http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-02

Dead Zoneกับอู่ข้าวอู่น้ำ, รถยนต์จอมเขมือบฯ, น้ำตาลอันตรายพอกับเหล้า โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์

.
บทความที่ 4 - เด็กชอบหุ่นยนต์ มากกว่าครูและพ่อแม่ โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

Dead Zone กับ อู่ข้าวอู่น้ำ
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 02 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1646 หน้า 100


บ่อยครั้งที่เราจะเห็นว่าบริษัทอุตสาหกรรมการเกษตรใหญ่ออกมาพูดถึงการผลิตอาหารเพิ่มขึ้นเพื่อเลี้ยงดูประชากรของโลกที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 7,000 ล้านคน สิ่งที่บริษัทเหล่านี้มองเหมือนกันก็คือ การขยายพื้นที่การเกษตรออกไป การเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้นทั้งปุ๋ยและยาฆ่าแมลง และรวมไปถึงการตัดต่อพันธุกรรม

ทุกอย่างเหล่านี้ อิงอยู่กับผลประโยชน์ของเอกชน ในนามของการเลี้ยงดูประชากรของโลกอย่างแนบเนียน โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากระบบการเกษตรอุตสาหกรรมที่ทำอยู่

มีตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจพอจะยกเป็นอุทาหรณ์ได้จากรายงานของ The National Oceanic and Atmospheric Administration ในสหรัฐอเมริกา ที่สะท้อนให้เห็นปัญหาเขตมรณะในทะเล หรือ Dead Zone ในบริเวณอ่าวเม็กซิโก ซึ่งระบุว่า ในปีนี้เดด โซน จะขยายกินบริเวณกว้างใหญ่เป็นพิเศษ โดยที่ยังไม่รวมเอาปัญหาที่เกิดจากน้ำมันรั่วไหลเข้าไว้ด้วย

เดด โซน เกิดจากการขยายตัวของสาหร่ายทะเลอย่างรวดเร็ว สาหร่ายเหล่านี้จะใช้ออกซิเจนในการสังเคราะห์แสง การแพร่ระบาดอย่างมากมายมหาศาลเกินขอบเขต จะส่งผลให้ระดับออกซิเจนในน้ำลดลง ทำให้สิ่งมีชีวิตในน้ำอื่นๆ ในบริเวณนั้นอยู่ไม่ได้

ชายฝั่งอ่าวเม็กซิโกเกิดปัญหา เดด โซน ทุกปี โดยเฉลี่ยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา กินบริเวณกว้างประมาณ 5,000 ล้านตารางไมล์ แต่ปีนี้ข่าวร้ายหน่อยก็คือ จะขยายเป็นประมาณ 7,000 ล้านตารางไมล์



สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์สาหร่ายทะเลบานสะพรั่งจนส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมในท้องทะเลของอ่าวเม็กซิโก ก็คือ ไนโตรเจนสังเคราะห์ และฟอสฟอรัส นับล้านๆ ตันในแต่ละปี จากแถบมิดเวสต์ที่ทิ้งลงในแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ แล้วไหลไปออกอ่าวเม็กซิโก พวกนี้เป็นสารอาหารอย่างดีสำหรับสาหร่ายทะเล เมื่อได้สารอาหารมากมายพวกมันก็เติบโตอย่างรวดเร็วเกินขีดจำกัด

U.S. Geological Survey ให้ข้อมูลว่าเฉพาะฤดูใบไม้ผลินี้ มีไนโตรเจนถึงแสนกว่าเมตริกตันปล่อยลงในแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณปุ๋ยที่มากมายจนเหลือเชื่อ

แถบมิดเวสต์ในอเมริกา คือบริเวณพื้นที่การเกษตรอันกว้างใหญ่ไพศาลที่อเมริกามักอวดโอ่ว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโลกนั่นละครับ ระบบการเกษตรอุตสาหกรรมแบบเข้มข้นของที่นั่นคือตัวการของปัญหา

แต่จากข้อมูลที่รายงานไว้ในวารสารเนเจอร์ นักวิทยาศาสตร์จัดทำแผนที่ที่เรียกว่า ฮีต แม็ป ใช้สีเพื่อระบุประเภทของการเกษตรตามภูมิภาค และดูว่าแถบไหนทำการเกษตรเลี้ยงใคร สีแดงคือพื้นที่ปลูกพืชเพื่อเป็นอาหาร สีน้ำเงินปลูกพืชน้ำมันเพื่อเส้นใย และเป็นวัตถุดิบอุตสาหกรรม

แผนที่ที่ปรากฏออกมาแถบมิดเวสต์ที่ว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำนั้นเป็นสีน้ำเงินปื้นไปหมด

นั่นหมายความว่า นอกจากพืชที่ปลูกกันที่นั่นไม่กลายมาเป็นอาหารในท้องคนแล้ว มันยังก่อปัญหาที่ยิ่งใหญ่ต่อสภาพแวดล้อมในอ่าวเม็กซิโก


นี่ยังไม่นับว่าของเสียจากอาหารที่ผลิตมาเพื่อบริโภคของคนอเมริกันมีมากกกว่าร้อยละ 40 หรือพูดให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คืออาหารที่ผลิตมานั้นกินครึ่งทิ้งครึ่ง (ความจริงนับรวมความสูญเสียในกระบวนการผลิตที่ไร้ประสิทธิภาพเข้าไว้ด้วย)

คิดเป็นเงินปีหนึ่งๆ ก็เป็นแสนล้านเหรียญ ในขณะโลกมีคนอดอยากไม่พอจะกิน อยู่ภาวะทุพโภชนาการอยู๋ประมาณ 1,000 ล้านคน



++

รถยนต์จอมเขมือบ กินค่าจ้าง 1 ใน 4 ของชีวิต
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1645 หน้า 100


ตั้งแต่เมื่อต้นปีที่แล้ว เจมส์ ชวาร์ตซ์ แห่ง ดิ เออร์บัน คันทรี (www.theurbancountry.com) คำนวณออกมาแล้วสรุปว่าคนอเมริกันทำงานวันละ 2 ชั่วโมง เพื่อจ่ายค่ารถยนต์ของพวกเขา ถ้าคนทำงานตามเกณฑ์เฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง ค่าจ้างที่ได้มา 2 ชั่วโมง คือเงินที่เอาไปจ่ายเป็นค่ารถยนต์ ก็เท่ากับ 1 ใน 4 ของค่าจ้าง ถือว่าเยอะมากเลยทีเดียว

ชวาร์ตซ์ชี้ให้เห็นว่าถ้าไม่ต้องทำงานเพื่อจ่ายเงินซื้อรถยนต์วันละสองชั่วโมง ปีหนึ่งเราสามารถทำงานให้น้อยลงได้ถึง 500 ชั่วโมงต่อปี เทียบเท่ากับวันหยุด 12.5 วันต่อปี หรือถ้าคิด 500 ชั่วโมงเป็นเงิน ก็จะออกมาเป็นเงิน 11,000 เหรียญต่อปี

จะทำงานน้อยลงหรือจะมีเงินมากขึ้นก็เลือกเอาได้

แทนที่จะซื้อรถยนต์เปลี่ยนมาเป็นซื้อจักรยานแทน ชวาร์ตซ์คำนวณให้ดูว่าค่าจ้างเพียงวันละ 3.84 นาทีเท่านั้นที่เอาไว้สำหรับจ่ายค่ารถจักรยาน โดยอยู่ภายใต้สมมติฐานว่าจักรยานราคา 1,500 เหรียญ และอายุใช้งานนาน 5 ปี (ความจริงอายุใช้งานจักรยานยาวนานกว่านั้นหลายสิบปี) บวกค่าดูแลรักษาปีละ 50 เหรียญ และใช้ฐานรายได้เฉลี่ยของคนอเมริกันมาคำนวณ

กว่าร้อยละ 60 ของการเดินทางในอเมริกา ระยะทางเฉลี่ยประมาณ 8 กิโลเมตร ซึ่งเป็นระยะทางที่อยู่ในวิสัยจะขี่จักรยานได้ หากโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการขี่จักรยานเอื้อ หรือบริการการขนส่งสาธารณะพร้อมคนก็ไม่ต้องพึ่งพารถยนต์

ปัญหาคือภาครัฐสนับสนุนทางเลือกสองทางนี้น้อยเกินไป แต่สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานสำหรับรถยนต์ส่วนตัวค่อนข้างมาก

ทุกวันนี้อเมริกาเป็นประเทศที่คนมีรถยนต์มากที่สุดในโลก หรือ 779 ต่อ 1,000 คน ซึ่งก่อทั้งปัญหามลภาวะจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและก่อปัญหาสุขภาพจิตอันเนื่องมาจากการจราจรติดขัด



เชื่อได้เลยว่าคนในเมืองโดยเฉพาะคนเมืองกรุงมีข้อโต้แย้งเรื่องนี้เยอะ แค่บอกว่าให้เปลี่ยนเป็นขี่จักรยานมาทำงานก็ร้องโอดโอยกับสารพัดปัญหา ทั้งความเสี่ยงบนท้องถนนจากการขับขี่รถยนต์และมอเตอร์ไซค์อย่างไร้มารยาท ฝุ่นและควันพิษในอากาศ รวมไปถึงแสงแดดที่แผดอบอ้าว

การจะแก้ไขก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะต้องคิดใหม่และทำใหม่ไปทั้งระบบ เปลี่ยนโจทย์มาเป็นการลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนนแทนการตั้งหน้าตั้งตาแก้ปัญหารถติด ก็อาจจะทำให้เรามองเห็นแง่มุมใหม่ๆ (ซึ่งที่จริงไม่ใหม่เพราะมีเสนอและมีทำเป็นตัวอย่างกันมาแล้วในหลายต่อหลายประเทศ)

มีบางแห่งในอเมริกาที่ทำโครงการนำร่อง อย่างเช่น วอชิงตัน ดี.ซี. ที่ทำโครงการ Live Near Your Work ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นจับมือกับเอกชนอุดหนุนคนที่ย้ายมาอยู่ใกล้ที่ทำงานหรือจัดเชื่อมต่อบริการขนส่งสาธารณะและฟื้นฟูถนนหนทางสำหรับจักรยานขึ้นมาใหม่

ไม่ใช่คิดแต่สร้างถนนขยายถนนเพื่ออำนวยความสะดวกให้รถยนต์ลูกเดียว รถยนต์มันจะไม่เยอะได้ยังไง



++

น้ำตาลอันตรายพอกับเหล้า ติดเฟซบุ๊กหนักกว่าติดเหล้า
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1643 หน้า 100


คนสมัยนี้โดยทั่วๆ ไปคิดว่าคงจะพอรู้ว่าของหวานๆ ถ้ามากเกินไปก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

แต่ก็ประหลาดที่รสชาติหวานๆ นั้นเหมือนจะเป็นสิ่งที่ธรรมชาติประทานมาให้มนุษย์

สังเกตได้จากเด็กๆ ที่ชื่นชอบรสชาติหวานๆ มากกว่ารสชาติอื่นๆ จนแม้เมื่อโตและเข้าถึงวัยแก่เฒ่าก็ยังติดอกติดใจรสชาติหวานๆ กันอยู่นั่นเอง

ที่แย่ไปกว่าความเข้าใจเกี่ยวกับอันตรายของของหวานๆ ก็คือผลงานการวิจัยของ ลอรา ชมิดต์ นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟราซิสโก และคณะ ที่ยืนยันว่าน้ำตาลนั้นก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพได้ไม่แพ้แอลกอฮอล์ น้ำตาลทำให้อัตราการเผาผลาญอาหารในร่างกายเปลี่ยนแปลง เพิ่มความดันเลือด เป็นเหตุให้ฮอร์โมนทำงานผิดปรกติ และทำลายตับ

สรุปว่าติดเหล้าหรือติดของหวานส่งผลเสียต่อสุขภาพหนักหน่วงพอๆ กัน

ลอรากับพรรคพวกก็เลยเสนอว่าควรจะมีการเก็บภาษีอาหารที่มีน้ำตาลและควบคุมการเข้าถึงอาหารพวกนี้สำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 17 ปี ด้วยวิธีนี้จะทำให้อาหารที่ดีต่อสุขภาพมากกว่าสามารถแข่งขันได้กับบรรดาขนมขบเคี้ยวที่เต็มไปด้วยน้ำตาล



มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ผ่านสื่อต่างประเทศออกมาในเวลาไล่เลี่ยกัน ชิ้นนี้เป็นผลงานของ บูธ สกูล ออฟ บิสสิเนส มหาวิทยาลัยชิคาโก ที่สรุปออกมาได้ว่าคนติดเฟซบุ๊กหรือโซเชี่ยล เน็ตเวิร์ก อื่นๆ หนักหนายิ่งกว่าเหล้าหรือบุหรี่

การศึกษาชิ้นนี้ใช้กลุ่มตัวอย่างอายุ 18-85 ปี แจกโทรศัพท์แบล๊กเบอรี่ให้ผู้เข้าร่วม โดยให้ส่งข้อความที่เกี่ยวกับความอยากของตัวเองวันละ 7 ครั้งตลอดเวลาหนึ่งสัปดาห์ ในช่วง 14 ชั่วโมงของแต่ละวันผู้เข้ารับการทดสอบจะถูกขอให้บอกความอยากของตัวเองในสามสิบนาทีล่าสุด และอธิบายระดับความอยากนั้นด้วย

หลังจากเก็บรวบรวมข้อมูลที่ได้มามากกว่า 10,000 ข้อความ พบว่าความอยากที่อยู่ในระดับสูงสุดของคนเหล่านี้คือ การมีเซ็กซ์ และการนอน ที่ตามมาติดๆ ได้แก่ความอยากจะเข้าโซเชี่ยล เน็ตเวิร์ก และอยากจะเลี่ยงงาน ส่วนความอยากสิ่งเสพติด เช่น กาเฟอีน บุหรี่ เหล้า นั้นเป็นความอยากที่อยู่ในลำดับท้ายๆ

แต่ปรากฏว่าความสามารถในการต้านทานแรงกระตุ้นในความอยากมีเซ็กซ์หรือการนอนนั้นมีน้อยกว่าความต้านทานความอยากเข้าโซเชี่ยล เน็ตเวิร์ก

ที่จริงงานวิจัยชิ้นนี้ต้องการจะศึกษาว่าคนมีความสามารถในการต้านทานความอยากของตัวเองได้ดีขนาดไหน แล้วก็พบว่าคนศิโรราบให้กับโซเชี่ยล เน็ตเวิร์ก หรือโซเชี่ยลมีเดีย ได้มากกว่าความอยากอื่นๆ ที่เป็นความต้องการตามธรรมชาติของคน

เพราะฉะนั้น การที่เห็นคนติดเฟซบุ๊กติดทวิตเตอร์จึงเป็นเรื่องปรกติของคนร่วมสมัย เพราะมันมีอยู่ทุกที่ทุกเวลาโดยไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรมากนักโดยเปรียบเทียบ



+++

เด็กชอบหุ่นยนต์ มากกว่าครูและพ่อแม่
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ siripong@kidtalentz.com คอลัมน์ แลไปข้างหน้า
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1644 หน้า 100


มีงานศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งรายงานไว้ในนิตยสารฟอร์บส์ ทำโดยบริษัที่ปรึกษาระหว่างประเทศ ละติจูด โดยร่วมมือกับสถาบันการเรียนรู้เลโก้ และโปรเจ็กต์ ซินธีสีส บริษัทที่ปรึกษาด้านความคิดในออสเตรเลีย กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กวัย 8-12 ขวบ จากออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เยอรมนี แอฟริกาใต้ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

การศึกษาชิ้นนี้ให้เด็กเขียนและวาดภาพออกมาเป็นเรื่องสั้นภายใต้คำถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าหุ่นยนต์กลายเป็นเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันที่โรงเรียนและที่อื่นๆ

เด็กร้อยละ 38 อยากเรียนกับหุ่นยนต์ ร้อยละ 38 อยากเล่นกับหุ่นยนต์ โดยนักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าเด็กไม่ได้แยกชัดเจนระหว่างการเล่นกับการเรียนรู้ ตัวอย่างเช่นเด็กให้หุ่นยนต์สร้างเกมจากการบ้านที่ได้รับ เป็นต้น การเรียนรู้สำหรับเด็กจึงเป็นการเล่นสนุก และการเล่นเป็นความรู้

นักวิจัยจึงสรุปว่าหุ่นยนต์สามารถจะช่วยปลดปล่อยศักยภาพแอบแฝงของเด็กวัยเรียนที่คับข้องใจกับกระบวนการเรียนรู้


สรุปโดยรวมแล้ว ผลออกมาว่าเด็กชอบหุนยนต์มากกว่าครูและพ่อแม่ แต่เมื่อมองกันอีกแง่แม้เรื่องนี้จะเป็นการศึกษาเกี่ยวกับหุ่นยนต์ แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับกระบวนทัศน์ใหม่สำหรับการเรียนรู้และการสร้างสรรค์ที่เด็กสะท้อนออกมาให้รู้โดยอาศัยหุ่นยนต์เป็นสะพานเชื่อม

เหตุที่หุ่นยนต์ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และการสร้างก็เพราะเด็กเห็นเทคโนโลยีเหมือนมนุษย์ในขั้นพื้นฐาน และเด็กส่วนใหญ่เห็นว่ามีคุณสมบัติหลายอย่างของหุ่นยนต์ที่พวกเขาอยากเลียนแบบ นอกจากนี้ หลายคนยังรู้สึกว่าหุ่นยนต์เป็นแรงบันดัลใจให้พวกเขาเกิดความคิดสร้างสรรค์

ฯลฯ


สรุปโดยรวมๆ เด็กชอบหุ่นยนต์มากกว่าครูและพ่อแม่ คิดว่าหุ่นยนต์จะอยู่ร่วมกับคนได้ดี หุ่นยนต์จะไม่ตัดสินหรือตำหนิติเตียนความคิดและพฤติกรรมนอกแบบแผนของพวกเขา มีความเป็นมิตร และปลอดภัย

จากงานศึกษาชิ้นนี้เห็นได้ชัดเลยว่า หุ่นยนต์ที่เด็กจินตนาการออกมานั้นก็คือครูและพ่อแม่ที่ดีกว่าครูและพ่อแม่ตัวเป็นๆ ของพวกเขานั่นเอง

คนเป็นครูหรือเป็นพ่อแม่ฟังแล้วอาจจะไม่ปลื้มนัก แต่เมื่อมองไปในอนาคตข้างหน้า โลกที่จะเต็มไปด้วยหุ่นยนต์คงจะมาถึง และคงจะเร็วกว่าที่คาดกันไว้ด้วยซ้ำ เพราะอัตราความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมันเติบโตแบบทวีคูณ

ทุกวันนี้หุ่นยนต์เริ่มมีบทบาทมากขึ้นกว่าเดิมมาก ไม่ใช่แค่หุ่นยนต์ในโรงงานการผลิตที่ทำงานแทนคนเท่านั้น แต่มีหุ่นยนต์หลายประเภทที่เริ่มต้นขึ้น แม้แต่หุ่นยนต์ในโรงเรียนอย่างเช่นในเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น มีทั้งหุ่นยนต์สอนภาษาอังกฤษ หรือ หุ่นยนต์ผู้ช่วยครู เป็นต้น

ทำนายกันด้วยซ้ำว่าอีกราาวสี่สิบปีข้างหน้าเราจะมีหุ่นยนต์ที่ "คิดได้" เป็นของธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวัน



.