http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-03

"ชาติ" ของ "ชาติ กอบจิตติ", ทำนองลาว โดย ทราย, ศิลา

.

"ชาติ" ของ "ชาติ กอบจิตติ"
โดย ทราย เจริญปุระ charoenpura@yahoo.com คอลัมน์ รักคนอ่าน
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 02 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1646 หน้า 80


ฉันมีนัดคุยกับผู้ชายคนหนึ่ง
ชายคนนี้ฉันพูดถึงเขาบ่อยมาก เขียนถึงค่อนข้างบ่อย
และยังคิดถึงเขาอยู่เนืองๆ

จริงๆ การจะแนะนำเขานั้นทำได้หลายอย่าง จะบอกว่าเป็นผู้ที่ยึดมั่นแนวทางของตัวเองในการจัดพิมพ์หนังสือที่มีลักษณะเฉพาะตัว เห็นปุ๊บ บอกได้ปั๊บว่าเป็นหนังสือของเขา มาจากสำนักพิมพ์นี้ก็ได้

จะบอกว่าเป็นเจ้าของผลงานที่มีคนเอางานเขาไปสร้างเป็นละคร เป็นภาพยนตร์มาแล้วก็ได้ จะบอกว่าเป็นพ่อทูนหัวของนักเขียนหลายๆ คน ก็...น่าจะพอได้

เขาเท่านั้น
หนึ่งเดียวคนนี้
ชาติ กอบจิตติ


พอจะนึกออกว่าถ้าแนะนำตัวน้าชาติแบบที่ว่ามาให้ได้ยินต่อหน้า น้าคงทำหน้าขำ
ดีไม่ดีก็อาจมีวาจาแสบคัน ประชดประชันตามหลังมาให้ได้ยิน
แต่สำหรับฉันน้าก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ
ฉันเชื่อว่าใครก็คงมีนักเขียนในดวงใจ
เอ้า ไม่ต้องนักเขียนก็ได้ แต่เป็นดาราในดวงใจ นักร้องในดวงใจ หรือพระสงฆ์ในดวงใจ
คนที่เราปลาบปลื้มแบบพร้อมจะติดตามโดยตลอดแม้ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัย

น้าชาติเป็นคนคนนั้นสำหรับฉัน
ฉันตามอ่านงานน้ามาเรื่อยๆ ถ้าจะวัดตามมุมของนักอ่านก็คืองานของน้าถูกจิต ต้องจริตภายในของฉัน
ถ้าจะวัดตามมุมของความคุ้นเคยก็คือฉันรู้สึกสนิทสนมกับหนังสือของน้ามาแต่ยังเล็ก
สมัยที่นอนคว่ำหน้า อ่าน "พันธุ์หมาบ้า" ในนิตยสารลลนา
สมัยที่แอบอ่าน "คำพิพากษา" ในห้องสมุดโรงเรียน และมองเห็นโลกรอบตัวเปลี่ยนไปตลอดกาลนั่นล่ะ



ติดตามกันมาขนาดนี้มีหรือฉันจะไม่ตื่นเต้นที่จะได้คุยกับน้าชาติ
แถมเป็นการไปคุยกันแบบเห็นหน้าเห็นหนวดกันถึงบ้านกลางหุบเขาที่ปากช่องของน้าเสียด้วย เรียกว่าบุกประชิดตัวกันเลยทีเดียว
เราคงได้คุยอะไรกันหลายอย่าง
การบ้าน การเมือง ศาสนา หนังสือ ดินฟ้าอากาศ
เชื่อว่าคงไม่ใช่ทุกอย่างที่จะเอามาออกอากาศผ่านรายการโทรทัศน์ที่ฉันทำอยู่ได้
แต่ฉันจะพยายาม


มันยากที่จะถามอะไรไม่ให้ซ้ำกับสิ่งที่น้าเคยคิด เขียน หรือออกปากถึงมาแล้ว
เพราะนอกจากมันจะแฝงฝังอยู่ในงานนวนิยายของน้า
มันยังมีถูกพูดถึงอยู่ในงานที่น้าเขียนคอลัมน์อีกด้วย

แต่ฉันก็ไม่ได้คิดไปไกลถึงขั้นจะถามแต่อะไรที่ไม่เคยมีใครถามมาก่อนเท่านั้นหรอก
ฉันก็จะถามอะไรธรรมดาๆ นี่แหละ แต่คงถามถึงมันในฐานะ "เรื่องของวันนี้"
สิ่งที่เกิดขึ้นและความคิดของน้าที่มีต่อมันในปัจจุบันขณะ
ฉันรู้ว่ามันจะออกมาสนุก น่าฟังสำหรับคนที่ได้ชม



เนื่องจากยังไม่ได้คุยกับน้า ฉันจึงบอกไม่ได้ว่าผลการพูดคุยจะเป็นอย่างไร

แต่จะยกหนึ่งในแนวทางของเรื่องที่ฉันอยากจะคุยกับน้ามากล่าวถึงไว้ตรงนี้

เป็นเรื่องที่น้าเขียนเอาไว้ในคอลัมน์ประจำ ซึ่งถูกหยิบมารวบรวมไว้ในหนังสือ "ล้อมวงคุย"

น้าพูดถึงกรณีของ ร็อดนี่ คิง ที่ทำให้คนผิวดำในแอล.เอ., สหรัฐอเมริกา ลุกฮือขึ้นมาก่อจลาจลกันอย่างกว้างขวาง

ในเรื่อง, น้ากำลังคุยกับเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่ง ซึ่งกำลังชื่นชมความกลมเกลียวของหลายๆ ชาติ ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม ฯลฯ

แต่ไม่ยักจะพูดถึงคนไทย

ครั้นน้าออกปากถามรุ่นพี่คนนั้นไปว่า แล้วคนไทยเรารวมกันอย่างเขาไม่ได้หรือ? ก็ได้คำตอบกลับมาว่า

"ชาติเอ๋ย คนไทยเราถ้าจะรวมกันยาก คนไทยเรานั้นแม้จะมีกันอยู่เพียงแค่ห้าคน แต่เราก็สามารถแบ่งกลุ่มกันได้เป็นหกกลุ่ม" พี่เขาหัวเราะ

เมื่อเห็นผมไม่ขำ พี่เขาจึงพูดว่า

"เชื่อพี่เถอะ นี่เรื่องจริง ไม่เชื่อไปถามใครดูก็ได้"



แม้น้าชาติจะไม่ได้เป็นคนตอบเอง แต่ฉันก็ชอบใจเสียจริงที่น้าหยิบเอาเรื่องนี้ขึ้นมาพูด
วันนี้น้าชาติจะได้เป็นเช่นรุ่นพี่ของน้าที่จะคอยตอบคำถามเช่นนี้ของฉัน
รับประกันความสนาน
และโปรดติดตามด้วยความระทึกในดวงหทัยพลัน!



++

ทำนองลาว
โดย ศิลา โคมฉาย คอลัมน์ แตกกอ-ต่อยอด
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 02 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1646 หน้า 67


หากมีโอกาส ผมไม่พลาดเปิดชมช่องลาวสตาร์ในเคเบิลทีวี

ประสาคนที่เคยมีโอกาสใช้คำว่าอ้ายน้อง กับผู้คน กับประเทศลาวในช่วงเวลาหนึ่ง

ติดตามข่าวสารความเปลี่ยนแปลงของลาวยุคใหม่ที่เปิดกว้าง ต้อนรับทุนค่อยๆ บ่าไหล ปะทะกับการปลุกและชูธงอนุรักษ์วัฒนธรรมของชาติอย่างแข็งขัน

ชมสารคดีวิถีชุมชนที่จังหวะชีวิตยังเรียบเรื่อยสงบ ฟังเพลงลาว คำร้องและทำนองไม่ได้แปลกแปร่งต่อแก้วหู

หรืออย่างน้อยได้เห็นทิวไม้ สายน้ำ ที่คล้ายคุ้นเคย ซึ่งดูเหมือนจะยังบริสุทธิ์สะอาดใส

เห็นสีเขียวทึบทะมึนของป่าเขาเอามาโลมใจ

ชวนให้เผลอร้องเพลงยุคหลังสงครามการปลดปล่อยหมาดใหม่ เคยรู้จักในชื่อ ป่าไม้สดชื่น ยามนี้กลายเป็นตำนาน เพื่อการหวนคืนมูลเชื้อไปแล้ว ในนาม ป่าไม้เมืองลาว

...เบิกบานสดใสงามวิไลโอ้ป่าไม้เมืองลาว ชูช่อแตกหน่อออกจาว เดี๋ยวนี้เมืองลาวสิ้นศึกสงคราม ควันหมื่นระเบิดนาปาล์ม บ่เผาผลาญเจ้าอีกดังเคย ชมเชย...ชมเชยชัยชนะ...


ขณะคิดไปถึงอีกหลายเพลงร่วมยุคในช่วงเวลานั้น ผมบังเอิญพบเห็นข่าวเล็กๆ ในหนังสือพิมพ์ว่า มีการเคลื่อนไหวสานสัมพันธ์ทางศิลปวัฒนธรรมระหว่างไทย-ลาว เป็นการลงนามบันทึกความตกลงร่วมกันระหว่างวิทยาลัยนาฏศิลป์ สายอีสานคือ ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และนครราชสีมา

กับโรงเรียนศิลปะแห่งชาติลาว

ตกลงจะแลกเปลี่ยนความรู้ทางการศึกษา ข้อมูล เครื่องมือ กิจกรรมต่างๆ ด้านศิลปวัฒนธรรม

จัดให้มีการเรียนการสอน การประชุมเชิงวิชาการ สัมมนา ประชุมนานาชาติ แลกเปลี่ยนนักเรียน นักศึกษา การจัดเตรียมการดูแลการฝึกประสบการณ์ในการวิจัยระยะสั้นๆ ฯลฯ

เพราะพบว่าศิลปะ ดนตรี นาฏศิลป์ สามารถสื่อสารกัน มีอารมณ์ร่วมกันโดยไม่ต้องผ่านล่าม

มีต้นธารร่วมกัน ขณะสายธารของแต่ละฝ่ายมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง


ข้อตกลงไม่อึกทึกครึกโครม แต่อาจจะกลายเป็นเรื่องถูกที่ถูกเวลา เพราะยามนี้ศิลปวัฒนธรรมของผู้คนแสนใกล้ชิดสองฝั่งน้ำ ดูเหมือนจะเปราะบางเต็มที ผุกร่อนสาหัสจากการทะลักไหลเข้ากัดเซาะท่วมท้นของวัฒนธรรมกระแสหลักของโลก

วงบอยแบนด์ เกิร์ลกรุ๊ป ไม่ว่าไทย ลาว เท่าที่เห็นล้วนอยู่ในคราบ เค.ป๊อป แบบสนิทแนบ

มาด ท่วงท่า ลีลา เสื้อผ้า หน้า ผม การแสดงออก ต่างเคาะออกมาจากบล็อก เกาหลีสำเร็จรูป

การร่วมมือกันศึกษาศิลปวัฒนธรรมของตนเอง น่าจะเป็นการเพิ่มพลังให้แก่กัน ความเป็นเรื่องใหม่ สิ่งใหม่ กับผู้คนหน้าใหม่ๆ ต่างถิ่น จะกระตุ้นความกระตือรือร้นต่อการศึกษา เอาจริงเอาจังหวังผล ลงลึก จนเข้าถึงคุณค่าอันพึงมีอเนกอนันต์

เพราะมันสามารถดำรงอยู่กับผู้คนอย่างเป็นที่ชื่นชมมายาวนาน

เห็นความมหัศจรรย์ของท่วงทำนองขับลำ แค่ทำนองเดียว สวมใส่ร้อยเนื้อ พันเนื้อ ยังคงอยู่ในหัวใจและแก้วหูของผู้คนสองฝั่งแม่น้ำไม่มีวันหน่าย ไม่ว่า ลำเพลิน ลำเต้ย ขับทุ่มหลวงพระบาง ลำภูไท ฯลฯ

ที่สำคัญการเอาจริงกับการศึกษาวิจัย เสริมสร้างพื้นฐานด้วยปัญญาดั้งเดิมจนหนักแน่นพอ มันจะผลักดันให้คนรุ่นใหม่กล้าสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เพื่อรับใช้ชีวิตปัจจุบัน

แต่ไหนแต่ไรมา แม้จะมีความใกล้ชิด สามารถร่วมใช้ภาษา ดูเหมือนเราจะรู้จักเพลงลาวค่อนข้างจำกัด ระยะแรกๆ อาจฮือฮากับไทดำรำพัน ซังคนหลายใจ หรือค่อยซาบซึ้งแบบซึมซาบกับ กุหลาบปากซัน...

ระยะใกล้เป็นเพลงดวงจำปา ของ ท่านอุดตะนะ จุนละมะนี หรือ เย็นสบายชาวนา ของท่านรัฐมนตรี บัวเงิน ซาพูวง

แม้จะมีเข้ามาไม่มากนัก แต่เพลงลาวเหล่านั้นได้แสดงถึงคุณภาพ ของศิลปะชิ้นงามอันเป็นที่นิยมและยอมรับ



ผมเคยผ่านเข้าไปพำนักในดินแดนลาวในยุคที่เรียกได้ว่า มีแต่ความยากไร้ อ่อนด้อยทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ยังคงเป็นสังคมเกษตรกรรมเต็มตัว ทำเองใช้เองและขาดแคลนเครื่องมือทันสมัย ภัยพิบัติจากสงครามทิ้งร่องรอยไว้เต็มแผ่นดิน

ซากรถ เรือ ถูกจอดทิ้ง เพราะไม่มีทั้งช่างเทคนิคและอะไหล่ซ่อมแซม

แต่ยามนั้นศิลปวัฒนธรรมกลับแข็งแกร่งและทรงพลังอย่างเหลือเชื่อ

มันถูกสร้างสรรค์ คลี่คลาย พัฒนาการอย่างมีรากฐานเป็นตัวของตัวเอง แม้เครื่องมือหรือเทคนิคจะเปลี่ยนแปลงทันสมัยเพียงใด แต่วิญญาณลาวยังฉายชัด

เป็นความรุ่งเรืองของเพลงที่มีรากฐานจากพื้นบ้านพื้นเมือง หรือลักษณะประชาชาติ

เพลง ส่งพรปีใหม่ ทั้งไพเราะ คึกคักครึกครื้นชวนฟ้อนรำวง แต่เพลงอย่าง เชียงขวางบ้านเกิด ที่ท่วงทำนองสลับกันกลมกลืน ระหว่างรำวงกับขับลำที่มีลีลาเอื้อนทางทำนองเป็นสำเนียงน่าประหลาดใจ กระทบความรู้สึกแรง กระทั่งหลุดปากคราง...เป็นไปได้ไง?

...แผ่นดินภูเพียงเชียงขวางบ้านเกิด กุ้มควันระเบิดทั้งวันและคืน แต่ทุกขุมคลองยังคงก้องเสียงปืน ฮักษาผืนแผ่นแดนเชียงขวางเฮา เอาไว้เนอ...

ว่ากันว่าเป็นสำเนียงหรือวิญญาณท้องถิ่นสิบสองจุไท หัวพันทั้งห้าทั้งหก

ผมได้แต่แอบหวังว่า การตกลงศึกษาร่วมกัน จะผลักดันให้ทางลาวได้กลับไปค้นหา เรียนรู้ พัฒนาขึ้นมาจากแนวทางดังกล่าว ก้าวพ้นเพลงแนวลูกทุ่งดาดๆ อย่างที่ปรากฏในลาวสตาร์

ขณะฝ่ายไทยจะได้ตระหนักถึงความอุดมสมบูรณ์ของศิลปวัฒนธรรมในเขตภูมิศาสตร์นี้



.