http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-18

หนุ่มเมืองจันท์: มือที่ว่าง/ สรกล: “เวลา”กับ“ความแค้น”

.

มือที่ว่าง
โดย หนุ่มเมืองจันท์ boycitychan@matichon.co.th www.facebook/boycitychanFC
คอลัมน์ ฟาสต์ฟู้ด ธุรกิจ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1648 หน้า 24


สัปดาห์ก่อน ไปสัมมนา "มติชนออนไลน์" และ "มติชนทีวี" ที่ระยอง
มี APM Group ช่วยคิดกิจกรรมสร้างสรรค์ความเป็นทีม
สนุกมากครับ

ตอนแรกผมกลัวว่ากิจกรรมของ APM จะเยาว์วัยเกินไป
อยากสนุก แต่ไม่อยากเต้นท่าไก่ย่างถูกเผา
แต่เมื่อทีมงานมานำเสนอ กิจกรรมของเขานอกจากสนุกแล้วยังแฝงแง่คิดเรื่องความเป็น "ทีม" อย่างลึกซึ้ง

มีเกมหนึ่งที่ทีม APM นำมาใช้ในกิจกรรมนี้ คือ เกม "เงื่อนมนุษย์"
ให้ยื่น "มือขวา" ไปจับมือซ้ายของเพื่อนที่ยืนอยู่ตรงข้าม
ส่วน "มือซ้าย" ของเราไปจับกับใครก็ได้
แฮ่ม...แต่ต้องเป็น "มือ" เท่านั้น

จากนั้นให้แต่ละทีมพยายามคลาย "เงื่อน" ออกให้กลายเป็นวงกลม โดยที่ทุกคนห้ามปล่อยมือที่จับกับเพื่อนไว้
คราวนี้ล่ะครับ วุ่นวายหายห่วง
เพราะแต่ละทีมต้องพยายามคิดค้นกระบวนท่าคลาย "เงื่อนมนุษย์" ออกให้ได้
ต้องลอด ต้องก้าวขาข้ามหัว
ทำทุกอย่างเพื่อคลายปมที่เราสร้างขึ้น
ไม่ว่าใครจะเป็น "หัวหน้า" หรือ "ลูกน้อง" ถ้าต้องลอดแขนลอดขาก็ต้องลอด เพื่อเป้าหมายคือการคลายเงื่อนออกเป็นวงกลมให้ได้
ถือเป็นกิจกรรมที่ถึงเนื้อถึงตัวอย่างยิ่ง

หลังเกม "เปิ้ล" ของ APM ถามทุกคนว่าเคยมีงานไหนที่เราได้ทำงานใกล้ชิดกันมากเท่านี้หรือไม่
คำตอบคือ "ไม่"
เพราะถ้าใครตอบว่า "มี"
คงจะต้องสอบสวนกันครั้งใหญ่ว่าเป็นกิจกรรมอะไรกัน

บางทีมก็คลายเงื่อนมนุษย์เป็นวงกลมได้ แต่บางทีมก็จบเกมด้วยโครงสร้างที่แปลกตาจนหวาดเสียว
จากนั้นก็รวม 2 ทีมเข้าด้วยกัน เล่นเกมเดิม
ครับ ยิ่งคนเยอะ ปัญหายิ่งแยะ
จบเกม "เปิ้ล" ให้ทุกกลุ่มสรุปสิ่งที่ได้จากเกม

ส่วนใหญ่จะสรุปเรื่องการทำงานเป็นทีม
แต่มีน้องคนหนึ่งเสนอข้อสรุปในมุมใหม่
"กลิ่นตัว เป็นปัญหาหนึ่งของเกม"

เอ่อ...แม้จะเป็นเรื่องจริง แต่เรื่องนี้ประยุกต์ใช้กับการทำงานไม่ได้ครับ
เป็นปัญหาเฉพาะตัว
ต้องพึ่ง "โรลออน" หรือ "สารส้ม" เพียงอย่างเดียว



ทีม APM Group เป็นทีมที่เก่งมาก
บริหารความสนุกกับเนื้อหาได้เป็นอย่างดี
หลังจากเกมเงื่อนมนุษย์แล้วก็มีเกมต่างๆ ตามมาอีก 3 เกม เพื่อนำไปสู่การเรียนรู้เรื่องทีมด้วยตนเอง

มีอยู่เกมหนึ่งเป็นการแข่งขันคล้ายแชร์บอล
ทุกคนเล่นกันอย่างจริงจัง
ทั้งสนุก ทั้งฮา

แต่เนื่องจากรูปแบบของเกม ทำให้การแข่งขันกระจายไปทั่วสนาม
กรรมการคนเดียวมองไม่ทัน
แต่ไม่มีใครถือเป็นเรื่องจริงจัง
ยอมรับคำตัดสินโดยดี
ผมดูแล้วเห็น "จุดอ่อน" บางอย่างของเกมนี้

ช่วงพักเบรก ผมเดินไปหา "เปิ้ล" เสนอไอเดียใหม่
"เปิ้ลน่าจะใช้วิธีแบบอเมริกันฟุตบอล มีกรรมการหลายคน ของเขาทิ้งธง ของเราใช้เป่านกหวีดก็ได้"
พอเป่านกหวีดปั๊บ เกมก็หยุดเลย
เป็นไงครับ เด็ดไหม
"เปิ้ล" นิ่งนิดนึง ก่อนตอบแบบเกรงใจ

"เอ่อ คือว่า ไม่เคยมีที่ไหนเล่นจริงจังเท่าที่นี่มาก่อนเลยครับ"
"เปิ้ล" คงนำเกมนี้ไปใช้บ่อยแล้ว
ทุกที่เล่นกันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย
กรรมการคนเดียว...เอาอยู่

ผมหัวเราะ แล้วตอบอย่างไว้ฟอร์ม
"ขอโทษทีนะเปิ้ล ที่นี่ทำงานจริงจัง"
พูดจบ ก็ไปเล่นต่อ


บรรยากาศการสัมมนาดีมากครับ
ดีจนคาดไม่ถึง
หลายเรื่องในเกม ผมนำมาคิดต่อไปเยอะมาก
อย่างเรื่อง "เงื่อนมนุษย์"

กติกาที่บังคับให้เราต้องยื่นมือขวา ไปจับกับมือซ้ายของคนที่อยู่ตรงข้าม

แต่อีกมือหนึ่งเป็นอิสระที่เราสามารถเลือกได้ว่าจะจับกับใครก็ได้

เหมือนกับชีวิตจริง

การทำงานในองค์กร เราจะไม่มีอิสระ 100%

ต้องเผชิญกับพันธนาการบางอย่าง

ไม่ว่าจะเป็นกฎระเบียบของบริษัท

หรือคำสั่งหัวหน้างาน

หรือ...หรือ หรือ ฯลฯ


แต่ไม่ใช่ว่าเราจะไม่มีอิสระเลย
ทุกงานยังมี "ที่ว่าง" ให้เราคิด และทำตามที่ใจเราอยากทำ
เหมือน "มือซ้าย" ที่จะเลือกจับกับมือข้างไหนของใครก็ได้

การใช้ชีวิตหรือความรักก็เช่นกัน เราคงไม่สามารถทำตามใจของเราได้ทั้งหมด

เพราะเราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลก

ทุกคนล้วนมีข้อจำกัดจากพันธนาการ

จากครอบครัว จากเพื่อน จากความจำเป็นบางอย่าง

บางพันธนาการเราไม่ได้เลือก
แต่เป็นเรื่องที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้
แม้จะมีพันธนาการในชีวิต แต่ทุกคนก็ยังเหลืออิสรภาพบางส่วนที่เราเลือกได้
มาก-น้อย แตกต่างกัน

ถ้านั่งทบทวนดีๆ บางทีเงื่อนปมแห่งชีวิตของเราอาจไม่ได้มาจาก "มือ" ที่ถูก "พันธนาการ" ไว้

แต่มาจากการใช้ "มือ" ที่เรามีสิทธิเลือกผิดพลาด

แทนที่จะเลือกจับเพื่อสร้าง "ความสุข"

กลับสร้าง "ความทุกข์" จนไม่สามารถคลี่คลายได้

เป็น "ปัญหา" ที่แม้แต่ "สารส้ม" ยังเอาไม่อยู่



++

สรกล อดุลยานนท์ : "เวลา" กับ "ความแค้น"
คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่ 12 ในมติชน ออนไลน์ วันเสาร์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2555 เวลา 20:30:00 น.


วันก่อนผมอ่านเฟซบุ๊กของ "เกรียงศักดิ์ นิรัติพัฒนะศัย" เจอข้อความหนึ่งเกี่ยวกับ "เนลสัน แมนเดลา" อดีตประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพเมื่อปี 2536
ก่อนหน้านี้เขาเคยเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านนโยบายแยกคนต่างผิวออกจากกันในแอฟริกาใต้
จากการเคลื่อนไหวในเชิงสันติ กลายมาเป็นผู้นำกลุ่มกองกำลังติดอาวุธ
วันนั้นเขาคือ "ผู้ก่อการร้าย" ในสายตาของอังกฤษและสหรัฐอเมริกา

"แมนเดลา" ถูกจับ และถูกศาลตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต
เขาอยู่ในคุกที่เกาะรอบเบนยาวนานถึง 27 ปี
ก่อนประธานาธิบดีเดอ เคลิร์ก จะสั่งปล่อยตัว "แมนเดลา"
ปล่อยตัวทั้งที่ศาลตัดสินจำคุก "แมนเดลา" ตลอดชีวิต


ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ทำไม "แมนเดลา" จึงยอมประสานไมตรีกับผู้นำผิวขาว ทั้งที่เขาถูกกระทำอย่างโหดเหี้ยม
ติดคุกตั้ง 27 ปี

"แมนเดลา" ยอมรับในรายการ "โอปราห์ วินฟรีย์" ว่าเขาโกรธศัตรูที่ขังเขาในคุก 27 ปี แต่ว่ามันทำให้เขาได้ทำในสิ่งที่ยากที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์ นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงตัวเอง
"เราทำให้สมองอยู่เหนือการนองเลือด"
"ความรู้สึกของผมก่อนเจรจากับคนผิวขาว คือ เคียดแค้น แต่สมองบอกว่า ถ้าผมไม่เจรจากับเขา ประเทศจะลุกเป็นไฟ และจะนองไปด้วยเลือด เราต้องจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้น"

"แมนเดลา" บอกว่าการเจรจากับฝ่ายตรงข้ามเกิดจาก "เหตุผล" เหนือ "อารมณ์"
"ผมเคยชิงชังพวกเขา และยิ่งนึกถึงสิ่งที่พวกเขาทำต่อผมแล้ว ผมยิ่งโกรธมาก"

และคำพูดที่แสดงให้เห็นว่าทำไม "แมนเดลา" จึงสมควรเป็น "บุรุษแห่งสันติภาพ" ที่โลกยกย่อง
คือ ประโยคนี้ครับ
"แต่ว่าผมมีเวลาอยู่บนโลกนี้ไม่นานนัก ต้องใช้เวลาที่มีอยู่ทำสิ่งที่สำคัญกว่า คือ นำพาประเทศไปสู่ประชาธิปไตย ความเสมอภาค ลดการเหยียดผิว"

"มันเป็นภารกิจที่ใหญ่เกินกว่าจะมาเสียเวลาเคียดแค้น"



อ่าน "แมนเดลา" แล้วย้อนกลับมาดูความขัดแย้งในประเทศไทย
อึ้งและอายกันบ้างไหม

เพราะไม่มีใครในเมืองไทยจะทนทุกข์ทรมานเท่ากับ "แมนเดลา"
ถ้าเทียบระดับความไม่เป็นธรรมที่ได้รับแล้ว
ไม่มีใครควรจะแค้นใครมากกว่า "แมนเดลา"

คำถามก็คือทำไมแต่ละฝ่ายจึงไม่ยอมวาง "ความแค้น" ลงบ้าง

การแสดงความเห็นเรื่องผลศึกษาวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าเรื่องการปรองดองชัดเจนว่าคู่ขัดแย้งในสังคมไทยยังไม่ยอมวาง "ความแค้น" ลง

"แมนเดลา" ขับรถชื่อ "สันติภาพ" ด้วยการมองอนาคตผ่านกระจก
ดับความแค้นในใจด้วยการมองไปข้างหน้า
ทำทุกอย่างเพื่อลูกหลานของตนในแผ่นดินแอฟริกาใต้

แต่ดูเหมือนว่าในเมืองไทย หลายคนขับรถชื่อ "ความแค้น"
และมองแต่ "กระจกหลัง"
เห็นแต่ "อดีต"

ไม่สนใจ "อนาคต" ของลูกหลาน

ไม่เคยถามตัวเองกันบ้างหรือว่าเวลาในชีวิตเหลือกันมากนักหรืออย่างไร

จึงไม่รู้จัก "ทำในสิ่งที่สำคัญกว่า"



.