http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-18

จับเข่า โดย คำ ผกา

.
แพร่ข่าว - ข่าวสั้น TPNews " 18 มี.ค. พบเวทีราษฎร-แม่น้องเกด-จัดรำลึกวีรชนฯ แยกราชประสงค์ เริ่ม 18 น. "

- กิจกรรม "แขวนเสรีภาพ" 18 มีนาคม 2555 . . 10 - 18 น. (อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา)




* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

จับเข่า โดย คำ ผกา
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1648 หน้า 89


"ความพยายามที่จะวิจารณ์หรือฟ้องร้องสถาบันให้ได้ แล้วบอกว่าจะเป็นสังคมที่เท่าเทียม เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เป็นเรื่องที่ตนรับไม่ได้ เพราะสถาบันอยู่เหนือความขัดแย้งและเป็นที่เคารพ ถ้าอย่างนั้นก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญที่คุ้มครองเสรีภาพทางวิชาการของนักวิชาการด้วย ไม่ให้มีมากกว่าประชาชนทั่วไป และเห็นว่าคนพวกนี้ไม่สมควรที่จะใช้สถานที่ราชการในการเคลื่อนไหว เรื่องอย่างนี้คนไทยรับไม่ได้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้หลีกเลี่ยงกรณีสร้างความแตกแยกในสังคม คนกลุ่มนี้ก็หันไปที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ต้องถามว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่คิดอย่างไร ทำไมจึงอนุญาตให้ใช้สถานที่ แสดงความเห็นกันอย่างไม่มีขอบเขต ไม่ห่วงเรื่องนี้หรืออย่างไร" นายบุญยอดกล่าว
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1331450581


สเตร็กฟัสเปรียบเทียบการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทย กับกฎหมายหมิ่นศาสนา (Blaspheme) ว่าแท้จริงแล้วไม่ต่างกันนัก เนื่องจากเป็นเรื่องของการดูหมิ่น "ศรัทธา" หรือ "ความเชื่อ" โดยไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและ พิสูจน์ข้อเท็จจริง ซึ่งถ้าหากดูจากกระแสที่คัดค้านการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 จากกลุ่มนักวิชาการ ทหาร หรือ ส.ว. โดยอ้างเรื่อง "ความรู้สึก" "จิตวิญญาณ" และ "ความศรัทธา" ก็น่าจะเป็นหลักฐานที่ยืนยันเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

"[การคัดค้านของกลุ่มดังกล่าว] ไม่ได้พูดถึงว่ากฎหมายนี้ควรจะถูกปฏิรูปหรือไม่ แต่พวกเขากลับพูดคนละภาษาเหมือนกับว่ามาจากมุมมองคนละโลก ไม่ว่าจะเรื่องความ "ศรัทธา" หรือ "ความรู้สึกของประชาชน" เปรียบได้กับการหมิ่นศาสนาเพราะคุณไม่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ ซึ่งขัดแย้งกับหลักสากลที่คุ้มครองเรื่องสิทธิการแสดงออกของพลเมืองตามหลัก สหประชาชาติ และเป็นการโจมตีคนที่ไม่ยอมรับคนที่เห็นต่างจากอุดมการณ์ต่างของรัฐ" สเตร็กฟัสกล่าว
http://www.prachatai.com/journal/2012/03/39600



ต้องขอบอกคุณผู้อ่านไว้ก่อนว่า ข้อเขียนที่จะเขียนดังต่อไปนี้ พยายามเขียนให้ง่ายพอที่เด็กอายุสักสี่หรือห้าขวบพอจะทำความเข้าใจได้

ดังนั้น ผู้ที่มีวุฒิภาวะทางความคิด เข้าใจในหลักการของประชาธิปไตยแบบสากลหรือหลักมนุษยชน สิทธิ เสรีภาพแบบสากลดีแล้ว ท่านไม่จำเป็นต้องอ่านเลย

เนื่องมาจากความคิดเห็นของ คุณบุญยอด สุขถิ่นไทย แล้ว หากพรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าสมาชิกพรรคที่มักนำเสนอแนวคิดเช่นนี้สู่สาธารณะเป็นสมาชิกพรรคที่มีคุณภาพ ฉันคิดว่าพรรคประชาธิปัตย์น่าจะเปลี่ยนชื่อพรรคจากประชาธิปัตย์เป็น พรรคประเพณีนิยม หรือชื่อ พรรคอย่าง "ปิตุภูมิ" คู่กับพรรค "มาตุภูมิ" น่าจะบ่งบอกอุดมการณ์ทางการเมืองได้ถูกต้องกว่า

คุณบุญยอดมีสิทธิทุกประการในฐานะพลเมืองไทยที่จะแสดงออกซึ่งความเชื่อทางการเมือง อุดมการณ์ทางการเมืองตน

ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายเลยแม้แต่น้อยนิดที่คุณบุญยอดจะแสดงออกซึ่งจุดยืนทางการเมืองของคุณบุญยอดว่า การปกครองที่คุณบุญยอดชื่นชอบนั้นไม่จำเป็นต้องเป็น "ประชาธิปไตย" ตามความหมายสากล

ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรที่คุณบุญยอดจะบอกว่า ต้องการปกครองแบบพิเศษที่เน้น "เอกลักษณ์ไทย"-นั่นก็เพราะ คุณบุญยอดเชื่อว่า แบบนี้ดีกว่า เหมาะสมกับสังคมไทยมากกว่า

ยืนยันอีกครั้งว่าคุณบุญยอดมีสิทธิแสดงความเชื่อ จุดยืน และอุดมการณ์ของตนเองทุกประการ

แต่นั่นก็ย่อมหมายความว่า คนอื่นๆ ในสังคมไทยที่คิดไม่เหมือนคุณบุญยอดก็ย่อมมีสิทธิตาม-ซึ่งระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ-ในการแสดงออกซึ่งความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ทางการเมืองของตนเช่นกัน

คุณบุญยอดอยากนำเสนอความคิดของบุญยอดว่า "(สังคมไทย) จะเป็นสังคมที่เท่าเทียม เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เป็นเรื่องที่ตนรับไม่ได้"-หากคุณบุญยอดอยากนำเสนอ อุดมการณ์นี้ต่อสังคมไทย ขอแนะนำให้คุณบุญยอด จัดเวทีเสวนา สัมมนา ในหัวข้อ "ประชาธิปไตยไม่ใช่สิ่งที่สังคมไทยต้องการ" ฉันเชื่อว่ามีนักวิชาการจำนวนมาก ยินดีขึ้นเวทีสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการแก่คุณบุญยอด

จากนั้น คุณบุญยอดยังสามารถใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ รณรงค์รวบรวมรายชื่อให้ได้หนึ่งหมื่นชื่อขึ้นไป เพื่อเสนอต่อรัฐสภาให้แก้ไขกฎหมายทุกมาตราเท่าที่จะเป็นไปได้เพื่อให้ประเทศไทยเดินออกจากระบอบประชาธิปไตยไปเสีย

(แต่มันอาจจะชวนหัวนิดหน่อย เพราะฉันกำลังบอกให้คุณบุญยอดใช้กระบวนการประชาธิปไตยยกเลิกการปกครองระบอบประชาธิปไตย แถมยังใช้สิทธิในกรอบของแนวคิดแบบประชาธิปไตยเพื่อยกเลิกหลักการประชาธิปไตย)

นอกจากนั้น หากคุณบุญยอดไปขอใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัยใดๆ ในประเทศไทยเพื่อจัดงาน เสวนาว่าด้วย "การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่เป็นประชาธิปไตยมากเกินไปนั้นเป็นสิ่งที่รับไม่ได้" ฉันเชื่อว่าทุกมหาวิทยาลัยยินดีให้คุณบุญยอดใช้สถานที่ในการจัดงานเสวนา ไม่ว่ามหาวิทยาลัยจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคุณบุญยอด

เพราะอะไร?

ก็เพราะว่ามหาวิทยาลัยที่สร้างจากเงินภาษีของประชาชนย่อมเป็นพื้นที่ที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าไปขอความร่วมมือ ยืมสถานที่มาจัดงานใดๆ ก็ได้ หอประชุม ของมหาวิทยาลัยนั้นเป็นทั้งที่จัดงานคอนเสิร์ต งานแฟร์ขายของ

แล้วทำไมจะใช้จัดงานเสวนาเพื่อสร้าง "ภูมิปัญญา" ให้แก่สังคมสาธารณะไม่ได้?



คุณบุญยอดคะ

(ผู้อ่านลองนึกภาพฉันคุกเข่าพูดกับเด็กอย่างใจเย็น)

คำถามของคุณตลกมากที่ถามว่าทำไมปล่อยให้ใช้สถานที่ราชการ ปล่อยให้ใช้มหาวิทยาลัยของรัฐจัดงานแบบนี้?

งานแบบนี้คือ งานเสวนาวิชาการชื่อ "กฎหมายรัฐธรรมนูญกับประชาธิปไตยไทย"-งานเสวนาแบบนี้หากไม่จัดในมหาวิทยาลัย ในอนาคต นักวิชาการคงต้องไปติดต่อสัปเหร่อ ขอยืมป่าช้ามาจัดงานเสวนาวิชาการกระมัง ?

ถามคุณบุญยอดต่อไปว่า "สถานที่ราชการคืออะไร? มีไว้เพื่ออะไร?"

คำตอบคือ สถานที่ราชการมีไว้เพื่อ "บริการประชาชน" มิใช่หรือ? สถานที่ราชการมิใช่สถานที่ของเจ้าขุนมูลนาย มิใช่สถานที่ของเจ้าคนนายคนที่จะหวงห้ามไว้เฉพาะ "เจ้านาย"

ย้ำอีกครั้งว่าสถานที่ราชการเป็นของประชาชน สร้างขึ้นจากเงินภาษีของประชาชน ประชาชนทุกคนในประเทศนี้เป็นเจ้าของสถานที่ราชการและสาธารณสถานทุกแห่งอย่างเท่าเทียมกัน

มากไปกว่านั้นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ทำในสิ่งที่ถูกต้องคือได้เปิดโอกาสให้ใช้พื้นที่ในมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับการถกเถียงทางปัญญา เป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพทางวิชาการ ความรู้ที่มิได้โดดเดี่ยวอยู่บนหอคอยงาช้าง แต่เป็นพื้นที่สำหรับการแสวงหาปัญญา ข้อมูล ข่าวสาร สำหรับประชาชนในท้องถิ่น

งานเสวนาครั้งนี้เปิดกว้างสำหรับคนทุกคน หากมีคนที่ไม่เห็นด้วย ก็สามารถเข้าไปฟัง ไปซักถาม ไปคัดค้าน ไปแลกเปลี่ยนทัศนะกับวิทยากรทุกท่านได้โดยเสรี ตราบเท่าที่ไม่มีการชกหน้าหรือทุบกระจกรถ คุณบุญยอดน่าจะสิทธิในฐานะประชาชนผู้เสียภาษีเข้าไปใช้ประโยชน์จากมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ไปฟังงานเสวนาเหล่านี้ ไปใช้ห้องสมุดเพื่อค้นคว้า ไปตั้งคำถามกับวิทยากรทุกท่าน ไปคัดค้านด้วยเหตุผล-หากคุณบุญยอดเจียดเวลาทำเช่นนั้นบ้างก็ไม่พูดจาเลื่อนเปื้อนเช่น

"ความพยายามที่จะวิจารณ์หรือฟ้องร้องกษัตริย์ให้ได้ แล้วบอกว่าจะเป็นสังคมที่เท่าเทียม"

เพราะในข้อเสนอของกลุ่มอาจารย์นิติราษฎร์นั้นไม่มีข้อไหนระบุให้มีการฟ้องร้องพระมหากษัตริย์

ในกรณีที่คุณบุญยอดอาจจะไม่มีเวลาอ่านหรือฟังข้อเสนอของกลุ่มอาจารย์นิติราษฎร์ ฉันจะยกข้อความจากเอกสารของ ครก. 112 (คณะกรรมการรณรงค์แก้ไข ม.112) มาให้อ่านดังนี้

1. ให้ยกเลิกมาตรา 112 ออกจากลักษณะว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

2. ให้เพิ่มหมวดลักษณะความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศผู้สำเร็จราชการแทนกระองค์

3. แยกการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระมหากษัตริย์ออกจากการคุ้มครองสำหรับตำแหน่งพระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

4. เปลี่ยนบทกำหนดโทษโดยไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ

5. เพิ่มเหตุยกเว้นความผิด กรณีแสดงความเห็นโดยสุจริต

6. เพิ่มเหตุยกเว้นโทษ กรณีข้อความที่กล่าวหานั้นได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นจริง

7. ห้ามบุคคลทั่วไปกล่าวโทษผู้ที่ทำความผิด และกำหนดให้สำนักราชเลขาธิการมีอำนาจเป็นผู้กล่าวโทษนั้น

จะเห็นว่าหากอ่านข้อเสนออย่างมีอุเบกขา จะเห็นว่าทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อความยั่งยืนในเกียรติยศของสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพของคนไทย ทั้งยังเป็นการเทิดสถาบันกษัตริย์ให้สูงขึ้นเหนือความขัดแย้งทางการเมือง ทั้งพ้นจากการถูกแอบอ้างเพื่อผลประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง



พรรคประชาธิปัตย์เป็นสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์พึงใคร่ครวญคือ การจรรโลงระบอบประชาธิปไตย หากพรรคประชาธิปัตย์สามารถทำให้สังคมประจักษ์ถึงบทบาทของพรรคในการทำงานเพื่อประชาชน เพื่อสิทธิ เสรีภาพของประชาชนตามหลักการประชาธิปไตยแล้ว ฉันเชื่อว่า วันหนึ่ง พรรคประชาธิปัตย์จะกลับมายิ่งใหญ่ในการเมืองไทยได้โดยไม่ต้องแอบอิงกับอำนาจนอกระบบ เช่น การรัฐประหาร

ความยั่งยืนของพรรคการเมืองขึ้นอยู่กับความยั่งยืนของระบบการเลือกตั้ง-การได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาลใต้เงาทหารนั้นอยู่ได้สั้นหรือยาว พรรคประชาธิปัตย์ก็มีบทเรียนด้วยตนเองแล้ว

การแสดงความคิดเห็นของ ส.ส. ในพรรค พึงตระหนักถึงจุดยืนทางการเมืองที่เป็นคุณต่อระบอบประชาธิปไตย มิใช่พูดจาไร้เดียงสา โวยวายเรื่อง "สถานที่ราชการ" อะไรให้ขายขี้หน้าว่ายังมีจิตสำนึกตกค้างอยู่ในสมัยเจ้าขุนมูลนายเมื่อร้อยปีที่แล้ว

และด้วยจิตสำนึกเช่นนี้ คุณบุญยอดเหมาะที่จะเป็น "ขุนนาง" เสียมากกว่าป็น ส.ส.

เพราะไม่เคยให้ความเคารพต่อ "อำนาจ" ของประชาชนที่ คุณบุญยอดไป "ขอเสียง" มาให้เป็นตัวแทน



.