http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-10

ตามหา "ม่านปักลาวทอง" พบแต่ "ผ้ารองคัมภีร์" โดย เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์

.

ตามหา "ม่านปักลาวทอง" พบแต่ "ผ้ารองคัมภีร์"
โดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ www.facebook.com/pensupa.sukkatajaiinn คอลัมน์ ปริศนาโบราณคดี
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 09 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1647 หน้า 76


มีผู้มาถามหา "ม่านปักลาวทอง" ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหริภุญไชย จำนวนหลายราย โดยอ้างว่า มีคนเคยเห็นเก็บรักษาไว้ที่นั่น มันยังอยู่หรือว่าสูญหายไปแล้ว?

เกิดความผิดพลาดทางเทคนิคอะไรบางอย่างหรือเปล่า? มีใครเคยไปเห็นผ้าผืนไหนในห้องจัดแสดง แล้วเกิดจินตนาการอุปโลกน์โยงเข้ากับวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผนเป็นตุเป็นตะไปกระมัง!

เพราะจากการตรวจสอบค้นดูทะเบียนโบราณวัตถุทั้งหมด ไม่ปรากฏว่ามีผ้าม่านปักไหมดิ้นทองที่มีอายุเกินกว่า 300 ปี ที่พอจะให้สันนิษฐานได้ว่าเป็นของนางลาวทองแม้แต่ชิ้นเดียว

กลับพบแต่ผ้ารองคัมภีร์ฝีมือของแม่ญิงยองในช่วงไม่เกิน 200 ปีมานี้เองเท่านั้น


ปริศนาเมืองเชียงทอง และจอมทอง

ชีวิตของสาวเหนือที่ชื่อ "ลาวทอง" ต้องเข้าไปพัวพันเป็นเมียลำดับสามของขุนแผนแสนสะท้าน (ต่อจากสายทองและวันทอง แต่มาก่อนบัวคลี่กับแก้วกิริยา) ก็เนื่องจากเหตุการณ์ตอนที่กองทัพอยุธยายกขึ้นมายึด "เมืองเชียงทอง" คืนจากเชียงใหม่

"สุจิตต์ วงษ์เทศ" คอลัมน์ข้างเคียงนี้ เคยตั้งคำถามดิฉันว่าในฐานะที่อยู่เมืองเหนือมานาน รู้หรือไม่ว่าเมืองเชียงทองนั้นอยู่ที่ไหน

คงไม่ได้หมายถึง "เชียงทอง" ในหลวงพระบางเป็นแน่ แต่เผอิญว่าชื่อเชียงทองนี้มีอยู่ดาษดื่น

เอาเป็นว่าเชียงทองในเรื่องขุนแผน ที่อยุธยาอ้างสิทธิ์ว่าเป็นเมืองขึ้นของตน แต่แล้วจู่ๆ ล้านนาก็เข้ามายึด ทำให้สมเด็จพระพันวษาต้องส่งขุนแผนยกทัพขึ้นมาทวงคืนนั้น จะเป็นเชียงทองเมืองเดียวกันกับที่มีมาแล้วตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวีราว 1,300 ปีเศษหรือไม่

อนึ่ง เชียงทองในสมัยพระนางจามเทวีเองก็ยังเป็นปริศนาว่าควรตั้งอยู่ที่ใด ระหว่างเมืองจอมทอง (อำเภอจอมทอง เชียงใหม่ ในปัจจุบัน) หรือว่าที่บ้านสบทา แถวป่าซาง ลำพูน เพราะทั้งสองแห่งต่างก็มีตำนานที่กล่าวถึงพระนางจามเทวีเสด็จมาตั้งค่ายทัพที่ "ท่าเชียงทอง" เพื่อให้นายขมังธนูยิงลูกศรถามทางไปหริภุญไชยกันทั้งคู่

แต่ฉากที่พรรณนาในเรื่องขุนแผน ดูเหมือนว่าเชียงทองจะอยู่ลงไปแถวเมืองตาก ไม่ไกลจากกำแพงเพชร ถือเป็นเขตแดนในปกครองของกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันสองฟากแม่ปิงในตากยังมีชื่อบ้านเชียงทองคู่กับบ้านเชียงเงินเป็นหลักฐานหลงเหลืออยู่

หากเชียงทองที่ขุนแผนมาตีคืนให้อยุธยา ตั้งอยู่ที่ตาก ก็ย่อมสมเหตุสมผล เพราะตากเป็นเมืองกึ่งกลางระหว่างอยุธยากับล้านนา

แต่ตีเชียงทองที่ตากแล้วไฉนจึงลามมาถึงจอมทองเล่า?

เมืองจอมทองนี้แม้ในอดีตยุคพระนางจามเทวีเคยมีชื่อว่าท่าเชียงทองก็จริง แต่ในสมัยหลังไม่ปรากฏหลักฐานว่าเคยตกเป็นเมืองขึ้นของอยุธยาแต่อย่างใด

น่าคิดว่าหลังจากที่ขุนแผนตีเชียงทองที่ตากได้แล้ว ก็คงอยากสร้างผลงานให้เข้าตาเหนือหัว จึงได้ไล่ตีเมืองที่อยู่ในปกครองของล้านนาตามลุ่มแม่ปิงจากตากมาจนถึงจอมทอง

ซ้ำจอมทองในยุคขุนแผนก็ไม่ได้ขึ้นตรงต่อเชียงใหม่อีก แต่กลับเป็นส่วนหนึ่งของลำพูน

ตอนที่ขุนแผนยกทัพมายังหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งแถวจอมทอง บิดาของลาวทองมีฐานะเป็นหัวหน้าหมู่บ้าน ชื่อว่าแสนคำแมน ภริยาชื่อนางศรีเงินยวง พร้อมใจกันยกลูกสาววัย 15 ปี ให้กับขุนแผน

เพื่อแลกกับความสุขสงบของชาวจอมทอง หมู่บ้านเดียวที่ไม่โดนทัพของขุนแผนย่ำยี นางลาวทองจำต้องอุทิศตนกลายเป็น "เมียเชลย" หรือที่เรียกกันในสมัยอยุธยาว่า "เมียกลางเมือง" หมายถึงหญิงอันบิดามารดากุมมือให้เป็นเมียชาย (โดยไม่สนใจว่าชายผู้นั้นจะโสดหรือไม่)



วัด "เจดีย์หลวงลำพูน"
ก่อนขนานนาม "พระธาตุหริภุญไชย"

ก่อนที่ลาวทองจะจากพ่อแม่ไปอยู่เมืองทางใต้ โดยไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้หวนคืนสู่ลำพูนอีก นางได้ตั้งจิตอธิษฐานตามธรรมเนียมสาวเหนือ ด้วยการปักผ้าม่านผืนมหึมาด้วยความเหนื่อยยาก ถวายเป็นพุทธบูชาแด่ "วัดเจดีย์หลวงลำพูน" เพื่อขอให้ได้พบพระนิพพาน

ปัจจุบันคนรุ่นใหม่เรียกวัดพระธาตุหริภุญไชยย่อๆ ว่า "วัดพระธาตุ" ไม่มีใครเรียกว่าวัดเจดีย์หลวงอีกแล้ว ยกเว้นคนเฒ่าคนแก่ที่ยังนิยมเรียกว่า "วัดหลวง" อยู่

คำว่า "เจดีย์หลวง" นั้นเมื่อคนอ่านอย่างผาดเผินย่อมจะนึกถึง วัดเจดีย์หลวงที่เชียงใหม่ ทำให้เกิดการตำหนิผู้แต่งเสภาขุนแผนว่ามั่วนิ่ม สงสัยจะสับสนเรียกเชียงใหม่เป็นลำพูนหรือเช่นไร

แต่แท้จริงแล้ว ในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ เขียนเมื่อ 500 ปีก่อน และบันทึกของ คาร์ล บ็อก สมัยต้นรัชกาลที่ 5 ต่างก็เรียกพระธาตุหริภุญไชยว่า "เจดีย์หลวง"

สิ่งที่น่าสนใจคือ วรรณคดีเรื่องขุนแผนนี้ ช่วยตอกย้ำแผนที่ทางวัฒนธรรม ว่ายุค 300 ปีก่อน เมืองจอมทองหาได้เป็นส่วนหนึ่งของเชียงใหม่ไม่ แต่เป็นเมืองบริวารของลำพูน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เหตุเพราะจอมทองตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิงอยู่ใกล้ชิดกับลำพูนมากกว่าเชียงใหม่ ซ้ำยังเป็นเมืองทางผ่านของอารยธรรมแบบทวารวดีสมัยพระนางจามเทวีมาตั้งแต่ไหนแต่ไร จึงย่อมผูกพันกับลำพูนเป็นธรรมดา

การแบ่งเขตพื้นที่ปกครองสมัยนี้ เล่นเอาแม่น้ำเป็นพรมแดนแยกผ่าสายสัมพันธ์ของชุมชนลุ่มแม่ปิงที่เคยมีสำนึกแบบเครือญาติ ให้แตกออกเป็นสองเมืองหน้าตาเฉย ด้วยถนนหนทางและที่ว่าการอำเภอซึ่งตั้งห่างไกลกันลิบลับ กลายเป็นคนแปลกหน้า แยกเขาแยกเราระหว่างกัน ลำพูน-เชียงใหม่



ม่านปักนางลาวทองอยู่ที่ไหน ไยพบแต่ผ้ารองคัมภีร์

นางลาวทองใช้เวลาปักม่านถวายวัดเจดีย์หลวงลำพูน เพียงแค่หนึ่งคืนกับหนึ่งวัน พร้อมกับทำรูปปั้นของนางวางถวายคู่กับผ้าม่าน อธิษฐานต่อองค์พระเจดีย์หลวงว่า หากเมื่อใดลำพูนสูญสิ้น ก็ขอให้ทั้งสองสิ่งนี้สูญหายตามไปด้วย

เหตุนี้หรือเปล่า ที่ทำให้ชาวลำพูนเกิดความกังวลถึงผ้าม่านและรูปปั้นของลาวทองว่าอันตรธานหายสูญไปอยู่ที่ใดแล้วหรือยัง เพราะมันเป็นสัญลักษณ์ของการดำรงอยู่ของนครลำพูนด้วยเช่นกัน?

หากม่านนางลาวทองมีจริง คงเป็นม่านที่สวยงามที่สุดเท่าที่มีบนพื้นพิภพ เหตุเพราะตกแต่งรายละเอียดอย่างวิจิตรพิศดาร กล่าวคือผูกลายเป็นภาพพระพุทธเจ้ากำลังผจญกับมาร ช้างที่พญามารส่งมารังควานแต่ละเชือกนั้น ในเสภาพรรณนาว่ามีกล้ามเนื้อเคลื่อนไหวทรงพลัง เสนามารถือสรรพาวุธ มีศร พระขรรค์ จักรแก้ว ตรีศูล เกาทัณฑ์ กั้นหยั่น โล่ เขน ทำราวกับว่าอาวุธแต่ละชิ้นนั้นปักง่ายเหลือกำลัง!

เท่านั้นยังไม่พอ ฉากหลังมีพระอาทิตย์ เมฆเกลื่อน เขาพระสุเมรุตั้งอยู่ท่ามกลางเขาสัตตบริภัณฑ์ทั้งเจ็ด มีแนวมหาสมุทร คงคาใสสุดแลสลอน ละลอกกระฉอกชโลธร

ต่อให้พี่เลี้ยงทั้งสองของนางลาวทอง คือนางวันกับนางเวียงจะช่วยกันย้อมไหมนับร้อยสี (ไม่นับว่ากว่าจะรอให้แห้งต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าครึ่งวัน) คอยส่งเข็มจากใต้สะดึงตามวิธีปักไหมแบบโบราณ ชนิดที่เรียกว่ามือเป็นระวิง แถมในเสภาบอกว่าบางขณะแม่ทัพขุนแผนเกิดเมื่อย ได้เลือกนางพี่เลี้ยงคนใดคนหนึ่งให้ไปนวดเฟ้นฝ่าเท้าอีกด้วย

แม่เจ้าประคุณรุนช่อง นี่ถ้าเป็นหญิงอื่นที่มิใช่ลาวทอง เจ็ดวันเจ็ดคืนจะปักเสร็จล่ะหรือ!

ที่น่าชีช้ำหัวอก ก็คืออุตส่าห์อดตาหลับขับตานอนทนเข็มทิ่มตำมือแทบตาย เมื่อขุนแผนเห็นแทนที่จะปลื้ม กลับเผลอปากไปเอ่ยชมฝีมือปักม่านของเมียรักอีกคนคือนางวันทอง มาเปรียบเทียบว่างามไม่แพ้กัน!

แต่อย่างน้อยที่สุด คุณค่าของวรรณกรรมฉากนี้ ก็ช่วยสะท้อนถึงประเพณีการถวายผ้าปักเป็นพุทธบูชาของหญิงไทยในอดีตไม่ว่าอยู่ในภูมิลำเนาไหน ซึ่งการตกทอดมาสู่สมัยหลังนั้นอาจเหลือน้อยลงแล้วในภาคอื่น แต่ตามวัดสำคัญทางภาคเหนือเรายังคงเห็นแม่ญิงล้านนาแข่งขันกันปักผ้าที่ใช้รองคัมภีร์ในช่วงเทศกาลยี่เป็ง (ลอยกระทง) เพื่อถวายพระตอนขึ้นนั่งเทศน์มหาชาติกันอยู่

ผ้ารองคัมภีร์สิบกว่าผืนที่เก็บรักษาในพิพิธภัณฑ์ลำพูน มีอยู่ชิ้นหนึ่งเป็นฝีมือของเจ้าแม่ฟองคำ บ้านเวียงยอง

ผ้าผืนนี้มีอายุเกือบ 200 ปีแล้ว ปักเป็นเรื่องราวตอนพระพุทธเจ้าทรงลอยถาดอธิษฐานก่อนการตรัสรู้ธรรมภายหลังจากนางสุชาดาถวายข้าวมธุปายาส และถาดนั้นได้ตกลงสู่เศียรของพญานาค กับตอนมหาภิเนษกรมณ์ แสดงด้วยภาพตัดพระเมาฬี

หาใช่ภาพมารผจญอันอลังการตามที่นางลาวทองปักไม่!

เมื่อขุนแผนพาลาวทองไปอยู่ด้วยกันที่สุพรรณ นางก็เจ็บออดๆ แอดๆ ล้มป่วยลง อาจเป็นเพราะไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมภาคกลางได้อย่างกลมกลืน ในขณะที่ขุนแผนมัวแต่วุ่นวายยื้อแย่งจะเอานางวันทองคนรักเก่าคืนกลับมา จนถูกขุนช้างใส่ความได้รับโทษอาญา ไม่อาจมาเยี่ยมดูแลนางลาวทองได้อีก

ในที่สุดสาวเหนือผู้อาภัพจำต้องพลัดพรากจากขุนแผน ถูกริบเป็น "หม้ายหลวง" ให้เข้าไปอยู่ในวัง ทำงานเป็นช่างปักสะดึงอยู่นานถึง 16 ปี


เรื่องราวของสตรีในวังหลวงเกี่ยวกับช่างปักนั้น พบข้อมูลว่าเคยมีพระองค์เจ้าหญิงจงกลนี ธิดาองค์ที่ 22 ในรัชกาลที่ 1 กับเจ้าจอมมารดาตานี ทำหน้าที่เป็นแม่กองช่างสะดึงปักร้อยกรองผ้าไหมผ้าแพรต่างๆ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 2 อันเป็นช่วงที่มีการระดมกวีในราชสำนักแต่งเสภาขุนแผนเพิ่มเติมจากสำนวนกรุงเก่าอีกหลายตอน

กรมหมื่นกวีพจนสุปรีชา กรรมการหอพระสมุดวชิรญาณ เห็นว่าตัวละครในเรื่องขุนแผนนั้นมีอยู่จริง ไม่ใช่นวนิยายเพ้อฝัน โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นระหว่างปี พ.ศ.2034-2073 ขุนแผนเป็นแม่ทัพนายหนึ่งของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พระเชษฐา โอรสของพระบรมไตรโลกนาถ)

เมื่อเทียบศักราชดูกับทางล้านนาแล้ว ตรงกับสมัยของพระเมืองแก้ว ถือเป็นประวัติศาสตร์ช่วงที่ล้านนากับอยุธยาผลัดกันทำสงครามแพ้-ชนะกันอย่างเข้มข้น

เนื่องจากผู้รจนาเสภาขุนแผนนั้น มีมากมายหลายคน เริ่มตั้งแต่กวีนิรนามสมัยอยุธยาก่อนเสียกรุงครั้งที่ 1 เรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จึงยากที่จะสรุปได้ว่า...

ม่านปักของนางลาวทองนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ ปักขึ้นในช่วงเวลาใด และเก็บรักษาไว้ที่ไหนกันแน่

หากเชื่อว่ามีอยู่ที่เจดีย์หลวงลำพูนผืนหนึ่ง ก็แสดงว่าต้องตกค้างอยู่ในวังหลวงอยุธยาอีกหลายผืน!



.