http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-09

ยอมไม่ได้ "แก้รัฐธรรมนูญ"/ หมัดเหล็ก "ประชาธิปัตย์" กำปั้นกำมะหยี่ "พล.อ.สนธิ"

.

ยอมไม่ได้ "แก้รัฐธรรมนูญ"
โดย นายดาต้า คอลัมน์ เมนูข้อมูล
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 09 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1647 หน้า 21


กระแสต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างคึกคัก ล่าสุด เกิดชมรม 50 ส.ส.ร. ขึ้นมา ตั้งโต๊ะแถลงอย่างเป็นทางการว่าจะเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างถึงที่สุด

เป็นขบวนที่ตามพรรคประชาธิปัตย์ ส.ว.บางกลุ่ม และกลุ่มประชาชนบางฝ่าย

การต่อต้านนี้ประสานเข้ากับโพลจากหลายสำนัก ที่ผลสำรวจออกมาว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่อยากให้แก้ไข

"นิด้าโพลล์" ล่าสุดระบุว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 43.66 ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่จะทำให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

"สวนดุสิตโพลล์" พบว่าประชาชนถึงร้อยละ 63.87 วิตกกังวลที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลสารพัด เช่น จะเกิดความขัดแย้งจนกระทบกระทั่งกันระหว่างกลุ่มต่างๆ, ประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องรัฐธรรมนูญ, เกรงว่าจะไม่โปร่งใสในกระบวนการแก้ไข มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง

ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุผลที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ว.บางกลุ่ม ยกขึ้นมาอ้าง

ซึ่งอาจแปรความได้ว่า ในช่วงการประชุมสภาเพื่อพิจารณาเรื่องนี้นั้น ประชาชนผู้ตอบแบบสำรวจโพล เชื่อในข้อมูลและมุมมองของฝ่ายค้านมากกว่าคำชี้แจงของรัฐบาล
คนส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องรัฐบาล รู้แต่เพียงว่าการแก้ไขมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดความวุ่นวายในประเทศอีกครั้ง
ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครพึงปรารถนา

ว่าไป ดูท่าจะเป็นเช่นนั้นได้ไม่น้อย

เริ่มจากมีการก่อหวอดขบวนการคัดค้านกันอย่างเป็นระบบ และต่อเนื่อง
จากพรรคประชาธิปัตย์เรียกประชุมใหญ่ฐานเสียงที่ภาคใต้
มาถึงความพยายามที่จะทยอยสร้างองค์กรภาคประชาชนขึ้นมาอย่างหลากหลาย เพื่อรุมถล่ม
จนพอสรุปได้ว่า "การแก้ไขรัฐธรรมนูญ" ได้กลายเป็นประเด็นที่ฝ่ายตรงกันข้ามยอมให้เกิดขึ้นไม่ได้ขึ้นมาแล้ว


เราประกาศว่าเป็นประเทศประชาธิปไตย

พรรคเพื่อไทยแถลงเป็นนโยบายมาเมื่อครั้งหาเสียงแล้ว ว่าหากได้เป็นรัฐบาล สิ่งที่ต้องการดำเนินการเป็นอันดับแรกๆ คือ แก้ไขรัฐธรรมนูญ
เหตุผลไม่มีอะไรมากกว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ถูกร่างภายใต้กรอบการชี้นำของอำนาจเผด็จการทหาร เป็นรัฐธรรมนูญที่มีเจตนาชัดจนว่าต้องการทำให้มีการตรวจสอบนักการเมืองอย่างหนัก เพื่อสะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่นในคุณธรรม จริยธรรม พยายามทำให้พรรคการเมืองไม่มีความมั่นคง จะล้มเสียเมื่อไรก็ได้

ประชาชนเลือกพรรคเพื่อไทยมาล้นหลาม
ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่า เพราะเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ(ที่สร้างความได้เปรียบกว่าให้อำนาจเผด็จการ)


หลังนำเรื่องเข้าประชุมร่วมรัฐบาล แม้จะมีการคัดค้านและโจมตีอย่างเข้มข้น

ส.ส.ส่วนใหญ่มากกว่าเสียงรัฐบาลไปไม่น้อย หนุนให้มีการแก้ไข

เราปกครองกันด้วยระบอบประชาธิปไตย ในระบบรัฐสภา

เสียงของรัฐสภาสนับสนุนท่วมท้น

แต่กลับมีทั้งนักการเมือง และประชาชนยังเดินหน้าออกมาต่อต้าน
และเมื่อหันกลับไปมองแต่ละกลุ่มแต่ละพวกที่คัดค้าน ล้วนยืนอยู่ในผลประโยชน์เดียวกันกับเผด็จการทหารที่ได้ประโยชน์จากการทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอทั้งนั้น

ดังนั้น จึงต่อต้านกันมาก
ยิ่งทำให้น่าสนใจว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ซ่อนเบื้องหลังอะไรไว้ ฝ่ายสนับสนุนเผด็จการจึงหัวชนฝายอมให้แก้ไขไม่ได้



++

หมัดเหล็ก "ประชาธิปัตย์" กำปั้นกำมะหยี่ "พล.อ.สนธิ" "เป้า" ที่แตกต่างต่อ "เพื่อไทย"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 09 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1647 หน้า 10


มองในแง่การเมือง "การออกหมัด" เข้าใส่ฝ่ายตรงข้าม เพื่อให้บอบช้ำ หรือถูกน็อกคาเวทีได้ ถือเป็นเรื่องธรรมดายิ่ง

แต่กระนั้น ที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ดูเหมือนจะถูกโวยวายอยู่พอสมควร
เพราะขยันออก "หมัด" เกินเหตุ
เลยถูกฝ่ายตรงข้ามมองว่า เป็น "มวยวัด"
บางจังหวะ ถูกมองว่า จงใจชกใต้เข็มขัด

จนทำให้ ส.ส. และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ อย่าง นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรค และ น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล กลายเป็นผู้ต้องหา
โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มอบให้โฆษกพรรคเพื่อไทยและทีมทนายแจ้งความดำเนินคดี หมิ่นประมาท กรณีใช้ "ว.5 โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์" ชกใต้เข็มขัด

อย่างไรก็ตาม พรรคประชาธิปัตย์ ดูจะไม่สนใจ ยังคงเดินหน้าออกหมัดต่อไป
ที่กำลังถูกจับตามองอย่างมากตอนนี้ ก็คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ซุ่มซ้อมเตรียมขึ้นเวที
โดยมี "แม่ไม้สำคัญ" ที่หวังจะเผด็จศึกรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย
นั่นคือ เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ซึ่งก็ได้แย้มทีเด็ด "ส่วนตัว" ออกมาให้เห็นแล้ว โดยจะรุกในชั้นกรรมาธิการ ให้ 6 แนวทาง คือ

1.ต้องกำหนดขอบเขตการทำรัฐธรรมนูญ โดยให้นำหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 สถาบันพระมหากษัตริย์ของรัฐธรรมนูญปี 2540 มาใส่ไว้ในฉบับใหม่โดยไม่มีการแก้ไข และให้มีหลักประกันว่าจะคงไว้ซึ่งความเป็นอิสระของตุลาการและองค์กรตรวจสอบ รวมทั้งไม่มีการลบล้างการใช้อำนาจตุลาการในอดีต

2.เพื่อให้มีกลไกตรวจสอบเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ควรให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปตามข้อ 1 ที่เสนอหรือไม่

3.เสนอแปรญัตติมาตรา 291/1 คือเพิ่ม ส.ส.ร. เป็น 150 คนให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง 125 คน และจากการสรรหา 25 คน โดยการเลือกตั้งในจังหวัดใหญ่ที่มีทั้งหมด 48 จังหวัดที่มีจำนวนประชากรมากที่สุด จะให้เลือกตั้ง ส.ส.ร. ได้จังหวัดละ 2 คน อีก 29 จังหวัดที่เหลือให้เลือกจังหวัดละ 1 คน แต่ในจังหวัดที่มี ส.ส.ร. 2 คน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะเลือกได้เพียงคนเดียว ซึ่งจะเป็นหลักประกันให้เกิดการกระจายตัว ทำให้ ส.ส.ร. ไม่ถูกครอบงำโดยพรรคใดพรรคหนึ่ง

4.เสนอขยายเวลาในขั้นตอนต่างๆ ให้เหมาะสม ไม่เร่งรัดจนเกินไป

5.แก้ไขลักษณะต้องห้ามของ ส.ส.ร. ให้เหมาะสม เช่น การถูกจำคุกและยังไม่พ้นโทษมาเป็นเวลา 5 ปี ควรกำหนดให้เป็นลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับผู้สมัคร ส.ส.

6.ต้องให้รัฐสภาเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญก่อนทำประชามติ

จะเห็นว่า ทั้ง 6 ข้อถือเป็น "หมัดหนัก" ที่คาดหวังถึงน็อกคู่ต่อสู้
โดยเฉพาะ ข้อที่ 1 และ 2 นั้น นายอภิสิทธิ์ ยังดำรงจุดหมายเต็มเปี่ยมที่จะใช้เรื่อง "สถาบันพระมหากษัตริย์" "ศาล" และ "องค์กรอิสระ" มาเป็นประเด็นทีเด็ด
พร้อมกับหวังว่ากองเชียร์ ไม่ว่า กลุ่มชมรม ส.ส.ร.50, กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์, กลุ่มเสื้อหลากสี, กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นต้น จะกระโดดออกมาร่วมวง
เป็น "มวยหมู่" ที่รัฐบาลและพรรคเพื่อไทย ยากจะรับมือ

แต่ดูเหมือน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร, น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พรรคเพื่อไทย และรัฐบาลจะอ่านทางมวยออกเช่นกัน

เราจึงได้เห็นความพยายามแก้ทางมวย อย่างเช่น การประกาศจะระบุในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเลยว่าจะไม่แตะต้องหมวดพระมหากษัตริย์

ซึ่งจะลด "เงื่อนไข" ที่ละเอียดอ่อนและล่อแหลม ออกไปได้ทันที

และเป็นที่คาดหมายว่า ทั้งสองฝ่ายคงต้องมีการแก้ทางมวยกันแบบยกต่อยก

เพื่อที่จะไม่พลาด ถูก "หมัด" จนน็อกคาเวที



อย่างไรก็ตาม ในท่ามกลาง "ดงกำปั้น"
มีหมัดอีกหมัดหนึ่ง ที่รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยอยากจะเอาใบหน้าไปรับ
ด้วยเป็นหมัดที่หุ้มด้วยกำมะหยี่หลายชั้น จน "นุ่มเนียน" สบาย
เป็นหมัดที่ปล่อยออกมาจากอดีตคู่ขัดแย้งหมายเลข 1 แต่วันนี้กลับมีมิตรไมตรี เหมือนจะต้องการ "ไถ่บาป" อะไรบางอย่าง

นั่นก็คือ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พล.อ.สนธิ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ได้ออกมาแถลงความคืบหน้าในการทำงานของกรรมาธิการฯ

โดยมีการนำเสนอผลการศึกษาของ "สถาบันพระปกเกล้า" เกี่ยวกับเรื่องการสร้างความปรองดอง ใน 6 หัวข้อ คือ

1.การจัดการกับความจริงของเหตุการณ์รุนแรงที่นำมาซึ่งความสูญเสีย ควรส่งเสริมบทบาทของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ในการดำเนินการค้นหาความจริงให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน อีกทั้งเปิดเผยข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ เพื่อให้สังคมเรียนรู้และป้องกันมิให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต

2.การให้อภัยผ่านกระบวนการนิรโทษกรรมใน 2 ทางเลือก

2.1 การออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองทุกประเภท ทั้งความผิดตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และคดีอาญาที่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง

2.2 ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเฉพาะคดีการกระทำความผิดตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยความผิดอาญาอื่น ที่แม้จะมีวัตถุประสงค์ทางการเมืองจะไม่ได้รับการยกเว้น

3.การเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหา จากกระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ใน 3 ทางเลือกคือ

3.1 การดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาด้วยกระบวนการยุติธรรมตามปกติที่มีอยู่ โดยเฉพาะผลการพิจารณาของ คตส. สิ้นผลลง และโอนคดีทั้งหมดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการใหม่ แต่ไม่กระทบถึงคดีที่สิ้นสุดแล้ว

3.2 ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส. ทั้งหมด และให้ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมปกติ โดยถือว่าคดีไม่ขาดอายุความ

3.3 ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส. ทั้งหมด และไม่นำคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการที่ตัดสินไปแล้วมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง

4.การกำหนดกติกาทางการเมือง อาจรวมถึงการแก้กฎหมายหลัก รัฐธรรมนูญ และต้องหลีกเลี่ยงการสร้างความยุติธรรมของผู้ชนะ อาทิ การถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และองค์กรอิสระ การได้มาซึ่งบุคคลที่เข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ การตรวจสอบองค์กรอิสระ และการยุบพรรคการเมืองโดยง่าย

5.การสร้างการยอมรับในมุมมองต่อประชาธิปไตยที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องคุณลักษณะการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

6.การวางรากฐานของประเทศเพื่อความเป็นธรรมในสังคม ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการเสริมสร้างวัฒนธรรมความเป็นพลเมือง และการอยู่ร่วมกันในความแตกต่าง


จะเห็นว่า ผลการศึกษาของสถาบันพระปกเกล้า ที่คาดว่า กรรมาธิการฯ จะผลักดันออกมาเป็นรูปธรรม เป็น หมัดกำมะหยี่ ที่ฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ พร้อมจะเอาหน้าออกไปรับ
รับด้วยความยินดี
เพราะมากด้วย "ความนุ่มนิ่ม" และ "มิตรไมตรี" แห่งการปรองดอง

อันแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับหมัดที่พรรคประชาธิปัตย์ ปล่อยเข้าใส่

เพราะนั่นมุ่งหมายจะเอาให้ตายสถานเดียว!



.