่นยิ่งท้าทายรัฐบาลนายกฯ หญิงยิ่งลักษณ์ จะต้องเร่งโชว์ความสามารถในการคลี่คลายความรุนแรงในชายแดนภาคใต้ให้ได้


เพราะหากทำได้สำเร็จ จะได้รับการยอมรับจากทั่วประเทศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง 3 จังหวัดใต้
จึงได้เห็นความพยายามหลายอย่างของรัฐบาลในการพลิกนโยบายใหม่ภาคใต้
*ล่าสุด ฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทย ได้เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.มหานครปัตตานี ซึ่งก็คือการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองท้องถิ่น ให้เป็นเขตพิเศษ*
แต่แน่นอนว่า ข้อเสนอเขตปกครองพิเศษ ล่อแหลมต่อการถูกฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองหาเรื่องโจมตีได้
เช่น จะยิ่งทำให้ 3 จังหวัดภาคใต้ ถูกแบ่งแยกดินแดนไปในที่สุด อะไรทำนองนั้น
จึงทำให้พรรคเพื่อไทยยังไม่กล้าแสดงความเห็นอะไรเปิดเผยต่อนโยบายนี้มากนัก
**ทั้งที่ในความเป็นจริง ในโลกยุคใหม่ที่ทุกประเทศต้องมีการค้าขาย มีงบประมาณบริหารแผ่นดิน แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีการแยก 3 จังหวัดใต้ออกไปเป็นประเทศอิสระ**

ไม่เพียงฝ่ายตรงข้ามการเมืองของรัฐบาลเท่านั้น แต่กลุ่มอำนาจอื่นๆ เช่น กองทัพ ย่อมต้องไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน เพราะโดยสายตากองทัพนั้น ความมั่นคงของรัฐต้องอยู่เหนืออื่นใด
โดยกรอบความคิดของผู้นำกองทัพ ยากจะยอมรับความคิดนอกกรอบ แนวทางการแก้ปัญหาใหม่ๆ

แต่หากใช้สายตาที่เปิดกว้าง หลายประเทศในโลก เช่น จีน
ใช้วิธีแก้ปัญหาดินแดนที่เกิดความขัดแย้งกับรัฐส่วนกลาง ดินแดนที่มีคนส่วนใหญ่ต่างเชื้อชาติศาสนาออกไป ด้วยการจัดตั้งเขตปกครองพิเศษ เขตปกครองตนเองขึ้นมา

ส่วนใหญ่ในโลกใช้วิธีนี้ ซึ่งแก้ไขความขัดแย้งได้
*และไม่เกิดการแบ่งแยกดินแดนตามมา!*



ในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย ได้มีการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลใน 2 หน่วยงานด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้องกับการดับไฟใต้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลง ที่นำมาสู่กรอบความคิดใหม่ๆ ของ 2 หน่วยนี้ทันที

หนึ่งคือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหงวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ซึ่งเปลี่ยนแปลงเลขาธิการ โดยส่ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง จากรองปลัดกระทรวงยุติธรรม มาดำรงตำแหน่งนี้

**อีกหนึ่งคือ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. โดยย้าย พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี จาก ผบ.ตร. มาดำรงตำแหน่งนี้แทน**
แม้ส่วนหนึ่งจะมาเพราะเป็นการเปิดทางให้เปลี่ยนตัว ผบ.ตร.ใหม่

แต่การเลือกเก้าอี้เลขาฯ สมช.ให้กับ พล.ต.อ.วิเชียร ไม่ใช่แค่หาเก้าอี้อะไรให้ก็ได้ แต่เพราะเลือกสรรแล้ว ในฐานะที่เคยผ่านงานผู้นำตำรวจ
ย่อมซึมซับปัญหาความมั่นคงมาตลอด และปัญหา 3 จังหวัดใต้ก็สัมผัสมาแล้ว ด้วยสายตาของตำรวจอาชีพ

งานตำรวจนั้น แม้จะถือปืน แต่อีกมือต้องถือกฎหมาย จึงเป็นกรอบบังคับให้ทำอะไรต้องไม่เกินเลยขอบเขต ขณะเดียวกัน งานตำรวจสัมผัสใกล้ชิดชาวบ้านมากกว่าหน่วยงานที่ถือปืนหน่วยอื่น
*ตำรวจมีความเข้าใจในงานด้านมวลชนมากกว่าหลายหน่วย!*

แม้ว่าความผิดพลาดในนโยบายภาคใต้ยุคทักษิณ เกิดจากไปหลงเชื่อผู้นำตำรวจบางคนในช่วงนั้น แต่นั่นเป็นเพราะการประเมินสถานการณ์ของตำรวจบางคนที่ผิด ขาดความเข้าใจในความขัดแย้งด้านอุดมการณ์
ที่สำคัญ กำหนดจากผลประโยชน์ของนายตำรวจใหญ่บางคนที่เห็นชายแดนใต้เป็นขุมทรัพย์มากกว่า

แต่กล่าวสำหรับ พล.ต.อ.วิชียร และ พ.ต.อ.ทวี ย้อนดูเส้นทางชีวิตตำรวจ ต้องนับเป็นนายตำรวจที่ยึดมั่นในกรอบกติกา และไม่มีปัญหาผลประโยชน์แอบแฝง
**ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี ในช่วงเป็นรองปลัดยุติธรรม ได้ลงมาทำงานในพื้นที่ไฟใต้เสมอๆ ในด้านการอำนวยความยุติธรรม**
ยิ่งได้สัมผัสกับปัญหาคนในท้องถิ่นที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐ ไปจนถึงได้สัมผัสกับนักสิทธิมนุษยชน นักคิดนักวิชาการ จึงทำให้มีมุมมองที่ทันสมัยอย่างมาก

**ส่วน พล.ต.อ.วิเชียร ประสบการณ์จากตอนเป็น ผบ.ตร. ทำให้รู้ดีว่า การปราบปราม การใช้กองกำลังลงไปจัดการกับกลุ่มก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัด ยิ่งเข้าทางฝ่ายก่อการร้าย**
ยิ่งรบก็ยิ่งทำให้ไฟสงครามลุกโชน
*มีแต่จะยิ่งเป็นเงื่อนไขให้โจรใต้ขยายแนวร่วมได้มากขึ้น*


มุมมองต่อปัญหาไฟใต้ ของ สมช. ในยุค พล.ต.อ.วิเชียร สะท้อนให้เห็นความก้าวหน้าและความเข้าใจปัญหา ได้จากการผลักดัน"นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2555-2557"
สมช. ได้ผลักดันนโยบาย 3 ปีฉบับนี้ จนผ่านความเห็นชอบจาก ครม.ยิ่งลักษณ์ แล้ว ขั้นตอนต่อไปคือเสนอต่อสภาผู้แทนฯ เพื่อให้รับทราบ แล้วนำเสนอต่อวุฒิสภา
หากผ่านทุกขั้นตอนแล้ว หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องนำนโยบายนี้ไปเป็นกรอบในการบริหารต่อไป

*จุดสำคัญคือ ในนโยบายของ สมช. ได้เน้นการใช้"การเมืองนำการทหาร"อย่างชัดเจน*
ยึดหลักกระบวนการยุติธรรม และ หลักสิทธิมนุษยชน
รวมทั้ง สร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการพูดคุยเพื่อสันติภาพ แสวงหาทางออกจากความขัดแย้งที่ยืดเยื้อเรื้อรัง ภายใต้เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเป็นหลักสากลที่ได้รับการยอมรับ ไม่ใช่เป็นเงื่อนไขของการนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดน

เปิดให้สังคมภายนอกประเทศ มีส่วนสนับสนุนและมีบทบาทเกื้อกูลต่อการแก้ไขปัญหา

เสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกลุ่มบุคคลที่มีความแตกต่าง ให้เกิดการเรียนรู้ยอมรับ ตระหนักในคุณค่าของการอยู่ร่วมกันภายใต้ความหลากหลายของวิถีชีวิตและวัฒนธรรม
**ให้น้ำหนักเรื่องของภาษา ส่งเสริมการเรียนรู้ภาษาไทยควบคู่ไปกับภาษามาลายู มลายูถิ่น และภาษาต่างประเทศที่สำคัญ**

นั่นคือสาระสำคัญของนโยบาย สมช. ซึ่งจะเห็นได้ว่า มีกรอบความคิดที่สอดคล้องกับแนวทางแก้ปัญหาภาคใต้แบบที่มีกลุ่มนักคิดนักวิชาการที่ทันสมัย เสนอมาก่อนหน้านี้ ฉีกไปจากกรอบเดิมๆ ที่เน้นความยิ่งใหญ่ของรัฐไทยเหนือทุกเชื้อชาติศาสนา พร้อมจะเปิดการเปลี่ยนแปลงภายใต้หลักสากล แต่ไม่ขัดรัฐธรรมนูญและไม่ใช่การแยกดินแดน

*เพราะแม้แต่เขตปกครองพิเศษนั้น กล้าคิดกล้าทำกันหน่อย ไม่ใช่เรื่องยาก และไม่ได้ขัดกับรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด!*
โดยเฉพาะการยืนยันแนวทางการเมืองนำการทหารนั้น
ได้เขียนคำอธิบายของการเมืองเอาไว้ว่า
**การเมืองคือการจัดสรรผลประโยชน์อำนาจอย่างเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ การอำนวยความยุติธรรม ความเข้าใจในวิถีชีวิต อัตลักษณ์ของพื้นที่ และการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง ในการเข้ามาร่วม ทั้งในเรื่องการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาพื้นที่**

ดูนโยบาย สมช. ยุค พล.ต.อ.วิเชียร แล้ว

ดูการเดินแนวทางพูดคุยเจรจาเพื่อหาทางออกสันติวิธี ของ ศอ.บต. ยุค พ.ต.อ.ทวี แล้ว

*2 หน่วยนี้น่าจะเป็นหลักให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ดับไฟใต้ได้ถูกทางขึ้น!*



++

บทความเก่าครบรอบปี จากปี2554

ศึกษาไฟใต้-ดับไฟอีสาน
โดย วงค์ ตาวัน คอลัมน์ ชกคาดเชือก
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ปีที่ 31 ฉบับที่ 1592 หน้า 98


แค่เดือนครึ่งของต้นปี 2554 สถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดใต้ก็โหมรุนแรงขึ้นมาอีก เกิดเหตุลอบวางระเบิดร้ายแรงหลายหน เมื่อไม่กี่วันนี้เอง
มีคาร์บอมบ์ครั้งใหญ่ใจกลางเมืองยะลา มีผู้บาดเจ็บเกลื่อนกลาด บ้านเรือนร้านค้าไฟไหม้วอดวายหลายหลัง
ก่อนหน้านั้นไม่นานเกิดเหตุบุกโจมตีฐานทหารด้วยวิธีการรบเต็มรูปแบบ ทำให้เจ้าหน้าที่สูญเสียเจ็บตายหลายนาย อาวุธปืนและกระสุนปืนถูกปล้นชิงไปด้วย

ไม่ว่าฝ่ายรัฐจะพยายามอธิบายเช่นไร
อ้างว่าเป็นการดิ้นรนของโจรใต้ เพราะโดนเจ้าหน้าที่กวาดล้างและกดดันอย่างหนัก
อ้างว่าเป็นฤดูโชว์ผลงานเพื่อให้เข้าตาองค์กรสากล หวังยกระดับปัญหาภาคใต้ของไทย
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม ที่แน่ๆ คือไฟใต้รุนแรงอีกระลอก!

มีข้อมูลที่ว่อนไปในอินเตอร์เน็ตระบุว่า เพียงแค่ 3 วันก่อนเกิดเหตุคาร์บอมบ์กลางยะลานั้น
เพิ่งมีพิธีสวนสนามกองอาสารักษาดินแดน ต่อหน้าข้าราชการใหญ่ของมหาดไทย ผู้ว่าฯ ยะลา ระดับสูงของ ศอ.บต. นายตำรวจใหญ่ จัดขึ้นที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจชายแดนภาคใต้ เทศบาลนครยะลา
ภายหลังสวนสนามวันนั้น เสียงวิพากษ์วิจารณ์กระหึ่มเมืองว่า จัดแบบนี้เดี๋ยวต้องโดนท้าทายแหงๆ
ไม่กี่วันต่อมาก็เกิดคาร์บอมบ์ขึ้น

ขณะเดียวกัน ในช่วงสัปดาห์ก่อนนั้น จะได้เห็นข่าวการติดตามไล่ล่าคนร้ายที่ก่อเหตุบุกฐานทหารอย่างเอาจริงเอาจัง มีการวิสามัญฆาตกรรมหัวหน้าโจรใต้หลายราย
ผู้เชี่ยวชาญปัญหาภาคใต้หลายคนเห็นปฏิบัติการแบบนี้แล้วไม่สบายใจ
รู้ได้ทันทีว่าจะต้องมีปฏิบัติการตอบโต้ใหญ่
พร้อมกับคำถามว่า แล้วไหนเล่าที่เรียกว่านโยบายพัฒนานำการปราบปราม ไหนเล่าการเมืองนำการทหาร!?



กล่าวกันว่า ไฟใต้เริ่มรุนแรงในรอบหลังนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2547 เป็นต้นมา เพราะความผิดพลาดของรัฐบาลทักษิณ ใช้นโยบายปราบปรามนำในช่วงปี 2546 จึงทำให้เกิดเงื่อนไขความคับแค้นใจ จนขบวนการก่อการร้ายภาคใต้ก่อตัวขึ้นมาเป็นขบวนใหญ่อีกหน
จนมาถึงยุคประชาธิปัตย์ กลับไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในแนวรบภาคใต้

ยุคประชาธิปัตย์ รัฐบาลของคนใต้แท้ๆ กลับไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการเมืองใหม่ๆ อันจะหยุดคลื่นก่อการร้ายอย่างได้ผล
สถานการณ์จึงดำเนินไปเหมือนเดิม

น่าคิดว่า ปฏิวัติการล่าจับตายหัวโจกโจรใต้ ยังงัดออกมาใช้อย่างเข้มข้นในยุคนี้
นั่นแสดงว่า ภายใต้คำพูดหรูหรา การเมืองนำการทหาร
เอาเข้าจริงๆ สายเหยี่ยวยังคงยึดครองแผนปฏิบัติใน 3 จังหวัดใต้อยู่ดี!
เพราะฉะนั้น เมื่อไล่ล่าเด็ดหัวไป คาร์บอมบ์ตอบโต้ย่อมตามมา
แล้วความสงบสุขของประชาชนจะเกิดได้เมื่อไร

หัวใจของปัญหาภาคใต้ ที่รัฐบาลไม่สามารถปรับเปลี่ยนนโยบายการเมืองให้เป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ได้ ก็เพราะยังติดอยู่กับกรอบความคิดชาตินิยมขวาจัด

ยังไม่ยอมรับความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา อย่างถึงที่สุด

อาจจะมีนักการเมืองและนายทหารใหญ่บางคนมองเห็นทางคลี่คลายปัญหา แต่สุดท้ายก็ทำไม่ได้

เพราะกลุ่มอำนาจที่ครอบงำการเมืองการทหารในภาคใต้นั้น คือ กลุ่มอนุรักษนิยมขวาจัด ไม่ยอมรับว่าคนส่วนใหญ่ใน 3 จังหวัดนี้เป็นคนมุสลิม
ยังยืดถือความเป็นใหญ่ของชาติไทย แผ่นดินไทย ศาสนาพุทธ!
ใครพูดถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองท้องถิ่นให้เป็นเขตปกครองพิเศษ ก็ตกอกตกใจว่านี่แหละคือการเสียดินแดน


แค่นโยบายด้านการศึกษา ที่นักวิชาการรุนใหม่พยายามผลักดันแนวทางสอน 2 ภาษา ทั้งภาษาไทยผสมกับภาษาถิ่น เพื่อสื่อให้เด็กในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมุสลิมสามารถเข้าถึงภาษาไทยได้ ก็ยังติดขัดกลุ่มอำนาจล้าหลังซึ่งยังยืนยันว่าเด็กนักเรียนทั้ง 3 จังหวัดใต้ ต้องเรียนภาษาไทย
อ่านไทย พูดไทยเท่านั้น
ถ้าปล่อยให้อ่านภาษาท้องถิ่นอยู่ แล้วเมื่อไรเด็กพวกนี้จะพูดไทยได้ เดี๋ยวภาษาไทยก็ถูกกลืน อะไรทำนองนั้น
กรอบความคิดชาตินิยม รัฐไทยต้องอยู่เหนือทุกสิ่ง นี่แหละคือเหตุที่ใต้ไม่สงบ

แล้ววันนี้เรากำลังจะปล่อยให้กลุ่มม็อบคลั่งชาติ ขยายแนวคิดนี้ไปก่อสงครามที่ชายแดนกัมพูชา ให้ลุกลามใหญ่โตสูญเสียเหมือนไฟใต้กันอีกหรือ

จำได้ว่าสมาชิกวุฒิสภาที่เรียกว่ากลุ่ม 40 ส.ว. หรือกลุ่มที่ขึ้นต่อม็อบพันธมิตรฯ เคยเสนอให้ลบชื่อหมู่บ้านภูมิซรอล ให้เปลี่ยนชื่อเป็นแบบไทยๆ
ภายหลังจากม็อบพันธมิตรฯ ไปปะทะกับชาวบ้านภูมิซรอล

ความคิดแบบลบชื่อภูมิซรอลนี้แหละที่ก่อไฟใต้มาแล้ว!

วันนี้ม็อบพันธมิตรฯ ปิดถนนเรียกร้องให้รัฐบาลเคลื่อนกองทัพเข้าโจมตีเขมร เพื่อกดดันให้ยอมคายพื้นที่ชายแดนที่อ้างว่าถูกเขมรยึดไปหมดแล้ว
เรียกร้องให้ทหารเข้าขับไล่คนกัมพูชาที่เข้ามายึดครองดินแดนของไทยออกไป
พูดไปพูดมา ไม่รู้สึกเลยหรือว่า คนกัมพูชาในบริเวณก็คือคน คือมนุษย์
เมื่อเลือดชาตินิยมมันขึ้นหน้า ก็จะเห็นแต่คำว่าคนไทยชาติไทยต้องสำคัญสุด คนเขมรคือศัตรู

กลุ่มคลั่งชาติกำลังกอดหลักเขตแดน ประกาศศักดิ์ศรีชาติไทย อธิปไตยของไทย โดยไม่สนใจว่าถ้าสงครามระเบิดขึ้น ประชาชนทั้งสองชาติที่เขากำเนิดและอยู่กินในพื้นที่แถบนั้น (โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับคำว่าเขตประเทศเลยมาอย่างยาวนาน )
แต่กำลังจะเดือดร้อนสูญสิ้นทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เพียงเพื่อสนองอารมณ์ของคนหวงเส้นแบ่งดินแดน
แค่สถานการณ์ตรึงเครียดในช่วงที่ผ่านมา ทหาร 2 ฝ่ายตั้งทัพประจันหน้ากัน เกิดเข้าใจผิดนิดเดียว เมื่อเห็นรถของฝ่ายหนึ่งล้ำแดนเข้าไปเท่านั้น
ก็เปิดฉากยิง ก็โต้ตอบกันด้วยกระสุนไปมา
ผลก็คือทหารลูกหลานคนจนทั้ง 2 ฝ่ายล้มตายและบาดเจ็บมากมาย ชาวบ้านสูญเสียชีวิตและบ้านเรือน หลายหมู่บ้านต้องทิ้งร้างเพื่อไปกินนอนในศูนย์อพยพ

ชาวกัมพูชา ซึ่งก็คือคนเหมือนกันกับเรานี่แหละ เดือดร้อนไม่แพ้กัน มีภาพข่าวจากอีกฟากฝั่งสะท้อนความเดือดร้อนของประชาชนเขมรตามชายแดนไม่ต่างกับชาวกันทรลักษ์
สื่อมวลชนไปสอบถามเด็กๆ ที่ได้รับผลกระทบว่าต้องการอะไรบ้าง คำตอบคือ ต้องการบังเกอร์เพิ่ม

เด็กๆ ต้องการบังเกอร์ ฟังแล้วหลายคนก็เศร้าใจ
แต่ผู้นำม็อบคลั่งชาติยังประกาศผ่านไมค์ด่าทหารไทยขี้ขลาด ไม่ยอมเปิดสงครามให้แหลกลาญวอดวายกันไปข้าง

จริงอยู่ ลึกๆ ไม่ได้รักชาติอะไรนักหนาหรอก ที่ก่อม็อบทุกวันนี้เพื่อแค่รอเวลาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองล้มอภิสิทธิ์ที่คิดล้างศาสดาเท่านั้นเอง

แต่ด้วยท่วงทำนองเรียกร้องสงครามที่ใช้บังหน้า ได้สร้างปัญหาให้คนทั้งสองประเทศตามแนวชายแดนอย่างแสนสาหัส

ชาตินิยมขวาจัดนี่แหละก่อไฟสงครามในภาคใต้มายาวนานยังไม่มีทีท่าสิ้นสุด

ถ้าไม่หยุดแนวคิดอันตรายนี้ในปัญหากัมพูชา จะเกิดไฟสงครามตะวันออกในเร็ววัน!



.