http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-16

"จำนำ"บ่วงรัด"เกษตรกร", กูรูเหลิมว่า แก้ รธน.ไม่วุ่น.., ลึกแต่ไม่ลับ 16 มี.ค.55

.
รายงานพิเศษ - โผทหาร ฮันนีมูน "สุกำพล" ปล่อยผี จับตา "บิ๊กตู่" ดัน ตท.15 บี้ ตท.13 โฟกัส "นมชง" และหัวอก "น้อง ผบ.ทบ."

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

"จำนำ" บ่วงรัด "เกษตรกรไทย" ค้าข้าวได้แต่ร้องสาละวัน เตี้ยลง...
คอลัมน์ เศรษฐกิจ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1648 หน้า 22


วันนี้ การบริหารจัดการสินค้าเกษตร เป็นอีกโจทย์ข้อใหญ่ ที่รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ยังมีบ่วงที่ต้องเร่งแก้ไข และต้องตั้งรับให้ดี ไม่น้อยหน้าเรื่องการบริหารจัดการน้ำ

น่าจะเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ตามนโยบายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ดูจะไร้เสน่ห์ และไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่วาดฝันไว้

ตรงกันข้ามกำลังเพิ่มปัญหาและสร้างความเสียหายต่อระบบข้าวไทยในระยะยาว!!!

เดิมนั้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์วาดฝันว่า การตั้งราคารับจำนำข้าวเปลือกในราคานำตลาดและสูงกว่าตลาด จะช่วยดึงราคาข้าวในตลาดทั่วไปให้สูงขึ้น และดีกว่าการตั้งราคาแบบประกันรายได้ อย่างรัฐบาล "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ใช้ก่อนหน้านี้

หากมองในแง่นี้ ยอมรับว่าได้ผลดีระดับหนึ่ง เมื่อตรวจสอบราคาข้าวเปลือกต้นปี 2555 เทียบช่วงเดียวกันของปี 2554 พบว่าการรับจำนำ สามารถดึงราคาข้าวเปลือกในตลาดกลางให้สูงขึ้นอีกตันละ 2,000-3,000 บาท

โดยราคาข้าวสารหอมมะลิเพิ่มขึ้นกระสอบ (100 ก.ก.) ละจาก 100-150 บาท หรือจากราคา 2,900 บาท เป็น 3,000-3,050 บาท และราคาข้าวสารเจ้าเพิ่มเฉลี่ยอีกกระสอบ (100 ก.ก.) ละ 200 บาท หรือจากราคา 1,398 บาท เป็น 1,570-1,600 บาท ขณะที่ราคาส่งออกเฉลี่ยขยับขึ้นอีกตันละ 100-150 เหรียญสหรัฐ

แต่หากเทียบกับเป้าหมาย โดยคิดคำนวณจากราคาตั้งรับจำนำข้าวเปลือกเจ้าตันละ 15,000 บาท และข้าวเปลือกหอมมะลิตันละ 20,000 บาท ราคาข้าวสารเจ้าน่าจะซื้อขายกันอย่างต่ำๆ เกินกระสอบละ 3,500 บาท และราคาส่งออกน่าจะถึงตันละ 700 เหรียญสหรัฐ

แต่ในความเป็นจริง ดูภาพรวมทั้งระบบ โครงการรับจำนำข้าว ครั้งนี้ ต้องถือว่าล้มเหลว!!! ไม่ใช่แค่ราคาข้าวขยับขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ได้ทำร้ายระบบค้าข้าวไทยด้วย


โดยผลกระทบอันดับแรกตกกับผู้ส่งออกข้าวไทย ทางจิตวิทยาหลังรัฐบาลเปิดรับจำนำในเดือนตุลาคม 2554 ตลาดนำเข้าข้าวไทยเริ่มทบทวนเจรจาการค้าใหม่ ประเทศผู้นำเข้าสำคัญในเอเชีย เช่น ฮ่องกง ทำหนังสือแสดงความไม่เห็นด้วยที่ไทยตั้งราคารับจำนำสูง ถึงขั้นขู่ว่าคงต้องชะลอการซื้อข้าวจากไทยในระยะต่อไป

สิ่งที่วิตกก็เกิดขึ้น เมื่อยอดส่งออกข้าวไทยลดลงเหลือเดือนละ 5 แสนตันต่อเนื่องเข้าเดือนที่ 3 แล้ว เป็นหนังคนละม้วนจากปีก่อนที่ไทยส่งออกข้าวอย่างสนุกสนานเฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านตัน จนทำให้ปี 2554 ไทยทำสถิติส่งออกปริมาณสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 10.5 ล้านตัน

ขณะที่ปีนี้สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ประเมินว่าหากรัฐยังเปิดรับจำนำข้าวในราคาสูง ยอดส่งออกน่าจะเหลือแค่ 6.5 ล้านตัน สูญรายได้เข้าประเทศหลายหมื่นล้านบาท ประเมินกันต่อว่าราคาข้าวไทยที่สูงต่อเนื่องโดยที่รัฐบาลยังไม่เข้มแข็งต่อแผนการทำตลาด ตลาดค้าข้าวไทยในตลาดโลกก็จะถอยหลัง

จากตัวเลขกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา ชี้ว่าประเทศไทยยังเป็นประเทศส่งออกข้าวได้มากสุด แต่เป็นปริมาณที่ถดถอย ขณะที่คู่แข่งส่งออกข้าวในหลายประเทศ ทั้งเวียดนาม อินเดียหันมาส่งออกอีกครั้งหลังชะลอไป 2 ปีเศษและประกาศส่งออกถึง 4 ล้านตัน ทำให้ตลาดค้าข้าวโลกแย่ลง เพราะไม่แค่ระบายในปริมาณที่สูงเท่านั้นแต่ยังเปิดตัวด้วยราคาต่ำ จนทำให้ประเทศที่ต้องการขายข้าวต้องยอมลดราคาแข่ง จึงเป็นภาวะราคาข้าวขาลง ต่ำกว่า 300 เหรียญสหรัฐ เป็นราคาถอยหลังเมื่อ 5 ปีก่อน

จึงทำให้สถานะข้าวไทยในตลาดโลก มีส่วนแบ่งการตลาดเหลือ 30% จากปี 2540 ข้าวไทยครองตลาดโลกเกิน 50% ทั้งสูญเสียตำแหน่งผู้นำส่งออกข้าวสารเจ้าให้เวียดนาม ส่วนตลาดส่งออกข้าวหอมไทยเริ่มส่งสัญญาณมีปัญหาถูกแย่งตลาดเหมือนกัน

นอกจากนี้ ยังต้องแข่งขันกับประเทศส่งออกรายใหม่เพิ่มเข้ามาในตลาด ที่อาศัยช่องโหว่ของราคาข้าวไทยสูง เข้าแทรกแซงตลาดเล็กตลาดน้อย

และมีหลายประเทศกำลังคิดการใหญ่ จะล้มแชมป์ข้าวไทย

ในจำนวนนี้คือกัมพูชา ที่ล่าสุดได้ประกาศความร่วมมือกับประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ของโลกต่อปี จะนำเข้าเพื่อความมั่นใจด้านอาหารในประเทศไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัน

หรือพม่า ปากีสถาน บราซิล จ้องเข้าเจาะตลาดแอฟริกาใต้ซึ่งเป็นตลาดข้าวถูกของไทย


ภายในประเทศผู้ค้ายังต้องเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น ตั้งแต่การปรับค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ราคาน้ำมันสูงอาจทะลุเพดาน 150 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ค่าบาทแข็ง ค่าใช้จ่ายด้านขนส่งทางเรือและประกันภัยถูกปรับเพิ่มขึ้น ล้วนมีผลต่อภาระต้นทุนเพิ่มอีก 15-20 เหรียญสหรัฐต่อตัน ทำให้ราคาข้าวไทยสูงสุดของโลกในขณะนี้

ยังไม่นับรวมปัจจัยแนวโน้มการบริโภคข้าวของโลกที่ลดลงต่อเนื่อง จากค่านิยมตามกระแสว่าการบริโภคคาร์โบไฮเดรตอย่างข้าวจะทำให้อ้วนและไม่ดีต่อผู้เป็นโรคเบาหวาน และผลสำรวจพบว่า สังคมเมืองยิ่งเจริญขึ้น การบริโภคข้าวยิ่งลดลง เพราะมีอาหารทดแทนข้าวชนิดอื่นให้เลือกบริโภคมากขึ้น จึงเป็นการกดดันทั้งราคาข้าวไม่อาจปรับสูงขึ้นได้ และกระทบต่อยอดซื้อข้าวทั่วโลกลดลง

อนาคตค้าข้าวจึงถูกมองว่ามีแต่ทรงกับทรุด และแนวโน้มส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในโลกจะเหลือเพียง 25% ในเร็วๆ นี้



ธรรมชาติของพ่อค้า อย่างไรก็ต้องปรับตัวเพื่อธุรกิจอยู่รอด ธุรกิจค้าข้าวจึงเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่กำลังแก้ปัญหาด้วยการย้ายฐานการทำธุรกิจไปในประเทศอื่น

และมักใช้ข้ออ้างแบบเดียวกับการเอาธุรกิจออกนอกประเทศ คือแบกรับต้นทุนไม่ไหว และรับกับนโยบายภาครัฐที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริง รวมถึงเตรียมพร้อมรับการมีผลบังคับใช้ของการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558

ตอนนี้จึงเห็นข่าวธุรกิจค้าข้าวไทยทั้งรายใหญ่ถึงรายเล็ก เข้าไปร่วมทุนบ้าง ลงทุนบ้าง ในกัมพูชา พม่า ลาว หรือในเวียดนามเอง ในการตั้งโรงสีข้าวและเปิดบริษัทส่งออกข้าว น่าจะฮือฮาสุดคงเป็นกลุ่มบริษัทเอเชียโกลเด้นไรซ์ ผู้ส่งออกรายใหญ่ของไทยที่เข้าไปลงทุนในกัมพูชาและเริ่มทำตลาดส่งออกข้าวในกัมพูชาแล้ว

ตรงข้ามกับภาครัฐ ถึงวันนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะทำอย่างไรกับสต๊อกข้าวสารที่เพิ่มขึ้นทุกวัน

เพราะเพื่อไม่ให้ราคาข้าวลดลง รัฐต้องยอมเปิดรับจำนำตลอดปี ไม่มีเว้นว่างเหมือนในอดีต ซึ่งจากนโยบายเปิดรับจำนำไม่จำกัดจำนวน รับไม่อั้น ทำให้ ณ สิ้นสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2555 หลังโครงการรับจำนำรอบแรกเป็นข้าวเปลือกนาปี 2554/2555 สิ้นสุดลง รัฐมีสต๊อกข้าวเพิ่มเป็น 5 ล้านตัน จากปีก่อนสต๊อกข้าวรัฐมี 2 ล้านตัน และกำลังจะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 7-8 ล้านตันในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า จากโครงการรับจำนำรอบ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งจะเรียกข้าวในช่วงระหว่างปีว่าข้าวนาปรัง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประเมินว่าผลผลิตข้าวเปลือกนาปรัง 2555 ไม่น่าจะน้อยกว่า 10-12 ล้านตันข้าวเปลือก สีแปรเป็นข้าวสารได้ 4-5 ล้านตัน

แค่ครึ่งที่เข้าโครงการรับจำนำอย่างต่ำก็ 2 ล้านตันข้าวสารที่จะเพิ่มขึ้นในสต๊อก รัฐบาลจะหาทางลงอย่างไรที่จะไม่กระทบต่อราคาข้าวในอนาคตที่อุตส่าห์ใช้งบประมาณมาแล้วกว่าแสนล้านบาทในการรับจำนำข้าวในราคาสูง หากต้องเปิดระบายขายออกไป

โดยเฉพาะข้าวสารในสต๊อกกว่า 80% เป็นข้าวสารเจ้า ซึ่งในตลาดค้าข้าวโลก ไทยแทบจะแข่งขันไม่ได้จากราคาที่สูงกว่าตลาดรับได้เป็นร้อยเหรียญสหรัฐต่อตัน

ทางจิตวิทยาในอดีตทันทีที่มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลจะเปิดระบายข้าวในคลังหลวง ราคาข้าวก็ตกลงทันที และสิ่งที่ตามมาคือยอดขายแบบขาดทุน และมีนายทุนเพียงไม่กี่รายที่ชนะการประมูลข้าวรัฐไป

ซึ่งการระบายข้าวล็อตใหญ่ครั้งนี้ไม่กล้าประเมินว่าภาษีเงินรายได้จากประชาชนกว่า 2 แสนล้านบาทกับการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนั้นจะเหลือคืนคลังเท่าไหร่ แต่หากดูย้อนหลังมักเหลืออย่างมากแค่ครึ่งเดียว

ส่วนอนาคตชาวนาไทยจะเป็นอย่างไร หากผลิตแล้วไม่มีคนซื้อ...


ขณะที่รัฐยังสาระวนว่าจะแก้ปมข้าวค้างสต๊อกอย่างไรดี ดูเหมือนรัฐได้ผูกปมใหม่ เพิ่มการรับจำนำสินค้าเกษตรชนิดอื่นๆ และสถานการณ์ดูเหมือนจะซ้ำรอยข้าว ทั้งมันสำปะหลัง หอมแดง กระเทียม ไม่มีเอกชนสนใจเข้าร่วมโครงการ ยอดรับจำนำจึงน้อยกว่าเป้าหมาย และราคาช่วงรับจำนำไม่ได้สูงขึ้นถาวร ฉะนั้น อาจมีพืชอีกหลายชนิดต่อจากข้าวที่รัฐต้องเปิดรับจำนำตลอดปี

สุดท้าย วนเวียนอยู่ที่เรื่องล้างสต๊อก ราคาตกต่ำ และเปิดรับจำนำใหม่

สงสัยว่าปีต่อๆ ไปภาษีของประชาชนที่นำมาใช้กับการรับจำนำ 2 แสนล้านบาท อาจไม่เพียงพอเสียแล้ว



++

กูรูเหลิม มองอนาคตการเมืองไทย แก้รัฐธรรมนูญไม่วุ่น ม็อบไม่เกิด ปฏิวัติไม่มี ฟันธงรัฐนาวาปูอยู่ยาว... 8 ปี
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1648 หน้า 28


การเมืองไทยช่วงนี้กลับมาอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อกันอีกครั้ง ภายหลังจากที่รัฐบาลยื่นเรื่องขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้มี ส.ส.ร. มาแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 ตามเจตานารมณ์ที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศให้เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล

กรณีดังกล่าวดูจะกลายเป็นประเด็นที่ทำให้อุณหภูมิการเมืองไทยกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง ยิ่งสุดท้ายปลายทางของการแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกมองว่าเป็นการปลดล็อกพันธนาการให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้กลับบ้าน

หนำซ้ำแกนนำพรรคเพื่อไทยอย่าง "เสี่ยไก่" วัฒนา เมืองสุข ยังออกมาส่งสัญญาณลดบทบาทองค์กรอิสสระ อย่าง กกต. รวมไปถึงการเสนอยุบศาลที่ถูกมองว่าเป็นอุปสรรคในการบริหารงานอย่างศาลปกครองและศาลที่ถูกมองว่าเป็นหอกข้างแคร่อย่างศาลรัฐธรรมนูญ

แค่นั้นยังไม่พอ ยังมีความพยายามจากกลุ่มนิติราษฎร์เสนอให้ปรับปรุงรัฐธรรมนูญในหมวดพระมหากษัตริย์ให้มีความทันสมัย

แค่นี้ก็เพียงพอที่จะทำให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ถูกมองว่ากำลังเล่นกับไฟ และกำลังนำพาประเทศไปสู่ปากเหวอีกครั้ง

ในฐานะที่เป็นพ่อบ้านเพื่อไทย ผู้กำหนดทิศทางการเมืองให้กับรัฐบาล ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกฯ ทุบโต๊ะเสียงดังพร้อมยืนกรานหนักแน่น ไม่มีวันที่พรรคเพื่อไทยจะปล่อยให้ใครแตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์เด็ดขาด

"ไอ้พวกที่บอกว่ารัฐบาลจะแก้รัฐธรรมนูญ ม.112 จะไปแก้หมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่มี เลอะเทอะ ไอ้พวกที่ไปพูดแบบนี้เป็นพวกปัญญาทึบ กินยาผิดซอง ชอบสร้างความสับสนวุ่นวายให้กับบ้านเมือง ม.112 มันประมวลกฎหมายอาญาไม่ใช่รัฐธรรมนูญ และเราก็พูดเรื่องนี้มาตลอดว่าเราไม่แตะต้อง เราไม่ยุ่ง นอกจากจะไม่แก้แล้วเราต้องเทิดทูน ต้องช่วยกันปกป้องไม่ให้ใครมาทำลาย บ้านเมืองกำลังเดินไปดีๆ เราจะไปทำให้มันลุกเป็นไฟทำไม"

ร.ต.อ.เฉลิมยืนยันรอบที่ร้อย ไม่เคยคิดก้าวล่วงสถาบันอันเป็นที่รักของคนไทย


แม้จะยืนกรานไม่คิดก้าวล่วงหมวดพระมหากษัตริย์ แต่สำหรับกรณีของศาลและองค์กรอิสระ ร.ต.อ.เฉลิมกลับออกตัวทันทีว่าต้องมีการสังคายนาระบบกันใหม่ หากจะให้ดำรงอยู่ต่อไปอนาคตจะต้องมีเครื่องมือในการตรวจสอบ จะปล่อยให้ศาลและองค์กรอิสระทำตัวเป็นเอกเทศ ทำงานโดยปราศจากการตรวจสอบคงเป็นไปไม่ได้

"ผมพูดมาตลอดว่าไม่เห็นด้วยกับระบบศาลคู่ เพราะเรามีระบบศาลสถิตยุติธรรมก็เพียงพออยู่แล้ว ไม่ต้องมีศาลอื่นมาตรวจสอบ เพราะระบบของเขามันดีอยู่แล้ว มีคดีทีนึงก็เลือกองค์คณะมาชุดนึง ไม่พอใจหรือแคลงใจองค์คณะคนใดก็สามารถเสนอขอเปลี่ยนได้ แต่โอเคล่ะถ้าจะให้มีระบบศาลคู่ต่อไป มันก็ต้องมีกระบวนการตรวจสอบที่มาที่ไปและการใช้อำนาจ ไม่ใช่เอาคนที่ไม่ถูกกัน เอาคนฝั่งตรงข้ามไปนั่งเป็นศาล เวลาตัดสินอะไรออกมามันก็ไม่กลาง อย่างนี้ใช้ไม่ได้

แล้วเป็นศาลนี้เขาไม่ให้แสดงความเห็นทะเลาะกับประชาชน แต่นี้เขายังไม่ทันทำอะไรบางศาลก็ออกตัวแรงมาแสดงความเห็นทะเลาะกับประชาชนแล้ว" รองนายกฯ เผยแนวคิด

เพราะเหตุที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกฝ่ายจับตาไม่กะพริบ ใช่จะมีแต่ฝ่ายสนับสนุนเท่านั้นที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ที่ถูกมองว่าเป็นผลพวงเผด็จการ

หากแต่ฝ่ายตรงข้ามที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญฉบับประชามติ 14 ล้านเสียงก็มีพลังไม่น้อยและมิอาจมองข้าม

นอกจากพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นเสาหลักในสภาแล้ว นอกสภาก็ยังมีกลุ่มที่ออกตัวต่อต้านเรื่องนี้อย่างเข้มแข็ง นำโดย กลุ่มสยามสามัคคีของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม กลุ่มคนหลากสีของ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ และกลุ่มเก่าขาประจำอย่างกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยของ สนธิ ลิ้มทองกุล และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ที่ทั้งหมดพร้อมยกระดับการชุมนุมทันทีหากการแก้รัฐธรรมนูญส่อเจตนาว่าจะล้มล้างสถาบันกษัตริย์หรือฟอกผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ

พาลทำให้คนไทยบางส่วนชักเสียวและเริ่มวิตกกังวลว่าบ้านเมืองมีโอกาสสุ่มเสี่ยงวกกลับไปสู่วังวนสับสนวุ่นวายเหมือน 4-5 ปีที่ผ่านมาอีกครั้ง

แต่กระนั้นนักการเมืองเขี้ยวลากดินระดับ ร.ต.อ.เฉลิมกลับมองโลกในแง่ดี

และเห็นต่างว่าแก้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.นี้จะไม่นำประเทศไปสู่ความขัดแย้งแตกแยกแน่นอน


"ม็อบจะจุดติดได้มันต้องใช้มวลชน ต้องมีจุดร่วม ถามว่าวันนี้จะเอามวลชนจากไหน จะเอาจุดร่วมเรื่องอะไรมาชุมนุมขับไล่รัฐบาล รัฐบาลไม่ได้เป็นคนทำเรื่องนี้เอง ก็ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ ส.ส.ร. ที่ส่วนหนึ่งจะมาจากการเลือกตั้ง อีกส่วนก็มาจากการคัดเลือกนักวิชาการสาขาต่างๆ เป็นคนดำเนินการ เราไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยว ไม่มีธง ไม่มีใบสั่งอะไร แล้วจะมาด่ามาขับไล่รัฐบาลได้ไง"

"ไม่ห่วงว่าเรื่องนี้จะทำให้บ้านเมืองวุ่นวายแตกแยก เพราะคนที่แก้ก็มาจากตัวแทนประชาชน แถมพอร่างเสร็จก็ต้องเอาไปให้ประชาชนลงประชามติอีกครั้ง ถ้าประชาชนไม่เอาตอนนั้นก็จบ แก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้เราไม่ได้คิดเองทำเองทั้งๆ ที่ความจริง เราเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากถ้าจะแก้เพื่อตัวเองก็ทำได้แต่เราไม่ทำ คนพวกนี้แค่คิดก็ผิดแล้ว "รองนายกฯ แจงอย่างมีอารมณ์

แม้จะเชื่อว่ายุคนี้กระแสม็อบจะปลุกไม่ขึ้น แต่เพื่อความไม่ประมาทในการรับมือเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกขณะ ร.ต.อ.เฉลิมเปิดเผยว่าได้สั่ง จนท. เตรียมพร้อมรับมือทุกสถานการณ์

ที่สำคัญ การดำเนินการทุกขั้นตอนของรัฐบาลชุดนี้จะยึดหลักสากล โดยจะใช้ตำรวจไม่ขอพึ่งบริการทหารเหมือนนานาอารยประเทศที่ทำกัน

"ใครจะเคลื่อนไหวยังไงก็ให้เคลื่อนไหวไป เราให้อิสระเต็มที่ รัฐบาลนี้จะใช้ตำรวจเป็นคนคุมไม่ใช้ทหาร ใครจะมาชุมนุมเราอำนวยความสะดวกเต็มที่ แต่ถ้าทำอะไรผิดกฎหมายก็ต้องจัดการ หลักการเราชัดเจนเริ่มต้นก็ให้ประกาศพวกคุณทำผิดกฎหมายข้อนั้นข้อนี้ หนึ่ง สอง สาม ถ้ายังไม่ฟังก็ให้เวลา 20 นาที มาหารือส่งตัวแทนเจรจา ถ้ายังไม่ฟังอีกก็ค่อยใช้แก๊สน้ำตา step by step ไปเรื่อยๆ"

"แต่ไอ้ประเภทเอาปืนลูกซอง ปืนกล สไนเปอร์ มายิงใส่คน รัฐบาลนี้ไม่ทำ บอกได้เลยว่าถ้านายกฯ ให้ผมรับผิดชอบดูแลม็อบเต็มตัว คนเดียวก็ไม่ตาย เพราะเราไม่คิดทำสงครามกลางเมืองกับพี่น้องคนไทยกันเอง"

ร.ต.อ.เฉลิมแสดงจุดยืนสยบม็อบ



ด้วยเหตุที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาทั้งชีวิต ไม่มีใครในพรรคเพื่อไทยดูแคลนเหลี่ยมเชิงทางการเมืองของนายตำรวจยศน้อยแต่มากไปด้วยประสบการณ์คนนี้

ทุกบ่ายวันอังคาร ร.ต.อ.เฉลิมจึงต้องรับบทวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองให้ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยฟัง ที่ ณ วันนี้เขาก็ยังให้ความมั่นใจกับยิ่งลักษณ์และคนในพรรคเพื่อไทยว่ายังไม่มีปมประเด็นใดจะมาเลื่อยขารัฐบาลได้

แม้วันนี้ยิ่งลักษณ์และรัฐบาลกำลังถูกรุกไล่อย่างหนักจากพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งกรณีแต่งตั้ง "ณัฐวุฒิ-นลินี" ขัดรัฐธรรมนูญ กรณี"ลับ-ลวง-พราง" ว.5 โฟร์ซีซั่นส์ กรณีจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางการเมืองที่ถูกมองว่าเอาใจคนเสื้อแดง รวมถึงประเด็นความรู้ความสามารถในการบริหารประเทศกว่า 7 เดือนของยิ่งลักษณ์ก็ถูกท้าทายจากฝ่ายค้านวันแล้ววันเล่าอย่างดุเดือด

แต่ ร.ต.อ.เฉลิมก็สำทับอย่างมั่นใจว่ายิ่งลักษณ์ "เอาอยู่"

เพราะแม้จะเป็นละอ่อนป้ายแดงทางการเมือง แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานจริงไม่ได้ดีแต่พูด เชื่อว่าจะฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ได้ไม่ยาก

นอกจากนี้ อาวุธแต่ละดอกที่พรรคประชาธิปัตย์ปล่อยออกมา ร.ต.อ.เฉลิมวิเคราะห์ว่ายังไม่คมและมีอานุภาพพอจะปลิดชีพจอมยุทธ์นารีขี่ม้าขาวได้

เพราะทั้งหลายทั้งมวลล้วนแต่เป็นกระบวนท่าเดิมๆ ที่เคยนำออกมาใช้แล้ว

"สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ มองว่าเขาเล่นการเมืองแบบเดิมๆ อัดหนักในสภาสลับกับยื่นกระทู้สด ถามแต่เรื่องส่วนตัวหาเรื่องรัฐบาลไปเรื่อย แต่อย่างอื่นไม่มีอะไรใหม่ ใช้มุขเก่าๆ เหมือน 10-20 ปีที่แล้ว ไม่พอใจอะไรก็วอล์กเอ๊าต์

"ประชาธิปัตย์ย่ำอยู่กับที่ ถ้าประชาธิปัตย์ยังเล่นการเมืองแบบนี้ เฉลิมขอท้าได้เลยว่าเลือกตั้งครั้งหน้าประชาธิปัตย์จะสูญพันธุ์ในอีสานแน่นอน ทั่วประเทศก็จะได้ไม่ถึง 100 ผมขอท้าเลย"

ร.ต.อ.เฉลิมฟันธงอนาคตคู่อริ พร้อมฝากเตือนรัฐบาลอย่าหลงลำพอง และไม่ควรมองข้ามจุดสลบสำคัญ 2 ประการที่ควรระมัดระวังให้จงหนัก


"วันนี้ถ้าเราไม่ไปทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ไปทำอะไรที่บีบคั้นหัวใจทหาร เชื่อว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์จะอยู่ครบเทอม 4 ปีแน่นอน และหากผลงานของรัฐบาลออกมาดีเผลอๆ อาจเป็น 4 บวก 4 นายกฯ ยิ่งลักษณ์อาจจะอยู่ถึง 8 ปีก็เป็นได้ใครจะไปรู้" ร.ต.อ.เฉลิมโปรยยาหอม

แต่ไม่วายออกปากชี้จุดเปราะปรางอันอ่อนไหวกระตุกเตือนรัฐบาลไม่ให้หลงระเริง พร้อมอัพเดตสถานะความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับรัฐบาลเพื่อไทย ที่เขากล่าวอย่างมั่นใจว่า "แนบแน่นยิ่ง" จนแทบไม่เห็นร่องรอยความขัดแย้งในวันวาน

"ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพ บอกได้เลยว่าดีมาก so far so good กับบิ๊กๆ ทหารหลายคนผมก็สนิท จะเรียก The best ก็ว่าได้ โดยเฉพาะ ผบ.ทบ. ท่านน่ารัก ช่วยปราบยาเสพติดอย่างดีเยี่ยม เพราะฉะนั้น บอกได้เลยว่าเรื่องยึดอำนาจ เรื่องโค่นล้มรัฐบาล แม่ทัพนายกองสมัยนี้เขาไม่คิด เพราะทหารยุคนี้เป็นนักประชาธิปไตยทุกคน" ร.ต.อ.เฉลิมฟุ้งสายสัมพันธ์หวานชื่นกับกองทัพ

ทั้งยังการันตีทหารยุคนี้ไม่คิดปฏิวัติ โดยเฉพาะเมื่อมีหัวขบวนที่ชื่อ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กุมบังเหียนคุมกองทัพอยู่

อย่างไรก็ตาม อนาคตข้างหน้าใครจะไปรู้ได้ หากรัฐบาลยิ่งลักษณ์เปิดไพ่แก้รัฐธรรมนูญหมดหน้าตัก ด้วยการลดบทบาทองค์กรอิสสระ โละศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ ฟอกผิดอดีตนายกฯ ทักษิณ ก้าวล่วงแก้ไขปรับปรุงหมวดพระมหากษัตริย์ ไม่รู้ว่าตอนนั้น พล.อ.ประยุทธ์จะยังเมารักลงเรือลำเดียวกับ ร.ต.อ.เฉลิมหรือไม่

คอการเมืองติดตามลุ้นด้วยใจระทึก



++

คอลัมน์ ลึกแต่ไม่ลับ โดย จรัญ พงษ์จีน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1648 หน้า 7


"มีแต่คนเสื้อแดง และ ส.ส. ของพรรคเพื่อไทย อยากพาผมกลับบ้าน แต่รัฐบาลดูเขาเฉยๆ เหมือนไม่อยากให้กลับ" วลีนี้ เป็น "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" เปรยกับ "ผู้ใหญ่" ท่านหนึ่ง ด้วยท่าทีน้อยเนื้อต่ำใจ หลัง "น้องสาว-ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ตอบคำถามผู้สื่อข่าว กรณีที่แกนนำพรรคเพื่อไทย+เสื้อแดงบางส่วน ขว้างก้อนหินถามทาง เพื่อนำ "นายใหญ่กลับบ้าน"

ว่า "ยังไม่ได้กลับตอนนี้ค่ะ"

ช่วงเดือนสองเดือนนี้ "พ.ต.ท.ทักษิณ" บินมา "ป้วนเปี้ยน" อยู่ใกล้ประเทศไทยถี่ยิบ ล่าสุดข่าววงในระบุว่า 9-11 มีนาคม มาฮ่องกง นอนฝั่งเกาลูน พักผ่อน 2-3 วัน บินไปเยี่ยมเกลอเก่า "สมเด็จฮุน เซน" ที่กัมพูชา ตีกอล์ฟกันหนึ่งรอบ สุดสัปดาห์นี้ บินไปช็อป-ตระเวนชิมที่สิงคโปร์ และอาจจะตีกรรเชียงเข้าพม่า

ระหว่างนี้มีเรื่องประจวบเหมาะ เกาะแกะเกิดขึ้นหลายประเด็น เริ่มจาก "ประชากรบ้านเลขที่ 111" ที่ถูกเข้าเวรให้เว้นวรรคคนละ 5 ปี จะหลุดโลกแปรสภาพเป็นไทเต็มตัว ออกมาแล้ว ในวันที่ 30 พฤษภาคม

อดีต ส.ส. ตัวกลั่น 111 คน ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยเก่าที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เว้นวรรคทางการเมือง ล้วนฝีไม้ลายมือ ระดับคุณภาพคับแก้ว

หลุดรอดออกมาแล้ว ส่วนหนึ่งที่ยังคงดำรงอยู่ใน "พรรคเพื่อไทย" ไม่ว่าจะในฐานะกุนซือ วอลล์เปเปอร์ หัวหน้ามุ้ง ต้องเป็น "เชนคัมแบ๊ก" เพื่อเข้ามาเสริมใยเหล็กในรัฐบาล "ปู 3" ซึ่งทาง "นายใหญ่" เตรียมการเอาไว้แล้ว ใครผงาดเข้าเสียบแทนใคร เนื่องจาก "ปู 2" รัฐมนตรีบางคน ถูกจัดวางอันดับแค่ "ตัวสำรอง"

แน่นอนว่า ชื่อชั้นของ "คนตอง 1" พระกาฬเหลือเฟือ ไม่เพียงแต่เสนาบดี "อะไหล่" ที่ถูกถอดตัว ยังทำให้รัฐมนตรีขาเล็ก-ขาใหญ่ จำนวนไม่น้อยเลยทีเดียวที่ "หวาดระแวง" กลัวตัวเองกระเด็นไปติดดอย

จึงพากันฮึดฮัด ขัดขืน แสดงออกด้วยอากัปกิริยาที่แตกต่างกันออกไป

วิธีหนึ่ง พลันที่ "นายใหญ่ดูไบห่อ" เดินทางจากตะวันออกกลางมาลัดเลาะอยู่ริมกำแพงประเทศไทย ไม่ว่าจะจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง พม่า เขมร สิงคโปร์ จึงจองตั๋วไปคารวะกันจ้าละหวั่น

ไม่ว่า "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" หรือ "กำนันเป๊าะ-สมชาย คุณปลื้ม" และ "วัฒนา อัศวเหม" ที่กลายเป็น "คนไกลบ้าน" พากันเหงาหงอย ดุจไก่งวง

คึกคักอักโขก็ตอนที่เพื่อนพ้องน้องพี่บินไปเยี่ยมกันทีละมากๆ สัจธรรมนี้ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ที่ถือว่า "โลกกว้างทางไกล" มากที่สุด เนื่องจากเพื่อนฝูงมีอยู่ทุกมุมโลก ภาษาอังกฤษเก่งกาจกว่ารายอื่นๆ แต่ไม่วายเป็น "คนเหงา" พลันที่คณะลูกคู่จากเมืองไทยบินกลับ



ที่ไปที่มาของโรค "อยากกลับบ้าน" ด้วยอิทธิฤทธิ์ "คิดถึงเมืองไทย" ทำให้เวลาสนทนากับคณะที่ไปเยือน ไม่ว่า จะเมืองหนาว เมืองร้อนประมาณไหน "ใคร" ชงลูก เสนอวิธีการ "พานายกลับบ้าน" ได้ปลอดภัย รวดเร็วฉับไวเท่าไหร่ เหมือนนวดถูกเส้น กลายเป็น "คนขึ้นหม้อ"

แต่ "ใคร" อาจหาญ คัดค้านว่า ทิ้งระยะเวลาไปอีกคืบ หรือศอก ปล่อยให้ "น้องสาวยิ่งลักษณ์" คุมสถานการณ์ให้รูปเข้ารอย ฝ่ายตรงข้ามคือ "ประชาธิปัตย์" และพลพรรค "เสื้อเหลือง" กำลังแพแตก

ปรากฏว่า "เจ้านาย" ค้อนขวับ ไม่สบอารมณ์

เกมแก้รัฐธรรมนูญ 2550 ที่กำลังรุกคืบเร่งสุดขีด ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะ "พานายกลับบ้าน" ได้รวดเร็วขึ้น แม้จะเปิดประเด็นแก้ไขมาตรา 291 กำหนดกฎเกณฑ์ให้มี ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งและสรรหา จำนวน 99 คนมาดำเนินการแก้ไข รธน.

แม้ "พรรคเพื่อไทย" หลบเผือกร้อน เตรียมขึ้นคัตเอาต์ทั่วประเทศ ไม่แตะต้องหมวดหมู่สถาบัน ในมาตราที่ 1 และ 2 หรือประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

แต่ที่ฝ่ายตรงข้าม กำลังจะโหมกระพือ หยิบมาเขย่าบัลลังก์รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" และคาดว่า สามารถเรียกแขกได้ดียิ่งคือ ประเด็น "ศาลปกครอง-องค์กรอิสระ" และโดยเฉพาะ "นิรโทษกรรม"

ขณะที่ "ยิ่งลักษณ์" ที่เป็นหมายเลข 1 ขั้วบริหาร เริ่ม "เข้มแข็ง" กล้าตอบโจทย์ทุกประเด็น ภารกิจเข้าที่เข้าทาง "ผู้ใหญ่เอ็นดู" มีโอกาสลากยาวเป็นไปได้สูง

"ขั้วนิติบัญญัติ" คือ สภาผู้แทนราษฎร หมายถึง พรรคเพื่อไทยซึ่งกุมเสียงข้างมาก กลับมุ่งหน้าขับเคลื่อนแก้รัฐธรรมนูญ อันจะเป็นตัวแปร กระทบชิ่งมากระเทือนกับ "อำนาจบริหาร" ได้โดยง่าย

"ยิ่งลักษณ์" จึงแสดงอาการอริยะขัดขืน ฟันธงว่า "ยังไม่กลับตอนนี้ค่ะ" หมายถึงให้ลมการเมืองเงียบสงบ ทิ้งช่วงกลับในปี 2556 ซึ่งตอนนั้น รัฐบาล "ปู" จะแข็งแกร่งกว่าปัจจุบัน

เมื่อได้ฟัง "น้องสาว" แสดงจุดยืนเยี่ยงนี้ "พี่ใหญ่" ที่คิดถึงบ้านใจจะขาด จึงหลุดวลี "มีแต่คนเสื้อแดง กับ ส.ส.พรรคเพื่อไทย อยากให้กลับ แต่รัฐบาลเขาดูเฉยๆ เหมือนไม่อยากให้กลับ"



แน่นอนแล้วว่า "หวยออนไลน์" น่าจะกลับมาแจ้งเกิดได้เสียทีในไม่ช้าไม่นาน ดูองคาพยพทั้งหลายแล้ว แรงขับเคลื่อน สืบไปในทิศทางเดียวกัน

จับอาการจากรัฐบาล ต้องเร่งหาเงินมาใช้จ่ายอย่างมหาศาล การพลิกฟื้น "หวยใต้ดิน" ให้มาอยู่ "บนดิน" ถูกต้องตามกฎหมาย เงินไหลเข้าภาคหลวงได้ปีละมากมายมหาศาล ดีกว่าปล่อยให้ไปตกอยู่ในกระเป๋าของมาเฟียหวยเพียงไม่กี่ราย

การวางตัวให้ "ทนุศักดิ์ เล็กอุทัย" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ เข้ากำกับดูแลสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ถือว่า ใช่เลย คือการเข้ามาเดินเกม "หวยออนไลน์" ให้บรรลุ

"ทนุศักดิ์" เร่งดูข้อกฎหมาย ประกาศเสียงดังฟังชัดว่า หากดูข้อกฎหมายแล้วไม่ผิด สามารถปฏิบัติได้โดยชอบ จะเดินหน้าทันที

สอดรับเป็นปี่เป็นขลุ่ยกับคณะกรรมการปรับปรุงพัฒนากฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เดินหน้าปรับปรุงระเบียบ เพื่อนำหวยใต้ดินขึ้นมาอยู่บนดินให้ได้ ให้เหตุผลว่า สำเร็จเมื่อไหร่ รัฐบาลจะได้เงินภาษีเพิ่มขึ้นมาทันทีปีละ 1.5 หมื่นล้านบาทเป็นอย่างต่ำ

ขณะที่ "สมชาติ วงศ์วัฒนศานต์" ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลคนใหม่ ที่เพิ่งเข้ามาเป็น "ผอ.หวย" เมื่อไม่กี่เดือน ก็ขานรับ "หวยออนไลน์" ทันที ตามแรงส่งของ "อารีพงศ์ ภูชอุ่ม" ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานบอร์ดกองสลากฯ

คาดหมายกันว่า ภายในกลางปีนี้ "หวยออนไลน์" จะก้าวเข้ามาแทน "หวยใต้ดิน"



+++

โผทหาร ฮันนีมูน "สุกำพล" ปล่อยผี จับตา "บิ๊กตู่" ดัน ตท.15 บี้ ตท.13 โฟกัส "นมชง" และหัวอก "น้อง ผบ.ทบ."
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1648 หน้า 16


โผโยกย้ายทหารกลางปี ที่กำลังจะคลอดอีกไม่กี่วันนี้ แม้จะถูกมองว่าไม่มีอะไรตื่นเต้นหวือหวา แต่ทว่า ก็เป็นโผที่จะทำให้มองข้ามช็อตไปถึงการโยกย้ายปลายปี ในเดือนกันยายนนี้ ที่ต้องใช้คำว่า "มีเรื่อง" แน่นอนเลยทีเดียว

ที่ไม่ตื่นเต้น ก็เพราะเชื่อว่า โผนี้บิ๊กโอ๋ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม จะยังไม่แผลงฤทธิ์เต็มที่ คาดจะคุยกับ ผบ.เหล่าทัพแบบพี่น้อง และไม่ล้วงลูกโผของแต่ละเหล่าทัพ เพราะไม่มีการย้ายในตำแหน่งสำคัญมากนัก แค่รองรับคนที่จะเกษียณ จึงไม่ต้องใช้การโหวต ตาม พ.ร.บ.กลาโหม

ที่ไม่หวือหวา ก็ยังเป็นเพราะเป็นช่วงฮันนีมูนของ รมว.กลาโหม ใหม่กับ ผบ.เหล่าทัพ ที่ต้องรักษามารยาท สร้างภาพความปรองดอง หวานใส่กัน และมีการส่งโผโยกย้ายกันตามกำหนดเมื่อ 12 มีนาคมที่ผ่านมา

อีกทั้ง พล.อ.อ.สุกำพล ก็ไม่คิดที่จะแตะต้อง บิ๊กเฟื่อง พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. ตามแรงเชียร์ของเพื่อน ตท.10 ใน ทอ. ที่จะให้สลับกับ บิ๊กโต พล.อ.อ.พิธพร กลิ่นเฟื่อง ประธานที่ปรึกษา ทอ. แกนนำ ตท.10

ปล่อยให้เป็น ผบ.ทอ. ไปจนเกษียณกันยายนนี้



แต่ที่ต้องจับตามองคือ ในส่วนของ ทบ. ที่บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ต้องจัดทัพเหนือและอีสานซึ่งเป็นพื้นที่เสื้อแดงใหม่ เนื่องจาก บิ๊กเยิ้ม พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2 และ บิ๊กหยอย พล.ท.วรรณทิพย์ ว่องไว แม่ทัพภาคที่ 3 เพื่อนรัก ตท.12 ทั้งคู่จะต้องขยับขึ้นพลเอก ที่ปรึกษาพิเศษ ทบ. ก่อนเกษียณกันยายนนี้

โดยมีการดันเต็งหนึ่ง บิ๊กป้อม พล.ท.จิระศักดิ์ ชมประสพ แม่ทัพน้อยที่ 2 ตท.13 ขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 คนใหม่ และให้น้องรักของบิ๊กเยิ้ม อย่าง บิ๊กติ่ง พล.ต.ชวลิต ชุนประสาน รองแม่ทัพภาคที่ 2 (ตท.15) ขึ้นพลโท ในตำแหน่งแม่ทัพน้อยที่ 2 เพื่อจ่อคิวเป็นแม่ทัพคนต่อไป

ท่ามกลางข่าวสะพัดในเบื้องแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะดันเพื่อน ตท.12 อย่างบิ๊กแดง พล.ท.ศุภรัตน์ พัฒนาวิสุทธิ์ ผบ.นสศ. ข้ามไปเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 เพื่อพร้อมรับมือสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา

เนื่องจาก "ธง" ของกองทัพไทย คือ จะยื้อเวลาเรื่องการทำตามมติศาลโลกในการถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ปัญหาโดยรอบเขาพระวิหาร ให้ช้าที่สุด ที่อาจทำให้ฝ่ายกัมพูชาไม่พอใจ โดยเฉพาะการที่ พล.อ.ธนะศักดิ์ ต้องการให้มีการกำหนดจุดต่างๆ ในพื้นที่ที่จะมีการถอนทหารออกเสียใหม่ ไม่เอาตามมติศาลโลก เพราะไทยเสียเปรียบ

เนื่องจากเมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.เตีย บันห์ รมว.กลาโหม กัมพูชา ก็เร่งให้ไทยจัดการประชุมคณะกรรมการร่วม JWG-Joint Working Group ไทย-กัมพูชา เพื่อหารือเรื่องการถอนทหาร หลังจากที่ไทยยื้อมาตั้งแต่การประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไทย GBC เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2554 เพราะเพิ่งมีการตั้งบิ๊กตี๋ พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร เสธ.ทหารสุดเฮี้ยบ เป็นหัวหน้า JWG เมื่อเร็วๆ นี้ แต่ฝ่ายเขมรนั้น ตั้ง พล.อ.เนียง พาด รมช.กลาโหม เป็นประธานนานแล้ว

ที่คาดกันว่าจะทำให้สถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ระอุขึ้นมาอีกรอบ จึงต้องเอานายทหารนักรบพิเศษ อย่าง พล.ท.ศุภรัตน์ มาคุม เพราะในเวลานี้ ทหารรบพิเศษก็เข้ามาวางกำลังและแผนปฏิบัติการต่างๆ ไว้นานแล้ว เพื่อรับมือกับหน่วยรบพิเศษ 911 ของเขมร

อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ มองว่า พล.ท.จิรศักดิ์ เป็นนายทหารที่ค่อนข้าง "แข็ง" และ "ดื้อ" ยึดหลักการ ไม่มีสี ซึ่งอาจจะไม่ทำตามทุกเรื่องในเรื่องเขมรและพื้นที่เสื้อแดง จึงไม่อยากให้ขึ้น แถมยังเป็น ตท.13 รุ่นที่ ตท.12 พยายามบี้อยู่อีกด้วย

แต่ก็เกรงจะถูกต่อต้านและโจมตี เพราะ พล.ท.ศุภรัตน์ ไม่ใช่ลูกหม้อกองทัพภาคที่ 2 และจะทำให้เขมรรู้แกว



และที่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องสวมหัวใจสิงห์ก็คือ การตัดใจไม่ดัน บิ๊กติ๊ก พล.ต.ปรีชา จันทร์โอชา รองแม่ทัพภาคที่ 3 น้องชายแท้ๆ ขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 3 เพราะถูกโจมตีอย่างหนัก ตั้งแต่ดันน้องชายขึ้นลิฟต์มาหลายครั้ง จนครั้งนี้ทำให้สวยงามด้วยการให้ขึ้นพลโท เป็นแม่ทัพน้อยที่ 2 ก่อนเท่านั้น แล้วให้ บิ๊กอ้วน พล.ท.ชาญชัยณรงค์ ธนารุณ แม่ทัพน้อยที่ 3 (ตท.13) ขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 3 ไปก่อน

ทั้งๆ ที่โดยสถานการณ์แล้ว เพื่อความมั่นใจ พล.อ.ประยุทธ์ วางใจให้น้องชายมาคุมอีสาน มากกว่า อีกทั้งที่ผ่านมา พล.ต.ปรีชา ก็ได้พิสูจน์ฝีมือด้วยการลงไปเป็น ผบ.ฉก.ยะลา มาปีเต็ม แถมสร้างผลงานจับแกนนำโจรใต้ตัวใหญ่ สามารถดันขึ้นแม่ทัพภาคที่ 3 ได้เลย

ว่ากันว่า หาก พล.ต.ปรีชา ไม่ใช่น้องชาย ผบ.ทบ. ก็อาจจะได้ขึ้นแม่ทัพภาคที่ 3 ในการโยกย้ายนี้เลยก็เป็นได้ เพราะโดยฝีมือและบุคลิกลักษณะแล้ว เขาแตกต่างจาก พล.อ.ประยุทธ์ ทั้งสุขุม นิ่ง ลุ่มลึก

"ผมเข้าใจ เพราะพี่ตู่ แม้จะเป็นพี่ชายผม แต่ท่านก็เป็นผู้บังคับบัญชา ที่จะพิจารณาตามความเหมาะสม" พล.ต.ปรีชา กล่าว

"การเป็นน้อง ผบ.ทบ. ทำให้ผมต้องทำงานหนักเป็นสองเท่า และก็ต้องระวังตัว วางตัวให้ดี เพื่อไม่ให้เสียชื่อ จันทร์โอชา ที่เป็นครอบครัวทหาร ทั้งคุณพ่อ และพี่น้อง ก็ให้ใช้ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์ดีกว่า" บิ๊กติ๊ก กล่าว



กล่าวกันว่า ในยุคนี้เป็นยุคแผงอำนาจ ตท.12 ที่ไม่ว่ามองไปทางไหนก็มีแต่เพื่อนของ พล.อ.ประยุทธ์ คุมบังเหียนอยู่ แต่ในยุคหน้า พล.อ.ประยุทธ์ เลือกให้ ตท.15 เป็นทายาทแผงอำนาจ โดยถือว่าเป็นรุ่นของ พล.ต.ปรีชา น้องชาย ซึ่งขยับขึ้นมาจ่อในตำแหน่งสำคัญ

ทั้งในกองทัพภาคที่ 1 ที่มีบิ๊กอู๊ด พล.ต.วลิต โรจนภักดี รองแม่ทัพภาคที่ 1 ที่กำลังจ่อเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ในการโยกย้ายปลายปีนี้ แทน บิ๊กโด่ง พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร ที่คาดว่าจะขยับขึ้นเป็น ผช.ผบ.ทบ. ไปลุ้นชิงเก้าอี้ ผบ.ทบ. ในอนาคต ในฐานะแกนนำ ตท.14 ทหารเสือราชินี ที่มีอายุราชการถึงปี 2558

แม้ พล.ต.วลิต จะชิงเก้าอี้แม่ทัพภาคที่ 1 กับบิ๊กต๊อก พล.ต.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รองแม่ทัพภาคที่ 1 เพื่อน ตท.15 อีกคน แต่คาดกันว่า โยกย้ายกลางปีนี้ พล.ต.ไพบูลย์ จะถูกแยกฉีกไปเป็น พลโท ก่อน เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ วางตัวนายทหารตัวเล็กใจถึงสายเหยี่ยว อย่าง พล.ต.วลิต ที่สู้ศึกเสื้อแดงกันมาตลอด จนมีเศษกระสุนเอ็ม 79 กระจายอยู่ในร่างกายหลายสิบชิ้น หลังจากที่ถูกกองกำลังไม่ทราบฝ่ายโจมตีที่ถนนดินสอ เมื่อ 10 เมษายน 2553

แต่ พล.ต.ไพบูลย์ นั้น ก็เป็นคนตัวเล็กใจใหญ่ ที่ก็ไม่ยอมแพ้ เพราะเขาไม่ยอมที่จะไปเป็นแค่พลโท ตำแหน่งประจำ แต่สู้เพื่อที่จะเป็น ผบ.รร.นายร้อย จปร. แต่ทว่า ก็ต้องไปชิงกับ พล.ต.พอพล มณีรินทร์ รอง ผบ.รร.จปร. ที่จ่ออยู่ แต่ก็เพื่อที่จะรอโอกาสในการย้ายระนาบกลับมาเสียบเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ตำแหน่งที่ทหารวงศ์เทวัญ อย่างเขาต้องกู้ศักดิ์ศรีของวงศ์เทวัญทั้งผอง เพราะไม่อาจปล่อยให้ บูรพาพยัคฆ์ และทหารเสือราชินี ครอบครองกันมาต่อเนื่อง ตั้งแต่ยุค บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา มาจน พล.อ.ประยุทธ์ และ บิ๊กอ๊อด พล.อ.คณิต สาพิทักษ์ และมา พล.ท.อุดมเดช

เพราะเชื่อกันว่า เส้นทางสู่เก้าอี้แม่ทัพภาคที่ 1 ของ พล.ต.วลิต ก็ไม่ง่ายดาย เพราะในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็คงไม่ปล่อยง่ายๆ เพราะ พล.ต.วลิต ถือเป็นคู่อริคนสำคัญของคนเสื้อแดงมาตั้งแต่สงกรานต์ 2552 ที่นำกำลัง พล.ร.2 รอ. ไปลุยคนเสื้อแดง ที่สามเหลี่ยมดินแดง จนไปถึงพัทยา และมาถึงสี่แยกคอกวัว ถนนดินสอ

เมื่อถึงโยกย้ายปลายปี ม็อบเสื้อแดงอาจจะออกมาต่อต้านการขึ้นคุมกำลังหน่วยปฏิบัติของ พล.ต.วลิต ก็เป็นได้

แต่ก็ใช่ว่าโอกาสจะตกเป็นของ พล.ต.ไพบูลย์ แต่ให้มองนายทหารนักรบม้ามืดอย่าง บิ๊กโชย พล.ต.กัมปนาท รุดดิษฐ์ รองแม่ทัพภาคที่ 1 (ตท.16 ) ซึ่งทำงานเงียบๆ ไม่ค่อยพูด และเป็นทหารนักรบ ที่โตมาจาก ร.31 รอ. ไม่ได้ถือว่าเป็นพวกไหน แถมยังเป็น ผบ.พล.1 รอ. มาแล้ว

และตอนนี้ก็ลงไปเป็น ผบ.ฉก.นราธิวาส แถมมีอายุราชการถึงปี 2560 เลยทีเดียว



เริ่มเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่า พล.อ.ประยุทธ์ และ บิ๊กหนุ่ย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รอง ผบ.ทบ. เพื่อนรักและเพื่อนคู่คิด วางแผนที่จะเตะสกัด ตท.13 หลังจากที่ถูกเม้าธ์กันทั่ว ทบ. ว่าทำงานไม่เข้าขากับบิ๊กบี้ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เสธ.ทบ.

ว่ากันว่าในโยกย้ายปลายปีนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมั่นใจพันเปอร์เซ็นต์ว่าจะเป็น ผบ.ทบ.ต่อ จะเปลี่ยนตัว เสธ.ทบ. จะบี้ พล.อ.ศิริชัย ซึ่งเป็น ตท.13 ข้ามไปอยู่ บก.ทัพไทย เพราะที่ผ่านมา ไม่เข้าตา พล.อ.ประยุทธ์ แต่ที่ต้องเอามาเป็น เสธ.ทบ. เพราะเป็นน้องรักของ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต รมว.กลาโหม พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์ ที่ถือว่าให้นั่ง เสธ.ทบ. ปีหนึ่งก็พอแล้ว

โดยเฉพาะการทำงานใน กอ.รมน. ซึ่ง พล.อ.ศิริชัย เป็นเลขาฯ กอ.รมน. นั้น ไม่ตรงใจ พล.อ.ประยุทธ์ เอาเสียเลย ต่างจากตอนที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ เป็น เสธ.ทบ. และควบเลขาฯ กอ.รมน. จึงพยายามที่จะเสนอ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.รมน. ให้ปรับโครงสร้างใหม่ให้เพิ่ม รอง ผบ.ทบ. คือ พล.อ.ดาว์พงษ์ มาเป็น ผช.ผอ.รมน. เพิ่ม แต่นายกฯ ยังไม่อนุมัติ เพราะอาจจะมีการใช้ กอ.รมน. ไปในทางการเมือง

อีกทั้งใน กอ.รมน. นั้น ก็มีแต่ ตท.12 เพื่อนของ พล.อ.ประยุทธ์ ยึดอยู่ทั้งสิ้น แต่ไปคนละแนวกับ พล.อ.ศิริชัย จึงทำให้มีปัญหา กลายเป็นก้างขวางคอ

จึงมีข่าวว่า พล.อ.ศิริชัย อาจถูกส่งออกไปเป็น รอง ผบ.สส. เพราะตำแหน่ง เสธ.ทหารนั้น คาดว่า บิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. จะดันบิ๊กจิ๋ว พล.อ.วุฒินันท์ ลีลายุทธ ขึ้นแทน พล.อ.วรพงษ์ ที่ก็จะขึ้นเป็น รอง ผบ.สส.



คาดกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะดันบิ๊กนมชง หรือบิ๊กฉัตร พล.ท.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รอง เสธ.ทบ. ขึ้นเป็น เสธ.ทบ. ในการโยกย้ายปลายปี แล้วให้จับตาให้ดี เพราะนอกจากเป็นถุงเงินถุงทอง ของ ตท.12 แล้ว อาจกลายเป็นทายาทอำนาจของรุ่น เพราะเขามีอายุราชการถึงปี 2558 เรียกว่า ถ้าไม่น่าเกลียดเกินไป พล.อ.ประยุทธ์ ก็สามารถดันขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ. ต่อจากตัวเองที่เกษียณ 2557 ได้เลย

แม้ว่า พล.ท.ฉัตรชัย จะเป็นเหล่าช่างก็ตาม แต่ในอดีต พล.อ.ประยุทธ์ จารุมณี และ บิ๊กตุ้ย พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นเหล่าทหารช่าง ก็เคยเป็น ผบ.ทบ. มาแล้ว

เขาอาจกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของ พล.ท.อุดมเดช แม่ทัพภาคที่ 1 ที่คาดหมายว่าจะขึ้นเป็น ผช.ผบ.ทบ. ในการโยกย้ายปลายปีนี้ เพราะเกษียณปี 2558 เหมือนกัน แต่ทว่า พล.ท.อุดมเดช นั้น มีกองหนุนมากกว่าและเหมาะสมกว่า

แต่ทว่า ก็ไม่มีอะไรแน่นอน เพราะเป็นเวลานานหลายปีแล้ว ที่ไม่มีการให้นายทหารที่เหลืออายุราชการแค่ปีเดียวขึ้นเป็น ผบ.ทบ. แต่อย่างน้อยต้อง 2 ปี

แผนส่งออก ตท.13 ยังรวมถึงการเตะ บิ๊กอ๋อย พล.ท.จิระเดช โมกขะสมิต รอง เสธ.ทบ. แกนนำ ตท.13 ไปเอายศพลเอก นอก ทบ. ที่อาจจะเป็นสำนักปลัดกลาโหม เพื่อให้หมดโอกาสที่จะขึ้นเป็น ผบ.ทบ. หากเกิดอุบัติเหตุขึ้น



สําหรับ พล.ท.จิระเดช ซึ่งมีอายุราชการถึงปี 2557 นั้น ก็มีโอกาสที่จะไปลุ้นเก้าอี้ ปลัดกลาโหม ที่จะมาแทน พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ที่จะเกษียณกันยายนนี้ เพื่อชดเชยการที่ พล.อ.คณิต เพื่อนรัก ประธานที่ปรึกษา รมว.กลาโหม ที่คาดว่าหมดหวังและถูกดองต่อไป เพราะถูกมองเป็นบูรพาพยัคฆ์ น้องรักบิ๊กป้อม

แต่ทว่าก็ไม่ง่าย เพราะในสำนักปลัดกลาโหม นั้นมีแคนดิเดตสำคัญ ของ ตท.14 ทั้งบิ๊กกี่ พล.อ.ชาตรี ทัตติ รองปลัดกลาโหม น้องรักของบิ๊กจิ๋ว พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และบิ๊กแป๊ะ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ผอ.สำนักนโยบายและแผนกลาโหม ซึ่งทำหน้าที่เสมือนเสนาธิการกลาโหม ที่รับงานทุกอย่าง ทั้งในกองทัพและการเมือง

แต่หากตกลงกันได้มีการต่อคิวกันไว้ เพราะ พล.อ.ชาตรี เกษียณปี 2558 ส่วน พล.อ.นิพัทธ์ เกษียณปี 2559 เพราะ พล.ท.จิรเดช นั้นก็ไม่ธรรมดา นอกจากเป็นวงศ์เทวัญที่โตในไลน์มาตลอดแล้ว และยังมีความสัมพันธ์อันดีกับแกนนำพรรคเพื่อไทยอีกด้วย แต่เสียเปรียบตรงที่ยังไม่ติดยศพลเอก

แต่เชื่อเถอะ ถึงเวลาไม่มีใครยอมรอใคร หรือยอมต่อคิวใคร เพราะไม่มีอะไรแน่นอนทั้งสิ้น



นี่จึงเป็นศึกสงครามสายเลือดเตรียมทหาร สายเลือด จปร. ที่ระอุจ่อเตรียมเดือดในการโยกย้ายปลายปี

ที่ไม่ใช่แค่ชิงเก้าอี้กัน แต่ยังหมายรวมถึง พล.อ.อ.สุกำพล ที่ตอนนี้อาจยอมปล่อยผีให้ ผบ.เหล่าทัพ จัดโผนี้ได้ตามต้องการไปก่อน

แต่โยกย้ายกันยายนนี้ คงจะไม่ยอมง่ายๆ เพราะมีตำแหน่งสำคัญ ทั้งปลัดกลาโหม, ผบ.ทอ. และระดับห้าเสือของแต่ละเหล่าทัพ

เมื่อนั้น ใครก็ "เอาไม่อยู่"...



.