http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-12

มุกดา: สิทธิการประกันตัวตามชนชั้นและสีเสื้อ และคดีซึ่งอาจไม่จบในศาล

.

สิทธิการประกันตัวตามชนชั้นและสีเสื้อ และคดีซึ่งอาจไม่จบในศาล
โดย มุกดา สุวรรณชาติ คอลัมน์ หลักศิลา กลางน้ำเชี่ยว
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 09 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1647 หน้า 20


8 มีนาคมปีนี้คงไม่พูดถึงเฉพาะสิทธิสตรี มิใช่เป็นเพราะว่าเรามีนายกฯ หญิงแล้ว แต่ในช่วงนี้สังคมมีการตั้งคำถามต่อกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะเรื่อง สิทธิการประกันตัวเมื่อตกเป็นผู้ต้องหาที่เกิดกับประชาชนทั่วไป ผู้ต้องหามีทั้งชายและหญิง

เช่น คดีดังคือ..ผู้หญิงยิง ฮ. (นางนฤมล วรุณรุ่งโรจน์ หรือจ๋าพร้อมกับพวกอีก 2 คน) ซึ่งจบลงด้วยการที่ศาลยกฟ้อง เพราะไม่มีใครเชื่อว่า เจ๊จ๋าแกจะมีปัญญา ไปยิง ฮ. เนื่องจากแกชอบทำครัว อาวุธก็มี สาก ตำส้มตำ หรือตะหลิว ถ้าขว้างก็คงไม่ถึง

แต่เรื่องนี้ไม่ตลกเพราะเจ๊จ๋ากับพวก ติดคุกฟรี นานถึง 15 เดือน โดยไม่มีการให้ประกัน

เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นมากมาย มีผลกระทบต่อชีวิตของคนในครอบครัวและผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่เพียงยากลำบากเรื่องทำมาหากิน บางกรณีถึงกับทำให้ผู้เป็นญาติเสียชีวิต

จึงมีการประท้วงเรื่องนี้ด้วยการอดอาหารที่หน้าศาลอาญา รัชดา เริ่มด้วยการอดอาหาร 112 ชั่วโมงของลูกชาย คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ลูกชายผู้ต้องหาข้อหาหมิ่นฯ มาตรา 112 ตามด้วยการสมทบจาก คุณผุสดี งามขำ ผู้หญิงเสื้อแดงคนสุดท้าย ในเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 2553 และมีคนประกาศอดอาหารต่อเนื่องมา 23 วัน จนมีการประกาศปรับเปลี่ยนการเคลื่อนไหวใหม่เป็นกลุ่ม ปฏิญญาหน้าศาล คุณจิตรา คชเดช ซึ่งร่วมเคลื่อนไหวเรื่องนี้ ชี้แจงว่าทำไม พวกเขาต้องเคลื่อนไหวเรื่องนี้

สิ่งที่พวกเขาต้องการคือการขอสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว (สิทธิประกันตัว) ให้กับนักโทษคดีเกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ที่ผ่านมาและนักโทษที่โดนมาตรา 112 ซึ่งขอเรียกว่านักโทษการเมือง


ผู้ถูกคุมขังแบ่งออกเป็นสามกลุ่มคือ

1. ผู้ที่ถูกกล่าวหาศาลยังไม่ตัดสิน คนเหล่านี้ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ที่ศาลควรให้ประกันตัว เพราะเขายังไม่ได้พิสูจน์ว่าเป็นผู้กระทำความผิด เขาต้องออกมาเตรียมตัวในการหาพยานหลักฐาน ในการสู้คดี เพราะเรื่องนี้สำคัญมากเมื่อผู้ต้องหาอยู่ในเรือนจำ ทำให้การเตรียมพยานหลักฐานไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้หลักฐานในการโต้แย้งในชั้นศาลมักจะลดน้อยลง

2. ผู้ที่ศาลชั้นต้นตัดสินแล้ว แต่คดียังไม่ถึงที่สุด เขาก็ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ สิทธิประกันตัวเขาต้องได้รับ

3. ศาลสั่งลงโทษถึงที่สุดแล้ว

สิทธิประกันตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์พึงจะได้รับ เมื่อถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด เขาก็มีสิทธิที่จะได้รับการประกันตัว เพราะเรามีตัวอย่างในสังคมมากมาย นักโทษคดียาเสพติดร้ายแรง คดีฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา คดีฉ้อโกงด้วยมูลค่ามหาศาลทำให้เกิดการเสียหายต่อเศรษฐกิจ ศาลยังให้สิทธิในการประกันตัว แต่ในคดีการเมืองที่มีแนวคิดแบบสนับสนุนเสื้อแดงมักจะไม่ได้ประกันตัว

กรณี คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องหาคดี 112 ถูกศาลให้เดินทางไปขึ้นศาลจังหวัดต่างๆ ตามที่อยู่ภูมิลำเนาของพยานโจทก์ซึ่งตัวพยานโจทก์เหล่านั้นทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ การกระทำแบบนี้เห็นว่าการเข้าข่ายทรมาน การไม่ให้สิทธิประกันตัวจึงเป็นการทรมานนักโทษอีกทางหนึ่ง

ทำให้มองเห็นว่า สิทธิประกันตัว เป็นทั้งเรื่องการเมืองที่แบ่งสีแบ่งข้างและเรื่องชนชั้นที่มีปนอยู่ด้วยกันเพราะถ้าคุณมีเงินมากก็สามารถยื่นประกันตัวได้ และมีโอกาสสูงที่ศาลจะอนุญาต คดีการเมืองกรณีแกนนำเสื้อแดงที่โดนคดีแต่ได้สิทธิประกันตัวในขณะที่มวลชนเสื้อแดงไม่ได้รับสิทธิประกันตัว กรณีแกนนำเสื้อเหลืองและสมาชิกเสื้อเหลืองกลับได้รับสิทธิประกันตัว

จิตรา เสนอว่า ถึงเวลาที่เราต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมแบบประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนชั้นจับกุม พนักงานสอบสวน จนถึงอัยการและศาล โดยผ่านการแก้รัฐธรรมนูญ คือศาลต้องยึดโยงกับประชาชน ยึดโยงอย่างไร ต้องมีคณะกรรมการยุติธรรมที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน มีอำนาจรับเรื่องร้องเรียน ปรับปรุง ลงโทษ พฤติกรรมผู้พิพากษา อัยการ พนักงานสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจ

เพราะบางครั้งความไม่ยุติธรรมมันเกิดขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนการจับกุมแล้วด้วยซ้ำ แล้วเราจะร้องหาความยุติธรรมในชั้นอื่นๆ ได้อย่างไร



ที่จริงแล้ว สิทธิการประกันตัวเป็นเรื่องปกติ การไม่ให้ประกันจึงเป็นกรณีพิเศษ ...ผลคือ มีคนติดคุกฟรี จำนวนหนึ่ง เช่น...

คดีการวางเพลิงเผาสถานที่ราชการจังหวัดอุดรฯ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553

28 ตุลาคม 2554 ศาลจังหวัดอุดรธานีอ่านคำพิพากษาในคดีที่เกี่ยวกับการวางเพลิงเผา สถานที่ราชการจังหวัดอุดรฯ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งมีการรวมสำนวน 4 คดี มีจำเลยทั้งสิ้น 22 คน โดยศาลตัดสินจำคุกจำเลยรวม 9 คน ส่วนจำเลยที่เหลือ 13 คน ศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากหลักฐานภาพถ่ายไม่มีพฤติกรรมว่าได้กระทำผิด

จำเลยทั้ง 13 จึงถูกขังฟรีนานถึง 1 ปี 3 เดือน

คดีร่วมกันปล้นเซ็นทรัลเวิลด์

1 ธันวาคม 2554 ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ผู้พิพากษาอ่านคำตัดสินคดี นายพินิจ จันทร์ณรงค์ กับพวกรวม 7 คน ในฐานความผิด ร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีและใช้อาวุธปืนร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยขู่เข็ญว่าจะใช้กำกำลังประทุษร้ายโดยมี และใช้อาวุธปืน ร่วมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปฝ่าฝืนประกาศข้อกำหนดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุม

โดยศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้ง 7 มีความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้จำคุกคนละ 1 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่งคงจำคุกไว้คนละ 6 เดือน

ส่วนข้อหาใช้อาวุธปืนยิงต่อสู้ ขัดขวางเจ้าหน้าที่นั้น ศาลยกฟ้องจำเลยทั้ง 7 คน ส่วนข้อหาปล้นทรัพย์ภายในห้างเซ็นทรัลเวิลด์ (CTW) ยกฟ้องจำเลยทั้ง 6 คน เว้นแต่จำเลยที่ 3 ให้ลงโทษ 3 ปี

อย่างไรก็ตาม จำเลยทั้งหมดถูกคุมขังในเรือนจำมาตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งเกินระยะเวลา 6 เดือนแล้ว ทั้งหมดจึงจะได้รับการปล่อยตัวในเย็นนี้ ยกเว้นนายคมสันต์ จำเลยที่ 3 ที่ถูกตัดสินจำคุกรวม 3 ปี 6 เดือน และ นายพินิจ จันทร์ณรงค์ ที่เป็นจำเลยในคดีวางเพลิง CTW อีกคดีหนึ่งซึ่งจะสืบพยานต่อในปีหน้า

เจ้าหน้าที่จากศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 (ศปช.) ซึ่งติดตามคดีดังกล่าวตั้งแต่ชั้นสืบพยาน ตั้งข้อสังเกตว่า คดีนี้เป็นคดีเดียวที่เจ้าหน้าที่รัฐฟ้องประชาชนว่าต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในขณะปฏิบัติหน้าที่โดยใช้อาวุธปืน ทั้งที่รัฐบาลที่แล้วบอกเสมอว่าคนเสื้อแดงมีอาวุธ แต่ไม่เคยจับใครได้ มีเพียงกลุ่มนี้เท่านั้น แต่ในที่สุดศาลก็พิพากษายกฟ้องเพราะพยานหลักฐานอ่อนมาก

ขณะที่จำเลยทั้งหมดถูกขังในเรือนจำเกือบสองปีโดยประกันไม่ได้เพราะเจ้าหน้าที่ตั้งข้อหาหนักมาก-ว่าร่วมกันปล้น ซึ่งไม่ได้ดูพฤติการณ์เลยว่าจำเลยทั้งหมดมาจากคนละจังหวัด ไม่รู้จักกันมาก่อน นอกจากนี้ จากการสอบถามกับจำเลยบางคนยังยืนยันด้วยว่าเจ้าหน้าที่ที่จับกุมมีการซ้อมผู้ต้องหา และใช้ไฟฟ้าช็อตจนหมดสติ เพื่อบังคับให้รับสารภาพด้วย

ทีมวิเคราะห์คิดว่าประชาชนจะเห็นภาพชัดเจนในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 ที่ผ่านมา เมื่อศาลได้ตัดสินคดี 2 คดีในวันเดียวกัน


คดี นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสสรณ์ และคดี นายสนธิ ลิ้มทองกุล

เมื่อเวลา 09.30 น. ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสสรณ์ หรือ สุรชัย แซ่ด่าน อายุ 68 ปี แกนนำกลุ่มแดงสยาม จำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นเวลา 15 ปี คำสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้างลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกจำเลยไว้ 7 ปี 6 เดือน

ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก มีคำพิพากษา จำคุก นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตผู้บริหารกลุ่มแมเนอร์เจอร์ มีเดีย และแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จำเลย เป็นเวลา 20 ปี ฐานผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 กรณีรับรองเอกสารในฐานะกรรมการบริษัทอันเป็นเท็จเพื่อให้บริษัทที่ตัวเองถือหุ้นอยู่ไปกู้เงินกับธนาคารกรุงไทย จำนวน 1,078 ล้านบาท โดยศาลลงโทษจำคุกรวม 17 กระทง กระทงละ 5 ปี รวมจำคุก 85 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 42 ปี 6 เดือน แต่ตามกฎหมายลงโทษสูงสุดได้ไม่เกิน 20 ปี

สำหรับสุรชัย หลังจากติดคุกมานานและไม่ได้รับการประกันตัว แม้จะต่อสู้เพื่อสิทธิอันนี้ทุกวิถีทาง ในที่สุดเขาก็เลือกวิธีการรับสารภาพให้ศาลตัดสินลงโทษและหวังว่าจะขอพระราชทานอภัยโทษได้ วันนี้ สุรชัยติดคุกเหมือนเดิม

ส่วน คุณสนธิ ลิ้มทองกุล แม้คดีที่เกิดขึ้นจะผ่านมาแล้วเป็น 10 ปี แต่เขาไม่เคยถูกจำคุก และคดีนี้ถึงแม้มูลค่าทรัพย์สินในคดีจะเกินหนึ่งพันล้าน โทษจำคุก 85 ปี ลดโทษแล้วเหลือ 20 ปี แต่เขาก็สามารถประกันตัวได้ คุณสนธิใช้สิทธิการประกันตัวและยังสามารถสู้คดีต่อไปซึ่งไม่รู้ว่าจะใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่ วันนี้สนธิก็ยังไม่ต้องติดคุก และไม่ต้องหนี

คดียึดสนามบิน ผู้ต้องหาทุกคนไม่มีใครติดคุก ทุกคนได้สิทธิประกันตัว แสดงว่าแม้เป็นคดีการเมืองก็ประกันได้ ขึ้นอยู่กับว่าผู้ต้องหาเป็นใคร แต่ผู้วิเคราะห์หวังว่าการเคลื่อนไหวต่อต้านการไขรัฐธรรมนูญคราวนี้พวกเขาคงไม่ยึดสนามบินอีก

ผู้เขียนเห็นด้วยกับการให้ประกันตัวในทุกคดี โดยเฉพาะคดีการเมือง



คดีเล็กๆ ที่อาจไม่จบในศาล

ผู้วิเคราะห์ให้จับตาดูคดีที่นายสุพจน์และ นายสุพัฒน์ ศิลารัตน์ พี่น้องฝาแฝดทำร้ายอาจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เพราะไม่พอใจการเสนอแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 วันนี้ยังไม่มีใครไปสอบถามว่าทั้งสองคน ไม่พอใจการแก้ไขในประเด็นใด แต่อาจหานักข่าวไปทำข่าวยากเพราะหนึ่งในสองบอกว่าอยากเตะนักข่าว ไม่มีใครรู้ว่าทั้งสองมีความรู้เรื่องกฎหมายแค่ไหน แต่น่าจะมีความรู้เรื่องอาวุธปืนดี

พล.ต.ต.พชร บุญญสิทธิ์ ผบก.น.1 เปิดเผยความคืบหน้าคดีที่สองพี่น้องฝาแฝด ทำร้ายร่างกาย นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พล.ต.ต.พชร ระบุว่า ขณะนี้ปล่อยตัวผู้ต้องหาฝาแฝดชั่วคราวและนัดให้มาพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 12 มีนาคม ซึ่งหากสำนวนเสร็จสิ้นก็ส่งพนักงานอัยการได้เลย แต่หากยังไม่เสร็จก็จะนัดมาอีกครั้ง ที่ปล่อยตัวเพราะไม่ได้ขอหมายจับ แต่มามอบตัวก่อนเหมือนยอมรับที่ได้ก่อเหตุไป จึงแจ้งข้อหาและปล่อยตัว คดีนี้มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 พันบาท

"จากการสอบถามทางด้านคดี โดยได้สอบสวนว่าเคยต้องโทษที่ใดมาบ้าง ทางนายสุพจน์คนพี่บอกว่า เคยถูกจับเรื่องอาวุธปืนผิดมือ ส่วนนายสุพัฒน์คนน้อง มีคดีทำร้ายร่างกาย 4 คดี และทำให้เสียทรัพย์ 1 คดี เคยถูกจำคุก 2 ครั้ง ครั้งละ 1 เดือนกับ 6 เดือน ซึ่งเป็นเพียงคร่าวๆ"

"สำหรับคดีเก่า หากตรวจสอบได้แล้ว แล้วพบว่าอยู่ในเงื่อนไขที่ฟ้องเพิ่มโทษได้ เช่น ยังมีคดีทำร้ายร่างกาย แต่ศาลลงโทษจำคุก 1 เดือน หรือ 6 เดือน กฎหมายอาจระบุว่าหลังจากพ้นโทษแล้วกี่ปี หากไปก่อเหตุก็ฟ้องเพิ่มโทษได้ ก็จะเอาให้ถึงที่สุด ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง "

"ทั้งๆ ที่รู้ว่ามีกล้องวงจรปิดแต่ก็ทำ เหมือนก้าวร้าว ศาลอาจให้รอลงอาญา ก็อาจไม่รอลงอาญา เพราะไปนั่งรออาจารย์แต่เช้า ซึ่งคนน้องก็โดนจำคุกมาแล้ว"

"พยานแวดล้อมทางคดีไม่ห่วง แต่ก็ห่วงว่าผลที่ตามมาว่าจะมีคนเอาอย่างหรือไม่ ก็ต้องลงโทษให้เข็ดหลาบ จะได้ไม่เป็นเยี่ยงอย่างกับคนอื่น ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นมวยล้ม ไม่ล้มแน่นอน ยังไงก็ต้องฟ้อง ยิ่งศาลลงโทษยิ่งดี"

ผู้วิเคราะห์ชี้ว่าการตัดสินคดีที่เล็กๆ แบบนี้ อาจมีผลให้เกิดความวุ่นวายได้ ขณะนี้ทั้งสองคนได้รับสิทธิปล่อยตัวชั่วคราวไปแล้ว ข่าวว่าจะไปพักผ่อนถึงฮาวาย

จะเกิดอะไรขึ้นกับผู้ต้องหาทั้งสอง เพราะมีคนที่ไม่พอใจพฤติกรรมของสองพี่น้องและพยายามแจ้งที่อยู่ของทั้งสองคนผ่านเว็บไซต์ต่างๆ ทำให้หลายคนกังวลว่าอาจมีเรื่องที่ร้ายแรงเกิดขึ้นตามหลังก็ได้ ถ้ามีคนรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมเรื่องต่อย ตบ เตะอาจเกิดได้อีกหลายครั้งไม่จบง่ายๆ เพราะจะมีหลายคนยอมเสียค่าปรับเพื่อสนองความรุนแรงที่ตนเองต้องการ

ในที่สุดผลของการใช้ปากและปลายนิ้วทำสงครามผ่านสื่อก็ได้เริ่มแสดงผลแล้ว รอแต่ว่าจะปล่อยให้มันลุกลามหรือช่วยกันดับ

หวังว่าทุกฝ่ายจะยอมรับและจบลงในศาล แต่ถ้ามันขยายตัว อย่าคิดว่ามันจะไม่ลุกลามถึงบ้านคุณ เพราะความขัดแย้งครั้งนี้ถ้าขยายตัวจะมีคนเข้าร่วมเป็นล้านๆ คน

คดีนี้จะพิสูจน์คนทุกฝ่ายไม่ว่าอยู่ในบทบาทใด ว่าโง่หรือฉลาด ขอให้ใจเย็นๆ และคิดถึงประโยชน์ของสังคมระยะยาว



.