http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-03

THE ARTIST/ รถไฟขบวนสุดท้าย? โดย นพมาส/ คนมองหนัง

.

THE ARTIST "ย้อนยุคยอดเยี่ยม"
โดย นพมาส แววหงส์ คอลัมน์ ภาพยนตร์
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 02 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1646 หน้า 87


กำกับการแสดง Michel Hazanavicius
นำแสดง Jean Dujardin
Berenice Bejo
John Goodman
James Cromwell
Penelope Ann Miller


เพิ่งประกาศผลรางวัลออสการ์ไปเมื่อเช้านี้เอง โดยที่ The Artist คว้ารางวัลใหญ่ๆ ไปในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับฯ ยอดเยี่ยม นักแสดงชายยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
เฉือน The Descendants ของ อเล็กซานเดอร์ เพย์น ที่นำแสดงโดย จอร์จ คลูนีย์ ไปตามความคาดหมาย แต่ก็น่าเสียดายแทน The Descendants ซึ่งเป็นหนังโดดเด่นยอดเยี่ยมมากเรื่องหนึ่งเหมือนกัน
The Artist ถือได้ว่าเป็น 'หนังอาร์ต' เอามากๆ เนื่องด้วยเป็นหนังขาวดำและเกือบจะเรียกได้ว่าเป็น "หนังเงียบ" ทั้งเรื่อง โดยบทสนทนาจะแทรกอยู่ในรูปตัวอักษร เหมือนอย่างในยุคแรกเริ่มของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ แต่ถึงจะเป็นหนังอาร์ต ก็เป็นหนังอาร์ตที่ดูง่าย มีเรื่องราวที่น่าติดตาม
และมีตัวละครที่เอาชนะใจคนดูได้ราบคาบเด็ดขาด


หนังเรื่องนี้เป็นโปรเจกต์ของฝรั่งเศส ที่ไปถ่ายทำในอเมริกา พูด (หรือทำซุปเปอร์เป็นตัวหนังสือ) ด้วยภาษาอังกฤษ เนื่องจากเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่ฮอลลีวู้ดตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ยี่สิบ

"ศิลปิน" คนที่เป็นชื่อหนังคือ จอร์จ วาเลนติน (ฌอง ดูฌาร์แดง) เป็นนักแสดงชั้นแนวหน้ายุคหนังใบ้ ซึ่งนิยมใช้วงดนตรีสดเล่นหน้าม่านในระหว่างฉาย และบทเจรจาก็เป็นตัวหนังสือแทรกอยู่ระหว่างแอ๊กชั่นของตัวละคร

ต้นแบบของ จอร์จ วาเลนติน น่าจะเป็น ดักลาส แฟร์แบงส์ ที่มีใบหน้าหล่อเหลา หนวดเรียวเล็กคล้ายกัน หรือไม่ก็ รูดอล์ฟ วาเลนติโน ซึ่งมีชื่อคล้ายกัน

วาเลนตินเป็นพระเอกยอดนิยมในปี ค.ศ.1927 ร่ำรวยหรูหราอยู่ในฮอลลีวู้ด มีบ้านช่องใหญ่โตและภรรยาคนงาม (เพเนโลปี แอนน์ มิลเลอร์) มีสุนัขแสนรู้คู่ใจที่ติดตามทั้งในและนอกจอ และในชีวิตจริงอย่างจงรักภักดี

ความเป็นดารายอดนิยมทำให้ตกเป็นข่าวอยู่เสมอไม่ว่าจะปรากฏตัวที่ไหน

ครั้งหนึ่งสาวสวยคนหนึ่ง (เบเรนีซ เบโจ) จับพลัดจับผลูเข้ามาล้มลงตรงหน้าเขา และได้ถ่ายรูปคู่กับวาเลนตินขึ้นหน้าหนังสือพิมพ์ กลายเป็นที่กล่าวขวัญว่าใครหนอคือหญิงสาวคนนั้น

เปปปี้ มิลเลอร์ คือชื่อของสาวสวยคนนั้น ผู้ฝันใฝ่จะเข้าสู่วงการภาพยนตร์ และเริ่มต้นด้วยบทตัวประกอบเล็กๆ ด้วยความเป็นดาราเท้าไฟคนหนึ่ง

วาเลนตินให้ความช่วยเหลือเธอ จนทำให้เธอได้บทเด่นมากขึ้น

ต่อมาเมื่อภาพยนตร์ที่มีเสียง อย่างที่เรียกว่า หนังพูด หรือ talkies ก้าวเข้ามา ผู้สร้างภาพยนตร์ก็หันไปสร้างหนังพูด ทำให้นักแสดงหนังเงียบอย่างวาเลนติน ซึ่งไม่ยอมเปลี่ยนไปเล่นหนังเสียงต้องตกงาน

และยิ่งเมื่อทุ่มเทเงินทองไปกับการเป็นนายทุนสร้างหนังเงียบต่อไป ก็ทำให้ฐานะการเงินร่อยหรอลงจนเกือบไม่เหลืออะไร

ในขณะที่ เปปปี้ มิลเลอร์ ปรับเปลี่ยนไปแสดงหนังเสียง และก้าวขึ้นสู่ความเป็นดาราหนังเต็มตัว

จอร์จ วาเลนติน ตกต่ำลงจนถึงที่สุด ก่อนที่จะปรับตัวเข้ากับพัฒนาการของโลกภาพยนตร์ที่หมุนไปข้างหน้าเรื่อยๆ


หนังมีลักษณะโรแมนติกแบบยุคเก่า มีตัวละครที่ยังมีลักษณะของตัวละครด้านเดียว แต่ก็น่ารักจับใจ
วาเลนตินเป็นรักฝังใจของเปปปี้ และเธอกลายเป็นเทวดาอารักษ์ประจำตัวเขา คอยช่วยเหลือเกื้อกูลโดยที่เขาไม่รู้ตัว เพราะทิฐิมานะทำให้เขาไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากใคร มีเพียงสุนัขคู่ใจที่อยู่ข้างกายเขาตลอดแม้ในยามยาก
ความเป็นหนังโรแมนติกแบบโบราณทำให้มีตัวละครที่แสนดีอย่างน่าจับใจเช่น นางเอกสาวสวยที่หลงรักพระเอกอย่างปักใจและปิดทองหลังพระโดยไม่หวังผลตอบแทน และคนขับรถผู้ซื่อสัตย์ (เจมส์ ครอมแวลล์) ที่ไม่ยอมทอดทิ้งเจ้านายไปไหน แม้ว่าจะไม่ได้รับเงินเดือนเลยก็ยังเฝ้าติดตามรับใช้
เป็นหนังที่ให้ความรู้สึกดีๆ เหมือนหนังโบราณ ที่สร้างสรรค์ด้วยศิลปะอย่างสมบูรณ์แบบ ลักษณะที่อาจกลายเป็นความเชยไปได้ จึงไม่ใช่ความเชย แต่แปรเปลี่ยนไปเป็นความเก๋และเท่อย่างน่าทึ่ง
เรียกความวาบหวามหวานแหววน่าประทับใจได้เหมือนหนังโรแมนติกยุคเก่าๆ



ผู้เขียนคาดไว้แล้วเชียวว่าหนังเรื่องนี้คงชนะรางวัลออสการ์ด้วยความสมบูรณ์แบบในด้านศิลปะอย่างที่กล่าวแล้ว แต่ตัวเองก็แอบชอบ The Descendants มากกว่าหน่อย ด้วยความที่เป็นหนังดรามา-คอเมดีที่มีความซับซ้อนและลุ่มลึกเกินคาด แถมการแสดงของ จอร์จ คลูนีย์ ก็กินขาดเกินคาดเหมือนกัน

แต่ความย้อนยุคแบบหวนหาอาลัยรักและคารวะต่อยุคแรกๆ ของวงการภาพยนตร์ก็น่าจะเป็นส่วนที่ช่วยให้ The Artist ชนะใจกรรมการออสการ์ที่ประกอบด้วยสมาชิกในวงการภาพยนตร์ไป

ในทำนองเดียวกับเรื่อง Hugo ที่เป็นคำคารวะต่อผู้สร้างภาพยนตร์ในอดีตเหมือนกัน



++

รถไฟขบวนสุดท้าย?
โดย คนมองหนัง คอลัมน์ นอก "กระแส"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 02 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1646 หน้า 85


ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมใช้ชีวิตผูกพันกับ "รถไฟ" บ่อยครั้งกว่าปกติ

คือ เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ มีโอกาสได้ชมหนังสารคดีเรื่อง "Wish Us Luck ขอให้เราโชคดี" ของผู้กำกับฯ ฝาแฝด "วรรณแวว-แวววรรณ หงษ์วิวัฒน์"

ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางของพี่น้องสองสาวที่เดินทางด้วยรถไฟจากอังกฤษ ผ่านฝรั่งเศส, เยอรมนี, รัสเซีย, มองโกเลีย, จีน, เวียดนาม และ ลาว (ระหว่างเวียดนามกับลาว เดินทางด้วยรถบัส) มายังประเทศไทย

หลังจากนั้น ระหว่างวันที่ 23-25 กุมภาพันธ์ ก็มีโอกาสได้เดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูง สัญจรไปมาระหว่างต่างเมือง ต่างมณฑล ในประเทศจีน

ส่งผลให้ได้แง่คิดบางประการกลับมามากพอสมควร จากการเดินทางและนั่งดูคนเดินทางด้วยรถไฟดังกล่าว



การเดินทางช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ผมมีโอกาสนั่งรถไฟความเร็วสูงในจีน
เมื่อเกือบ 2 ปีก่อน ผมเคยนั่งรถไฟความเร็วสูงเป็นระยะทางสั้นๆ ที่เซี่ยงไฮ้ครั้งหนึ่ง เพียงแต่การโดยสารรถไฟครั้งนั้น มีนัยของการโชว์ศักยภาพและการมีอยู่ของตัวรถไฟความเร็วสูง มากกว่าจะหมายถึงการใช้รถไฟในฐานะยานพาหนะของการเดินทางไกล
แต่สำหรับการนั่งรถไฟครั้งล่าสุดในเมืองจีน ผมมีโอกาสเดินทางข้ามเมือง ข้ามมณฑล ด้วยรถไฟความเร็วสูงเป็นครั้งแรก
โดยเส้นทางไกลสุด ก็คือ การนั่งรถไฟจากเมืองกวางเจา มณฑลกวางตุ้ง ไปยังเมืองฉางซา มณฑลหูหนาน ในระยะทาง 700 กว่ากิโลเมตร ด้วยเวลาราวสองชั่วโมงครึ่ง

แน่นอนว่า แง่มุมด้านบวกของรถไฟความเร็วสูงในจีนก็คือ ความรวดเร็ว ความสะดวกสบาย รถวิ่งเรียบเงียบหู และการตรงต่อเวลา
น่าตั้งคำถามต่อไปว่า รถไฟความเร็วสูงจะส่งผลให้จังหวะชีวิตของผู้คนในประเทศจีนเปลี่ยนแปลงไปขนาดไหน?
ทั้งในแง่การคมนาคมสัญจรไปมาของประชากรจำนวนมาก และการขนส่งสินค้าในระยะทางไกลๆ ที่จะกระชับเวลาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกัน ก็เป็นที่ท้าทายว่า รถไฟความเร็วสูงจะทำให้ประเทศจีน "เปลี่ยนแปลง" เร็วเกินไป จนต้องหาวิธีการชะลอความเปลี่ยนแปลงเอาไว้บ้างไหม?

ในแง่ความเป็นชาติ ก็น่าจับตาว่า "ชาติจีน" จะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่? อย่างไร? เมื่อผู้คนจากหลากหลายท้องถิ่นสามารถเดินทางถึงกัน พบเห็นกัน และมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันมากขึ้น ผ่านการคมนาคมที่รวดเร็วขึ้น
มิใช่ผ่านสื่อกลาง อย่างสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ หรือกระทั่งอินเตอร์เน็ต ซึ่งช่วยก่อรูปชุมชนชาติขึ้นในความคิด จิตสำนึก จินตนาการของผู้คนเพียงเท่านั้น

สรุปเป็นคำถามรวบยอดสำคัญได้ว่า รถไฟความเร็วสูงจะทำให้รัฐ-ชาติจีนมีลักษณะรวมศูนย์อำนาจมากขึ้น หรืออำนาจจะกระจัดกระจายออกไป?
ในเงื่อนไขที่ว่าจีนเป็นประเทศใหญ่ และมีปัญหาสลับซับซ้อนทางด้านการเมือง-เศรษฐกิจ-ชาติพันธุ์ ดำรงอยู่



อย่างไรก็ตาม รถไฟความเร็วสูงของจีนไม่ได้มีแค่แง่มุมบวก หรือพลานุภาพอันยิ่งใหญ่ยากต้านทาน หากยังมีแง่มุมลบๆ หรือความไม่ราบรื่นลงรอยซ่อนแฝงอยู่ไม่น้อย

เมื่อมองในภาพใหญ่ ล่ามคนหนึ่งของคณะทัวร์ที่ผมเดินทางไปด้วย เล่าให้ฟังว่า กิจการรถไฟนั้นมีสำคัญกับรัฐบาลกลางของจีนมาก ทั้งในแง่ประโยชน์ที่จะมีต่อการคมนาคมขนส่งภายในประเทศ และในแง่เทคโนโลยีที่จะถูกส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ

ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานกำกับดูแลกิจการรถไฟของจีนจึงมิได้มีสถานะเป็นเพียงแค่ "การรถไฟแห่งประเทศจีน" แต่ต้องเป็น "กระทรวงรถไฟ" ซึ่งถือเป็นกระทรวงใหญ่กระทรวงหนึ่ง

ทว่า กระทรวงดังกล่าวก็มีการดำเนินงานที่ทุจริตอย่างมหาศาล และเคยมีรัฐมนตรีกระทรวงรถไฟที่ถูกลงโทษด้วยข้อหาฉ้อโกงมาแล้ว
ในภาพย่อยๆ ที่พบเจอระหว่างเดินทาง เรายังได้เห็นผู้โดยสารชาวจีน (เป็นคนหนุ่มสาววัยทำงานเสียด้วย) ซึ่งมีพฤติกรรมมั่วที่นั่งและตู้โบกี้อยู่พอสมควร แม้ตั๋วโดยสารจะระบุหมายเลขที่นั่งและตู้โบกี้ไว้อย่างชัดเจนก็ตาม
ยิ่งกว่านั้น ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอีกประการ ก็คือ ในแต่ละเมืองที่ผมเดินทางไป ล้วนมีสถานีรถไฟอยู่มากกว่า 1 แห่ง
รถไฟความเร็วสูง ก็มีสถานีและรางของตัวเอง โดยที่โครงสร้างอาคารของสถานีมีความใหญ่โตเกินกว่าจำนวนผู้ใช้บริการอย่างเห็นได้ชัด

นอกจากนี้ ยังมีสถานีของรถไฟธรรมดา ที่ประชากรส่วนใหญ่ใช้บริการ และจะแออัดหนาแน่นมากในช่วงเทศกาลตรุษจีน
สำหรับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน จึงมีเพียงคนจีนที่มีฐานะระดับหนึ่งและจำนวนหนึ่งเท่านั้น ที่ใช้บริการรถไฟความเร็วสูง (สังเกตได้จากบุคลิกการแต่งกาย และจำนวนผู้โดยสาร)
สภาพความจริงข้อนี้ สะท้อนออกมาผ่านเรื่องเล่าของไกด์สาวชาวเชียงรุ่งซึ่งบอกว่า ค่าตั๋วเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงจากกวางเจาไปมณฑลยูนนาน (ยังไม่ต้องผนวกรวมกับค่าตั๋วเครื่องบินจากคุนหมิงไปสิบสองปันนา) นั้น มีราคาแพงกว่าตั่วเครื่องบินจากกวางเจามากรุงเทพฯ ในบางโปรโมชั่นเสียอีก



ย้อนกลับมายังหนังสารคดีเรื่อง "Wish Us Luck ขอให้เราโชคดี" ที่ผมได้ดูก่อนเดินทางไปจีน

ตามความเห็นส่วนตัว หนังเรื่องนี้พยายามหยอกล้อเสียดเย้ยกับ "ความหมายดั้งเดิมของภาพยนตร์" อยู่หลายประเด็น

ประเด็นหลักประเด็นหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ การเลือกเล่นกับยานพาหนะอย่าง "รถไฟ"
คนที่สนใจประวัติศาสตร์ภาพยนตร์อยู่บ้าง คงพอรู้ว่า หนึ่งในหนังยุคแรกๆ ของโลก ผลงานของพี่น้อง "ลูมิแยร์" ก็คือ ภาพเคลื่อนไหวซึ่งบันทึกเหตุการณ์รถไฟกำลังวิ่งเข้าจอดในชานชาลาที่สถานี
รถไฟในหนังของพี่น้องคู่นั้นจึงคล้ายกำลังวิ่งเข้าหาผู้ชมซึ่งกำลังจ้องมองจอภาพยนตร์ ด้วยสถานะของความเป็น "วัตถุ" ที่แยกห่างออกจากคนดู

แต่ "รถไฟ" ในหนังของวรรณแวว-แวววรรณ กลับมีความหมายแตกต่างออกไป

เพราะคนทำตลอดจนคนดูหนังไม่ได้กำลังจ้องมองรถไฟ อันเป็นวัตถุที่แยกขาดออกจากพวกเขาและเธอ

ทว่า คนทำหนังคู่หนึ่งกำลังบันทึกการท่องเที่ยวของตนเองที่เลื่อนไหลไปตามขบวนรถไฟหลากหลายสาย จนคาดเดาแนวโน้มของสถานการณ์ในแต่ละช่วงตอน และบทสรุปของการเดินทางได้ไม่ง่ายนัก

ขณะที่คนดูก็เฝ้ามองการใช้ชีวิตของคนทำหนังบนตู้รถไฟซึ่งวิ่งผ่านประเทศต่างๆ อย่างค่อนข้างใกล้ชิด มิใช่ห่างเหิน



หลังจากดูหนังเรื่อง "Wish Us Luck" และเดินทางด้วยรถไฟความเร็วสูงในจีน ผมนึกถึงการอุปมายุคสมัยที่กำลังผ่านพ้นไป โดยเปรียบเทียบกับการโดยสาร "รถไฟขบวนสุดท้าย"

เราอาจรับรู้ได้โดยง่ายว่ารถไฟขบวนนั้นๆ เป็นรถไฟขบวนสุดท้าย เมื่อเรามองรถไฟในสถานะวัตถุสิ่งของนอกกายที่แปลกแยกจากตัวเรา (มองรถไฟด้วยสายตาของผู้ชมภาพยนตร์ในยุคแรกเริ่ม) หรือเมื่อเรามองรถไฟลงมาจากเบื้องบนด้วยสายตาแบบพระเจ้า

แต่หากชีวิตเราไม่สามารถแยกขาดออกมาจากการเดินทางท่องโลกด้วยรถไฟ ก็เป็นเรื่องยากมาก ที่เราจะสามารถตระหนักได้ว่า รถไฟซึ่งตัวเราก้าวเท้าขึ้นไปในฐานะผู้โดยสารนั้น จะมีสถานะเป็นขบวนสุดท้ายของรถไฟสายดังกล่าว (ยกเว้นการรถไฟ กระทรวงรถไฟ หรือเอกชนผู้ให้บริการจะประกาศว่านั่นเป็นการเดินทางครั้งสุดท้ายของรถไฟขบวนนี้) หรือเป็นรถไฟขบวนสุดท้ายในชีวิตของเราหรือไม่?

โดยเฉพาะเมื่อมนุษย์ตระหนักว่าตัวเองเป็นเพียงเศษเสี้ยวส่วนหนึ่งที่ร่วมเดินทางไปในรถไฟ มิใช่ผู้นั่งจ้องมองขบวนรถไฟจากภายนอก

ท่ามกลางความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างคนกับรถไฟ บางทีเราอาจทำได้อย่างมากก็แค่การเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และตั้งคำถามกับชั่วขณะที่เราเดินทางไปบนรถไฟขบวนต่างๆ ด้วยทัศนวิสัยอันพร่าเลือนเท่านั้น

เพราะการคาดเดาถึงการเดินทางมาของรถไฟขบวนสุดท้ายอาจเป็นเรื่องยากเกินกว่าจะคาดคะเนให้คมชัด



.