http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-06

เรื่อง "ข้างใน" โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

.

เรื่อง "ข้างใน"
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 02 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1646 หน้า 30


มีประกาศพระบรมราชโองการใน ร.4 ว่า ที่มีคนไปเที่ยวหลอกชาวบ้าน ว่าจะเอาลูกสาวไปถวายตัวเป็นนางห้ามนั้น อย่าได้ไปเชื่อ เพราะพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้รับหญิงสาวมาเป็นนางห้ามโดยไม่เลือกสกุลรุนชาติ

ส่วนใหญ่ของพระสนมในแผ่นดินต่างๆ นั้น มาจากการผูกสัมพันธ์ทางการเมือง ที่ทรงพอพระทัยเป็นส่วนตัวก็คงมีบ้าง แต่นั่นไม่ใช่เรื่องสำคัญสุดในการ "มีเมีย" ของพระเจ้าแผ่นดิน

การถวายลูกสาวนั้น เป็นการแสดงความจงรักภักดีสูงสุดอย่างหนึ่ง ในระบบปกครองที่ไม่มีรัฐธรรมนูญอันจะประกันความมั่นคงของสถาบันทางการเมืองใดๆ (หรือมีแต่ถูกฉีกทิ้งบ่อยๆ) ความจงรักภักดีย่อมเป็นคุณสมบัติที่ขาดไม่ได้ ในอันที่บุคคลจะสามารถเข้าไปมีส่วนแบ่งอำนาจทางการเมืองเป็นธรรมดา

ทางฝ่ายผู้ถวายยังได้ประโยชน์อีกหลายอย่าง เช่นได้เกียรติยศจากการที่พระเจ้าแผ่นดินยอมรับลูกสาว เพราะได้ชื่อว่าไปสัมพันธ์ทางอ้อมกับพระราชวงศ์ ยิ่งลูกสาวให้กำเนิดพระราชโอรสธิดา ก็ได้เป็นคุณตาของพระองค์เจ้า ย่อมเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยมากขึ้นว่า จะจงรักภักดีต่อพระราชวงศ์อย่างมั่นคง

ในทางกลับกัน ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินก็ได้ประโยชน์หลายอย่างจากการรับลูกสาวผู้มีอำนาจเข้ามารับราชการฝ่ายใน นับตั้งแต่ผูกสัมพันธ์ทางเครือญาติกับหัวเมืองที่มีอำนาจกล้าแข็ง หรือขุนนางที่กุมกำลังคนหรือกำลังทรัพย์ไว้ได้มาก ในทางเศรษฐกิจ เจ้าเมืองหรือขุนนางที่ถวายลูกสาว ก็มักจะมอบทรัพย์สมบัติจุนเจือทั้งลูกสาวและหลานพระองค์เจ้าอย่างล้นเหลือ เพื่อไว้เกียรติยศแข่งกันในวัง ที่จะเบียดเบียนพระราชทรัพย์จึงไม่มากนัก

ดังนั้น ยิ่งพระเจ้าแผ่นดินในรัชกาลใดมีอำนาจมาก ก็ยิ่งมีผู้ถวายลูกสาวไปรับราชการฝ่ายในมากเป็นธรรมดา


โดยไม่มีหลักฐานเปรียบเทียบชัดๆ ผมได้ความรู้สึกว่า พระเจ้าแผ่นดินอยุธยาไม่ได้มีสนมมากเท่าพระเจ้าแผ่นดินเมืองบางกอก เหตุผลก็เพราะพระราชอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินเมืองบางกอก (เหนือเจ้าเมืองและประเทศราช) ค่อนข้างสืบเนื่องมั่นคงในแต่ละรัชกาลมากกว่าพระเจ้าแผ่นดินอยุธยา

ทั้งนี้ ดูจากจำนวนของพระราชโอรสธิดาว่ามีมากกว่าครั้งอยุธยาอย่างเทียบกันไม่ได้

ซ้ำขุนนางและเศรษฐี (จีน) ในเมืองบางกอก ยังนิยมถวายลูกสาวมากกว่าครั้งอยุธยาด้วย จะเป็นเพราะพระเจ้าแผ่นดินอยุธยารังเกียจไม่ยอมรับหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ แต่ขุนนางใหญ่ขนาดเจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ในสมัยอยุธยา น่าจะได้ถวายลูกสาวหลานสาวบ้าง เท่าที่ผมทราบก็ไม่ได้ถวาย เปรียบเทียบกับตระกูลบุนนากในสมัยบางกอก ถวายมาแทบจะทุกรัชกาล

การมีเมียมากนั้น เป็นพระเกียรติยศอย่างหนึ่ง อย่างน้อยก็แสดงว่า มีผู้คนมาสวามิภักดิ์มาก ขุนนางและเจ้านายเองก็ถือธรรมเนียมอย่างเดียวกัน การเมืองไทยโดยเฉพาะในสมัยบางกอก จึงเป็นเรื่องของการเกาะกลุ่มผ่านระบบเครือญาติและสายสัมพันธ์ทางครอบครัวสูง

แต่นอกจากเกียรติยศในแง่นี้แล้ว ยังเป็นไปได้ว่า การมีเมียมากเป็นอำนาจในทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง

ในชวา พลังทางเพศของผู้ชายเป็นอำนาจอย่างหนึ่ง หรือพูดให้ถูกคือเป็นเครื่องหมายแห่งพลานุภาพของผู้ชาย อันเป็นพลานุภาพที่ขาดไม่ได้ในการเป็นผู้นำ (ทางการเมือง)

ไม่มีหลักฐานชัดๆ ในประเทศไทยว่า เราถือคติเดียวกันนี้หรือไม่ แต่ถ้าดูจากวรรณคดี โดยเฉพาะในต้นรัตนโกสินทร์ ก็ดูเหมือนเราจะมีคติอย่างเดียวกัน พระเอกส่วนใหญ่ย่อมได้เมียมากๆ ตลอดชีวิตที่มีแต่การรบและการรักของตน



อย่างไรก็ตาม ความจำเป็นในการ "แต่งงานทางการเมือง" ของพระเจ้าแผ่นดินหายไปกว่าครึ่ง เมื่อมาถึงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ กระบวนการปฏิรูปสมบูรณาญาสิทธิ์ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งพระมหากษัตริย์ทรงพระราชอำนาจเหนือไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเสมอกันทั้งพระราชอาณาจักร (อย่างน้อยก็โดยการยอมรับ แม้กลไกแห่งพระราชอำนาจอาจยังเอื้อมไปไม่ถึง)

เป็นครั้งแรกที่การเลือกหญิงมารับราชการเป็นพระสนมไม่มีเหตุอื่นมากกว่าความพอใจส่วนพระองค์ รูปโฉมโนมพรรณกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่งที่จะถวายตัวได้หรือไม่ แม้ว่าความมีสกุลรุนชาติก็ยังมีความสำคัญอยู่

และผมคิดว่าเป็นครั้งแรกอีกเหมือนกันที่เกิดสิ่งใหม่ขึ้นในราชสำนักฝ่ายใน นั่นคือความหึงครับ เพราะการเลือกคู่กลายเป็นการตัดสินใจส่วนตัว ไม่ใช่การสร้างพันธมิตร (ทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ) ของตระกูลเสียแล้ว ความอิจฉาริษยาที่บางคนได้รับความโปรดปรานเป็นส่วนพระองค์ ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

ผมไม่ได้หมายความว่า ในราชสำนักโบราณจะไม่มีความรู้สึกที่เรียกว่า "หึง", หรือ "อิจฉาริษยา" เสียเลย แต่ความรู้สึกเหล่านั้นแยกไม่ออกจากการแย่งอำนาจทางการเมือง ความโปรดปรานเป็นพิเศษของพระเจ้าแผ่นดิน อาจหมายถึงการพระราชทานข้าในกรมให้มาก หรือทรงตั้งพระราชโอรสที่เกิดจากเจ้าจอมนั้นๆ ขึ้นทรงกรมหลายๆ พระองค์ ทำให้มีข้าในกรมหรือผู้คนในสังกัดมาก อาจใช้เป็นกำลังในการแย่งชิงราชสมบัติจากพระราชโอรสของอีกเจ้าจอมหนึ่งหรือแม้แต่ของพระมเหสีได้

เรื่องของนางในที่ไปหาหมอเสน่ห์ ทำยาหรือพิธีกรรมเพื่อกอบโกยความโปรดปรานของพระเจ้าแผ่นดินไว้แต่ผู้เดียว จึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นให้ได้รู้กันอยู่ในหลายรัชกาล

แต่เมื่อปลายรัชกาลที่ 5 นั้น ความหึงหวงที่เกิดในราชสำนักฝ่ายใน ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับอำนาจทางการเมืองเลย ไม่ว่าจะโปรดเจ้าจอมสลับ ลดาวัลย์อย่างไร หรือเจ้าจอมสกุลบุนนากอย่างไร ก็เป็นที่แน่นอนว่า เจ้าฟ้าวชิราวุธ ซึ่งดำรงพระยศเป็นพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ย่อมขึ้นครองราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา อย่างไม่มีทางกลับกลายเป็นอื่นได้

ความหึงความหวงต่อความรักความเอาใจใส่ของสามีคนเดียวกันแบบนี้แหละครับ ที่ผมคิดว่าเป็นของใหม่ในชีวิตของราชสำนักฝ่ายใน แต่การที่ฝ่ายในแย่งอำนาจกันเองนั้นเป็นเรื่องปรกติที่เกิดขึ้นมานานแล้ว


ราชสำนักไทยไม่เคยมีระเบียบประเพณีสำหรับจัดความสัมพันธ์ของราชสำนักฝ่ายใน เพื่อจัดการกับความหึงแบบส่วนบุคคลเช่นนี้มาก่อน เคยมีแต่เรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ซึ่งอาจกระทบต่อ "การเมือง" ภายนอกราชสำนักได้

การมี "เมียมาก" ของพระเจ้าแผ่นดิน จึงกลายเป็นปัญหาขึ้นมา เมื่อได้สถาปนารัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นในประเทศไทยได้สำเร็จ

แต่ก่อนที่ปัญหาจะบานปลายไปมากกว่านี้ ก็สิ้นแผ่นดิน ร.5 ลงเสียก่อน จากนั้นเป็นต้นมา ราชสำนักไทยก็ไม่ต้องเผชิญกับภาวะเช่นนั้นสืบมาจนทุกวันนี้

ในสมัย ร.6 อาจถือได้ว่าเป็นครั้งแรกที่ พระเจ้าแผ่นดินต้องทรงหาผู้หญิงมาเป็นคู่ด้วยพระองค์เอง เพราะไม่มีใครถวายลูกสาวอีกแล้ว และไม่ว่าพระราชนิยมส่วนพระองค์จะเป็นอย่างไรก็ตาม การหาคู่ของ ร.6 เป็นที่รู้กันว่าต้องการจะมีพระราชโอรสไว้สืบราชสมบัติเป็นสำคัญ แม้จะทรงมีพระราชชายาหลายพระองค์ (แต่ก็ไม่สู้จะมากนัก) ก็เป็นที่รู้กันว่าต้องการพระราชโอรส

ในช่วงนี้เองที่ความคิดเรื่องผัวเดียวเมียเดียวแบบฝรั่งถั่งโถมเข้าสู่คนชั้นสูงไทยแรงขึ้น แม้พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าฯ เองก็เคยตรัสว่าจะมีพระมเหสีเพียงองค์เดียว แปลว่าผู้ดีไทยจำนวนหนึ่งยอมรับหลักการนี้เป็น "ศีลธรรม" เสียแล้ว

หนักเข้าๆ คนในสังคมก็ยอมรับเรื่องนี้ไปกว้างขวางขึ้น จนกลายเป็น "ศีลธรรม" ที่พระเจ้าแผ่นดินยากจะฝืนได้ เพราะจะกระทบต่ออาญาสิทธิ์ทางศีลธรรมที่สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องมี

และสืบมาจนถึงทุกวันนี้ ราชสำนักไทยก็ถือหลักการมีผัวเดียวเมียเดียว เป็นมาตรฐาน ดังนั้น จึงไม่มีปัญหาอย่างที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สร้างขึ้นเอง กล่าวคือไม่มีความวุ่นวายเพราะความหึงหวงระหว่างพระมเหสีหลายๆ พระองค์ของพระเจ้าแผ่นดิน

ทั้งนี้ เพราะความวุ่นวายของราชสำนักฝ่ายในย่อมบ่อนทำลายอาญาสิทธิ์ทางศีลธรรมของพระเจ้าแผ่นดิน อันเป็นคุณสมบัติที่ขาดไม่ได้ของกษัตริย์ ในสมัยก่อนสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งพระราชอำนาจที่มีอยู่จริงค่อนข้างจำกัด อาญาสิทธิ์ทางศีลธรรมยิ่งมีความจำเป็น เพราะเป็นอำนาจที่ทำให้เกิดการยอมรับ สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยิ่งจำเป็นใหญ่ เพราะกษัตริย์กลายเป็นศูนย์กลางที่แท้จริงของสังคม

ในโลกประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์ เป็นที่สังเกตมานานแล้วว่า บทบาทสำคัญสุดของกษัตริย์คือด้านศีลธรรม

เรื่อง "ข้างใน" จึงกลายเป็นเรื่องหลักของเรื่อง "ข้างนอก" ในทุกยุคทุกสมัย ด้วยเหตุดังนี้



.