http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-02

เรียก "แขก" เกลียด "แม้ว"/ ลึกแต่ไม่ลับ 2 มี.ค.55

.
รายงานพิเศษ
- ก่อนประวัติศาสตร์ซ้ำรอย วอร์รูม ตท.10 ต้านปฏิวัติ กับการคัมแบ๊กของ "มนัส เปาริก" และมุข-ดราม่า "บิ๊กโอ๋" เยือนเหล่าทัพ
- อ้าง "ความเป็นหญิง" ก็ผิด ข้อหาใหม่ "ยิ่งลักษณ์" จาก "172 ปัญญาชน"

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

เรียก "แขก" เกลียด "แม้ว"
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 02 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1646 หน้า 10


ผลโหวตร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 291 "3 ฉบับ" ที่มีผู้เห็นชอบ 399 เสียง ต่อ 199 เสียง
ต้องถือว่าเป็นชัยชนะที่น่าสนใจของรัฐบาล
เพราะรัฐบาลมีเพียง 300 เสียงเท่านั้น
นั่นเท่ากับว่า มีเสียงสนับสนุน "อื่น" มาช่วย 99 เสียง

ซึ่งชัดเจนแล้วว่า ส่วนหนึ่งมาจาก พรรคฝ่ายค้าน คือ พรรคภูมิใจไทย
ส่วนหนึ่งเป็น วุฒิสมาชิก ปรากฏว่ามี ส.ว.สรรหา โหวตไม่รับ 43 คน ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะได้มีการแสดงท่าทีไม่สนับสนุนอยู่แล้ว
แต่ที่แปลกคือ มี ส.ว.สรรหา 17 คน โหวตหนุน งดออกเสียงอีก 9 คน ขาดประชุม 4 คน

นั่นก็หมายความว่า กระแสต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใน "รัฐสภา" ขณะนี้เหนียวแน่นอยู่ เฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ว.สรรหา กลุ่ม "40" เท่านั้น

ซึ่งไม่น่าจะเพียงพอ ในการสกัดกั้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

จำต้องใช้ "ตัวช่วยอื่น"


ตัวช่วยอื่นนั้นแน่นอนว่า จะต้องไม่ใช่ "เสียงในสภา" หากแต่ต้อง เป็นเสียง "นอกสภา" ซึ่งมีจุดร่วมเดียวกันคือ "เกลียดแม้ว" ซึ่งตอนนี้ ได้เริ่มปรากฏตัวออกมาให้เห็นแล้ว คือ

กลุ่มแรก คือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ได้แถลงจุดยืนผ่านแถลงการณ์ฉบับที่ 1/2555 ชี้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นเพียงนิติกรรมอำพรางเพื่อล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันทั้งฉบับ
ที่จะนำไปสู่เป้าหมายหลักของ "นักการเมืองในระบอบเผด็จการทุนสามานย์โดยเจ้าของพรรคการเมือง" คือ
1. ล้างความผิดในอดีตของเจ้าของพรรคการเมืองและพวก
2. กระชับอำนาจให้กับตัวเองและพวกพ้องในอนาคตให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากยิ่งขึ้น
การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ถือเป็นความเหิมเกริม ลุแก่อำนาจของฝ่ายเผด็จการรัฐสภาโดยทุนสามานย์แห่งระบอบทักษิณ เพื่อประโยชน์สุขของนักการเมือง ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนใดๆ ทั้งสิ้น อันเป็นการสร้างความแตกแยกให้กับคนในชาติ

ในแถลงการณ์ของกลุ่มพันธมิตรฯ ดังกล่าวได้กำหนดก้าวย่างของตนเองคือ
1. ให้ดำเนินคดีอาญาต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และ/หรือถอดถอน และ/หรือยุบพรรค ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา คณะรัฐมนตรี และพรรคการเมือง ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดล้มล้างรัฐธรรมนูญครั้งนี้
2. จะประชุมแกนนำ ผู้ประสานงาน และตัวแทนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศทุกกลุ่ม ในวันที่ 10 มีนาคม 2555 เพื่อ เตรียมการรณรงค์เคลื่อนไหวต่อต้าน


กลุ่มที่สอง เป็น กลุ่มเสื้อหลากสี ที่นำโดย นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์
กลุ่มนี้มีจุดยืนที่ค่อนข้างจะสอดคล้อง ใกล้ชิดกับกลุ่มพันธมิตรฯ ค่อนข้างมาก
และขณะนี้ได้เริ่มเคลื่อนไหว หลังจากที่มีการลงมติรับร่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว โดยจะล่ารายชื่อประชาชน จำนวน 20,000 คน เพื่อถอดถอนสมาชิกรัฐสภาที่ลงมติรับร่างมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ
โดยอ้างว่า เนื่องจากการกระทำดังกล่าว เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 291 ที่ให้อำนาจสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว แต่สมาชิกรัฐสภากลับโอนอำนาจดังกล่าวไปให้ ส.ส.ร.
รวมทั้งขั้นต่อไปคือยื่นถอดถอนคณะรัฐมนตรีด้วย


กลุ่มที่สาม กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์
นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ในฐานะสมาชิกกลุ่ม ระบุว่า กลุ่มสยามสามัคคีนัดหมายรวมตัวกันที่สวนลุมพินี ในวันศุกร์ที่ 2 มีนาคม เวลา 17.30 น. เพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย
โดยรูปแบบจะมีการจัดเวทีอภิปรายวิชาการกึ่งปราศรัย มีวิทยากรที่เข้าร่วมซึ่งล้วนเป็นคนหน้าเดิม
ไม่ว่า นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง, นายเสรี วงษ์มณฑา, นายแก้วสรร อติโพธิ

นายประสารการันตีว่า การชุมนุมครั้งแรกนี้จะมีประชาชนเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 3,000 คน
พร้อมทั้งยังบอกว่า
"การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะเป็นการเรียกแขกที่เคยกระจัดกระจายให้กลับมารวมตัวกัน ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งหมายรวมถึงประชาชนที่รักความเป็นธรรม และจงรักภักดีต่อในหลวงจะออกมาเคลื่อนไหว ตลอดจนกลุ่มพลังประชาธิปไตยต่างๆ จะยกระดับการต่อสู้เป็นการผนึกกำลังเป็นแนวร่วมใหญ่ ต้านยันระบบเผด็จการเสียงข้างมากของทุนนิยมสามานย์ ขณะที่ ส.ส.ร. ในกำกับของพรรคเพื่อไทย จะเป็นจำอวดการเมืองที่ไร้ความไว้วางใจจากประชาชน"



กลุ่มที่สี่ พรรคประชาธิปัตย์
แม้ว่าจะมีเวทีอยู่ในสภา แต่จากการสัมมนาโครงการยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพสาขาพรรค 14 จังหวัดภาคใต้ ระหว่างวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ ที่โรงแรมซากุระแกรนด์วิว อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ค่อนข้างชัดเจนว่า พรรคประชาธิปัตย์ จะเดินเกม สองขา
ขาหนึ่ง ในสภา
และอีกขาหนึ่ง นอกสภา

ในสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ วางเกมไว้ว่ากรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคที่มี 11 คน จะร่วมกันเสนอข้อแปรญัตติแก้ไขเพิ่มเติม 2 กลุ่มหลัก
กลุ่มแรก จะแปรญัตติให้ยึดเอาหมวดพระมหากษัตริย์บรรจุในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่แก้ไข
กลุ่มที่สอง การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องมีหลักประกันในเรื่องอิสระขององค์กรตุลาการและองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องไม่ไปล้มล้างคำพิพากษาของศาล หรือเอื้อประโยชน์ให้กับผู้หนึ่งผู้ใด ผ่านการนิรโทษกรรม

ส่วนนอกสภา มีการกำหนดแคมเปญแจกสติ๊กเกอร์ "คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ" พร้อมแสดงจุดยืนคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 309 และกฎหมายอาญามาตรา 112 ไปทั่วประเทศ ทั้งนี้ เพื่อปลุก "มวลชน" ให้ออกมาร่วมขบวนต่อต้าน

ขณะเดียวกัน ในการสัมมนายังมีการออกแถลงการณ์ "ปฏิญญาหาดใหญ่ 2555" จำนวน 8 ข้อ
1.ปกป้องและรักษาเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ในทุกกรณี
2.คัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 309 เพื่อประโยชน์และช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้พ้นผิดจาก 4 คดีที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของ ป.ป.ช. และคำพิพากษาจำคุกในคดีที่ดินรัชดาฯ
3.คัดค้านการแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
4.ต่อต้านการจัดตั้งหมู่บ้านสีแดงเพื่อลดความขัดแย้งแบ่งฝักแบ่งฝ่าย และความแตกแยกของประชาชน
5.ขจัดการโฆษณาชวนเชื่อที่ทำให้หลงผิดคิดคดทรยศต่อแผ่นดิน บิดเบือนความจริง เพื่อปลุกปั่นสร้างความแตกแยกวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง
6.ต่อต้านการดำเนินการทางการเมืองเพื่อคนใดคนหนึ่งเพื่อผลประโยชน์ทับซ้อน เพื่อพวกพ้องและการจัดสรรงบฯ ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งโดยเฉพาะ
7.สร้างเครือข่ายและร่วมต่อต้านการทุจริตทุกระดับ ทุกรูปแบบ ทั้งภาครัฐภาคเอกชน
8.เสริมสร้างค่านิยม อุดมการณ์ และการมีส่วนร่วมของเด็ก เยาวชน และประชาชนในการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พรรคขอประกาศต่อต้านการรัฐประหารทุกรูปแบบด้วย
ซึ่งน่าสังเกตว่า ล้วนมุ่งแตะไปยังกลุ่ม "มวลชน" นอกสภา เป็นหลัก


ที่น่าสนใจไปกว่านั้น ระหว่างการสัมมนาโครงการยุทธศาสตร์การพัฒนาศักยภาพสาขาพรรค 14 จังหวัดภาคใต้ ดังกล่าว

มีตัวแทนสาขาพรรค เสนอให้มีการจัดม็อบออกไปต่อต้านคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดพลังในการคัดค้าน

นอกจากนี้ ยังเสนอให้ ผู้บริหารพรรค สั่งการให้สาขาพรรคทั่วประเทศ รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมในขั้นทำประชามติ

ขณะเดียวกัน ก็มีรายงานข่าวระบุว่า แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ได้สั่งนโยบายไปยังสาขาพรรค ให้ผลิตและมีมวลชนเป็นตัวเอง

โดย ส.ส. 1 คน ต้องมีมวลชนของตนเอง 100 คน

เมื่อรวมกับมวลชนสาขาพรรคจะมีมวลชนหมุนเวียนสนับสนุนกิจกรรมพรรคไม่ตำกว่า 1 หมื่นคน

นายกรณ์ จาติกวณิช มาฉายภาพให้ชัดเจนขึ้น เกี่ยวกับ การมุ่งสร้าง "มวลชนนอกสภา" นี้ โดยกล่าวตอนหนึ่งในการสัมมนาว่า
"ปัจจุบันพรรคมีสื่อพันธมิตรอยู่หลายค่าย ทั้งบลูสกายทีวี ทีนิวส์ และไทยทีวีดี...อยากให้สมาชิกพรรคได้ติดตามรายการ อย่าง รายการสายล่อฟ้า เผื่อจะเอาไปใช้ต่อสู้ใต้เข็ดขัด"
นี่ย่อมต้องถือว่า เป็นการ "ปรับตัว" ครั้งใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะไม่จำกัดเวทีของตนเองแค่ในสภาอีกต่อไป
แต่จะขยายออกไปนอกสภา โดยมีแคมเปญ การสร้างมวลชน และใช้สื่อทีวีดาวเทียมเข้าเสริม แทบจะเป็นโมเดลเดียวกับพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดง



สิ่งที่น่าสนใจก็คือ กลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวเหล่านี้ ซึ่งมีเป้าหมายเรียกแขกกลุ่มเดียวกัน คือ "เกลียดทักษิณ" จะสามารถไหลรวมเข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกันได้หรือไม่

ซึ่งปัจจุบัน เราสัมผัสได้ถึงความแตกแยกของกลุ่มพันธมิตรฯ กับพรรคประชาธิปัตย์

ขณะเดียวกัน ในกลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งถือว่ามีศักยภาพสูงสุดในการเรียกแขก ก็อยู่ในสภาพอ่อนล้า ไม่คึกคักเหมือนเดิม การรณรงค์โหวตโน การชุมนุมเรื่องเขาพระวิหาร มีกระแสตอบรับแผ่วเบาอย่างน่าใจหาย

แกนนำบางส่วนก็แตกแยกขัดแย้งกัน

และล่าสุด นายสนธิ ลิ้มทองกุล ยังมาต้องคำพิพากษาจำคุกถึง 20 ปี ในคดีทำเอกสารเท็จค้ำประกันเงินกู้ธนาคารกรุงไทย พันกว่าล้านเข้าไปอีก แม้จะอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ แต่ก็ถือว่าบั่นเซาะจิตใจไม่น้อย

บทบาทและน้ำหนัก จึงมาอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นหลัก
ซึ่งก็มีข้อจำกัดอยู่ไม่น้อยเช่นกัน เพราะหากมีพรรคการเมืองนำการเคลื่อนไหวมวลชนกลางๆ มักจะไม่เข้าร่วม
ตอนนี้ จึงอาจประเมินได้ลำบากว่า ขบวนการต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะ "ฮึกห้าวเหินหาว" ได้เพียงใด

หลังจากได้ ส.ส.ร. ได้ตุ๊กตา "รัฐธรรมนูญ" ฉบับใหม่ นั่นแหละ คงชัดเจนและเป็นรูปธรรมขึ้น
ตอนนี้ ก็ฟังเสียงร้องเชิญแขก "เกลียดแม้ว" ให้ตื่นตัวไปพลางๆ ก่อน



++

คอลัมน์ ลึกแต่ไม่ลับ โดย จรัญ พงษ์จีน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 02 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1646 หน้า 8


ผ่านเรียบร้อย และถือว่าเสียงสนับสนุน "มาก" เกินคาดหมายเสียด้วยซ้ำ กับมติรับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติม "รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550" ที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของ "รัฐสภา" 3 ร่าง ในนามของรัฐบาล-พรรคเพื่อไทย-พรรคชาติไทยพัฒนา

ผลปรากฏว่า สมาชิกมีมติรับหลักการหรือเห็นด้วย 399 เสียง ไม่เห็นด้วย 199 เสียง งดออกเสียง 14 ราย

เสียงสนับสนุนสูงถึง 399 เสียง แสดงว่าย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดา เพราะ รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" มีองคาพยพประกอบขึ้นด้วย พรรคเพื่อไทย-พรรคชาติไทยพัฒนา-พรรคชาติพัฒนา และพลังชล มีฐานเสียงเต็มถังอยู่ 300 ที่นั่ง

99 เสียง ที่งอกเพิ่มออกมา ส่วนหนึ่ง ประมาณการกันว่ามาจากสมาชิก "สภาสูง" แต่เมื่อหักลบกลบหนี้ยอด "ส.ว." ในนามของ "กลุ่ม 40" ออกไปแล้ว เสียงที่เหลือไม่น่าจะถึง 99 เสียง

แสดงว่า 99 เสียง ที่มาต่อยอดร่วมรับหลักการ ไฟเขียวให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 คะแนนส่วนหนึ่งต้องสมทบทุนมาจาก พรรค "ภูมิใจไทย" ของ "เพื่อนเนวิน"

และไม่น่าจะเทเสียงสนับสนุนเฉพาะกลุ่มมัชฌิมา ของ "สมศักดิ์ เทพสุทิน" หรือ "สนามบินน้ำ" ของ "สุชาติ ตันเจริญ" ปรากฏการณ์นี้ น่าจะมี ส.ส. ในสังกัด "2 น." แหกด่านมะขามเตี้ยออกมาร่วมวงไพบูลย์ด้วย


กระบวนการถัดไป คือขั้นตอนของการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 291
วางกรอบสัดส่วนของกรรมาธิการเอาไว้ 45 คน จากตัวแทนพรรคเพื่อไทย 19 คน ประชาธิปัตย์ 11 คน วุฒิสมาชิก 10 คน ภูมิใจไทย 2 คน ชาติไทยพัฒนา 1 คน ชาติพัฒนา 1 คน พลังชล 1 คน หวยล็อกสำหรับผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการ รู้กันอยู่แล้วว่า เป็น "สามารถ แก้วมีชัย" ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย โควต้าภาคเหนือ

คณะกรรมาธิการต้องไปเร่งรัดจัดการ เพื่อให้ได้มาซึ่ง ส.ส.ร. หรือสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 99 คน จากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน และสรรหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 22 คน ภายใน 75 วัน

เมื่อเลือกตั้งได้ ส.ส.ร. แล้ว จะต้องยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 ให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน กรอบของเวลาทั้งหมดวางไว้เกือบ 6 เดือน

ปัญหาที่ซีกฝ่ายค้านหวั่นวิตก คือ ที่ไปที่มาของ ส.ส.ร. จากผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 22 คน ซึ่งกำหนดวิธีการเอาไว้ว่า มาจากผู้เชี่ยวชาญกฎหมายมหาชน 6 คน ผู้เชี่ยวชาญรัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์ 6 คน ผู้มีประสบการณ์ทางการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน เศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย หรือการร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 10 คน
ตรงนี้ เกรงว่าจะเอื้อประโยชน์ให้กับ "คนกันเอง" มาเป็น ส.ส.ร. เพราะที่มาวางกรอบเอาไว้ไม่รัดกุม ดูหละหลวมมาก

"พรรคเพื่อไทย" และพรรคร่วม ในฐานะเจ้าของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ค่อนข้างจะมีความมั่นอกมั่นใจสูง ว่าการยกร่าง รธน. คาบนี้ จะไร้อุปสรรค เพราะเสียงสนับสนุนท่วมท้น ในรัฐสภา เกินครึ่งของ 2 สภารวมกันแบบเห็นๆ

ขณะที่ "นอกสภา" ก็มี "คนเสื้อแดง" ยืนยกธงค้ำยันอยู่เต็มทุกภาคสนาม



ในทางกลับกัน เมื่อชำเลืองไปมอง "เชิงลบ" การแก้ไขรัฐธรรมนูญ "50 ก็ไม่ได้ราบรื่น โรยไปด้วยกลีบกุหลาบเสียเลยทีเดียว "พรรคประชาธิปัตย์" แม้ลงมติไม่รับหลักการ ตกสภาพจำยอม เสมือน "เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง" เพราะไม่ได้ปฏิเสธ แบบตัดสวาทขาดกันทั้งดุ้น ยังคงร่วมสังฆกรรมชำแหละอยู่ด้วย มีการตั้งตัวแทนเป็นกรรมาธิการร่วม เป็นไฟต์บังคับ ตามมารยาททางการเมือง ด้วยสัดส่วน 11 คน

แต่ประชาธิปัตย์ มีเงื่อนไข ตั้งธงแปรญัตติไว้ 3 ประเด็น คือ
1. รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขใหม่ หมวดพระมหากษัตริย์ต้องยึดหมวดเดิมทั้ง 1 และ 2 ตั้งแต่มาตรา 1 ถึงมาตรา 24 คงไว้เช่นเดิมทั้งหมด ห้ามแตะต้องเป็นอันขาด
2. ต้องมีหลักประกันในเรื่องความเป็นอิสระขององค์กรตุลาการและองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
และ 3.การแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ถูกใช้ไปในลักษณะของการนิรโทษกรรม คือไม่มีจุดไหนไปล้มล้างคำพิพากษาของศาล เพื่อเอาประโยชน์ให้กับบุคคลหนึ่งบุคคลใด

ท่าทีของประชาธิปัตย์ไปสอดรับกับท่าทีของมวลชน "นอกสภา" หลายกลุ่ม ที่ประกาศตัวประจักษ์ชัดแล้ว ว่าจะเดินหน้าคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเต็มรูปแบบ คือ ประกอบด้วยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย-กลุ่มสยามประชาภิวัฒน์-กลุ่มเสื้อหลากสี-กลุ่มกรีน ที่ได้เปิดตัวไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทุกกลุ่มต่างพากันส่งสัญญาณในการขับเคลื่อนแล้ว วันเวลาเคลื่อนทัพใกล้เคียงกัน


จริงอยู่ ดูตามสภาพ กลุ่มที่ออกมาส่งเสียงคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ ดูยังไร้พลัง เสียงไม่ดังเหมือนอดีต เทียบกันไม่ติดกับ "นปช." ซึ่งใช้ "ระบบจัดตั้ง" ได้หนักแน่นกว่า
แต่เป็นเรื่องที่ รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ประมาทหรือย่ามใจไม่ได้เด็ดขาด
เพราะการแก้รัฐธรรมนูญคาบนี้ เปิดโอกาสให้ "ศัตรูเก่า" ของ "เครือข่ายนายใหญ่" ได้เงื่อนไข กลับมา "รวมศูนย์" กันอีกคำรบ
หลังทลายห้าง "ระบอบทักษิณ" พังครืน และหลังใช้มวลชนเล่นงาน รัฐบาล "สมัคร สุนทรเวช-สมชาย วงศ์สวัสดิ์" พังพาบ

"อริเก่า" เกิดเหยียบตาปลากันเอง ขัดแย้ง ปีนเกลียวกันหนัก ทั้งด้วยปฐมเหตุของอุดมการณ์ และผลประโยชน์ ส่งผลให้ "ทัพใหญ่" แตกกระเจิดกระเจิง และได้เกิดรอยร้าวรูเบ้อเริ่มขึ้นระหว่าง "ประชาธิปัตย์-พธม." ช่วงปลายสมัยรัฐบาล "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ"
ทำให้สถานภาพและกำลังที่เคยยิ่งใหญ่อลังการ เกิดอาการอ่อนยวบยาบ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญ "50 กลับมีจุดเริ่มต้น ของการปรองดอง อย่างน้อยในเบื้องต้นมีมุมมองเดียวกัน คือ ไม่เห็นด้วย

ในอนาคต หากเกมคัดค้านแก้ไขรัฐธรรมนูญ จุดติด และทวีความเข้มข้นขึ้นมาได้

การเมืองเกิดการ "เลือกข้าง" กันอย่างเป็นรูปธรรมอีกครั้ง สามารถทำให้เกิดลมพัดหวน แนวร่วมหน้าเก่าจับมือกันติด ก็ย่อมมีอันตรายไม่หยิ่งหย่อนสำหรับ "ยิ่งลักษณ์"



+++

ก่อนประวัติศาสตร์ซ้ำรอย วอร์รูม ตท.10 ต้านปฏิวัติ กับการคัมแบ๊กของ "มนัส เปาริก" และมุข-ดราม่า "บิ๊กโอ๋" เยือนเหล่าทัพ
บทความพิเศษ ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 02 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1646 หน้า 16


ที่เคยถูกมองว่า แรงๆ แนวบู๊ ล้างบาง แต่พอมาเป็น รมว.กลาโหม เข้าจริงๆ บิ๊กโอ๋ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต ก็ต้อง สโลว์ดาวน์ ตัวเองให้เยือกเย็นและสุขุม

จากที่เคยพูดจาโผงผาง ถึงลูกถึงคน เมื่อเอ่ยถึงกองทัพ เมื่อครั้งยังอยู่ในกองทัพและจนเป็น รมว.คมนาคม มาตอนนี้ พล.อ.อ.สุกำพล พูดซอฟต์ลง ต้องหลีกเลี่ยงการปะทะ แม้จะด้วยวาจาก็ตาม

หลังมีรายงานว่า เพื่อนรักที่ดูไบ ทักษิณ ชินวัตร สะกิดๆ มาให้ดำรงความมุ่งหมายที่จะให้มาดูแลกองทัพ แค่ไม่ให้ปฏิวัติ แต่ไม่ไปล้างบางหรือแทรกแซง เพราะเขาต้องการปรองดองกับทุกฝ่าย เพื่อเป้าหมายที่ใหญ่กว่า

ท่าทีของ พล.อ.อ.สุกำพล จึงอ่อนลง แต่ก็ต้องเรียกว่า อ่อนนอกแข็งใน ที่ดูเหมือนจะทำให้ ผบ.เหล่าทัพ ลดความหวาดระแวง หวาดหวั่นไปได้เปลาะหนึ่ง แต่ก็ยังไม่วางใจกับ รมว.กลาโหม เพื่อนรักของทักษิณคนนี้นัก

แม้ว่า พล.อ.อ.สุกำพล จะพยายามกระชับพื้นที่ความห่างเหินของตนเองกับ ผบ.เหล่าทัพ ในทุกวิถีทาง แต่ความไม่แนบแน่น ไม่สนิทสนม ยังคงรู้สึกได้

จะเห็นได้ว่า เมื่อครั้งเดินสายเยี่ยมเหล่าทัพ เมื่อ 23-24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทั้งที่ บก.กองทัพไทย ทอ., ทบ. และ ทร. นั้น บรรยากาศแตกต่าง

คงมีแต่วันไปเยือนพระราชวังเดิม ที่พบหน้า บิ๊กหรุ่น พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ ผบ.ทร. นั่นกระมังที่มีการยิ้มหัวกันอย่างสดใสจริงใจ ปล่อยมุขเรือดำน้ำ เพราะอย่างน้อย บิ๊กหรุ่น ก็วัดใจ บิ๊กโอ๋ จากที่ช่วยเต็มที่แล้วในการผลักดันโครงการซื้อเรือดำน้ำเยอรมัน ไม่ว่าจะได้หรือไม่ก็ตาม แต่บิ๊กโอ๋ ก็ได้ใจทหารเรือไปทั้งกองทัพ

แต่การไปเยือน บก.ทัพไทย ที่มีบิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. และ ผบ. 3 เหล่าทัพพร้อมหน้ามาต้อนรับ ก็ดูจะเกร็งๆ

พล.อ.อ.สุกำพล พยายามลดบรรยากาศตึงๆ ด้วยมุขตลกที่อาจขำบ้างฝืดบ้าง แต่ก็สะท้อนถึงความตั้งใจที่จะสร้างมิตรภาพ ที่แม้จะเป็นแค่การสร้างภาพก็ตาม


ที่บก.ทัพไทย บิ๊กโอ๋ บอก ขอใช้ภาษาจิ๊กโก๋ว่า "บรรยากาศดี" ส่วนที่กองทัพอากาศนั้น บิ๊กโอ๋ เปรย "กลับถิ่นเก่า แล้วน้ำตาจะไหล"

จน บิ๊กเฟื่อง พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผบ.ทอ. ก็ยังตายใจและเชื่อว่าตนเองไม่ถูกย้ายพ้นเก้าอี้ ผบ.ทอ. ในโยกย้ายกลางปีที่จะคลอด ปลายมีนาคมนี้แล้ว

"พี่โอ๋ คงไม่มาทำร้าย ทอ. เพราะท่านเป็น ทอ. ดูบรรยากาศดี พี่น้อง ผมกับท่านเด็กดอนเมืองด้วยกัน เรียนอนุบาลด้วยกัน ไม่มีถือมีดไว้ข้างหลังแน่" บิ๊กเฟื่อง กล่าว

เมื่อไป ทบ. บิ๊กโอ๋ บอกปลื้มที่ ผบ.ทบ. เกณฑ์แม่ทัพนายกองมาต้อนรับกันพร้อมหน้า ที่หากมองอีกมุม อาจเป็นการส่งสัญญาณบางอย่างของ บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ผู้คุมกำลังปฏิวัติทั่วประเทศก็ว่าได้

"อาหารดี ไอติมอร่อย" บิ๊กโอ๋ ปล่อยมุขฝืดๆ

แม้แต่การใช้ปล่อยมุข "เมื่อกี้ผมจูบแก้ม ผบ.ทบ. ในห้องน้ำ แต่ไม่มีใครเห็น" ตอบคำถามนักข่าว ที่ให้มองหน้า ผบ.ทบ. แล้วสัญญาว่าจะไม่ปฏิวัติ

แม้จะทำให้ทุกคนหัวเราะได้ก็ตาม แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ทำปากบ่นหมุบหมิบ ด่านักข่าวอยู่ด้านหลังบิ๊กโอ๋ ก่อนจะไปปล่อยมุขฮาคลายเครียด ชายรักชาย ก่อนเข้าลิฟต์หลังจบแถลงข่าว

แต่ประโยคของ บิ๊กโอ๋ ที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ และแผงอำนาจ ตท.12 ใน ทบ. ต้องอึ้งและยิ้มแหยๆ เมื่อตอบคำถามว่าจะเอาอะไรมารับประกัน ถ้าไม่สัญญา

"เอาหัวใจซึ่งกันและกันว่าจะไม่มีปฏิวัติ คงไม่ต้องมีสัญญา ลูกผู้ชายพูดกันรู้เรื่อง" วาทะบิ๊กโอ๋

อีกทั้งประโยคที่ พล.อ.อ.สุกำพล เน้นในทุกที่ระหว่างเยี่ยมเหล่าทัพ ก็คือ "เป็นพี่น้อง จริงใจ ไม่เสแสร้ง"



การสวมสูทไปเยือนกองทัพของ พล.อ.อ.สุกำพล แทนการสวมเครื่องแบบทหารนั้น เป็นการสะท้อนถึงความต้องการแสดงถึงการเป็น รมว.กลาโหม ที่มาคุมกองทัพ โดยมี บิ๊กโอ๋ พล.อ.พฤณท์ สุวรรณทัต หัวหน้าคณะนายทหารฝ่าย เสธ.ประจำ รมว.กลาโหม ที่เป็นทั้งเพื่อนรัก ตท.10 และเครือญาติ นั่งรถคันเดียวกันไปด้วย

สำหรับ พล.อ.พฤณท์ แล้ว การกลับมาเยือนเหล่าทัพ โดยเฉพาะ ทบ. ครั้งนี้ ทำให้เขาสะท้อนใจไม่น้อย เพราะเมื่อ 19 กันยายน 2549 จากผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.1 รอ.) ขุมกำลังปฏิวัติที่องอาจ ต้องถูกเด้งเข้ากรุ แต่ก็ถือว่า เขากลับมาอย่างองอาจ และอาจจะทระนงกว่านี้ในอนาคตอันใกล้เมื่อเขาเกษียณกันยายนนี้แล้ว

ฉากดราม่า ที่ ทบ. ฉากสำคัญ อยู่ที่หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.5 ด้านหลัง บก.ทบ. ทีมทหารฝ่าย เสธ.รมว.กลาโหม ยืนเรียงแถวอยู่ปีกขวา บรรดาห้าเสือ ทบ. และแม่ทัพนายกอง อยู่ปีกซ้ายของพระรูป ผู้เป็นพระบิดาของเตรียมทหาร

บิ๊กหนุ่ย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รอง ผบ.ทบ. และ พล.อ.โปฎก บุนนาค ผช.ผบ.ทบ. เพื่อนรัก ตท.12 ของบิ๊กตู่ ส่งยิ้มฝืดๆ พร้อมสายตาทักทายไปที่ พล.อ.พฤณท์ ทำให้เขาเดินมาทักทาย พร้อมแซวเล่นกันบางประโยค แต่ พล.อ.พฤณท์ ก็ต้องหน้าม้านกลับมาที่แถว เมื่อ พล.อ.โปฎก แซวกลับว่า "อะไรที่เคยสัญญาสาบานต่อหน้าพระองค์ท่าน พอกลับไปก็ถือว่ายกเลิก"

รอยยิ้มและเสียงหัวเราะหยุดสต๊อปลงทันใด ก่อนที่ พล.อ.อ.สุกำพล จะพนมมือหลับตาไหว้พระรูป ร.5 ที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์ แม้อยากจะอธิษฐานนานกว่านั้น แต่ทุกคนใน ทบ. โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ ยืนจ้องเขาอยู่จากเบื้องหลัง


กลิ่นอายแห่งความไม่จริงใจ ตลบอบอวล ต่อหน้าพระองค์ท่านผู้สร้างกองทัพ สร้างโรงเรียนทหารขึ้นมา ศึกสายเลือดเตรียมทหาร ศึกสายเลือด จปร. เกิดขึ้นมาตลอดประวัติศาสตร์การเมืองการทหารของไทย และดูท่าจะไม่มีวันจบสิ้น ตราบใดที่ทหารยังยุ่งเกี่ยวการเมือง แล้วนักการเมืองก็หวังอาศัยให้ทหารช่วยแย่งชิงอำนาจทางการเมือง

จึงไม่แปลกเลยที่จะมีข่าวสะพัดว่า มีการตั้งวอร์รูมของกลาโหม ในการเกาะติดความเคลื่อนไหวของกองทัพ โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ และแผงอำนาจ ตท.12 และผองอำมาตย์

ในเมื่อวันนี้อำนาจกลาโหม อยู่ในมือ ตท.10 ภายใต้การนำของ พล.อ.อ.สุกำพล และ พล.อ.พฤณท์ ที่ต่างมีประสบการณ์ถูกปฏิวัติมาแล้ว ตท.10 ย่อมไม่อาจให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย จึงต้องมีการเกาะติดฝ่ายตรงข้าม

ข่าวว่า พล.อ.พฤณท์ นำทีมทหารแตงโมใน ทบ. และทหารวงศ์เทวัญ เพื่อเกาะติดบูรพาพยัคฆ์ และทหารเสือราชินีด้วยตนเอง โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวใน พล.1 รอ. ขุมกำลังปฏิวัติ เพราะมองว่า บิ๊กแกะ พล.ต.พิสิทธิ์ สิทธิสาร ผบ.พล.1 รอ. ก็เป็นสายตรงของแผงอำนาจ 3 ป. "ป้อม-ป๊อก-ประยุทธ์"

เมื่อตอน 19 กันยายน พล.อ.พฤณท์ ถูก บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ. แม่ทัพภาคที่ 1 ในเวลานั้น เล่นงานเสียอยู่หมัดไม่อาจต่อต้านปฏิวัติได้ จนกลายเป็นเพื่อนรักเพื่อนแค้น

การมีทหารแตงโมอยู่ในทั่วทุกหัวระแหงของกองทัพ ได้กลายเป็นหน่วยข่าวสำคัญให้ พล.อ.พฤณท์

"ไม่มี ทำไมจะต้องไปตั้งวอร์รูม อะไร ใครจะไปทำแบบนั้น" พล.อ.พฤณท์ ออกตัว
"ไม่ได้ตั้งเป็นวอร์รูมหรอก แต่ก็ต้องมีการหาข่าวบ้างเป็นเรื่องธรรมดา ใครรู้อะไรก็มาบอกแล้วช่วยกันตรวจสอบ ก็แค่นั้น ฝั่งกองทัพเขาก็เกาะติด จับตาความเคลื่อนไหวของพวกเราเหมือนกัน" ขุมข่าวใน ตท.10 กระซิบ

งานนี้ ตท.10 ระดมกันมาช่วยเกาะติดกองทัพและฝ่ายอำมาตย์กันเต็มที่ เพราะทั้ง บิ๊กตู่ พล.อ.พรชัย กรานเลิศ อดีต ผช.ผบ.ทบ. ที่จะเกาะติดความเคลื่อนไหวใน ทบ. เพราะเขาโตมาจาก กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน (พล.ปตอ.) และ บก.ทัพไทย เพราะก็ไม่วางใจ พล.อ.ธนะศักดิ์ ผบ.สส. ที่ได้ชื่อว่า ใกล้ชิดสถาบัน และเป็นเพื่อน ตท.12 ของ พล.อ.ประยุทธ์

ที่น่าจับตาคือ พล.อ.พฤณท์ ได้ดึง บิ๊กหยอย พล.ท.มนัส เปาริก อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 3 ที่ได้รับการตอบแทนมาเป็นที่ปรึกษา รมช.มหาดไทย มาช่วยงานที่กลาโหมนี่ด้วย


ต้องไม่ลืมว่า พล.ท.มนัส นี้เป็นผู้อยู่เบื้องหลังกองกำลังเสื้อแดง เขาลงไปคุมเองอย่างใกล้ชิด ร่วมเป็นตัวตายกับคนเสื้อแดงและ นปช. มาตลอดหลายปีที่ผ่านมา และเป็นที่ร่ำลือกันว่าเขาเป็นคนวางแผนฝึกการต่อต้านปฏิวัติให้คนเสื้อแดง ทั้งที่เหนือและอีสาน จนในช่วง ศอฉ. เขาเป็น 1 ใน 106 คนที่ถูกห้ามทำธุรกรรมทางการเงิน ตัดท่อน้ำเลี้ยงแดง มาแล้ว

ที่สำคัญ พล.ท.มนัส ผู้นี้ ถือเป็นหน่วยข่าวลับข่าวกรองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในการเกาะติดความเคลื่อนไหวของกองทัพและอำมาตย์มาตลอด เขาเป็นคนที่บอก พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนแรกว่า บิ๊กเปย พล.อ.สะพรั่ง กัลยาณมิตร แม่ทัพภาคที่ 3 ในเวลานั้น วางแผนเตรียมจะปฏิวัติ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เชื่อ จนเขาก่อศึกน้ำลายกับ พล.อ.สะพรั่ง จนสะท้านกองทัพภาคที่ 3 มาแล้ว

ครั้งนี้ ตท.10 ต้องแท็กทีมกัน เพื่อไม่ให้ถูกปฏิวัติ แม้จะรู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ และ ผบ.เหล่าทัพ ไม่กล้าที่จะปฏิวัติ เพราะยังไม่มี "ใบสั่ง" หรือเพราะกลัวการต่อต้านการนองเลือด แถมทั้งพวกเขาอยู่ในอำนาจกันอยู่แล้ว ไม่มีแรงจูงใจมากนักที่จะปฏิวัติก็ตาม

แต่พวกเขาก็ต้องไม่ประมาท เพราะไม่มีอะไรแน่นอน ในเมื่อฝ่ายอำมาตย์และผองศัตรูของพวกเขายังคงอยู่กันพร้อมหน้า แต่ก็แสดงละครว่ายอมสยบต่ออำนาจรัฐ แต่ทว่า อีกหลายคนสำคัญหลบอยู่ในมุมมืดเท่านั้น รอวันแผลงฤทธิ์

นอกจากนี้ ยังมี ตท.10 ตัวหลักๆ ที่ช่วยกันเกาะติดอำมาตย์ ทั้ง พล.ท.มะ โพธิ์งาม ส.ส.กาญจนบุรี พล.อ.อำนวย ถิรชุณหะ ที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย หรือแม้แต่ เสธ.ไอ๊ซ์ พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต ที่แม้จะกำลังบวชพระอยู่ที่โคราช นาน 1 เดือน แต่ลูกน้องในเครือข่ายนั้นกว้างขวาง ทั้งทหารและพลเรือน และทหารทุกเหล่า

โดยมี ผู้กองนัส ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ทายาทมือขวา ที่แม้จะเอาดีด้านธุรกิจจนเป็นมหาเศรษฐีไปแล้ว แต่เขาไม่ทิ้งเรื่องการเมือง เพราะจะลงสมัคร ส.ส. หรือ ส.ว. ที่ จ.พะเยา และยังคงเกาะติดความเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะสายอำมาตย์ สีเหลือง และสลิ่ม

รวมทั้ง พล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี ประธานบอร์ดการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) จนร่ำลือกันว่าที่ทำงานที่สนามบินดอนเมือง นั้น มีวอร์รูม เตรียมพร้อมหากมีการปฏิวัติ ที่จะรับผิดชอบในส่วนของทหารอากาศ เพราะ พล.อ.อ.สุเมธ เคยเป็นผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน (ผบ.อย.) คุมกำลังรบของ ทอ. มาก่อน

อีกทั้งหากมีการปฏิวัติจริง พล.อ.อ.สุเมธ จะรับผิดชอบในส่วนของ ทอ. เพราะมีลูกน้องมากมาย รวมทั้งมี พล.อ.อ.สุกำพล และเพื่อน ตท.10 ในทัพฟ้า ที่ยังมีลูกน้องที่ภักดีอีกไม่น้อย พร้อมช่วยอีกแรง



ยิ่งมองไปข้างหน้าแล้ว ดูท่าพรรคเพื่อไทยจะเป็นรัฐบาลไปอีกหลายสมัย หลังการหลุดโทษทางการเมืองของนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 ในเดือนพฤษภาคมนี้ และส่อเค้าว่าเลือกตั้งเมื่อใดก็ชนะ จนกว่าจะเสื่อมไปด้วยตัวเอง อีกทั้งยังไม่มี "สัญญาณพิเศษ" ใดๆ ออกมา ก็ทำให้ทหารในกองทัพ เริ่มที่จะแปรพักตร์ เพื่ออนาคตของตัวเองกันแล้ว

แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ผบ.ทบ. เอง ที่เคยบอกว่า "ผมไม่เคยเปลี่ยนจุดยืน" ก็ดูท่าว่า สถานการณ์จะบังคับให้เล่นบทพระเอก ให้กับนางเอกปู ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมตรีหญิงคนงาม ไปเรื่อยๆ เก้าอี้ ผบ.ทบ. ก็ยังอยู่ รัฐบาลก็อยู่ต่อไป ตอบแทนกันเรื่องงบประมาณ และโครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์บ้างตามสมควร ก็อยู่กันไปได้เรื่อยๆ ไม่ต้องเอาเก้าอี้ ผบ.ทบ. ที่จะนั่งไปนานถึงปี 2557 มาเสี่ยง ให้เปลืองตัว

ทหารทั้งกองทัพ โดยเฉพาะกองทัพบก ก็กำลังจับตา พล.อ.ประยุทธ์ ผบ.ทบ. อย่างไม่กะพริบตา ว่า ที่ทำๆ อยู่นี้ แค่ดราม่า หรือว่า เปลี่ยนไปแล้วจริงๆ

เพราะในที่สุดแล้ว ชาติบ้านเมือง ไม่ใช่ของเราคนเดียว...



+++

อ้าง "ความเป็นหญิง" ก็ผิด ข้อหาใหม่ "ยิ่งลักษณ์" จาก "172 ปัญญาชน"
คอลัมน์ ในประเทศในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 02 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1646 หน้า 13


ไม่กี่วันที่ผ่านมา นักวิชาการ-ปัญญาชน จำนวน 172 คน อาทิ สอางค์ มะลิกุล, ไพโรจน์ กัมพูสิริ, ปกศักดิ์ นิลอุบล, ปราณี ทินกร, วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน, ธาวิต สุขพานิช, สุกัญญา หาญตระกูล และ ชูศรี มณีพฤกษ์ ได้ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกส่งถึงนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยระบุว่า

การที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศ นำ "ความเป็นหญิง" มาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง กล่าวอ้าง แก้ต่างความไร้ประสิทธิภาพ หรือความผิดพลาดในการบริหารบ้านเมือง รวมถึงหลีกเลี่ยงการชี้แจงตอบข้อซักถามในฐานะผู้นำประเทศ ทั้งในและนอกสภา นับวันจะสร้างความสับสนให้แก่ประเทศชาติมากขึ้นเป็นลำดับ

พฤติกรรมเช่นนี้เป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสังคมประเทศชาติ อีกทั้งยังเป็นการทำให้สถานภาพสตรีไทยประสบภาวะ "ถอยหลังเข้าคลอง"

172 ปัญญาชน จึงเสนอข้อคิดเห็นที่มีต่อปรากฏการณ์ "สักแต่ว่าเกิดเป็นหญิง" แล้วนำมาใช้เป็นเหตุผลให้ความชอบธรรมในการทำงาน ไม่ว่าจะด้านบริหาร ด้านงบประมาณ ด้านนิติบัญญัติ รวมถึงความประพฤติส่วนตัว

ดังนี้


"1.บรรดาผู้นำหญิงในโลกตะวันออก ตะวันตก รวมถึงทวีปแอฟริกา ทั้งในยามสถานการณ์ปกติ หรือในสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยข้อขัดแย้ง ก็หาได้มีผู้ใดอ้างถึง "ความเป็นหญิง" ในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ผู้นำ อาทิ นางออง ซาน ซูจี ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า นางมาการ์เร็ต แทตเชอร์ ในกรณีฟอล์กแลนด์ นางเบนาซีร์ ปุตโต อดีตนายกรัฐมนตรีปากีสถาน ในกรณีสามีถูกกล่าวหาพัวพันคอร์รัปชั่น

"2. การเรียกร้องโอกาส การกล่าวอ้างทวงสิทธิ ทวงเกียรติและศักดิ์ศรีของผู้หญิงให้เป็นที่ยอมรับ สมควรกระทำอย่างยิ่งในกรณีที่ผู้หญิงถูกเลือกปฏิบัติ หรือกีดกันจากกฎหมาย สังคม การเมืองและวัฒนธรรม แต่มิใช่และไม่สมควรกระทำเพื่อเรียกร้องความเห็นใจต่อความประพฤติส่วนตัวที่มิได้เกี่ยวกับการถูกกีดกันใดๆ หรือที่ร้ายยิ่งกว่านี้ ก็คือ สร้างสิทธิพิเศษหลีกหนีหน้าที่อันพึงปฏิบัติต่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งและตรวจสอบ

"ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มาตรา 30 ระบุไว้ชัดเจนว่า หญิงมีสิทธิเท่าเทียมกับชาย นั่นย่อมหมายความว่า นายกรัฐมนตรีไม่ว่าจะเป็นเพศใด เมื่อไม่เข้าประชุมสภา ก็ต้องชี้แจงสาเหตุอย่างตรงไปตรงมา นายกรัฐมนตรีไม่มีสิทธิกล่าวอ้างว่าเป็นการเหยียดหยามศักดิ์ศรี หรือสาเหตุอื่นใดในอันที่จะไม่ชี้แจงการไม่เข้าประชุมสภา

"3. การนำ "ความเป็นหญิง" มาใช้เป็นเหตุผลอย่าง "เอาสีข้างเข้าถู" ในการบริหารบ้านเมืองและตอบข้อซักถามของสังคมเช่นนี้ นอกจากไม่สมควรเป็นเยี่ยงอย่างแก่ลูกผู้หญิงคนใด ทำให้ประชากรหญิงซึ่งรวมถึงผู้นำสตรีในทุกวงการ เศรษฐกิจ การศึกษา การเมืองและวัฒนธรรม ต้องพลอยเสื่อมเสียเกียรติภูมิ ที่บรรพบุรุษสตรีไทยได้สะสมสร้างมาแต่อดีตถึงปัจจุบัน ยังอาจนำสังคมประเทศชาติไปสู่วิธีคิดที่เบี่ยงเบนและเดินผิดทางจนอาจหายนะได้ในที่สุด

"4. การตั้งกองทุนพัฒนาสตรีโดยมองข้ามกลุ่มด้อยโอกาสอื่นๆ ที่มีความวิกฤติและเร่งด่วนกว่ามากมายนัก อาทิ กลุ่มผู้พิการโดยเฉพาะเด็กพิการแต่กำเนิดที่ยังมีโอกาสฟื้นฟู การศึกษาของเด็กชาวไทยภูเขา สิทธิการเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ สิทธิคนรับใช้ตามบ้าน กลุ่มแม่หรือพ่อเลี้ยงลูกตามลำพัง กลุ่มคนชราดูแลลูกหลานของครอบครัวแหว่ง ย่อมเป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นอย่างไม่เท่าเทียมและไม่ทั่วถึง ทั้งยังมีเงื่อนไขให้ต้องลงทะเบียนสมาชิกเป็นการเฉพาะกลุ่มเฉพาะกิจ ราวกับเพื่อตอบสนองนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมืองเท่านั้น

"5. การใช้ "ผ้าซิ่น" เป็นสัญลักษณ์แทนหญิงเพื่อดูหมิ่นเหยียดหยาม ไม่ว่าจะด้วยการกระทำหรือด้วยวาจาดังเช่นอดีต ส.ส หญิงคนหนึ่งได้เคยอภิปรายตอบโต้ในสภา ให้ ส.ส.ชาย "เอาผ้าซิ่นมานุ่ง" จนต้องถอนคำพูด นอกจากเป็นการตอกย้ำทัศนคติสังคมที่ดูถูกสตรีในฐานะเพศแม่ หากเป็นหญิงกระทำเสียเองแล้ว แม้จะถือว่าเป็นการที่ผู้นั้นได้ "ตบหน้าตัวเอง" ในที่สาธารณะ ยังนับเป็นความน่าละอายทางสังคมที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีก"



ด้าน "พวงทอง ภวัครพันธุ์" อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาชิก ครก.112 แสดงความเห็นต่อจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า

"สังคมนี้มันเป็นอะไรไป ตอนยิ่งลักษณ์ถูกเอกยุทธเปรียบเทียบว่าไม่ต่างกับผู้หญิงเหนือที่มีอาชีพโสเภณี กลุ่มผู้หญิงทำเฉย ถูก ปชป. เอาเรื่องโฟร์ซีซั่นส์มาเล่นสองแง่สามง่าม พวกเขาก็เฉย เหมือนประเทศนี้ไม่มีกลุ่มเฟมินิสต์อยู่เลย

"พอเขาปกป้องศักดิ์ศรีของตัวเอง กลับถูกเล่นงานจากผู้หญิงด้วยกัน ตกลงจะให้เข้าใจว่าศัตรูที่น่ากลัวที่สุดของผู้นำหญิง คือผู้หญิงด้วยกันเองใช่มั้ย

"โจมตีเรื่อง รบ. ตั้งกองทุนพัฒนาสตรีโดยมองข้ามกลุ่มด้อยโอกาสอื่นๆ เพื่อตอบสนองนโยบายการหาเสียงของพรรคการเมืองเท่านั้น

"อ้าว...เขาไม่มีนโยบายเกี่ยวกับผู้หญิง ก็ด่าเขา พอเขามีก็ด่าเขาอีก แล้วถ้านโยบายนั้นมันทำให้คนได้ประโยชน์ พรรคการเมืองก็ควรได้เสียงสนับสนุนไป ผิดตรงไหนหรือ...

"บอกว่ากลุ่มอื่นๆ ถูกมองข้าม หมายความว่ากลุ่มอื่นๆ สำคัญกว่าเรื่องผู้หญิงใช่ไหม เก็บเรื่องผู้หญิงไว้ก่อน ไปทำอย่างอื่นดีกว่าใช่ไหม ถ้างั้น ดิฉันเสนอว่าให้กลุ่มผู้หญิงในประเทศนี้รีบสลายตัวเองซะ รวมทั้งโครงการสตรีศึกษาในทุกมหา"ลัยด้วย ทุกคนควรใช้แรงกายแรงใจที่มีอยู่ไปทำงานอื่นที่สำคัญกว่าเถอะ

"...ขอโทษทีนะคะ ข้อเสนอเรื่องนี้ของพวกคุณนี่โคตรล้าสมัยเลย ไม่รู้หรือว่างานวิจัยทั่วโลกในปัจจุบันให้ความสำคัญกับ empower (มอบอำนาจ - มติชนสุดสัปดาห์) ผู้หญิง โดยเฉพาะในประเทศยากจน เพราะตระหนักว่าผู้หญิงมีบทบาทในชีวิตทางเศรษฐกิจสังคมของครอบครัวและชุมชนอย่างมาก

"ไม่เชื่อไปเปิดเว็บของ UNDP (สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ-มติชนสุดสัปดาห์) ดูก็ได้ โครงการสนับสนุนศักยภาพผู้หญิงมีมากมาย ...เสียดาย คนลงชื่อมีนักเศรษฐศาสตร์ก็หลายคน แต่กลับมองไม่เห็นประเด็นนี้..."



.