http://BotKwamDee.blogspot.com...webblog เปิดเผยความจริงและกระแสสำนึกหลากหลาย เพื่อเป็นอาหารสมอง, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการวิเคราะห์ความจริง, สะท้อนการเรียกร้องความยุติธรรมที่เปิดเผยแบบนิติธรรม, สื่อปฏิบัติการเสริมพลังเศรษฐกิจที่กระจายความเติบโตก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศสู่ประชาชนพื้นฐาน, ส่งเสริมการตรวจสอบและผลักดันนโยบายสาธารณะของประชาชน-เยาวชนในทุกระดับของกลไกพรรคการเมือง, พัฒนาอำนาจต่อรองทางประชาธิปไตย โดยเฉพาะการปกครองท้องถิ่นและยกระดับองค์กรตรวจสอบกลไกรัฐของภาคสาธารณะที่ต่อเนื่องของประชาชาติไทย

2555-03-16

ทวงสิทธิ "อากาศบริสุทธิ์", "ขยะ" จะแก้กันยังไง?โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน

.
คอลัมน์ จดหมาย - เชียงใหม่ควันท่วมปอด/มองต่างมุม "หมอกควันเหนือ"
บทความ - อย่าไปเลย เชียงใหม่ โดย ปริญญา ตรีน้อยใส

- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

ทวงสิทธิ "อากาศบริสุทธิ์"
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1648 หน้า 41


ทุกหน้าแล้ง ข่าวหมอกควันฝุ่นละอองจากไฟป่าปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือจะกลายเป็นข่าวใหญ่ บรรดาสื่อมวลชนพากันเกาะติดสถานการณ์นี้อย่างต่อเนื่อง เหมือนข่าวประจำปีอื่นๆ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม ภัยหนาว
วงจรข่าวอย่างนี้ พวกสื่อเรียกกันว่าข่าวรูทีน คือเกิดขึ้นซ้ำซาก แก้ปัญหาไม่เบ็ดเสร็จ สะเด็ดน้ำ

ที่น่าสังเกตยิ่งนับวันข่าว "รูทีน" ก็ยิ่งเพิ่มระดับความรุนแรง
ปริมาณหมอกควัน ฝุ่นละออง เพิ่มสูงเกินระดับมาตรฐานมาตลอด จำนวนสถิติผู้ป่วยเพิ่มสูงกว่าในอดีต

ดูได้จากรายงานของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุผลสำรวจเมื่อวันที่ 9 มีนาคม ว่า ภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัด ปริมาณฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าระหว่าง 85.8-384 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)
คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพมาก

เฉพาะ จ.เชียงใหม่ สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ที่ศาลากลางจังหวัด พบปริมาณฝุ่นละออง 182.5 ไมโครกรัม/ลบ.ม. สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย อ.เมือง วัดได้ 162.8 ไมโครกรัม/ลบ.ม. สูงกว่าค่ามาตรฐาน 120 ไมโครกรัม/ลบ.ม.
สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ที่สาธารณสุขแม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย วัดได้ 384 ไมโครกรัม/ลบ.ม.
เป็นสถิติสูงสุดของภาคเหนือตอนบนเมื่อเทียบสถิติย้อนหลังเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2550 พบว่า ที่สถานีโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย เคยตรวจวัดได้สูงสุด 383 ไมโครกรัม/ลบ.ม.

แน่นอนว่าหมอกควันและฝุ่นละออง ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมในพื้นที่อย่างฉับพลัน
อากาศไม่สะอาด ระบบการหายใจของผู้คนในพื้นที่นั้นๆ ย่อมเกิดปัญหา ยกเว้นสวมหน้ากากกรองอากาศหรือหนีไปให้ไกลพ้น


นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า โรงพยาบาล 74 แห่ง ใน 8 จังหวัด รายงานเมื่อวันที่ 19-25 กุมภาพันธ์ พบผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ จำนวน 21,152 ราย เพิ่มขึ้นจากภาวะปกติที่ไม่มีหมอกควัน เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.4 ถือว่าไม่มาก แต่กลับมากในโรคหอบหืด มีผู้ป่วยถึง 5,608 ราย เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8
โรคหัวใจและหลอดเลือดพบผู้ป่วย 21,805 ราย เพิ่มขึ้นจากภาวะปกติร้อยละ 23
โรคตาอักเสบ ระคายเคืองตา พบ 1,521 ราย เพิ่มขึ้นจากปกติร้อยละ 17

สถิตินี้เป็นเครื่องชี้วัดว่าหมอกควัน ฝุ่นละออกมีผลต่อชุมชนและสุขภาพของประชาชนอย่างแน่นอน

สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ หรือ หมอหม่อง แพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ หรือสวนดอก ระบุว่า ผลการวิจัยทั่วโลกพบปริมาณฝุ่นละอองมีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจ ก่อให้เกิดหัวใจวายฉับพลัน
เฉพาะ จ.เชียงใหม่ สถิติ เสียชีวิตเพราะหัวใจวาย ปีละ 500 ราย
ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลวันละ 4-5 ราย จากเดิม 5-6 ราย/สัปดาห์
ถ้าปริมาณฝุ่นสะสมมาก อาจเกิดโรคมะเร็งปอด จ.เชียงใหม่ มีผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดสูงสุดของประเทศ



หมอกควันฝุ่นละออง น่ากลัวกว่าโรคไข้หวัดนกหลายเท่าตัว เพราะทุกคนต้องสูดอากาศหายใจ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพมาก การท่องเที่ยว คนหนีหายรายได้หด ถ้าเผาป่าเกิดก๊าซเรือนกระจก ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน

"ทางออกควรเป็นวาระแห่งชาติ หรืออาเซียน ผู้นำประเทศ ทั้ง 11 ชาติ ควรใส่ใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะส่งผลต่อประชากรอาเซียน 500 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบวงกว้าง" หมอหม่องชี้ทางแก้

หมอหม่องยังบอกอีกว่า สิทธิขั้นพื้นฐานสิ่งมีชีวิต ควรได้รับอากาศบริสุทธิ์เพื่อคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดี เป็นสิ่งสำคัญกว่าแก้รัฐธรรมนูญ อำนาจทางการเมือง หรือแย่งชิงผลประโยชน์ ควรมีมาตรการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม และมีบทลงโทษแก่ผู้สร้างมลพิษ

"ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่ายอมจำนนต่อสถานการณ์ ควรลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิตนเอง" นพ.รังสฤษฎ์ปลุกใจเหยื่อควันไฟและฝุ่นละออง

เสียงของ "หมอหม่อง" จะมีใครได้ยินมั่ง?



++

"ขยะ" จะแก้กันยังไง?
โดย ทวีศักดิ์ บุตรตัน คอลัมน์ สิ่งแวดล้อม
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 09 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1647 หน้า 39


ปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกี่ยวพันกับปัญหาสิ่งแวดล้อม กำลังเกิดขึ้นในหลายๆ ชุมชนทั่วไทย นั่นคือการรวมตัวของประชาชนต่อต้านโรงไฟฟ้าพลังงานขยะและโรงกำจัดขยะ ด้วยข้ออ้าง โรงไฟฟ้าเหล่านี้จะเป็นตัวก่อมลพิษ ทำให้ประชาชนเกิดโรคภัยไข้เจ็บ

เหตุการณ์ล่าสุด เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เกิดขึ้นที่ตำบลนางั่ว อ.เมืองเพชรบูรณ์ ชาวนางั่ว 13 หมู่บ้าน ราว 1,500 คน รวมตัวบุกไปที่ศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ เรียกร้องให้ผู้ว่าฯ ยุติโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชน เพราะเกรงจะเกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
ทั้งๆ ที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะชุมชนดังกล่าว ยังไม่ได้รับอนุมัติให้ก่อสร้างและยังไม่ถึงขั้นตอนการทำประชาคมเสียด้วยซ้ำไป

เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ เพิ่งว่าจ้าง บริษัท เสริมทรัพย์ไพศาลกรุ๊ป 1999 จำกัด สำรวจข้อมูลทางวิศวกรรมและศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เมื่อปลายปีที่แล้ว
คุณจิรายุทธ วัจนะรัจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้เชิญตัวแทนกลุ่มผู้ประท้วงไปเจรจา จนได้ข้อยุติว่า เทศบาลจะต้องทำประชาคมกับชุมชนทั้ง 13 หมู่บ้านเสียก่อน และทุกครั้งที่ทำประชาคม จะต้องส่งเจ้าหน้าที่ของจังหวัดเข้าไปดูแลให้เกิดความโปร่งใส
ผู้ประท้วงพอใจผลการเจรจา ม็อบสลายในเวลาต่อมา

ม็อบ "นางั่ว" ต้านโรงไฟฟ้า ก่อตัวเป็นครั้งที่สอง ในห้วงเวลาห่างกันเพียง 4 วันเท่านั้น
นั่นแสดงให้เห็นว่า ชาวนางั่วตื่นตัวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างมาก



ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ได้ส่งผลสะเทือนให้กับบริษัทเอกชนที่รับงานโครงการดังกล่าว

คุณสุชาติ นวกวงศ์ ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท เสริมทรัพย์ไพศาลกรุ๊ป 1999 จำกัด ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวมติชน จ.เพชรบูรณ์ ว่า การที่ชาวบ้านออกมาต่อต้านนั้น อาจยังไม่มีความเข้าใจและยังไม่ได้รับข้อมูลอีกด้าน

คุณสุชาติ ระบุว่า การนำขยะมาบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ที่สำคัญไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมถือเป็นนวัตกรรมใหม่ จนทำให้งบฯ สำหรับดำเนินการอาจดูสูงเกินไป แต่ในความเป็นจริง โครงการนี้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ แต่มั่นใจหากมีโอกาสพูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้านเชื่อว่าทุกคนคงเห็นประโยชน์

คุณสุชาติบอกอีกว่า ก่อนหน้านี้ทางบริษัทได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับบรรดาผู้นำหมู่บ้านไปแล้ว แต่ข้อมูลเหล่านี้ไม่ถูกขยายผลไปถึงชาวบ้าน ในขณะที่เทศบาลไม่ได้เน้นในจุดนี้เช่นกัน จนเกิดปัญหาขึ้น

"ช่วงนี้การทำงานคงยากขึ้นและคงต้องใช้เวลา โดยเฉพาะต้องหาโอกาสและเวทีเพื่อชี้แจงกับชาวบ้าน" คุณสุชาติให้สัมภาษณ์เหมือนยอมรับสภาพ



ปรากฏการณ์ที่ "นางั่ว" สะท้อนให้เห็นว่าหน่วยงานภาครัฐ ตั้งแต่ระดับรัฐบาลไปจนถึงท้องถิ่น รวมทั้งเอกชนนั้น ไม่สามารถจะเกลี้ยกล่อมให้ชุมชนยอมรับสภาพได้

ฉะนั้น ขยะจึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย

การจัดหาพื้นที่เพื่อทิ้งขยะ เป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญ เพราะชุมชนกระจายไปทั่ว
การเอาขยะไปถมไปกลบหรือเอามาแปรรูปทำเป็นขยะรีไซเคิล รวมไปถึงทำเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า ในพื้นที่ใกล้ชุมชน จะเกิดแรงต้านทันที

แนวโน้มอนาคต ฝ่ายรัฐจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องกำหนดทิศทาง "ขยะ" ให้ชัดๆ เพราะยังไงๆ ต้องมีขยะในทุกแห่ง ยิ่งชุมชนไหนมีผู้คนอยู่อย่างหนาแน่น ขยะก็ยิ่งมีปริมาณมาก
ขยะมีหลากหลายประเภท ขยะย่อยสลายได้เอง เช่นเศษอาหาร อาจนำมาหมักเป็นก๊าซนำไปใช้เป็นพลังงานหมุนเวียนได้อีก

ขยะที่เป็นพิษ ทิ้งตรงไหนก็อันตราย เพราะมีสารเคมีปนเปื้อน ขยะที่แปรรูปนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก และขยะที่ยากแก่การกำจัด เช่นวัตถุที่มีกัมมันตรังสี และขยะทางการแพทย์ปนเปื้อนเชื้อโรค

การนำขยะเหล่านี้มาทิ้งหรือจะขนมาแปรรูป รีไซเคิล ทำเป็นวัตถุดิบผลิตกระแสไฟฟ้า ก็ต้องบอกประชาชนในพื้นที่ให้รู้อย่างละเอียด



กระบวนการประชาพิจารณ์ เป็นเรื่องสำคัญ คนในชุมชนต้องร่วมรับรู้ถึงขั้นตอนการจัดเก็บ การแปรรูป การกำจัด หรือการผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะ
มีเทคโนโลยีที่สามารถป้องกันสิ่งแวดล้อมเป็นพิษได้มาตรฐานสากล
พื้นที่ที่เก็บขยะจะต้องไม่มีกลิ่นเหม็น ไม่มีน้ำเน่าไหลทะลักล้น มีระบบกำจัดเชื้อโรคไม่ให้แพร่กระจาย
โรงงานแปรรูปขยะจะต้องมีระบบควบคุมอย่างเข้มงวด การเผาขยะต้องไม่มีควันเขม่าฟุ้งกระจาย

ขณะที่ชุมชนนั้นควรได้รับสิทธิประโยชน์จากการมาจัดตั้งโรงงาน เช่น มีกองทุนเพื่อชุมชน กองทุนรักษาสิ่งแวดล้อม หรือให้สิทธิคนในชุมชนไปเป็นพนักงานในอัตราส่วนที่เหมาะสม รวมไปถึงการจัดซื้อวัสดุต่างๆ โรงงานจะต้องซื้อจากชุมชนเป็นลำดับแรกๆ

ถึงวันนี้ ปัญหาขยะบานปลายเป็นเรื่องใหญ่ แต่ยังไม่เห็นหน่วยงานไหนสามารถกำหนดทิศทางแก้ปัญหา "ขยะ" อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนได้เลย
หรือจะรอให้ขยะล้นเมือง มีม็อบรายวัน แล้วค่อยหาทางแก้?



+++

เชียงใหม่ควันท่วมปอด/มองต่างมุม "หมอกควันเหนือ"
คอลัมน์ จดหมาย ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1648 หน้า 5


เชียงใหม่ควันท่วมปอด

ควันท่วมปอดชาวเชียงใหม่ และคนพื้นที่ภาคเหนือมานานนับสิบปีแล้วค่ะ

แล้วก็คงจะเป็นอย่างนี้ต่อไปอีกนาน ตราบที่กองไฟประจำครัวเรือนยังคงกรุ่นอยู่ทุกอัสดง

หากเราเดินไปตามพื้นถนนที่ปูตัวหนอน ก็จะเห็นอาการพื้นเอียง ยุบเป็นหลุม ชินตา

ส่วนพื้นถนนใหญ่ๆ ก็ผุ กะเทาะ เป็นหลุมบ่อ จากรถบรรทุกดิน หิน ทราย ที่ย้ายภูเขาทั้งลูกไปถมที่ดินของหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งผุดขึ้นราวกับดอกเห็ดในหน้าฝนหลังไฟป่า

นักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยยังขับขี่รถเอาแต่ใจตัวเอง แล้วเขาก็เติบโตมาเป็นประชาชน ที่ขับขี่รถแบบเอาแต่ใจตัวเอง เต็มบ้านเต็มเมือง

ประชาชนยังคงมองดูสิ่งก่อสร้างของหน่วยราชการที่ผุดขึ้นมอย่างไม่มีเหตุผล ในวันเวลาที่เราควรระวังรายจ่าย

...คือตัวอย่างที่เราทุกคนในประเทศนี้ต่างรู้ดี ...เรื่องคุณภาพประชากร

เราต้องการกำลังที่มีคุณภาพมากขึ้น

ซึ่งยากกว่าหาเข็มบนภูเขา

หากการศึกษาของชาติยังคงอยู่ในแนว เก่งสุดฤทธิ์ แต่คิดไม่เป็น อย่างทุกวันนี้

ธารินี เชียงใหม่


เพราะ "หมอกควัน" กำลังเป็นปัญหา
ทำให้ โทรสารของ "ธารินี" จำต้องแซวคิวขึ้นมายึดพื้นที่
เป็นการยึดพื้นที่ ที่ไม่เพียงจะมีคำถามต่อกองไฟประจำครัวเรือน
หากแต่ยังลามลึกไปถึง ถนนชำรุด
นักศึกษามหาวิทยาลัยที่ขับรถเอาแต่ใจตัวเอง
หน่วยราชการที่ผุด "สิ่งก่อสร้าง" โดยไม่จำเป็น
เหล่านี้คือพื้นฐานแห่งปัญหาเดียวกับปัญหาหมอกควัน ใช่หรือไม่?

และเพื่อให้ต่อเนื่องกับประเด็นนี้ อย่าลืมพลิกอ่าน คอลัมน์ "มองบ้านผ่านเมือง"
ปริญา ตรีน้อยใส เจ้าของคอลัมน์ ตะโกนเสียงดังๆ ที่หน้า 39
"อย่าไปเลยเชียงใหม่"

ทำไม!!



มองต่างมุม "หมอกควันเหนือ"

ผมเป็นคนเหนือ

อยากสะท้อนปัญหาไฟป่าในขณะนี้ว่าเป็นปัญหาจริงๆ หรือไม่

เพราะตอนนี้มันกระทบต่อการทำมาหากินคนในพื้นที่พอสมควร

ฝากครอบครัวมติชนไว้พิจารณาด้วยครับ

ช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้ไฟป่าถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นทางสังคมมากพอสมควร

มีการกล่าวโทษต้นตอของการเผาป่ากับผู้คนที่มีวิถีชีวิตดั้งเดิมอยู่กับป่า อยู่กับไร่กับนา

คนพื้นเมืองไม่เคยรู้สึกว่าควันไฟป่าจะเดือดร้อนอะไร

ไม่เคยปรากฏในพงศาวดารหรือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าเจ้าเมืองฝ่ายเหนือในช่วงเดือน 6 ออก-เดือน 6 ดับ หรือเดือน 7 ออกเดือน 7 ดับ (เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม-เมษายน) อพยพผู้คนหนีควันไฟป่า หรือทำพิธีกรรมอ้อนวอนเทพยดาให้บรรเทาหมอกควันนี้

การไม่มีข้อวิตกกังวลใดๆ แสดงให้เห็นว่าวิถีชีวิตชาวล้านนาดั้งเดิมจะไม่มีปัญหากับปรากฏการณ์ทางธรรมชาตินี้เลย

เป็นที่น่าสังเกตว่าการยกขึ้นมาเป็นประเด็นปัญหานี้ที่มีผลต่อสุขภาพเป็นปัญหาสำหรับคนในเมือง ชนชั้นกลาง ชนชั้นสูงและกลุ่มประชากรแฝงเท่านั้น

ในกิจกรรมกลางแจ้งที่เป็นวิถีชีวิตของชาวพื้นเมืองยังดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ

ไม่ว่าจะเก็บผักหวาน หาไข่มดแดง ติดจั๊กจั่น วิดน้ำห้วยหาปลา แผ้วถางนาไร่ เดินสายไหว้พระตามดอยต่างๆ ซึ่งเป็นฤดูที่น่าท่องเที่ยวมาก ผจญภัยเดินป่า ปีนเขา ล่องแก่ง ตั้งแคมป์ ถ่ายรูปดอกพญาเสือโคร่ง

หลังจากวาทกรรมเรื่อง "ไฟป่า" นี้ถูกประโคมข่าวในมุมมองคนนอกจะเห็นว่าเป็นปัญหาใหญ่ช่างน่ากลัวเหลือเกิน ไม่มีคนกล้ามาท่องเที่ยว เศรษฐกิจพังเสียหาย

การแก้ปัญหาของรัฐก็ยิ่งไปกันใหญ่ระดมพ่นไอน้ำไปทั่วเมืองคิดว่าโยนก้อนหินลงแม่น้ำปิงให้น้ำแห้ง

ธรรมชาติของมวลน้ำและมวลควันไฟป่ามหาศาลมนุษย์ไม่สามารถหยุดธรรมชาติได้ สิ่งที่จะช่วยได้คือความเข้าใจ

ซึ่งธรรมชาติป่าดิบแล้งในภาคเหนือไม่เหมือนป่าดิบชื้นในภาคอื่นๆ การเผาไหม้ป่าจะเกิดขึ้นง่ายและมาเป็นประจำ

หากมนุษย์ไปหยุดไม่ให้ไหม้ปีนี้ ปีหน้า ปีถัดๆ ไปจะสะสมไหม้ในปีสุดท้ายหนักไปกว่าหลายเท่า

ธรรมชาติบ้านเราไม่ได้โหดร้ายแปรปรวนเหมือนเมืองนอก หมอกควันที่เมืองเหนือนี้จะอึมครึมอยู่ 4-5 สัปดาห์แล้วจะมี "ลมหลวง" พัดหมอกควันออกไปหรือเรียกกันทั่วไปว่าพายุฤดูร้อน และอาจมีฝนตกชะล้างหมอกควันซึ่งเมฆฝนจะเริ่มเคลื่อนเข้ามาในฤดูมรสุม มนุษย์ไม่ต้องทำอะไรเลยเพียงปรับตัวตามธรรมชาติและเข้าใจธรรมชาติเท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม การควบคุมการเผาจากครัวเรือน หรือนอกเหนือพื้นที่ไฟป่า เป็นสิ่งที่ควรต้องทำ

แต่คงไม่ใช่ให้แม่อุ้ยต้องตื่นตี 3 มา "กวาดข่วงเผาใบไม้" ถ้าเผาตอนสายคนมาเห็นแม่อุ้ยจะโดนจับ!!

ถ้าจะจับแม่อุ้ยผมว่าควรไปจับพวกโรงแรมเผาน้ำมันปล่อยโคมไฟเป็นร้อยๆ อย่างนั้นเป็นประเพณีชาวเหนือคงเข้าใจผิดแล้วละครับ

ปล่อยโคมไฟเขามีวันเดียวคือ ยี่เป็งหรือวันลอยกระทงเท่านั้น

ที่เหลือคือปล่อยหมอกควันและเพิ่มภาวะโลกร้อนแล้วละครับ

ภูธร นิ่มนวล


เป็น อีกมุมมอง
ที่น่าสนใจ

เป็นมุมมองที่ยึดวิถีชีวิต "ดั้งเดิม" ของคนเหนือเป็นหลัก

จึงมองเรื่อง "หมอกควัน" ต่างออกไป
คล้ายๆ จะยอมรับ เมื่อเกิดขึ้น แล้วก็จะผ่านไป

แต่ "ภูธร นิ่มนวล" ก็ไม่ได้ขึงตึง ถึงขนาดจะไม่ให้ทำอะไร

การควบคุมการเผาจากครัวเรือน หรือนอกเหนือพื้นที่ไฟป่า ก็เป็นสิ่งที่ควรต้องทำ

และตั้งคำถามไปยัง "โรงแรมที่เผาน้ำมันปล่อยโคมไฟเป็นร้อยๆ" อันเสมือนสัญลักษณ์ของการพัฒนาที่ไม่พัฒนา?

นี่คือสิ่งที่ควรกวดขัน มากกว่าไปกวดขันกับแม่อุ้ย

แม่อุ้ยที่ต้องตื่นตี 3 มา "กวาดข่วงเผาใบไม้"

เพราะถ้าเผาตอนสาย คนมาเห็น แม่อุ้ยจะโดนจับ!


ฯลฯ



+++

อย่าไปเลย เชียงใหม่
โดย ปริญญา ตรีน้อยใส คอลัมน์ มองบ้านมองเมือง
ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันศุกร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2555 ปีที่ 32 ฉบับที่ 1648 หน้า 39


ไม่ได้หลงเชื่อ เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง ที่แนะนำในคอลัมน์ โลกหมุนเร็ว ให้แฟนานุแฟนมติชนฯ โยกย้ายไปอยู่เชียงใหม่
ไม่ได้ตามผู้คนที่ไปสัมผัสความหนาวเย็นบนยอดดอย หรือดูดอกไม้งามในงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ ราชพฤกษ์ 2554
ไม่ได้เกาะกระแสวัยรุ่น ไปเดินกระทบไหล่คนกรุงเทพฯ ที่ถนนนิมมาน (เหมินท์)
เพียงแค่กลับไปทำหน้าที่ลูกกตัญญูที่เชียงใหม่

ไม่ได้ออกไปถ่ายรูปกับดอกไม้สีสวย
ไม่ได้ออกไปร่วมเคาต์ดาวน์กับฝูงชนที่ถนนท่าแพ
ไม่ได้ออกไปซื้อหาผักชาวบ้าน ทานอาหารพื้นเมือง และชิมเบเกอรี่อร่อย

สาเหตุที่ไม่ได้ออกไปทำอะไรเลยนั้น เพราะว่าเชียงใหม่ในช่วงฤดูกาลเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา รถราติดวินาศสันตะโร แบบว่า ติดทุกแห่ง ทุกเวลา ทุกวัน

ได้ยินคนเชียงใหม่บ่นว่า การจราจรจะเป็นปัญหาแบบนี้ทุกๆ เทศกาล ไม่ว่าจะเป็นปีใหม่ ตรุษจีน สงกรานต์ ลอยกระทง หรือวันพระราชทานปริญญาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่


ตามข้อมูล ประชากรในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ แม้จะมีเพียงหลักแสนเท่านั้น แต่เมื่อรวมกับผู้คนในเทศบาล ตำบล และอำเภอที่อยู่โดยรอบ เดินทางเข้ามาติดต่อ จำนวนประชากรก็จะเพิ่มมากขึ้นเป็นหลายเท่าตัว ยิ่งรวมกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และนักท่องเที่ยวไทยที่ตามกระแสไปเที่ยวอีกสองล้านคนต่อปี ย่อมทำให้เกิดความโกลาหล

เมื่อทุกคนสัญจรไปมาพร้อมกัน

ในขณะที่นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาตินิยมเดินเท้า เพื่อสัมผัสบรรยากาศล้านนาแบบช้าช้า เช่นเดียวกับสมาชิกชมรมนิยมจักรยาน กับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการปั่นจักรยาน ก็มีอยู่ไม่น้อย แต่คนเชียงใหม่ส่วนใหญ่นิยมความเร็ว เลือกขับขี่จักรยานยนต์ที่รวดเร็วและฉวัดเฉวียนมากกว่า

สามล้อถีบ (แรงคน) ยังพอมีให้เห็นบ้าง ส่วนสามล้อเครื่อง (แรงยนต์) ก็มีจำนวนไม่น้อย แต่ไม่เท่ารถบรรทุกเล็ก ที่เรียกว่า รถแดง ที่บริการแบบถึงลูกถึงคน คือ จอดรับ จอดส่ง ได้ทุกแห่ง ทุกเวลา ในราคาที่ไม่แน่นอน

จำนวนคนเชียงใหม่และนักท่องเที่ยวคนไทยขับรถยนต์หลากยี่ห้อหลายรุ่นเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ในขณะที่รถแท็กซี่เริ่มหนาตา ยังไม่นับรถบรรทุกเล็กหรือรถปิกอัพของชาวบ้านและชาวดอย ที่เพิ่มจำนวนมากมาย ด้วยราคาผลผลิตเกษตรกรรมดีวันดีคืน

เชียงใหม่ยังไม่มีรถตู้ประจำทางเหมือนกรุงเทพฯ แต่มีรถตู้รับรองนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อย ในขณะที่รถประจำทางยังคงวิ่งเพราะหวงสัมปทาน โดยมีรถบัสใหญ่ยักษ์ สูงสองชั้น วิ่งขึ้นลงดอย ผ่าเมือง ผ่าชุมชนให้วุ่นวายคับที่คับทาง ยังไม่นับรถบรรทุกเล็ก กลาง ใหญ่ ที่วิ่งไปมาทั่วเมือง

พูดว่า ยานพาหนะบนท้องถนนในเชียงใหม่นั้น หลากหลายทั้งรูปแบบ ขนาด และความเร็ว ส่วนจำนวนแล้วคงมากถึงหลักล้าน ในขณะที่ถนนรองรับมีน้อยและไม่เป็นระบบ



เชียงใหม่เป็นเมืองที่ "ไม่มีทางเท้า" ทุกคนจึงต้องใช้พื้นที่ถนนพร้อมกับหาบเร่แผงลอย และรถเข็น
ไม่มีป้ายบอกทาง ทุกคนจึงขับหลงวกวนไปมา เพิ่มความวุ่นวายมากขึ้น
ไม่มีการตีเส้นกำหนดช่องทางจราจร ทุกคนจึงขับรถคร่อมทาง วิ่งไปมาได้ตามอำเภอเมือง
ไม่มีป้ายจอดรถและป้ายห้ามจอดรถ ทุกคนจึงจอดรถได้ทุกแห่งหน โดยไม่ต้องรับรู้ว่า เป็นที่ไหน ไม่มีสัญญาณไฟจราจรพอเพียง หรือมีก็เป็นแบบเก่า ไร้ระบบหรือเทคนิคใดๆ ทุกคนจึงอาศัยสัญชาตญาณในการขับขี่

ที่สำคัญไม่มีตำรวจจราจรยืนประจำการเวลาที่การจราจรคับคั่ง
เพราะทุกคนต่างร่วมกิจกรรมรับปีใหม่เหมือนกัน (ฮา)

เชียงใหม่หน้าเทศกาลอย่างช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา จึงเป็นไปตามที่หมอดูทั้งหลายทำนายว่า บ้านเมืองจะวุ่นวาย คือ การจราจรที่หนาแน่นและติดขัดไปทุกแห่งหน จะช่วยฝึกให้ผู้คนอยากทำอะไรก็รีบทำ หาหนทางแก่งแย่งช่วงชิงพื้นที่ ไปจนถึงรู้วิธีเอาตัวให้รอด

รวมทั้งรู้จักอดทนเวลารถติด โดยจะมีผู้ว่าราชการเมืองเชียงใหม่กับหมีแพนด้า

คอยยิ้มให้กำลังใจอยู่ข้างถนน (ฮา)



.