http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-16

..ใครขวาง ปรองดอง, "สัก"รูรั่ว"ตุลาการภิวัฒน์" สะเทือน

.
บทความ - ถุงมือกำมะหยี่ที่ใต้ โดย วงค์ ตาวัน

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

สถานการณ์ "ปรองดอง" เมื่อ กรรมาธิการ ไม่มี "บทสรุป" ชี้ชัด ใครขวาง ปรองดอง
รายงานพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1648 หน้า 7


สภาพที่คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ไม่สามารถทำบทสรุปได้สะท้อนอะไร

คำตอบตรงเป้าที่สุด คือ สะท้อนความล้มเหลวของการปรองดอง
ทั้งๆ ที่ประธานคณะกรรมาธิการชุดนี้มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธาน แล้วเหตุใดจึงไม่สามารถแม้กระทั่งจะสรุป
คำตอบตรงเป้าที่สุด คือ พรรคประชาธิปัตย์

น่าสนใจก็ตรงที่คณะกรรมาธิการฯ พยายามหาแนวทาง "ปรองดอง" โดยการมอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้าดำเนินการวิจัยและหาแนวทางการปรองดอง
แต่เมื่อเสนอมา กรรมาธิการในซีกของพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วย

จากแถลงล่าสุดของ นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ไม่เห็นด้วยในกระบวนการอภัยโทษ นิรโทษกรรมใน 2 รูปแบบ

1 การให้อภัยผ่านกระบวนการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งมีความคิดเห็นทั้งให้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทั้งหมด หรือเฉพาะคดี 1 การเสริมสร้างคามเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาจากกระบวนการตรวจสอบของ คตส.

พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของสถาบันพระปกเกล้า และไม่เห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่อื่นๆ


เหตุนี้เอง คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร จึงไม่สามารถจัดทำบทสรุปได้

ทางออกเท่าที่โฆษกกรรมาธิการแถลงคือ

1 มอบหมายให้กรรมาธิการแต่ละคนไปดำเนินการตอบแบบสอบถามว่ามีความเห็นกับแนวทางของสถาบันพระปกเกล้าข้อใดบ้าง

การทำแบบสอบถามนี้ไม่ได้เป็นการขอมติ แต่เป็นการสอบถามความเห็น

1 จากนั้นก็จะนำความเห็นใส่เข้าไปในรายงานของกรรมาธิการ โดยไม่มีการลงมติ แต่จะให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรหรือที่ประชุมร่วมรัฐสภาเป็นผู้ตัดสินแทน

เท่ากับมิได้เป็นการหักหาญ หากแต่ยังเปิดทางให้กับพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นเสียงส่วนน้อย เป็นการเปิดทางบนพื้นฐานทางความคิดที่ว่า "ในแต่ละประเด็นมีความละเอียดอ่อน ประกอบกับตอนนี้สถานการณ์ยังมีความขัดแย้งอยู่ จึงเกรงว่าหากดำเนินการอะไรลงไปจะเกิดปัญหาได้"

เป็นความรอบคอบ รัดกุม เป็นความรอบคอบ รัดกุม โดยยังให้ความเคารพในความเห็นต่างอันมาจากพรรคประชาธิปัตย์



ถึงแม้ว่าภายในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎรจะยังไม่มีบทสรุป

แต่ภายในสภาพที่ยังไม่มีบทสรุปก็มีความแจ่มชัดยิ่ง

เป็นความแจ่มชัดโดยรายงานการวิจัยตามแนวทางการสร้างความปรองดองของสถาบันพระปกเกล้าเป็นหินลองทองคมแหลม

ขนาด พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ซึ่งเมื่อเดือนกันยายน 2549 เคยมีบทบาทเป็นอย่างสูงในการทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่เมื่อมาอยู่ในฐานะประธานกรรมาธิการก็เห็นชอบไปกับข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า

จึงช่วยให้ได้คำตอบว่า พรรคประชาธิปัตย์ ต่างหากที่เป็นตัวขวางเส้นทางการปรองดองตามวิธีที่สถาบันพระปกเกล้าเสนอ

แม้จะเป็นเสียงส่วนน้อย แต่กรรมาธิการก็ยังให้ความเคารพ



++

"สัก กอแสงเรือง" รูรั่วบนเขื่อน "ตุลาการภิวัฒน์" สะเทือน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1648 หน้า 11


ไม่มีใครนึกว่า "สัก กอแสงเรือง" จะตายน้ำตื้น

ด้วยฝีมือของนักขุดคุ้ยคนเก่า
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตวุฒิสมาชิกจากระบบสรรหา

นายเรืองไกร ยื่นคัดค้านว่าการสรรหามีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 115(9) เนื่องจากไม่พ้นจากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่เกิน 5 ปี

นายสักได้รับเลือกตั้งเป็น สว. ครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2543 เข้ารับการแต่งตั้งวันที่ 22 มีนาคม 2543
ส.ว. มีวาระ 6 ปี
ดังนั้น นายสัก ต้องครบกำหนดวันที่ 21 มีนาคม 2549
ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 อดีต ส.ว. ที่ใช้สิทธิ์สมัคร ส.ว.ชุดใหม่ได้ จะต้องพ้นจากสมาชิกภาพแล้ว 5 ปี
ซึ่งหมายถึงภายหลังวันที่ 21 มีนาคม 2554

แต่สภาทนายความกลับเสนอชื่อนายสักเข้าสรรหาในวันที่ 6 มีนาคม 2554
ก่อน 5 ปี ตามข้อบังคับของรัฐธรรมนูญปี 2550

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้เพิกถอนการสรรหา และเตรียมส่งเรื่องของนายสักให้ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งวินิจฉัย

"สัก" นั้น เป็นนายกสมาคมทนายความหลายสมัย และเป็นคนหนึ่งที่ต่อสู้กับ "ระบอบทักษิณ" มาโดยตลอด
เขาได้รับการแต่งตั้งจาก คมช. ให้เป็นคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่พิจารณาคดีของ "ทักษิณ" และพวก
ดังนั้น การวินิจฉัยผิดพลาดว่าตนเองมีสิทธิได้รับการสรรหา ของ "สัก" ส่งผลอย่างแรงทั้งต่อความน่าเชื่อถือของนายสัก

และกลายเป็นประเด็นให้พรรคเพื่อไทยออกมาเล่นงานด้วย "บัญญัติไตรยางศ์" ของ "ความน่าเชื่อถือ"

เพราะถ้าเรื่องแค่นี้ "สัก" ยังผิดพลาด

การใช้อำนาจของ คตส. จะ "น่าเชื่อถือ" ได้อย่างไร

ผลสะเทือนครั้งนี้จึงใหญ่หลวงนัก


เพราะไม่จำกัดวงแค่นายสัก และ คตส. เท่านั้น หากแต่ยังสะเทือนถึงสภาทนายความ ซึ่งเป็นองค์กรของนักกฎหมาย
และสะเทือนถึงคณะกรรมการสรรหา "6 อรหันต์" ซึ่งประกอบด้วย
1. นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ 2.นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง 3.นายปราโมทย์ โชติมงคล ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน 4.นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
5.นายมนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา ซึ่งเป็นผู้ที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามอบหมาย และ 6.นายเกษม คมสัตย์ธรรม รองประธานศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเป็นผู้ที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดมอบหมาย

กรณี "สัก" จึงกลายเป็น "บ่อน้ำมัน" ให้พรรคเพื่อไทยไล่ถล่มเพื่อทำลาย "ความน่าเชื่อถือ" ของกระบวนการ "ตุลาการภิวัฒน์"
เพื่อสร้างความชอบธรรมให้ "ทักษิณ"



การไล่ล่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในช่วงที่ผ่านมา ดำเนินการผ่าน 2 กระบวนการสำคัญ
กระบวนการหนึ่ง คือ การรัฐประหารโดยกองทัพ
กระบวนการหนึ่ง คือ ตุลาการภิวัฒน์

ล้ม "ทักษิณ" ครั้งแรก ใช้อำนาจจาก "กองทัพ"
ล้ม "สมัคร สุนทรเวช" และ "สมชาย วงศ์สวัสดิ์" ใช้กระบวนการ "ตุลาการภิวัฒน์"

ก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 "ทักษิณ" ถูกโจมตีอย่างหนักว่าแทรกแซง "องค์กรอิสระ"
แต่หลังการรัฐประหาร ดูเหมือนว่า "องค์กรอิสระ" จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการจัดการกับ "ทักษิณ" และพรรคการเมืองของ "ทักษิณ"
พร้อมทั้งกระบวนการ "ตุลาการภิวัฒน์"

แต่สุดท้าย เมื่อเข้าสู่สนามเลือกตั้ง ประชาชนส่วนใหญ่ก็เทคะแนนให้กับพรรคของ "ทักษิณ"
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้การจัดการ "ทักษิณ" ยากยิ่งขึ้น


แม้จะมีสัญญาณปรองดองเกิดขึ้นแล้ว แต่พรรคเพื่อไทย ก็ยังจับตา 2 กลไกเดิมที่เคยเป็นเครื่องมือจัดการกับรัฐบาลพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน
เพราะเกรงว่าประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย

ในขณะที่ 2 กลไกเดิม ไม่มีการขับเคลื่อน แต่ "กลไกใหม่" กลับขยับ
"ผู้ตรวจการแผ่นดิน"

ผู้ตรวจการแผ่นดิน มี 3 คน คือ 1.นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 2.นายศรีราชา เจริญพานิช กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 50 และ 3.นายประวิช รัตนเพียร อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย

ก้าวแรก ที่ "ผู้ตรวจการแผ่นดิน" ขยับ คือการตั้งคณะที่ปรึกษาเพื่อเสนอแนะในประเด็นที่ควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ตั้งขึ้นมาในช่วงที่รัฐบาลยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้มี ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ

คณะกรรมการ 10 คน ประกอบด้วย 1.ศ.นรนิติ เศรษฐบุตร 2.ศ.วิษณุ เครืองาม 3.ศ.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ 4.ศ.สุรพล นิติไกรพจน์ 5.ศ.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ 6.ศ.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ 7.ศ.ศุภชัย เยาวะประภาษ 8. ศ.จรัส สุวรรณมาลา 9.ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล และ10.รศ.กิตติศักดิ์ ปรกติ
เห็นรายชื่อปั๊บ พรรคเพื่อไทยก็เกิดอาการระแวงทันที เพราะส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็น "กลุ่มอำนาจเก่า"

และยิ่งผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติในเรื่องการแต่งตั้ง นางนลิณี ทวีสิน และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นรัฐมนตรี ว่ามีปัญหาด้าน "จริยธรรมเบื้องลึก"

ยิ่งทำให้ "ผู้ตรวจการแผ่นดิน" ถูกจับตามองมากขึ้น ว่าเป็น "กลไก" ใหม่สำหรับภารกิจใหม่ แต่เป้าหมายเดิมหรือเปล่า

ซึ่งหากเป็นจริง ย่อมหมายความว่าการปรองดองที่มีการส่งสัญญาณขึ้นมานั้นยังไม่ตกผลึก

เพราะทั้ง 2 ฝ่าย ต่างระแวงซึ่งกันและกัน


การชุมนุม "คนเสื้อแดง" ที่เขาใหญ่ ก็คือการส่งสัญญาณควันให้อีกฝั่งหนึ่งรู้ว่ากองกำลังมวลชนนั้นยังมีอยู่จริง

ส่วนการขยับตัวของ "ผู้ตรวจการแผ่นดิน" ก็คือการกระทืบเท้าขู่ของอีกฝั่งหนึ่ง เพื่อให้รู้ว่า "อาวุธ" ของฝ่ายตนนั้นมีพลานุภาพแค่ไหน

แต่ "องค์กรอิสระ" หรือ "ตุลาการภิวัฒน์" นั้น ประสิทธิภาพของ "อาวุธ" ชนิดนี้ขึ้นอยู่กับ "ความน่าเชื่อถือ"
ดังนั้น มติ กกต. ที่เพิกถอนสิทธิ์ของ "สัก" จึงเป็นปรากฏการณ์ที่เหนือความคาดหมาย
และสั่นคลอน "ความน่าเชื่อถือ" ขององค์กรอิสระ และ "ตุลาการภิวัฒน์" ครั้งใหญ่

เหมือน "เขื่อน" ขนาดใหญ่ ที่อาจพังทลายได้จาก "รูรั่ว" เล็กๆ
และ "สัก" อาจเป็น "รูรั่ว" รูนั้น



+++

ถุงมือกำมะหยี่ที่ใต้
โดย วงค์ ตาวัน คอลัมน์ ชกคาดเชือก
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1648 หน้า 98


ถามถึงสถานการณ์ไฟใต้ ไม่ว่าใครก็ส่ายหน้า เปลี่ยนรัฐบาลมาแล้วกี่ชุดก็ไม่เห็นจะมีอะไรดีขึ้น เสียงปืนเสียงระเบิดยังดังระงม เจ้าหน้าที่และประชาชนยังสูญเสียไม่สิ้นสุด

แต่น่าสังเกตว่ารัฐบาลชุดปัจจุบัน ซึ่งมาจากพรรคเพื่อไทย ได้เคยเสนอนโยบายจัดตั้งเขตพิเศษเอาไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้ง แต่ก็ไม่มีภาพเขตพิเศษที่ชัดเจนนัก มีการพูดถึงเขตเศรษฐกิจพิเศษบ้าง เขตปกครองพิเศษอีกนิดหน่อย

ความที่พรรคเพื่อไทยมักถูกคู่แข่งทางการเมือง สร้างกระแสกล่าวหารุนแรง

*จึงพอเข้าใจได้ว่า ขืนเสนอประเด็นเขตพิเศษ อย่างล่อแหลมเกินไป ไม่วายถูกตั้งข้อกล่าวหา"แบ่งแยกดินแดน"ได้ง่ายๆ คล้ายๆกับข้อหาล้มเจ้าอะไรแบบนั้น*


ขณะเดียวกัน การเสนอนโยบายที่เปิดช่องให้คนในท้องถิ่นซึ่งส่วนใหญ่คือชาวมุสลิม มีสิทธิมีเสียงมากเกินไป ซึ่งโดยหลักการแล้ว น่าจะเป็นทางออกที่ถูกต้อง

นักสิทธิมนุษยชน นักวิชาการประวัติศาสตร์ท่องถิ่น ล้วนขานรับ เชื่อว่าต้องใช้การเมืองแก้การเมือง ใช้การมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่นมาคลี่คลายความขัดแย้ง

**เขตปกครองตนเอง เขตปกครองพิเศษ มีใช้ในหลายประเทศที่มีคนหลากหลายเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ ในจีนก็มีเขตปกครองพิเศษมากมาย และแก้ปัญหาได้ ไม่มีกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเกิดในจีน และที่ให้ปกครองตนเองก็ไม่คิดจะแบ่งแยกดินแดนออกไป**

แต่ในทางกลับกัน กลุ่มอำนาจเก่า กลุ่มที่มองความมั่นคงของรัฐไทยอยู่เหนืออื่นใด จะหวาดระแวงกับกระแสเขตพิเศษนี้
เพียงแค่พรรคคู่แข่งหยิบประเด็นนี้มาสร้างปลุกปั่นสร้างกระแสโจมตีพรรคเพื่อไทย ก็จะได้รับการขยายจากพวกอำนาจเก่า พวกหัวอนุรักษนิยมไปทันที
นั่นจึงเป็นเหตุให้รัฐบาลเพื่อไทย ก็ไม่อาจพูดจาอะไรที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเปลี่ยนนโยบายภาคใต้เสียใหม่

ทั้งที่ความจริงพิสูจน์มาแล้วตลอด 8-9 ปี ที่ไฟใต้ลุกโชน ว่านโยบายเดิมๆ เสริมทหารเข้าไปเต็ม 3 จังหวัด ใช้งานพัฒนาแบบหน่วยทหาร กรป.กลาง อะไรเหล่านั้น
*ไม่มีทางดับไฟใต้ได้!*

จนกระทั่งเมื่อไม่กี่วันมานี้ มีกระแสข่าวว่าฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทย เตรียมผลักดันร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งปัตตานีมหานคร ขึ้น

เน้นการปกครองท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษใน 3 จังหวัดใต้ เปิดทางให้คนส่วนใหญ่ในพื้นที่ซึ่งเป็นมุสลิมมีสิทธิมีเสียง

**บรรดาคนที่คิดก้าวหน้า จึงเริ่มเห็นแสงสว่าง เห็นหนทางสันติสุข**


คณะกรรมการปรับปรุงและพัฒนากฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน (กปพ.) ที่มี นายประสพ บุษราคัม อดีต ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน คือ ที่มาของการผลักดันร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งปัตตานีมหานคร
**สาระสำคัญนั้นระบุว่า ให้มีการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษขึ้นใน 3 จังหวัด โดยให้ประชาชนเลือกผู้ว่าการนคร โดยตรง**
หลังมีข่าวเรื่องนี้ออกมา ก็เจอแรงปะทะทันที

พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกฯ บอกว่า ต้องนำข้อเสนอนี้มาพิจารณารายละเอียดก่อน โดยให้ กอ.รมน. และสภาความมั่นคงแห่งชาติ ไปศึกษารายละเอียดก่อน ต้องดูในหลายเรื่อง ที่สำคัญจะมีปัญหาเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่ จึงต้องขอเวลาดูรายละเอียดก่อน

ท่าทีของฝ่ายกองทัพนั้นไม่ต้องสงสัย
เพราะนโยบายที่ใช้อยู่ในทุกวันนี้ กองทัพคือพระเอก มีอำนาจสูงสุดในสถานการณ์ 3 จังหวัด
*กองทัพก็คิดด้วยเจตนาที่ดี คือต้องการรักษาความมั่นคงแห่งรัฐไทยเอาไว้ให้ได้ แต่ในมุมมองของฝ่ายอื่นๆ ไม่คิดว่าหนทางนี้จะถูกต้อง!*


นักสิทธิมนุษยชน นักสันติวิธี นักวิชาการประวัติศาสตร์ ไปจนถึงนักการเมืองแนวคิดก้าวหน้า ล้วนเชื่อว่า ความที่ 3 จังหวัดภาคใต้นั้นมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่เป็นของตนเอง และในปัจจุบันคนส่วนใหญ่ 80-90 เปอร์เซ็นต์ในพื้นที่ เป็นคนมุสลิม
ต้องยอมรับความเป็นจริงเรื่องนี้ ต้องยอมรับประวัติศาสตร์ดั้งเดิม แล้วนำมาปรับใช้เพื่อให้เกิดสันติสุข
เพียงแค่จัดการปกครองที่ยอมรับในเชื้อชาติของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ โดยทั้งหมดก็ไม่ได้แบ่งแยกดินแดนอะไร

**เป็นแค่เขตปกครองพิเศษที่ยังขึ้นกับรัฐบาลไทย เป็นประเทศไทยเหมือนเดิม**
อีกทั้งโลกในยุคปัจจุบัน ไม่มีใครอยากแยกดินแดนออกไปหรอก ต้องบริหารประเทศ มีงบประมาณ
เพียงแค่เปิดช่องทางให้มีความรู้สึกเป็นธรรมให้กับคนส่วนใหญ่ใน 3 จังหวัด กลุ่มหัวรุนแรง กลุ่มก่อการร้ายตัวจริง จะหมดเงื่อนไขไปชักจูงให้คนเข้าร่วมก่อความไม่สงบ

ถ้านับจากปี 2547 ที่ไฟใต้รอบนี้เริ่มปะทุขึ้น จนบัดนี้ 8-9 ปีแล้ว มีแต่รุนแรงยิ่งขึ้น
จึงมองไม่เห็นว่าการใช้ความแข็งของอำนาจรัฐจะดับไฟได้
*อีกทั้งประเทศไทยประสบความสำเร็จในการดับไฟสงครามคอมมิวนิสต์ ด้วยการเมืองนำการทหาร ภายใต้คำสั่ง 66/2523 ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มิใช่หรือ*



ไฟใต้รอบนี้เริ่มรุนแรงในปี 2546-2547 ด้วยความผิดพลาดของรัฐบาลทักษิณ เพราะไปเชื่อผู้นำตำรวจบางคน ที่ตีค่าผู้ก่อเหตุในภาคใต้ว่าเป็นเหมือนโจร เป็นอาชญากร ไม่มองว่าเป็นผู้มีแนวคิดอุดมการณ์

*ดังที่อดีตนายกฯ ทักษิณ เคยสารภาพว่า เพราะไปใช้กำปั้นเหล็ก แทนที่จะใช้ถุงมือกำมะหยี่!*

ต้นปี 2547 เมื่อคนร้ายบุกค่ายทหารปล้นปืนครั้งใหญ่ นั่นคือการเปิดฉากของไฟก่อการร้าย ท่ามกลางความเคียดแค้นของคนในพื้นที่ซึ่งเข้าเป็นแนวร่วมอย่างกว้างขวาง
จากนั้น รัฐยิ่งโถมการปราบปราม ไฟจึงยิ่งลุกลาม
จนเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว พรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นรัฐบาล มีฐานเสียงเต็มทั่วภาคใต้ รวมทั้งใน 3 จังหวัด แต่ก็ไม่คิดนโยบายใหม่ในการดับไฟใต้ ยังคงเดินนโยบายเดิม พร้อมกับด่าทักษิณไปด้วยว่าเป็นต้นเหตุ

**มองให้ลึกจะพบว่าแนวคิดของประชาธิปัตย์ คือ พรรคแนวอนุรักษนิยมทางการเมืองของแท้ อยู่กับระบบเดิมๆ ได้ดีเพราะแอบอิงกับระบบเดิมๆ มาตลอดการเติบโตของพรรคนี้**
จึงยากจะคาดหวังความคิดใหม่จากประชาธิปัตย์

ฝ่ายเพื่อไทย เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลเมื่อปลายปี 2554 มีแนวคิดลึกๆ ที่ไม่กล้าเปิดเผยให้เป็นเป้าโจมตี คือ การผลักดันนโยบายที่พลิกโฉมไปจากเดิม และทำให้เกิดรูปแบบกึ่งๆ เขตปกครองพิเศษขึ้นมา เพราะเชื่อว่าต้องใช้การเมืองนำการทหาร

สิ่งที่แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลนี้ต้องการผ่าตัดนโยบายไฟใต้ เห็นได้จากการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงเลขาธิการ ศอ.บต. โดยล้างสายราชการเดิมๆ

*ส่ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ลงไปเป็นเลขาฯ ศอ.บต.*
เพราะก่อนหน้านั้น พ.ต.อ.ทวี ลงไปทำงานในพื้นที่เน้นการอำนวยความยุติธรรม ได้สัมผัสกับนักสิทธิมนุษยชน นักวิชาการแนวใหม่มากมาย จนได้ซึมซับแนวทางการเมืองนำการทหารไว้เต็มเปี่ยม
เมื่อ พ.ต.อ.ทวี ลงไปทำงานใน ศอ.บต. ได้ระยะหนึ่ง ก็เริ่มปูทางในการเปิดโอกาสให้คนส่วนใหญ่ในพื้นที่มีส่วนร่วมในการปกครองตนเองมากขึ้น

เขตปกครองพิเศษ หรือ พ.ร.บ.ปัตตานีมหานคร อาจต้องใช้เวลา ต้องสร้างความเข้าใจกับหลายฝ่าย และต้องค่อยๆ ปูทางคลี่คลายความขัดแย้งในพื้นที่ไปสักระยะ

*ที่ทักษิณสารภาพและยอมรับว่าต้องใช้ถุงมือกำมะหยี่นั้น น่าจะถูกต้องที่สุด!*



.