http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-08

อนุช: อารยธรรมอุตสาหกรรมกับการปฏิวัติหลายมิติ (5)(6)

.

อนุช: อารยธรรมอุตสาหกรรมกับการปฏิวัติหลายมิติ (5)
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1644 หน้า 37


การปฏิวัติประชาธิปไตยชนชั้นนายทุนได้เปลี่ยนแปลงโลกสู่อารยธรรมอุตสาหกรรม ที่ต่างกับอารยธรรมเกษตรกรรมอย่างมาก เป็นการก้าวครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ

สิ่งที่เกิดในท่ามกลางการปฏิวัติเสรีประชาธิปไตยนั้นมีมากด้วยกัน ในที่นี้จะกล่าวถึงทางเศรษฐกิจ-การเมืองซึ่งอาจสรุปได้มี 2 ประการสำคัญ ได้แก่ รัฐสมัยใหม่กับตลาดโลก และทั้ง 2 ประการนี้นั้น มีทั้งด้านที่ร่วมและขัดแย้งกัน
ในด้านที่ร่วมกัน ตลาดในรัฐสมัยใหม่ประกอบส่วนกันขึ้นเป็นตลาดโลก
ในด้านขัดแย้งกันคือ รัฐต้องการพื้นที่ที่ชัดเจนภายใต้อำนาจอธิปไตยหนึ่ง ขณะที่ตลาดโลกต้องการล้มล้างอาณาเขตหรือพรมแดนเหล่านี้ เพื่อให้การไหลเวียนของเงินทุนและการค้าเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว


ความเข้าใจบางประการ
เกี่ยวกับรัฐสมัยใหม่หรือรัฐชาติ

รัฐสมัยใหม่หรือรัฐชาติได้รับการสนใจทางวิชาการอย่างมากตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา มีการศึกษาและให้คำจำกัดความกันไปต่างๆ เพื่อให้สามารถครอบคลุมลักษณะของรัฐชาติได้ครบถ้วน
แต่ยิ่งพยายามให้คำจำกัดความที่รัดกุมเพียงใด ก็ดูเหมือนไม่สามารถครอบคลุมได้หมด จนกระทั่งมีนักวิชาการบางคนเสนอว่า ชาติในสมัยใหม่เป็นเพียง "ชุมชนทางการเมืองในจินตนาการ" (Imagined Political Community เสนอปี 1983)

ในที่นี้จะถือว่า

ก) รัฐสมัยใหม่หรือรัฐชาติเป็นระบบหรือระบอบทางประวัติศาสตร์ เกิดขึ้นในเงื่อนไขหรือเหตุปัจจัยที่แน่นอน เมื่อเหตุปัจจัยเหล่านั้นหมดไป รัฐนั้นๆ ก็จะสลายตัวไปด้วย มนุษย์โฮโม ซาเปียน อุบัติมาเมื่อราว 2 แสนปี แต่เพิ่งเกิดมีรัฐเมื่อราว 5 พันปีมานี้เอง และรัฐชาติเพิ่งเกิดขึ้นช่วงปลายศตวรรษที่ 18 เพียงราว 200 กว่าปีเท่านั้น

ข) รัฐชาติไม่ได้ดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศ มีอำนาจอธิปไตยและมีอำนาจนอกอธิปไตย มีประชาชาติหนึ่งก็มีประชาติอื่น รัฐชาติดำรงอยู่ในท่ามกลางรัฐชาติอื่น รัฐชาติเหล่านี้มีการพัฒนาที่ไม่สม่ำเสมอ บางรัฐมีอำนาจมาก เป็นศูนย์กลางของการผลิต การค้า การเงิน ได้เป็นศูนย์กลางในภูมิศาสตร์การเมืองโลก บางรัฐมีการพัฒนาน้อยอยู่ที่ชายขอบ มีการขัดแย้งกันระหว่างบริเวณที่เป็นศูนย์กลางด้วยกัน และระหว่างศูนย์กลางกับชายขอบ

ภายในรัฐชาติหนึ่งที่ถือว่ามีอำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุด ก็ไม่ปรากฏว่ามีอำนาจรัฐใดสามารถเข้าควบคุมทุกกิจกรรมหรือทุกภาคส่วนของสังคม นอกอำนาจอธิปไตยยังมีอำนาจของประชาสังคม เช่น กลุ่มทางเชื้อชาติ-ภาษา ศาสนา ที่สามารถแสดงอำนาจของตนมากขึ้นเมื่ออำนาจรัฐอ่อน ยังมีเศรษฐกิจใต้ดินและอื่นๆ รวมความแล้วอำนาจอธิปไตยเป็นสัมพัทธ์และถูกท้าทายอยู่ตลอดเวลา

ค) รัฐชาติควรถือว่าเป็นระบบซับซ้อนที่ปรับตัวได้ (Complex Adaptive System) รัฐทั้งหลายไม่ว่าแบบเก่าหรือใหม่ ล้วนเป็นระบบซับซ้อนที่มีความคงทนและปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงด้วยกันทั้งนั้น แต่รัฐสมัยใหม่โดยเฉพาะรัฐที่เป็นศูนย์กลางมีลักษณะพิเศษ ได้แก่ ความสามารถในการปรับตัวเองตอบรับกับการเปลี่ยนอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจ-สังคม อย่างที่ไม่เคยมาก่อน


การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วดังกล่าว ได้แก่

ก) การขยายตัวทางเศรษฐกิจแบบทวีคูณ โดยขยายตัวเป็นเท่าตัวทุก 50 ปี หรือน้อยกว่า เป็นเวลาราว 200 ปี จนกระทั่งระบบทุนนิยมแผ่ซ่านไปทุกหมู่บ้านในโลก

ข) การเปลี่ยนแปลงจากวัฏจักรทางธุรกิจ ที่มีช่วงขยายตัวและช่วงวิกฤติที่เกิดขึ้นเป็นระยะ

ค) การเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่สำคัญได้แก่ ความขัดแย้งภายในศูนย์กลางด้วยกัน จนเกิดสงครามโลกถึง 2 ครั้ง จนต้องคิดตั้งสันนิบาตชาติและองค์การสหประชาชาติขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องรับมือกับสงครามปลดปล่อยในประเทศอาณานิคม ที่ต้องการเป็นอิสระและมีบทบาทบนเวทีโลกมากขึ้น

ง) การที่ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายอย่างรวดเร็วอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนจากแบบการผลิตปริมาณมากและอัตโนมัติ

ความสามารถของรัฐสมัยใหม่ในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในหลายด้านนี้ สะท้อนว่ามันเป็นระบบที่มีความคงทนต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างสูง



รัฐชาติเป็นอย่างไร

คําว่ารัฐชาตินี้บางทีเรียกว่ารัฐประชาชาติ ภาษาอังกฤษใช้ Nation State บางทีเรียกสั้นๆ ว่าชาติ หรือประชาชาติ เช่น ในคำว่า สันนิบาตชาติ และ องค์การสหประชาชาติ

รัฐชาตินั้นคลอดออกจากรัฐราชาธิปไตยที่มีซากเดนของระบบฟิวดัลในระดับใดระดับหนึ่ง การคลอดออกมามีทั้งด้านการตัดขาดและการสืบทอด

ในด้านการตัดขาด เป็นการเปลี่ยนรัฐราชาธิปไตยสู่รัฐเสรีประชาธิปไตยแบบทุน ในความคิดว่า "มนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกัน" รวมทั้งเป็นการตัดขาดรัฐกับศาสนจักรออกจากกัน ความชอบธรรมเกิดจากความยินยอมของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ไม่ใช่เทวสิทธิ์
รัฐสมัยใหม่มีศีลธรรมของตนที่ต่างกับศีลธรรมทางศาสนาได้แก่ นิติรัฐและนิติธรรม ความโปร่งใสและการตรวจสอบได้ เป็นต้น รัฐเสรีประชาธิปไตยโดยพื้นฐานเข้ากันไม่ได้กับรัฐเคร่งอิสลาม

ในด้านการสืบทอดนั้น ระบบรัฐสมัยใหม่ยังคงรับเอาหลายอย่างจากระบบรัฐเดิม เช่นการสร้างพันธมิตรกับชนชั้นเจ้าที่ดิน และรับอิทธิพลของศาสนาตราบเท่าที่ไม่ขัดขวางต่อการขยายตัวของการผลิต การค้าและการลงทุน


ลักษณะบางประการของรัฐชาติ

รัฐชาติที่ปรากฏรูปโฉมชัดเจนในการปฏิวัติอเมริกาและการปฏิวัติฝรั่งเศสในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 นั้น มีลักษณะเฉพาะบางประการ ได้แก่

1) การมีรัฐบาลกลางที่เข้มแข็งศูนย์กลางเดียว ได้แก่ การมีกฎหมายเดียว กองทัพเดียว และตลาดเดียว การมีกฎหมายเดียวแสดงออกที่สำคัญคือ การมีรัฐธรรมนูญที่ถือว่าเป็นกฎหมายสูงสุด โดยกฎหมายอื่นต้องอนุโลมตาม ในรัฐธรรมนูญนั้นจะมีบทบัญญัติแสดงถึงระบอบรัฐเสรีประชาธิปไตย ได้แก่ เสรีภาพ ความเสมอภาค ระบบกรรมสิทธิ์แบบทุนนิยม รัฐชาติเป็นการก้าวล่วงเรื่องเชื้อชาติและศาสนา ทุกคนอยู่ใต้ร่มธงรัฐบาลเดียวกันที่มาจากการเลือกตั้ง โดยอาศัยกลไกรัฐที่สำคัญ ได้แก่ กองทัพประจำการ และระบบบริหารรัฐกิจที่เป็นหนึ่งเดียว

ที่เรียกว่าเป็นตลาดเดียว ได้แก่ การมีสกุลเงินของตนใช้ถูกต้องตามกฎหมาย และมีรั้วหรือกำแพงภาษีคอยปกป้องคุมครองตลาดนี้ไว้ นี้เห็นได้ชัดในช่วงทุนแบบพาณิชยนิยม แต่เมื่อเกิดตลาดโลกในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 สิ่งนี้ก็ได้จางลง ปัจจุบันอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ที่กำแพงภาษีศุลกากรแบบนั้นได้ถูกรื้อถอนลงไปมาก

2) รัฐชาติเกิดขึ้นเพื่อจัดระเบียบความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศในตะวันตก โดยเน้นในด้านบูรณภาพหรืออำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน และไม่ให้มีอำนาจภายนอกเข้ามาแทรกแซงล้มล้าง มีการเสนอแนวคิดนี้ตั้งแต่ปี 1684 แต่กระนั้นก็ยังมีการรบพุ่งกันโดยตลอด อย่างไรก็ตาม การกำหนดอาณาเขตเป็นพรมแดนที่แน่นอนก็มีส่วนที่ช่วยแก้ไขปัญหาพรมแดนอันเป็นที่มาของการต่อสู้ทำสงครามกันอย่างยืดเยื้อในสมัยราชาธิปไตยได้บ้าง โดยประกอบกับทฤษฎีการถ่วงดุลอำนาจ

นอกจากนี้ การแบ่งอาณาเขตมีพรมแดนที่แน่นอนยังช่วยให้มหาอำนาจตะวันตกสามารถแบ่งโลกกันปกครอง โดยมีพรมแดน ตลาดที่แน่นอน ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับมหาอำนาจที่เกิดภายหลังอย่างเช่นเยอรมนีกับญี่ปุ่น เกิดการแย่งชิงดินแดน ทรัพยากรและตลาดจนกระทั่งเกิดเป็นสงครามโลก

3) รัฐชาติในทางปฏิบัติจึงคล้ายเป็นสิทธิพิเศษอย่างหนึ่งของมหาอำนาจตะวันตก โดยด้านหนึ่งใช้ประเทศของตนเป็นตัวแบบของรัฐสมัยใหม่ ได้แก่ อังกฤษ สหรัฐ ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ เป็นต้น ถ้าประเทศใดผิดแผกไปถือว่าไม่ใช่รัฐสมัยใหม่ แต่เป็นรัฐนาซี รัฐฟาสซิสต์ และรัฐคอมมิวนิสต์ที่ควรต้องปิดล้อมทำลายไป

ในอีกด้านหนึ่งเหมือนผู้ออกใบอนุญาตการเป็นรัฐสมัยใหม่ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่ต้องดิ้นรนให้หลุดพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นหรือกึ่งเมืองขึ้น ชาติใดเมื่อเป็นอิสระและยอมอยู่ในค่ายก็จะได้รับการคุ้มครอง ส่วนชาติที่แข็งข้อจะถูกแทรกแซงล้มล้างเปลี่ยนระบอบปกครอง หรือขั้นต่ำทำการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจจนกระทั่งเติบโตได้ยากมาก เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน



ตลาดโลกเป็นอย่างไร

ตลาดโลก (World Market) เป็นทั้งในด้านอุดมการณ์และการปฏิบัติ

ในแง่อุดมการณ์ ได้แก่ แนวคิดเรื่องตลาดเสรี การค้าเสรีและการแข่งขันเสรี ซึ่งเมื่อดำเนินไปนานเข้า ตลาดและการค้านั้นก็ขยายไปทั่วโลก เกิดเป็นโครงสร้างทางเศรษฐกิจ-สังคมวัฒนธรรมโลกที่เชื่อมร้อยกันเป็นกระแสโลกาภิวัตน์

แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีอุดมการณ์ปกป้องการค้า (Protectionist) ในหมู่ชนชั้นนายทุน เพื่อรักษาฐานการผลิตและการค้าของตน

ทั้งนี้ โดยธรรมชาติกลุ่มทุนทั้งหลายต้องการที่จะผูกขาดตลาดการค้าด้วยกันทั้งสิ้น เพียงแต่จะมีกลุ่มทุนใหญ่บางกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากตลาดโลกหรือการค้าเสรีเป็นผู้ผลักดันไปในทิศทางนี้

และโดยทั่วไปได้รับชัยชนะ ผู้ที่เชื่อในระบบการค้าเสรีหรือตลาดโลก ปัจจุบันเรียกว่า นักลัทธิทั้งโลก (Globalist)

ในทางปฏิบัติกลุ่มทุนทั้งหลายได้พัฒนาพลังการผลิตไม่หยุดยั้งเพื่อเอาชนะการแข่งขัน เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ และต้องการตลาดใหม่ คาร์ล มาร์กซ์ ได้บรรยายว่า "ความต้องการในการขยายตลาดอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับผลผลิตของตนขับไสนายทุนให้ไปในทุกหนแห่งของโลก สร้างรวงรังในทุกที่ ตั้งถิ่นฐานในทุกแห่ง และสร้างเครือข่ายไปทุกสถาน"

ตลาดโลกที่ได้ขยายตัวไปเรื่อยๆ นี้ ได้นำจุดจบมาให้แก่ระบบฟิวดัลในที่สุด


การฉีกขาดของรัฐชาติ
การปริร้าวของโลกาภิวัตน์
และการปฏิวัติประชาธิปไตยชาวรากหญ้า

โลกาภิวัตน์หรือการค้าการลงทุนข้ามพรมแดนที่ขึ้นสู่กระแสสูงใหม่ในทศวรรษ 1980 ได้ส่งผลสำคัญอย่างหนึ่งคือทำให้รัฐชาติต่างอ่อนแอ บางทีถึงกับฉีกขาด

โดยด้านหนึ่งลัทธิบรรษัท (Corporatism) ลัทธิทั้งโลก องค์การเหนือรัฐ เช่น องค์การการค้าโลก สมาคมหรือสหภาพของประเทศ ได้แก่ สหภาพยุโรป อาเซียน เข้ามาบดบังอำนาจอธิปไตยของรัฐ อีกด้านหนึ่งลัทธิเชื้อชาติ-ภาษา ลัทธิชนเผ่า ลัทธิเคร่งศาสนา รวมทั้งลัทธิก่อการร้ายได้เข้ามาโจมตีทำให้อำนาจการบริหารและการทหารอ่อนแอลง และท้ายสุดเนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นถี่และรุนแรงขึ้น ทำให้อำนาจรัฐอ่อนแอลง

ความอ่อนแอของรัฐชาติทำให้หลายรัฐถึงกับต้องฉีกขาด เช่น กรณีสหภาพโซเวียตและยูโกสลาเวียในยุโรปตะวันออก เป็นต้น

มีประเทศเกิดใหม่ล่าสุดได้แก่ ซูดานใต้ และในอีกหลายชาติทั้งที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาต้องเผชิญกับกระแสการต่อสู้เพื่อแยกตัวเป็นอิสระ

เช่น กระแสการแยกตัวของสกอตแลนด์จากอังกฤษ เบลเยี่ยมไม่สามารถตั้งรัฐบาลกลางได้เป็นเวลานานหลายเดือนเนื่องจากการขัดแย้งทางเชื้อชาติ

ในประเทศไทยเกิดกรณี 3 จังหวัดภาคใต้ ในจีนเกิดกรณีลุกขึ้นสู้ที่ทิเบตและซินเกียง


แต่โลกาภิวัตน์ที่นำโดยบรรษัทตะวันตกเองก็เกิดการปริร้าวที่รอยต่อระหว่างตลาดเก่าคือตลาดนิวยอร์ก ลอนดอน ปารีส แฟรงก์เฟิร์ต และโตเกียว เป็นต้น กับตลาดเกิดใหม่ที่ก่อตัวตั้งแต่ทศวรรษ 1980 ที่สำคัญมาจากประเทศสังคมนิยม เช่น จีน รัสเซีย และกึ่งสังคมนิยม เช่น อินเดีย ได้หันมาเดินหนทางทุนนิยม เข้าร่วมตลาดโลก

นอกจากนี้ ยังมีบราซิล เกาหลีใต้ ในปัจจุบันรวมราว 60 ประเทศ ขึ้นมาท้าทายการครองความเป็นเจ้าโลกของตะวันตก โดยตลาดเกิดใหม่มีสัดส่วนทางเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นทุกที และการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นในตลาดนี้

ที่น่าจับตาคือโลกาภิวัตน์เป็นขบวนไม่ย้อนกลับ นั่นคือเมื่อโลกาภิวัตน์ล่มสลาย รัฐชาติก็ไม่ได้เข้มแข็งขึ้น เนื่องจากได้เกิดกระแสใหม่ได้แก่การปฏิวัติของชาวรากหญ้า ที่แสดงตัวในกรณีการลุกขึ้นสู้ของชาวอาหรับ และขบวนยึดครองวอลล์สตรีต เป็นต้น

สถานการณ์ความขัดแย้งและการต่อสู้เหล่านี้จะกลายเป็นมหากาพย์แห่งศตวรรษที่ 21



++

อนุช: อารยธรรมอุตสาหกรรมกับการปฏิวัติหลายมิติ (จบ)
โดย อนุช อาภาภิรม คอลัมน์ วิกฤติศตวรรษที่21
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1645 หน้า 38


อารยธรรมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นในการปฏิวัติหลายด้าน ได้แก่ การปฏิวัติทางการผลิต การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การปฏิวัติเสรีประชาธิปไตย

ในตอนนี้จะกล่าวถึง การปฏิวัติทางวัฒนธรรมและจิตวิทยา

การปฏิวัตินี้เป็นการเปลี่ยนทัศนะมุมมองและท่าทีต่อตนเอง สังคม สิ่งแวดล้อมในมิติต่างๆ รวมทั้งกาลเวลา จนกระทั่งเกิดเป็นกลุ่มลัทธิความเชื่อกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ ความเชื่อในเทคโนโลยี ความเชื่อในความก้าวหน้า ลัทธิปัจเจกชน ลัทธิผู้บริโภค และลัทธิหลงตัวเอง เป็นต้น

ความเชื่อและลัทธิเหล่านี้ได้เชื่อมโยงควบคุมโครงสร้างทางสังคมและการดำเนินชีวิตประจำวันเข้าเป็นหนึ่งเดียว เป็นอำนาจที่มองไม่เห็นและอยู่ทุกหนทุกแห่ง

อย่างไรก็ตาม ลัทธิความเชื่อดังกล่าวมีลักษณะยืดหยุ่นและเป็นพลวัต ได้ผ่านการพิสูจน์จากการปฏิบัติในระดับที่แน่นอน และเสริมแรงให้ลัทธิความเชื่อดังกล่าวเข้มแข็งและพัฒนาต่อไป ซึ่งทำให้อารยธรรมอุตสาหกรรมสามารถขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงไปได้ในช่วงกว่า 200 ปีนี้

และเนื่องจากอารยธรรมอุตสาหกรรมมีการพัฒนาไปอย่างไม่สม่ำเสมอ ในที่ห่างไกลจากความเจริญ อารยธรรมนี้ ลัทธิความเชื่อดังกล่าวก็จืดจางลง ปรากฏอิทธิพลของลัทธิความเชื่อในสังคมเก่ามากขึ้น


การเชื่อในเทคโนโลยี

ความเชื่อว่าเทคโนโลยีสามารถแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง ได้ฝังแน่นอยู่ในอารยธรรมอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ด้วยผ่านการปฏิบัติจนสร้างความเชื่อมั่นเช่นนั้นได้

ในปี 1798 โธมัส มัลธัส นักคิดชาวอังกฤษได้เสนอความคิดว่า ในธรรมชาติ การเพิ่มขึ้นของประชากรจะถูกกำหนดโดยเงื่อนไขของความสามารถในการผลิตอาหารได้ ดังนั้น ไม่ช้าก็เร็ว จำนวนประชากรก็จะต้องถูกทำให้ลดลงด้วยความอดอยากและเชื้อโรค แต่ในโลกแห่งเทคโนโลยีมนุษย์สามารถปฏิวัติอุตสาหกรรมการเกษตร ขยายแหล่งผลิตไปทั่วโลก จนกว่า 200 ปีมาแล้วที่แนวคิดของมัลธัสก็ยังไม่ปรากฏเป็นจริง ปัจจุบันประชากรโลกได้ผ่านหลัก 7 พันล้านคนแล้ว และยังคงเพิ่มขึ้นอีก แม้ว่าในอัตราที่ลดลงก็ตาม

เทคโนโลยีช่วยพัฒนากำลังการผลิตจนสามารถผลิตได้จนเหลือใช้ ย่อโลกทั้งโลกจนเหมือนเป็น "หมู่บ้านโลก" และกำลังสำรวจอวกาศ คิดอ่านจะไปตั้งอาณานิคมบนดวงจันทร์ ในทุกที่ที่เกิดปัญหาก็สามารถใช้เทคโนโลยีแก้ไขได้ ไม่ว่าจะเรื่องน้ำท่วม แผ่นดินไหว ภูมิอากาศแปรปรวน

ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้น เช่น นาโนเทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีชีวภาพและเทคโนโลยีการสร้างชีวิตใหม่ และขณะนี้ มีความสนใจในด้านภูมิวิศวกรรม (Geoengeneering) มากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบมากขึ้นทุกที

วิชาภูมิวิศวกรรมนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากเศรษฐีพันล้าน อย่างเช่น บิล เกตส์ เพื่อให้มีปฏิบัติการระดับโลก เช่น การพ่นอนุภาคซัลเฟอร์ไดออกไซด์หลายล้านตันเหนือผิวโลกราว 30 ไมล์ เพื่อสะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์ ซึ่งจะสามารถลดอุณหภูมิของโลกได้อย่างรวดเร็วในราคาไม่แพง และความกังวลเรื่องปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็จะลดลง (ดูบทความชื่อ Bill Gates backs climste scientists lobbying for large-scale geoengineering ใน guardian.co.uk 060212)


สำหรับเรื่องพลังงงานที่หายากและมีราคาแพงนั้น ก็แก้ได้ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจขุดเจาะใหม่ เช่น ปัจจุบันสามารถสกัดก๊าซธรรมชาติจากหินดินดาลก๊าซ (Shale Gas) ได้

นอกจากนี้ อาจใช้การหลอมรวมนิวเคลียร์ในอุณหภูมิต่ำ (Cold Fusion) ซึ่งหากประสบความสำเร็จก็จะมีพลังงานใช้เหมือนไม่สิ้นสุด

ความเชื่อในการศึกษาก็กล่าวได้ว่าเป็นความเชื่อในเทคโนโลยีอย่างหนึ่ง เพราะว่าระบบการศึกษาโดยเฉพาะในระดับสูงเป็นที่รวมองค์ความรู้ การพัฒนาและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งจะพบว่า เมื่อจะแก้ปัญหาใด ก็มักจะตอบว่าต้องเริ่มต้นที่การศึกษา ต้องแก้ไขด้วยการศึกษาที่เพิ่มขึ้น ซึ่งก็ถูกต้องในทางความคิด

แต่ในทางปฏิบัตินั้นดูจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะในความจริงนั้นระบบการศึกษาดูจะเป็นตัวก่อปัญหามากกว่า ระบบการศึกษาเป็นแหล่งผลิตแรงงานอันหลากหลายเข้าสู่ตลาด และก็สร้างปัญหานั้นๆ ขึ้น


การเชื่อในความก้าวหน้า

ความก้าวหน้านั้นสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งในอารยธรรมนี้ สามารถปฏิบัติได้อย่างยอดเยี่ยมต่อเนื่องกันนับร้อยๆ ปี จนเกิดเป็นความเชื่อขึ้นว่า คนรุ่นใหม่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายดีกว่าคนรุ่นก่อน ความเชื่อนี้ก็ได้ผ่านการพิสูจน์จากการที่เศรษฐกิจขยายตัวเป็นเท่าตัวทุก 50 ปีหรือน้อยกว่านั้นเป็นเวลานับร้อยปี

ความก้าวหน้าแสดงออกที่

(ก) การมีวัสดุของกินของใช้มากขึ้น การมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น เช่น เตาไมโครเวฟ หมอหุงข้าวไฟฟ้า เครื่องซักผ้า การไปไหนมาไหนได้สะดวกปลอดภัยและรวดเร็วขึ้น ค่าใช้จ่ายในการขนส่งและรับข่าวสารยิ่งสะดวกและราคาถูกลงเป็นอันมาก การมีเครื่องแต่งกาย ยานพาหนะและบ้านที่ฉลาด

(ข) การรวมเครื่องมือที่ใช้งานได้หลายอย่างไว้ในเครื่องเดียว เช่น โทรศัพท์ กล้องถ่ายรูป คอมพิวเตอร์ บัตรเครดิต เครื่องควบคุมทางไกล เครื่องกำหนดพื้นที่บนโลก และอื่นๆ

(ค) ชีวิตของผู้คนยืนยาวและมีสุขภาพดีขึ้น เนื่องจากการแพทย์และการสาธารณสุขที่ยืดอายุผู้คน และมีสุขภาพดี การปรับปรุงคุณภาพชีวิต

(ง) ระบบมีความซับซ้อนมากขึ้น ที่สำคัญแสดงออกที่เมืองซึ่งใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นมหานครมีผู้คนอยู่อาศัยนับสิบล้านคน และประชากรเมืองมากขึ้นจนเหนือกว่าประชากรในชนบท ทำให้ต้องสร้างระบบเพื่อสนับสนุนการผลิตและการดำเนินชีวิตขนาดใหญ่ เช่น ข่ายพลังงาน ระบบโลจิสติกส์หรือโซ่อุปทาน ระบบสาธารณูปโภคและสาธารณสุข

ความก้าวหน้าก่อให้เกิดยุคใหม่ๆ ขึ้นอย่างไม่ขาดสาย ผู้เขียนเกิดในยุคอนาล็อก แต่มาแก่เฒ่าในยุคดิจิตอล ผู้ที่เกิดในยุคดิจิตอล อาจแก่เฒ่าในยุคนาโนหรือหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ (Humanoid Robot) ขณะเดียวกันก็สร้างอันตรายใหม่ด้วย เช่น สงครามนิวเคลียร์

การเชื่อในความก้าวหน้าเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความยินยอม (Consent) นั่นคือเมื่อถกเถียงกันไป พอสรุปว่าต้องทำเพื่อความก้าวหน้าก็จะเกิดการยินยอมให้ปฏิบัติได้


ลัทธิปัจเจกชนหรือลัทธิส่วนตัว

เป็นลัทธิพื้นฐานของอารยธรรมอุตสาหกรรม ผ่านการปฏิบัติและการปรับเปลี่ยนหลายช่วงตอน มีความหมายและการปฏิบัติในรูปแบบต่างๆ สรุปได้ดังนี้

(ก) เสรีภาพของบุคคลพื้นฐาน ได้แก่ การค้าการลงทุนและแรงงานที่เสรี เกิดการแลกเปลี่ยนแรงงานในสังคมอย่างเสรี เป็นพื้นฐานให้เกิดตัวตนสมัยใหม่ จนขยายไปสู่ความเชื่อในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เสรีภาพในการค้า การลงทุนและการผลิตนี้ ช่วยให้เกิดการขยายตัวและพัฒนาพลังการผลิตไปอย่างมาก เมื่อเทียบกับสังคมฟิวดัล

(ข) ทุกคนเพื่อตน ในเสรีภาพดังกล่าวแต่ละคนจะปฏิบัติเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง ซึ่งในที่สุดจะเกิดผลดีต่อส่วนรวม ตัวอย่างเช่น การแข่งขันระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อที่พยายามรักษาผลประโยชน์ของตนนั้น ทำให้เกิดสิ่งที่ อดัม สมิธ เรียกว่า "มือที่มองไม่เห็นของตลาด" ยังผลให้ตลาดเกิดความเสรีและเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย แม้ข้อนี้ปัจจุบันมีผู้โต้แย้งกันมาก แต่ก็ยังเป็นที่ยอมรับในระดับหนึ่ง และขยายไปสู่ความเชื่อว่าระบบตลาดสามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกอย่าง ที่ยังคงทรงอิทธิพลจนถึงปัจจุบัน

(ค) การแบ่งงานกันทำ จากเสรีภาพในการค้า การลงทุนและการผลิต ก็ทำให้เกิดการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างหลากหลาย จนเกิดการแบ่งงานกันทำในสังคมละเอียดละออยิ่งขึ้น การแบ่งงานกันทำ-ได้วิเคราะห์กันว่าเป็นเหตุปัจจัยใหญ่ในการสร้างความมั่งคั่งให้แก่ชาติ ในอีกด้านหนึ่งก็แบ่งแยกคนในสังคมให้เป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้ทำงานวงการต่างๆ ตามสายงานอาชีพ ส่งเสริมความเป็นส่วนบุคคลมากขึ้น 'การแบ่งงานกันทำ'ในปัจจุบันแตกย่อยมาก จนคนต่างวงการกันแทบจะพูดกันไม่รู้เรื่อง

(ง) ทุกคนสามารถมีโลกของตนได้ การผลิตสินค้าจำนวนมากและสนองความต้องการของส่วนบุคคลได้มากขึ้นช่วยทำให้เกิดการแตกตัวและเสริมความเป็นส่วนตัวของผู้คน เช่น เมื่อก่อนมีโทรทัศน์เครื่องเดียวดูกันทั้งครอบครัวหรือทั้งหมู่บ้าน ก็จะเกิดชีวิตรวมหมู่ขึ้น เมื่อสามารถผลิตโทรทัศน์ได้มากและราคาถูก จนแต่ละคนสามารถมีใช้ ต่างก็ไปเปิดโทรทัศน์ช่องที่ตนอยากดูตามลำพัง

ความก้าวหน้าทางการสื่อสารผ่านอินเตอร์เน็ตและเกมคอมพิวเตอร์ ยิ่งสร้างโลกส่วนตัวขึ้น แม้จะเกิดสิ่งที่เรียกว่าสื่อสังคมออนไลน์ แต่ก็จะมีลักษณะกลุ่มใครกลุ่มมัน


ลัทธิผู้บริโภคและการโฆษณา

ลัทธิผู้บริโภคเกิดจากมีการผลิตสินค้าขึ้นเป็นปริมาณมาก จนกระทั่งต้องมีการโฆษณาและการให้สินเชื่อเพื่อมาบริโภคสินค้าเหล่านั้น ทั้งที่จำเป็นและไม่จำเป็น การบริโภคผสมกับการโฆษณาสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้คนจำนวนมากในฐานะที่เป็นผู้บริโภค เช่น มีเพื่อนมากเพราะกินข้าวเกรียบบางชนิด หรือมีคนมาห้อมล้อมเนื่องจากใช้ยาสีฟันบางยี่ห้อ ฯลฯ ลัทธิผู้บริโภคช่วยธำรงและพัฒนาอารยธรรมอุตสาหกรรมไว้ เพราะว่าการบริโภคเป็นการทำให้กำไรและผลประกอบการหนึ่งๆ เป็นจริงได้

ลัทธิผู้บริโภคจึงนับได้ว่าสร้างความยินยอมต่อระบบ โดยผ่านความพึงพอใจ ทั้งทำให้การติดยึดในวัตถุ เงินตราและการแลกเปลี่ยนแข็งแกร่งขึ้น

ผู้คนถูกจำแนกว่าเป็นผู้บริโภคหรือไม่บริโภคสินค้าใด ทั้งแตกเป็นเซ็กเมนต์ต่างๆ มากมาย


โรคระบาดหลงตัวเอง

จากลัทธิผู้บริโภค การมีของกินของใช้สะดวกสบาย ความเชื่อว่ารุ่นของตนต้องดีกว่ารุ่นก่อน การมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เกิดขึ้นโดยตลอด การที่ลัทธิปัจเจกชนพัฒนาจนเกิดโลกส่วนตัวอย่างมาก การแข่งขันที่มากขึ้น การแพร่หลายของอินเตอร์เน็ตที่สร้างโลกเสมือนจริง เปิดโอกาสให้สร้างโลกเสมือนจริงของตัวเองขึ้น จนเกิดกระแสความรู้สึกว่าไม่เพียงตัวฉันเพื่อตัวฉัน แต่ผู้อื่นก็ควรเพื่อตัวฉันด้วย มีการหลงติดในวัตถุ จนเกิดเป็นโรคระบาดหลงตัวเองขึ้นทั่วสังคม

มีนักจิตวิทยาชาวสหรัฐ 2 คนคือ Jean M. Twenge และ W. Keith Campbell ได้บรรยายโรคระบาดนี้ในสหรัฐในหนังสือ ชื่อ The Narcissism Epidemic : Living in the Age of Entitlement เผยแพร่ปี 2009 ชี้ว่าคนอเมริกัน 1 ใน 10 ที่อายุในช่วง 20 ปีมีอาการหลงตัวเอง เกิดจากความพึงพอใจตนเองในระดับสูง เชื่อว่าความคิดของตนถูก ความคิดผู้อื่นผิด และความปรารถนาในการส่งเสริมตนเอง

เกิดความเชื่อว่าตนเองมีสิทธิโดยชอบในการที่จะได้รับรางวัลหรือผลประโยชน์บางอย่าง (Entitlement) นำมาสู่พฤติกรรมที่ก้าวร้าวรุนแรงได้

เขากล่าวว่า "ใจกลางของลัทธิหลงตัวเอง ได้แก่ การเพ้อฝัน (Fantasy) ว่าตัวเองดีกว่าที่เป็นจริง และดีกว่าคนที่อยู่รอบข้าง...ในโลกอินเตอร์เน็ตช่วยให้ผู้คนสามารถสร้างภาพลักษณ์ปลอมเพื่อหาชื่อเสียงและดึงดูดความน่าสนใจ การได้เครดิตหรือสินเชื่อง่ายๆ ทำให้ชาวอเมริกันทั่วไปเคลิ้มไปว่าตนเองร่ำรวยและประสบความสำเร็จสูง การที่มีคะแนนเฟ้อในโรงเรียนทำให้เด็กต่างคิดว่าตนเองเก่งกว่าที่เป็นจริง...ท้ายสุดได้ชื่นชมวัฒนธรรมดาราที่ตื้นเขินที่โฆษณาว่าเป็นสิ่งที่ยอมรับได้กระทั่งเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา มีเรื่องซุบซิบและข่าวเกี่ยวกับดาราคนดังในสื่อกระแสหลักโดยตลอด ตัวแบบทางสังคมที่เราพบเห็นนั้นก็คือการโฆษณาแบบดำเนินชีวิตที่หลงตัวเอง"

นี่ก็นับเป็นเรื่องแปลกอย่างหนึ่งว่าในโลกของวัตถุที่ต้องเผชิญกับความจริง แต่ก็สามารถสร้างโลกแห่งความเพ้อฝันขึ้นได้



- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

บทความที่ต่อเนื่อง

อนุช: อารยธรรมอุตสาหกรรม กับการปฏิวัติหลายมิติ (1)(2)
http://botkwamdee.blogspot.com/2012/02/anu-r2v.html

อนุช: อารยธรรมอุตสาหกรรม กับการปฏิวัติหลายมิติ (3)(4)
http://botkwamdee.blogspot.com/2012/02/anu-r4v.html



.